|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย Democratic and Popular Republic of Algeria
|
|
ชื่อทางราชการ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย (Democratic and Popular Republic of Algeria)
ที่ตั้งและอาณาเขต : แอลจีเรียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกามีพรมแดน
ทิศตะวันออกติดกับลิเบียและตูนีเซีย
ทิศใต้ติดกับไนเจอร์ มาลี และมอริเตเนีย
ทิศตะวันตกติดกับโมร็อกโก
ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ประชากร : 33,333,216 คน (กรกฎาคม 2550)
พื้นที่ : 2.38 ล้าน ตร.กม.
ภูมิอากาศ : อากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ร้อนและความชื้นสูงในช่วงฤดูร้อน(พค.-กย.) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-38° C ในบางครั้งอุณหภูมิในฤดูร้อนอาจสูงถึง 43° C ฤดูฝนจะมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะในช่วงเดือน พย.-มค. และอากาศจะเย็นในช่วง ธค.-มค. ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 22-30° C
เมืองหลวง : กรุงแอลเจียร์ (Algiers)
เมืองสำคัญ : เมืองโอราน (590,000 คน) เมืองคอนสแตนติน (438,000 คน)
ศาสนา : ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
ภาษาราชการ : อาหรับ (ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไปคือ ฝรั่งเศส)
ประมุข : ประธานาธิบดี Abdelaziz Bouteflika รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542
นายกรัฐมนตรี นาย Abdelaziz Belkhadem รับตำแหน่งเมื่อ 24 พฤษภาคม 2549
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Mourad Medelci รับตำแหน่งเมื่อ 4 มิถุนายน 2550
การเมืองภายใน
ประธานาธิบดี นาย Abdelaziz Bouteflika
นายกรัฐมนตรี นาย Abdelaziz Belkhadem
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Mourad Medelci
การเมืองการปกครอง
ชนเผ่าดั้งเดิมของแอลจีเรีย คือ พวก Berber แอลจีเรียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกโรมันกว่า 500 ปี และในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พวกอาหรับได้เข้ามายึดครองแอฟริกาเหนือ และได้เปลี่ยนศาสนาของ พวก Berber เป็นมุสลิม ต่อมา ในปี 2373 ฝรั่งเศสได้รุกรานแอลจีเรีย และถือเอาแอลจีเรียเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ระหว่างปี 2497 2498 ได้มีการลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสนำโดย Front de libération nationale (FLN) จนกลายเป็นสงครามใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ในปี 2505 ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสได้เจรจาสันติภาพกับแอลจีเรียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2505 ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชของแอลจีเรีย ต่อมาในเดือนตุลาคม 2506 นาย Ahmed Ben Bella หัวหน้ากลุ่ม FLN ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและได้นำระบอบสังคมนิยมมาใช้ แต่ได้ถูกรัฐประหารโดย Colonel Houari Boumédiènne ในปี 2508
แอลจีเรียมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรค FLN จนกระทั่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 และเดือนธันวาคม 2534 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรกในระบบพรรคการเมืองหลายพรรค และพรรค Front islamique du salut (FIS) ชนะการเลือกตั้ง แต่โดยที่พรรค FIS เป็นพรรคที่สนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง พร้อมทั้งมีกองกำลังติดอาวุธประจำพรรค (Armée islamique du salut หรือ AIS) ฝ่ายทหารจึงตัดสินใจยกเลิกผลการเลือกตั้ง และสลายพรรค FIS จากนั้นผู้นำทางทหารได้ตั้งสภาสูงแห่งชาติ (Higher Council of State) เพื่อบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2538 ซึ่งนาย Liamine Zeroual ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม แต่ได้ลาออก 4 ปีต่อมาเนื่องจากฝ่ายทหารพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลในด้านการเมือง ฝ่ายทหารได้สนับสนุนนาย Abdelaziz Bouteflika เข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2542 โดยผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ได้ถอนตัวจากการลงสมัคร 1 วันก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ในปี 2547 นาย Bouteflika ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และกำลังเตรียมการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 นาย Bouteflika พยายามแก้ไขปัญหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยการปลดปล่อยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่กลับใจออกจากคุกและมีการนิรโทษกรรมกองกำลังติดอาวุธที่ยอมร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล แต่ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มที่ยังไม่มีท่าทียินยอมต่อรัฐบาล ได้แก่ Groupe islamique armée และ Groupe Salafiste pour la prédication et le combat
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2539 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée populaire nationale หรือ APN) มีสมาชิก 389 คน ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง มีวาระสมัยละ 5 ปี และมีสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (Conseil de la Nation หรือ CN) มีสมาชิก 144 คน โดย 96 คนได้รับเลือกจากข้าราชการประจำแต่ละท้องถิ่น และประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 48 คน มีวาระคราวละ 6 ปี โดยรัฐธรรมนูญระบุให้สมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ต้องมีการสับเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม
ประธานาธิบดีดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปีเช่นเดียวกับสมาชิกสภา ประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
การต่างประเทศ
ในช่วงปี 2503 2513 แอลจีเรียมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของประเทศโลกที่ 3 และขบวนการเรียกร้องเอกราชต่างๆ การดำเนินการทางการทูตของแอลจีเรียมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยตัวประกันชาวสหรัฐฯ ที่อิหร่าน เมื่อปี 2523 นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีบทบาทนำในเรื่องต่างๆ ของทวีปแอฟริกา เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขององค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ในปี 2543 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เอธิโอเปียและเอริเทรียยอมมาเจรจาสันติภาพในปี 2543 นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ในการก่อตั้งหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาของแอฟริกา (New Partnership for African Development) และในองค์การ Arab Maghreb ด้วย
แอลจีเรียให้การสนับสนุนกลุ่ม Polisario ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในดินแดนซาฮาราตะวันตก และปฏิเสธการที่โมร็อกโกจะเข้าไปปกครอง จึงยังคงมีการปิดพรมแดนระหว่างแอลจีเรียและ โมร็อกโก โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า ให้ที่พักพิงแก่กองกำลังติดอาวุธและการลักลอบขนอาวุธ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ได้คลายความตึงเครียดลง เมื่อกษัตริย์โมฮัมเมดที่ 6 แห่งโมร็อกโกได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาหรับที่จัดขึ้นที่แอลจีเรียระหว่างวันที่ 22 23 มีนาคม 2548 และได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี Bouteflika หลังเสร็จสิ้นจากการประชุมอีกด้วย ปัจจุบันประชาชนชาวโมร็อกโกสามารถเดินทางเข้าแอลจีเรียโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราอีกด้วย
แอลจีเรียมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใน Maghreb คือ ตูนิเซีย และลิเบีย รวมทั้ง มาลีและไนเจอร์ และสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในปัญหาตะวันออกกลาง
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 111.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ต่อหัว 2, 898 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)
อัตราเงินเฟ้อ 2.6% (2549)
หนี้สินต่างประเทศ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราแลกเปลี่ยนดินาร์ (Algerian Dinar) อัตราแลกเปลี่ยน 72.65 ดินาร์ เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 ดินาร์ เท่ากับ 1 บาท (2549)
การเกษตร แรงงานในภาคเกษตรประมาณ 25% ผลผลิตภาคการเกษตรไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศต้องนำนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม ประมาณ 60% ของความต้องการภายใน
อุตสาหกรรม ประมาณ 26% ของแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมหนัก เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย ดำเนินการโดยรัฐ แต่ขณะนี้รัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กเช่น สิ่งทอ แปรรูปอาหาร ยาสูบ ฯลฯ โดยให้โอกาสนักลงทุนภาคเอกชนและชาวต่างประเทศ
แร่ธาตุ มีผลผลิตประมาณ 25% ของ GNP แต่มีแรงงานอยู่ใน
ภาคนี้เพียง 4% เท่านั้น โดยมีแร่ธาตุที่สำคัญ คือ แร่เหล็ก
ยูเรเนียม ฟอสเฟต ทองคำ ตะกั่ว ฯลฯ
สินค้าออกที่สำคัญ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้าเข้าที่สำคัญส่วนมากจะนำเข้าสินค้าทุน สินค้ากึ่งสำเร็จรูป
สินค้าบริโภค และอาหารที่จำเป็น
ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ
ส่งออกไปยัง สหรัฐฯ(ร้อยละ 26.7) อิตาลี(ร้อยละ 166) สเปน(ร้อยละ 9.7) ฝรั่งเศส(ร้อยละ 8.6 แคนาดา(ร้อยละ 7.9) บราซิล(ร้อยละ 6.5) เบลเยี่ยม(ร้อยละ 4.4) (2549)
นำเข้าจาก ฝรั่งเศส(ร้อยละ 22.1) อิตาลี(ร้อยละ 8.6) จีน(ร้อยละ 8.5) เยอรมนี (ร้อยละ 5.9) สเปน(ร้อยละ 5.6) (ร้อยละ 4.8) ตุรกี (ร้อยละ 4.5) (2549)
เศรษฐกิจและสังคม
แอลจีเรียเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 5 และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 และมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก การส่งออกสินค้าพลังงานจึงมีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของแอลจีเรีย กล่าวคือมีมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และกว่าร้อยละ 95 ของรายได้จากการส่งออก ตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเงินของแอลจีเรียดีขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2533 ส่วนหนึ่งมาจากการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการปรับชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ (Paris Club) ภาวะการเงินที่ดีขึ้นในช่วงปี 2543 2546 สืบเนื่องมาจากการที่แอลจีเรียได้ดุลการค้า มีเงินสำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ได้รับการลดหนี้สินจากต่างประเทศ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศยังสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่มีการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น รัฐบาลยังคงพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความหลากหลาย โดยการดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากภาคพลังงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการลดอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงอยู่ รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลเร่งการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคเศรษฐกิจเช่น โทรคมนาคม พลังงาน น้ำประปา และการก่อสร้าง ได้ถูกเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผ่านการพิจารณากฎหมายปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรน้ำมัน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจทรัพยากรน้ำมันมีความโปร่งใสขึ้นสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งการบริหารสื่อกลางทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 รัฐบาลแอลจีเรียได้เสนอร่างกฎหมายทางสังคมโดยมุ่งที่จะลดข้อจำกัดทางสังคมให้แก่สตรี แต่ร่างกฎหมายนี้ถูกต่อต้านจากพรรคอิสลามว่าขัดกับกฎพื้นฐานของศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการปรับปรุงและยอมรับเป็นกฎหมายจากรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2548 ข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ ผู้หญิงจะแต่งงานได้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองชาย ไม่ว่าผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ หรือผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนแต่ต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาที่มีอยู่ก่อน นอกจากนั้น ในกรณีหย่าร้าง ไม่มีข้อบังคับต่อฝ่ายชายให้จ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัวเก่า แต่รัฐบาลจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก
เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับแอลจีเรียเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2518 แอลจีเรียมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำแอลจีเรีย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายธนะ ดวงรัตน์ และแอลจีเรียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแอลจีเรียประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายอามาร์ เบลานี
ด้วย โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งฯ ต่อประธานาธิบดีแอลจีเรีย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2549
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแอลจีเรีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลแอลจีเรียเป็นเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
แอลจีเรียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในแอฟริกา รองจากแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอียิปต์ ในปี 2549 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 15,017.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.44 คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 8,509.3 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปแอลจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผ้าผืน ยางพารา ข้าว ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากแอลจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ
ความตกลงต่าง ๆ ที่สำคัญ
1 พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามย่อเมื่อระหว่างวันที่ 9 12 ธันวาคม 2548)
2 ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
3 ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
4 ความตกลงด้านอุตสาหกรรมและ SMEs (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
5 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
6 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเดินเรือ (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
7 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาระหว่างกระทรวงกิจการอุดมศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์แอลจีเรียกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการของไทย (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
8 พิธีสารว่าด้วยโครงการฝึกอบรมด้านวิชาชีพระหว่างกระทรวงการฝึกอบรมด้านวิชาชีพแอลจีเรีย กับกระทรวงศึกษาธิการไทย (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
9 ความตกลงทางวัฒนธรรม (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
10 ความตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
11 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
12 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
รัฐบาล
นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการพัฒนาอาหารฮาลาลแห่งประเทศไทย
- วันที่ 15-23 มิถุนายน 2548 นำคณะผู้แทนไทยเยือนแอลจีเรีย และโมร็อกโก
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย
- วันที่11-12 กันยายน 2548 เยือนแอลจีเรีย โดยได้พบกับข้าราชการระดับสูงของฝ่ายแอลจีเรียประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแอลจีเรีย
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 9-12 ธันวาคม 2548 เยือนแอลจีเรีย โดยได้พบกับนาย Mohammed Bedjaoui รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจน้ำมัน บริษัท Sonatrach หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้าย กระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของสหภาพแอฟริกา
3.2 ฝ่ายแอลจีเรีย
รัฐบาล
(นาย Amine Kherbi อดีตรัฐมนตรีดูแลการต่างประเทศ
- วันที่ 4-5 เมษายน 2545 เยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5051-52 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|