|
|
|
|
|
|
|
|
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชีย หรือทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก หมู่เกาะญี่ปุ่นทอดตัวเป็นรูปโค้งเหมือนพระจันทร์เสี้ยว จากทางตอนเหนือที่ละติจูด 45 องศา 33 ลิปดาเหนือ มาทางใต้ ที่ละติจูด 20 องศา 25 ลิปดาเหนือ โดยมีความยาวทั้งสิ้น 3,800 กม.
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นประเทศหมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยประมาณ 3,900 เกาะ พื้นที่รวม 377,915 ตารางกิโลเมตร (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2548) โดยมีเกาะใหญ่ที่สำคัญ 4 เกาะ คือ
1) ฮอกไกโด (83,456 ตารางกม.)
2) ฮอนชู (231,100 ตารางกม.)
3) คิวชู (42,177 ตารางกม.)
4) ชิโกกุ (18,790 ตารางกม.)
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขา โดยร้อยละ 71 ของพื้นที่ทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นภูเขา ในขณะที่มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 25 ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรได้เพียงร้อยละ11 เท่านั้น ญี่ปุ่นมีภูเขาไฟมากประมาณ 1 ใน 10 ของทั้งโลก โดยมีภูเขา
ฟูจิเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ (3,776 เมตร) และเป็นภูเขาไฟที่สงบอยู่แต่ยังไม่ดับ และจากการที่ญี่ปุ่นอยู่ในเขตที่มีภูเขาไฟมาก ทำให้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเสมอ
พื้นที่ชายฝั่งทะเล 29,751 กิโลเมตร
ประชากร ประมาณ 127,756,000 คน (ตุลาคม 2548) เป็นประชากรสูงอายุ คืออายุ 65 ปี ขึ้นไปจำนวน 26.82 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลจาก Statistics Bureau) ปัจจุบัน ประชากรญี่ปุ่นมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 2 ของประชากรโลก เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ความหนาแน่นของประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เท่ากับประมาณ 343 คน / ตารางกม. (ข้อมูลจากรายงานข่าว นสพ. Nikkei Weekly วันที่ 6 พฤศจิกายน 2549)
เชื้อชาติ เชื้อชาติญี่ปุ่น ในทางประวัติศาสตร์เชื่อกันโดยทั่วไปว่าบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นได้แก่กลุ่มเผ่าพันธุ์หนึ่งที่เรียกในปัจจุบันว่า เผ่าพันธุ์ยามาโตะ ผสมกับคนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ จีนและเกาหลี ปัจจุบันคนต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในญี่ปุ่น ได้แก่ ชาวเกาหลีและชาวจีน รวมทั้งเผ่าไอนุซึ่งอาศัยอยู่ที่เกาะฮอกไกโด ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ถือว่าประเทศของตนมีชนกลุ่มน้อย
ศาสนา ศาสนาใหญ่ๆ มี 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาชินโต นอกจากนั้นได้แก่ ศาสนาคริสต์และลัทธิขงจื้อ
ภาษา ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการ
การศึกษา ภาคบังคับ 9 ปี (ประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี)
อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 99.9
วันชาติ วันที่ 23 ธันวาคม: วันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (พ.ศ. 2476 หรือ ค.ศ. 1933)
เมืองหลวง กรุงโตเกียว (Tokyo) ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรพำนักอยู่มากที่สุดในประเทศคือ 8,483,000 คน (ณ วันที่
1 ต.ค.2548)
ภูมิอากาศ มี 4 ฤดูหลัก ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ
ฤดูใบไม้ผลิ : (มีนาคม-พฤษภาคม) อากาศอบอุ่น
ฤดูร้อน : (มิถุนายน-สิงหาคม) อากาศร้อนชื้นโดยมีช่วงฤดูฝนสั้น ๆ ประมาณ 1 เดือน ในช่วงต้นฤดู เเละร้อนจัดในช่วงสิงหาคม-กันยายน
ฤดูใบไม้ร่วง : (ตุลาคม-พฤศจิกายน) อากาศอบอุ่น โดยมีพายุไต้ฝุ่นมากในช่วงเดือนกันยายน
ฤดูหนาว : (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) อากาศหนาว มีหิมะตกโดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศและฝั่งทะเลญี่ปุ่น ส่วนทางใต้และฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก อากาศจะอบอุ่นกว่า
คลิกที่นี่เพื่อดูพยากรณ์อากาศวันนี้และอีก 10 วัน ที่กรุงโตเกียว
รูปแบบการปกครอง ระบอบเสรีประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุดของรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการบัญญัติไว้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มิใช่องค์ประมุขและไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ
รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2490 (ค.ศ. 1947)
ประมุข สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (His Majesty Emperor Akihito)
นายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) (หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย - LDP) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ
26 กันยายน 2549
รมต. ต่างประเทศ นายทาโร อะโซ (Mr. Taro Aso) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 26 กันยายน 2549 (รับตำแหน่งรมต.
ต่างประเทศครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2548)
รัฐสภา เรียกชื่อว่า สภาไดเอท ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ซึ่งมีสมาชิก 480 คน
มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และวุฒิสภา (House of Councillors) ซึ่งมีสมาชิก 242 คน
มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยเลือกตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งสลับกันไปทุก 3 ปี
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร (Speaker of the House of Representatives) นายโยเฮ โคโนะ (Yohei Kono)
- ประธานวุฒิสภา (President of the House of Councillors) นางจิคาเกะ โอกิ (Chikage Oogi)
การปกครองท้องถิ่น ญี่ปุ่นแบ่งเขตการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 47 จังหวัด (Prefecture) ซึ่งรวมกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolis) ด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดแยกออกเป็น นคร เมือง และหมู่บ้าน ยกเว้นกรุงโตเกียวที่มีเขตการปกครอง เฉพาะในส่วนใจกลาง 23 เขต นอกเหนือไปจากเขตชานกรุง ซึ่งประกอบด้วย 27 นคร 5 เมือง และ 8 หมู่บ้าน รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีของนครขนาดใหญ่ ของเมืองและของหมู่บ้านตลอดจนสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่นทุกระดับมาจากการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 11 กันยายน 2548 วุฒิสภามีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อ 11 กรกฎาคม 2547 โดยจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปจำนวนครั้งหนึ่ง (141 คน) สมาชิกครึ่งหนึ่ง ในทุก 3 ปี เเละจะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงกลางปี 2550
พรรคการเมือง พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่
- พรรคเสรีประชาธิปไตย ( Liberal Democratic Party : LDP) เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
294 ที่นั่ง (สตรี 26 คน) ในวุฒิสภา 111 ที่นั่ง (สตรี 12 คน) หัวหน้าพรรคคือนายชินโซ อาเบะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- พรรคนิว โคเมโต (New Komeito) เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 31 ที่นั่ง (สตรี 4 คน) ในวุฒิสภา
24 ที่นั่ง (สตรี 5 คน) หัวหน้าพรรคคือนายฮากิฮิโร โอตะ (Akihiro Ota)
- พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan : DPJ : Minshuto) แกนนำฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 113 ที่นั่ง (สตรี 10 คน) ในวุฒิสภา 82 ที่นั่ง (สตรี 11 คน) หัวหน้าพรรคคือนายอิจิโร โอซาวา (Ichiro Ozawa)
- พรรคสังคมประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Social Democratic Party of Japan : SDP) เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 7 ที่นั่ง (สตรี 2 คน) ในวุฒิสภา 6 ที่นั่ง (สตรี 1 คน) หัวหน้าพรรคคือนางมิซูโฮะ ฟูคุชิมา (Mizuho Fukushima)
- พรรคคอมมิวนิสต์ (Japan Communist Party - JCP) เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 9 ที่นั่ง (สตรี
2 คน) ในวุฒิสภา 9 ที่นั่ง (สตรี 3 คน) หัวหน้าพรรคคือนายคาซึโอะ ชิอิ (Kazuo Shii)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ประมาณ 4,223 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (50.2 ล้านล้านเยน/ ปี 2548 : อัตราเเลกเปลี่ยน 119 เยน/ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
อัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.7 (ปี 2548)
เงินตรา สกุลเงินเยน (YEN: Y )(円)
รายได้ประชาชาติ 32,989 ดอลลาร์สหรัฐ /คน/ ปี (ปี 2548)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 4.4 (ปี 2548)
อัตราแลกเปลี่ยน ประมาณ 119 เยน/ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 31.5 บาท/ 100 เยน (9 ตุลาคม 2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ - 0.3 (ปี 2548)
สินค้าส่งออก เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่าง ๆ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากโลหะเหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอ และเครื่องบริโภค
สินค้านำเข้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ สิ่งทอ
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เยอรมนี และไทย (ไทยอันดับที่ 10 / ปี 2548)
ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหรัฐฯ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ได้หวัน ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และออสเตรเลีย (ไทยอันดับที่ 6 / ปี 2548)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 864.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มิถุนายน 2549)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (日本) |
ความสัมพันธ์กับไทย
ความสัมพันธ์ ไทยกับญี่ปุ่นมีการติดต่อสัมพันธ์กันมานานหลายร้อยปี แต่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2430 (ค.ศ. 1887)
กรอบความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ
1) การหารือหุ้นส่วนทางการเมืองไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations JTPPC)
2) การประชุมประจำปีทวิภาคีด้านการเมืองและการทหารทวิภาคีระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับญี่ปุ่น (Bilateral Political and Military Meeting)
3) การประชุมคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย- ญี่ปุ่น ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
4) การประชุมความร่วมมือทางวิชาการ หุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation - JTPP)
5) การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (ภาคเอกชน)
การค้าไทยกับญี่ปุ่น
ในปี 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 41,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี 2547 ร้อยละ 14.9 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 15,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 นำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8
สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ส่วนประกอบ
เครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ทำงานเป็นเอกเทศ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เหล็กแผ่นชุบ รถบรรทุก แบบหล่อสำหรับโลหะและวัสดุ และอื่น ๆ
สินค้าส่งออกจากไทย เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ไก่สดแช่เย็น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เครื่องรับโทรศัพท์และส่วนประกอบ
เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ
การลงทุนปี 2548 ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่ารวม 4,613.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,680.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 เป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ รถยนต์ และเครื่องจักรมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.1 รองลงมาคือสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.3 (ข้อมูลจากสำนักงาน BOI กรุงโตเกียว)
เอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่น นายสุวิทย์ สิมะสกุล (10 กรกฎาคม 2547- ปัจจุบัน)
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำไทย นายฮิเดะอากิ โคบายาชิ(H.E. Mr. Hideaki Kobayashi) (พฤศจิกายน 2548 - ปัจจุบัน)
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น
1. ในภาพรวม
ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือระหว่างกันของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์และความ
ร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษกิจ (strategic and economic partnership)
ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดคือ นายกรัฐมนตรีโคอิซึมิ ของญี่ปุ่นได้มาเข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 20-21 ต.ค. 2546 และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเยือนญี่ปุ่นล่าสุด เมื่อ 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2548
การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ คือ การเสด็จฯ เยือนไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อ
11-15 มิ.ย. 2549 เพื่อทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และเป็นการเสด็จเยือนซ้ำประเทศที่เคยเสด็จเยือนแล้วเป็นครั้งแรก
ในขณะเดียวกัน ในปี 2549 พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยก็ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายาฯ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
รัศมีโชติ ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 14 - 19 มกราคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมเรื่อง Globalization: Challenges and Opportunities for Science and Technology จัดโดยมหาวิทยาลัยสหประชาชาติและองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2549 และศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเป็นองค์ Keynote Speaker and Lecturer ในการประชุมวิชาการ 1st International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia ที่จังหวัดโอกินาวา ระหว่างวันที่ 14 - 22 ตุลาคม 2549 และเสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรง
เข้าร่วมในการประชุม Members of Presidents Council ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างวันที่ 12 - 17 พฤศจิกายน 2549
ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 36,000 คน
ปี 2550 จะเป็นปีครบรอบ 120 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีการเฉลิมฉลอง โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วม ไทย-ญี่ปุ่น ว่าด้วยการฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตขึ้นเพื่อกำกับและเตรียมการกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นทั้งที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีกิจกรรมตลอดทั้งปีและมีกิจกรมหลักร่วมกัน 3 กิจกรรม คือ พิธีเปิด (Curtain Raiser) ในประเทศไทยในวันที่ 16 มกราคม และในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ สำหรับในวันที่ 26 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. 2430 ฝ่ายไทยจะมอบศาลาไทยให้เป็นของขวัญแก่ฝ่ายญี่ปุ่น โดยจะจัดตั้งเป็นการถาวรที่สวนสาธารณะ
อุเอะโนะ ในกรุงโตเกียว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะจัดงานเทศกาลไทย (Thai Festival) ครั้งที่ 8 ที่สวนสาธารณะโยโยกิ ในกรุงโตเกียว ตามด้วยกิจกรรมส่งเสริมความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นก็จะจัดงาน Japan Festival ในกรุงเทพฯ ขึ้นในเดือนธันวาคม
2. ด้านนโยบายต่างประเทศ
ญี่ปุ่นต้องการเพิ่มบทบาทและส่วนร่วมในประชาคมระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การแก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และการผลักดันให้มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ของ WTO เป็นต้น โดยยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอาเซียน
ไทยสนับสนุนบทบาทดังกล่าวของญี่ปุ่น โดยเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงทั้งในภูมิภาค และเวทีโลก เเต่กระนั้น ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกมายิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน เเละสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มมากขึ้น เเละญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทซึ่งเกิดจากเขตเเดนเเละการเเย่งชิงเเหล่งพลังงานเเละทรัพยากรธรรมชาติกับจีน สาธารณรัฐเกาหลีและรัสเซีย
ภายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อกันยายน 2544 ญี่ปุ่นได้มีบทบาทที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ในการสนับสนุนการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ทั้งในการปรับขยายบทบาททางทหารของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นให้สามารถให้การสนับสนุนแนวหลังแก่กองกำลังสหรัฐฯ ในการโจมตีอัฟกานิสถาน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษธรรมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบและประเทศที่อาจได้รับผลกระทบ การให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการหมุนเวียนทางการเงินของขบวนการก่อการร้าย และเป็นตัวกลางรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
เมื่อ 26 ก.ค. 2546 ญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อต่ออายุกฎหมายที่ให้การสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถจัดส่งทหารไปปฏิบัติการในอิรัก ญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าวโดยจะบริจาคเงินช่วยเหลือจำนวน
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ส่งทหารไปประจำในเมืองซามาวาห์ ทางตอนใต้ของอิรักในปลายปี 2546 เพื่อเตรียมเข้าร่วมการปฏิบัติการขนส่งยุทโธปกรณ์และเสบียงและการซ่อมบำรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน เเละเมื่อ 8 ธันวาคม 2548 รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายเพื่อขยายเวลาประจำการของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นในอิรักออกไปอีก 1ปี โดยญี่ปุ่นได้ถอนกำลังออกจากอิรักในวันที่ 17 กันยายน 2549 โดยไม่ได้มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการดังกล่าว
ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ระหว่าง 11-12 ธ.ค. 2546 ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งครึ่งกันระหว่างอาเซียนกับการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามปฏิญญาโตเกียวว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตและยั่งยืนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในสหัสวรรษใหม่
ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือเเก่ฝ่ายไทยต่อกรณีธรณีพิบัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้ความช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเเก่ประเทศที่ประสพภัย สำหรับประเทศไทยนั้นญี่ปุ่นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเเละกู้ภัย
ทีมชันสูตรศพ เเละเครื่องอุปโภคเเละเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือฝ่ายไทย โดยความช่วยเหลือดังกล่าวมาจากทั้งทางภาครัฐบาลเเละภาคเอกชน
4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ปี 2548 มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเยือนไทยจำนวน 1,196,654 คิดเป็นร้อยละ 10.35 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย เเละมีชาวไทยเดินทางเยือนญี่ปุ่นจำนวน 168,456 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.68 คิดเป็นร้อยละ 5.53 ของขาวไทยที่เดินทางเยือนต่างประเทศ คิดเป็นลำดับที่ 6
4. กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ
4.1 การหารือหุ้นส่วนการเมืองไทย- ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations JTPPC)) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ตุลาคม 2548 เป็นการหารือประจำปีระหว่างปลัด กต.ไทยกับรองปลัด กต.ด้านการเมืองของญี่ปุ่น ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการประสานช่วงวันหารือที่เหมาะสมสำหรับการหารือครั้งที่ 3
4.2 การประชุมประจำปีทวิภาคีด้านการเมืองและการทหาร (Politico- Military / Military- Military Consultations) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 22- 23 มีนาคม 2549 โดยฝ่ายไทยมีนายสุรพล เพชรวรา รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต. และ
พล.ท. นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กห. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ฝ่ายไทยกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั่งที่ 7 ในปี 2550
4.3 คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย- ญี่ปุ่น ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฝ่ายไทยเสนอแนวคิดดังกล่าวในพฤษภาคม 2548 เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาคนไทยในญี่ปุ่น โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำ Concept Paper เสนอฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อกรกฎาคม 2548 และได้จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 เมื่อ 15 พฤษภาคม 2549 โดยสามารถตกลงกันใน Concept Paper และแนวทางการดำเนินความร่วมมือในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
4.4 การประชุมความร่วมมือทางวิชาการ หุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation - JTPP) หลังจากที่ไทยปรับบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้รายใหม่ ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จึงเปลี่ยนไปจากการให้ความช่วยเหลือเป็นความร่วมมือในระดับหุ้นส่วน โดยฝ่ายไทยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณารูปแบบการดำเนินการรูปแบบใหม่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับ
5. การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA)
ภายหลังการศึกษาร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นซึ่งมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วมเป็นเวลากว่า
14 เดือน ในช่วงปี 2545 - 2546 การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) จึงได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และหลังจากการเจรจา
9 รอบ รวมถึงการเจรจานอกรอบที่มีเป็นระยะๆ และการเจรจาระดับรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ เมื่อ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2548 ไทยกับญี่ปุ่นสามารถบรรลุความตกลงในหลักการขององค์ประกอบที่สำคัญของ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศการบรรลุความตกลงในหลักการดังกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1 กันยายน 2548
ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเกษตร ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของความตกลง JTEP และจะเป็นประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเกษตร ประกอบด้วยความปลอดภัยด้านอาหารหรือ SPS และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยและทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง
ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร การค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคล และการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้เปิดเสรีเหล็ก ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการสาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ในระดับและระยะเวลาทยอยเปิดเสรีที่เอกชนไทยน่าจะรับได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย
ภายหลังการบรรลุความตกลงในหลักการดังข้างต้น คณะเจรจาและคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของทั้งสองฝ่ายได้ประชุมกัน รวม 7 ครั้ง เพื่อยกร่างความตกลงและเจรจาประเด็นรายละเอียดทางเทคนิคที่เหลืออยู่ ซึ่งรวมถึงเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมโดยตรงและเป็นการปลดล็อคให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้จริง
คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายพบกันนัดสุดท้ายที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1-3 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังการหารือระหว่าง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับบุคคลสำคัญของฝ่ายญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว โดยสามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญที่เหลือได้ทั้งหมด ทั้งนี้สำหรับเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ฝ่ายไทยได้เจรจาให้ฝ่ายญี่ปุ่นยอมรับหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรและประมงแปรรูปของไทยรายการที่สำคัญๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มและผ่านกระบวนการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ อาทิ ปลาทูน่า สคิปแจ๊ค และโบนิโตแปรรูปชนิดต่างๆ กุ้งแปรรูปทุกชนิด (อาทิ กุ้งก้ามกราม และกุ้งกุลาดำ) ผัก ผลไม้และถั่วแปรรูป และน้ำผลไม้บางชนิด
ในขั้นตอนต่อมา คณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการตรวจร่างความตกลง (legal texts) ทั้งฉบับ
เพื่อเตรียมสำหรับการลงนามโดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย
นอกจากการลงนามในร่างความตกลงฯ แล้ว ไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงให้มีการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ 7 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์พลังงาน เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเกษตร
โดยที่มีการประกาศยุบสภาเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2549 และการปฏิรูปการปกครองเมื่อ 19 กันยายน 2549 การลงนาม JTEPA ที่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 3 เมษายน 2549 ที่กรุงโตเกียว จึงต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเพิ่มเติมในการตรวจร่างความตกลงฯ รวมถึงในการผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อไทยในเอกสารโครงการความร่วมมือ 7 เรื่องข้างต้นเพิ่มเติม
คณะทำงานด้านกฏหมายของไทยและญี่ปุ่นสามารถสรุปร่างเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับ JTEPA ได้เสร็จครบบริบูรณ์เมื่อ
22-23 มิถุนายน 2549 ทั้งในส่วนของถ้อยคำในร่างความตกลงฯ (legal texts) ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมทางการเมือง (Joint Statements) ทั้งระดับนายกรัฐมนตรีและระดับรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) และกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ตลอดจนร่างเอกสารทำงาน (Working documents) สำหรับโครงการความร่วมมือในกรอบ JTEPA ทั้ง 7 โครงการ พร้อมสำหรับการเสนอรัฐบาลใหม่
เพื่อเสริมสร้างการหารือและมีส่วนร่วมของรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดส่งร่างความตกลงฯ ทั้งฉบับให้แก่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการวุฒิสภา และพร้อมที่จะไปชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อได้รับเชิญจากสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ ขณะเดียวกันสำนักงานฯ ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเผยแพร่ผลการเจรจา JTEPA ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนทั่วไปเกี่ยวกับสาระของ JTEPA ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
การจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ จะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนา จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจา JTEPA ผลการเจรจาของทุกรอบ และข่าวสารที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามได้ที่
คลิกที่นี่เพื่อดูเวปไซต์ JTEPA
Related Websites (คลิกชื่อที่ต้องการ)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
ทีมประเทศไทยในกรุงโตเกียว
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ของญี่ปุ่น
รายชื่อคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมประวัติ
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กรุงเทพฯ
มูลนิธิญี่ปุ่น
JICA
ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ
พฤศจิกายน 2549
เรียบเรียงโดย กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5209-10 Fax. 0-2643-5208
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|