|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน Republic of Uzbekistan
|
|
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียกลาง ทางเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน
พื้นที่ 447,400 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง
ประชากร 27.7 ล้านคน (2549) ประกอบด้วยชาวอุซเบกร้อยละ 80 รัสเซียร้อยละ 5.5 ทาจิกร้อยละ 5 คาซัคร้อยละ 3 คาราคาลปักร้อยละ 2.5 ตาตาร์ร้อยละ 1.5 อื่นๆ ร้อยละ 2.5
ภาษาอุซเบกร้อยละ 74.3 รัสเซียร้อยละ 14.2 ทาจิกร้อยละ 4.4 อื่นๆ ร้อยละ 7.1
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 88 คริสต์นิกายอีสเทิร์นออโธด๊อกซ์ ร้อยละ 9 อื่นๆ ร้อยละ 3
เมืองหลวง ทาชเคนต์ (Tashkent) (ประชากร 2.5 ล้านคน)
ภูมิอากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป หน้าร้อนๆ นาน หน้าหนาวอากาศเย็นสบาย
เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง
สกุลเงิน ซุม-Soum (UZS) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 1,219.8ซุม (กรกฎาคม 2549)
วันชาติ 1 กันยายน (วันประกาศเอกราช)
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ประธานาธิบดี นาย Islam A. Karimov (24 มีนาคม 2533)
นายกรัฐมนตรี นาย Shavkat MIRZIYOEV (11 ธันวาคม 2546)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Vladiir l. Norov (วันที่ 12 กรกฎาคม 2549)
สถานการณ์การเมือง
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2548 ได้มีการประท้วงรัฐบาลที่เมือง Andijan ราว 200 ก.ม.จากกรุงทาชเคนต์ และต่อมาที่เมือง Korasuv ในเขตหุบเขา Ferghana ทางภาคตะวันออกใกล้พรมแดนคีร์กีซสถาน ซึ่งเป็นเขตที่ถูกจับตามองจากทางการอุซเบกิสถาน เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่ามีกลุ่มมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลและมีแนวความคิดที่จะแยกตัวเป็นอิสระ แหล่งข่าวต่างๆ เชื่อว่า การประท้วงมีสาเหตุจากความไม่พอใจการบริหารประเทศของประธานาธิบดี ที่ละเลยต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ในการปะทะกันของกองทัพของรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 750 คนและบาดเจ็บอีกนับพันคน (ตัวเลขทางการมีผู้เสียชีวิต 187 คน) ซึ่งรัฐบาลอุซเบกิสถานได้กล่าวหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง (Hizb ut-Tahrir) ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุจลาจลดังกล่าว และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ศาลสูงสุดของอุซเบกิสถานได้ตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 15 คน ซึ่งรัฐบาลกล่าวหาว่ามีส่วนก่อเหตุความไม่สงบที่เมือง Andijan ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การสารภาพ โดยแหล่งข่าวต่างๆ เชื่อว่ากระบวนการตัดสินไม่โปร่งใส และน่าจะเป็นเพียงการจัดฉากของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
หลังจากที่สหรัฐฯ ลังเลที่จะแสดงท่าทีในเรื่องนี้ เนื่องจากความร่วมมือด้านการทหารที่มีอยู่ แต่ต่อมาสหรัฐฯ EU และ OSCE ได้เรียกร้องให้องค์การนานาชาติเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ประธานาธิบดี Karimov ปฏิเสธและยืนยันไม่ให้มีการสอบสวนดังกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากองค์การสหประชาชาติที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำได้ช่วยเหลือนำผู้ลี้ภัยชาวอุซเบกที่ลี้ภัยไปยังคีร์กีซสถานส่งต่อไปยังประเทศโรมาเนีย รัฐบาลของประธานาธิบดี Karimov ได้ออกคำสั่งให้ถอนฐานทัพของสหรัฐที่ประจำอยู่ที่เมือง Karshi-Khanabad ซึ่งเป็นเมือง หน้าด่านชายแดนติดกับอัฟกานิสถานออกจากอุซเบกิสถานภายในสิ้นปี 2548 เมื่อเดือนตุลาคม 2548 ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ EU ได้มีมติให้ใช้มาตราการคว่ำบาตรกับอุซเบกิสถาน โดยจะงด ค้าอาวุธ ลดเงินทุนช่วยเหลือและระงับโครงการบางส่วนของThe EU-Uzbek Partnership and Cooperation Agreement (PAC) รวมทั้งงดการตรวจลงตราแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอุซเบกิสถานอีกสิบสองคนด้วย ล่าสุด ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 มีมติให้ยกเลิกการระงับการให้วีซ่าเข้าสหภาพยุโรปแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอุซเบกิสถานจำนวน 4 คน จาก 12 คนที่สหภาพยุโรปเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์รุนแรงที่ Andijan
สำหรับรัสเซียได้แสดงการสนับสนุนอุซเบกิสถานในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเชื่อว่าการจลาจลที่เมือง Andijan มีผู้อยู่เบื้องหลังไม่ใช่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าใจกัน โดยเมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2548 ประธานาธิบดี Karimov เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือทางการทหารร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ใช้อาวุธของตนในเขตแดนของกันและกัน และการช่วยเหลือทางการทหารต่อกันในกรณีที่ถูกรุกรานด้วย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.2 (2549)
มูลค่าการส่งออก 5.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ ฝ้าย 41.5 % ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน โลหะ ทองและเงิน เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ
ตลาดส่งออกสำคัญ รัสเซีย จีน ยูเครน ตุรกี ทาจิกิสถาน บังคลาเทศ
มูลค่าการนำเข้า 4.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและชิ้นส่วน (50%) ผลิตภัณฑ์อาหาร (16%) เคมีภัณฑ์ โลหะ
แหล่งนำเข้าสำคัญ รัสเซีย เกาหลีใต้ เยอรมนี จีน คาซัคสถาน ตุรกี
ทรัพยากร ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองคำ ยูเรเนียม เงิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ทังสเตน
อุตสาหกรรมหลัก สิ่งทอ อาหารแปรรูป เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมโลหะ ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์
อุซเบกิสถานมีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศ CIS และมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจ ได้แก่ เมือง Samarkand , Bukara และ Khiva ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมบนเส้นทางสายไหมในอดีต
รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การปฏิรูปการเกษตร การเปิดเสรีทางการค้าต่างประเทศและการเงิน การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นธุรกิจผูกขาดที่ดำเนินการโดยเครือข่ายของบุคคลในตระกูลและกลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลในรัฐบาล อีกทั้งระบบการจัดเก็บภาษียังไม่โปร่งใส ตลอดจนการกระจายรายได้ไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ประชากรยังประสบกับปัญหาความยากจน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทางการทูต
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ไทยได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกดูแลอุซเบกิสถาน ส่วนฝ่าย
อุซเบกิสถานได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ฯ ประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ไทยกับอุซเบกิสถานมีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2538-2540 อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2541 ปริมาณการค้าระหว่างกันได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากไทยได้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้าประเภทเหล็กรีดร้อนและเย็นซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากอุซเบกิสถาน และส่วนใหญ่ไทยยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างกันยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของทั้งสองฝ่าย โดยในปี 2549 มูลค่าการค้ารวม 8.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยเป็นฝ่ายเสียดุล 4.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การท่องเที่ยว
ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานให้ความนิยมสูงปัจจุบัน สายการบิน Uzbekistan Airlines ได้เปิดเที่ยวบินระหว่างทาชเคนต์ กรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ได้มีการเจรจาการบินระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการบิน ซึ่งมีสาระสำคัญให้ทั้งสองฝ่ายประติบัติต่างตอบแทนกันในเรื่องการเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากอุซเบกิสถานเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเครือรัฐเอกราชที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด โดยในปี 2549 นักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 3,975 คน ซึ่งปี 2548 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 3,246 คน ถึงแม้ว่าไทยได้ยกเลิกการขอรับการตรวจลงตราที่ท่าอากาศยาน (Visa on Arrival) ของอุซเบกิสถานไป
ความตกลงที่ลงนามแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับ
อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ที่กรุงเทพฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2542
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กลุ่มงานเอเชียกลาง โทร. 0 2643 5000 ต่อ 2655 Fax. 0 2643 5301
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|