|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
เอริเทรีย The State of Eritrea
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา บริเวณที่เรียกว่าจงอยแอฟริกา มีชายฝั่งทะเลติดทะเลแดงเกือบ 1,000 กม.
ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทะเลแดง
ทิศตะวันตกติดซูดาน
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดจีบูตี
ทิศใต้ติดเอธิโอเปีย
พื้นที่ 125,000 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 4.91 ล้านคน (ก.ค.2550) มีอัตราการขยายตัวของประชากร ร้อยละ 2.46 ต่อปี ประกอบด้วยคนเชื้อชาติ Afar, Bilen, Hadareb แบ่งเป็น Kunama, Nara, Rashaida, Saho, Tigre และ Tigrinya
ศาสนา คริสต์และมุสลิม จำนวนเท่า ๆ กัน และประชากรบางส่วนนับถือความเชื่อดั้งเดิม
ปริมาณฝนตก ฝนตกช่วงเดือนมิถุนายน กันยายน ในเขตที่ราบต่ำมีปริมาณฝนตกน้อยกว่า 500 มม. ต่อปี ในเขตที่ราบสูงมีปริมาณฝนตก 1,000 มม. ต่อปี
ภูมิอากาศ บริเวณที่ราบสูงมีอากาศปานกลาง บริเวณชายฝั่งมีอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยในที่ราบสูง 17° เซลเซียส ในเขตเมืองท่า Massawa ประมาณ 30° เซลเซียส และในเขตพื้นดินต่ำ Danakil มีอุณหภูมิสูงกว่า 50° เซลเซียส
เมืองหลวง กรุง Asmara
เมืองสำคัญ Assab, Keren, Mendefera, Massawa
ภาษา ภาษา Tigrinya ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ
เวลา 3 ชั่วโมงล่วงหน้าเวลากรีนิซ
วันชาติ 24 พฤษภาคม (แยกตัวจากเอธิโอเปีย)
ระบอบการปกครอง รัฐบาลและสภานิติบัญญัติชั่วคราว ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล โดยได้รับการเลือกตั้งจากสภานิติบัญญัติ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
สกุลเงิน nakfa (ERN) -- นัคฟา
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลาร์สหรัฐ เท่ากับ 15.4 นัคฟา (2549)
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
ดินแดนของเอริเทรียเป็นที่ตั้งของอาณาจักรต่าง ๆ มาแต่โบราณ ตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 1 เคยอยู่ภายใต้อาณัติของอาณาจักรออตโตมาน และภายใต้การปกครองของอียิปต์ อิตาลีได้เข้ายึดครองดินแดนเอริเทรียเมื่อปี 2412 (1869) กษัตริย์แห่งอิตาลีได้ประกาศตั้งแคว้นเอริเทรียและกำหนดให้เป็นอาณานิคมของอิตาลีเมื่อปี 2433 (1890) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้เข้ายึดเอริเทรียและประกาศให้เอริเทรียเป็นรัฐภายใต้อารักขาของอังกฤษจากช่วงปี 2484 (1941) ถึงปี 2495 (1952) ซึ่งในช่วงนี้ เอริเทรียมีพัฒนาการในด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างชัดเจน โดยเมือง Massawa และ Assaf กลายเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลแดงของจักรภพอังกฤษในปี 2493 (1950) จากนั้นสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 380 A (V) ให้เอริเทรียเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้จักรวรรดิเอธิโอเปีย
ในปี 2505 (1962) เอธิโอเปียได้ทำการผนวกดินแดนเอริเทรียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างชาวเอริเทรียกับฝ่ายเอธิโอเปียเพื่อเรียกร้องเอกราชตลอดมาในปี 2534 (1991) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยประชาชนเอริเทรีย (EPLF : Eritrean Peoples Liberation Front) ได้ร่วมกับกลุ่ม Ethiopian Peoples Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลเอธิโอเปีย ทำการล้มล้างรัฐบาลสังคมนิยมเอธิโอเปียได้สำเร็จ และสามารถยึดพื้นที่ดินแดนเอริเทรียได้ทั้งหมด นอกจากนี้ได้เจรจากับกลุ่ม EPRDF ขอแยกตัวออกจากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลเอธิโอเปีย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอริเทรียชั่วคราว (PGE : Provisional Government of Eritrea) ขึ้นบริหารดินแดนเอริเทรียเอง โดยมีนาย Issayas Afewerki เลขาธิการ EPLF ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ทั้งนี้ รัฐบาลชั่วคราวได้จัดให้ประชาชนในดินแดนเอริเทรียออกเสียงลงประชามติระหว่างวันที่ 23 25 เมษายน 2536 (1993) เพื่อแยกตัวเป็นประเทศเอกราชออกจากเอธิโอเปีย ผลปรากฏว่า มีผู้สนับสนุนให้เอริเทรียแยกออกจากเอธิโอเปียถึงร้อยละ 99.8 รัฐบาลชั่วคราวจึงได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 (1993) ซึ่งเป็นวันฉลองครบรอบการเข้ายึดเมือง Asmara เมืองหลวงของเอริเทรียโดยกลุ่ม EPLF ด้วย
สถานการณ์ทางการเมือง
นับแต่แยกตัวเป็นเอกราชจากเอธิโอเปียในปี 2536 (1993) เอริเทรียยังคงปกครองประเทศด้วยคณะรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติชั่วคราว มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือ พรรค Peoples Front for Democracy and Justice (PFDJ) ซึ่งพัฒนามาจาก Eritrean Peoples Liberation Front (EPLF) ทั้งนี้ ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 3 เมื่อปี 2537 (1994) มีมติยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในระบบหลายพรรคในเดือนพฤษภาคม 2540 (1997) แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้โดยอ้างว่าประชาชนยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอและโครงสร้างทางสถาบันยังไม่พร้อม
ในขณะที่ กองทัพเอริเทรียต้องรับมือกลุ่ม Eritrean Islamic Jihad (EIJ) กบฏกลุ่มเล็กมีฐานะที่ตั้งในซูดานที่ออกโจมตีในเขตตอนเหนือและตะวันตกของเอริเทรีย กอปรกับการที่ซูดานได้เสริมสร้างกำลังพลตามเขตแดนตะวันตกเอริเทรีย ทำให้เอริเทรียต้องเพิ่มกำลังตามชายแดนด้านนั้นมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้คุมขังผู้ต้องสงสัยที่พัวพันกับอดีตฝ่ายรัฐบาล Mengistu แห่งเอธิโอเปีย พวกหัวรุนแรงอิสลามและพวกผู้ก่อการร้ายรวมทั้งจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการพิมพ์ รวมทั้งสิทธิในการตีพิมพ์เผยแพร่ศาสนา สิทธิในการรวมกลุ่มในทางการเมือง และสิทธิในการเคลื่อนย้ายภูมิลำเนา
ระบอบการปกครองปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2540
สภานิติบัญญัติ Unicameral National Assembly มีสมาชิก 150 คนมาจากพรรค Peoples Front for Democracy and Justice
พรรคการเมือง พรรค Peoples Front for Democracy and Justice (PFDJ)เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ถูกกฎหมาย
ระบบการศาล มีศาลแยกเป็นอิสระ แต่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ระบบการศาลยังไม่มีการพัฒนา เนื่องจากขาดบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝน อบรมงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งไม่มีสำนักงานทนายความเปิดกิจการอย่างเป็นทางการ คดีแพ่งและอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดในชนบทจะได้รับการตัดสินชี้ขาดโดยผู้อาวุโสในท้องถิ่นตามจารีตประเพณี
ประธานาธิบดี นาย Isaias Afwerki (ประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Osman Saleh Mohammed (เข้ารับตำแหน่งในเดือนเมษายน 2550)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
1 หลังจากเอริเทรียแยกตัวออกจากเอธิโอเปียและได้รับเอกราชในปี 2536 ก็มีปัญหาขัดแย้งกับเอธิโอเปียมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาการปักปันเขตแดนระหว่างกัน เกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดนในปี 2541 ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประชาคมโลกและองค์การระหว่างประเทศ ทั้งองค์การสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกา ได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่การยินยอมถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกในเดือนกรกฎาคม 2542 อย่างไรก็ตาม ยังมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังของเอธิโอเปียและเอริเทรียอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลของสองฝ่ายต่างพยายามกล่าวโจมตีกันและกันตลอดเวลาในเวทีระหว่างประเทศ
2 เอริเทรียมีทัศนคติที่เย็นชาต่อต่างประเทศ รวมทั้งไม่เชื่อถือคำประกาศต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือในการสร้างสันติภาพกับเอธิโอเปีย เพราะเอริเทรียเห็นว่า นานาชาติรวมทั้งสหประชาชาติ ไร้สมรรถภาพในการบังคับให้เอธิโอเปียปฏิบัติตามข้อตกลงปักปันเขตแดน ในปี 2545 ดังนั้น เอริเทรียจึงดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ค่อนข้างปิดกั้นตัวเองและไม่แสดงความประสงค์กระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจตะวันตกมากนัก
3 ความสัมพันธ์กับซูดาน ซึ่งเคยเย็นชาและมีความขัดแย้งถึงขั้นปิดแนวพรมแดนในปี 2545 ได้รับการฟื้นฟูในปี 2548 และในปัจจุบันมีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้งในปี 2549 ส่วนความสัมพันธ์กับเยเมนและจิบูตีซึ่งเคยมีความขัดแย้งในอดีต นั้น ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูจนกระทั่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว
4 นโยบายของเอริเทรียในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกที่เด่นชัดในเวทีระหว่างประเทศ คือ การสนับสนุน Union of Islamic Court (UIC) กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่เคยครองอำนาจอยู่ในโซมาเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้เคยขับไล่รัฐบาลพลัดถิ่นของโซมาเลีย (Transitional Federal Government TFG) ที่ได้รับการรับรองจากประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติออกจากประเทศ สร้างความขัดแย้งโดยตรงระหว่างเอริเทรียกับสหรัฐอเมริกาและเอธิโอเปีย ซึ่งสนับสนุน TFG อยู่
สภาพเศรษฐกิจทั่วไป
เอริเทรียเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำ (ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี) นอกจากนี้ รายได้สำคัญจากเมืองท่าต่างๆ ของเอริเทรีย รวมทั้งอุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามกับเอธิโอเปีย เพราะรัฐบาลเอธิโอเปียปิดการค้าและการติดต่อตามแนวพรมแดนทั้งหมดทำให้เอริเทรียขาดรายได้อย่างมาก
ในส่วนของนโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน เอริเทรียได้กำหนดแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เปิดเสรีทางด้านการค้าและการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเอริเทรียเพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของรัฐบาลคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชากร โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหาร (ภาคเกษตรกรรมของเอริเทรียยังผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร) การสาธารณสุขและการวางรากฐานสาธารณูปโภค ปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สูงราวร้อยละ 30 ของรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายไม่พึ่งพาต่างประเทศ แต่ด้วยความจำเป็น ก็ยังต้องขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารโลก (World Bank) เพื่อการสร้างระบบสาธารณูปโภค ในปัจจุบันมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาคเกษตรกรรม
นับเป็นภาคที่สำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าการผลิตอาหารจะลดลงร้อยละ 40 ในช่วงปี 2523-2533 แต่ก็ยังสามารถเลี้ยงดูประชากรร้อยละ 90 ได้ ในปี 2537 ผลิตผลทางการเกษตร(รวมทั้งจากป่าไม้และการประมง) มีมูลค่าเป็นร้อยละ 12 ของ GDP (2545) การเกษตรต้องพึ่งพาฝน ปีใดฝนแล้งก็ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอแก่การบริโภค
ภาคการประมง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงของสหประชาชาติประมาณว่า เอริเทรียมีศักยภาพในการประมงได้ถึงปีละ70,000 ตันต่อปีเพราะเอริเทรียมีชายฝั่งทะเลยาว 1,000 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 52,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาฉลาม ปลาทู กุ้ง จำนวนมาก แต่ในปัจจุบันเอริเทรียมีผลผลิตในทางการประมงเพียงปีละ 4,000 ตันต่อปีเท่านั้น และยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเรือประมงอียิปต์ที่เข้าไปจับปลาในน่านน้ำของเอริเทรียอย่างผิดกฎหมาย อันเนื่องมาจากยังมิได้มีการกำหนดแบ่งอาณาเขตทางทะเลที่แน่ชัด การประมงถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุน เพื่อการสร้างงานและการส่งออก
ภาคเหมืองแร่
คาดว่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ใต้ทะเลแดง ในปี 2538 รัฐบาลเอริเทรียได้ลงนามในความตกลงกับบริษัท Anadarko แห่งสหรัฐฯ เพื่อทำการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากน้ำมันแล้ว ยังมีแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ อีกคือ หินอ่อน ซัลเฟอร์และโปรแตซ ภายใต้กฎหมายการทำเหมืองแร่ฉบับใหม่มีการเสนอแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนโดยรัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรดังกล่าว ในปี 2539 มีการลงนามในความตกลงฉบับแรกด้านการสำรวจทองคำกับบริษัท Ashanti Goldfields Corporation แห่งกานา ครอบคลุมพื้นที่ 2 แหล่งกว่า 1,550 ตร.กม.
ภาคอุตสาหกรรม
ในสมัยอาณานิคมเอริเทรียมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก แต่หลังจากที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเอธิโอเปีย อันเป็นชนวนให้เกิดสงครามกู้เอกราชยาวนานถึง 30 ปี จนเกิดสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรถูกทำลายในระหว่างสงคราม และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบาใช้เทคโนโลยีล้าสมัย อุตสาหกรรมร้อยละ 80 ต้องพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากการนำเข้า ในปี 2535 ผลผลิตต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายร้อยละ 50 การสูญเสียทางการผลิตส่วนใหญ่ เนื่องมาจากขาดแคลนวัตถุดิบและไม่มีพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง ทั้งนี้ ผลิตผลของภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเป็นร้อยละ 25 ของ GDP (2545)
ภาคการท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นภาคบริการที่มีศักยภาพในการนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ มีการวางแผนการท่องเที่ยวร่วมกับ UNDP และ World Tourism Organisation ที่ได้เริ่มปฏิบัติในปี 2540 เอริเทรียมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย รวมทั้งชายฝั่งทะเลกว่า 1,000 กิโลเมตร ที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่ และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมที่ได้มาตรฐาน
ข้อมูลทั่วไปด้านเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชากรต่อหัว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2 (2549)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ร้อยละ 15 (2549)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 25.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการค้า ปี 2549 636.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
โดยมีมูลค่าการส่งออก 14.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 622.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ สัตว์และอาหารสัตว์ วัตถุดิบ สินค้าอุตสาหกรรม
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง สัตว์และอาหารสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ปี 2549
ส่งออก อิตาลี (ร้อยละ 31.4) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11.9) เบลารุส (ร้อยละ 5.9) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 5.1) และเยอรมนี (ร้อยละ 4.6)
นำเข้า อิตาลี (ร้อยละ 15.1) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 11.8) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 9.5) เยอรมนี (ร้อยละ 8.6) และอินเดีย (ร้อยละ 7)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอริเทรีย |
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยให้การรับรองรัฐเอริเทรียในโอกาสการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2536 โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้มีสารแสดงความยินดีถึงประธานาธิบดีเอริเทรีย และได้สนับสนุนร่างข้อมติรับเอริเทรียเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ไทยและรัฐเอริเทรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2536
ฝ่ายไทยให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีเขตอาณาครอบคลุมเอริเทรียในขณะที่ฝ่ายเอริเทรียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตรัฐเอริเทรีย ณ กรุงนิวเดลี มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และแต่งตั้งให้นายสุนทร เก่งวิบูล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์รัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เอริเทรียดำเนินมาด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างกัน
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ปริมาณการค้าระหว่างไทย-เอริเทรียยังมีมูลค่าน้อยมาก เนื่องจากตลาดเอริเทรียมีกำลังซื้อต่ำและเอริเทรียไม่มีสินค้าที่ตลาดของไทยต้องการมากนัก ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด
ในปี 2549 ปริมาณการค้าไทย-เอริเทรียมีมูลค่า 131.3 ล้านบาท ไทยส่งออกสินค้าไปเอริเทรีย มูลค่า 127.5ล้านบาท ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากเอริเทรียมูลค่า 3.8 ล้านบาท ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 123.7 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2550 ไทยนำเข้าสินค้าจากเอริเทรียเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับเอริเทรียในช่วงเวลาดังกล่าว
สินค้าสำคัญ ที่ไทยส่งออกไปเอริเทรีย ได้แก่ ยางพารา รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจาก เอริเทรีย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานพาหนะ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
สถิติการค้าระหว่างไทย - เอริเทรีย ดูเอกสารแนบ
ความตกลงที่สำคัญ ๆ ของไทย ไม่มีความตกลงกับรัฐเอริเทรีย
การเยือนที่สำคัญ ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|