|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน Islamic Republic of Iran
|
|
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีพรมแดนติดกับอ่าวโอมานอ่าวเปอร์เชีย และทะเลแคสเปียน มีพรมแดนด้านตะวันออกจรดอัฟกานิสถานและปากีสถาน ด้านเหนือจรดอาร์เมเนีย อาร์เซอร์ไบจาน และเติร์กเมนิสถาน พรมแดนด้านตะวันตกจรดอิรักและตุรกี
ที่ตั้ง 1.648 ล้านตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงเตหะราน (Tehran)
ประชากร 71.7 ล้านคน (ปี 2549) ประกอบด้วยเชื้อชาติเปอร์เซีย ร้อยละ1 อาเซอรี ร้อยละ 24 เคิร์ด อาหรับ และเติร์กเมน ร้อยละ 24
ศาสนา ศาสนาอิสลาม (เป็นนิกายชีอะต์ ร้อยละ 89 สุหนี่ร้อยละ 9)
ศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และอื่นๆ ร้อยละ 2 (ปี 2549)
ภาษา ภาษาฟาร์ซี (Farsi) หรือภาษาเปอร์เซีย เป็นภาษาราชการ
วันชาติ 11 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการปฏิวัติอิสลาม
(ทั้งนี้ วันประกาศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน คือ 1 เมษายน 2522)
ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โครเมียม
ทองแดง สินแร่เหล็ก ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี และกำมะถัน
หน่วยเงิน Iranian rials (IRR) โดย 1 US$ = 9,246.94 IRR (2549)
GDP 610.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นภาคเกษตรกรรม 11.2 % อุตสาหกรรม 41.7 % ภาคบริการ 41.7 % (CIA world report ปี 2550)
รายได้ต่อหัว 8,900 ดอลลาร์สหรัฐ (CIA world report ปี 2550)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5 % (CIA world report ปี 2550)
ประชากรต่ำกว่าเส้นความยากจน 40% (CIA world report ปี 2550)
อัตราเงินเฟ้อ 15.8 % (CIA world report ปี 2550)
อัตราคนว่างงาน 11.2% (CIA world report ปี 2550)
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน 85% (อัตราการผลิตน้ำมัน 3.979 ล้านบาร์เรล/วันส่งออก 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน มีปริมาณน้ำมันสำรอง 133.3 พันล้านบาร์เรล) (CIA world report ปี 2550) ก๊าซธรรมชาติ (อัตราการผลิต 83.9 พันล้านคิวบิกเมตร
ส่งออก 3.56 พันล้านคิวบิกเมตร) (CIA world report ปี 2550) พรม ผลไม้และถั่ว เหล็ก เคมีภัณฑ์
ประเทศส่งออกที่สำคัญ ญี่ปุ่น (18.4%) จีน (9.7%) อิตาลี (6%) แอฟริกาใต้ (5.8%) เกาหลีใต้ (5.4) ไต้หวัน (4.6%) ตรุกี (4.4%) เนเธอร์แลนด์ (4%) (CIA world report ปี 2550)
สินค้านำเข้า วัตถุดิบอุตสาหกรรม สินค้าประเภททุน ผลิตภัณฑ์อาหาร และ
สินค้าอุปโภคบริโภค อาวุธยุทธภัณฑ์
ประเทศนำเข้าที่สำคัญ เยอรมนี (12.8%) ฝรั่งเศส (8.3%) อิตาลี (7.7%) จีน (7.2%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (7.2%) เกาหลีใต้ (6.1%) รัสเซีย (5.4%) (CIA ปี 2550)
การเมืองการปกครอง
- อิหร่านมีประวัติศาสตร์การปกครองแบบกษัตริย์มาเป็นเวลานาน กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอิหร่าน คือ พระเจ้ามุฮัมมัด เรซา ชาห์ ปาฮ์ลาวี (Muhammad Reza Shah Pahlavi) เหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศทำให้พระเจ้าชาห์ ปาฮ์ลาวี เสด็จฯ ไปลี้ภัยต่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2522 และเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2523 ที่อียิปต์
- เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 อญาโตลลอฮ์ รูโฮลาห์ โคไมนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะต์ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศอิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) โดยใช้หลักการทางศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการปกครองประเทศ มีการปฏิบัติตนในสังคมรวมถึงการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม และต่อต้านอิทธิพลของโลกตะวันตก
- หลังการเสียชีวิตของอยาโตลลาห์ รูโฮลาห์ โคไมนี ในปี 2532 อิหร่านมีการเลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่ คือ อญาโตลลอฮ์ อะลี โฮไซนี คาไมนี (Ayatollah Ali Hoseini Khamenei) อย่างไรก็ดี การเมืองภายในอิหร่าน เริ่มมีการแข่งขันระหว่างกลุ่มการเมืองสายอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนา กับกลุ่มปฏิรูปหัวก้าวหน้าในรัฐสภา
- เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 นายมาห์มู้ด อามาดิเนจ๊าด (Mahmoud Ahmadinejad) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 62
- ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองสายปฏิรูปได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาได้พยายามเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย ในปี 2547 กลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลาม ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในรัฐสภาเหนือฝ่ายปฏิรูป นโยบายของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงทำให้อิหร่านกลับไปมีนโยบายอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนามากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากนโยบายของอิหร่านในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ซึ่งได้รับการคัดค้านจากหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
-ปัจจุบัน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้แก่ นายมาห์มูด อามาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยนายอามาดิเนจาด ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 62
เศรษฐกิจและสังคม
- นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลของประธานาธิบดีอามาดิเนจาด ซึ่งอนุรักษ์นิยม เน้นการกระจายรายได้ให้ผู้ยากไร้ การให้การบริการสวัสดิการสังคมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และการสนับสนุนให้ภาคเอกชนอิหร่านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านเคารพในสัญญาด้านการค้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกับบริษัทต่างชาติที่ได้ดำเนินไปแล้วด้วยดี และสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการขุดเจาะสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในรูปแบบโครงการสร้าง-บริหาร-ส่งมอบ (Built-Operate-Transfer -BOT) หรือโครงการซื้อคืนน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติทีได้จากการขุดเจาะสำรวจ (Buy back)
- ในด้านการนำเข้า-ส่งออก อิหร่านเน้นนโยบายรักษาดุลการค้าระหว่างประเทศ และปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมีการประเมินและปรับปรุงมาตรการนำเข้าในเดือนมีนาคมทุกปี ซึ่งถือเป็นช่วงสิ้นปีตามปฏิทินอิหร่าน อิหร่านไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) จึงสามารถปรับระบบภาษีได้อย่างเสรี ภาษีสินค้านำเข้าในอิหร่านจึงสูง
- ภายหลังจากที่อิหร่านถูกลงโทษที่ไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์ ด้วยข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการอิหร่าน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอัตราการว่างงานของอิหร่านอยู่ที่ ร้อยละ 20 (เดือนมิถุนายน 2550) อย่างไรก็ตาม อิหร่านยังคงมีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน โดยอิหร่าน เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม OPEC และเป็นที่ 4 ของโลก โดยในปี 2549 อิหร่านมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นโยบายต่างประเทศ
- อิหร่านมีนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East) หาพันธมิตรทางการเมืองและการค้าในเอเชียตะวันออกและมีบทบาทสำคัญในโลกมุสลิม อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้ามามีอำนาจมากขึ้นทำให้นโยบายต่างประเทศของอิหร่านเริ่มเปลี่ยนจากการประนีประนอมมาเป็นการเผชิญหน้ามากขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ประเทศตะวันตก และอิสราเอล
- อิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮิสบอลลาห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ในเลบานอน ทั้งยังสนับสนุนกลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งขณะนี้เป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์ และกลุ่มจีฮาด (Jihad) ในปาเลสไตน์ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้สหรัฐฯ ประณามว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้ง สหรัฐฯ ยังเห็นว่าอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายซึ่งปฏิบัติการในอิรัก ซึ่งลอบโจมตีกองทหารสหรัฐฯ ในอิรักด้วย
- อิหร่านมีโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ตั้งแต่สมัยการปกครองของพระเจ้าชาห์ปาฮ์ลาวี ในปี 2547 โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency -IAEA) มีข้อมติแสดงความผิดหวังที่อิหร่านไม่ให้ความร่วมมือเปิดเผยข้อมูลโครงการดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และประเทศตะวันตกหลายประเทศเห็นว่า อิหร่านต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อต่อต้านประเทศตะวันตกและใช้ในก่อการร้าย ซึ่งอิหร่านได้ตอบโต้ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโครงการเพิ่มความเข้มข้นของแร่ยูเรเนียม (centrifuge-aided uranium-enrichment programme)
- การที่อิหร่านยืนกรานที่จะดำเนินโครงการนิวเคลียร์ ส่งผลให้อิหร่านถูกลงโทษด้วยข้อมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทูตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council- UNSC) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 41 บทที่ 7 มาแล้ว 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้พิจารณารับรองร่างข้อมติ UNSC ที่ 1696 (2006) เรียกร้องให้อิหร่านระงับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ซึ่งอิหร่านเพิกเฉย ส่งผลให้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงฯ มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1737 (2006) กำหนดมาตรการลงโทษอิหร่านเป็นครั้งแรก และข้อมติ UNSC ที่ 1747 (2007) ลงโทษอิหร่านเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งอิหร่านก็ยังเพิกเฉย และเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป
- ข้อมติ UNSC 1737 (2006) และ UNSC 1747 (2007) มีเนื้อหาสำคัญคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การระงับการซื้อ-ขาย หรือขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่จะใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมทั้งให้รัฐสมาชิกองค์การสหประชาชาติอายัดสินทรัพย์ กองทุน และทุนทรัพย์ และทรัพย์สินส่วนบุคคลของบุคคลและสถาบันในประเทศของตน ที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ ระบุว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมทั้ง ให้รัฐสมาชิกป้องกันและระงับไม่ให้บุคคลที่ระบุว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน เดินทางผ่านหรือเข้าสู่ประเทศของตนกำหนด และห้ามการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน การให้กู้ยืมเงิน และเงินโอน แก่รัฐบาลอิหร่าน ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านมนุษยธรรม
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ด้านการทูต
ไทยกับอิหร่านสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2498 (คศ. 1955) ประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ราบรื่นไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน ปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต
ด้านการเมือง
- การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิชาการ การเกษตรและวิทยาศาสตร์ (Joint Commission on Economic, Commercial, Industrial, Technical, Agricultural and Scientific Cooperation) ระดับรัฐมนตรีเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน
- เมื่อครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองบาม (BAM) ในอิหร่าน เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2546 ไทยได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อิหร่านและส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ในวงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาทไปช่วยเหลืออิหร่าน ทำให้รัฐบาลและประชาชนมีความซาบซึ้งใจในไมตรีจิตของฝ่ายไทยด้วย สำหรับกรณีการเกิดธรณีพิบัติและคลื่นยักษ์สึนามิที่ 6 จังหวัดทางภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 อิหร่านเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ส่งเครื่องบินนำสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวน 23 ตันมาให้ไทยในทันที
ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
การค้า
- ในปี 2549 มูลค่าการส่งออกจากไทยไปอิหร่าน คือ 561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 ร้อยละ 43.4 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ เหล็ก เหล็กกล้า รถยนต์และอะไหล่ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และ ด้าย เป็นต้น ทั้งนี้ อิหร่าน เป็นประเทศตะวันออกกลางที่นำเข้าไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือประมาณ 8 แสนตันต่อปี
- มูลค่าการนำเข้าของไทยจากอิหร่าน ในปี 2549 มีจำนวน 55.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 26.8 สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด/แช่แข็ง เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์
การลงทุน
- อิหร่านเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนสินแร่ เช่น ถ่านหิน โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว แมงกานิส สังกะสี กำมะถัน ฯลฯ และเป็นแหล่งเพาะปลูก ผลิตพืชผลเมืองหนาวหลายชนิด
- สำหรับโอกาสในความร่วมมือด้านกิจการน้ำมันในอิหร่านนั้น ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) และ กระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน
- เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอิหร่าน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 การลงนามในความตกลงการชำระหนี้สองฝ่าย (Bilateral Payment Arrangement BPA) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ของไทยกับธนาคารพัฒนาการส่งออกอิหร่าน (Export Development Bank of Iran -EDBI) โดยธนาคารเพื่อการส่งออกฯ สามารถให้เครดิตแก่คู่ธุรกิจไทย-อิหร่านในวงเงิน 10 ล้านยูโร และการเคลียร์บัญชีระหว่างธนาคารทั้งสองทุก 3 เดือน
การท่องเที่ยว
- ในปี 2549 มีชาวอิหร่านเดินทางมาไทย 67,000 คน เพิ่มจากในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวอิหร่านมาไทยประมาณ 28,677 คน อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวอิหร่านอยู่ในระดับที่สูง คือ ประมาณ 17.8% ต่อปี
- ชาวอิหร่านเริ่มสนใจมาท่องเที่ยวในไทย และจะเป็นตลาดดึงนักท่องเที่ยวมาไทยที่มีศักยภาพในอนาคต เนื่องจากไทยมีภาพพจน์ที่ดีในเรื่องบริการและความปลอดภัย รวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน จับจ่ายซื้อของ และรักษาสุขภาพ ซึ่งตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะดีมีกำลังซื้อสูง และเดินทางในลักษณะครอบครัว
ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
- ไทยกับอิหร่านมีความตกลงด้านการบิน ความตกลงทางการค้า และบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงปิโตรเลียมอิหร่านกับกระทรวงพลังงานของไทยและความตกลงการค้าแบบหักบัญชีระหว่างธนาคารส่งออกของทั้งสองประเทศ
- ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความตกลงทางการค้า (ฉบับใหม่) ความตกลงด้านศุลกากร บันทึกความเข้าใจด้านโทรคมนาคมและไปรษณีย์ และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์นาวี ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติด เป็นต้น
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- เสด็จฯ เยือนอิหร่าน เมื่อปี 2510
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เสด็จฯ เยือนอิหร่าน เมื่อเดือนเมษายน 2520
- เสด็จฯ เยือนอิหร่าน เมื่อเดือนเมษายน 2547
รัฐบาล (ปี 2549-2550)
- นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสภารัฐมนตรี Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation (IOR-ARC) ครั้งที่ 6 ระหว่าง 21-22 กุมภาพันธ์ 2549 ณ กรุงเตหะราน
- นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมการท่องเที่ยวและหัตถกรรม (International Conference on Tourism and Handicrafts) ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2549 ณ กรุงเตหะราน
- นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนอิหร่านระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2549
- พลเอกจรัล กุลวาณิชย์ รองประธานสภานิติบัญญัติคนที่ 1 นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สมาคมรัฐสภาเอเชียเพื่อสันติภาพ (Associations of Asian Parliaments for Peace: AAPP 7th) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2549
ฝ่ายอิหร่าน ปี 2549-2550
- นายมานูเชอร์ มอคตากี (Manuchehr Mottaki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2549
- นายมุฮัมมัด เอส โมฟาเตห์ (Mohammad S. Mofatteh) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อิหร่านเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 17-21 ธันวาคม 2549 ในฐานะหัวหน้าคณะของ Government Trading Corporation (GTC)
- นายนาบี ซาเดะฮ์ (Nabi Zadeh) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน เยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2550
-นายโฮเซน คันลารี (Hossain Khanlari) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคมและการขนส่งอิหร่าน และประธานาธิบดีองค์กรการบินแห่งชาติอิหร่านเยือนไทย ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2550
-นายเอส ซาอิด อาห์มาดี อาบารี (S.Ahmadi Abhari) รักษาการ ผู้จัดการใหญ่ และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ Government Trading Corporation (GTC) เพื่อเข้าร่วม Thailand Rice Convention ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2550
-นาย ซาอิด โมเยต อัลวิยัน (Dr. Syed Moeyed Alviyan) รัฐมนตรีช่วยว่าการด้าน
ความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน เยือนไทย เพื่อร่วมการประชุม Second Conference on Framework Convention on Tobacco Control Prohibition Convention ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 5 กรกฎาคม 2550
- อยาโตลลอฮ์ มุฮัมมัด อะลี ตัชกีรี (Ayatollah Muhammad Ali Taskhiri) เลขาธิการองค์กรสมาพันธ์แห่งโลกเพื่อความสมานฉันท์ระหว่างสำนักคิดในอิสลาม (World Forum for Proximity of Thoughts of Islamic Schools) เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการสัมมนา Role of Muslims in Proximity of Religions ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2550
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
No. 4, Esteghlal Alley,
Baharestan Avenue
P.O. Box 11495-111 Tehran
Tel. (98-21) 7753-1433, 7764-3297-9
Fax. (98-21) 7753-2022
E-mail : info@thaiembassy-tehran.org
Website : http://www.thaiembassy-tehran.org
Office Hours :08.30 - 12.00 & 13.00 - 16.30
Days Off : Friday & Saturday
ฝ่ายอิหร่าน
The Embassy of the Islamic Republic of Iran
215 Sukhumvit Road,
Sukhumvit Soi 49 (Soi Klang)
Khlong Tan Nuea, Wattana
Bangkok 10110
Tel: 0-2390-0871-3
Fax: 0-2390-0867
E-mail: Info@iranembassy.or.th
Website: http://www.iranembassy.or.th
Office Hours: 09.00 - 16.30 (Monday - Friday)
*****************
กรกฎาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5051-52 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|