108 เส้นทางออมบุญ
108 เส้นทางออมบุญ
ออมบุญกับพระพุทธรูปล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ (ภาคใต้)
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม นราธิวาส
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม นราธิวาส
ในจังหวัดนราธิวาสมีพระพุทธรูปสำคัญ
และเป็นพระพุทธรูปที่ประทับกลางแจ้งซึ่งมีขนาดใหญ่
มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในดินแดนภาคใต้ คือ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในดินแดนด้ามขวานทองนี้
ประดิษฐานเป็นองค์ประธานในพื้นที่พุทธอุทยาน วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย
นั่งขัดสมาธิเพชรอยู่บนยอดเขา
เป็นศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้แบบโจฬะที่แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้และแหลมมลายู
องค์พระสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับโมเสกสีทองทั้งหมด มีหน้าตักกว้างถึง
17 เมตร และมีความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงฐานบัวใต้พระเพลา รวม 24 เมตร
หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกของอ่าวไทย
วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐารามนั้น
เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้กลายเป็นวัดร้างอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จนมีพระภิกษุมาจำพรรษาอีกครั้งในปี
พ.ศ.2494 และได้รับการฟื้นฟูจนมีความรุ่งเรืองมาในปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาในการก่อสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคลขึ้นบนยอดเขากงนี้
ด้วยสาเหตุว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพุทธสถานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
โดยมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นซากโบราณสถานอันเป็นส่วนประกอบของเจดีย์พร้อมทั้งเศียรพระพุทธรูป
และพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานรวมทั้งโบราณวัตถุมากมาย ดังนั้นบรรดาพุทธบริษัท
ทั้งหลายจึงรวมใจกันสร้างองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่บนยอดเขากง
เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด
การก่อสร้างองค์พระได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.5209 แล้วเสร็จในปี
พ.ศ.2512 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระอุระเบื้องซ้าย
ของพระพุทธทักษิณมิ่งมงคลด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ.2513 อันเป็นสิริมงคลสูงสุด
นับแต่นั้นองค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลได้ประดิษฐานอย่างมั่นคง คู่กับจังหวัดนราธิวาส
และดินแดนภาคใต้ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ
และเป็นที่สักการะบูชาอย่างสูงของชาวพุทธในดินแดนภาคใต้สืบมา
สถานที่ตั้ง
วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม อ.เมือง จ.นราธิวาส
ห่างจากตัวเมืองประมาณ 9 กม. ใช้เส้นทางนราธิวาส - ระแงะ (ทางหลวงหมายเลข 4055)
|