108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญเพื่อแคล้วคลาดชนะอุปสรรคทั้งหลาย (ภาคกลาง)
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารนั้นมีพุทธศาสนิกชนนิยมมาสักการะกันเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากเป็นหนึ่งในเส้นทางทำบุญ 9 วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายกหรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูงถึง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว
ซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงในหมู่ชาวไทยและชาวจีนมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งได้พากันเอ่ยนามท่านเป็นภาษาจีนอีกชื่อหนึ่งด้วยว่าองค์ซำปอฮุดกง
หรือหลวงพ่อซำปอกง
วัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นนับแต่ปี พ.ศ.2368
ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3
โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์(โต กัลยาณมิตร)
ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติมในชุมชนบ้านกุฎีจีนเพื่อสร้างวัดขึ้น
แล้วน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวง
โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า
วัดกัลยาณมิตร
และทรงให้สร้างพระวิหารหลวงและพระประธานขนาดใหญ่คือพระพุทธไตรรัตนนายก
หรือหลวงพ่อโต ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง
ซึ่งอยู่ระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถด้วยพระประสงค์จะให้เป็นเช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา
ที่มีพระพุทธรูปใหญ่อยู่นอกกำแพงเมืองในลักษณะเดียวกับหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง
นอกจากนี้ทรงโปรดฯให้สร้างพระพุทธรูปปางเลไลยก์ ให้เป็นพระประธาน
กล่าวได้ว่าวัดกัลยาณมิตร เป็นวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่มี
พระพุทธรูปปางเลไลยก์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่นมากมายเช่น
หอมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ที่สำคัญต่างๆ
รวมทั้งระฆังที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างในสมัยต่อมา
ซึ่งนับได้ว่าวัดแห่งนี้ทรงคุณค่าอย่างสูงทั้งทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
และเปี่ยมล้นด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา
สถานที่ตั้ง
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ความเชื่อและวิธีการบูชา
พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโตเป็นที่เคารพเลื่อมใสจากชาวไทย
และชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างมาก มีความเชื่อกันว่าหากได้มาไหว้ท่าน ด้วยธูป 3 ดอก
เทียนแดงคู่ แล้วจะได้พบกับเพื่อนฝูงและบริวารที่ดี มีสวัสดิมงคลแก่ชีวิต
เดินทางปลอดภัยแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง
วันและเวลาเปิด
ปิด
เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 -16.00 น.
|