|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ตูนิเซีย Republic of Tunisia
|
|
ชื่อทางการ : Republic of Tunisia
พื้นที่ : 154,530 ตารางกิโลเมตร
ประชากร : 10,276,158 คน (ประมาณการ กรกฎาคม 2550) ประกอบด้วยชนอาหรับ 97% บาร์เบอร์ 3%
ศาสนา : มุสลิมสุนหนี่ 98% คริส ยิว และอื่นๆ 2%
ได้รับเอกราช : ในปี 2499 จากฝรั่งเศส
ภาษาราชการ : อาหรับและฝรั่งเศส
ประธานาธิบดี : Zine El Abidine BEN ALI เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2530
นายกรัฐมนตรี : Mohammed GHANNOUCHI รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542
รัฐมนตรีต่างประเทศ : Mr. Abdelwahab Abdallah รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548
การปกครอง : ระบอบรัฐสภา ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง
รายได้ประชาชาติ (GDP) : 29.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 2,837 ดอลล่าร์สหรัฐ (2548)
ภาคอุตสาหกรรม : ปิโตรเลียม เหมืองแร่(ฟอสเฟตและแร่เหล็ก) การท่องเที่ยว สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม
ผลผลิตทางการเกษตร : มะกอก ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม มะเขือเทศ ส้ม เนื้อวัว น้ำตาลทราย อินทะผาลัม อัลมอนด์
อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.2 %(ประมาณการ 2549)
หนี้ต่างประเทศ : 18.4 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณการ 2549)
สินค้าออกสำคัญ : ไฮโดรคาบอน สิ่งทอ ผลิตผลการเกษตร ฟอสเฟต เคมีภัณฑ์
สินค้าเข้าสำคัญ : สินค้าอุตสาหกรรม ไฮโดรคาบอน อาหาร เครื่องบริโภค
ดุลการค้า: ขาดดุล 0.6 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณการ 2549)
หน่วยเงินตรา ตูนิเซียดินาร์ (Tunisian Dinar) อัตราแลกเปลี่ยน 1.33 ตูนิเซียดินาร์ เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.03 ตูนิเซียดินาร์ เท่ากับ 1 บาท
การเมืองการปกครอง
ตูนิเซียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) หรือ Majlis al-Nuwaab มีสมาชิก 189 คน โดยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง 152 คน และอีก 37 คน เป็นการจัดแบ่งให้พรรคฝ่ายค้าน มีวาระสมัยละ 5 ปี และมีสภาที่ปรึกษา (Chamber of Advisors) มีสมาชิก 126 คน โดย 85 คนได้รับเลือกจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 41 คน มีวาระคราวละ 6 ปี
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของตูนิเซียเริ่มประกาศใช้เมื่อปี 2502 และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง
- ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 เพื่อกำหนดจำนวนวาระในการเป็นประธานาธิบดีเป็น 3 วาระ ก่อนหน้านี้ไม่มีการกำหนดจำนวนวาระ
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2545 เพื่อยกเลิกการกำหนดจำนวนวาระการเป็นประธานาธิบดี และขยายการจำกัดอายุของผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึง 75 ปี ในโอกาสนี้ได้มีการตั้งระบบ 2 สภาขึ้นอีกด้วย
ประธานาธิบดีดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปีเช่นเดียวกับสมาชิกสภา ประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Zine El Abidine Ben Ali เข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Habib Bourguiba เมื่อปี 2530 หลังจากคณะแพทย์ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นในสมัยที่พลเอก Ben Ali ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ลงความเห็นว่าประธานาธิบดี Bourguiba มีปัญหาด้านสุขภาพ
ในปี 2532 นาย Ben Ali ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี และเลือกตั้งสมาชิกสภาในระบบหลายพรรคพร้อมกัน ซึ่งนาย Ben Ali ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องในปี 2537 ปี 2542 และเมื่อปี 2547 โดยเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4พรรครัฐบาล ได้แก่ พรรค Le Rassemblement Constitutionnel Démocratique (RCD) สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภามาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม มีความพยายามเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามีส่วนร่วมในสภาด้วยการจัดแบ่งที่นั่งในสภาให้พรรคฝ่ายค้านซึ่งประกอบด้วย 7 พรรค โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2547 พรรครัฐบาลยังได้รับการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรตูนิเซีย จำนวน 152 ที่นั่ง และพรรคฝ่ายค้านได้รับการจัดแบ่งจำนวน 37 ที่นั่ง
1.4 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Mohammed Ghannouchi ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2542 เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ
การต่างประเทศ
ตูนิเซียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศอาหรับและมุสลิมสายกลาง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส และเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเวทีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ซึ่งมีสมาชิก 112 ประเทศ กลุ่มสันนิบาตอาหรับ และกลุ่ม Arab Maghreb Union ปัจจุบันรัฐบาลตูนิเซีย ได้มุ่งเน้นการปฏิรูปและพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี และด้วยเหตุที่ตูนิเซียตั้งอยู่ในจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ และประสบผลสำเร็จทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ตูนิเซียมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและเป็นสะพานเชื่อมกับประชาคมยุโรป
ตูนิเซียเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ได้ลงนามร่วมกับ EU ในความตกลง Euro-Mediterranean Association Agreement เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 ซึ่งความตกลงดังกล่าวมีผลต่อความสัมพันธ์กับ EU ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วัฒนธรรมและการกงสุล และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรปและตูนิเซียต่อไปในอนาคต
ตูนิเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง Organisation of African Unity ในปี 2506 โดยได้เป็นประธานขององค์การระหว่างปี 2537-2538 ก่อนที่องค์การจะแปรสภาพเป็น African Union เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545
ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้ง World Solidarity Fund เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ทั่วโลก ช่วยพัฒนาด้านสวัสดิการและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศที่ยากไร้ที่สุด โดยสหประชาชาติเห็นชอบให้จัดกองทุนนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545
ข้อมูลเพิ่มเติมทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของตูนิเซียมีความหลากหลาย นอกจากจะมีรายได้จากเกษตรกรรม การประมง น้ำมันและแร่ฟอสเฟตแล้ว ปัจจุบันยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการผลิตเสื้อผ้าอีกด้วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของตูนิเซียคงที่นับแต่ปี 2544 (ร้อยละ 2.1 ปี 2548)
ตูนีเซียทำสัญญาจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับโมร็อกโก จอร์แดน อียิปต์ และลิเบีย ในการประชุม World Economic Forum (WEF) เมื่อเดือนมิถุนายน 2543
ตูนิเซียพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) และติดต่อค้าขายกับประเทศในยุโรปเป็นหลัก และได้ลงนามความตกลง Association Agreement กับ EU เมื่อปี 2538 ซึ่งจะทำให้สินค้าของตูนิเซียเข้าสู่ตลาดของ EU โดยไม่ต้องเสียภาษีในปี 2551
ในขณะนี้ตูนิเซียให้ความสำคัญกับการสร้างงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการว่างงานสูง (ร้อยละ 14.2 ประมาณการปี 2548) นโยบายปัจจุบันมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของชาวตูนิเซียให้ถึงกับระดับของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตูนิเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในแอฟริกา และดัชนี CPI (Transparency International Corruption Perception Index) ระบุว่า สถานการณ์การทุจริตประพฤติมิชอบในตูนิเซียดีที่สุดในบรรดาประเทศอาหรับ อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตูนิเซียได้สร้างบรรยากาศให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกาเหนือ ตูนิเซียได้รับการยืนยันจากนักลงทุน ชาวต่างประเทศกว่า 2,100 รายว่าจะเข้าไปดำเนินธุรกิจกับทั้งภาครัฐและเอกชนตูนิเซีย อีกทั้งตูนิเซีย ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ และลดหย่อนภาษี และศุลกากร และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในตูนิเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตูนิเซีย |
ความสัมพันธ์ทั้วไป
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับตูนิเซียเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 ไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด มีเขตอาณาครอบคลุมตูนิเซีย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นางบุษบา บุนนาค และฝ่ายตูนิเซียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำอินโดนีเซียมีเขตอาณาครอบคลุมไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายไฟซาล กูยา ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 นอกจากนี้ ตูนิเซียได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำไทย เมื่อปี 2529 โดยมีนายประเสริฐ เตชะวิบูลย์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ตูนิเซียประจำไทย และฝ่ายไทยกำลังพิจารณาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงตูนิส สืบแทน นาย Mohammed Gherib อดีตเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงตูนิส แต่ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพเมื่อปี 2546
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตูนิเซีย เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน ตูนิเซียเข้าใจสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในปี 2548 ตูนิเซียเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 105 ในโลก และอันดับที่ 25 ในแอฟริกา การค้าสองฝ่ายเมื่อปี 2549 มีมูลค่า 2,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.99 คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,141.2 ล้านบาท
ตูนิเซียเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร และพลังงาน สำหรับสินค้าไทยที่มีลู่ทางขยายตลาด ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากตูนิเซีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ไทย-ตูนิเซีย มีการจัดประชุมกรรมาธิการร่วมทางการค้าระหว่างกัน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2535 และครั้งที่สองฝ่ายตูนิเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงตูนิส ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2550 หลังจากที่ได้ว่างเว้นการประชุมกันเป็นเวลา 15 ปี ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะจัดประชุมครั้งต่อไปที่กรุงเทพฯ ในปี 2551
ในขณะนี้ภาครัฐส่งเสริมให้ภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย มีความรู้จักกันดีขึ้น โดย นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะภาคเอกชนจำนวน 16 บริษัทไปเยือนตูนิเซียระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2550
ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศยังไม่มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกัน
ความตกลงต่าง ๆ กับไทย
1 ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2529)
2 ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามย่อเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538)
3 ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 5-8 เมษายน เสด็จฯ เยือนตูนิเซีย (กรุงตูนิส เมือง Tozeur เมือง Chebika เมือง Matmata เกาะ Djerba และเมือง Sidi Bou Said)
รัฐบาล
ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ
- วันที่ 9-10 กันยายน 2526 และคณะได้เดินทางไปเยือนตูนิเซีย
คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ นำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
- วันที่ 24-28 สิงหาคม 2535 เยือนตูนิเซีย เพื่อศึกษาพื้นที่และหาลู่ทางขยายการค้า
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ปี 2537 เยือนตูนิเซีย
คณะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นำโดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- วันที่ 21-23 กันยายน 2547 เยือนตูนิเซียและหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยของตูนิเซีย
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเอกอัครราชทูต บุษบา บุนนาค
- วันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2550 นำคณะภาครัฐเข้าประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า ไทย-ตูนิเซีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงตูนิส และนำคณะภาคเอกชนพร้อมทั้งผู้สื่อข่าวเยือนตูนิเซีย ตามคำเชิญของนาย Mondher Zenaidi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและหัตถกรรมตูนิเซีย
ฝ่ายตูนีเซีย
รัฐบาล (ระหว่างปี 2528 2549)
- วันที่ 25-26 มีนาคม 2528 นาย Ismali Khelil รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผน (Minister of Planning) เดินทางมาเยือนไทย
- วันที่ 16-22 มีนาคม 2529 นาย Ridha Bach Baouab อดีตเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำไทย (ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง) นำคณะผู้แทนทางการค้า 9 คน เยือนไทยระหว่าง เพื่อเจรจาทำความตกลงการค้ากับไทย
- วันที่ 13-15 เมษายน 2529 นาย Beji Caid Essebsi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตูนิเซียเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในการเยือนครั้งนั้นได้มีการลงนามความตกลงทางการค้าไทย-ตูนิเซีย ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างกัน
- วันที่ 15-20 กรกฎาคม 2535 นาย Mongi Safra รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติรับผิดชอบด้านการค้าของตูนีเซีย มาเยือนไทย เพื่อประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-ตูนิเซีย ครั้งที่ 1
- วันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 นาง Neziha Escheikh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนไทย เพื่อร่วมประชุม InterParliamentary Congress on the Working Programme of the International Conference on Population and Development ที่ กรุงเทพฯ
สถิติการค้า ดูเอกสารแนบ
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|