108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญเพื่อการงานที่มั่นคง ค้าขายร่ำรวย (ภาคใต้)
วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) ภูเก็ต
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) ภูเก็ต
ว่ากันว่าหากมาถึงภูเก็ตแล้ว
ควรได้เดินทางมาไหว้หลวงพ่อแช่มที่วัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม
วัดคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ กิตติศัพท์ในการรักษาโรค
บุญญาบารมี และเมตตาธรรมที่สูงส่งของหลวงพ่อทำให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก
เล่ากันว่าในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ถึงกับมีผู้ที่รอปิดทองตามแขนและขาของท่าน
จนแลดูเหลืองอร่ามไปทั่วราวกับปิดทองพระพุทธรูป
และแม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพเป็นเวลานับหนึ่งร้อยปีมาแล้วก็ตาม
ชื่อเสียงเกียรติคุณและบารมีของท่านก็อยู่ในความทรงจำของผู้คนสืบมา
ทุกวันนี้หลวงพ่อแช่มยังคงเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจให้กับชาวภูเก็ต
และชาวไทยทั่วทุกภาคหรือแม้แต่เพื่อนบ้านผู้มาเยือนดินแดนไข่มุกแห่งอันดามันนี้เสมอ
ประวัติตอนหนึ่งของหลวงพ่อแช่มนั้นเล่าว่าในปี พ.ศ.2419
ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5
หลวงพ่อแช่มได้ช่วยเหลือชาวภูเก็ตต่อสู้กับพวกอั้งยี่
ชาวกรรมกรเหมืองแร่ที่ได้ก่อเหตุจลาจล
ไล่ฆ่าฟันโจมตีชาวบ้านและจะยึดครองเมืองภูเก็ต
ในครั้งนั้นหลวงพ่อได้มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัวเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันอันตราย
ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจให้กับชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก
และใช้วัดฉลองเป็นที่มั่นราวกับป้อมค่ายที่ใช้ในการต่อสู้
จนกระทั่งสามารถเอาชนะพวกอั้งยี่ได้ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบความจึงโปรดเกล้าฯ
พระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี
ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น
และได้พระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยธารารามแต่นั้นมา
สถานที่ตั้ง
ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 8 กม.
ตามทางหลวงหมายเลข 4021
ความเชื่อและวิธีการบูชา
หลังจากสักการะพระประธานในโบสถ์แล้ว
จึงมาปิดทองรูปหล่อจำลองหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง หลวงพ่อเกลื้อม
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่มณฑป เชื่อกันว่าบารมีของหลวงพ่อแช่มจะช่วยส่งเสริมชีวิตให้
มีความเจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์
และถ้าปิดทองที่มือของท่านก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ทำมาค้าขึ้นจับสิ่งใดก็เป็นเงินเป็นทอง
คาถาบูชา
(ท่องนะโม 3 จบ) อะหังวันทามิทูระโต อะหังวันทามิทาตุโย
อะหังวันทามิสัพพะโส
เทศกาล งานประเพณี
จัดขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีการละเล่นพื้นบ้าน
ออกร้านขายสินค้าพื้นเมือง และอาหารนานาชนิด
วันและเวลาเปิด-ปิด
เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00
17.00 น.
|