|
แผนที่
|
สาธารณรัฐปานามา Republic of Panama
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่แคบที่สุดของภูมิภาคอเมริกากลาง พื้นที่ทางทิศเหนือและใต้เป็นชายฝั่งทะเล โดยทิศเหนือติดมหาสมุทรแปซิฟิก และทิศใต้ติดทะเลแคริบเบียน พรมแดนด้านทิศตะวันตกติดกับคอสตาริกา ส่วนทิศตะวันออกติดกับโคลอมเบีย
ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมทะเล
พื้นที่ 75,517 ตารางกิโลเมตร
ประชากร (2546) 3.2 ล้านคน อัตราการเติบโตของประชากรร้อยละ 1.5 ต่อปี
เมืองหลวง กรุงปานามา (Panama City)
ภาษา สเปน
ศาสนา โรมันคาทอลิก
เชื้อชาติ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเลือดผสม Mestizo (ผิวขาว+คนพื้นเมือง) หรือ Mulatto (ผิวดำ+คนพื้นเมือง)
อัตราการรู้หนังสือ (2546) ร้อยละ 92.3
หน่วยเงินตรา Balboa มีค่าเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลปานามาผลิตเพียงแต่เหรียญกษาปณ์สกุล Balboa เท่านั้น การซื้อขายโดยทั่วไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ
เวลาต่างจากประเทศไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี
ประมุขของประเทศ ประธานาธิบดี นาง Mireya Elisa MOSCOSO Rodriguez (หมดวาระ 1 กันยายน 2547)
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้ง
ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง 72 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
พรรคการสำคัญ
1. Arnulfista Party (PA) (พรรครัฐบาล)
2. Democratic Revolutionary Party (PRD)
3. National Liberal Party (PLN)
4. Popular Nationalist Party (PNP)
ระบบศาล ผู้พิพากษาสำหรับศาลสูงสุดมาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 10 ปี
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (2547) 13.88พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การเกษตร ร้อยละ 7 อุตสาหกรรม ร้อยละ 17 บริการ ร้อยละ 76
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2546) ร้อยละ 1.6
รายได้ประชาชาติต่อหัว (2546) 3,870 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี
อัตราเงินเฟ้อ (2546) ร้อยละ 1.8
อัตราการว่างงาน (2546) ร้อยละ 13
มูลค่าการส่งออก (2546) 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ (ไม่รวมเขต CFZ) กล้วย 33% กุ้ง 11% น้ำตาล 4%
มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (2546) 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าทุน 21% น้ำมันดิบ 11% อาหาร 9%
โครงสร้าง สภาวการณ์และแนวโน้มทางการเมือง
- ปานามามีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 นายมาร์ติน โตร์ริโฆส เอสปิโน (Mr. Martin Torrijos Espino) จากพรรค Democratic Revolutionary (PRD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 47 โดยรัฐบาลของนายโตร์ริโฆส มีนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย ให้ความสำคัญอันดับแรกต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน การขจัดปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการยุติธรรม การขจัดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการลดอัตราการว่างงาน
- พรรค PRD ของประธานาธิบดีโตร์ริโฆส กำลังเผชิญกับความยุ่งยากทางการเมือง ส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสังคม ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะแพทย์ ครู และคนงานก่อสร้าง ส่งผลให้ประธานาธิบดี โตร์ริโฆสต้องประกาศระงับใช้กฎหมายปฏิรูปดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และจัดให้มีการหารือระดับชาติเพื่อแก้ไขในเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนธันวาคม 2548 สภานิติบัญัติของปานามาได้ให้สัตยาบันต่อกฎหมายปฏิรูปดังกล่าวโดยมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปี 2549 ทั้งนี้ การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นหนึ่งใน 3 ของนโยบายหลักของรัฐบาลของประธานาธิบดีโตร์ริโฆส นโยบายหลักอีก 2 ประการได้แก่ การปฏิรูปทางการเงินการคลังและการขยายคลองปานามา
- ปัจจุบันรัฐบาลของประธานาธิบดีโตร์ริโฆสกำลังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามที่เห็นว่า รัฐบาลไม่เข้มงวดและไม่แก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างจริงจัง และการที่นายมานูเอล นอริเอกา (Manuel Noriega) อดีตประธานาธิบดีปานามาซึ่งถูกคุมขังมาเป็นเวลานาน 15 ปีที่นครไมอามีจากกรณีลักลอบค้ายาเสพติดจะได้รับการลดโทษและส่งตัวกลับมายังปานามาในวันที่ ๙ กันยายน 2550 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านายนอริเอกาจะต้องเผชิญกับข้อหาในประเทศจำนวนมากเกี่ยวกับข้อหาการฆาตกรรมและอาชญากรรมต่างๆ ดังนั้น การเดินทางกลับปานามาของนายนอริเอกาครั้งนี้ จึงถือเป็นบทพิสูจน์ประการหนึ่งของรัฐบาลประธานาธิบดีโตร์ริโฆสว่า จะมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในประเทศเพียงใด
- ปานามาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐอเมริกา (OAS) ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ค. 2550 ณ กรุงปานามา โดยมีประเทศสมาชิกทุกประเทศเข้าร่วม รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์เช่น ไทยเข้าร่วมในหัวข้อการประชุม Energy for Sustainable Development
โครงสร้าง สภาวการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
- โครงสร้างของเศรษฐกิจปานามาเป็นอุตสาหกรรมการบริการมากกว่าการส่งออกสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นคอคอด เชื่อมอเมริกาใต้และอเมริกากลาง โดยมีคลองปานามา เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก ปานามาจึงเป็นศูนย์พาณิชยกรรม แหล่งกระจายสินค้า การเงิน การธนาคาร และการประกันภัย ที่มีความสำคัญของภูมิภาคอเมริกากลาง ในด้านบทบาททางการค้าและเดินเรือระหว่างประเทศ ปานามาเป็นประเทศซึ่งมีบริการรับจดทะเบียนเรือและบริการด้าน logistics ให้แก่เรือธงของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (รวมทั้งเรือไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้) นอกจากนั้น ปานามาดำเนินบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (offshore banking facility) ของภูมิภาค ปัจจุบันรัฐบาลปานามามีโครงการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเคยเป็นฐานทัพสหรัฐฯ และ ได้รับมอบคืนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2542 เพื่อเป็นเขตลงทุนจากต่างประเทศด้วย
- ปานามาเป็นประเทศที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งในอเมริกากลาง โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เสรีและมั่นคง และมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐฯ เป็นจุดภูมิยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือมีคลองปานามาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นจุดเชื่อมระหว่างภูมิภาคอเมริกากลางกับอเมริกาใต้ เป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาค มีธนาคารนานาชาติกว่า 100 แห่ง ทั้งนี้ ปานามาได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีโคลอน (Colon Free Zone) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ปานามามีระบบการสื่อสารที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกาและให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีต่างๆ แก่ผู้เข้าไปลงทุน ทั้งนี้ผู้นำเข้ารายใหญ่ของเขตการค้าเสรีโคลอน ได้แก่ ฮ่องกง จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีสินค้าหลักได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้า เวชภัณฑ์ มีการนำเข้าและมีส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ กว่า 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
- อุตสาหกรรมการบริการโดยเฉพาะในธุรกิจการเดินเรือระหว่างประเทศถือเป็นอุตสาหกรรมหลักและสำคัญที่สุดของปานามา เนื่องจากปานามามีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นคอคอดเชื่อมอเมริกาใต้และอเมริกากลาง โดยมีคลองปานามาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก ทำให้ปานามากลายเป็นศูนย์พาณิชยกรรม แหล่งกระจายสินค้า การเงิน การธนาคาร และการประกันภัย และเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (offshore banking facility) ที่สำคัญของภูมิภาคอเมริกากลาง นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การเดินเรือระหว่างประเทศ โดยให้บริการรับจดทะเบียนเรือและบริการด้านโลจิสติกส์ (logistics) ให้แก่เรือของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (รวมทั้งเรือไทย) ปัจจุบันรัฐบาลปานามามีโครงการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเคยเป็นฐานทัพของสหรัฐฯ (ได้รับมอบคืนเมื่อเดือนธันวาคม 2542) เพื่อเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศด้วย รวมทั้งมีนโยบายที่จะขยายคลองปานามาให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางน้ำที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรักษาการเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการขนส่งและบริการทางทะเลที่สำคัญในอเมริกากลางต่อไป และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2549 ชาวปานามาส่วนใหญ่ได้ลงประชามติสนับสนุนโครงการขยายคลองปานามาของรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงคลองปานามาให้ทันสมัยและสามารถรับเรือขนาดใหญ่ ซึ่งการลงประชามติดังกล่าวยังถือเป็นชัยชนะของการบริหารของรัฐบาลของประธานาธิบดีโตร์ริโฆส ซึ่งกำลังประสบปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์โครงการขยายคลองจากพรรคฝ่ายค้าน
- ปัจจุบัน คลองปานามาประสบปัญหาปริมาณเรือบรรทุกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก โดยมีเรือผ่าน เข้า-ออกประมาณ 40 ลำต่อวัน หรือ 14,000 ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของเรือบรรทุกสินค้าทั่วโลก ในขณะที่คลองปานามามีขนาด 80 กิโลเมตรและมีระบบล็อค (lock system) ที่แคบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนและชิลี ซึ่งส่งผลให้การเดินทางผ่านเข้าออกล่าช้าการขยายคลองจึงเป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นปานามาอาจจะเสียธุรกิจด้านนี้ให้เส้นทางการเดินทางเรืออื่นได้ ทั้งนี้ การปรับปรุงคลองปานามาที่สำคัญ คือ การสร้างช่องทางเดินเรือช่องที่ 3 ขนานไปกับ 2 ช่องทางเดิม ช่องทางใหม่นี้จะรับเรือใหญ่ขนาดความยาว 366 เมตร กว้าง 49 เมตร และกินน้ำลึก 15 เมตร โดยจะทำให้เรือใหญ่สามารถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000คอนเทนเนอร์ โดยการก่อสร้างจะเริ่มขึ้นปลายปี 2550 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2557 อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้คัดค้านการขยายคลองปานามา เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำเงินมาลงทุนกับโครงการ แต่ควรจะนำเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งกระทบประชากรในประเทศถึงร้อยละ 40 และกล่าวเตือนว่า โครงการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการล้มละลายของประเทศซึ่งปัจจุบันมีภาระหนี้สินจำนวนมาก ในขณะที่ประธานาธิบดีโตร์ริโฆสเชื่อว่า การขยายคลองจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่าของประเทศ และเชื่อมั่นว่า คลองปานามาเป็นเส้นทางสู่ความร่ำรวยของประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน ให้ชาวปานามาโดยตรงถึง 7,000 ตำแหน่ง และโดยทางอ้อมอีก 35,000ตำแหน่งและรายได้เหล่านั้นจะกลับไปสู่ประชาชนชาวปานามาผู้ยากไร้ต่อไป
- ปานามาได้ลงนามจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิ.ย. 2550 ที่กรุงวอชิงตัน โดยได้รวมกฎหมายด้านแรงงานและสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มงวดตามความประสงค์ ของฝ่ายสหรัฐฯ และสภานิติบัญญัติของปานามาได้ให้สัตยาบันความตกลง FTA กับสหรัฐเมื่อ 11 ก.ค. 2550 ท่ามกลางการประท้วงจากฝ่ายซ้าย ส่วนสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา นอกจากจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ปานามายังกำลังเจรจาจัดทำ FTA กับหลายๆ ประเทศในอเมริกากลาง เม็กซิโก และชิลี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐปานามา |
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
- ไทยกับปานามาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2525
รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก มีเขตอาณาครอบคลุมปานามา เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือ ร้อยโทระวี หงสประพาส และแต่งตั้งนายการ์โลส อัลเบร์โต ฆานอน เอฟเฟ (Carlos Alberto Janon F.) เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำปานามา ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2534
- ปานามาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2538 ปัจจุบัน นายดาวิด กวาร์เดีย บาเรลา (Mr.David Guardia Varela) เป็นเอกอัครราชทูต (เข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548)
- ไทยและปานามามีการแลกเปลี่ยนการเยือนไม่มากนัก โดยบุคคลสำคัญของไทยที่เคยเดินทางเยือนปานามาได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ เดือพฤศจิกายน 2541 นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 สำหรับฝ่ายปานามาที่เคยเยือนไทยคือ นายราฟาเอล ฟลอเรซ (Rafael Florez) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อเดือนตุลาคม 2545
- ในระหว่างการประชุมเอเปค ที่นครปูซาน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้กล่าวเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปานามาเยือนไทย โดยล่าสุดฝ่ายไทยก็ได้ตอบรับการเชิญเยือนปานามาในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก นอกจากนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโตร์ริโฆส ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่กรุงฮาวานา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ปานามาเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทยในลาตินอเมริกา โดยในปี 2549 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 132.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 14.98 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 104.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยได้ดุลการค้าจากปานามาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา) โดยไทยนำเข้า 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลดจากปี 2548 ร้อยละ 73.75 และส่งออก 118.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 14.62
สถิติการค้าไทย-ปานามา (หน่วยล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2546 108.8 47.1 61.8 -14.7
2547 85.0 58.6 26.3 32.3
2548 155.5 123.3 52.2 51.1
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากปานามา ปลาป่นและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆป่น เคมีภัณฑ์
กาแฟ ชา เครื่องเทศ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องแต่งเรือน ผ้าผืน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม
สินค้าที่ไทยส่งออกไปปานามา เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ
เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลำโพงและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง เครื่องเล่นแผ่นเสียง ผ้าผืน ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
วันที่ 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5113-4 Fax. 0-2643-5115 E-mail : american03@mfa.go.th
|
|