|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สาธารณรัฐอุรุกวัย Oriental Republic of Uruguay
|
|
เมืองหลวง กรุงมอนเตวิเดโอ (Montevideo)
พื้นที่ 170,220 ตาราง กม.
ภาษาราชการ สเปน
วันชาติ 25 สิงหาคม
ประชากร ประมาณ 3.3 ล้านคน
ศาสนา โรมันคาทอลิก 66% โปรเตสแตนท์ 2% ยิว 1% และอื่น ๆ 31%
สกุลเงิน เปโซอุรุกวัย ( Uruguayan Peso: UYU) (23.35 เปโซอุรุกวัย ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
การปกครอง ประชาธิปไตย แบบรัฐสภา
ประมุข/ประธานาธิบดี H.E. Dr. Tabaré Vázquez Rosas
รัฐมนตรีต่างประเทศ H.E. Dr. Reinaldo Gargano Ostuni
วันสถาปนาความสัมพันธ์กับไทย 15 มิถุนายน 2519
สถานการณ์การเมือง
- การที่นาย Vázquez ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอุรุกวัย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเนื่องจากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอุรุกวัยที่พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยในช่วง 170 ปีที่ผ่านมา พรรค Colorado และ พรรค Blanco จะสลับกันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมาโดยตลอด ซึ่งประชาชนได้ตั้งความหวังกับรัฐบาลของ นาย Vázquez อย่างมาก เนื่องจากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศ หลังจากประสบวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2542-2546
- ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐบาลประธานาธิบดี นาย Vázquez ได้ดำเนินการที่สำคัญๆ คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบา การบรรลุข้อตกลงกับ IMF เกี่ยวกับการเป้าหมายทางการเงินและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2548 รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายงบประมาณ 5 ปี ซึ่งผูกมัดว่ารัฐบาลอุรุกวัยจะบรรลุเป้าหมาย Primary surplus ตามที่ตกลงกับ IMF และให้สัตยาบันสนธิสัญญาการลงทุน (Investment Treaty)กับสหรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
รัฐบาลอุรุกวัยชุดปัจจุบันได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอุรุกวัยและคิวบาได้ลงนามในหนังสือแลกเปลียนเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่งกัน หลังจากที่ได้ลดความสัมพันธ์ลงในระดับกงสุล โดยประธานาธิบดี Fidel Castro และอดีตประธานาธิบดี Jorge Luis Batlle Ibanez เมื่อเมษายน 2545 รวมทั้งประธานาธิบดีอุรุกวัยและเวเนซุเอลาได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อแลกเปลี่ยนน้ำมันกับอาหาร และความตกลงเพื่อจัดตั้งสถานีโททัศน์แห่งอเมริกาใต้ (TELESUR)
ปัญหาข้อพิพาทกับอาร์เจนตินา
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ประกาศความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดจากโครงการสร้างโรงงานกระดาษ 2 แห่งที่เมือง Fray Bentos ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำอุรุกวัย (ฝั่งประเทศอุรุกวัย) ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างสองประเทศ ว่าอาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นต่ออาร์เจนตินาทั้งต่อแม่น้ำ เกษตรกรรมและประชาชนในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวเป็นการลงทุนของบริษัทจากฟินแลนด์และสเปน ที่นับเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุรุกวัย และคาดว่าจะสร้างงานให้แก่ชาวอุรุกวัยกว่า 2,000 ตำแหน่ง รัฐบาลอุรุกวัยชี้แจ้งว่าโรงงานทั้งสองมีเทคโนโลยีทันสมัยและไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และโต้แย้งว่าอาร์เจนตินามีโรงงานกระดาษในจังหวัด Entre Rios เช่นกัน อย่างไรก็ดี สองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 180 วัน ซึ่งได้ครบกำหนดเมื่อ 30 มกราคม 2549 โดยคณะทำงานไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ จึงได้ออกแถลงการสองฉบับให้รัฐบาลแต่ละฝ่ายพิจารณา โดยในแถลงการของอาร์เจนตินา
เน้นว่าอุรุกวัยละเมิดพันธะตาม Statute of the River Uruguay (1975) ในการก่อสร้างโรงงานบนฝั่งแม่น้ำอุรุกวัยที่ทั้งสองประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอาร์เจนตินาก่อน
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่ออาร์เจนตินาประกาศนำข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกที่กรุงเฮก ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่ออรุกวัย และประธานาธิบดีอุรุกวัยมีแผนเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ในขณะเดียวกัน มีการประท้วงของประชาชนในจังหวัด Entre Rios การปิดถนนและสะพานข้ามพรมแดน
นอกจากข้อพิพาทเรื่องการก่อสร้างโรงงานกระดาษ สองประเทศยังมีความขัดแย้งที่เกิดจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอุรุกวัยประกาศถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีทวิภาคีกับสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่ได้สร้างความไม่พอใจแก่อาร์เจนตินา เนื่องจากเป็นการละเมิดพันธะของ Mercosur (ต่อมาหลังจากหารือกับบราซิล อาร์เจนตินาได้ประกาศว่าไม่ขัดข้องต่อการเจรจา FTA ระหว่างอุรุกวัยกับสหรัฐฯ )
อุรุกวัยกับความร่วมมือในกรอบ Mercosur
ปัจจุบัน อุรุกวัยและปารากวัย ได้แสดงความไม่พอใจถึงความร่วมมือใน
กรอบ Mercosur ซึ่งบราซิลและอาร์เจนตินาเป็นแกนนำและได้รับประโยชน์หลักจากกลไกและการเปิดเสรีภายในกลุ่ม รวมทั้งการเจรจากับนอกกลุ่ม ในขณะที่อุรุกวัยและปารากวัยมีเสียงและได้รับประโยชน์น้อยกว่ามาก การไม่สมดุลของผลประโยชน์ในกลุ่ม Mercosur ทำให้ประเทศเล็กทั้งสองต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยการหาทางเจรจาทวิภาคีกับประเทศอื่น เพื่อหาลู่ทางพัฒนาเศรษฐกิจและรับความช่วยเหลือจากประเทศนอกกลุ่ม เช่น การอนุญาตให้สหรัฐฯ เปิดฐานทัพในปารากวัย การลงนามความตกลงด้านการลงทุนระหว่างสหรัฐกับอุรุกวัย รวมทั้งข่าวลือการทำความตกลง FTA ระหว่างสหรัฐฯ กับอุรุกวัย เป็นต้น
GDP USD19.1 พันล้าน
GDP per capita USD 5,789
อัตราเงินเฟ้อ 7.4%
มูลค่าการส่งออก USD 3.95 พันล้าน
สินค้าออก เนื้อวัวคุณภาพดี ข้าว ผลิตภัณฑ์ เครื่องหนังและหนังดิบ ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม รถยนต์และส่วนประกอบ
ตลาดส่งออกสำคัญ บราซิล สหรัฐฯ อาร์เจนตินา จีน เยอรมนี เม็กซิโก รัสเซีย
มูลค่าการนำเข้า USD 4.77 พันล้าน
สินค้าเข้า เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ประเภทต่าง ๆ น้ำมันดิบ
ตลาดนำเข้าสำคัญ บราซิล อาร์เจนตินา สหรัฐฯ ปารากวัย จีน เวเนซุเอลา ไนจีเรีย
การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อุรุกวัยได้ประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2545 อันเป็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามปัจจุบันเศรษฐกิจของอุรุกวัยได้ฟื้นตัวและมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มเป็นจำนวนมาก อาทิ การลงทุนมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโรงงานกระดาษจากบริษัทจากฟินแลนด์ การลงทุนจากอาร์เจนตินาในสนามบิน การลงทุนของต่างชาติในกิจการท่าเรือ ส่วนกระบวนการ Debt refinancing อุรุกวัยได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ และ IMF ให้เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่น (ในปี 2545 ซึ่งประสบภาวะวิกฤติรุนแรงที่สุด อุรุกวัยได้ดำเนินการ refinance หนี้ แทนประกาศยกเลิกหนี้ (default) ดังเช่นอาร์เจนตินา)
ตลาดอุรุกวัย
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล สหรัฐฯ เยอรมนี และจีน
การส่งออก ประเทศที่อุรุกวัยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา เยอรมนี และเม็กซิโก
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อวัวไม่มีกระดูกแช่แข็ง (ส่งออกอันดับ 4 ของโลก) หนังวัวที่ฟอกแล้ว (ส่งออกอันดับ 13 ของโลก) เนื้อวัวไม่มีกระดูก สดหรือแช่เย็น (ส่งออกอันดับ 11 ของโลก) น้ำมันปิโตรเลียมและมันมันที่ได้จากแร่บิทูมินัส ขนแกะและขนละเอียดหรือหยาบ (ส่งออกอันดับ 5 ของโลก) ถั่วเหลือง (ส่งออกอันดับ 8 ของโลก)
ประเทศในเอเชียที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอุรุกวัย คือ จีน (อันดับ 5) ไทย (อันดับ 12) ญี่ปุ่น (อันดับ 21) อินเดีย (อันดับ 24)
การนำเข้า ประเทศที่อุรุกวัยนำเข้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล รัสเซีย สหรัฐฯ จีน
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบและน้ำมันดิบที่ได้จากแร่บิทูมินัส (นำเข้าเป็นอันดับ 62 ของโลก) น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันที่ได้จากแร่บิทูมินัส นอกจากที่เป็นน้ำมันดิบ (นำเข้าเป็นอันดับ 124 ของโลก) ข้าวสาลีและเมสลิน (นำเข้าเป็นอันดับ 56 ของโลก)
ประเทศในเอเชียที่เป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญของอุรุกวัย คือ จีน (อันดับ 5) เกาหลีใต้ (อันดับ 11) ญี่ปุ่น (อันดับ 13) ไต้หวัน (อันดับ 18) อินเดีย (อันดับ 20) สำหรับไทย (อันดับ 35)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอุรุกวัย |
ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับอุรุกวัยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2519 (ครบ 30 ปี ในปี 2549)
อุรุกวัยเคยเปิด สอท.ที่กรุงเทพฯ ในปี 2533 แต่ได้ปิดไปในปี 2535 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ ขณะนี้ อุรุกวัยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในด้านงบประมาณที่จะเปิด สอท. ที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอุรุกวัยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2539
นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนอุรุกวัยและปารากวัย เพื่อการรณรงค์สำหรับตำแหน่ง UNSG ในวันที่ 5 มี.ค.2549
การค้าไทย อุรุกวัย (2549)
ไทยส่งออก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
ไทยนำเข้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
สินค้าที่มีศักยภาพที่จะส่งออกไปยังอุรุกวัยมากขึ้น เนื่องจากอุรุกวัยมีการนำเข้าจากตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นและไทยยังสามารถส่งออกได้อีก อาทิ หนังวัวหรือม้า ซึ่งไทยส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก (อุรุกวัยนำเข้าอันดับ 31 ของโลก แหล่งนำเข้า คือ บราซิล สหรัฐฯ และเม็กซิโก) โพลิ(เอทิลีนเทเรฟทาเลต) (นำเข้าอันดับ 38 ของโลก แหล่งนำเข้าคือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐฯ) ปลาสดหรือแช่เย็น (นำเข้าอันดับ 25 ของโลก แหล่งนำเข้า คือ อาร์เจนตินา โบลิเวียและจีน) แป้นหรือแผงควบคุมไฟฟ้า (นำเข้าเป็นอันดับ 45 ของโลก แหล่งนำเข้า คือเกาหลีใต้ อิตาลี และฝรั่งเศส)
สินค้าที่มีศักยภาพที่ไทยสามารถนำเข้าจากอุรุกวัย ได้แก่ มอลต์ ไม่ได้คั่ว ซึ่งไทยนำเข้าเป็นอันดับ 7 ของโลก (อุรุกวัยส่งออกเป็นอันดับ 10 ของโลก) และหนังฟอก (อุรุกวัยส่งออกเป็นอันดับ 13) และแอนไอออนิกที่เป็นตัวลดแรงตึงผิว (อุรุกวัยส่งออกเป็นอันดับ 15)
สถิติการค้าไทย-อุรุกวัย (หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2546 41.0 4.0 37.1 -33.1
2547 46.2 7.8 38.4 -30.6
2548 58.97 8.42 50.56 -42.14
2549 50.54 9.60 40.93 -31.33
วันที่ 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5113-4 Fax. 0-2643-5115 E-mail : american03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|