|
แผนที่
|
สาธารณรัฐโมซัมบิก Republic of Mozambique
|
|
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของแอฟริกาตอนใต้ของทวีปแอฟริกาพรมแดนทางภาคเหนือติดกับแทนซาเนีย
ทิศใต้ติดกับแอฟริกาใต้
ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันตกติดกับมาลาวี ซิมบับเว แซมเบีย สวาซิแลนด์
พื้นที่ 801,590 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 19.4 ล้านคน (2549) โดยร้อยละ 99.66 เป็นชนเผ่า Makhuwa,
Tsonga, Lomwe และ Sena
เมืองหลวง กรุงมาปูโต (Maputo) เป็นเมืองหลวงและเมืองท่า และมีเมืองท่าที่สำคัญอื่น ได้แก่ Beira, Nacala และ Quelimane
ภูมิประเทศ เนื้อที่เกือบครึ่งของประเทศทางตะวันออกเป็นที่ราบชายฝั่ง มีที่ราบสูงในตอนกลางและทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภูเขาในทางตะวันตก
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือเดือนมกราคม เดือนที่มีอากาศเย็นที่สุด คือเดือนมิถุนายน
ศาสนา คริสต์ร้อยละ 23.8 อิสลามร้อยละ 17.8 คริสต์นิกายซิโอนิสต์ ร้อยละ 17.5 อื่นๆ ร้อยละ 17.8 และไม่นับถือศาสนาร้อยละ 23.1
ภาษา ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่นแอฟริกัน อีก 3 ภาษา ได้แก่ Makua-Lomwe, Tsonga และ Sena-Nyanja
วันชาติ 25 มิถุนายน (เป็นวันที่ได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อปี 2518)
หน่วยเงินตรา เมติคอล (Metical: MT)
อัตราแลกเปลี่ยน 23,061 MT = 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,117 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.5 (2548)
ระบอบการปกครอง
แบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Armando Guebuza และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Luisa Diogo
การเมืองการปกครอง
สาธารณรัฐโมซัมบิกปกครองในระบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ฝ่ายบริหารประกอบด้วยประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย Armando Guebuza การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2547 การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Luisa Diogo โดยพรรคการเมืองที่สำคัญในประเทศประกอบด้วย 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ พรรค Frente de Libertação de Moçambique (Frelimo) ซึ่งเป็นรัฐบาล และพรรค Resistência Nacional de Moçambique (Renamo) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลฏีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด โดยมีผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและจากรัฐสภา
หลังได้รับเอกราชได้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในโมซัมบิก เนื่องจากรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศได้ขับไล่ชนชั้นปกครองออกชาวโปรตุเกสซึ่งดำเนินธุรกิจการค้าที่สำคัญออกจากโมซัมบิก ต่อมาในปี 2520 นาย Samora Machel ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยปกครองประเทศแบบสังคมนิยมมาร์กซิส ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย เกิดการต่อสู้และเกิดสงครามกลางเมืองทำให้ประเทศยากจนและล้าหลังเป็นอย่างมาก ในเดือนตุลาคม 2535 ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดี Joaquim Chissano ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงโรม ในปี 2537 มีการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ประธานาธิบดี Chissano ได้ประกาศเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและให้นาย Armando Guebuza ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน
พรรค Frelimo ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดี Armando Guebuza ซึ่งพยายามสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างพรรค Frelimo และพรรค Renamo จะยังคงมีต่อไป โดยการเมืองภายในของโมซัมบิกจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
นโยบายต่างประเทศ
ปัจจุบันสาธารณรัฐโมซัมบิกมีนโยบายด้านการต่างประเทศที่เน้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแอฟริกาใต้ ซิมบับเว อังโกลา มาลาวี และประเทศสมาชิกของ Southern African Development Community (SADC) อื่นๆ ด้วย รวมถึงประเทศตะวันตกซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาค และโปรตุเกส โดยนานาประเทศได้แสดงความยินดีที่โมซัมบิกเป็นประเทศต้นแบบในการฟื้นฟูประเทศภายหลังภาวะสงคราม
เศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐกิจ
สาธารณรัฐโมซัมบิกถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยทำให้ระบบเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศมีเสถียรภาพและปรับปรุงการบริการภาคสาธารณะให้ดีขึ้นโดยมุ่งหมายว่า หากสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับที่กำหนดไว้จะสามารถลดปัญหาความยากจนได้ ในส่วนของนโยบายการคลัง รัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมากในโครงการบรรเทาความยากจน
สาธารณรัฐโมซัมบิกเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2549 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมาจากภาคบริการร้อยละ 48 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 30.9 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 21.1 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญของโมซัมบิก ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ อะลูมินั่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ ซีเมนต์ แก้ว และยาสูบ สินค้าที่โมซัมบิกส่งออก ได้แก่ อะลูมินั่ม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ กุ้ง น้ำตาล และฝ้าย โดยประเทศที่โมซัมบิกส่งสินค้าออก ได้แก่ เบลเยี่ยม แอฟริกาใต้ สเปน และเนเธอร์แลนด์ (ปี ๒๕๔๗) ส่วนสินค้าที่โมซัมบิกนำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเข้าจากประเทศต่างๆ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย จีน และโปรตุเกส
สังคม
ประชากรผู้ใช้แรงงานในโมซัมบิกกว่าร้อยละ 81 ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการร้อยละ 13 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 6 โดยประชากรกว่าร้อยละ 70 ของประเทศยังอยู่ในภาวะยากจน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโมซัมบิก |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ประเทศไทยและสาธารณรัฐโมซัมบิกได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2532 โดยประเทศไทยได้แต่งตั้งให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาดูแลสาธารณรัฐโมซัมบิกและได้แต่งตั้งให้นาย Carlos António da Conceicão Simbine เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำโมซัมบิก ส่วนโมซัมบิกได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโมซัมบิกประจำกรุงจาการ์ตามีเขตอาณาดูแลประเทศไทย และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย โดยมีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยและสาธารณรัฐโมซัมบิกยังไม่มีปริมาณไม่มาก ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2549 จำนวนทั้งสิ้น 41.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยออกสินค้าไปยังโมซัมบิกมีมูลค่า 33.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากโมซัมบิกมีมูลค่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังโมซัมบิก ได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากซัมบิก ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ไม้ซุง ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 25.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดการณ์ว่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสองมีโอกาสจะขยายตัวต่อไปในอนาคต
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพริทอเรีย
Royal Thai Embassy, Pretoria
428 Pretorius/Hill Street, Arcadia, Pretoria 0083, P.O. Box 12080
Hatfield, Pretoria 0028
Tel. (27-12) 342-1600, (27-12)342-4516,
(27-12)342-4506, (27-12)342-5470
Fax. (27-12) 342-4805, 342-3986
E-mail: info@thaiembassy.co.za
Consular Info: visa@thaiembassy.co.za
Trade Info: trade@thaiembassy.co.za
Technical: webmaster@thaiembassy.co.za
Website: http://www.thaiembassy.co.za
The Embassy of the Republic of Mozambique
Wisma GKBI 37 th Floor,Suite 3709
JI. Jenderal Sudirman No. 28
Jakarta 10210
Tel: (62-021) 574-0901
Fax: (62-021) 574-0907
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|