108 เส้นทางออมบุญ
108
เส้นทางออมบุญ
ศาสนสถานสำคัญในเมืองไทย (ศาสนาคริสต์)
อาสนวิหารเทวดามีคาแอล สกลนคร
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อาสนวิหารเทวดามีคาแอล สกลนคร
เมื่อครั้งมีบาทหลวงยอห์นปัปติสต์ โปรดม
และบาทหลวงซาเวียร์ เกโก มิซซัง จากรุงปารีส ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชหลุยส์
ให้มาเดินทางมาเผยแพร่ธรรมะในภาคอีสานของประเทศในปี พ.ศ.2424
และก็ได้เดินทางสำรวจและจัดตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในจังหวัดต่างๆ ตามลุ่มแม่น้ำโขง
และลาว โดยได้เดินทางมายังจังหวัดสกลนครพร้อมกับครูทัน
ซึ่งเป็นครูเณรชาวเวียดนามพร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์คาทอลิก
และโรงสวดชั่วคราวขึ้นบนพื้นที่ระหว่างตัวเมืองสกลนครกับหนองหารในปี พ.ศ.2427
ศูนย์คาทอลิกในสกลนครนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ต่อมามีชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงาน
และกลุ่มชาวอีสานผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบเข้ามาสมัครร่วมเป็นคริสต์ชนจำนวนหลายสิบคน
จนก่อให้เกิดความยากลำบากในการจัดหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกินให้เพียงพอ
อีกทั้งต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคแห่งการเบียดเบียนศาสนา ทำให้คุณพ่อเกโก
และครูทันผู้ดูแลศูนย์คาทอลิก
แห่งนี้จึงตัดสินใจหาทำเลในการตั้งหมู่บ้านคริสต์ชนแห่งใหม่ขึ้น
อันเป็นกำเนิดของการตั้งชุมชนท่าแร่ และวัดแห่งนี้
ตามประวัติกล่าวว่า ในคืนหนึ่งหลังการฉลองนักบุญทั้งหลายนั้น
คุณพ่อเกโกและครูทัน ได้จัดทำแพขนาดใหญ่สร้างขึ้นจากเรือเล็ก
และไม้ไผ่ผูกติกันบรรทุกทั้งคริสต์ชน และสัมภาระลงแพ
โดยอาศัยแรงลมที่ใช้ผ้าห่มขึงแทนผ้าใบ ปล่อยลอยไปพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้า
ซึ่งทั้งหมดได้มาถึงฝั่งด้านเหนือของหนองหารอย่างปลอดภัย
และเริ่มตั้งถิ่นฐานกันที่นั่นเป็นต้นมา โดยตั้งชื่อชุมชนใหม่นี้ว่า
บ้านท่าแฮ่
แปลว่าดินลูกรัง ซึ่งกลายมาเป็นชื่อท่าแร่ในปัจจุบัน
ภายหลังได้สร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางศรัทธาของคริสต์ชนชาวท่าแร่เพื่อให้ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจสืบมา
และมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ
สถานที่ตั้ง
อาสนวิหารเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าแร่ง อ.เมือง จ.สกลนคร
บ้านท่าแร่ได้รับการยกสถานะเป็นเทศบาลตำบลท่าแร่เมื่อปี 2542 ด้วยจำนวนประชากรกว่า
2 หมื่นคน นับเป็นศูนย์กลางคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่สำคัญในภาคอีสาน
และครอบคลุมถึงประเทศลาว ซึ่งเรียกกันว่า
มิสซังท่าแร่
ต่อมาภายหลังได้มีการแยกสาขาเป็น มิสซังอุบลราชธานี มิสซังลาว มิสซังอุดรธานี
และมิสซังนครราชสีมา ทำให้เหลือขอบเขตความรับผิดชอบของมิสซังท่าแร่เพียง 4
จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
อย่างไรก็ตามถือได้ว่าบ้านท่าแร่นั้นเป็นหมู่บ้านที่มีชาวคาทอลิกจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
วัน และเวลาเปิด-ปิด
การเข้าชมควรติดต่อขออนุญาตจากบาทหลวงผู้รับผิดชอบก่อนล่วงหน้า โทร.0
4275 1090
|