|
แผนที่
|
สาธารณรัฐแกมเบีย Republic of the Gambia
|
|
ที่ตั้ง แกมเบียตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา
ทางเหนือ ติดกับประเทศเซเนกัล
ทางใต้ ติดกับประเทศเซเนกัล
ทางตะวันออก ติดกับประเทศเซเนกัล
ทางตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 11,300 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบันจูล (Banjul ชื่อเดิมบัทเฮร์ส : Bathurst)
เมืองสำคัญ Brikama, Soma, Gunjur, Sukuta, Farafeni, Bansang, Georgetown, Basse
แม่น้ำสำคัญ แม่น้ำแกมเบีย
ภูมิอากาศ เขตร้อน หน้าร้อนและหน้าฝนจะอยู่ในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย. หน้าหนาวและหน้าแล้งจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.-พ.ค.
ประชากร 1,688,359 คน (กรกฎาคม 2550)
กลุ่มเชื้อชาติ Mandinka (42.0%) Fula (18%) Wolof (16%) Jola (10%)
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ (ร้อยละ 90) คริสต์ (ร้อยละ 9) และความเชื่อดั้งเดิม (1%)
ภาษา อังกฤษ (ภาษาราชการ) Mandinka, Fula Woof, Jola Serahuli ฯลฯ
วันชาติ 18 กุมภาพันธ์ 2508 (ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร)
ระบบการเมือง สาธารณรัฐ
ประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล นาย Yahya A.J.J. Jammeh ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ตุลาคม 2539
หน่วยเงินตรา Dalasi (GMD)
อัตราแลกเปลี่ยน 28.07 Dalasi ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ประวัติศาสตร์การเมือง
แกมเบียเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีภูมิประเทศล้อมรอบด้วยประเทศเซเนกัล ในปี 2131 แกมเบียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้รับเอกราชพร้อมทั้งเข้าเป็นประเทศสมาชิกในเครือจักรภพ ในปี 2508
ปี 2513 แกมเบียประกาศเป็นประเทศสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดี Dawda Kairaba Jawara ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แกมเบียต้องประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศเล็กที่มีความอ่อนแอในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จนเกิดการรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง ดังเช่น ความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2524 โดยการนำของ นาย Kukoi Samba Sanyang ทำให้ประธานาธิบดี Jawara ขอรับความช่วยเหลือจากเซเนกัล รัฐบาลเซเนกัลจึงส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามจนสำเร็จ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ทั้งฝ่ายแกมเบียและเซเนกัลลงนามในสนธิสัญญาการรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐเซเนแกมเบีย ในปี 2525 ซึ่งต่อมาแกมเบียได้ขอแยกตัวออกจากเซเนกัลในปี 2532 เพราะมีปัญหากันในเรื่องดินแดน
จากนั้น ปี 2537 ได้เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองภายในแกมเบีย เมื่อนาย Yahya A.J.J. Jammeh ผู้นำกลุ่ม AFPRC ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลประธานาธิบดี Jawara ได้สำเร็จ จากนั้นได้ประกาศแผนการนำพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยและได้จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2539 โดยนาย Jammeh ชนะการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน (ภายหลังชนะการเลือกตั้งอีก 2 สมัย ในปี 2544 และเมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2549)
รูปแบบการเมือง ระบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล
รัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2513 ยังคงมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน
โครงสร้างทางการเมือง
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขและผู้นำรัฐบาลและดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 5 ปี และมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกรัฐสภา
ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยประธานสภา รองประธาน สมาชิก 45 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง และ 4 คน ที่ได้รับการแต่งตั้ง
พรรคการเมือง เป็นระบบหลายพรรค
- พรรครัฐบาล Alliance for Patriotic Reorientation and Construction (APRC)
- พรรคฝ่ายค้าน National Reconciliation Party (NRP)
นโยบายต่างประเทศ
แกมเบียเป็นประเทศใฝ่สันติ มีนโยบายแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ในทางปฏิบัติมีแนวนโยบายสอดคล้องกับประเทศตะวันตก และมีนโยบายต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบายขององค์การเอกภาพแอฟริกา
สมาชิกภาพในองค์การระหว่างประเทศ สหประชาชาติ, องค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU), องค์การการประชุมอิสลาม (OIC), กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM), ประชาคมเศรษฐกิจแห่งแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS), สมาชิกสมทบของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป, African Development Bank, Arab, Arab Bank For Economic Development in Africa (ประเทศผู้รับ) FAO, GATT, WHO, World Bank, IMF, UNICEF, UNDP, UNESCO, UNCTAD, UNIDO, UPU, WCI, G-77, IFAC, IDB, IDA
ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แกมเบียได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่จากประเทศตะวันตกเช่น การฝึกทหารจากอังกฤษ การฝึกตำรวจจากฝรั่งเศส และการเงิน และการพัฒนาด้านคมนาคมจากเยอรมัน เป็นต้น และรัฐบาลไทยเคยบริจาคข้าวสาร 100 ตันให้แก่รัฐบาลแกมเบียซึ่งประสบปัญหาความแห้งแล้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2531
สภาพทางเศรษฐกิจ
แกมเบียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้หลักจากการเกษตรและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมื่อใดก็ตามที่แกมเบียประสบปัญหาความแห้งแล้งก็จะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม แกมเบียไม่มีแร่ธาตุหรือทรัพยากรธรรมชาติที่เด่นชัดนัก และมีรากฐานทางเกษตรกรรมค่อนข้างจำกัด อุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กด้านการผลิต ถั่ว ปลา หนังสัตว์ การลดค่าเงิน CFA FRANC ในเดือนมกราคม 2537 ส่งผลให้สินค้าของประเทศเซเนกัลเป็นที่สนใจจากผู้ซื้อมากกว่าสินค้าจากแกมเบีย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้ให้ประเทศอย่างมาก
ข้อมูลทั่วไปทางเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ 522.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 310 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.5% (2549)
อัตราเงินเฟ้อ 1.5% (2549)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 120.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (2549)
มูลค่าการค้า ปี 2549 383.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
(แกมเบียขาดดุลการค้า 113.8 ล้านเหรียญสหรัฐ)
เกษตรกรรม ถั่วลิสง (ทำรายได้ให้แก่ประเทศประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออก) ข้าว ฝ้าย มันสำปะหลัง
อุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมเป็นแบบดั้งเดิมที่ยังไม่พัฒนา การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศมาก
ทรัพยากรธรรมชาติ ดินขาว ดีบุก ilmenite zircon rutile ทรัพยากรในดินส่วนใหญ่ยังไม่ได้สำรวจ
การประมง ประมาณปีละกว่า 11,000 ตัน แต่มีปัญหาการลักลอบจับปลาจาก เรือประมงต่างชาติ
สินค้าเข้าที่สำคัญ เครื่องอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ เสื้อผ้า สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์-ปิโตรเลียม ยานพาหนะ เครื่องจักรต่าง ๆ (สินค้าที่แกมเบียนำเข้าจาก ประเทศไทย ได้แก่ ข้าว เครื่องแต่งกายผู้ชาย รองเท้า รถจักรยาน หม้อเก็บไฟฟ้า)
สินค้าออกที่สำคัญ ถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง น้ำมันปาล์ม ปลารมควัน และตากแห้ง หนังสัตว์ และน้ำมันถั่ว
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (2549)
นำเข้า จีน(ร้อยละ 25.0) เซเนกัล(ร้อยละ 12.6) โกตดิวัวร์ (ร้อยละ 8) บราซิล (ร้อยละ 6.2) เบลเยียม (ร้อยละ 4.4)
ส่งออก อินเดีย(ร้อยละ 22.9) อังกฤษ(ร้อยละ 14.7) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 13.9) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 7.5) อิตาลี (ร้อยละ 4.4)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแกมเบีย |
การสถาปนาความสัมพันธ์ 15 กุมภาพันธ์ 2528
สถานเอกอัครราชทูต ฝ่ายไทย ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมถึงแกมเบียแต่แกมเบียยังไม่ได้กำหนดให้สถานเอกอัครราชทูตแห่งใด มีเขตอาณาครอบคลุมถึงประเทศไทย
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ มีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำแกมเบียโดยมีนายอาลีเยอ อับดูลี โมโมดู อึมโบเก (Alieu Abdoulie Momodou Mboge) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงบันจูล และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์แกมเบียประจำประเทศไทย โดยมีนายสมควร บุณยมานนท์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์แกมเบียประจำกรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์โดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแกมเบีย ซึ่งสถาปนา
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2528 ดำเนินมาโดยราบรื่นไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ต่อกันแกมเบียสนับสนุนไทยและอาเซียนในปัญหากัมพูชาเสมอมาทั้งเรื่องสาสน์ตราตั้งและในข้อมติอาเซียนและยังร่วมอุปถัมภ์ข้อมติฯ ตั้งแต่สมัยประชุมที่ 34 อนึ่ง แกมเบียเป็นประเทศแรกในแอฟริกาตะวันตกที่สนับสนุน ฯพณฯ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการสมัครดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO)
ความสัมพันธ์ทางการค้า
ด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับแกมเบียยังมีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยอาจใช้แกมเบียเป็นศูนย์กลางการค้าในแถบกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) โดยให้แกมเบียเป็นเสมือนแหล่งระบายสินค้า หรือคลังสินค้า เพื่อส่งต่อสินค้าไทยไปขายในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
ทั้งนี้ แกมเบียเคยเสนอให้มีการร่วมลงทุนในแกมเบีย โดยเฉพาะด้านการประมง ซึ่งข้อเสนอทางด้านการประมงก็เป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานทำปลากระป๋องส่งไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่แกมเบียต้องมีปัจจัยด้านการพัฒนาให้พร้อมภายในประเทศ อาทิระบบคมนาคมและการสื่อสาร การพัฒนาเมืองบันจูลนครหลวงให้เป็นท่าเรือน้ำลึกจะมีส่วนสำคัญในการเชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าร่วมลงทุนกับแกมเบีย สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้นไทยอาจพิจารณาลงทุนในกิจการโรงแรมเพื่อชักชวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาในแกมเบียวัตถุดิบที่ไทยสามารถนำเข้าได้ เช่น ฝ้าย ปลา อัญมณี ถั่วลิสง
ด้านมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายยังมีไม่มากนัก โดยมูลค่าการค้าปี 2549 เป็นจำนวน 313 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 293.9 ล้านบาท และนำเข้าเป็นมูลค่า 19.1 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเป็นจำนวน 274.8 ล้านบาท สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปแกมเบีย ได้แก่ ผ้าปัก ผ้าลูกไม้และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากแกมเบีย ได้แก่ ด้ายและเส้นใย เป็นต้น
สถิติการค้าระหว่างไทย - แกมเบีย ดูเอกสารแนบ
ความร่วมมือทวิภาคี
ความตกลงด้านความร่วมมือ
- ภายใต้โครงการ Thai Aid ปี 2531 แกมเบียส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 5-6 คน มารับการฝึกอบรมบุคลากรสาขาสาธารณสุขภายใต้โครงการ Thai Aid Programme และแกมเบียมีความสนใจในหลักสูตรการฝึกอบรมของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศแกมเบียเคยไปเยี่ยมชมมาเมื่อต้นปี 2531
- ภายใต้โครงการ Food Aid ประเทศไทยได้บริจาคปลายข้าวเอวันพิเศษให้แกมเบียครั้งละ 100 ตัน ในปี 2524 และปี 2528 แต่ในครั้งหลังแกมเบียยังไม่สามารถส่งเรือมารับข้าวบริจาคได้ และประเทศไทยได้ส่งข้าวจำนวน 100 ตันไปช่วยเหลือแกมเบียที่ประสบภัยแล้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2531
- ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแกมเบียด้านสาธารณสุข โดยไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตยารักษาโรคมาลาเรียไปประเทศแกมเบีย เพื่อพบหารือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข และเยี่ยมชมสถาบัน โรงพยาบาลในเดือน มิ.ย. 2549 และ ก.ค. 2549
- เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2549 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม คตล.ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และวิชาการกับไทย ระหว่างการประชุม AU Summit ที่กรุงบันจูล ประเทศแกมเบีย
การเยือนของบุคคลสำคัญ
ประธานาธิบดีแกมเบีย เคยเดินทางมาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ 3 ครั้ง คือ ปี 2511 (ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี), ปี 2513, ปี 2518 เคยแวะพัก (Stop-over) 3 ครั้งคือ 18 กันยายน 2527, 16-18 เมษายน 2530, 14-16 กรกฎาคม 2531 และเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11-15 ธันวาคม 2531 และเมื่อวันที่ 23-27 มิถุนายน 2548 จึงนับเป็นผู้นำของประเทศในแอฟริกาที่มาเยือนประเทศไทยบ่อยครั้งที่สุด
รัฐมนตรีต่างประเทศแกมเบียเยือนไทย
- นาย Alhagi Lamin Kiti Jabang 16-18 เมษายน 2530
- นาย Omar B Say มกราคม 2531
- นาย Omar B Say 11-15 ธันวาคม 2531
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|