|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
รัฐเอกราชซามัว Independent State of Samoa
|
|
ที่ตั้ง หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ อยู่ใกล้กับหมู่เกาะคุก กึ่ง กลางระหว่างฮาวายและ นิวซีแลนด์ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือ Savaii และ Upolu และเกาะเล็กๆ อีกจำนวน 7 เกาะ ตั้งอยู่ในแนวเขตภูเขาไฟ
พื้นที่ 2,944 ตารางกิโลเมตร มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 120,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงอาปีอา (Apia) มีประชากรประมาณ 34,000 คน
ภูมิประเทศ เกาะหินภูเขาไฟ
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น มักประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่น
ประชากร 2 แสนคน (ปี 2548)
เชื้อชาติ ซาโมน (Samoan) ร้อยละ 92.6 ผสมระหว่างชาวยุโรปกับชาวโพลินีเชีย ร้อยละ 7 และยุโรปร้อยละ 0.4
ศาสนา คริสต์ร้อยละ 99.7
ภาษา ซาโมน และอังกฤษ
หน่วยเงินตรา ตาลา (Tala) หรือดอลลาร์ซามัว
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 2.7594 ตาลา
วันชาติ 1 มกราคม (ซามัวได้รับเอกราชจากนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชาชาติปี 2505 หรือ ค.ศ.1962)
GDP ประมาณ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
GDP Per Capita ประมาณ 1,933 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
Real GDP Growth ร้อยละ 4 (ปี 2549)
อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและประมง
สินค้าส่งออก ปลา น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง เผือก อุปกรณ์รถยนต์ สิ่งทอ เบียร์
ตลาดส่งออก ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี อเมริกันซามัว
สินค้านำเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรม อาหารแปรรูป
ตลาดนำเข้า นิวซีแลนด์ ฟิจิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ
ภูมิศาสตร์และประชากร
ซามัวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอเมริกันซามัว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตองกาและฟิจิ มีป่าไม้ค่อนข้างหนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายโพลินีเชีย (Polynesian) และบางส่วนเป็นเยอรมันและจีน ชาวซามัวจำนวนมากอพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ โดยคาดว่ามีชาวซามัวในนิวซีแลนด์ประมาณ 120,000 คน และในออสเตรเลียประมาณ 40,000 คน
ประวัติศาสตร์
ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่เกาะซามัวมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว และได้ขยายการตั้งถิ่นฐานไปหมู่เกาะต่างๆ ทางทิศตะวันออก ชาวซามัวเริ่มรู้จักกับชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 และมีความสัมพันธ์มากขึ้นเมื่อมิชชันนารีและพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาในช่วงปี 2373 (ค.ศ. 1830) ต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 20 หมู่เกาะซามัวถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ซามัวตะวันตก ซึ่งเป็นอาณาเขต (territories) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2447 (ค.ศ. 1904) (ปัจจุบันคือ อเมริกันซามัว) และซามัวตะวันออก เป็นอาณาเขตของเยอรมนี ซึ่งต่อมา ถูกปกครองโดยนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2457 (ค.ศ. 1914) จนกระทั่งซามัวได้รับเอกราชในปี 2505 (ค.ศ. 1962) ซามัวเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ได้รับเอกราช
ซามัวเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2519 (ค.ศ. 1976) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ซามัว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ซามัวตะวันตกได้เปลี่ยนชื่อเป็น ซามัว อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2540 (ค.ศ. 1997)
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ซามัวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนิวซีแลนด์ เนื่องจากซามัวเคยเป็นประเทศในอาณานิคมของนิวซีแลนด์ และภายหลังการประกาศเอกราช ทั้งสองประเทศก็ลงนามใน Treaty of Friendship ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในปัจจุบัน โดยสนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่า นิวซีแลนด์จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ด้านบริหาร และอื่นๆ แก่ซามัว และรัฐบาลทั้งสองจะหารือกันในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน ซามัวให้ความสำคัญกับสนธิสัญญานี้ เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นผู้ให้สำคัญและเป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
ชาวซามัวจำนวนมากย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ โดยปัจจุบันมีจำนวนถึง 120,000 คน เป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของประชากรหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้นำซามัวหลายคน รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ได้รับการศึกษาจากนิวซีแลนด์
ซามัวเป็นตลาดที่สำคัญของนิวซีแลนด์ โดยในปี 2547 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากนิวซีแลนด์ไปยัง ซามัวประมาณ 82.9 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ในขณะที่มูลค่านำเข้ามีประมาณ 1.79 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ สินค้าส่งออกที่สำคัญของนิวซีแลนด์คือ ลวดและเคเบิลฉนวนกันไฟฟ้า เนื้อแกะ ไม้ เครื่องจักรและส่วนประกอบ นม ซีเมนต์ ท่อพลาสติก ฯลฯ และสินค้านำเข้าสำคัญคือ อาหารสำเร็จรูป (ครีมมะพร้าว) ปลาสด ผักและผลไม้สด และเบียร์ นอกจากนี้ รัฐบาลซามัวและนิวซีแลนด์ยังดำเนินนโยบาย Open Skies ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 (ค.ศ. 2000) ซึ่งอนุญาตให้ทั้งสองประเทศทำการบินระหว่างกันได้โดยไม่จำกัด ปัจจุบัน สายการบิน Polynesian Airlines และ Air New Zealand ทำการบินระหว่างนครโอ๊คแลนด์และกรุงอาปีอาจำนวน 6 เที่ยวต่อสัปดาห์ รวมทั้ง มีเส้นทางการบินไปยังซิดนีย์ เมลเบิร์น ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นาดี (ประเทศฟิจิ) ตองกา อเมริกันซามัว และนีอูเอ
ในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ซามัวพยายามมีบทบาทนำในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแปซิฟิกมากนัก โดยเห็นได้จากการลงคะแนนเสียงในตำแหน่งเลขาธิการกลุ่ม Africa Caribbean and Pacific (APC) ระหว่างการประชุมผู้นำ PIF ครั้งที่ 35 ซึ่งซามัวเป็นเจ้าภาพนั้น นาย Pao Luteru ผู้สมัครของซามัว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของ APC อยู่แล้วนั้น พ่ายแพ้ให้แก่ Sir John Kaputin ผู้สมัครจากปาปัวนิวกินี ด้วยคะแนนห่างกันถึง 11 ต่อ 3
นอกจากนี้ ซามัวยังเป็นสมาชิก Pacific Community (SPC), Forum Fisheries Agency, SOPAC, USC และเป็นที่ตั้งของสำนักงานของ the South Pacific Regional Environment Program ACP
ในกรอบพหุภาคี ซามัวเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติและมีบทบาทนำด้านการเปลี่ยนแปลงของอากาศใน Association of Small Island States (AOSIS) รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฝรั่งเศสกรณีทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในแปซิฟิกในช่วงต้นปี 2539 (ค.ศ. 1996) นอกจากนี้ ในปี 2543 ซามัวเข้าร่วมในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก โดยส่งตำรวจจำนวน 25 นายเข้าร่วมปฏิบัติการกับสหประชาชาติ โดยในเดือนสิงหาคม 2548 รัฐบาลซามัวได้มีมติที่จะเข้าร่วมรักษาสันติภาพในไลบีเรีย ติมอร์ตะวันออก และหมู่เกาะโซโลมอนกับสหประชาติ โดยมีแผนจะส่งทหารไปยังโซโลมอนจำนวน 10 นาย ไลบีเรียจำนวน 4 ราย และติมอร์ตะวันออกจำนวน 3 ราย
นอกจากนี้ นาย Tuiloma Meroni Slade อดีต ออท.คทถ. ซามัวใน UN ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา International Criminal Court ในปี ค.ศ. 2003 ปัจจุบันซามัวมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ WTO และกำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นสมาชิก
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน โดย 47 คน มาจากการเลือกตั้ง และผู้แทน 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเผ่ามาไต (Matai) วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ประมุขรัฐ H.H. Malietoa Tanumafili II ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2505 (ค.ศ. 1962) จากการสืบตระกูลและจะดำรงตำแหน่งประมุขตลอดชีพ อย่างไรก็ตาม ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อไปจะมาจากการเลือกตั้งและจะดำรงตำแหน่งในวาระ 5 ปี
นายกรัฐมนตรี Hon. Tuilaepa Saillele Malielegaoi
รัฐมนตรีต่างประเทศ Hon. Tuilaepa Saillele Malielegaoi
การเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006)ครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในปี 2554 (ค.ศ. 2011)
สถานการณ์ทางการเมือง
ซามัวเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดในแปซิฟิกใต้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2549 พรรครัฐบาลปัจจุบัน (Human Rights Protection Party--HRPP) สามารถครองที่นั่งในสภาถึง 30 ที่นั่งจากทั้งหมด 49 ที่นั่ง ถือเป็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และคาดกันว่ารัฐบาลจะสามารถอยู่ครบวาระ 5 ปี
ภาพรวม
ซามัวเป็นหนึ่งในประเทศมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในแปซิฟิก โดยมีการท่องเที่ยวและการประมงเป็นปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ชาวซามัวส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ พืชที่สำคัญคือ มะพร้าว สาเก กล้วย โกโก้ และเผือก ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคประมงของซามัวเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศ นอกจากนี้ ซามัวยังมีรายได้จากแรงงานที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากนิวซีแลนด์ อเมริกันซามัว ออสเตรเลียและสหรัฐฯ
ซามัวมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2535 (ค.ศ. 1992) แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก รัฐบาลมีนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการพัฒนา organic farming เพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซามัวเริ่มเติบโต รวมทั้งบริษัท Partridge Pacific Investment Group ตัดสินใจลงทุนด้านการค้าปลีกขนาดใหญ่ในซามัวและฟิจิ จึงคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2549-50 จะเติบโตในระดับที่น่าพอใจ
ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นชื่อ Yazaki ซึ่งผลิต wire harness ที่ใช้ในรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลีย เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ มีขนาดเล็กและผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าเท่านั้น เป็นที่คาดกันว่า ซามัวจะถูกถอดถอนจากรายชื่อกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ในปี 2549 (ค.ศ. 2006) ซึ่งจะช่วยให้ซามัวสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากกว่าที่เป็นอยู่
สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2549 สูงขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 26 คิดเป็นรายได้กว่า 4.7 ล้านดอลาร์สหรัฐ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากอเมริกันซามัว และมีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้น จากความร่วมมือระหว่างจีนและซามัว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสังคมของซามัวทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การก่ออาชญากรรมของเยาวชน ปัญหายาเสพติด ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ชาวซามัวมีอัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐฯ สูงขึ้นเป็นลำดับ
สถิติการค้าไทย ซามัว (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2544(2001) 1.3 1.2 0.1 1.1
2545(2002) 1.1 1.1 0 1.1
2546(2003) 0.9 0.9 0 0.9
2547(2004) 2.8 1.9 0.9 1
2548(2005) 7 6.9 0.1 6.8
หมายเหตุ ข้อมูลจากเวปไซด์กระทรวงพาณิชย์
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐเอกราชซามัว |
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับซามัวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2521 (ค.ศ. 1978)โดยไทยได้กำหนดให้ซามัวอยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายนรชิต สิงหเสนี สำหรับซามัวได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา มีเขตอาณาดูแลประเทศไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นาย Leiataua Dr. Kilifoti Sisilia Eteuati
2. เศรษฐกิจและการค้า
ในปี 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มไทยส่งออกสินค้าไปซามัว คิดเป็นมูลค่า 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากซามัวมีมูลค่า 0.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผ้าผืน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน
สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูปเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
3. ความช่วยเหลือและความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ซามัวในด้านทุนฝึกอบรมเฉลี่ยปีละ 1 - 2 ทุน และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไทยได้บริจาคเงินจำนวน 20,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากพายุ Heta ปริมาณการค้าระหว่างกันมีน้อย (ปี 2546 มีมูลค่า 0.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากซามัวมีประชากรน้อยและมีอุปสรรคในการขนส่ง
4. การเยือนของผู้นำระดับสูง
-รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ได้หารือข้อราชการกับนายตุลยลาเอปา ซาอีเลล มาลิเอเลงอย นายกรัฐมนตรีและ รมต. กระทรวงการต่างประเทศซามัวที่สนามบินกรุงพอร์ตมอ์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี ในระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 16 ของเวทีความร่วมมือหมู่เกาะแปซิฟิก Pacific Islands Forum (PIF) ครั้งที่ 36
กองแปซิฟิกใต้
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
วันที่ 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 3036 Fax. 0-2643-5119 E-mail : woramons@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|