108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญเพื่อสิริมงคลแห่งชีวิต (อีสาน)
ศาลาหลักเมือง
อุดรธานี
โดย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ศาลาหลักเมือง
อุดรธานี
ศาลาหลักเมืองอุดรธานี หรือที่เรียกว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอุดรธานี
เป็นศูนย์รวมความเคารพและความศรัทธา ซึ่งชาวเมืองอุดรธานีมักจะพากันมาสักการบูชา
ในบริเวณศาลหลักเมืองอุดรธานี ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอื่นๆ
อันเป็นที่เลื่อมใสบูชาเป็นอย่างสูงได้แก่ หลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง
และท้าวเวสสุวัณ
ซึ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลในแต่ละด้านที่แตกต่างกันไป
ตามประวัติกล่าวว่า ศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ.2502 โดยอัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นเมือ พ.ศ.2436 มาสถิต ณ
เสาหลักเมืองนี้ด้วย องค์เสาหลักเมืองทำขึ้นด้วยไม้คูณยาว 5 เมตรเศษ
และฝังลึกลงไป 3 เมตร มีการบรรจุแผ่นยันต์และแก้วแหวน เงิน
ทองต่างๆเป็นจำนวนมากไว้ใต้ฐานเพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาในปี พ.ศ.2542
ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป
ตัวอาคารของศาลหลักเมืองจะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแห่งภาคอีสาน
ให้เป็นที่สักการะขอพรของชาวอุดรธานีสืบมา
นอกจากนี้บริเวณศาลหลักเมืองยังมีรูปปั้นท้าวเวสสุวัณ 1 ใน 4
ของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเหล่าอสูร และยักษ์
ตลอดจนภูตผีปีศาจทั้งหลายอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุดร
ที่ได้เชิญมาประดิษฐานไว้หลังการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามาสักการะศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสามารถบูชาและกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง
3 ได้ในหนเดียว
สถานที่ตั้ง
บริเวณทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุดรธานี
ความเชื่อและวิธีการบูชา
มีผู้นิยมมาสักการะศาลหลักเมืองเพื่อขอพรให้ชีวิตมั่นคง
ราบรื่นทั้งการงานและการเงิน โดยมีเคล็ดความเชื่อว่าหากเข้าประตูใดให้ออกประตูนั้น
จะทำให้ได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้น
ส่วนการสักการะพระพุทธโพธิ์ทองนั้นเชื่อว่าจะทำให้มีร่มโพธิ์ร่มไทร
มีผู้ใหญ่สนับสนุน ค้ำจุน
โดยผู้ที่มาสักการะมักเก็บใบโพธิ์ที่หล่นอยู่หลังคาไปบูชาเพื่อเป็นมงคลด้วย
และการบูชารูปปั้นของท้าวเวสสุวัณนั้นถือว่าคือการขอพรให้ศัตรูหมู่มารหรือผู้มาคิดร้ายให้แพ้ภัยตัวเอง
หรือกลับใจมาเป็นมิตร
เทศกาลงานประเพณี
มีพิธีบวงสรวงสักการะในวาระสำคัญของเมืองทุกครั้ง เช่นในเทศกาลสงกรานต์
เทศกาลปีใหม่ หรืองานประจำปีทุ่งศรีเมือง (ประมาณวันที่ 1-15 ธันวาคม ของทุกปี)
|