|
แผนที่
|
สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ Republic of the Fiji Islands
|
|
ที่ตั้ง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากออสเตรเลียไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2,880 กิโลเมตร
พื้นที่ ฟิจิประกอบไปด้วยเกาะทั้งหมด 332 เกาะ มีพื้นที่ทั้งหมด 18,333 ตารางกิโลเมตร มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 1,260,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงซูวา (Suva) ตั้งอยู่บนเกาะ Viti Levu มีประชากรประมาณ 167,000 คน เกาะใหญ่อีกแห่งคือ เลาโตกา (Lautoka) มีประชากรประมาณ 30,000 คน
ภูมิประเทศ เกาะหินภูเขาไฟ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย มีแร่ธรรมชาติ เช่น ทอง เงิน ทองแดง แมงกานีส ในเกาะ Viti Levu มีบ่อน้ำพุร้อนและหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้ และต้นมะพร้าวบริเวณชายฝั่ง บริเวณที่แห้งแล้งเป็นทุ่งหญ้า หรือใช้ในการทำไร่อ้อย
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศเขตร้อน และอยู่ในเขตมรสุม
ประชากร 853,445(ปี 2549)
เชื้อชาติ ชาวพื้นเมืองฟิจิร้อยละ 54 และชาวฟิจิเชื้อสายอินเดีย ร้อยละ40
ศาสนา คริสต์ (นิกาย Methodist) ฮินดู มุสลิม
ภาษา อังกฤษ (ทางการ) ฟิเจียน และฮินดี
หน่วยเงินตรา ฟิจิดอลลาร์ (F$) (1 ฟิจิดอลลาร์เท่ากับประมาณ 0.5947 ดอลลาร์สหรัฐ)
วันชาติ 10 ตุลาคม 2513 (ค.ศ. 1970) ซึ่งเป็นวันที่ฟิจิได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร
GDP ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
GDP Per Capita ประมาณ 3,514 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
Real GDP Growth ร้อยละ 2.6
อุตสาหกรรม น้ำตาล ท่องเที่ยว เสื้อผ้าสำเร็จรูป
สินค้าส่งออก น้ำตาล เสื้อผ้าสำเร็จรูป ทอง ไม้ น้ำมันมะพร้าว ปลา น้ำเปล่าบรรจุขวด
ตลาดส่งออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร
สินค้านำเข้า สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร
ตลาดนำเข้า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ
ระบบรัฐสภา ระบบสองสภา ประกอบด้วยวุฒิสภา (สมาชิก 32 คน) ที่มาจากการแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง (สมาชิก 71 คน)
ประมุขรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและผู้บัญชาการทหาร ได้รับการแต่งตั้งจาก สภาหัวหน้าเผ่า (Great Council of Chiefs) มีวาระ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ H.E. The President Ratu Josefa Iloilo CF, MBE, JP
หัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งจากสมาชิกรัฐสภา
คณะรัฐมนตรี เป็นสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี
คณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรี Commodore Josaia Voreqe Bainimarama ( Honourable Laisenia Qarase ถูกออกจากตำแหน่งภายหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2549)
รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ Ratu Epeli Nailatikau
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลสูง และศาลแขวง
การเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006)ครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในปี 2553 (ค.ศ. 2010)
สถานการณ์ทางการเมือง
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2549 พลเรือจัตวา Vereqe (Frank) Bainimarama ผบ. สูงสุดฟิจิได้ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ฟิจิว่า ตนได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากประธานาธิบดี Ratu Josefa Iloilo เพื่อที่จะถอดถอนนายกรัฐมนตรี Laisenia Qarase และคณะรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลการคอรัปชั่น การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและความพยายามของรัฐบาลที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ พรบ.
ปฏิรูที่ดินและ พรบ. นิรโทษกรรมนักโทษกบฎที่พยายามทำการยึดอำนาจจากพลเรือจัตวา Commodore Bainimarama เมื่อ ค.ศ. 2000 ในการนี้ Commodore Bainimarama ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Jona Senilagakali ผอ. โรงพยาบาททหารฟิจิและในอดีตเคยปฏิบัติราชการที่กองกำลังรักษาสันติภาพในไซไนและเลบานอนให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวพร้อมทั้งประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่ยังไม่ได้ประกาศว่า จะจัดให้มีการเลื่อกตั้งทั่วไปเมื่อใด ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นกระทำรัฐประหารครั้งที่ 4 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของฟิจิ
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2549 องค์กรประเทศเครือจักรภพได้เรียกประชุม The Commonwealth Ministerial Action Group (CMAG) สมัยพิเศษ ขึ้นที่ Marlborough House กรุงลอนดอน เพื่อพิจารณาเรื่องการรัฐประหารในฟิจิ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ประนามการรัฐประหารในฟิจิ และระงับสมาชิกภาพของฟิจิจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีองค์กรเครือจักรภพ (Councils of the Commonwealth) จนกว่าจะ
มีการฟื้นฟูการปกครองแบบประชาธิบไตยในฟิจิ รวมทั้งให้เลขาธิการองค์กรเครือจักรภพให้ใช้ความพยายามในการประสานติดต่อ (good offices) รวมถึงการจัดส่งคณะไปยังฟิจิเพื่อกดดัน (press) ให้ฟิจิฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศโดยเร็วที่สุด
ในการนี้ พลเรือจัตวา Vereqe (Frank) Bainimarama ผบ. สูงสุดฟิจิได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชั่วคราวซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญในตำแหน่งต่างๆ อาทิ นาย Ratu Melli Bainimarama พี่ชายของตนให้ดำรงตำแหน่งเป็น Head of Provincial Development นาย Rodney Aecraman ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) และนาย Sakiusa Rabuka ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอัยการสูงสุด เป็นต้น อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์รัฐประหารได้มีพลเรือนฟิจิจำนวนไม่มากนักประกอบด้วยกลุ่ม NGO และวัยรุ่นออกเดินประท้วงตามถนนในเมืองซูวาเพื่อเรียกร้องให้ฟิจิกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ทั้งนี้ Commodore Bainimarama ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์นาย Alexander Downer รมว. กต. ออสเตรเลียว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ของนาย Downer เกี่ยวกับสถานการณ์ในฟิจิจะกระตุ้นให้ประชาชนฟิจิต่อต้านและอาจส่งผลให้เกิดการใช้กำลังและประชันหน้าระหว่างฝ่ายทหารกับประชาชนได้
นอกจากนี้ นาย Laisenia Qarase อดีต นรม. ฟิจิได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวโดยประกาศว่า จะไม่เลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและจะเดินทางกลับไปยังเมืองซูวาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้แม้ว่าจะได้รับคำข่มขู่จาก Commodore Bainimarama ว่าจะจับกุมตัวตนทันทีที่ตนเดินทางถึงเมืองซูวา อย่างไรก็ดี Commodore Bainimarama กล่าวอ้างว่า นาย Qarase และผู้สนับสนุนได้จัดตั้งรัฐบาลโดยพฤตินัย (de facto) ขึ้นที่บริเวณ
ด้านตะวันตกของหมู่เกาะฟิจิ แต่นาย Qarase ปฏิเสธพร้อมทั้งแจ้งว่า ตนจะไม่จัดตั้งรัฐบาลซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฟิจิ
อนึ่ง นาย Manasseh Sogavare นรม. หมู่เกาะโซโลมอนได้เรียกร้องให้กลุ่ม Melanesian Spearhead Group (ซึ่งประเทศสมาชิกประกอบด้วย ปาปัวนิวกินี ฟิจิ วานูอาตูและหมู่เกาะโซโลมอน) จัดการประชุมร่วมกันและส่งผู้แทนเดินทางเยือนฟิจิเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาร่วมกับฝ่ายทหารฟิจิและผู้คัดค้านการรัฐประหาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ฟิจิถูกตัดขาดจากนานาประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ประกาศระงับความช่วยเหลือและความร่วมมือทางการทหารกับฟิจิรวมทั้งได้ประกาศห้ามผู้นำการก่อรัฐประหารและคณะทางผ่านหรือเข้า/ออกจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และห้ามมิให้ทีมนักกีฬาฟิจิเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้อพยพชาวนิวซีแลนด์ที่เหลือออกจากเมืองซูวากลับนิวซีแลนด์แล้ว
- สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของฟิจิ คือ น้ำตาล ปลา ทองคำ ไม้ น้ำมันมะพร้าว เสื้อผ้าและสิ่งทอ
- ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าของฟิจิยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มีการนำเข้าลดลง ภาคสิ่งทอมีการจ้างงานประมาณ 13,000 คน สินค้าส่งออกของฟิจิส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ The South Pacific and Regional Trade Agreement (SPARTECA) ซึ่งทำให้ฟิจิสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โดยไม่ต้องเสียภาษี และส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยมีโควตาพิเศษ
- นอกจากสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสิ่งทอแล้ว ฟิจิยังมีเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม ที่มีความผันแปรตามราคาทองคำโลกค่อนข้างสูง ผลผลิตจากเหมืองทองคำ มีจำนวน 119,767 ออนซ์ ในปี 2545 นอกจากนี้แล้ว ฟิจิยังส่งออกน้ำดื่มบรรจุขวดไปยังสหรัฐฯอีกด้วย โดยอาศัยชื่อเสียงของฟิจิเรื่องการมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาด
สถิติการค้าไทย-ฟิจิ (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2546(2003) 20.4 19.9 0.5 19.4
2547(2004) 30.7 30.6 0.1 30.5
2548(2005) 61.9 59.7 2.3 57.4
2549(2006) 50.3 49.0 1.3 47.8
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
-ฟิจิพยายามกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก แต่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพล นอกจากนี้ก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในองค์การสหประชาชาติ และได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติหลายครั้ง
- ฟิจิมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ โดยได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญา South Pacific Nuclear Free Zone
- ปัจจุบันฟิจิ เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ Pacific Community และ Pacific Islands Forum (PIF)นอกจากนี้ ฟิจิยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองกับปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอนและวานูอาตูผ่านกลุ่ม Melanesian Spearhead Group (MSG) และเป็นสมาชิกของกลุ่ม African-Caribbean-Pacific Group (ACP) ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก EU อีกด้วย ฟิจิเข้าเป็นสมาชิกของ The General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ในปี 2536 และเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ต่อเนื่องมาจาก GATT
- จากการที่ฟิจิตั้งอยู่กลางภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และมีความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภค และเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเจริญ จึงเป็นที่ตั้งขององค์การระดับภูมิภาคหลายองค์การ เช่น Pacific Islands Forum Secretariat, The University of the South Pacific, The South Pacific Applied Geoscience Commission และส่วนหนึ่งของ The Secretariat of the Pacific Community นอกจากนี้ ฟิจิยังมีบทบาทในการส่งทหารเข้าร่วมใน UN Peacekeeing Forces โดยเฉพาะใน East Timor ผ่านทาง INTERFET (International Force in East Timor) และได้เข้าร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น การรักษาสันติภาพในหมู่เกาะโซโลมอนและปาปัวนิวกินี
-ด้านความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย มี Australia-Fiji Trade and Economic Relations
Agreement (AFTERA) ซึ่งลงนามที่ Canberra เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 และ SPARTECA ในส่วนของ TCF Provisions (ข้อตกลงยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าประเภท Textile, Clothing, and Footware) การค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 38,000 ล้านบาทระหว่างปี 2545-2546 โดยออสเตรเลียมีส่วนแบ่งตลาดในฟิจิประมาณ 37% และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 26 ในช่วงปี 2545-2547
- ปัจจุบัน รัฐบาลของนาย Qarase ได้พยายามส่งเสริมบทบาทของฟิจิในเวทีโลก เช่น การเข้าร่วมการประชุม Commonwealth Heads of Government Meeting (CHOGM) ที่ออสเตรเลียในปี 2545 นอกจากนี้ ฟิจิยังเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม Summit of the African, Caribbean and Pacific (ACP) Leaders ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกรกฏาคม 2545 และการประชุม Pacific Islands Forum ครั้งที่ 33 เมื่อเดือนสิงหาคม 2545
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับฟิจิสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 (หลังจากได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2513) และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา มีเขตอาณาครอบคลุมฟิจิ และสถานเอกอัครราชทูตฟิจิ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีเขตาอาณาครอบคลุมไทย โดยล่าสุดอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. 2549 ที่ฟิจิ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ) เคยเดินทางเยือนฟิจิเมื่อวันที่ 28-30 มีนาคม 2547 และได้หารือข้อราชการกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิจิที่กรุงซูวา
เศรษฐกิจและการค้า
ในปี 2546 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 24.39 โดยไทยส่งออกสินค้าไปฟิจิ คิดเป็นมูลค่า 19.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากฟิจิ มีมูลค่าเพียง 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 19.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว เมล็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป
เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาสิว รองเท้าและชิ้นส่วน
สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ กระดาษแข็งและผลิตภัณฑ์กระดาษ ปลาทูนาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ไม้ กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องแต่งเรือน
สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ปัญหาอุปสรรคทางการค้า
-การเดินทางไปแสวงหาตลาดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
-การติดต่อและการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ต้องระมัดระวังเพราะเป็นธุรกิจของคนพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนเพียงพอและขาดความชำนาญทางการค้า
-ออสเตรเลียผูกขาดตลาดภายในประเทศ เนื่องจากมีอิทธิพลมานานและได้เปรียบในด้านการขนส่ง
วันที่ 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5117-8 Fax. 0-2643-5119 E-mail : american04@mfa.go.th
|
|