108 เส้นทางออมบุญ
108
เส้นทางออมบุญ
ออมบุญเพื่อการงานที่มั่นคง ค้าขายร่ำรวย (ภาคกลาง)
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระนครศรีอยุธยา
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระนครศรีอยุธยา
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยานั้น
เปลวไฟสงครามได้เผาผลาญราชธานีที่เคยวิจิตรอลังการราวกับนครแห่งทวยเทพนั้น
มอดไหม้ลงเหลือเพียงเถ้าถ่าน และซากปรักหักพัง
มีเพียงวัดแห่งเดียวที่รอดพ้นจากความเสียหายแห่งสงคราม
คือวัดหน้าพระเมรุราชิการาม ซึ่งถือเป็นมรดกอันล้ำค่า
ที่ฝากร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมแห่งราชธานีเก่า
ทีเหลือไว้ให้คนรุ่นปัจจุบันได้ประจักษ์
มีตำนานกล่าวไว้ว่า วัดหน้าพระเมรุราชิการาม นั้นสร้างขึ้นโดยพระองค์อินทร์ในปี
พ.ศ.2047 ซึ่งตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา
สันนิษฐานว่าที่มาของขื่อวัดหน้าพระเมรุราชิการาม
หรือที่เรียกว่าวัดหน้าพระเมรุนั้น
มาจากทำเลที่ตั้งของวัดซึ่งได้สร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์
พระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุนั้นมีขนาดใหญ่ถึงเก้าห้อง
เป็นสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนกลาง
ทีมีหน้าบันจำหลักไม้รูปพระนารายณ์ทรงครุฑที่งามวิจิตร
ภายในพระอุโบสถแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธนิมิตวิชิตมาร
โมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอยุธยา
ถือเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตราธิราชที่มีความสมบูรณ์
และมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏในปัจจุบัน
อังค์พระเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ปิดทองขนาดใหญ่ ตามคติการสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
แต่สันนิษฐานว่ามีการบุรณะครั้งใหญ่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เนื่องจากพบว่าศิลปะแห่งเครื่องทรงและพระพุทธลักษณะที่คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปูนก่ออิฐภายในพระระเบียงวัดไชยวัฒนาราม
อันเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ในสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั้น
ข้าศึกได้ใช้วัดหน้าพระเมรุเป็นที่ตั้งกองบัญชาการรบ
จึงทำให้วัดแห่งนี้สามารถรอดพันจากการถูกทำลายและอยู่ในสภาพสมบูรณ์
โดยภายในวัดยังมีสิ่งที่ทรงคุณค่าอื่นๆ อีก
ทั้งพระวิหารที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยทวารวดี
ปางปฐมเทศนา ซึ่งพบเพียงหกองค์ในโลกนี้เท่านั้น
สถานที่ตั้ง
ต.ท่าว่าสุรี
อ.พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา
ความเชื่อ
และวิธีการบูชา
พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
เป็นที่เคารพบูชาของชาวกรุงเก่าและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ที่มาชมความงามและนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะ
จะบังเกิดความร่มเย็น ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ และธุรกิจการค้า
วันและเวลาเปิด
ปิด
พระอุโบสถเปิดให้เข้าสักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 -17.30 น.
|