|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐกินีบิสเซา The Republic of Guinea-Bissau
|
|
ที่ตั้ง กินีบิสเซาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา
ทิศเหนือติดกับเซเนกัล
ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับกินี
ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
นอกจากนั้นกินีบิสเซายังมีเกาะเล็ก ๆ นอกแผ่นดินใหญ่อีกประมาณ 25 เกาะ
พื้นที่ 13,120 ตารางไมล์ (36,125 ตารางกิโลเมตร)
ประชากร 1,442,029 (กรกฎาคม 2549)
ชนเผ่าที่สำคัญ ๆ ได้แก่
- เผ่า Balanta (30%)
- เผ่า Fula (20%)
- เผ่า Mandyako (14%)
- เผ่า Mandinga (13%)
- นอกจากนั้น ยังมีชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ โปรตุเกส ซีเรีย และเลบานอน
เมืองหลวงบิสเซา (Bissau) ประชากร 2.2 แสนคน
ศาสนาความเชื่อดั้งเดิม (50%) อิสลาม (45%) และคริสต์ (5%)
ภาษา ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ภาษาท้องถิ่นที่สำคัญ คือ ภาษา Crioulo ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง
วันชาติ 24 กันยายน 2516
เดิมกินีบิสเซาเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยู่นานถึง 5 ศตวรรษ ความตื่นตัวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชคืนจากโปรตุเกสได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) โดยกลุ่มPAIGC (African Party for the Independence of Guinea-Bissau and the Islands of Capt Verde) ซึ่งมีนาย Amilcar Cabral เป็นผู้นำชักชวนให้ประชาชนต่อต้านการปกครองและเรียกร้องเอกราชคืนจากโปรตุเกสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) จนได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) โดยมีนาย Luiz Cabral พี่ชายของนาย Amilcar Cabral เป็นประธานาธิบดีคนแรก และกลุ่ม PAIGC ได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการจัดตั้งสภาประชาชน และสภาคณะปฏิวัติประกอบด้วยสมาชิก 11 คน ทำหน้าที่ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนเคปเวิร์ด (Cape Verde) ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) หลังจากที่นาย Amilcar Cabral ถูกฆาตกรรมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) สถานการณ์ภายในของกินีบิสเซาอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง ผู้บริหารประเทศแตกแยกกันเป็นหลายฝ่ายและต่างแก่งแย่งอำนาจซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในสภาวะทรุดโทรม จนในที่สุดคณะทหารภายใต้การนำของพลเอก Joao Bernardo Vieira ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศและจับกุมประธานาธิบดี Luiz Cabral และตั้งตนเป็นประธานาธิบดีและประธานสภาปฏิวัติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาประชาชน และจัดตั้งสภาที่ปรึกษาซึ่งมีสมาชิก 11 คนขึ้นบริหารประเทศควบคู่กับสภาปฏิวัติ ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาประชาชน อดีตประธานาธิบดี Luiz Cabral ถูกจับกุมกักขังอยู่เป็นเวลา 1 ปีก็ได้รับอิสรภาพ และได้เดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศโปรตุเกส การดำเนินนโยบายทางการเมืองของประธานาธิบดี Joao Vieira ในการคืนอิสรภาพให้แก่อดีตประธานาธิบดีในครั้งนี้นับว่าช่วยปรับปรุงบรรยากาศการเมืองภายในและสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ และสามารถกู้หน้าและสร้างภาพพจน์ที่ดีของรัฐบาล
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เนื่องจากบุคคลในคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกแยกกันเป็นหลายฝ่าย สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศประสบภาวะวิกฤติ ผลผลิตของประเทศทั้งด้านการเกษตร เหมืองแร่ การประมงและอุตสาหกรรมตกต่ำ เงินหมุนเวียนภายในประเทศมีมูลค่าน้อยลง เกษตรกรเผชิญปัญหาความแห้งแล้ง ในระดับผู้บริหารประเทศเอง ก็มีการกล่าวโทษกันระหว่างรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อกลางปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) และในปลายปี 2526ประธานาธิบดี Vieira ก็ประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปีพ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาลรัฐมนตรีบางคนไม่เห็นด้วยกับการยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี Vieira จึงปลดรัฐมนตรีที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับตนออกจากตำแหน่งการเลือกตั้งได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ประธานาธิบดี Vieira ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ซึ่งหมายถึงว่าได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศด้วยและได้มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1985) เดือนมกราคม 2534 ประธานาธิบดี Vieira ได้ฟื้นฟูและปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2528 โดยอนุญาตให้มีระบบหลายพรรคการเมืองและให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและ ส.ส. จำนวน 100 คนโดยตรง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกได้มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2537โดยประธานาธิบดี Vieira และพรรค PAIGC ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ในปี 2538 พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค ได้รวมตัวกันตั้งเป็น Union pour le Changement และเรียกร้องให้พรรครัฐบาล PAIGC (Partido Africano da Independencia da Guinee Cabo Verde) ปรับคณะรัฐมนตรีและตัวบุคคลใหม่ แต่ไม่ได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Vieira ได้ปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม 2539 โดยได้เน้นนโยบายให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการศึกษาเบื้องต้นและสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ประธานาธิบดี Vieira ปลดพลเอก Ansumane Mane ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารในข้อหาลักลอบส่งอาวุธให้แก่กลุ่มกบฎ พลเอก Mane จึงนำกำลังก่อการกบฎและเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Vieira ลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่าประธานาธิบดี Vieira ทุจริตทางการเมือง การสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนกว่าครึ่งประเทศไร้ที่อยู่อาศัย และในเดือนตุลาคม 2541ประธานาธิบดี Vieira ได้ขอเจรจากับกลุ่มกบฎเพื่อทำความตกลงหยุดยิง
เดือนพฤศจิกายน 2541 ประธานาธิบดี Vieira กับพลเอก Mane หัวหน้ากลุ่มกบฎได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพและการหยุดยิง ที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย โดยมีนาย Sedat Jobe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแกมเบียเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย(mediator)
ทั้งนี้ ข้อตกลงสันติภาพได้กำหนดให้
1) มีการจัดตั้ง a government of national unity ซึ่งมีตัวแทนของกลุ่มกบฎร่วมในคณะรัฐบาลด้วย
2) ให้ถอนกองกำลังต่างชาติที่อยู่ในกินีบิสเซาออกไป และเปิดทางให้กองกำลังรักษาสันติภาพ (ECOMOG) จำนวน 6,000 นาย เข้ามารักษาความสงบในประเทศ
3) เปิดท่าอากาศยานและท่าเรือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงประชาชนได้
4) จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายในเดือนมีนาคม 2542
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 รัฐสภาได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Vieira ลาออกในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยนำกองกำลังทหารจากเซเนกัลและกินีมาช่วยปราบปรามกลุ่มทหารที่ต่อต้านรัฐบาล ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัวประธานาธิบดี Vieira อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Vieira ไม่ยอมลาออก เดือนกุมภาพันธ์ 2542 เกิดการปะทะกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 100 คน ประธานาธิบดี Vieira กับพลเอก Mane ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงฉบับที่ 2 โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากโตโกเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 คณะรัฐบาลชั่วคราว (Interim Government) ซึ่งจัดขึ้นตามข้อตกลงสันติภาพเข้ารับหน้าที่โดยมีประธานาธิบดี Vieira และนาย Francisco Fadul นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล
วันที่ 7 พฤษภาคม 2542 พลเอก Mane ก่อรัฐประหาร ประธานาธิบดี Vieira ลี้ภัย
ไปอยู่โปรตุเกส ผลจากเกตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก คณะทหารและรัฐสภาได้ประกาศแต่งตั้งนาย Malan Bacai Sanha เป็นประธานาธิบดีของคณะรัฐบาลชั่วคราวแทน โดยมีนาย Francisco Fadul เป็นนายกรัฐมนตรีและประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2542
ผลการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 นาย Koumba Yala KobdeNhanca จากพรรค Party for Social Renewal (PRS) ได้รับคะแนนเสียง 38.81% ในขณะที่ประธานาธิบดี Malan Bacai Sanha (พรรค Party for the Independence of Guinea and Cape Verde-PAIGC) ได้รับคะแนนเสียง 23.37% และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติปรากฏว่า พรรค PRS ได้รับคะแนนเสียงข้างมากคือ 38 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคResistance Party (RP) ได้ 27 ที่นั่ง และพรรค PAIGC ได้ 25 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2543 นาย KoumbaYala Kobde Nhanca ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น คือ ได้รับคะแนนเสียงคิดเป็น 72%ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งนาย Koumba Yala Kobde Nhanca ได้เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของกินีบิสเซาโดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแกมเบีย และประธานาธิบดีสาธารณรัฐเคปเวิร์ด ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
อนึ่ง นาย Nhanca นับได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและนิยมชมชอบมาก โดยเขา
ได้รับการขนานนามว่าเป็นคนของประชาชน (a man of the people) ประธานาธิบดี
Nhanca ได้ประกาศที่จะใช้หลักธรรมรัฐ (Good Government) ในการบริหารประเทศ
และกีดกันทหารออกจากการเมือง
ระบอบการปกครอง : สาธารณรัฐ แบบพรรคการเมืองหลายพรรค (ตั้งแต่ปี 2534)มีประธานาธิบดีเป็นประมุข อยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี
องค์กรนิติบัญญัติ : สภาเดียว (Unicameral) คือ National Peoples Assembly มีสมาชิก 100 คน ได้รับเลือกจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
บุคคลสำคัญทางด้านบริหารของกินีบิสเซา
1. ประมุขรัฐ นาย João Bernardo Vieira ประธานาธิบดี (ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548)
2. หัวหน้ารัฐบาล นาย Aristides Gomes นายกรัฐมนตรี ( แต่งตั้งเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2548)
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย António Isaac Monteiro (แต่งตั้งเมื่อ2 พฤศจิกายน 2548)
สมาชิกภาพของกินีบิสเซาในองค์การระหว่างประเทศ
- องค์การสหประชาชาติ
- องค์การเอกภาพแอฟริกา (Organization of African Unity-OAU)
- องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Idlamic Conference-OIC)
- กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement)
- กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจรัฐในแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States-ECOWAS)
นโยบายต่างประเทศ
ในปัจจุบันกินีบิสเซากำลังก้าวจากสังคมนิยมจัดออกไปสู่โลกตะวันตกมากขึ้น โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลางแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในทางปฏิบัติมีความสัมพันธ์และความช่วยเหลือจากโลกตะวันตกมากกว่าโลกสังคมนิยม นอกจากนี้แล้วนโยบายส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกับแนวทางของ OAU เช่น ในปัญหาตะวันออกกลาง กินีบิสเซาสนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์ในการตั้งรัฐเอกราช ต่อต้านอิสราเอล สำหรับปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกานั้น กินีบิสเซาสนับสนุนให้ยุติการสู้รบและเจรจาโดยสันติวิธี
กินีบิสเซาได้มีกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับเซเนกัลเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองน่านน้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าในบริเวณดังกล่าวอุดมไปด้วยสินแร่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศทั้งสองได้ยุติความเป็นศัตรูกันในที่สุดด้วยการลงนามในความตกลงสันติภาพ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2538 โดยตกลงกันที่จะทำการสำรวจร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมบริเวณน่านน้ำที่เป็นจุดพิพาทปัญหากัมพูชาเกี่ยวกับการออกเสียงเรื่องปัญหากัมพูชาในการประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาตินั้น ในเรื่องสาส์นตราตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย กินีบิสเซาออกเสียงคัดค้านในสมัยประชุมที่ 34-36 และงดออกเสียงในสมัยประชุมที่ 37 สำหรับข้อมติเกี่ยวกับปัญหากัมพูชานั้น กินีบิสเซางดออกเสียงในสมัยประชุมที่ 34-38 และในสมัยประชุมที่ 39 กินีบิสเซาไม่ได้เข้าร่วมประชุมออกเสียง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากินีบิสเซาเป็นประเทศหนึ่งที่รับรองระบบเฮง สัมริน และประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาของฝ่ายเฮง สัมริน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2527 และมีความสัมพันธ์กับเวียดนามและประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ กินีบิสเซาไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศแข็งแรงกว่าใช้กำลังเข้ารุกรานและยึดครองประเทศที่อ่อนแอกว่า
มาตราเงิน 1 CFAF = Centimes อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 527.47 CFAF (2548)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 296 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2548)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 186 เหรียญสหรัฐ (ปี 2548)
ภาวะเงินเฟ้อ 2.1% (ปี 2548)
หนี้สินต่างประเทศ 745 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2548)
ทรัพยากรธรรมชาติและพืชผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจ แร่บอกไซท์ น้ำมัน ถั่วลิสง ฝ้าย ข้าว และคาดว่ามีปริมาณสำรองแร่บอกไซด์ ปิโตรเลียม ฟอสเฟต และทองคำ จำนวนพอสมควร ซึ่งยังไม่มีการสำรวจเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูง
สินค้าออก เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (70%) ถั่วลิสง มะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากปลา ไม้ ฝ้าย
สินค้าเข้า สินค้าประเภทอาหาร เครื่องจักรกล เชื้อเพลิง เครื่องมือและอุปกรณ์ในการขนส่ง
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
นำเข้า อิตาลี(ร้อยละ 25.3) เซเนกัล(ร้อยละ 18.6) โปรตุเกส(ร้อยละ 15.8) โกตดิวัวร์(ร้อยละ 4.3) (2548)
ส่งออก อินเดีย(ร้อยละ 72) ไนจีเรีย(ร้อยละ 17.1) เอกวาดอร์(ร้อยละ 4)(2548)
ภาวะเศรษฐกิจเป็นประเทศที่ยากจนและประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ก่อนสงครามกู้เอกราช หลังจากได้รับเอกราชจากโปรตุเกส รัฐโอนกรรมสิทธิที่ดินมาเป็นของรัฐและให้เอกชนทำงานและได้รับประโยชน์จากผลผลิตในที่ดินนั้น และรับเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายผลผลิตและบริษัทต่าง ๆที่รัฐเป็นเจ้าของก็ขาดทุนและต้องได้รับเงินช่วยเหลือประชาชน 90% ประกอบอาชีพการเกษตรแต่เนื่องจากการที่กินีบิสเซาประสบปัญหาความแห้งแล้งติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ไม่มีผลผลิตทางการเกษตรพอเลี้ยงตนเองได้ จึงต้องสั่งเข้าสินค้าประเภทอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค การเกษตร การคมนาคม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลจึงต้องสั่งเข้าสินค้าประเภท เชื้อเพลิง เครื่องจักรกล ฯลฯ จึงทำให้กินีบิสเซาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศจำนวนมากมาตั้งแต่พ.ศ. 2523 แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและประเทศตะวันตกให้ความช่วยเหลือมากที่สุดถึงจำนวน 2/3 ของความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งหมด ประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือกินีบิสเซา ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ บราซิล
ภายหลังการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีเมื่อกลางปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวัฎจักรทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญของกินีบิสเซา โดยเริ่มเปิดการเจรจาขอกู้เงินกับนานาประเทศและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งตั้งเงื่อนไขให้กินีบิสเซาปรับค่าของเงินภายในประเทศและส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพาณิชย์ภายในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ประธานาธิบดี Vieira จึงต้องประกาศลดค่าเงินลงอีกถึง 50%
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกินีบิสเซา |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ทางการเมือง
1. ประเทศไทยกับกินีบิสเซาได้ตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2526 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์มีเขตอาณาครอบคลุมถึงกินีบิสเซา ในขณะที่กินีบิสเซายังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกินีบิสเซาที่ใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
2. ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับกินีบิสเซาดำเนินไปอย่างราบรื่น Dr. FidelisCabral d Almada อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกินีบิสเซาเคยพบ ฯพณฯรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ที่กรุงปารีส 2 ครั้ง เคยมาเยือนไทยและได้เชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯไปเยือนกินีบิสเซา ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ตอบรับในหลักการแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ทางฝ่ายกินีบิสเซายังกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมความสัมพันธภาพระหว่างกันในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ วิชาการและการค้า และได้แสดงความสนใจที่จะซื้อสินค้าจากไทย อาทิ ข้าว ด้วย
3. ในการที่กินีบิสเซาเป็นประเทศหนึ่งใน 24 ประเทศที่ประสบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในทวีปแอฟริกา รัฐบาลไทยจึงได้ให้ความช่วยเหลือโดยการบริจาคปลายข้าวเอ. วันพิเศษจำนวน 50 ตัน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2527
ปริมาณการค้าไทย-กินีบิสเซา ดูเอกสารแนบ
มกราคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|