|
แผนที่
|
สาธารณรัฐสิงคโปร์ Republic of Singapore
|
|
เมืองหลวง สิงคโปร์
พื้นที่ ประกอบด้วยเกาะสิงคโปร์และเกาะใหญ่น้อยบริเวณใกล้เคียง 63 เกาะ มีพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 682.7 ตารางกิโลเมตร (ประมาณเกาะภูเก็ต) เกาะสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวจากทิศตะวันตกไปตะวันออกประมาณ 42 กิโลเมตร และความกว้างจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ประมาณ 23 กิโลเมตร
ประชากร 4.35 ล้านคน (2548)
ศาสนา พุทธ (42.5%) อิสลาม (14.9%) คริสต์ (14.5%) ฮินดู (4%) ไม่นับถือศาสนา (25%)
เชื้อชาติ ประกอบด้วยชาวจีน (76.5%) ชาวมาเลย์ (13.8%) ชาวอินเดีย (8.1%) และอื่น ๆ (1.6%)
ภาษา อังกฤษ มาลายู จีนกลาง ทมิฬ (มาลายูเป็นภาษาประจำชาติ อังกฤษเป็นภาษาราชการ)
รูปแบบการปกครอง สาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
-ประธานาธิบดี นายเอส อาร์ นาธาน (S R Nathan) (ดำรงตำแหน่งสองสมัยตั้งแต่ 1 กันยายน 2542 -ปัจจุบัน)
- นายกรัฐมนตรี นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) (12 สิงหาคม 2547)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจอร์จ เยียว (George Yeo) (12 สิงหาคม 2547)
วันชาติ 9 สิงหาคม (แยกตัวจากสหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508)
เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน 8 สิงหาคม 2510
เงินตรา ดอลลาร์สิงคโปร์
อัตราแลกเปลี่ยน 24.30 บาท/1 ดอลลาร์สิงคโปร์ (มิถุนายน 2549) 1 ดอลลาร์สิงคโปร์/1.64 ดอลลาร์สหรัฐ (มิถุนายน 2549)
GDP 117,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2547)
GDP Growth ร้อยละ 6.4 (2548) ร้อยละ 5-7 (ประมาณการของปี 2549)
GDP per capita 26,907.2 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.5 (2548)
อัตราว่างงาน ร้อยละ 3.4 (2548)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 116,627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)
ภาคการผลิต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชีวศาสตร์การแพทย์วิศวกรรมเครื่องมือวัด (precision engineering) วิศวกรรมขนส่ง (transport engineering) และ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าทั่วไป (general manufacturing industries)
ภาคบริการ อุตสาหกรรมบริการทางสายอาชีพและการบริการสำนักงานในส่วนภูมิภาค การบริการข้อมูลและการสื่อสาร logistics การบริการทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม การธนาคาร การศึกษาและการบริการทางชีวศาสตร์การแพทย์
การค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 429.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ มาเลเซีย สหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย
สินค้าส่งออก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษ กระดาษแข็ง
สินค้านำเข้า เครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตรและอาหาร น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
สิงคโปร์มีเสถียรภาพและความต่อเนื่องทางการเมืองโดยมีรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Peoples Action Party (PAP) มาโดยตลอดนับตั้งแต่แยกตัวออกจากมาเลเซียเมื่อปี 2508 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 นายลี เซียน ลุง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานธนาคารกลาง (บุตรของนายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์)ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามของสิงคโปร์ สืบแทนนายโก๊ะ จ๊ก ตง (ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 นายเอส อาร์ นาธาน ครบวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์สมัยแรก (นายนาธานอายุ 81 ปี เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสิงคโปร์ แต่เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง) เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่สองเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 [ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2548 คณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี (Presidential Elections Committee) ได้ประกาศว่า นายนาธานได้เป็นประธานาธิบดี โดยอัตโนมัตเนื่องจากผู้สมัครแข่งขันคนอื่นขาดคุณสมบัติ ]
การเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 สิงคโปร์ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในเดือนพฤศจิกายนปี 2550 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่นายลี เซียน ลุง เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นครั้งที่ 13 นับตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวออกจากสหพันธ์รัฐมาลายาเมื่อปี 2508 ซึ่งพรรคกิจประชาชน (Peoples Action Party PAP) ภายใต้การนำของนายลี เซียน ลุง ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยมีสมาชิกของพรรค PAP ได้รับเลือกตั้งจำนวน 82 ที่นั่งจากทั้งหมด 84 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (ด้วยจำนวนคะแนนเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด ร้อยละ 66.6) สำหรับอีก 2 ที่นั่งเป็นของพรรค Workers Party (WP) และ Singapore Democratic Alliance (SDA)
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองรวม 4 พรรคส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ได้แก่ พรรค Peoples Action Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านอีก 3 พรรค ประกอบด้วย (1) พรรค Workers Party (WP) ก่อตั้งเมื่อปี 2500 ภายใต้การนำของนาย Low Thia Kiang (2) พรรค Singapore Democratic Alliance (SDA) ก่อตั้งเมื่อปี 2544 และเป็นการรวมตัวของหลายพรรคการเมืองได้แก่ National Solidarity Party (NSP), Singapore Malay National Organization (PKMS), Singapore Peoples Party (SPP) และ Singapore Justice Party ภายใต้การนำของนาย Chiam See Tong (3) พรรค Singapore Democratic Party (SDP) ก่อตั้งเมื่อปี 2523 โดยมีนาย Chee Soo Juan เป็นเลขาธิการ
การเลือกตั้งของสิงคโปร์ประกอบด้วยเขตเลือกตั้งผู้แทนเดียว (Single Member Constituency SMC) จำนวน 9 เขต และเขตเลือกตั้งกลุ่มผู้แทน (Group Representation Constituency GRC) จำนวน 14 เขต ซึ่งพรรค PAP ได้ส่งผู้ลงสมัครในทุกเขต ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ส่งผู้สมัครในเขต SMC จำนวน 9 เขต และเขต GRC จำนวน 7 เขต รวม 47 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
มีชาวสิงคโปร์ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 1.2 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 4 ล้านคน โดยมีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 94.01 ทั้งนี้ ร้อยละ 40 เป็นผู้ที่เกิดหลังปี 2508 ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์ได้ประกาศเอกราช นอกจากนี้ เป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนอกประเทศในสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่จำนวน 8 แห่ง (กรุงวอชิงตัน นครซานฟรานซิสโก กรุงโตเกียว กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองฮ่องกง กรุงแคนเบอร์รา และกรุงลอนดอน)
การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2549
คณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากคณะรัฐมนตรีชุดก่อนและยังคงดำรงตำแหน่งเดิมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตำแหน่งหลัก อาทิ นายโก๊ะ จ๊ก ตง เป็นรัฐมนตรีอาวุโส นายลี กวน ยู เป็นรัฐมนตรีที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมาย และรัฐมนตรีประสานงานกิจการด้านความมั่นคงแห่งชาติ นายจอร์จ เยียว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเตียว ชี เฮียน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่ไม่ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีก ได้แก่ นายเยียว เชียว ตง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นโยบาย
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2548 นายลี เซียน ลุงได้กล่าวถ้อยแถลงต่อประชาชนในโอกาสวันชาติสิงคโปร์ (National Day Rally Speech) โดยได้ระบุถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศและการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยในด้านการต่างประเทศนั้น สิงคโปร์จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน (โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย) รวมทั้งกับประเทศมหาอำนาจสำคัญๆ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรปและออสเตรเลีย นอกจากนั้น จะให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย สำหรับนโยบายภายในประเทศ สิงคโปร์จะมุ่งเน้นเรื่องการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก (remake Singapore) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรม การประกอบการ การวิจัยและการพัฒนา (innovation, enterprise and R&D) สำหรับด้านสังคม จะให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชน การดูแลคนชราและผู้ที่มีรายได้ต่ำ รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านบริการเพื่อให้สิงคโปร์มีลักษณะของเมืองที่มีความเป็นสากล
การเปิดกว้างทางสังคม
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ย้ำในหลายโอกาสว่าประสงค์ที่จะพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้น (a more transparent and open society) โดยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงค่านิยมที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของประเทศ (อาทิ การเป็นพหุสังคมที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา) มากกว่าการนำระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยของตะวันตกมาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองสิงคโปร์เห็นว่าประเด็นเรื่องศาสนาและความแตกต่างทางเชื้อชาติเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนในสังคมสิงคโปร์
นโยบายด้านเศรษฐกิจ
สิงคโปร์ต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายสำคัญสามประการ ได้แก่ การแข่งขันจากประเทศในภูมิภาค การมีประชากรสูงอายุในจำนวนเพิ่มขึ้นขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลง และการปรับโครงสร้างในภาคการผลิต ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก
เมื่อเดือนตุลาคม 2548 นายลิม อึง เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้แถลงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม (manufacturing) (ซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ใน 15 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนาจากร้อยละ 2.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นร้อยละ 3 โดยเน้น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (biomedical sciences) เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและน้ำ (environmental and water technologies) และสื่อดิจิตัล (interactive and digital media) (2) ส่งเสริมการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ความตกลงเพื่อส่งเสริมการลงทุน ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและความตกลงการรับรองมาตรฐานร่วม เพื่อขยายช่องทางทางการค้าและการลงทุนให้กับภาคเอกชนสิงคโปร์ (3) ขยายการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และพัฒนาสาขาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อาทิ นาโนเทคโนโลยี สื่อดิจิตัล เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน และ (4) ขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ๆ อาทิ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ซึ่งมีบริษัท Government Investment Corporation (GIC) และ Temasek Holdings ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นมีบทบาทสำคัญในการขยายตลาดดังกล่าว
สถานะการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ในปี 2548 ธนาคารโลกได้จัดให้สิงคโปร์อยู่ในลำดับหนึ่งของประเทศในภูมิภาคเอเชียและลำดับ 2 ของโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและจัดตั้งธุรกิจสูงที่สุด ปัจจัยที่สนับสนุนสภาพแวดล้อมดังกล่าว ได้แก่ อัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำ ระบบราชการอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ และความโปร่งใสของระบบราชการ (ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของบรรษัทข้ามชาติประมาณ 7,000 แห่งจากสหรัฐ ฯ ยุโรปและญี่ปุ่น วิสาหกิจจำนวน 4,000 แห่งจากจีน อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 100,000 แห่ง)
ในปี 2548 สถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นลำดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐ ฯ และฮ่องกงตามลำดับ โดยประเมินจากปัจจัย 4 ด้านได้แก่ ประสิทธิภาพของภาครัฐบาล ประสิทธิภาพของภาคเอกชน สภาวะทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาของโลกได้เปิดสำนักงานภูมิภาคในเอเชียเป็นแห่งแรกที่สิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในกฎระเบียบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อสิงคโปร์
สถานะเสรีภาพของสื่อมวลชน
ในรายงานประจำปี 2548 ขององค์กรเอกชน Reporters Without Borders เกี่ยวกับดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชน (Press Freedom Index) ของ 167 ประเทศทั่วโลกได้จัดให้สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 140 ซึ่งต่ำกว่าประเทศสมาชิกก่อตั้งอาเซียนอีก 4 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย (ลำดับ 102) ไทย (ลำดับ 107) และมาเลเซีย (ลำดับ 113)
สถานะความโปร่งใสของรัฐบาล
ในปี 2548 สถาบัน Transparency International ได้จัดให้สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 5 จาก 158 ประเทศทั่วโลกที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงน้อยที่สุด (นายโก๊ะ จ๊ก ตง รัฐมนตรีอาวุโสได้ให้ความเห็นว่าแม้สิงคโปร์จะมีระดับเสรีภาพของสื่อมวลชนต่ำ แต่รัฐบาลมีความโปร่งใสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น การมีเสรีภาพทางสื่อไม่ได้ช่วยส่งผลให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ มีระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสเสมอไป)
สภาวะเศรษฐกิจในปี 2548
ในปี 2548 เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.4 [อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2545 ร้อยละ 2.2 ปี 2546 ร้อยละ 1.1 และ ปี 2547 ร้อยละ 8.4 ตามลำดับ] ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป รวมทั้งอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก แม้น้ำมันโลกมีราคาสูงขึ้น แต่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของสิงคโปร์ยังคงมีการขยายตัวอันส่งผลให้อุปสงค์ในสินค้าของสิงคโปร์ยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2549 เป็นที่คาดว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์จะสามารถขยายตัวในร้อยละ 5-7
การค้าระหว่างประเทศ
ในปี 2548 การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราร้อยละ 15.5 มีมูลค่ารวม 429.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของสิงคโปร์ ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย ตามลำดับ
สิงคโปร์ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ 11 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน(ในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน) นิวซีแลนด์เมื่อปี 2543 สมาคมเขตการค้าเสรียุโรปเมื่อปี 2545 ญี่ปุ่นเมื่อปี 2545 ออสเตรเลียและสหรัฐ ฯ เมื่อปี 2546 จอร์แดนเมื่อปี 2547 Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (บรูไน ดารุสซาลาม นิวซีแลนด์ ชิลีและสิงคโปร์) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 อินเดียเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 และปานามาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา กับอีก 16 ประเทศ ได้แก่ กรอบอาเซียนกับจีน อาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อาเซียนกับอินเดีย อาเซียนกับญี่ปุ่น อาเซียนกับเกาหลีใต้ แคนาดา เม็กซิโก ศรีลังกา ปากีสถาน ปานามา เปรู คูเวต อียิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์ [ข้อมูลจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์]
การพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า อาทิ เวียดนาม จีนและอินเดีย รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ (knowledge - based economy) และดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้แก่ (1) ด้านการบริการทางการแพทย์ สิงคโปร์มีโครงการ SingaporeMedicine ส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ ซึ่งมุ่งเน้นตลาดในจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง (2) ด้านการบิน สิงคโปร์มีเป้าหมายจะรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคโดยอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารหลังที่สาม (Terminal 3) ของท่าอากาศยานชางงีในมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2551 และอาคารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำในมูลค่า 45 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2549 ซึ่งคาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวน 2.7 ล้านคนต่อปี (3) ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณในมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อสนับสนุนแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ใน 10 ปีข้างหน้า (Tourism Master Plan 2015) เพื่อเสริมสร้างให้สิงคโปร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 8 ล้านคน ในปี 2547 เป็น 17 ล้านคนในปี 2558 และรายได้จาก 10 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็น 30 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้แถลงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะสร้างบ่อนการพนันในรูปแบบของ Integrated Resort - IR จำนวน 2 แห่งที่บริเวณอ่าว Marina ซึ่งใกล้กับย่านธุรกิจของสิงคโปร์ และบนเกาะ Sentosa ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2552 (รายงานการศึกษาของบริษัท Merrill Lynch ระบุว่าบ่อนการพนัน 2 แห่งดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้สิงคโปร์ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละ 10) การรณรงค์การท่องเที่ยวโดยเน้นจุดเด่นของสิงคโปร์ในการเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม Uniquely Singapore (4) ด้านการศึกษา สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (global schoolhouse) ตั้งแต่ปี 2541 Economic Development Board (EDB) ได้จัดทำโครงการ World Class University (WCU) เพื่อเชิญชวนและดึงดูดให้สถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกในสาขาต่าง ๆ อาทิ บริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์มาจัดตั้งสาขาในสิงคโปร์ สิงคโปร์ได้ร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากกว่า 10 แห่ง อาทิ Massachusetts Institute of Technology, University of Pennsylvania, University of Chicago และ INSEAD เปิดสาขาที่สิงคโปร์ ในหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์การแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ (5) ด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creative industries) รัฐบาลจะใช้งบประมาณจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ระหว่างปี 2547 2552 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ตามยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระทรวงข่าวสาร สารสนเทศและศิลปะเป็นหน่วยงานหลักดูแลเรื่องนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสิงคโปร์ |
ด้านการทูต
ไทยและสิงคโปร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ความสัมพันธ์ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่นมาตลอด 40 ปี และได้พัฒนาไปเป็นลักษณะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ในการดำเนินการเชิงรุกในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อาทิ การเร่งรัดรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแนวทาง 2+X และความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า)
ไทยและสิงคโปร์มีจุดแข็งและมีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นอย่างดี ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่น้อย แต่มีความก้าวหน้าทางด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระดับสูง จึงได้มีการนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาใช้ร่วมกันจนนำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์และการพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน นายเฉลิมพล ทันจิตต์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์และนายปีเตอร์ ชาน เจ่อ ฮิง (Peter Chan Jer Hing) เป็นเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยคนใหม่แทนนายชาน เฮง วิง (Chan Heng Wing) [ นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 ขณะที่นายปีเตอร์ ชานได้เดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ]
ด้านการเมืองและความมั่นคง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ (เนื่องจากมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนและประเด็นระหว่างประเทศที่คล้ายกัน) เสถียรภาพทางการเมืองของทั้งสองประเทศซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความต่อเนื่องทางนโยบายและความร่วมมือระหว่างกัน
ไทยกับสิงคโปร์มีกลไกความร่วมมือทวิภาคี ได้แก่
(1) การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์(Prime Ministerial Retreat) เป็นผลจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ในระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความคุ้นเคยระดับผู้นำและรัฐมนตรีของไทยกับสิงคโปร์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ/เป็นห่วงร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา การประชุม Prime Ministerial Retreat ได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2546 ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5-7 กันยายน 2546 ที่เกาะ Sentosa สิงคโปร์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 กันยายน 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่
(2) คณะกรรมาธิการบริหารร่วมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกองทัพไทย-สิงคโปร์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกและการซ้อมรบร่วมกัน โดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึกและมีการฝึกบุคลากรทหารร่วมกัน อาทิ การฝึกร่วมผสม (Cobra Gold) รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ อาทิ พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับเชิญให้ไปร่วมสังเกตการณ์ปฏิบัติการการรับมือกับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สถานีรถไฟใต้ดินของสิงคโปร์ภายใต้รหัส Exercise Northstar เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์จากการก่อวินาศกรรมที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 และศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคงเยือนไทยเพื่อแนะนำตัวเมื่อวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2549
ด้านเศรษฐกิจ
ด้านการค้า สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย (รองจากสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น และจีน) ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 7 ของสิงคโปร์ ในปี 2548 การค้ารวมระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่า 12,881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์มีมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 5379.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 2,120.8 ล้านดอลลร์สหรัฐ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2545-2548) มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ปี 2546-2547 มูลค่าลดลงร้อยละ 16.5) น้ำมันสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.7) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7) และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3) ตามลำดับ[ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์]
ด้านการลงทุน สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 6 (รองจากญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์) ในปี 2548 สิงคโปร์ได้ยื่นโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 82 โครงการแก่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการอนุมัติ 69 โครงการในมูลค่า 14,421.5 ล้านบาท (ปี 2547 มีมูลค่า 18,238.6 ล้านบาท) ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการ การโรงแรม การขนส่ง การให้บริการทางการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร พร้อมทั้ง มีความสนใจที่จะลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตยา และอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมุมมองของสิงคโปร์ การลงทุนของสิงคโปร์ในไทยยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนรวมของสิงคโปร์ในต่างประเทศ ประเทศที่สิงคโปร์ไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ด้านการท่องเที่ยว ชาวสิงคโปร์มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยและคนไทย ในเดือนมกราคม-กันยายนปี 2548 มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 450,836 (มีสัดส่วนร้อยละ 5.48 ของตลาดการท่องเที่ยวไทย) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ในจำนวน 398,438 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปสิงคโปร์จำนวน 379,000 คน (ปี 2548) (ในปี 2548 สิงคโปร์รับนักท่องเที่ยวจำนวน 8.9 ล้านคน ซึ่งได้นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 10.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)[ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ ]
กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่
Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอุตสาหกรรม 5 สาขา ได้แก่ การเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว การบริการทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และการขนส่ง และเป็นการนำร่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนตามแนวทาง 2+X สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม STEER ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25-27 สิงหาคม 2546
ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม STEER ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่ง เห็นชอบให้เพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามเป็น 2 เท่าของตัวเลขในปัจจุบันภายในปี 2553 และส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าอาหารและเกษตร การขนส่งและโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจจำนวน 12 ฉบับ อาทิ ความตกลงเพื่อการคุ้มครองด้านการลงทุนระหว่างไทยกับสิงคโปร์
ด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา
กลไกความร่วมมือ ได้แก่
(1) โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Thailand-Singapore Civil Service Exchange Programme-CSEP)ซึ่งตั้งเมื่อปี 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้หน่วยราชการไทยและสิงคโปร์มีโอกาสพบปะอย่างใกล้ชิดและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความใกล้ชิดและความเป็น หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างกันมากขึ้นจนนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่ดีต่อไป รูปแบบของการประชุมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมกล่าวเปิดการประชุมและปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานการประชุมเต็มคณะ ในปัจจุบันไทยกับสิงคโปร์มี 12 สาขาความร่วมมือภายใต้ CSEP อาทิ การศึกษา แรงงาน วิชาการ สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี CSEP ได้มีการประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง ล่าสุดที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -2 สิงหาคม 2548
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
สิงคโปร์ได้เป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยต่อกรณีพิบัติภัยที่ภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2547 โดยได้ส่งเครื่องบิน C -130 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยจำนวน 23 คนจาก Singapore Civil Service Defence Force และยาเวชภัณฑ์ ผ้าห่ม อาหารแห้ง รวม 13 ตัน รวมทั้ง ส่งเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ (Super Pumas 2 ลำ Chinooks 2 ลำ) เพื่อช่วยค้นหาและกู้ภัย รวมทั้งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านชันสูตรศพจำนวน 4 คน ไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 สิงคโปร์ได้ให้ความช่วยเหลือในรูปสิ่งของแก่ผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ รวมมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ Chinook ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ซึ่งฝึกบินในประเทศไทยให้ความช่วยเหลือในภารกิจกู้ภัยที่จังหวัดพิษณุโลก
การเยือนระดับสูง
ฝ่ายไทย
(1) พระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2493 2494 และ 2505
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2542
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อทรงทำการบิน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2547
- เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2547
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-17 เมษายน 2543 และวันที่ 22-25 มิถุนายน 2543
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตัน Cheers Asian Satellite Badminton Championships 2005 ระหว่างวันที่ 5-11 กันยายน 2548
(2) รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2544
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 (Prime Ministerial Retreat) ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2546 และร่วมพิธีเปิดสำนักงานเลขาธิการเอเปค
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2545
- เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในพิธีเปิดการประชุมระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 5 (Civil Service Exchange Programme CSEP) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2545
- เยือน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2546
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย)
- เยือนในภารกิจการสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2548
รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
- เยือนเพื่อร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ภายใต้กรอบ Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2546
ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายโภคิน พลกุล)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกันตธีร์ ศุภมงคล)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2548
- เข้าร่วมการประชุมระหว่างภูมิภาคเอเชีย-ตะวันออกกลาง (Asia-Middle East Dialogue - AMED) ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2548
- เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในพิธีเปิดการประชุมระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2548
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์)
- เยือนเพื่อหารือข้อราชการกับศาสตราจรย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคงสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง)
- เยือนเพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการศึกษาตามคำเชิญชองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2549
ฝ่ายสิงคโปร์
ประธานาธิบดี (นาย เอส อาร์ นาธาน)
- เยือนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2548
นายกรัฐมนตรี (นายลี เซียน ลุง)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2547
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่
รัฐมนตรีที่ปรึกษา (นายลี กวน ยู) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส
- เยือนอย่างเป็นทางการในโอกาสกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thammasat Business School International Forum 2003 ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2546
รัฐมนตรีที่ปรึกษา (นายลี กวน ยู)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2547
รัฐมนตรีอาวุโส (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2546
- เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนและผู้นำอาเซียน-จีนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546
- เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11
รัฐมนตรีอาวุโส (นายโก๊ะ จ๊ก ตง)
- เข้าร่วมการประชุม Asian Corporate Conference ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายจอรจ์ เยียว)
- เยือนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547
รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคง (ศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์)
- เยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุม 2nd ASEAN Charter Meeting และเพื่อแนะนำตัว ระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2549
--------------------
คลิ๊กตัวอักษรสีดำเพื่อเข้าสู่เว็บไซด์ต่าง ๆ
ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์
สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์
การท่องเที่ยวสิงคโปร์
ศูนย์ข้อมูลสิงคโปร์กรมสถิติสิงคโปร์
8 มิถุนายน 2549
เรียบเรียงโดย กองเอเชียตะวันออก 1 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5195-6 Fax. 0-2643-5197
|
|