ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> อินเดีย




แผนที่
สาธารณรัฐอินเดีย
Republic of India


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง: ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันออกติดบังกลาเทศ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดพม่า ทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย
พื้นที่ : 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
เมืองหลวง : กรุงนิวเดลี (New Delhi)
เมืองสำคัญ : มุมไบเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และการคมนาคม เป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ฮินดีที่ใหญ่ที่สุด
: บังกาลอร์ เป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ การบิน และอวกาศ
: เจนไนเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภาคใต้ของอินเดีย อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมรถยนต์
: กัลกัตตา เป็นเมืองหลวงเก่าของอินเดีย และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2
ภูมิอากาศ : มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยในที่ราบช่วงฤดูร้อน ประมาณ 35 องศาเซลเซียส และฤดูหนาว ประมาณ 10 องศาเซลเซียส
ประชากร : 1.13 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก
เชื้อชาติ : อินโด-อารยัน ร้อยละ 72 ดราวิเดียน ร้อยละ 25 มองโกลอยด์และอื่นๆ ร้อยละ 3
ภาษา : ภาษาฮินดีเป็นภาษาที่ใช้โดยประชาชนส่วนใหญ่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในวงราชการและธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีภาษาท้องถิ่นอีกนับร้อยภาษา แต่ที่ใช้กันมากมี 14 ภาษา คือ อูรดู เตลูกู เบงกาลี ทมิฬ และปัญจาบี
ศาสนา : ฮินดู ร้อยละ 81.3 มุสลิมร้อยละ 12 คริสต์ร้อยละ 2.3 ซิกข์ร้อยละ 1.9 อื่น ๆ (พุทธ และเชน) ร้อยละ 2.5
วันสำคัญ : วันชาติ (Republic Day) วันที่ 26 มกราคม
: วันเอกราช (Independence Day) วันที่ 15 สิงหาคม
การศึกษา : อัตราการรู้หนังสือโดยเฉลี่ยร้อยละ 59.5 (ชาย ร้อยละ 70.2 หญิง ร้อยละ 48.3)
หน่วยเงินตรา : รูปี (Indian Rupee)
1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 44.1 รูปี
GDP : 875.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 820 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 9.2 (ปี 2549)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 161,794.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 6 (ปี 2549)
ดุลการค้า : ขาดดุล 15,006.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการส่งออก : 119,396.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
มูลค่าการนำเข้า : 186,307.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
สินค้าส่งออก : ผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรม (Engineering Goods) พลอยและอัญมณี ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์การเกษตร แร่ธาตุ เครื่องหนัง สินค้าหัตถกรรม
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ต้นทุนการผลิต ทองและเงิน ไข่มุกและพลอยต่างๆ เวชภัณฑ์และสารเคมี เหล็กและโลหะ สินแร่โลหะและเศษเหล็ก น้ำมันสำหรับบริโภค
ประเทศคู่ค้า :สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง อังกฤษ เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม
ตลาดนำเข้า : จีน สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สิงคโปร์
ตลาดส่งออก : สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี เบลเยี่ยม อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์
ระบอบการเมือง : ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)
ระบบการปกครอง : สาธารณรัฐ (Federal Republic) แบ่งเป็น 28 รัฐ และดินแดนสหภาพ (Union Territories) อีก 7 เขต
ประมุขของรัฐ : นางประติภา ปาทิล (Mrs. Pratibha Patil) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550
ประธานวุฒิสภา(ราชยสภา) : นาย Bhairon Singh Shekhawat รองประธานาธิบดี ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง (Chairman of Rajya Sabha) เข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2545
ประธานสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) : นาย Somnath Chatterjee (Speaker of Lok Sabha) เข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547
คณะรัฐบาล เข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547
: Dr. Manmohan Singh นายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
: นาย P. Chidambaram รัฐมนตรีคลัง
: นาย Kamal Nath รัฐมนตรีพาณิชย์

การเมืองการปกครอง
อินเดียเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และกระจายอำนาจการปกครองในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ 28 รัฐ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2544 โลกสภาได้เห็นชอบร่างรัฐบัญญัติในการจัดตั้งรัฐใหม่ 3 รัฐ คือ รัฐฉัตตีสครห์ (Chattisgarh) รัฐอุตตะรันจัล (Uttaranchal) และรัฐฉรขันท์ (Jharkhand) ซึ่งแยกออกจากรัฐมัธยประเทศ อุตตระประเทศ และรัฐพิหาร ตามลำดับ และสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง (Union Territories) อีก 7 เขต
รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน โดยรัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องการป้องกันประเทศด้านนโยบายต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่นๆ ด้านการเงิน ด้านกฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ

(1) การบริหารรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ประกอบด้วย 2 สภา คือ ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา และโลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร การตรากฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา
ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ราชยสภามีสมาชิก 250 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน โดย 12 คนจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทุกๆ 2 ปี และอีก 233 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นผู้แทนของรัฐและ Union Territories
โลกสภามีสมาชิก 545 คน โดยสมาชิก 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (530 คน มาจากแต่ละรัฐ ส่วนอีก 13 คน มาจาก Union Territories) และอีก 2 คน มาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดี จากกลุ่มอินโด-อารยันในประเทศ ทั้งนี้มีวาระคราวละ 5 ปี เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภา
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Head of Executive of the Union) ซึ่งประกอบด้วยรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา รวมทั้งสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2 ได้
รองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรี (Ministers) รัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Ministers of State - Independent Charge) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) รับผิดชอบโดยตรงต่อโลกสภา
ฝ่ายตุลาการ
อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ระดับรัฐ มีศาลสูง (High Court) เป็นศาลสูงสุดของแต่ละรัฐ รองลงมาเป็น Subordinate Courts ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
(2) การบริหารระดับรัฐ
โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐ ประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Governor) เป็นประมุข ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี รัฐบาลมลรัฐ (State Government) ประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้า และคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (State Ministers) ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งรัฐจะมาจากพรรคการเมือง หรือได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (Legislative Assembly)

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อินเดียมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์กาล ชาวดราวิเดียน (Dravidian) และชาวอารยัน (Aryan) ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย โดยได้สร้างอารยธรรมอันเป็นพื้นฐานของอารยธรรมฮินดูที่มีความคงทนต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ศาสนาฮินดู ภาษาสันสกฤต และระบบ ชั้นวรรณะ อารยธรรมอารยันหรือฮินดูรุ่งเรืองมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่มีระยะหนึ่งที่อารยธรรมพุทธรุ่งเรืองในอินเดีย คือ ตั้งแต่พุทธกาลถึงราว 3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราชในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ต่อมาอารยธรรมอิสลามได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยพ่อค้ามุสลิมจากตะวันออกกลาง และจักรวรรดิอาหรับได้ส่งกองทัพมาโจมตีแคว้นซินด์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) จักรวรรดิที่มีความยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น คือ จักรวรรดิโมกุล (คริสต์ศตวรรษที่ 16 -18) เป็นสมัยที่มีการแพร่ขยายอิทธิพลวัฒนธรรมโมกุลอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการปกครอง ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ในสมัยของพระเจ้า Aurangzeb ซึ่งเป็นผู้เคร่งศาสนาอิสลาม ได้ออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม และเป็นเหตุให้ชาวอินเดียต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิ เมื่อสิ้นอำนาจของพระเจ้า Aurangzeb ในปี 2250 จักรวรรดิโมกุลก็ค่อยๆ แตกแยกและเสื่อมลง เป็นโอกาสให้อังกฤษเข้ามามีอำนาจแทนที่ และอังกฤษเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในอนุทวีปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อค้าขายพร้อม ๆ กับครอบครองดินแดนและแทรกแซงในการเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี 2420 โดยมีสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย หลังจากการรณรงค์ต่อสู้กับการปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลานาน ภายใต้การนำของมหาตมะ คานธี อินเดียจึงได้รับเอกราชและร่วมเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้เครือจักรภพ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2490 โดยยังมีพระมหากษัตริย์ของอังกฤษเป็นประมุข และทรงแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2493 ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายเยาวหราล เนห์รู ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ด้านการต่างประเทศ
1. ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (Independent Foreign Policy) เน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมหลักการ Multi-Polarity
2. ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด (Neighbourhood Diplomacy) คือ ประเทศสมาชิกของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asia Association for Regional Cooperation : SAARC) 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล มัลดีฟส์ ปากีสถานและศรีลังกา
3. นอกจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม SAARC แล้ว ยังให้ความสำคัญกับ อัฟกานิสถาน อิรัก อิหร่าน และอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเช่นกัน โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East) อย่างต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องพรมแดน
5. กระชับความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วกับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการทหารและเทคโนโลยีด้านอวกาศและนิวเคลียร์
6. ขยายความร่วมมือกับสหรัฐ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
7.เพิ่มความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง โดยคำนึงถึงรากฐานความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับอิสราเอลโดยเฉพาะด้านการทหาร
8. แสดงบทบาทเป็นประเทศผู้ให้ต่อภูมิภาคแอฟริกา โดยจัดตั้งกลุ่ม Team-9 โดยอินเดียเป็นศูนย์กลางและให้ความช่วยเหลือภายใต้กรอบ UNDP แก่ประเทศแอฟริกาตะวันตกอีก 8 ประเทศ คือ Bukina Faso, Cote d’Ivoire, Ivory Coast, Equatorial Ginea, Ghana, Ghinea Bissau, Mali และ Senegal ในด้านความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความยากจน การพัฒนาการเกษตร โดยคำนึงถึงประชาชนเชื้อสายอินเดียที่อาศัยในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ที่สำคัญ
การเมืองภายใน
พรรค Indian National Congress เป็นฝ่ายได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 14) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 อย่างพลิกความคาดหมาย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม (14 พรรคพันธมิตร) เรียกว่า The United Progressive Alliance (UPA) โดยมี Dr. Manmohan Singh เป็นนายกรัฐมนตรีชาวซิกข์คนแรกของอินเดีย
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) คือ นาย Somnath Chatterjee ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party of India (Marxist) ) คนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นาย Rajnath Singh ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค BJP เป็นผู้นำฝ่ายค้านและพันธมิตรซึ่งเรียกว่า National Democratic Alliance (NDA) ประกอบด้วยพรรค BJP เป็นแกนนำร่วมกับพรรคอื่นๆ อีก 8 พรรค
การบริหารประเทศครบรอบ 2 ปี ของรัฐบาลนาย Manmohan Singh (พ.ค. 2549)
รัฐบาลซึ่งเป็นรัฐบาลผสม (United Progressive Alliance – UPA) ประกอบด้วยพรรคพันธมิตรต่างๆ 19 พรรค และมีพรรค Congress เป็นแกนนำ แถลงในโอกาสครบรอบ 2 ปีว่า สามารถพัฒนาประเทศตามแผน National Common Minimum Programme ได้อย่างดี โดยสามารถแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ลดปัญหาความรุนแรงในสังคมและความขัดแย้งระหว่างชนชั้นวรรณะ ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของประชาชน ส่งเสริมการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลเพื่อสร้างธรรมาภิบาล ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส และประสบผลสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้ผ่านพ้นการบริหารประเทศครบสองปีในบรรยากาศไม่ดีนัก เนื่องจากแรงกดดันของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคร่วมรัฐบาลที่เฝ้าตรวจสอบและโจมตีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดเวลาทำให้บางโครงการต้องสะดุดลง โดยพรรค BJP ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านกลับไม่มีบทบาทในการกดดันรัฐบาลมากนัก เนื่องจากมีปัญหาภายในพรรค BJP พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้โจมตีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการค้าปลีก (FDI in retail sectors) กิจการประกันภัย กิจการธนาคาร และการปรับปรุงท่าอากาศยาน และยังโจมตีการดำเนินนโยบายกับสหรัฐฯ และอิหร่าน นอกจากนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคาสินค้าและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และล่าสุดโดนโจมตีอย่างหนักหลังรัฐบาลประกาศขึ้นโควต้าที่นั่งในสถาบันการศึกษาชั้นสูงแก่ชนชั้นล้าหลังเป็นร้อยละ 27 (เดิมร้อยละ 22.5)
กระบวนการปรับความสัมพันธ์กับปากีสถาน
อินเดียกับปากีสถานต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนแคชเมียร์ เนื่องจากผู้ปกครองแคว้นเป็นชาวฮินดู และเลือกที่จะอยู่กันอินเดีย แต่ประชาชนส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ซึ่งมีความเหมาะสมกว่าที่จะอยู่กับปากีสถานซึ่งเป็นประเทศมุสลิม อินเดียยือนกรานว่าแคว้นแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และกรณีพิพาทจะต้องได้รับการแก้ไขในกรอบทวิภาคีเท่านั้น จึงปฏิเสธบทบาทจของประเทศ / องค์การที่สามโดยเด็ดขาดขณะที่ปากีสถานต้องการให้มีการลงประชามติ และต้องการจะ “Internationalize” ปัญหา แคชเมียร์ โดยประสงค์ให้นานาประเทศ / องค์การที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย
ความสัมพันธ์สองประเทศมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่ออดีตนรม. Atal Bihari Vajpayee และปธน. Musharraf ได้ประกาศกระบวนการเจรจา Composite Dialogue ภายหลังการประชุมสุดยอด SAARC (ม.ค. 2547) ที่กรุงอิสลามาบัด ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รัฐสภาอินเดียในปี 2544 โดย Composite Dialogue เป็นกระบวนการเจรจาที่มี roadmap ระบุเงื่อนเวลาการเจรจาอย่างชัดเจนครอบคลุมทุกประเด็น เช่น การแก้ไขปัญหาเขตแดนโดยเฉพาะปัญหาในแคชเมียร์ (ปากีสถานให้ความสำคัญ) เรื่องการก่อการร้าย (อินเดียให้ความสำคัญ) กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนสู่ประชาชน ขณะนี้ได้เจรจามาสามรอบแล้ว และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เหตุระเบิดที่มุมไบ เกือบพร้อม ๆ กัน 7 แห่งต้นเดือน ก.ค. 2549 ที่มีผู้บาดเจ็บ 700 คน และเสียชีวิต 200 คน นั้น อินเดียเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba (LeT) ที่มีฐานอยู่ในเขตแคชเมียร์ของปากีสถาน ที่มีหน่วยข่าวกรอง Inter-Service Intelligence (ISI) ของปากีสถานให้การสนับสนุนอยู่ โดยอาจจะร่วมมือกับขบวนการ Islamic Movement of India (SIMI) ซึ่งเป็นขบวนการผิดกฎหมายในอินเดีย แม้กลุ่ม LeT จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายดังกล่าวตั้งแต่ต้น แต่จากการที่เชื่อมั่นว่าปากีสถานอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว กอปรกับกระแสความรู้สึกต่อต้านปากีสถานของประชาชนชาวอินเดียที่มีอยู่ขณะนี้ ทำให้ทางการอินเดียได้แจ้งขอเลื่อนการเจรจาระดับปลัด กต. ของทั้งสองฝ่าย จากเดิมที่จะมีขึ้นในกรุงนิวเดลีในวันที่ 21 ก.ค. ออกไปก่อนจนกว่าจะสามารถกำหนดวันใหม่ได้ ซึ่งการเจรจาระดับปลัด กต. นี้ก็เพื่อทบทวนความคืบหน้าการเจรจา Composite Dialogue รอบที่สามที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเร็วๆ นี้ กับเพื่อกำหนดวันสำหรับการเจรจาในสาขาต่างๆ สำหรับรอบที่สี่ต่อไป ทั้งนี้ ความตึงเครียดได้ลดลงเล็กน้อย เมื่อ ปลัด กต. สองฝ่ายมีโอกาสหารือกันในระหว่างการประชุม SAARC ระดับ ปลัด กต. ที่กรุงธากา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2549 โดยสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการระเบิดที่มุมไบ แต่ยังไม่ได้ตกลงเรื่องการประชุม Composite Dialogue

เศรษฐกิจการค้า
นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
1) อนุรักษ์ ปกป้อง และส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม
2) ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ในระดับ 7-8 % อย่างมีเสถียรภาพ
3) ส่งเสริมสวัสดิการและความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรและแรงงาน
4) ส่งเสริมบทบาทของสตรี ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และกฏหมาย
5) ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการศึกษาและการจ้างงาน แก่ชาวอินเดีย วรรณะต่ำและชนกลุ่มน้อย
6) ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคม

สภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ
อินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ประชากรกว่าร้อยละ 60 ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาความยากจนและการว่างงานเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการปิดประเทศและดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในมานาน อย่างไรก็ดี อินเดียเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2534 เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติในกิจการด้านไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ได้เปิดเสรีด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารในปี 2543 ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนานาชาติ
ในปี 2547 เศรษฐกิจอินเดียเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีน โดยมี GDP 505.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจอินเดียไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2546 เติบโตถึงร้อยละ 10 เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรได้เต็มที่ การส่งออกเติบโตถึงร้อยละ 10 รายได้จากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติมีจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยต่ำลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 4.91 ตลาดเงินทุนแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองต่างประเทศสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การสร้างเมืองเทคโนโลยีสารสนเทศเเห่งอินเดีย (Silicon Valley)
อินเดียมีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สร้างรายได้จาก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2534 เป็น 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 ทั้งนี้ เพราะอินเดียมีประชากรร้อยละ 6 ที่มีความเป็นอยู่และการศึกษาดีในระดับนานาชาติ และมีสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงที่เน้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ อินเดียยังเห็นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมสะอาดปราศจากมลพิษ เป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีการลงทุนต่ำและมีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกสูงมาก ประกอบกับการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะของภาครัฐ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาการส่งออกซอฟต์แวร์ คือ Software Technology Parks of India (STPI)
รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เป็นรัฐที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวง โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัท ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley แห่งอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย
ด้านการทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 ขณะนี้ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี และมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง ที่เมืองกัลกัตตา เมืองมุมไบ และเมืองเจนไน ปัจจุบัน นายจีระศักดิ์ ธเนศนันท์ ดำรงตำเเหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย โดยเข้ารับตำเเหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2546 ส่วนอินเดียมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ และมีสถานกงสุลใหญ่ที่เชียงใหม่ และกำลังจะเปิดที่สงขลา โดยมีนางสาวละตา เรดดี (Latha Reddy) เป็นเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และเข้ารับต่ำแหน่งเมื่อ มกราคม 2550

ด้านการเมือง
ในช่วงสงครามเย็นและสงครามกัมพูชา ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียค่อนข้างห่างเหิน เนื่องจากไทยเห็นว่าอินเดีย (ภายใต้การนำของนางอินทิรา คานธี) มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต และรับรองรัฐบาลเฮง สัมริน ในขณะที่ไทยเป็นสมาชิก SEATO ซึ่งอินเดียเห็นว่าไทยมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรกับปากีสถาน อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดียใกล้ชิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่ออินเดียเริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 2534 และดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ในช่วงปี 2544-2546 ในสมัยรัฐบาลพรรค BJP ของอดีตนายกรัฐมนตรี Vajpayee และรัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียภายใต้การนำของพรรคคองเกรส ได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าต้องการกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation) จัดตั้งเมื่อปี 2532 และมีการประชุมไปทั้งหมดแล้ว 4 ครั้ง นอกจากนี้ จากผลการเยือนอินเดียของนรม. เมื่อ 3 มิ.ย. 2548 สองฝ่ายได้จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วม (Joint Working Group) ระดับอธิบดี เพื่อติดตามและเร่งรัดความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ครอบคลุมทุกสาขา และเพื่อเสริมกลไกความร่วมมือคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยได้มีการประชุมครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 9-10 มกราคม 2549

ด้านความมั่นคง
ไทยและอินเดียมีความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบคณะทำงานร่วมด้านความมั่นคง ไทย-อินเดีย (Thailand-India Joint Working Group on Security) ฝ่ายไทยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะ ฝ่ายอินเดียมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงเป็นหัวหน้าคณะ มีการประชุมกันแล้ว 4 ครั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม ธันวาคม 2546 สิงหาคม 2547 และตุลาคม 2548 ล่าสุด ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2550

ด้านเศรษฐกิจ
ไทยให้ความสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดียอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย ทั้งในแง่ของการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขนาดของตลาด ซึ่งมีประชากรระดับกลาง-สูง ที่มีกำลังซื้อสูง ประมาณ 300 ล้านคน ตลอดจนความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลไกที่สำคัญได้แก่ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จัดตั้งเมื่อปี 2532 มีการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2546

การค้า
การค้าไทย-อินเดียในปี 2549 มีมูลค่า 3,406.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.33 ของมูลค่าการค้าไทยต่อโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.43 ไทยส่งออก 1,803.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอินเดีย 1,603.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลครั้งแรกในปี 2548 มูลค่า 255.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 19 ของไทย และมูลค่าการลงทุนของไทยในอินเดียเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

การจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย (Free Trade Area : FTA)
ไทยและอินเดียได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าและช่วยขยายการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ เขตการค้าเสรียังจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วย สาระสำคัญของกรอบความตกลงฯ คือ
1) เริ่มการเจรจาการค้าสินค้าในเดือนมกราคม 2547 ให้แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2548 และกำหนดเปิดเสรีลดภาษีเหลือ 0 ภายในปี 2553
2) ให้ทยอยเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนในสาขาที่มีความพร้อมก่อน โดยเริ่มเจรจาเดือนมกราคม 2547 และให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2549
3) สินค้าเร่งรัดการลดภาษี (Early Harvest Scheme : EHS) 82 รายการ เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2547 โดยลดภาษีลง 50% จากอัตราภาษี ณ วันที่ 1 มกราคม 2547 จากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2548 ลดภาษีลง 75% และในวันที่ 1 กันยายน 2549 ลดลง 100% หรือภาษีเป็น 0 ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันสองฝ่ายยังคงผลักดันการเจรจาในกรอบ FTA ต่อไป โดยได้เจรจามาแล้ว 14 ครั้ง และคาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจาในกรอบการค้าสินค้าได้ภายในปี 2550

การลงทุน
ในปี 2549 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยลงทุนในอินเดียมูลค่ารวม 75.6 ล้านบาท โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โครงการของอินเดียในไทยได้รับการอนุมัติมี 144 โครงการ มีมูลค่า 831.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็กและกลาง นอกจากนั้น มีกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนในเจนไน บริษัท Delta Electronic, Stanley Electric Company และ Stanley Automative ในกัวร์กาวน์ (Gurgaon) ธนาคารกรุงไทยในมุมไบ และมีการลงทุนร่วมระหว่าง Thai Summit กับ Neel Auto ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสาขาเคมีภัณฑ์ และกระดาษ สาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสาขาเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ในปี 2549 โครงการลงทุนจากอินเดียที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 18 โครงการ เพิ่มขึ้น 2 โครงการ จากปี 2548 ในแง่มูลค่าการลงทุนมีการลงทุนทั้งสิ้น 2,671 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาเคมีภัณฑ์และกระดาษ และสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยปัจจุบันบริษัท Tata ได้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมรถปิกอัพและอุตสาหกรรมเหล็กที่ไทยแล้ว

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ไทยและอินเดียได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยวิทยาศาสตร์ วิชาการและสิ่งแวดล้อม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ณ กรุงนิวเดลี และได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่กรุงเทพฯ ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่กรุงนิวเดลี ภายใต้ความตกลงดังกล่าว ครอบคลุมกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือ เช่น การร่วมวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน ในสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรวิทยา ยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้คัดเลือกผู้รับทุนเยาวชนไทย จำนวน 100 คน ไปฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ Infosys Leadership Institute (ILI) เมืองไมเซอร์ ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547- วันที่ 9 มีนาคม 2548 โดยบริษัท Infosys สนับสนุนค่าที่พักค่าอาหาร ค่าเดินทางในประเทศอินเดีย และค่าทัศนศึกษา

การท่องเที่ยว
ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 14 เมื่อเทียบกับตลาดขาเข้าจากประเทศอื่นๆ ของไทย และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.43 ชาวอินเดียนิยมมาท่องเที่ยวที่ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยในปี 2549 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 315,766 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 21.20 คิดเป็นร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวอินเดียทั้งหมด ไทยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอินเดียมาไทย โดยเน้นนักท่องเที่ยวตลาดบน ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน และมีเป้าหมายให้มาใช้บริการ ด้านสุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจ ธุรกิจ/การประชุมสัมมนา สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปอินเดีย ประมาณ 30,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เพื่อไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถาน หรือเพื่อการศึกษา

ด้านการบิน
เมื่อเดือนตุลาคม 2546 อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย (นาย Vajpayee) ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Skies Policy) โดยอินเดียให้สิทธิไทยบินไป เดลี กัลกัลตา เจนไน มุมไบ 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บินไปเมืองท่องเที่ยวอีก 18 เมืองในอินเดีย รวมทั้งพุทธคยาและพาราณสี (เริ่มบินเมื่อ ต.ค. 49) โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบิน โดยมีเงื่อนไขคือไม่ให้ Fifth Freedom Rights (ในการบินต่อไปยังจุดอื่น) และให้สายการบินทำความตกลงทางพาณิชย์ (มิใช่ให้สิทธิบินเสรีโดยอัตโนมัติ) ในขณะที่ไทยให้สิทธิอินเดียบินมายังกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเมืองอื่นๆ ได้ 7 วันต่อสัปดาห์ โดยในผลการเจรจาการบินล่าสุด เมื่อวันที่ 9-10 ก.พ. 2549 ที่กรุงเทพ ไทยเจรจาได้สิทธิความจุที่ประมาณ 18,000 ที่นั่ง/สัปดาห์ จากเดิม 8,606 ที่นั่ง/สัปดาห์ โดยเป็น quota ที่อินเดียจะทยอยให้ในระยะ 3 ปี และไทยได้สิทธิบินไปเมืองไฮเดอราบาด 3 เที่ยว/สัปดาห์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วง ต.ค. 2549 – มี.ค. 2550 นอกจากนี้ยังสิทธิในการบินไปบังกะลอร์และเจนไน 7 เที่ยว/สัปดาห์ จากเดิม 5 เที่ยว/สัปดาห์ และเพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวเดลี 7 เที่ยวเป็น 14 เที่ยว แต่ให้มีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค. 2551-ต.ค. 2552 ซึ่ง ครม. ได้มีมติอนุมัติผลการเจรจาดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2549

การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม
ในปี 2544 นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียเห็นพ้องให้มีความร่วมมือไตรภาคีในการเชื่อมโยงถนนระหว่างไทย-พม่า-อินเดีย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน โดยเชื่อว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ไทยและพม่าได้ลงนามสัญญาก่อสร้างเส้นทางระยะแรก 18 กม. (แม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี) เมื่อ ก.พ. 48 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 นอกจากนี้ ไทยและพม่าได้ลงนาม MOU เพื่อสำรวจเส้นทางและออกแบบเส้นทางระยะต่อจากกม.ที่ 18 ยาว 40 กม. (เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก) โดยครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2548 ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า สำหรับการทำ feasibility study ทั้งนี้ ได้มีการประชุมคณะทำงานสามฝ่ายด้านเทคนิคและการเงินที่กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2549 โดยตกลงให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการหารายได้ (financial feasibility study) จากการก่อสร้างถนนทั้งสาย และไทยและอินเดียยืนยันข้อเสนอให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่พม่า

ด้านการศึกษา
ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-อินเดีย ในการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการศึกษาร่วมกัน โดยครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนการวิจัย ข้อมูลและเครื่องมือการสอน การแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ คณาจารย์ระหว่างกัน การจัดสัมมนา การประชุมร่วมกัน การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของทั้งสองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไทยกับอินเดียได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เมื่อปี 2520 แต่ยังขาดการดำเนินการที่ต่อเนื่อง และไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 เมื่อกุมภาพันธ์ 2546 ฝ่ายไทยจึงได้เสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมในอันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์อินเดียศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์สันสกฤตศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเมื่อครั้งที่อดีตนายกรัฐมนตรีนาย Vajpayee เยือนไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2546 สองฝ่ายเห็นชอบที่จะให้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยและอินเดียในแต่ละประเทศ ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในระหว่างการหาสถานที่ที่เหมาะสม

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
1. ความตกลงทางการค้า (ปี 2511)
2. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ปี 2512)
3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (ปี 2520)
4. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2528)
5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยและอินเดีย (ปี 2540)
6. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ปี 2543)
7. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (ปี 2543)
8. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปี 2544)
9. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ปี 2545)
10. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอก (ปี 2545)
11. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร และเศรษฐกิจการเกษตร (ปี 2546)
12. กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย (ปี 2546)
13. ความตกลงด้านความร่วมมือทางการท่องเที่ยว (ปี 2546)
14. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ (ปี 2546)
15. โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (ปี 2546)
16. สนธิสัญญาความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา (ปี 2547)
17. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ไทย-อินเดีย (ปี 2548)
18. บันทึกความตกลงว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับเมืองพอร์ตแบลร์ (ปี 2548)
19. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน (ปี 2550)
20. แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างปี 2550-2552 (ปี 2550)


การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
พระบรมวงศานุวงศ์
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย ในฐานะอาคันตุกะของรองประธานาธิบดีอินเดีย เมื่อวันที่ 10-28 มีนาคม 2530 (ค.ศ. 1987)
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7-21 เมษายน 2535 (ค.ศ. 1992)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงร่วมพิธีมอบรางวัล UNEP Sasakawa Environment Prize เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2539 (ค.ศ. 1996)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย (หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21-25 ธันวาคม 2539 (ค.ศ. 1996)
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรองประธานาธิบดีอินเดีย เมื่อวันที่ 23-27 ธันวาคม 2541 (ค.ศ. 1998)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 (ค.ศ. 2001)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดียเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 2-12 เมษายน 2544 (ค.ศ. 2001)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนกรุงนิวเดลี เพื่อร่วมสัมมนา “International Conference on Biodiversity and Natural Products: Chemistry and Medical Application” และทรงบรรยายทางวิชาการในการสัมมนาดังกล่าว เมื่อวันที่ 26-31 มกราคม 2547 (ค.ศ. 2004)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนกรุงนิวเดลี เพื่อร่วมประชุม “International Conference on Chemistry Biology Interface : Synergy New Frontiers” เมื่อวันที่ 19-26 พฤศจิกายน 2547 (ค.ศ. 2004)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรองประธานาธิบดีอินเดีย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์- 10 มีนาคม 2548 (ค.ศ. 2005)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย เพื่อรับรางวัล Indira Gandhi Prize for Peace, Disarmament and Development เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2548
-สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม Third World Organization for Women in Science (TWOWS) Third General Assembly and International Conference ที่เมืองบังกาลอร์ เมื่อวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2548 และ ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2548
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และคณะของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เยือนอินเดีย ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม 2549 เพื่อทอดพระเนตรกิจการของบริษัท Shantha Biotechnics Limited เมืองไฮเดอราบัด ในวันที่ 12 ตุลาคม 2549
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดียเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับ WTO ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2549
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย ระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม 2550 โดยทรงเป็นพระอาคันตุกะของ รมว กต อินเดีย โดยเสด็จฯ เยือนกรุงนิวเดลี รัฐคุชราต รัฐกรณาฏกะ รัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐทมิฬนาดู
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฉลองมหามงคลพุทธารามมหาราชชยันตี ณ วัดไทยพุทธคยาอินเดีย เมืองคยา รัฐพิหาร ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2550
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอินเดีย เพื่อทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “Bharata In Reflection” และทรงระนาดเอกเบิกโรงการแสดงโขนไทยสู่แดนรามายณะ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อินเดีย ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2550
รัฐบาล
- พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนอินเดีย นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2532 (ค.ศ. 1989)
- นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียตามคำเชิญของนาย Salman Khurshid รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2537 (ค.ศ. 1994)
- นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียเพื่อหาลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนในกรอบ BIMST-EC เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997)
- พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ เดินทางไปกรุงนิวเดลีในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน 2540 (ค.ศ. 1997)
- นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนาย Jaswant Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ. 2000)
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2544 (ค.ศ. 2001)
- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2544 (ค.ศ. 2001)
- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 (ค.ศ. 2002)
- นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรีไปอินเดีย เพื่อประชุม ASEAN-India Business Summit เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2545 (ค.ศ. 2002)
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 4 ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ. 2003)
- น.พ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมงาน India-Soft 2003 โดยเป็นแขกของรัฐบาลอินเดีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ. 2003)
- นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี จัด Roadshow ที่กรุงนิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ และเจนไน โดยเป็นแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย เมื่อวันที่ 5-10 สิงหาคม 2546 (ค.ศ. 2003)
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเมืองชัยปุระและกรุงนิวเดลี เพื่อร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ไทย-พม่า-อินเดีย เรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2546 (ค.ศ.2003)
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8-10 มิถุนายน 2547 (ค.ศ.2004)
- นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยือนเจนไนและบังกาลอร์ และร่วมงาน “Bangalore Bio 2004” เมื่อวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004)
- นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของประธานโลกสภาและประธานราชยสภา เมื่อวันที่ 11-18 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004)
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดีย เพื่อถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ที่เมืองพุทธคยา รัฐพิหาร เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2547 (ค.ศ.2005) และเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในการสัมมนา “Hindustan Times Leadership Initiative”
- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนอินเดีย (working visit) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 (ค.ศ. 2005)
- นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2549 (ค.ศ. 2006) ก่อนหน้าการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 9 ที่กรุงนิวเดลี ที่มีขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2549 (ค.ศ. 2006)
- พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2550 (ค.ศ. 2007)
ฝ่ายอินเดีย
- นาย V. V. Giri ประธานาธิบดีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2515 (ค.ศ. 1972)
- นาย Rajiv Gandhi นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคม 2529 (ค.ศ. 1986)
- นาย P.V. Narasimha Rao นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7-10 เมษายน 2536 (ค.ศ. 1993)
- นาง Vasundhara Raje รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2542 (ค.ศ. 1999)
- นาย Yashwant Sinha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 1 ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2545 (ค.ศ. 2002)
- นาย Atal Behari Vajpayee นายกรัฐมนตรีอินเดีย เดินทางแวะผ่านไทย หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา และได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 (ค.ศ. 2002)
- นาย L K Advani รองนายกรัฐมนตรีอินเดียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 (ค.ศ. 2003)
- นาย Arun Shourie รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และกระทรวงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอินเดีย เข้าร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2546 (ค.ศ. 2003)
- นาย Atal Behari Vajpayee นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8-12 ตุลาคม 2546 (ค.ศ. 2003)
- นาย Yashwant Sinha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Arun Jaitley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุม BIMST-EC ระดับรัฐมนตรี ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2547 (ค.ศ.2004)
- นาย Dayanidhi Maran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมการสัมมนา Ministerial Conference on Broadband and ICT Development ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004)
- ดร. Anbumani Ramadoss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว เข้าร่วมการประชุม The Second Asia Pacific Ministerial Meeting (APMM-II) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
- นาง Sonia Gandhi ประธานพรรครัฐบาลและพรรคพันธมิตร United Progressive Alliance เข้าร่วมการประชุม XV International AIDS Conference (IAC) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004)
- นาย Manmohan Singh นายกรัฐมนตรีอินเดียเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004)
- นาย K.Natwar Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เดินทางแวะผ่านไทย เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม 2547 (ค.ศ.2004)

ปรับปรุงเมื่อ สิงหาคม 2550

เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์