|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
บูร์กินาฟาโซ BURKINA FASO
|
|
บูร์กินาฟาโซเดิมมีชื่อว่าสาธารณรัฐอัปเปอร์โวลต้า (the Republic of Upper Volta)
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ทิศเหนือและตะวันตกติดกับประเทศมาลี ทิศตะวันออกติดกับประเทศไนเจอร์ และเบนิน ทิศใต้ติดกับประเทศเบนิน โตโก กานา และ โกตดิวัวร์
พื้นที่ 274,200 ตารางกิโลเมตร หรือ 105,870 ตารางไมล์
เมืองหลวง กรุงวากาดูกู (Ouagadougouo)
เมืองสำคัญ Bobo Dioulasso Koudougou
ภูมิอากาศ บูร์กินาฟาโซมีภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ง จะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ ในขณะที่ทางตอนเหนือ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย จะมีฝนไม่มากนักส่วนฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 1435 องศาเซลเซียส
ประชากร 14,326,203 คน (กรกฎาคม 2550)
เชื้อชาติ Mossi over ร้อยละ 40%, อื่น ๆ โดยประมาณ ร้อยละ 60% ได้แก่(includes Gurunsi, Senufo, Lobi, Bobo, Mande, and Fulani)
ศาสนา อิสลาม (50%) ความเชื่อดั้งเดิม (40%) คริสต์ (10%)
ภาษา ฝรั่งเศส (ภาษาราชการ) นอกจากนั้น ก็มีภาษา More, Dioula, Gourmantche,และ Peul ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองที่ใช้พูดกันทั่วไป ประมาณ ร้อยละ 90
ระบอบการปกครอง รัฐสภา ประกอบด้วย 2 สภา
สถาบันการเมือง
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ โดยการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและต้องได้รับความยินยอมจากสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา (unicameral) ได้แก่ สภานิติบัญญัติ มีสมาชิก 111 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี สภาที่ปรึกษา มีสมาชิก 176 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี
ฝ่ายตุลาการ ศาลฏีกา และศาลอุทธรณ์
ประมุขของรัฐประธานาธิบดี Blaise Compaore (ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2530 ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2550)
หัวหน้ารัฐบาลนาย Tertius Zongo
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Djibrill Yipene Bassole
วันชาติ 11 ธันวาคม
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.4 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.3 (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 430 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แมงกานิส หินปูนขาว(limestone) หินอ่อน ฟอสเฟต หินภูเขาไฟ เกลือ
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ฝ้าย ถั่วลิสง งาดำ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ข้าวโพด ข้าว ปศุสัตว์
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ผลิตสำลี อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สบู่ บุหรี่ สิ่งทอ ทองคำ
หนี้สินต่างประเทศ 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เงินตราสำรอง 554.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้า ขาดดุล 650.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่งออก 610.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นำเข้า 1,187.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออกที่สำคัญ ฝ้าย ปศุสัตว์ ทอง
สินค้าเข้าที่สำคัญ สินค้าทุน เครื่องอุปโภคและบริโภค ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
ส่งออก จีน ร้อยละ 39.7 สิงคโปร์ ร้อยละ 13 ไทย ร้อยละ 5.9 กานา ร้อยละ 5.4 ไต้หวันร้อยละ 4.6 (2549)
นำเข้า ฝรั่งเศส ร้อยละ 23.7 โกตดิวัวร์ ร้อยละ 23.3 โตโก ร้อยละ 6.7 (2549)
หน่วยเงินตรา เงินฟรังก์เซฟา (Communaute Financiere Africaine Franc - XOF)
อัตราแลกเปลี่ยน 522.89 เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 522.89
การเมืองการปกครอง
บูร์กินาฟาโซ เดิมใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐอัปเปอร์โวลต้า (The Republic of Upper Volta) เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมแอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้อาณัติของฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม 2501 และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2503
นับแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2503 บูร์กินาฟาโซต้องประสบกับความขัดแย้งทางการเมืองและระบบการปกครองหลายรูปแบบ อันเป็นสาเหตุหลักที่หน่วงเหนี่ยวการพัฒนาประเทศ การปฏิวัติเมื่อปี 2530 ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในระยะสิบปีที่ผ่านมาการเมืองภายในภายในบูร์กินาฟาโซค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยมีผลมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย และการเปิดให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง สภาวะดังกล่าวได้ส่งผลไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่อง บูร์กินาฟาโซจึงมีความโดดเด่นขึ้นในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสในการแสวงหาลู่ทางการลงทุนในบูร์กินาฟาโซ
กลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เป็นตัวแปรสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ และมีส่วนส่งเสริมความปรองดองในบูร์กินาฟาโซเป็นอย่างมาก ภายหลังประธานาธิบดี Thomas Sankara ถูกลอบสังหารในปี 2530 ประธานาธิบดี Blaise Compaore ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดี Sankara ได้อาศัยฐานคะแนนเสียงสนับสนุนจากเครือข่ายกลุ่มชนเผ่าต่างๆ และสามารถดับชนวนความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอันนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและส่งผลให้มีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น อำนาจของประธานาธิบดี Compaore จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้จะต้องคงดุลยภาพทางสังคมระหว่างกลุ่มชนเผ่าพันธ์ต่างๆ เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้ง อันอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้อีก
ในปี 2543 มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจากเดิมประธานาธิบดีสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ 7 ปี ลดลงเหลือเพียง 5 ปี รวมทั้งมีการกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ประธานาธิบดี Compaore ได้ประกาศตนลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ทั้งนี้ ฝ่ายสนับสนุนของนาย Compaore อ้างว่า ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนาย Compaore ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎนี้จึงไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่านาย Compaore จะหมดจากอำนาจในปี 2553
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2550 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของบูร์กินาฟาโซ ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงมากถึงร้อยละ 56.4 โดยพรรค Congres pour la Democratie et le Progress CDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้รับเสียงข้างมากถึงร้อยละ 58.9 และหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยนาย Blaise Compaore ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Tertius Zongo ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจ การเงินและแผนงาน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนาย Paramanga Ernest Yonli และได้แต่งตั้งนาย Djibrill Yipene Bassole อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทนนาย Youssouf Ouedraogo
นโยบายต่างประเทศ
บูร์กินาฟาโซมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ อาทิ กลุ่มประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศ EU ลิเบียและไต้หวัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พยายามผลักดันบูร์กินาฟาโซให้เป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เช่น ในปี 2547 ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสหภาพแอฟริกา (African Union) และการประชุมกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophonie Summit) อีกทั้งพยายามผลักดันบูร์กินาฟาโซให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของภูมิภาคแอฟริกา โดยมีการจัดงานวัฒนธรรมและงานศิลปะนานาชาติ งานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในภูมิภาคแอฟริกาได้แก่ งาน Pan-African Cinema and Television Festival of Ouagadougou (FESPACO) ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคแอฟริกาจัดเป็นประจำทุกปี และงาน International Arts and Crafts Show of Ouagadougou (SIAO) ซึ่งเป็นงานแสดงศิลปะหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา โดยกำหนดให้มีการจัดงานปีเว้นปี
บูร์กินาฟาโซเป็นประเทศยากจนลำดับต้นๆ ตามการจัดลำดับของสหประชาชาติ ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเนื่องจากภัยแล้ง ความเสื่อมของดินซึ่งกำลังแปรสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) การขาดแคลนน้ำ ไม่มีทางออกทางทะเล นอกจากนี้ ยังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงมนุษย์ (human security) เช่นอัตราความไม่รู้หนังสือของประชาชนที่มีสูงถึงร้อยละ 70 และประชากรมีอายุเฉลี่ยเพียง 44 ปี เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์และมาลาเรีย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสังคมโดยเน้นด้านการศึกษาและการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
บูร์กินาฟาโซมีทรัพยากรธรรมชาติประเภทแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ แหล่งแร่ธาตุในบูร์กินาฟาโซครอบคลุมพื้นที่ 22% ของพื้นที่ ประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างเต็มที่ เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนากิจการเหมืองแร่อย่างจริงจัง การสำรวจแหล่งแร่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและส่วนใหญ่ยังมิได้มีการขุดเจาะ
บูร์กินาฟาโซเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพา โดยต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้ บูร์กินาฟาโซยังได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินฟรังก์เซฟา (Franc CFA) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2537 ภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งมีผลทำให้บูร์กินาฟาโซต้องขาดดุลการชำระ เงินเป็นจำนวนมากในการสั่งสินค้าเข้า อย่างไรก็ดี บูร์กินาฟาโซประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนำมาซึ่งความไว้วางใจจากกลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำให้บูร์กินาฟาโซได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเหล่านั้นในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจและสินค้ามีความสามารถในการแข่งขันกับกลไกราคาในตลาดโลกได้
รากฐานทางเศรษฐกิจของบูร์กินาฟาโซขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบซึ่งมีจำนวนจำกัด อย่างไรก็ดี มูลค่าส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมาจากรายได้ด้านบริการ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของบูร์กินาฟาโซ เป็นผลจากการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน กอปรกับเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเริ่มใช้เมื่อห้าปีที่แล้ว ตลอดจนการลดค่าเงินฟรังก์เซฟาเมื่อปี 2537 ได้ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บูร์กินาฟาโซยังขาดความพร้อมในการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าไปส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ โดยในระยะยาวรัฐบาลจะต้องเร่งลดการขาดดุลทางการค้า และหามาตรการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมิใช่เป็นการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในช่วงระยะสั้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ
ประธานาธิบดี Blaise Compaore ได้เคยกล่าวในระหว่างการพบปะกับนักลงทุนว่า บูร์กินาฟาโซมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจอีกมาก แม้ฐานแรงงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานที่ไร้ฝีมือ และจะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างบรรยากาศส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุนที่ดี ทั้งนี้ นาย Kadre Desore Ouedraogo นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การที่บูร์กินาฟาโซจะบรรลุเป้าหมายในการมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (Non-inflationary growth) จะต้องปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามกระแสการเงินและการคลังอย่างใกล้ชิด การปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี การจัดการหนี้ค้างชำระ การควบคุมการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร และในปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง บูร์กินาฟาโซได้ออกมาตรการรองรับการลงทุนโดยมีการทบทวน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ศุลกากร เหมืองแร่ และแรงงาน เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้นกระบวนการยุติธรรมก็ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการที่จะต้องรองรับระบบเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งการกระจายอำนาจการบริหารสู่ภูมิภาคเพื่อให้หน่วยงานราชการมีอำนาจบริหารอิสระมากขึ้น
รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งได้เตรียมมาตรการจูงใจนักลงทุน และรองรับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2539 ได้มีการรับรองกฎระเบียบว่าด้วยการทำสัญญาระหว่าง คู่ค้า มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าภายใน และกระบวนการรับเงินทุนพัฒนาจากประเทศผู้ให้ นอกจากนี้ มีมาตรการตรวจสอบและควบคุมโครงการพัฒนาของภาครัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซ |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบูร์กินาฟาโซเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 โดยมอบหมาย ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาทางการทูตครอบคลุมบูร์กินาฟาโซ และได้แต่งตั้ง นาย Mahamadi Savadogo ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำบูร์กินาฟาโซ ส่วนบูร์กินาฟาโซได้เคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตบูร์กินาฟาโซประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมไทย แต่เมื่อปี พ.ศ. 2537 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับบูร์กินาฟาโซ เนื่องจากบูร์กินาฟาโซได้หันไปรับรองและสถาปนาความสัมพันธ์กับไต้หวัน ดังนั้น บูร์กินาฟาโซจึงได้ขอปรับเปลี่ยนเขตอาณาทางการทูตใหม่ โดยให้สถานเอกอัครราชทูตบูร์กินาฟาโซประจำประเทศอินเดียมีเขตอาณาครอบคลุมไทย และได้แต่งตั้ง นายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์บูร์กินาฟาโซ ประจำประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซ เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน บูร์กินาฟาโซได้ให้การสนับสนุนไทยในเวทีโลกมาโดยตลอด
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก ที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายเสียดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากไทยนำเข้าเส้นใยใช้ในการทอเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บูร์กินาฟาโซนำเข้าสินค้าไทยเป็นมูลค่าไม่มากนัก ในปี 2549 การค้าระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซ มีมูลค่า 1,013.7 ล้านบาท ไทยส่งออกไปยังบูร์กินาฟาโซ มูลค่า 176.1 ล้านบาท และนำเข้าจากบูร์กินาฟาโซ มูลค่า 837.6 ล้านบาท โดยไทยขาดดุลจำนวน 661.5 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังบูร์กินาฟาโซ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 2. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 4. หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ 5.ผลิตภัณฑ์ยาง 6. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 7. ข้าว 8. ตาข่ายจับปลา 9. ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว 10. ผลิตภัณฑ์พลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากบูร์กินาฟาโซ มีเพียงด้ายและเส้นใย
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไทยให้ทุนอบรมแก่บูร์กินาฟาโซ ภายใต้โครงการฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course - AITC) คือ ทุนด้านสาธารณสุข จำนวน 2 ทุน (2538) ทุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข สาขาละ 2 ทุน (2539) และยังได้เชิญผู้แทนบูร์กินาฟาโซมาเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในหัวข้อ ทางเลือกในการพัฒนา: เศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างวันที่ 810 พฤศจิกายน 2547 ด้วย ต่อมา ในปี 2548 กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ไทยต่อแอฟริกาโดยเน้นการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดสรรทุนในหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี 2548 ให้บูร์กินาฟาโซ จำนวน 2 ทุน ได้แก่ ทุนหลักสูตร International Course on Tuberculosis Control, Epidemiology, Surveillance and Basis of Effective TB Control ระหว่างวันที่ 927 พฤษภาคม 2548 และหลักสูตร Poverty Reduction ระหว่างวันที่ 429 กรกฎาคม 2548 ในปี 2550 ไทยให้ทุนอบรมแก่บูร์กินาฟาโซ จำนวน 7 ทุน ได้แก่ 1) Rural Infrastructure Development Planning and Management 2) Integrated Watershed Management 3) Project Monitoring and Evaluation 4) Neonatal and Pediatric Critical Care Nursing 5) Prevention, Resuscitation and Rehabilitation in Traumatic Injury; A Nursing Perspective 6) Sufficiency Economy 7) Income Generation and Poverty Reduction for Development
นอกจากความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบทวิภาคีแล้ว ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานและหารือกับประเทศและแหล่งผู้ให้อื่นๆ ที่มีความสนใจในภูมิภาคแอฟริกาเช่นเดียวกันเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรอบไตรภาคี เช่น UNDP ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เป็นต้น
ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมกับบูร์กินาฟาโซ ในช่วงการประชุม Francophonie (24-25 พฤศจิกายน 2547) บูร์กินาฟาโซได้จัดงาน International Arts and Crafts Show of Ouagadougou และไทยได้ส่งคณะนาฏศิลป์เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ร่วมงาน
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างไทยกับบูร์กินาฟาโซ (ลงนามเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547)
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
รัฐบาล
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 27-29 มิถุนายน 2542 เดินทางไปร่วมการประชุม OIC ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ที่กรุงวากาดูกู เมืองหลวงของบูร์กินาฟาโซ
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 23-24 พฤศจิกายน ปี 2547 เดินทางไปร่วมการประชุม Francophonie Summit ที่กรุงวากาดูกู
ฝ่ายบูร์กินาฟาโซ
รัฐบาล
นาย Thomas Sanon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2536 เดินทางแวะผ่านประเทศไทย ในการเดินทางจากฮ่องกงไปการาจี
นาย Youssouf Ouedraogo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 22-23 มิถุนายน ปี 2543 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 19-22 กรกฎาคม ปี 2547 เยือนไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 24-31 ธันวาคม ปี 2547 นาย Youssouf Ouedraogo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบูร์กินาฟาโซเยือนไทยพร้อมครอบครัวในฐานะแขกของรัฐมนตรีต่างประเทศ
นาย Blaise Compaore ประธานาธิบดี
- วันที่ 18 พฤษภาคม ปี 2547 แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมพิธีเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไต้หวัน
- วันที่ 8-11 เมษายน ปี 2548 Blaise Compaore ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ และนาง Chantal Compaore พร้อมด้วย นาย Youssouf Ouedraogo รัฐมนตรีต่างประเทศบูร์กินาฟาโซ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ (Official Visit)
นาย Seydou Bouda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการพัฒนา
- วันที่ 8-10 พฤศจิกายน ปี 2547 นาย Seydou Bouda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการพัฒนาของบูร์กินาฟาโซเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องทางเลือกในการพัฒนา: เศรษฐกิจพอเพียงที่ประเทศไทย
มิถุนายน 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|