108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญเพื่อสิริมงคลแห่งชีวิต (อีสาน)
วัดป่าเขาน้อย
บุรีรัมย์
โดย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดป่าเขาน้อย
บุรีรัมย์
วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์ นั้นถือว่าเป็นวัดป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต ที่ได้พัฒนาขึ้นตามปณิธานของพระโพธิธรรมจารย์เถร หรือหลวงปู่สุวัจน์
สุวโจ
อดีตเจ้าอาวาสและวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นที่เลื่อมใสเพื่อให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไป
เนื่องจากเป็นวัดเก่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองสะดวกแก่การเดินทาง
แต่มีสภาพเป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เพื่อให้เป็นศูนย์รวมศรัทธาแก่คณะศิษย์และประชาชน ในการปฏิบัติคุณงามความดี
ตลอดจนการปฏิบัติจิตภาวนา
ดังคำของหลวงปู่ซึ่งเคยปรารภไว้ในช่วงก่อนที่ท่านจะลาสังขารว่า
วัดป่าเขาน้อยนี้หวังจะให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม
ให้ช่วยกันรักษาเอาไว้เน้อ ถ้าผมตายผมไม่ได้เอาไปด้วยดอก
ที่สร้างก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อลูกหลานผู้อยู่ข้างหลังนั่นเอง
ในโอกาสต่างๆ
นั้นมีประชาชนมาวัดป่าเขาน้อยแห่งนี้อยู่เสมอเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน
นอกจากนี้ยังได้มาสักการะเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์ พิพิธภัณฑ์พระโพธิธรรมจารย์เถร
อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล
และยังเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่สุวัจน์
เพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้กราบไหว้รำลึกถึงปฏิปทา
และวัตรปฏิบัติที่งดงามและแนวทางในการเจริญสมาธิภาวนาที่หลวงปู่ได้เจริญธรรมไว้อีกด้วย
เจดีย์สุวจคุณานุสรณ์มีศิลปกรรมที่งดงาม
มีรูปลักษณ์ที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมของอีสานได้มีรูปทรงราวกับปราสาทหินที่ดูอลังการ
โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูงกว่า 31 เมตร ภายในเป็นอาคาร 2
ชั้น โดยได้มีการออกแบบให้พื้นที่ชั้นล่างมีพื้นที่ใช้สอยเป็นที่ปฏิบัติภาวนา
และมีส่วนที่แสดงภาพประวัติของหลวงปู่สุวัจน์
ส่วนชั้นสองนั้นใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนและเก็บอัฐบริขารของหลวงปู่สุวัจน์
ไว้ให้ประชาชนได้สักการะ โดยหลวงตามหาบัว
ญาณสัมปันโนได้มาเป็นประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และเปิดเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2550
ความเชื่อและวิธีการบูชา
ผู้ที่มายังวัดป่าเขาน้อยสามารถมานมัสการพระเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์
ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
และอัฐิธาตุของหลวงปู่สุวัจน์เพื่อความเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติสมาธิ บำเพ็ญจิตตภาวนาเพื่อเป็นการเพิ่มพูนบารมี
บุญกุศลราศี สัมมาปฏิบัติ ให้จิตใจมีอำนาจและมีสติและปัญญา ตามคำสอนและความตั้งใจ
ของหลวงปู่สุวัจน์ที่มอบวัดป่าเขาน้อยแห่งนี้ให้เป็นมรดกแห่งศาสนาสืบไป
พระธาตุนาดูน
มหาสารคาม
ภาคอีสานของบ้านเรานั้นถือได้ว่าเป็นดินแดนที่มีพระธาตุสำคัญมากมาย
ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆ
พระธาตุองค์หนึ่งที่ได้รับความเคารพสักการะจากประชาชนอย่างแพร่หลาย
ในด้านของความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตนั้นคือพระธาตุนาดูน
ว่ากันว่าพระธาตุนาดูนนั้นถูกขุดค้นพบขึ้นจากเนินดิน
ที่เป็นซากโบราณสถานกาลทุ่งนาแห่งบ้านนาดูน
โดยมีการค้นพบสถูปโลหะจำลองทรงกลมสูง 24.4 เซนติเมตร
ภายในพบว่าบรรจุผอบถึงสามชั้นเรียงกัน คือ ชั้นนอกสุดเป็นสัมฤทธิ์
ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นในสุดเป็นทองคำ
และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มีความงดงามยิ่ง รวมไปถึงพระพิมพ์โบราณ
ที่ด้านหลังพระพิมพ์บางองค์ยังมีจารึกเป็นภาษาขอมโบราณ และมอญโบราณ
เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง ทางพระพุทธศาสนาของดินแดนแห่งนี้ในอดีตกาล
รัฐบาลกรมศิลปากร และชาวมหาสารคาม จึงร่วมกันจัดสร้างพระธาตุนาดูนขึ้น
ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้เพื่อเป็นปูชนียสถานและสิริมงคลต่อไป
ในบริเวณเดียวกันยังมีศูนย์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจัมปาศรีที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุที่ค้นพบและเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรจัมปาศรีนครโบราณในสมัยทวาราวดี
ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-16
ซึ่งได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีกระจายตัวอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะในเขตอำเภอนาดูน
ได้แก่ กู่สันต-รัตน์ กู่น้อย ศาลานาขาว พระพิมพ์ดินเผา
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตลอดจนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น
สถานที่ตั้ง
บ้านนาดูน ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ห่างจากตัวจังหวัด ราว 65 กม.
ความเชื่อและวิธีการบูชา
หากท่านได้มาเยือนถึงบ้านนาดูนแห่งนี้ ควรมานมัสการพระธาตุนาดูนสักครั้ง
เพ่อความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตและขอพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ
คาถาบูชาพระธาตุนาดูน
(ท่อง นะโม 3 จบ) อะตีเตกิระ จัมปาสีนะคะเร สัมมาสัมพุทธะ สารีริกธาตุ
นาตะละนามัง นะคะระฐาเนวะ มะหาสารัคามัง นะคะระสีมัง ปัจจุบันนัญจะ
สิระสานะมามิ (สิระสานะมามะ)
เทศกาลงานประเพณี
งานนมัสการพระธาตุจัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 )
ของทุกปีรวม 5 วัน 5 คืน
|