|
|
สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน Republic of Sierra Leone
|
|
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับสาธารณรัฐกินี
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับประเทศไลบีเรีย
ทิศตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 71,740 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง ฟรีดาวน์ (Freetown)
เมืองที่สำคัญ Bonthe, Freetwon, Pepel
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ฝนตกและอากาศร้อน
เดือนธันวาคม-เมษายน อากาศหนาวแห้งแล้ง
ประชากร 6,144,562 คน (กรกฎาคม 2550)
เชื้อชาติ ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ประมาณ 20 เผ่า ชนเผ่าใหญ่และสำคัญคือ เผ่า Temnes และ Mendes
ศาสนา มสุลิม 60% ความเชื้อดั้งเดิม 30% คริสเตียน 10%
ภาษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาพื้นเมืองที่สำคัญ คือ Mende, Temme, Krio
รูปแบบการปกครอง สาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล
สถาบันการเมือง
ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Ahmad Tejan Kabbah เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2545 คณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว (Unicameral) สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิก 124 ที่นั่ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ ศาลฏีกา ศาลอาญา
ประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาล Ahmad Tejan Kabbah Solomon Berewa
รัฐมนตรีต่างประเทศ Alhaji Mr. Momodu Koroma
วันชาติ 27 เมษายน 2504 (วันที่ได้รับเอกราช)
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมระหว่างประเทศ 1,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.1 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 9.7 (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 246 เหรียญสหรัฐ (2549)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เพชร ไทแทเนียม บ็อกไซด์ ทองคำ โครไมต์
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ข้าว กาแฟ โกโก้ น้ำมันปาล์ม ถั่วลิสง สัตว์ปีก หมู ปลา แกะ กระบือ ควาย
อุตสาหกรรมที่สำคัญ เหมืองเพชร และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลั่นน้ำมัน การซ่อมแซมเรือ
หนี้สินต่างประเทศ 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
เงินตราสำรอง 183.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการค้า ขาดดุล 98.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการส่งออก 252.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการนำเข้า 405.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
สินค้าออก เพชร โกโก้ กาแฟ ปลา
สินค้าเข้า อาหารสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ เชื้อเพลิงน้ำมันหล่อลื่น เคมีภัณฑ์
ประเทศคู่ค่าที่สำคัญ
สินค้าออกเบลเยี่ยม(ร้อยละ 65.8) เยอรมัน(ร้อยละ 13.4) สหรัฐฯ(ร้อยละ 4.6)(2548)
สินค้าเข้าเยอรมัน(ร้อยละ 18.7) โกตดิวัวร์(ร้อยละ 11) อังกฤษ(ร้อยละ 8.4) สหรัฐฯ(ร้อยละ 6.8) จีน(ร้อยละ 5.5) เนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 5.3) (2548)
สกุลเงิน เงินลีโอน (Leone) 1 Leone (le) = 100 Cents
อัตราแลกเปลี่ยน 2,962.0 Leones เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
การเมืองการปกครอง
เซียร์ราลีโอนปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและรัฐบาลอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย Ahmad Tejan Kabbah ซึ่งมีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2545 การเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 เซียร์ราลีโอนมีสภาเดี่ยว ประกอบด้วย 124 ที่นั่ง โดย 112 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี สำหรับอีก 12 ที่นั่งจะเป็นการแต่งตั้งโดยหัวหน้าสูงสุดของเขตบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 12 เขตในประเทศ
อังกฤษได้จัดตั้งเมืองแห่งสันติภาพบนดินแดนเซียร์ราลีโอน เมื่อปี 2330 เพื่อเป็นที่อพยพของอดีตทาสผิวดำของอังกฤษ และทหารผ่านศึกของอังกฤษจากสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ในปี 2350 เซียร์ราลีโอนตกเป็นอาณานิคมและฐานทัพเรือของอังกฤษในการปราบปรามการค้าทาส ซึ่งทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในกรุง Freetown สืบเชื้อสายมาจากทาสที่ได้รับการปลดปล่อยก่อนที่จะถูกส่งไปยังอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากไนจีเรีย และแองโกลา
เซียร์ราลีโอนได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2504 และมีการปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียว ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Siaka Stevens ระหว่างปี 2511-2528 โดยรัฐบาลได้แสวงหาประโยชน์จากการทำเหมืองเพชรที่มีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการคอรัปชั่น การแสวงหาประโยชน์ และการบังคับใช้แรงงานในเหมืองเพชร ได้ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน
ในปี 2534 กลุ่มเยาวชนหัวรุนแรง และผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในเหมืองเพชร ได้ลุกฮือขึ้นจัดตั้งกลุ่มกบฏ RUF (Revolutionary United Front) โดยได้รับการสนับสนุนจากนาย Charles Taylor ผู้นำไลบีเรีย กลุ่ม RUF ได้ทำการสู้รบต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทหาร (Armed Forces Revolutionary Council AFRC) และฝ่ายรัฐบาลพลเรือน (Sierra Leone Peoples Party
- SLPP) ซึ่งจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธจนเกิดเป็นการสู้รบสามเส้ายืดเยื้อยาวนาน
นานาชาติได้พยายามเข้ามาส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมือง โดยในปี 2541 กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก Economic Community of West African States (ECOWAS) ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ Economic of West African States Cease-fire Monitoring Group (ECOMOG) นำโดยกองกำลังไนจีเรีย ไปยังเซียร์ราลีโอน เพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2542 สหประชาชาติได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ United Nation Mission in Sierra Leone (UNAMSIL) เข้าปฏิบัติการรักษาสันติภาพจนส่งผลให้สงครามกลางเมืองยุติลงในปี 2544 และมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2545
ปัจจุบัน แม้ว่าเซียร์ราลีโอนจะพ้นจากภาวะสงครามกลางเมือง แต่สหประชาชาติยังคงจัดตั้งหน่วยงาน United Nations Integrated Office in Sierra Leone (UNIOSIL) เพื่อปฏิบัติหน้าที่การบูรณาการด้านต่าง ๆ ในเซียร์ราลีโอน รวมทั้งจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อเซียร์ราลีโอน และควบคุมการส่งออกเพชรจากเซียร์ราลีโอน (Kimberly Process) เพื่อป้องกันการส่งออกเพชรผิดกฎหมายและนำเงินมาสนับสนุนสงคราม
นโยบายต่างประเทศ
เซียร์ราลีโอนมีนโยบายต่างประเทศสายกลางเอนเอียงมาทางโลกตะวันตก ในขณะเดียวกันก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และประเทศในยุโรปตะวันออก เป็นสมาชิกที่แข็งขันขององค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) และมีสัมพันธภาพที่ดีกับไนจีเรียและคองโก นอกจากนี้ เซียร์ราลีโอนยังเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) รวมทั้ง ACP, African Development Bank, African States Associated with the EU (Lome Convention), Arab Bank for Economic Development in Africa, Commonwealth, Economic Commission for Africa, ECOWAS, IAEA, IDA, IFAD, IFC, ILO, IMF, Islamic Conference, Islamic Development Bank, Mano River Union, NAM, OIC, UNICEF, WHO, World Bank และ WTO
เศรษฐกิจและสังคม
เซียร์ราลีโอนมีแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรทางบกและทางทะเลอุดมสมบูรณ์ แร่ธาตุที่สำคัญคือเพชรและบ๊อกไซด์ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ ปัญหาสังคมและสงครามทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจชะงักงัน
ประชากรของเซียร์ราลีโอน จำนวน 2 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีมูลค่าประมาณร้อยละ 51 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในปี 2545 เซียร์ราลีโอนผลักดันยุทธศาสตร์การฟื้นฟูแห่งชาติ (The National Recovery Strategy - NRS) และได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากต่างชาติจำนวนมาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางกรอบนโยบายเศรษฐกิจหลังสงครามกลางเมือง แผนดังกล่าวเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารตั้งแต่ข้าราชการรัฐบาล ตำรวจ และศาลยุติธรรม 2. การปรับปรุงโครงสร้างสังคมตั้งแต่การตั้งรกรากใหม่ของประชากร และปรับปรุงการบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภค 3. การสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการก่อตั้งศาลพิเศษเพื่อเซียร์ราลีโอน 4. การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาเกษตรกรรม เหมืองแร่ และปรับปรุงสาธารณูปโภค
ปัจจุบันเซียร์ราลีโอนมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เซียร์ราลีโอนยังประสบปัญหาการว่างงานในอัตราสูงโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและทหารเก่า รวมทั้งภาครัฐมีการปฏิรูประบบราชการและรัฐวิสาหกิจล่าช้า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยและเซียร์ราลีโอนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2526 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมเซียร์ราลีโอน ในขณะที่ฝ่ายเซียร์ราลีโอนได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นาย Sahr Ermaco Johnny
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ไทย-เซียร์ราลีโอน ค่อนข้างห่างเหินอันเนื่องมาจากสภาวะสงครามกลางเมืองของเซียร์ราลีโอน อย่างไรก็ตาม ไทยได้ให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเซียร์ราลีโอน โดยส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ(UNAMSIL) และได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศาลพิเศษเพื่อเซียร์ราลีโอน จำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นับแต่ปี 2548 ซึ่งรัฐบาลไทยกำหนดให้เป็นปีแอฟริกา ได้มีการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงของไทยและเซียร์ราลีโอน ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ คือ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาย Momodu Koroma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซียร์ราลีโอน ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนาย Momodu Koroma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างงาน Festival dAssilah ที่เมือง Assilah ประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2548 ซึ่งฝ่ายเซียร์ราลีโอนได้แสดงความประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทย และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากไทยในการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยกับเซียร์ราลีโอนยังมีมูลค่าไม่มากนัก เนื่องจากระยะทางห่างไกลกัน ในปี 2549 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับเซียร์ราลีโอนเป็นมูลค่า 400.7 ล้านบาท ไทยส่งออกไป เซียร์ราลีโอนเป็นมูลค่า 374.6 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากเซียร์ราลีโอนเป็นมูลค่า 16.1 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 368.4 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปเซียร์ราลีโอน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ข้าว 2. ผลิตภัณฑ์พลาสติก 3. ปลาแห้ง 4. เม็ดพลาสติก 5. ผลิตภัณฑ์ยาง 6. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7. ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว 8. สิ่งปรุงรสอาหาร 9. แผงวงจรไฟฟ้า 10. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเซียร์ราลีโอน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 2. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 3. แผงวงจรไฟฟ้า 4.เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 5.ธุรกรรมพิเศษ 6. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 7.สิ่งพิมพ์ 8. เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน 9. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 10. เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬา และเครื่องเล่นเกม
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกัน
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ในชั้นนี้ ยังไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย
การเยือนที่สำคัญ
ในชั้นนี้ ยังไม่มีการเยือนระหว่างกัน
การค้าระหว่างไทย - เซียร์ราลีโอน ดูเอกสารแนบ
มิถุนายน 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|