|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐเซอร์เบีย Republic of Serbia
|
|
ข้อมูลทั่วไป
สาธารณรัฐเซอร์เบีย ประกอบด้วย 2 มณฑล ได้แก่ โคโซโว และวอยโวดีนา (เดิมเซอร์เบียเป็นหนึ่งในสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียซึ่งประกอบด้วย 2 รัฐ ได้แก่ เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 มอนเตเนโกรได้มีการลงประชามติเป็นอิสระจากเซอร์เบีย จึงเหลือเพียงเซอร์เบียในปัจจุบัน)
พื้นที่ 88,361 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 7.4 ล้านคน (ประมาณการปี 2549) ประกอบด้วยชาวเซิร์บ 66% ชาวอัลแบเนียน 17% ชาวฮังกาเรียน 3.3%
เมืองหลวง กรุงเบลเกรด (Belgrade)
ภาษา ภาษาเซอร์เบียน (ภาษาราชการของประเทศ)
ภาษาโครเอเชียน (ภาษาราชการในวอยโวดีนา) ภาษาอัลแบเนียน (ภาษาราชการในโคโซโว)
ศาสนา คริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ 65% มุสลิม 19% โรมันคาธอลิก 4% โปรเตสแตนท์ 1% อื่นๆ 11%
สกุลเงิน ดีน่าร์ (dinar) และ ยูโร
วันชาติ (Day of Statehood) วันที่ 15 กุมภาพันธ์
การปกครอง แบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้รับเลือกตั้งจากสภาสำหรับมณฑลอิสระโคโซโวอยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติ
สถาบันการเมือง ประกอบด้วยสถาบันหลัก คือ รัฐสภา ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาเดี่ยว มีสมาชิก 250 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีวาระ 4 ปี
ประธานาธิบดี Boris Tadic ดำรงตำแหน่งเมื่อ 11 กรกฎาคม 2547
นายกรัฐมนตรี Vojislave Kostunica ดำรงตำแหน่งเมื่อ 3 มีนาคม 2547
การเมืองการปกครอง
14 ม.ค. 1953 จอมพล Tito ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูโกสลาเวีย
1963 เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Socialist Federal Republic of Yugoslavia
16 พ.ค. 1974 ยูโกสลาเวียออกพระราชบัญญัติระบุให้จอมพล Tito เป็นประธานาธิบดียูโกสลาเวียตลอดชีพ
4 พ.ค. 1980 จอมพล Tito ถึงแก่อสัญกรรม ความแตกแยกระหว่างรัฐต่างๆ ที่ประกอบเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียเริ่มปรากฏ
9 ธ.ค. 1989 Slobodan Milosevic ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
25 มิ.ย. 1991 โครเอเชียและสโลวีเนียประกาศแยกตัว
6 เม.ย. 1991 สงครามระหว่างรัฐบาลบอสเนียและชาวพื้นเมืองเชื้อสายเซิร์บเนื่องจากพยายามแยกตัวเป็นอิสระ
21 พ.ย. 1995 Milosevic ได้ร่วมกับ ประธานาธิบดีโครเอเชีย และบอสเนีย ฯ ลงนามในข้อตกลงสันติภาพ Dayton ภายหลังจากการโจมตีทางอากาศของ NATO
15 ก.ค. 1997 Milosevic ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี
24 ก.ย. 1998 NATO ยื่นคำขาดให้ Milosevic ยุติการสู้รบกับชาวแอลเบเนียนโคโซโวมิเช่นนั้นจะถูกโจมตีทางอากาศ
6 ต.ค. 2000 Milosevic พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อนาย Vojislav Kostunica
7 ต.ค. 2000 นาย Vojislav Kostunica สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
4 ก.พ. 2002 เปลี่ยนชื่อประเทศจาก Federal Peoples Republic of Yugoslavia เป็น Serbia and Montenegro
21 พ.ค. 2006 ประชาชนมอนเตเนโกรได้ลงประชามติให้มอนเตเนโกรเป็นอิสระจากเซอร์เบีย
5 มิ.ย. 2006 เซอร์เบียได้ประกาศการแยกตัวอย่างเป็นทางการระหว่างเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร โดยเซอร์เบียจะเป็นผู้สืบสิทธิ
วิกฤตการณ์ยูโกสลาเวีย
ความแตกแยกของยูโกสลาเวียในปัจจุบันมีที่มาเป็นปัจจัยพื้นฐานหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสั่งสมมานานกว่าพันปีจากการที่สาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งมาร่วมกันเป็นสหพันธ์ฯ มีเชื้อชาติ ศาสนา ความเป็นมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติจึงเป็นปัญหาที่คุกรุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวโครแอท ชาวเซิร์บ และชาวมุสลิม
ในอดีต สโลวีเนียและโครเอเชียเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แห่งราชวงศ์แฮบส์บัวร์ก (Hapsburg Empire) มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ จึงมีความเกี่ยวพันทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และจิตใจกับยุโรปตะวันตก ในขณะที่รัฐทั้งหลายทางตอนใต้ คือ เซอร์เบีย มอนเตนิโกร บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และมาเซโดเนีย เคยอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) มานับพันปี จึงได้รับการหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบบอลข่าน คือ แบบมุสลิมหรือคริสเตียนตะวันออก (Orthodox) ถึงแม้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และมีการก่อตั้ง อาณาจักรเซิร์บ โครแอท และสโลวีน (Kingdom of Serbs, Croates and Slovenes) เป็นประเทศเอกราช โดยมีกษัตริย์ปกครอง แต่เสถียรภาพทางการเมืองภายในยังคงคลอนแคลน เพราะรัฐต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา ยังคงมีความขัดแย้งกันลึกๆ
ในปี 1929 กษัตริย์Aleksandar ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Kingdom of Yugoslavia และปกครองประเทศด้วยนโยบายเด็ดขาด โดยความร่วมมือของทหารตลอดมา จนได้รับขนานนามว่าเป็น Royal Dictatorship เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ประธานาธิบดี Josip Tito สามารถยึดเหนี่ยวรัฐต่างๆ ของยูโกสลาเวียให้รวมกันอยู่ต่อไป ทั้งนี้ โดยใช้นโยบายอันเด็ดขาดกอปรกับอัจฉริยภาพของประธานาธิบดี Tito เอง จนกระทั่งเมื่อประธานาธิบดี Tito ถึงแก่กรรมเมื่อปี 1980 ความแตกแยกระหว่างรัฐทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐยูโกสลาเวียก็เริ่มปรากฏขึ้น และเมื่อนาย Slobodan Milosevic ผู้นำเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยม ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1989 ความขัดแย้งภายในจึงได้ทวีความรุนแรงจนเกิดวิกฤตการณ์ยูโกสลาเวียเดิมประกอบด้วย 6 สาธารณรัฐ กล่าวคือ สาธารณรัฐสโลวีเนีย โครเอเทีย เซอร์เบีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา มอนเตนิโกร และมาซิโดเนีย และมณฑลอิสระโคโซโวและวอยโวดีนา ซึ่งเป็นมณฑลปกครองตนเอง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1991 สาธารณรัฐสโลวีเนียและโครเอเทีย ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวียอีกต่อไป ภายหลังจากการออกเสียงประชามติทั่วประเทศในสาธารณรัฐทั้งสอง การประกาศเป็นเอกราชดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ยูโกสลาเวีย ซึ่งได้ขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา เมื่อสาธารณรัฐมาซิโดเนียและบอสเนีย-เฮอร์ซิโกวีนา ได้ประกาศยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 1991 ตามลำดับ
สถานการณ์ในโคโซโว
โคโซโวเป็นมณฑลอิสระแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของสาธารณรัฐเซอร์เบีย ประกอบด้วยชาวแอลเบเนียร้อยละ 90 จากประชากรจำนวน 2 ล้านคน ในปี 1998 เคยเกิดการสู้รบอย่างรุนแรง ระหว่างกองกำลังชาวโคโซวาร์ เชื้อสายแอลเบเนีย กับกองทัพของเซอร์เบียเมื่อเซอร์เบียประกาศยกเลิกสถานะการปกครองตนเองของโคโซโว การสู้รบขยายตัวไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวแอลเบเนียอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนีย ในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก การสู้รบดังกล่าว ยุติลงเมื่อ NATO ใช้ปฏิบัติการทางทหารกับเซอร์เบีย ในปี 1999 ซึ่งต่อมา NATO ได้ส่งกองกำลัง Kosovo Force (KFOR) เข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในโคโซโว และสหประชาชาติได้จัดตั้งองค์กรบริหารชั่วคราวขึ้นในโคโซโว (UNMIK) อย่างไรก็ดี กล่าวได้ว่า สถานการณ์ในโคโซโวหลังปี 1999 ยังไม่สงบนัก เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนีย กับเชื้อสายเซิร์บอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความตึงเครียดเป็นระยะๆ
การเจรจาระหว่างชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนีย กับเชื้อสายเซิร์บ
เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2006 ได้มีการเจรจาแบบเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่างฝ่ายเซิร์บ และฝ่ายอัลเบเนียนในโคโซโว ที่กรุงเวียนนา เพื่อกำหนดสถานะในอนาคตของโคโซโว โดยเป็นการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางของทั้งสองฝ่าย และมีเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ประสานการเจรจา โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2006 ได้มีการเจรจาระดับสูงระหว่างประธานาธิบดีเซอร์เบียและนายกรัฐมนตรีโคโซโวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องสถานะทางการเมืองที่ถาวรของโคโซโว ฝ่ายเซิร์บยืนกรานให้โคโซโวเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย โดยยินยอมให้อิสระในระดับหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายอัลเบเนียนต้องการอิสรภาพ ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007 นาย Martti Ahtisaari ทูตพิเศษของสหประชาชาติในเรื่องโคโซโวได้เสนอแผนงานเพื่อยุติปัญหาเกี่ยวกับสถานะในอนาคตของโคโซโว ซึ่งระบุว่า โคโซโวจะได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มีธงชาติและเพลงชาติของตนเอง แต่ยังไม่ได้รับอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ ต่อมารัฐสภาเซอร์เบียได้มีมติคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
มอนเตเนโกรลงประชามติแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2549 มอนเตเนโกรได้จัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้รัฐมอนเตเนโกรแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ร้อยละ 55.4 ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 55) ที่สหภาพยุโรปกำหนดที่จะให้การรับรอง โดยมีจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิมากถึง ร้อยละ 86.3 จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 485,000 คน ซึ่งผลการลงประชามติในครั้งนี้ จะทำให้มอนเตเนโกรกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ล่าสุดของโลก และมีแนวโน้มที่มอนเตเนโกรจะได้รับโอกาสในการพัฒนาประเทศและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เซอร์เบียจะเป็นรัฐสืบสิทธิเพียงผู้เดียว สำหรับมอนเตเนโกรนั้น ปัจจุบันได้รับการรับรองจากนานาประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 192 และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ หลายองค์การแล้ว
ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ
GDP 19.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
GDP per capita 2,593 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 5.7
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 12.7
การค้าระหว่างประเทศ 19.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก 6.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการนำเข้า 12.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ สินค้าอุตสาหกรรม อาหาร สัตว์มีชีวิต เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง
ตลาดส่งออกที่สำคัญ บอสเนีย ฯ อิตาลี เยอรมนี มาซิโดเนีย
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าอุตสาหกรรม เชื้อเพลัง น้ำมันหล่อลื่น
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี จีน
ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม ก๊าซ ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเซอร์เบีย |
ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย
1.ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเซอร์เบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 (เมื่อครั้งยังเป็นประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยปัจจุบันเซอร์เบียเป็นผู้สืบสิทธิ) แต่มีความสัมพันธ์กับเซอร์เบียและมอนเตเนโกรมาตั้งแต่ปี 2497 เมื่อครั้งยังเป็นประเทศยูโกสลาเวีย โดยเซอร์เบียฯ ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเซอร์เบีย ณ กรุงจาการ์ตา ดูแลไทย
2. การค้าระหว่างไทย-เซอร์เบียในปี 2549 มีมูลค่ารวม 1.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สถิติเมื่อยังเป็นประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร)
3. ไทยยังไม่มีการจัดทำความตกลงทวิภาคีกับเซอร์เบีย ทั้งนี้ เนื่องจากการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซอร์เบีย เมื่อ 22 เมษายน 2546 ถือเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐที่เกิดใหม่ ดังนั้น ความตกลงที่ไทยเคยทำกับยูโกสลาเวียจึงไม่มีผล
สิงหาคม 2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|