108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญกับพระพุทธรูปล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ (ภาคกลาง)
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก อ่างทอง
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก อ่างทอง
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก คือ
พระพุทธไสยาสน์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งที่ชาวอ่างทองให้ความเคารพบูชาอย่างแพร่หลาย
โดยถือกันว่าเป็นพระพุทธปางไสยาสน์ที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม
ทรงคุณค่าอย่างมากองค์หนึ่งของเมืองไทย
ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาที่สำคัญอันได้รับการบันทึกไว้หลายครั้งในประวัติศาสตร์
มีข้อสันนิษฐานว่าพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก
ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
โดยพิจารณาจากพระพุทธลักษณะและมีบันทึกในพงศาวดารเหนือว่า
เชื้อพระวงศ์กษัตริย์เมืองเหนือและพระมหาเถรไลลาย
ผู้ซึ่งอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 650 องค์
พร้อมด้วยหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากเมืองลังกา
ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระนอนวัดป่าโมกนี้ด้วยกัน 36 องค์
ซึ่งแสดงว่าพระนอนวัดป่าโมกนั้นได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว
ลักษณะองค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
ลงรักปิดทองขนาดใหญ่พระพักตร์เป็นรูปไข่ มีสัดส่วนงดงามสมบูรณ์
พระเศียรหันไปทางทิศใต้ มีความยาววัดได้จากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร
มีการบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาชุมนุมพล
และถวายนมัสการก่อนจะไปทำศึกกับพระมหาอุปราชาในปี พ.ศ.2135
เรื่องราวที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกังองค์พระพุทธไสยาสน์
วัดป่าโมกนั้น คือประวัติการชะลอพระนอนองค์นี้จากริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งเดิม
มายังที่ประดิษฐานปัจจุบันในสมัยกรุงศรีอยุธยา
กล่าวว่าเมื่อแม่น้ำน้อยได้กับเซาะตลิ่งอย่างรุนแรงเข้ามาจนใกล้พระวิหารและองค์พระนอนจนเกือบจะทรุดลงในปี
พ.ศ.2268 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสมครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอพระพุทธไสยาสน์
องค์นี้จากริมแม่น้ำน้อยไปไว้บริเวณวัดตลาด ที่ห่างจากฝั่งแม่น้ำเดิมอีก 4 เส้น 4
วา หรือราว 168 เมตร โดยเสด็จมาควบคุมการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ด้วยพระองค์เอง
หลังจากนั้นทรงให้สร้างพระวิหารหลังใหม่ครอบไว้ ผนวกเอาวัดชีปะขาวเข้ากับวัดลาดด้วย
พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดป่าโมกเป็นต้นมา
ด้วยเพราะพื้นที่แห่งนี้ได้มีต้นโมกขี้นอยู่จำนวนมาก
การชะลอพระพุทธไสยาสน์
วัดป่าโมกนี้ยังแสดงถึงความสามารถของช่างไทยโบราณ
ที่สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระนอนขนาดใหญ่นี้ได้เป็นระยะทางไกล
แสดงถึงความศรัทธาและความหวงแหนในมรดกแก่งพระพุทธศาสนาที่บรรพชนได้สร้างไวเพื่อเป็นพุทธบูชาอยู่สืบเนื่องมาให้เราได้เคารพกราบไหว้จนถึงปัจจุบัน
เทศกาลงานประเพณี
ประเพณีไหว้พระพุทธไสยาสน์ จัดขึ้นปีละสองครั้ง คือวันขึ้น 14 ค่ำ
-แรม 1 ค่ำ เดือน 4 (ราวเดือนมีนาคม ถึงเมษายน) และวันขึ้น 12 ค่ำ - แรม 1 ค่ำ
เดือน 11 (เดือนตุลาคม)
สถานที่ตั้ง
วัดป่าโมก ถ.ป่าโมกราษฎร์บำรุง ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
|