|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย Federal Republic of Nigeria
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา
ทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐไนเจอร์
ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี
ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐแคเมอรูนและ สาธารณรัฐชาด
ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐเบนิน
มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 853 กิโลเมตร
พื้นที่ 923,769 ตารางกิโลเมตร (หรือประมาณ 356,669 ตารางไมล์)
เมืองหลวง กรุงอาบูจา (Abuja) ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่แทนเมืองลากอส (Lagos) ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ปัจจุบัน ที่ทำการของรัฐบาล รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลต่างประเทศหลายแห่งได้ย้ายจากเมืองลากอสมาอยู่ที่กรุงอาบูจา
เมืองสำคัญอื่น ๆ เมืองลากอส Port Harcourt Ibadan Ogbomoso และ Kano
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ภาคเหนืออากาศค่อนข้างร้อนและแห้งเกือบตลอดปี เนื่องจากเป็นที่สูงและใกล้ทะเลทรายซาฮารา อุณหภูมิประมาณ 34.4 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน (เดือนพฤศจิกายน มีนาคม) ปริมาณฝนตกเฉลี่ยปีละ 500 มิลลิเมตร ภาคใต้อากาศไม่ร้อนจัดโดยเฉพาะในฤดูฝน (เดือนเมษายน ตุลาคม) อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 18-22 องศาเซลเซียส ปริมาณ ฝนตกเฉลี่ยปีละ 3,000 มิลลิเมตร และระหว่างเดือนพฤศจิกายน มกราคม จะมีฝุ่นละอองที่เรียกว่า ฮามาตัน (Hamatan หรือ Harmattan) พัดมาจากทะเลทรายซาฮารา ปกคลุมทั่วท้องฟ้า ทำให้อากาศร้อนในเวลากลางวันและมีอากาศเย็นในเวลากลางคืน
จำนวนประชากร 144 ล้านคน (2550)
เชื้อชาติ ประกอบด้วยชนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ประมาณ 250 เผ่า ที่สำคัญคือ Hausa และ Fulani (ร้อยละ 29) Yoruba (ร้อยละ 20) และ Ibo (ร้อยละ 18)
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาพื้นเมืองที่สำคัญ คือ Hausa Yoruba Ibo และ Fulani
ศาสนา ประชากรร้อยละ 50 นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ และร้อยละ 40 นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้และเมืองลากอส นอกนั้นเป็นลัทธิดั้งเดิมของชนเผ่าต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 10
รูปแบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐโดยประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำรัฐบาล
ประมุขแห่งรัฐ นาย Umaru YarAdua เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไนจีเรียตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2550
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Ojo Maduekwe เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2550
สถาบันทางการเมือง ประกอบด้วย
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำรัฐบาล ทั้งนี้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง โดยอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2542 และเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีจากพลเรือนไปสู่พลเรือนเป็นครั้งแรก มีคณะรัฐมนตรี (Federal Executive Council) ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
ฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา (Senate) ซึ่งมีสมาชิก 109 คน จากรัฐต่าง ๆ ทั้งหมด 36 รัฐ ๆ ละ 3 คน และอีก 1 คนจากเขตเมืองหลวงของสหพันธ์กรุงอาบูจา (Abuja Federal Capital Territory) โดยสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสมาชิก 360 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546
ฝ่ายตุลาการ มีศาลสูง ศาลอุทธรณ์ของสหพันธ์ นอกจากนี้ รัฐทางตอนเหนือของประเทศซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จะมีศาลตามกฎหมายอิสลามด้วย
วันชาติ วันที่ 1 ตุลาคม (เป็นวันที่ได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2503)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 116.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 832 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.6 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 8.7 (2549)
หนี้สินต่างประเทศ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ดุลการค้า ในปี 2549 มูลค่าการค้ารวม 86,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่งออก 58,876 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 27,604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เปรียบดุลการค้า 31,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออกที่สำคัญ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 95) โกโก้ และยางพารา
สินค้าเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและสิ่งมีชีวิต
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ส่งออกไปยัง สหรัฐฯ 54% บราซิล 10.4% สเปน 8.3% ฝรั่งเศส 3.2% นำเข้าจาก จีน 10.5% สหรัฐฯ 7.4% สหราชอาณาจักร 6.9% เนเธอร์แลนด์ 6.2% (2549)
สกุลเงิน ไนรา (naira)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 127.38 ไนรา (2549)
รัฐบาลปัจจุบัน
นาย Alhaji Umaru Musa Yar'Adua ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และ Chief Ojo Maduekwe ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ในศตวรรษที่ 18 ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาส และอังกฤษได้เข้ายึดเมืองท่าลากอสในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2394 ต่อมาได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการจัดการทางการเมืองของตนเอง จนถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2443 บริษัทฯ จึงได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษและได้จัดตั้ง อาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรีย
เมื่อ พ.ศ. 2457 สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 และได้เป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2506 หลังจากนั้น ได้มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2509 และเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและภูมิภาค เนื่องจากชนเผ่า Hausa ทางเหนือเกรงว่าจะถูกครอบงำโดยชนเผ่า Igboทางตะวันออกของประเทศ ภูมิภาคตะวันออกจึงตัดสินใจถอนตัวและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแห่งไบอาฟรา (Republic of Biafra) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของสงครามกลางเมืองนองเลือด ซึ่งยืดเยื้อเพราะการแทรกแซงจากต่างประเทศและภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
ต่อมาได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะให้มีการปกครองโดยพลเรือน แต่ถูกฝ่ายทหารขัดขวาง หลังจากมีการประหารชีวิตนาย Ken Saro-wiwa ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของรัฐ Ogoni และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของประชาชนอีก 7 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ไนจีเรียก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเป็นการชั่วคราว พลเอก Sani Abacha ขึ้นเป็นผู้นำของไนจีเรียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 และได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้รัฐบาลพลเรือนซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 แต่พลเอก Abacha ก็ถึงแก่อนิจกรรมก่อนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ด้วยโรคหัวใจวาย คณะมนตรีปกครองชั่วคราว (Provisional Ruling Council) จึงได้เลือกพลเอก Abdulsalam Abubakar เสนาธิการทหารเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทนพลเอก Abacha
พลเอก Abubakar ตระหนักถึงสถานการณ์ของรัฐบาลทหารที่ถูกต่อต้านจากประชาชนและนานาชาติ จึงมีท่าทีผ่อนปรนและประนีประนอมมากขึ้น โดยได้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งหนึ่งในบรรดานักโทษการเมืองที่สำคัญที่ได้รับการปลดปล่อย คือ พลเอก Olusegun Obasanjo จากนั้น พลเอก Abubakar ได้ให้สัญญาว่าจะลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชน โดยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้นปรากฏว่า พลเอก Olusegun Obasanjo หัวหน้าพรรค Peoples Democratic Party (PDP) ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น รวมทั้งพรรค PDP ก็ได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย พลเอก Obasanjo ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่ไนจีเรียสามารถเปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ และได้กลับเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกครั้ง
สถานการณ์ทางการเมือง
ประธานาธิบดี Obasanjo ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในปี 2542 ได้ประกาศตนเป็นผู้แทนของประชาชนทุกเผ่าพันธุ์ทุกศาสนา และได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขกลไกต่างๆ หลายด้าน เช่น การซ่อมสร้างสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปลดเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจที่แต่งตั้งในสมัยรัฐบาลเผด็จการ การควบคุมกองทัพให้อยู่ในระเบียบวินัย การปล่อยนักโทษการเมือง การติดตามเงินในบัญชีธนาคารต่างประเทศของนักการเมืองคอร์รัปชั่น และการล้มเลิกสัญญาต่างๆ ระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับกลุ่มรัฐบาลเผด็จการเดิม เป็นต้น
จนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2549 ประธานาธิบดี Obasanjo เข้ารักษาการแทนนาย Atiku Abubakar รองประธานาธิบดีไนจีเรีย (ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี มาตั้งแต่ปี 2542 และถูกกล่าวหาจาก The Economic and Financial Crime Commission: EFCC เมื่อเดือนกันยายน 2549 ว่าได้ยักยอกเงินงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก และถูกระงับไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่นับแต่นั้นมา) เนื่องจากประธานาธิบดีอ้างว่า การที่นาย Abubakar เข้าร่วมการประชุมกับพรรคฝ่ายค้าน Action Congress Party เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้แทนจากพรรค Action Congress Party ในการลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน 2550 ซึ่งถือว่าเป็นการลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่ารองประธานาธิบดีจะต้องสังกัดพรรคเดียวกับประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2550 เป็นการเปลี่ยนคณะผู้บริหารประเทศแบบพลเรือนไปสู่พลเรือนเป็นครั้งแรกของไนจีเรีย โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Umaru YarAdua ผู้สมัครจากพรรค PDP ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยได้คะแนนเสียงกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม นาย Muhammadu Buhari และนาย Abubakar ซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสองและอันดับสามนั้นประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่า พรรค PDP ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดี Obasanjo โกงการเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2550 จึงมีความไม่ชอบธรรม ประกอบกับเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ดังนี้ จึงมีการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม นาย Umaru YarAdua ผู้สมัครจากพรรค PDP ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งนั้นได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไนจีเรียแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ไนจีเรียดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลาง แต่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางประเทศตะวันตก และให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาด้วยดี โดยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความสำคัญในวงการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ทั้งนี้ กองกำลังรักษาสันติภาพ (ECOMOG) ของประชาคมเศรษฐกิจในแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States - ECOWAS) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารของไนจีเรียได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก นอกจากนั้น ไนจีเรียยังมีบทบาทสูงในองค์กรเอกภาพแอฟริกา (OAU)
สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าน้ำมัน แต่การค้าน้ำมันของประเทศได้รับผลกระทบเป็นเวลานานจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การฉ้อราษฎร์บังหลวง และระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งประเทศยังอยู่ในช่วงของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ผู้นำรัฐบาลทหารชุดก่อน ๆ ประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจากการที่ต้องพึ่งพาแต่ภาคน้ำมันซึ่งเน้นการใช้เงินทุนเป็นสำคัญ โดยคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ร้อยละ 95 ของรายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและประมาณร้อยละ 65 ของรายได้ทางด้านงบประมาณ ในขณะที่ภาคการเกษตรเติบโตไม่ทันกับจำนวนประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไนจีเรียซึ่งเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ต้องกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหาร ด้วยเหตุนี้ ไนจีเรียจึงจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2543 อีกทั้งได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จากกลุ่ม Paris Club และได้รับเงินกู้จำนวน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อเดือนธันวาคม 2548 กลุ่ม Paris Club ได้ยกหนี้สินจำนวนประมาณ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของไนจีเรียเป็นมูลค่า 36 พันล้านเหรีญสหรัฐด้วย
ทั้งนี้ ไนจีเรียได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ภายหลังจากประธานาธิบดี Obasanjo ได้รับการเลือกตั้งในปี 2542 ภายใต้แผน National Economic Empowerment and Development Strategy (NEEDS) ซึ่งเน้น
(1) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่นกิจการโทรคมนาคม โรงกลั่นน้ำมันดิบ ธนาคาร โรงงาน ปิโตรเคมี และโรงแรม เป็นต้น
(2) สร้างแหล่งรายได้อื่นนอกจากน้ำมัน โดยเฉพาะการเกษตร เกษตรแปรรูปอุตสาหกรรม และบริการ
(3) ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ยกเลิกข้อจำกัดในเร่องการถือหุ้นของชาวต่างชาติในบริษัทที่จดทะเบียนในไนจีเรีย ยกเว้นบริษัทที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ การผลิตยาเสพติดและยาหลอนประสาท ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถโอนเงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไร การชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยที่กู้ยืมจากต่างประเทศ การโอนเงินและผลตอบแทนที่ได้จากการจำหน่ายหรือเลิกกิจการได้ ผ่านตัวแทนที่ได้รับอนุญาต
(4) มุ่งสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับ ECOWAS ซึ่งมีข้อตกลงด้านอัตราภาษี (the Common External Tariff: CET) จำแนกพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็น 5 ระดับ คือ 0, 5, 10, 20, 50 มีผลบังคับใช้เดือนตุลาคม 2548 อย่างไรก็ดี จากการที่ไนจีเรียต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าจึงได้นำนโยบายอัตราภาษีศุลกากร ร้อยละ 50 ชั่วคราว และการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการออกมาใช้ โดยจะมีการทบทวนนโยบายอัตราภาษีร้อยละ 50 อีกครั้งก่อนสิ้นปี 2550
โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไนจีเรียในปัจจุบัน ปรากฏดังนี้
(1) ภาคเหมืองแร่ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของโครงสร้างการผลิตทั้งหมด แต่มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 95 ของการส่งออก สร้างรายได้ให้ประเทศเท่ากับร้อยละ 20 ของ GDP และก่อให้เกิดการจ้างงานเพียงร้อยละ 5 ของการจ้างงานทั้งหมด
(2) ภาคการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของโครงสร้างการผลิตทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมด
(3) ภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 และส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ
(4) ภาคอุตสาหกรรม เช่น ซีเมนต์ หนังสือพิมพ์ ประกอบรถยนต์ แปรรูปสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 และจ้างงานร้อยละ 7 ของการจ้างงานทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังควบคุมโดยรัฐ ทั้งนี้ ไนจีเรียนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 53 เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งร้อยละ 17 เคมีภัณฑ์ ร้อยละ 15 และอาหารร้อยละ 12
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ประเทศไทยและไนจีเรียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 และในปีต่อมา ฝ่ายไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตและแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงลากอส นับเป็นสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรกของไทยในทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอส เป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความปลอดภัย ในปี 2542 ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งให้ Dr. Folarin Gbadebo Smith เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียที่เมืองลากอส
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอสเป็นการถาวร และมีมติให้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา ทั้งยังได้แต่งตั้งนาย ศิริวัฒน์ สุทธิเกษม เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย (Roving Ambassador)และสถานเอกอัคราชทูตเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2549 โดยมีอุปทูตรักษาการ
สำหรับฝ่ายไนจีเรียเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำสาธารณรัฐฟิลิปปินส์มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยด้วย ต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ไนจีเรียได้เปิดสถานเอกอัคร-ราชทูตที่กรุงเทพฯ และแต่งตั้ง H.E. Prince Ademola Olugbade Aderele เป็นเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยคนแรก และขณะนี้ได้มีเอกอัครราชทูตคนที่สอง คือ นาย Thompson Sunday Olufunso Olumoko (ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2547) โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างไทยและไนจีเรียดำเนินมาด้วยความราบรื่น
ด้านเศรษฐกิจ
ปริมาณการค้าไทย ไนจีเรียมีมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคแอฟริกา รองจากแอฟริกาใต้ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2549 ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน สินค้าที่ไทยส่งออกไปไนจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ 1) ข้าว 2) เม็ดพลาสติก 3) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4) ผลิตภัณฑ์ยาง 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากไนจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ 1) น้ำมันดิบ 2) สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ 3) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 4) ด้ายและเส้นใย 5) ไม้ซุง ไม้แปรรูป และไม้อื่นๆ เป็นต้น
สถิติการค้าระหว่างไทย ไนจีเรีย ดูเอกสารแนบ
ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ
ไทยกำหนดให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai Aid Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษา/ฝึกอบรมและดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุขและการศึกษา ในปี 2536 มีบุคลากรไนจีเรียได้รับทุนเข้ารับการฝึกอบรมในประเทศไทย จำนวน 8 คน และในปี 2537 มีจำนวน 10 คน
ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
ไทยและไนจีเรียได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำความผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (Treaty between the Government of Thailand and the Government of the Federal Republic of Nigeria on the Transfer of Offenders and Co-operation of Offenders and Co-operation in the Enforcement of Penal Sentences) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หลังจากทั้งสองฝ่ายให้สัตยาบัน
การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
- วันที่ 30 กรกฎาคม 5 สิงหาคม 2546 นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนไนจีเรีย โดยคณะเข้าพบประธานาธิบดี Obasanjo และมีการหารือถึงความร่วมมือหลายด้าน เช่น การกงสุล ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการเกษตรและสาธารณสุข การปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
- วันที่ 23-24 มีนาคม 2548 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยนำคณะ นักธุรกิจไทยจำนวน 33 คนเยือนไนจีเรีย โดยได้ร่วม Business Forum ณ กรุงอาบูจา และได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี Obasanjo แห่งไนจีเรีย
- วันที่ 14-16 มกราคม 2549 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนไนจีเรีย
ฝ่ายไทย
- วันที่ 18 24 มิถุนายน 2547 Dr. Olusegun Agagu ผู้ว่าการรัฐ Ondo พร้อมคณะจำนวน 9 คน เดินทางมาดูงานเกี่ยวกับการปลูกข้าวและมันสำปะหลัง รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา
Royal Thai Embassy
Plot 766 Panama Street,,
Cadastral Zone A6, off IBB Way,
Maitama, Abuja,
NIGERIA
E-mail : thaiabj@mfa.go.th
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์เมืองลากอส
นายฟอลาริน แบเดโบ สมิท (Dr. Folarin Gbadebo Smith) กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
46 Raymond Njoku Street
S.W. Ikoyi, Lagos
NIGERIA
Tel. (234-1) 269-3147
Fax. (234-1) 269-3149
สถานเกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย
The Embassy of the Federal Republic of Nigeria
412 Sukhumvit Soi 71
Prakanong, Watthana,
Bangkok 10110
Tel. 0-2711-3076-8
Fax. 0-2392-6398
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|