ประวัติศาสตร์จังหวัดนนทบุรี
ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จังหวัดนนทบุรี
เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ตำบลที่ตั้งเมืองนนทบุรีขึ้นมาครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า บ้านตลาดขวัญ
ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ.
๒๐๙๒ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้น
เป็นพระเจดีย์วิหารสำเร็จแล้ว
ให้นามชื่อ วัดสบสวรรค์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า
ไพร่บ้านเมืองตรีจัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือเข้าพระนครครั้งนี้น้อย
หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขา ต้อนไม่ได้เป็นอันมากให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมือง
สาครบุรี
ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี
ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี
บ้านตลาดขวัญเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง
ของกรุงศรีอยุธยา
ฝรั่งต่างชาติที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาต่างก็ได้บันทึกเอาไว้
ดังปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์
ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า
สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น
มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง
๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ (Talacouan)
ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร
ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา.
นอกจากนี้ยังมีดินแดนทางตอนใต้ของตลาดขวัญอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแห่งนี้เข้าใจว่าคงจะมีความสำคัญควบคู่กันมากับตลาดขวัญตั้งแต่ก่อนจะตั้งเป็นเมืองนนทบุรีแล้ว
เพราะปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า
ตำบลสำคัญๆ
ที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่าน
คือ แม่ตาก (Mc-Tae)
อันเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรสยามที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหนพายัพ
ถัดจากนี้ต่อมาก็ถึงเมืองเทียนทอง (Tian-Tong)
หรือเชียงทอง กำแพงเพชรหรือกำแพงเฉยๆ ซึ่งลางคนออกเสียงว่า กำแปง
(Campingue) แล้วก็มาถึงเมืองนครสวรรค์ (Loconsevan)
ชัยนาท (Tchainat) สยาม
ตลาดขวัญ ตลาดแก้ว (Talapuou) และบางกอก.
.
สำหรับบริเวณอันเป็นที่ตั้งของตลาดแก้วในปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ตรงไหน
แน่มีผู้สันนิษฐานว่าคงจะอยู่แถววัดปากน้ำ ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี
ขึ้นไป เมื่อสุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทอง เมื่อ พ.ศ.
๒๓๗๑ ก็ปรากฏว่าตลาดแก้วได้เลือนลางไปแล้ว
คงเหลือแต่เพียงตลาดขวัญเท่านั้น ดังปรากฏในนิราศภูเขาทองว่า
ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง
สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวนพฤกษา
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา
เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง
ทิ้งรักแซงแซมสวาดประหลาดเหลือ
เหมือนโศกพี่ที่ช้ำระกำเจือ
เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย
ถึงแขวงนนท์ชลมารคตลาดขวัญ
มีพ่วงแพแพรพรรณเขาค้าขาย
ทั้งของสวนล้วนแต่เรือเรียงราย
พวกหญิงชายชุมกันทุกวันคืน
ตัวเมืองนนทบุรีแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระสอในปัจจุบันนี้
โดยมีวัดหัวเมือง
(เดี๋ยวนี้เป็นวัดร้าง
ทางราชการได้ใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลนนทบุรี)
เป็นเขตเหนือ และ มีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้
พ.ศ.
๒๐๘๑
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้ขุดคลองลัดจากคลองบางกรวย (แม่น้ำเจ้าพระยา)
ริมวัดชะลอ ไปทะลุวัดมูลเหล็ก
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุวรรณคีรี)
พ.ศ.
๒๑๗๙ พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ
ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา
เพราะแต่เดิมมาแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่แล้ววกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชะลอ
มาออกหน้าวัดเขมา
เมื่อขุดคลองลัดแล้วกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่
นานเข้าก็กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบันนี้
ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็
ตื้นเขินกลายเป็นคลองไป
พ.ศ.
๒๒๐๘ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่า
ตามที่แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม
และโปรดให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย (ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดให้รื้อป้อมและเมืองบางส่วน เพื่อนำอิฐไปสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ
และบางส่วนก็ถูกกระแสน้ำ พัดเซาะพังทะลายลงน้ำไป
ปัจจุบันเหลือแต่ศาลหลักเมืองเท่านั้น)
นอกจากป้อมที่ปากแม่น้ำอ้อมแล้ว
เข้าใจว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะได้มีการสร้างป้อมไม้เอาไว้ที่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบันนี้ด้วย
เพราะปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ซัวซีย์
(Labbé de
Choisy) ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมากับคณะราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์
ที่ ๑๔ ที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.
๒๒๒๘ ว่า
.เช้าวันนี้เราผ่านป้อมที่ทำด้วยไม้
๒ ป้อม ป้อมหนึ่ง ยิงปืนเป็นการคำนับ ๑๐ นัด อีกป้อมหนึ่ง ๘ นัด
ที่นี่มีแต่ปืนครกเท่านั้น ดินปืนดีมากทีเดียว ป้อมทางขวามือเรียกป้อมแก้ว
(Hale de Cristal) และป้อมทางซ้ายมือเรียกป้อมทับทิม
(Hale de Rubis) ณ
ที่นี้เจ้าเมืองบางกอกก็กล่าวคำอำลาและอ้างเหตุว่าได้ควบคุมเรือขบวนมาส่งจนสุดแดนที่อยู่ในความปกครอง
ของเมืองบางกอกแล้ว แล้วก็ลาท่านราชฑูตกลับไป
และใน ปี พ.ศ.
๒๒๓๐ เมื่อลาลูแบร์เป็นราชฑูตเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ได้กล่าวถึงป้อมไม้แห่งนี้ไว้ด้วย
โดยเขียนเป็นแผนที่เอาไว้อย่างชัดเจน (โปรดดูแผนที่)
ตามหลักฐานดังกล่าว จึงเข้าใจว่าป้อมแก้ว คงตั้งอยู่ ณ
บริเวณตลาดแก้ว ส่วนป้อมทับทิมเข้าใจว่าคงตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดเฉลิม
พระเกียรติ ปัจจุบันนี้
พ.ศ.
๒๒๖๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดเกร็ด ที่อำเภอปากเกร็ด
ดังปรากฏในหลักฐานในพงศาวดารว่า ในปีขาล
จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง
เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ
ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมหนัก
ขุดลัดตัดให้ตรงพระธนบุรีรับสั่งแล้วกราบบังคมลามาให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน
๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก
กว้าง ๖ วา ยาวทางไกลได้ ๓๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว
..
พ.ศ.
๒๓๐๗ ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์
ได้มีเหตุการณ์สงครามเกี่ยวข้องกับจังหวัดนนทบุรี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียงเล็กน้อยคือเมื่อมังมหานรธาเป็นแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองทวาย
เมืองตะนาวศรีได้แล้วยกติดตามตีพวกมอญมาจนถึงเมืองชุมพรได้โดยสะดวก
จึงมีความกำเริบคิดยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
.ครั้น ณ เดือน ๗
มังมหานรธาให้แยงตะยุกลับขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงอังวะ แล้วจึงปรึกษากันว่า
เรามาตีเมืองทวายได้ บัดนี้หามีผู้ใดจะต้านต่อฝีมือทแกล้วทหารเราไม่
ควรเราจะยกเข้าไปชิงเอาซึ่งเศวตฉัตร ณ
กรุงเทพมหานคร
..... แล้วมังมหานรธาก็เดินทัพมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาโดยลำดับ
จนถึงเมืองนนทบุรี ซึ่งก็ถูกมังมหานรธาตีแตกเช่นเดียวกับเมืองรายทางอื่นๆ
ดังพงศาวดารกล่าวว่า "
..ครั้ง ณ เดือน ๑๐
พม่ายกทัพเรือลงมาตีค่าย (บาง)
บำรุแตก แล้วยกมาตีเมืองนนทบุรีได้.........
เมื่อพม่าตีได้เมืองนนทบุรีแล้ว
ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายที่ธนบุรีจึงรับอาสาช่วยรบพม่า
พม่าเอาปืนใหญ่ตั้งบนป้อมวิชาเยนทร์
ยิงโต้ตอบกับกำปั่นในที่สุดกำปั่นถอนสมอหนีไปอยู่ที่เมืองนนท์
เมืองนนทบุรีจึงเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่า
ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
..ฝ่ายทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่ ณ
เมืองนนท์นั้น ก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย พม่าตั้ง (อยู่)
เมืองธนบุรีแล้ว จึงแบ่งกันขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมา
ตำบลตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่น
จึงขอเรือกราบมาชักสลุบล่องลงไป ไม่ให้มีปากเสียงครั้นตรงค่ายพม่า ณ
วัดเขมาแล้ว ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง
ฝ่ายพม่าต้องปืนล้มตายเจ็บลำบาก แตกวิ่งออกจากค่าย ครั้นน้ำขึ้นเพลาเช้า
สลุบถอยมาหากำปั่น ซึ่งทอดอยู่ ณ ตลาดขวัญ
ฝ่ายพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบุรี......."
ประวัติความเป็นมาของประชากรในจังหวัดนนทบุรี
ประชากรของจังหวัดนนทบุรีประกอบไปด้วยชนชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากหลายเชื้อชาติมีทั้งไทย
จีน มอญ แขก เป็นต้น
ชนชาติไทยมีอยู่ทั่วไปทุกอำเภอ
เป็นชนส่วนใหญ่ที่สุดของจังหวัด แต่เดิมอยู่ที่ใดมาจากไหน
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด รองลงไปเป็นเชื้อสายจีน
ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่เมื่อใด
สันนิษฐานว่าคงจะเข้ามาอยู่ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
นอกจากนี้ ยังมีชนชาติที่อพยพเข้ามาภายหลังอีกสองเชื้อชาติ
คือ ชาวไทยเชื้อสายมอญและชาวไทยเชื้อสายมลายู
ชาวไทยสองเชื้อชาตินี้อพยพมาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยกรุงธนบุรี
ตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ดังปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ดังนี้
"..
ในจังหวัดนี้มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญอยู่มากแถวอำเภอปากเกร็ด
ตั้งแต่ปากคลองบางตลาดฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก
ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือคลองบางภูมิขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย
มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารในสมัยกรุงธนบุรี
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗
คราวหนึ่งกับเมื่อ พ.ศ.
๒๓๕๘ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
อีกคราวหนึ่ง เรียกว่ามอญใหม่ โปรดให้แบ่งครอบครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง
เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งบัดนี้เป็นอำเภอพระประแดง
ขึ้นจังหวัดสมุทรปราการบ้าง
ไทยอิสลามที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางกระสอ
และที่บ้านตลาดแก้ว ในตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรี
มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เฉพาะตำบลบาง
กระสอต้นตระกูลได้เป็นแม่ทัพนายกองคนสำคัญของไทยหลายคน
ไทยอิสลามที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด
เป็นเชื้อสายชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ใน
รัชกาลที่ ๓
ไทยชาวเมืองตะนาวศรี มีรายงานอำเภอสอบสวนได้ความว่า
ได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรี
ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ พ.ศ.
๒๓๐๒ ครั้งทัพไทยตั้งรวมพลอยู่ที่แก่งตูม
นอกเขตไทยต้นแม่น้ำตะนาวศรี พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรี
ก็หนีเข้ามา....
ในด้านประวัติศาสตร์วรรณคดีที่กล่าวถึงเมืองนนท์ในอดีต
กวีหลายท่านได้เดินทาง ผ่านคลองบางกอกน้อยไปตามคลองวัดชลอ
แล้วไปตามแม่น้ำอ้อมจนถึงบางใหญ่ เข้าคลองบางใหญ่ ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี
บางท่านก็ผ่านเพียงคลองบางกอกน้อย คลองวัดชลอ ไปออกคลอง
มหาสวัสดิ์
แล้วเกิดความบันดาลใจให้สร้างวรรณคดีประเภทนิราศอันไพเราะไว้หลายเรื่อง
ในบทกวี ได้กล่าวถึงสถานที่สำคัญๆ ของเมืองนนท์ ไว้หลายแห่ง
ซึ่งแสดงว่าสถานที่เหล่านี้อดีตเคยมี
ความรุ่งเรืองมาในประวัติศาสตร์มาก่อนซึ่งจะกล่าวได้ดังต่อไปนี้
๑.
บางขวาง
บางขวางเป็นชื่อคลองอยู่ในท้องที่อำเภอบางกรวย
เรียกว่าคลองขวางแยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษมาลา
ไปบรรจบกับคลองบางระนก
ถือว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์สุนทรภู่เขียนไว้ในโคลงนิราศสุพรรณว่า
บางขวางข้างเขตแคว้น
แขวงนนท์
สองฟากหมากมะพร้าวผล
พรรคไม้
หอมรื่นชื่นเช่นปน
แป้งประ ปรางเอย
เคลิ้มจิตคิดว่าใกล้
กลิ่นเนื้อเจือจันทร์
ฯลฯ
และในนิราศพระประธมว่า
ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง
เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสอน
ทำยกย่างขวางแขวนแสนแสงอน
ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย
๒.
วัดชลอ
เป็นชื่อตำบลและชื่อวัด ตั้งอยู่ริมคลองวัดชลอฝั่งใต้ในเขตอำเภอบางกรวยพระอุโบสถของวัดชลอแสดงเค้าว่าเป็นฝีมือเก่าถึงสมัยอยุธยา
แต่ได้ซ่อมแซมบูรณะจนเปลี่ยนรูปไปมากแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้
ทางวัดได้พบพระเจดีย์โลหะ ๒ องค์ บรรจุภายในซากเจดีย์เก่าเหนือพระอุโบสถ
ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้มอบให้นำมาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแล้ว
นายมี
ครั้งเป็นหมื่นพรหมสมพัตสร ไปเก็บอากรที่เมืองสุพรรณเมื่อผ่านวัดชลอไปก็รำพึงไว้ในนิราศสุพรรณว่า
บรรลุถึงวัดชลอก็รอจิต
ใครช่างคิดชลอวัดไม่ขัดสน
ถ้าไม่ชลอก็จะนั่งลงวังวน
ชลอพ้นที่จะพังจึงยั่งยืน
แต่ชลอจิตมนุษย์นี่สุดยาก
เอาพรวนลากก็ไม่ไหวอย่าได้ขืน
ใครขัดขวางน้ำใจเหมือนไฟฟืน
ทั้งแผ่นพื้นภพไตรใจเหมือนกัน
ฯลฯ
เมื่อสุนทรภู่ผ่านหน้าวัดชลอตรงไปพระประธม
ได้เขียนไว้ในนิราศพระประธมว่า
วัดชะลอใครหนอชะลอฉลาด
เจ้าอาวาสมาไว้ให้อาศัยสงฆ์
ช่วยชะลอวรลักษณ์ที่รักทรง
ให้มาลงเรือร่วมนวมที่นอน ฯ
ฯลฯ
๓.
วัดโพบางโอ
ทางฝั่งใต้ของลำคลองแม่น้ำอ้อม มีวัดอยู่หลายวัด เช่น วัดตะโหนด
วัดโพบางโอ โดยเฉพาะที่วัดโพนี้ เป็นวัดโบราณอยู่ในตำบลบางขนุน
อำเภอบางกรวย มีภาพเขียนสีเป็นเรื่องปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถ
ซึ่งนับว่ามีแนวความคิดแปลกกว่าที่อื่นและมีภาพเขียนใส่กรอบติดไว้เหนือหน้าต่างพระอุโบสถ
ภาพเขียนในกรอบเหล่านี้เป็นภาพชาวฝรั่งเศสเขียนลงบนกระจกใส ภาพชัดเจนแจ่มใส
และงดงามน่าสนใจมาก
หน้าบันพระอุโบสถเป็นเครื่องไม้จำหลักลวดลายและฝีมืองามเช่นกัน
และมีตุ๊กตาหินพวกเซียนหรือตัวละครในวรรณคดีบานประตูพระอุโบสถด้านในเขียนภาพจับ
และว่าท่านวัดเพลงเป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรม คงจะหมายถึงอาจารย์นาค
กรมหลวงเสนีบริรักษ์
(ต้นสกุล
เสนีวงศ์)
พระโอรสในกรมพระราชวังหลังทรงสร้างวัดนี้ในรัชกาลที่ ๓ และสกุลเสนีวงศ์ได้บูรณะปฏิสังขรณ์สืบต่อมาใน
พ.ศ. ๒๔๘๓
ได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดโพเสนี
๔.
บางขนุน
เป็นตำบลอยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อมฝั่งใต้
ในเขตอำเภอบางกรวยมีคลอง
บางขนุนแยกจากคลองแม่น้ำอ้อมเข้าไป
ในคลองนี้มีวัดบางขนุน เป็นวัดโบราณ
มีหอไตรเก่าภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ครั้นเมื่อสุนทรภู่ไปพระประธม
ได้รำพึงถึงบางขนุนและบางขุนกองไว้ในนิราศพระประธม
มีความอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ ว่าเดิมชื่อ บางถนน
มีมาตั้งแต่ครั้งท้าวอู่ทอง ดังนี้
บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง
ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ
เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง
แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม
๕.
บางนายไกร
บางนายไกรอยู่ในเขตตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย
มีคลองแยกจากคลองแม่น้ำอ้อมทางฝั่งตะวันตก เรียกว่า
คลองบางนายไกร
มีวัดบางนายไกรนอกตั้งอยู่ปากคลอง
มีเคหสถานบ้านเรือนเป็นหลักฐานหนาแน่นมาก
ท้องที่แถบนี้คงจะเป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสถานที่
ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ไกรทอง
ปรากฏว่า กวีเกือบทุกท่านที่ผ่านบางนายไกรมักไม่เว้นกล่าวถึง
สุนทรภู่เมื่อไปพระประธม
ก็ได้เขียนนิราศกล่าวถึงเรื่องราวของบางนายไกรไว้ว่า
บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้
ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย
เป็นเลิศชายเชี่ยวชาญผ่านวิชา
ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร
สมสนิทนางตะเข้เสน่หา
เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องมา
จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครัน ฯ
๖.
วัดปรางค์หลวง
ตั้งอยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อมฝั่งตะวันตกเหนือปากคลองบางค้อวัดนี้เป็นวัดโบราณ
คงเก่าถึงสมัยอยุธยา ซึ่งกล่าวกันว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นผู้ทรงสร้าง
มีพระอุโบสถเก่าทรุดโทรมมาก
กับมีพระปรางค์ใหญ่ก็ชำรุดทรุดโทรมและถูกขุดจนพรุน
แต่ยังทรงลักษณะพอเห็นฝีมือ
ก่อสร้างได้ ชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่า
เคยมีผู้ขุดได้พระและตะปูสังฆวานรที่เป็นของใช้ในการก่อสร้างสมัยอยุธยา
พระปรางค์องค์นี้ยังคงมีทรงรูปนอกเป็นแบบระฆังทรงสูงเหลือไว้ให้เห็น
ซึ่งทำให้ตัวพระปรางค์ดูสง่างาม พระปรางค์องค์นี้ก็เช่นกัน
ได้ถูกน้ำมือของพวกทำลาย ศาสนา แสวงหาทรัพย์สมบัติ
ทลายด้านหน้าของพระปรางค์ทั่วไปเสียส่วนหนึ่ง
ส่วนอีกสามด้านนั้นมีพระพุทธรูปปูนปั้นจำหลักนูนสูงประดิษฐานอยู่ในซุ่มจระนำ
พระพุทธรูปดังกล่าวมีความงดงามตามแบบศิลปอยุธยาโดยเฉพาะ กล่าวคือ
มีความแข็งกร้าวของพระพุทธรูปสมัยอู่ทองผสมอยู่กับ แบบอันงดงามของศิลปสุโขทัย
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
ทรงพรรณนาไว้ในนิราศพระประธม เรียกว่าวัดหลวง ดังนี้
วัดหลวงคิดคู่ร้าง
เวียงหลวง
ร้างศุขสิ่ง เกษมทรวง
เสื่อมสิ้น
มาเดียวอดูรดวง
แดเด็ด สวาดิ์แม่
ยามดึกสดุ้งยุงริ้น
เหลือบล้อมตอมกวน ฯ "
๗.
บางสนาม
บางสนามอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองวัดชลอ
เหนือวัดพิกุลขึ้นไปมีคลองแยกเข้าไปจากคลองวัดชลอ
และมีวัดสนามนอกอยู่ปลายคลอง
กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับบางสนามไว้ในนิราศพระประธมว่าที่บางสนามนี้มีศาลเจ้า
ซึ่งมีเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์
ทรงอธิษฐานต่อเทพารักษ์ที่ศาลเจ้าบางสนามไว้ว่า
มาลุศาลจ้าวปาก
บางสนาม
สนามเล่นสิ่งใดถาม
ห่อนแจ้ง
เทพารักษ์แถลงความ
บอกหน่อย หนึ่งพ่อ
สนามสนุกนี้เรียมแล้ง
ขาดเศร้าเซาเขษม ฯ
ศาลสถิตศักดิ์สิทธิ์ท้าว
เทพา พ่อฤา
เชิญผดุงกานดา
แม่ด้วย
ใครอย่าริเริ่มตุนา-
หงันแม่ อีกแม่
แม้หลุดสุดมือม้วย
สวาดิ์แล้วเผาศาล ฯ
๘.
บางกรวย
เป็นชื่อตำบล
มีคลองบางกรวยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม
มาต่อกับคลองวัดชลอที่ขุดในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เหนือวัดชลอ
คลองบางกรวยนี้แต่เดิมก็เป็นตอนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่เมื่อขุดคลองใหม่ กระแสน้ำเปลี่ยนจากแม่น้ำอ้อม
มาเดินทางหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ
แม่น้ำเดิมจึงแคบและตื้นเขินกลายเป็นคลองไป
เมื่อสุนทรภู่ผ่านมาถึงบางกรวย คราวไปสุพรรณใน พ.ศ.
๒๓๘๔ ได้รำพึงถึงภรรยาที่ชื่อนิ่ม ซึ่งเป็นชาวบางกรวย
นิ่มได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ๙ ปี (คือตั้งแต่ พ.ศ.
๒๓๗๖)
สุนทรภู่อธิษฐานให้นิ่มภรรยาไปสวรรค์ กล่าวไว้ในโคลงนิราศสุพรรณว่า
บางกรวยกรวดน้ำแบ่ง
บุญทาน
ส่งนิ่มนุชนิพพาน
ผ่องแผ้ว
จำจากพรากพลัดสถาน
ทั้งพี่ หนีเอย
เห็นแต่คลองน้องแคล้ว
คลาดเคลื่อนเดือนปี
สุนทรภู่มีบุตรกับนิ่มคนหนึ่งชื่อ ตาบ
ซึ่งต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ และเจริญรอยเป็นกวีตามบิดา
มีเพลงยาวนิราศของนายตาบปรากฏอยู่ในคราวไปพระประธม เมื่อ พ.ศ.
๒๓๘๕ ตาบก็ไปกับสุนทรภู่ด้วย
ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในนิราศพระประธมว่า
เห็นคลองขวางบางกรวยระทวยจิต
ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา
เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา
โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี
แต่ก่อนกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราก
จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี
เคยไปมาหาน้องในคลองนี้
เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา
จังหวัดนนทบุรีในรอบ ๒๐๐ ปี
ของกรุงรัตนโกสินทร์
เมืองนนทบุรีจะมีความเป็นมา
หรือจะพัฒนาอย่างไรบ้างในรอบ ๒๐๐ ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สิ่งที่พัฒนานั้นคงได้แก่ การปกครอง การเศรษฐกิจ
การคมนาคม การศึกษา การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี การพัฒนาต่างๆ
คงจะต้องดำเนินไปทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน
ในระยะเริ่มต้นตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
ภาครัฐบาลอันได้แก่ องค์พระมหากษัตริย์ ยังคงมีพระราชภารกิจหลายด้าน อาทิ
การสร้างกรุง การสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการ พระราชไมตรี
และการสงคราม ตลอดทั้งการทำนุบำรุงประเทศประการอื่นๆ
โดยส่วนรวมการจะพัฒนาเมืองนนทบุรีอันเป็นเมืองขนาดเล็กคงทำได้น้อย
จึงไม่ใคร่พบหลักฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองนนทบุรีทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน
โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๑
-
รัชกาลที่ ๔ ในรัชกาลต่อๆ
มาเมืองนนทบุรีจึงค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับอาจกล่าวได้ว่า
เมืองนนทบุรีพัฒนารวดเร็ว รุดหน้า และมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๙
นี้เองซึ่งจะกล่าวถึงโดยแบ่งช่วงเวลาตามรัชสมัยขององค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้
สมัยรัชกาลที่ ๑
-
รัชกาลที่ ๔
(พ.ศ.
๒๓๒๕ - พ.ศ.
๒๔๑๑)
รัชกาลที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ.
๒๓๒๕ - พ.ศ.
๒๓๕๒
รัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พ.ศ.
๒๓๕๒ - พ.ศ.
๒๓๖๗
รัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.
๒๓๖๗ - พ.ศ.
๒๓๙๔
รัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.
๒๓๙๔ - พ.ศ.
๒๔๑๑
เมืองนนทบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๑
-
รัชกาลที่ ๔ จัดอยู่ในประเภทหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นเมืองขึ้นของกรมท่า
ชื่อเมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่
ครั้งแรกเปลี่ยนเป็นเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน ผู้ว่าราชการเมือง คือ
พระนนทบุรีศรีมหาอุทยาน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระนนทบุรีศรีเกษตราราม
หลวงปลัด ได้แก่ หลวงสยามนนทเขตต์ขยันปลัด
ทรงเห็นว่าในแขวงเมืองนนทบุรีมีชาวรามัญตั้งบ้านเรือนอยู่มาก
จึงตั้งหลวงรามัญเขตต์คดี ปลัดรามัญขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง
เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ในการปกครองประเทศนี้ ใช้สืบต่อกันมาแต่รัชกาลที่ ๑
จึงขอคัดลอกข้อความบางตอนเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ปกครองหัวเมือง ซึ่ง วนิดา
สถิตานนท์ เขียนไว้ในหนังสืออ่านเพิ่มเติมระดับประถมศึกษา เรื่อง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังนี้
พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ไปรั้งเมือง
ครองเมือง
ให้รักษาพยาบาลไพร่ฟ้าข้าไทท่านแลให้รับรองสุขทุกข์ราษฎรทั้งปวงและรักษาถิ่นฐานบ้านนอกขอบชนบท
มิให้มีโจรผู้ร้ายแลคนกรรโชกราษฎร ถ้าผู้รั้งเมือง ผู้ครองเมือง
ผู้ใดรักษาได้ ท่านว่ามีบำเหน็จในแผ่นดิน
ถ้าแลโจรผู้ร้ายกรรโชกราษฎรเกิดชุกชุมขึ้นเหลือกำลังระงับมิได้
ก็ให้บอกมายังลูกขุน ณ ศาลาให้บังคมทูลแต่สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
จึงจะพ้นโทษ ถ้าแลผู้รั้งเมือง ผู้ครองเมืองมิได้กำชับจับกุม
ละเลยให้โจรและผู้กรรโชกราษฎรชุกชุมขึ้นได้ ท่านว่าผู้นั้นละเมิด
ต้องในระวางกรรโชกให้ลงโทษ ๖ สถาน
การเศรษฐกิจของชาวเมืองนนทบุรีในสมัยนั้น
คงขึ้นอยู่กับอาชีพการเพาะปลูกทำนา ทำสวน เป็นพื้น
การคมนาคมคงใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย
หรือการไปมาหาสู่ หลักฐานที่พอจะอ้างได้ ได้แก่ นิราศต่างๆ
ของสุนทรภู่ ซึ่งจะขอคัดบางตอนมากล่าวไว้
จากนิราศพระบาท ซึ่งแต่งเมื่อปลายปี พ.ศ.
๒๓๕๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๑
ขณะเดินทางผ่านบางซ่อน เข้าเขตเมืองนนทบุรี กล่าวไว้ดังนี้
ถึงน้ำวนชลสายที่ท้ายย่าน
เขาเรียกบ้านวัดโบสถ์ตลาดแก้ว
จะเหลียวกลับลับวังมาลิบแล้ว
พี่ลับแก้วลับบ้านมาย่านบาง
พฤกษาสวนล้วนได้ฤดูดอก
ตระหง่านงอกริมกระแสแลสล้าง
กล้วยระกำอัมพาพฤกษาปราง
ต้องน้ำค้างช่อชุ่มเป็นพุ่มพวง
และอีกตอนหนึ่ง กล่าวว่า
ถึงแขวงแควแพตลอดตลาดขวัญ
เป็นเมืองจันตะประเทศรโหฐาน
ตลิ่งเบื้องบูรพาศาลาลาน
เรือขนานจอดโจษกันจอแจ
พินิจนางแม่ค้าก็น่าชม
ท้าคารมเร็วเร่งอยู่เซ็งแซ่
...
จากนิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งสุนทรภู่แต่งเป็นของเณรหนูพัด
ผู้บุตร เขียนไว้เมื่อครั้งยังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเดินทางไปวัดแก้วฟ้า
ที่อยุธยา ราว พ.ศ.
๒๓๗๕ กล่าวไว้ว่า
ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง
เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
จากโคลงนิราศสุพรรณ แต่งไว้ราว พ.ศ.
๒๓๘๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๓
สุนทรภู่เดินทางผ่านทางคลองบางกอกน้อย เลี้ยวเข้าคลองบางใหญ่
ก็ได้กล่าวถึงสภาพของเมืองนนท์ทางฝั่งตะวันตกไว้หลายประการ ดังนี้
บางศรีทองคลองบ้านเท่า
เจ้าคลอง
สีเพชผัวสีทอง
ถิ่นนี้
เลื่องฦาชื่อเสียงสนอง
สำเหนียก นามเอย
คลองคดลดเลี้ยวชี้
เช่นไสร้สีทอง
ล่วงทางบางบ้านเรียด
ริมชลา
สองฝั่งพรั่งพฤกษา
สลับสล้าง
ไม้ปลูกลูกดอกดา
ดกดาศ กลาดเอย
ทรงกลิ่นรินรื่นข้าง
ขอบคุ้งฟุ้งขจร ฯ
และอีกตอนหนึ่ง กล่าวว่า
บางกร่างข้างคุ้งค่าม
เขตคลอง
บางขนุนขุนกอง
ก่อสร้าง
ของสวนส่วนเจ้าของ
ขายน่า ท่าเอย
สาวแก่แม่หม้ายบ้าง
บกน้ำลำเรือ ฯ
โรงหีบหนีบอ้อยออด
แอดเสียง
สองข้างรางรองเรียง
รับน้ำ
อ้อยไส่ไล่ควายเคียง
คู่วิ่ง เวียรเอย
อกพี่นี้ชอกช้ำ
เช่นอ้อยย่อยรยำ
สุนทรภู่กล่าวถึงบางคูเวียงตลอดถึงบางใหญ่ไว้ดังนี้
บางคูเวียงเสียงสงัดล้วน
สวรไสว
เวียงชื่อครีท้าวไท
ท่านตั้ง
เวียงราชคลาศแคล้วไกล
กลับระลึก นึกเอย
ยามยากจากเมืองทั้ง
ถิ่นปลื้มลืมกเษม ฯ
บางม่วงทรวงเศร้าคิด
เคยชวน
ม่วงเกบมม่วงสวน
ศุกร - ย้า
ม่วงอื่นรื่นรันจวน
จิตไม่ ใคร่แฮ
ม่วงหม่อมหอมห่วนหน้า
เสน่ห์เนื้อเจือจรร ฯ
ฯลฯ
ล่วงทางบางใหญ่บ้าน
ด่านคอย
เลี้ยวล่องคลองเล็กลอย
เลื่อนช้า
สองฝั่งพรั่งพฤกษ์พลอย
เพลินชื่น ชมแฮ
แลเหล่าชาวสวนหน้า
เสน่ห์น้องครองสนอม ฯ
คลองคดเลี้ยวลดล้วน
หลักตอ
เกะกระเรือรอ
ร่องน้ำ
คดคลองช่องแคบพอ
พายถ่อ พ่อเอย
คนคดลดเลี้ยวล้ำ
กว่าน้ำลำคลอง ฯ
ล่วงย่านบ้านวัดร้าง
เรือนโรง
ตกทุ่งถึงคลองโยง
หย่อมไม้
วัดใหม่ธงทองโถง
ที่ติด ตื้นแฮ
ควายลากฝากเชือกไขว้
เคลื่อนคล้อยลอยเสน ฯ "
จากนิราศอีกเรื่องหนึ่ง คือ นิราศพระประธม
สุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งเดินทางไปมนัสการ พระประธม ที่จังหวัดนครปฐม ราว พ.ศ.
๒๓๘๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน
สุนทรภู่เดินทางโดยทางเรือจากวัดระฆัง เข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านบางกรวย
บางใหญ่ เข้าคลองบางใหญ่ออกคลองโยงไปสู่นครปฐม เส้นทางที่ผ่านเมืองนนทบุรี
เป็นเส้นทางเดียวกับที่จะไปสุพรรณบุรี
แต่การบรรยายถึงสภาพเมืองนนท์ในนิราศพระประธม ละเอียดกว่านิราศสุพรรณบุรี
เช่น กล่าวถึง วัดชะลอ, วัดบางอ้อยช้าง,
วัดสัก, บางขุนกอง,
บางนายไกร และคลองบางระนก
เป็นต้นเห็นจะเป็นเพราะแต่งเป็นกลอนจึงบรรยายได้ดีกว่าโคลง
ท่านที่สนใจควรลองอ่านดูทั้งเรื่อง จะได้ทั้งอรรถรสของภาษา
และความรู้เชิงภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นไว้ประดับสติปัญญา
จะขอนำมากล่าวอ้างไว้บางตอนดังนี้
บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง
ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ
เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง
แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม
ฯลฯ
ถึงคลองขวางบางระนกโอ้อกพี่
แม้นปีกมีเหมือนหนึ่งนกจะผกผัน
ไปอุ้มแก้วแววตาพาจรัล
มาด้วยกันทั้งคู่ที่อยู่ริม
ในปัจจุบันนี้
คลองบางระนกก็ยังคงมีอยู่ ท่านที่เคยนั่งเรือผ่านไปในคลองจะพบว่ายังคง
มีบ้านที่ปลูกในลักษณะทรงไทยเหลืออยู่หลายหลัง
แสดงว่าถิ่นนี้เป็นแหล่งชุมชนที่อาศัยกันมายั่งยืน
จากนิราศต่างๆ ที่อ้างมาล้วนแสดงว่า
ชาวเมืองนนท์ได้ประกอบอาชีพทางทำสวนผลไม้มานานแล้ว มีข้อสังเกตคือ
กวีมิได้กล่าวถึง ทุเรียน
ซึ่งเป็นผลไม้มีชื่อที่มีชื่อเสียงของเมืองนนท์อาจเป็นเพราะในสมัยนั้น
จะยังไม่นิยมปลูกทุเรียนกันนัก แต่กวีอีกผู้หนึ่งคือ นายมี
ซึ่งแต่งนิราศสุพรรณ ไว้เมื่อ พ.ศ.
๒๓๘๓
ขณะเดินทางถึงบางใหญ่ได้พรรณนาถึงผลไม้ไว้หลายชนิดและได้กล่าวถึงทุเรียนไว้ด้วย
ดังนี้
รำพันพลางทางมาถึงบางใหญ่
พิศดูหมู่ไม้ในสวนศรี
ม่วงทุเรียนมังคุดละมุดมี
ทั้งลิ้นจี่ลำไยมะไฟเฟือง
มะปรางปริงกิ่งแปล้แต่ละต้น
เป็นพวงผลสุกงามอร่ามเหลือง
ลูกไม้สวนสารพัดไม่ขัดเคือง
เป็นผลเนื่องตามฤดูไม่รู้วาย
ฯลฯ
อาชีพอย่างหนึ่งของชาวเมืองนนท์ที่นักกวีกล่าวถึง ได้แก่ การหีบอ้อย
แสดงว่ามีการ ปลูกอ้อย และการทำน้ำตาลอ้อยกันมานานแล้ว
โรงหีบเดิมอยู่ฝั่งทางตะวันออกของคลองแม่น้ำอ้อมแต่ปัจจุบันนี้มีอยู่ทางฝั่งตะวันตก
ใช้เครื่องจักรแทนเครื่องหีบอ้อยแต่โบราณซึ่งใช้แรงควายหมุนในปัจจุบันมีโรงงานทำน้ำตาลอ้อยที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากในจังหวัดต่างๆ
อาชีพทำน้ำตาลอ้อยของชาวบางศรีทองบางคูเวียง จึงเหลือเพียงเล็กน้อย
บทกวีที่กล่าวถึงโรงหีบอ้อยของจังหวัดนนทบุรี
เช่นเมื่อคราวสุนทรภู่เดินทางไปพระประธม ก็เขียนไว้ในนิราศพระประธม ว่า
เห็นโรงหีบหนีบอ้อยเขาคอยป้อน
มีคนต้อนควายตวาดไม่ขาดเสียง
เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่อ่างเรียง
โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์
ในช่วงระยะเวลารัชสมัยขององค์พระมหากษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นี้
สันนิษฐานได้ว่าการจัดการศึกษาคงมีแต่เพียงในวัดเป็นส่วนใหญ่
พระสงฆ์เป็นผู้สั่งสอนอบรมแก่ชายที่บวชหรือผู้ที่ปรนนิบัติพระ
ผู้หญิงยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน
เพราะในสมัยนั้นยังไม่ได้ส่งเสริมการศึกษากันอย่างกว้างขวาง
ส่วนการศาสนาก็คงจะมีลักษณะไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าใดนัก กล่าวคือ
คนไทยส่วนมาก นับถือศาสนาพุทธ พอใจในการทำบุญสุนทร์ทาน การสร้างวัด
สังเกตได้ว่า วัดในจังหวัดนนทบุรีมีวัดเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย
และอำเภอบางใหญ่ วัดส่วนมากตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง บางแห่งตั้งอยู่ติดๆ
กัน เช่น ที่คลองบางกอกน้อย และคลองอ้อม วัดสำคัญที่ควรกล่าวถึงได้แก่
๑.
วัดเขมาภิรตาราม อยู่ตำบลสวนใหญ่ (เหนือตลาดแก้ว)
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางกรวยข้าม เดิมชื่อ
วัดเขมา เป็นวัดโบราณ
สร้างครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
ทรงสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ ทรงต่อสร้อยนามวัดว่า
วัดเขมาภิรตาราม
วัดนี้จึงจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นโท
ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในบทต่อไป
๒.
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองอ้อมเยื้องกับศาลากลางจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน
วัดนี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่ออุทิศพระราชทานสมเด็จพระศรีสุลาไลยพระบรมราชชนนี
แต่ยังไม่สำเร็จ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างเพิ่มเติมจนสำเร็จบริบูรณ์
สมดังที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ วัดนี้ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท
จะขอกล่าวถึงโดยละเอียดในบทต่อไป
ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวเมืองนนทบุรีนั้น
ศิลปะที่นับว่าเด่นน่าจะได้แก่ งานจิตรกรรมฝาผนัง
และการก่อสร้างโบสถ์ของวัดเก่าแก่บางวัด ซึ่งตอนหนึ่งจากบทความการวิจัยงานศิลปโบราณของไทย
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้กล่าวว่า
........วัดลางวัด เช่น วัดปราสาท และวัดชมภูเวก นั้น
มีงานจิตรกรรมฝาผนังสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และ ๒๔ ผลจากการสำรวจ
ท้องถิ่นต่อมา เราจึงตระหนักถึงความสำคัญของงานจิตรกรรมของท้องถิ่นเหล่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ งานจิตรกรรมของวัดปราสาท
ซึ่งยังมีสภาพดีกว่าแห่งอื่น และแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของ สกุลช่างนนทบุรี
อย่างแจ้งชัด
พระอุโบสถของวัดปราสาทสร้างขึ้นในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔
บริเวณผนังภายในมีภาพเขียนบรรยายถึงเรื่องชาดกตกแต่งอยู่ทั่วไปอย่างงดงาม
โครงการสีของภาพเขียนเป็นสีแดงและ สีขาว
ดูเหมือนมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดกับภาพเขียนของวัดใหญ่สุวรรณาราม
จังหวัดเพชรบุรี จากภาพเขียนที่วัดปราสาท
ทำให้เราเกิดความคิดที่แน่นอนเกี่ยวกับความเป็นลักษณะโดยเฉพาะของสกุลช่างนนทบุรื
ซึ่งแตกต่างไปจากภาพเขียนของสกุลช่างรัตนโกสินทร์อย่างไม่สงสัย
.
เล่ากันว่า
เป็นวัดที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้น
ลักษณะทรวดทรงคล้ายกับที่พระอุโบสถวัดเกาะแก้วสุภาราม จังหวัดเพชรบุรี
ศิลปะอีกด้านหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ
ฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านบางตะนาวศรี
(ปัจจุบัน
ตำบลสวนใหญ่) มีผู้สันนิษฐานว่า
นักปั้นหม้อชาวบางตะนาวศรี อาจจะสืบเชื้อสายมาจากชาวบ้านหม้อคลองสระบัว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ได้ โดยเมื่อครั้งกรุงแตก ราว พ.ศ.
๒๓๑๐ ชาวบ้านแถบนั้นบางส่วนได้อพยพหนีภัยจากพม่าลงมาทางใต้
มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
สมทบกับชาวบางตะนาวศรีเดิมที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของพม่า เมื่อราว พ.ศ.
๒๓๐๒
แล้วมาประกอบอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาตามความถนัด
ฝีมือการปั้นหม้อดินเผาของชาวบ้านบางตะนาวศรีนับว่าประณีต งดงาม น่าดู
น่าใช้ กว่าของท้องถิ่นอื่น
จัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของชาวเมืองนนท์เป็นเวลาช้านาน
จนในสมัยต่อมา
จังหวัดนนทบุรีได้ใช้ภาพหม้อน้ำลายวิจิตรเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตราบเท่าทุกวันนี้
สมัยรัชกาลที่ ๕
-
รัชกาลที่ ๘
(พ.ศ.
๒๔๑๑ - พ.ศ.
๒๔๘๙)
รัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๔๑๑
- พ.ศ.
๒๔๕๓
รัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.
๒๔๕๓ - พ.ศ.
๒๔๖๘
รัชกาลที่
๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.
๒๔๖๘ - พ.ศ.
๒๔๗๗
รัชกาลที่ ๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พ.ศ. ๒๔๗๗
- พ.ศ.
๒๔๘๙
ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้ทรงปรับปรุงระเบียบการปกครองประเทศใหม่
กล่าวคือการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ทรงตั้งเป็นกระทรวงต่างๆ
อย่างรูปแบบปัจจุบัน ส่วนการปกครองส่วน ภูมิภาค พระองค์รวมเมืองต่างๆ
เข้าเป็นกลุ่ม เรียกว่า
มณฑล
ซึ่งก็ปรากฏว่าเมืองนนทบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเทพ
ในสมัยนี้ได้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากฝั่งขวา
ของแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งที่ฝั่งซ้าย ด้านใต้ปากคลองบางซื่อ
ซึ่งเป็นท่าเรือตลาดขวัญจนถึง สมัยรัชกาลที่ ๗ จึงย้ายศาลากลางจังหวัดอีก
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๗
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองต่างๆ ในลักษณะการ
ประพาสต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้เป็นจดหมายเหตุ
ทรงทำเป็นสำนวนของนายทรงอานุภาพ เขียนจดหมายถึงนายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเพื่อน
เล่าเรื่องการประพาสต้นให้เพื่อนฟัง จากจดหมายฉบับที่ ๒ ในหนังสือ จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้น
ในรัชกาลที่ ๕
กล่าวถึงเมืองนนทบุรีไว้ดังนี้
เสด็จออกจากบางปะอิน
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๒๓ ล่องมาตามลำแม่น้ำ เรือฉันมาล่วงหน้า
ทราบว่าเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาส ครู่หนึ่ง แล้วเลยประพาสสวนสะท้อนของ
นายบุตรที่แม่น้ำอ้อม แขวงเมืองนนทบุรี ว่ามีสะท้อนอย่างดีๆ
ที่สวนนั้นมากกำลังสะท้อนออกผล เจ้าของสวนเชิญเสด็จเก็บสะท้อน
ทราบว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย แลทรงพระกรุณาแก่เจ้าของสวนมาก
เวลาเย็นเสด็จมาประทับแรมที่หน้าวัดเขมา
จอดเรือพระที่นั่งเข้ากับสะพานหน้าวัดอย่างเราไปเที่ยวกัน
ใช้ศาลาน้ำหน้าวัดเป็นท้องพระโรง ไม่มีพลับพลาฝาเลื่อนอย่างใด
เจ้าพนักงานเจ้าของท้องที่ ก็ดูเหมือนจะไม่รู้ตัวว่า
จะเสด็จมาประทับแรมที่นั้น การล้อมวงกงกำจัดกันตามแต่จะทำได้ ดูก็สนุกดี
จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ กรมหลวงนเรศร์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงเสด็จไปถึง
ได้ยินรับสั่งว่า อาสน์แข็งๆ กันไม่รู้
พอรู้ก็รีบมาจะต้องนั่งอยู่ยังรุ่ง
..
ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้ทรงสร้างพระอารามหลวงเพิ่มขึ้นมาอีกวัดหนึ่ง คือ
วัดปากอ่าวเป็นวัดไทยรามัญ ตั้งอยู่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด
วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
ทั้งพระอารามเพื่ออุทิศถวายแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า
วัดปรมัยยิกาวาส
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖
เมืองนนทบุรีได้พัฒนาขึ้นมาอย่างช้าๆ สภาพโดยส่วนรวมจะเป็นเช่นไรนั้น
ใคร่จะขอคัดหนังสือของพระกรุงศรีบริรักษ์
ผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๖
(พ.ศ.
๒๔๕๘)
มีไปถึงพระมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงนครบาลในสมัยนั้น
ตามคำขอร้องที่ว่าต้องการให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือน
ความมีดังนี้
ภูมิศาสตร์เฉพาะเมืองนนทบุรี
๑.
ว่าด้วยภูมิประเทศ
เมืองนนทบุรีตั้งศาลากลางเมืองอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตรงปากคลองแม่น้ำอ้อมข้ามใต้หมู่บ้านตลาดขวัญ ใต้เมืองเดิมประมาณ ๑๐ เส้น
เมืองนนทบุรีแต่เดิมเป็นดินแดนระหว่างเมืองธนบุรี
(กรุงเทพ)
แลเมืองสามโคก (เมืองปทุมธานี)
เหตุที่จะตั้งเมืองนนทบุรีขึ้น
ปรากฏตามพระราชพงศาวดารดังนี้ คือ
เมื่อจุลศักราช ๙๐๕ ปี พ.ศ.
๒๑๘๖ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีศึกพม่ามาติด พระนคร
เมื่อพม่าข้าศึกยกรี้พลกลับไปแล้ว
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชได้ตรัสว่า
ไพร่บ้านพลเมืองตรีจัตวาปักษ์ใต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อยนัก
หนีอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก
ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสมุทรสาคร
ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรีแบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี
เมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครไชยศรี มีข้อความตามพระราชพงศาวดาร
ดังนี้
อาณาเขตเมืองนนทบุรีแต่เดิมมา
ด้านตะวันออกและด้านใต้ ติดต่อกับกรุงเทพด้านตะวันตกติดต่อกับนครปฐม
ด้านทิศเหนือติดต่อกับเมืองปทุมธานี
แต่อาณาเขตในเวลานี้ด้านตะวันตกแลด้านเหนือเปลี่ยนรูปจากอาณาเขตเดิมด้วยเหตุผล
เมืองที่ขึ้นอยู่ในเมืองนนท์ได้ทำนารุกที่ป่าทุ่ง
ฝั่งตะวันตกออกไปจนแดนกระทุ่มหลักไชย แลกระทุ่มช้างสี
พ้นป่ากระทุ่มมืดออกไปโอบเมืองปทุมไปทางทิศเหนือ
นับว่าอาณาเขตได้รุกเข้าไปในแดนของเมืองนครปฐม เมืองปทุม
แลกรุงเก่าอาณาเขตที่เปลี่ยนแปลงใหม่ จึงคงเป็นดังนี้ คือ
ด้านตะวันออกและด้านใต้
ติดต่อกับกรุงเทพ พรมแดนกันที่คลองเปรมประชากรคนละ ฝั่งคลองเปรม
จับตั้งแต่สถานีหลักหกจนถึงสถานีบางเขนตอนหนึ่ง
ด้านใต้จับตั้งแต่สถานีบางเขนตรงไปตามลำคลองบางเขน
ออกปากคลองล่องลงไปข้ามฟากเข้าคลองวัดละมุดไปออกคลองวัดพิกุล
เข้าคลองสวนแดนไปประจบทางรถไฟสายเพชรที่สุดเพียงคลองวัฒนา
ไปเข้าคลองนราภิรมย์ กินขึ้นไปบนทุ่งวัดเทพเฉลิม วกไปตามคลองเจ้า
คลองขุนศรี ไปออกลำลาดสวายตัดตรงไปกระทุ่มหลักไชย
ด้านเหนือพรมแดนกับกรุงเก่า ตั้งแต่ปลายคลอง ๒ หม่อมแช่ม
ตัดตรงตามทุ่งนาตามคลอง ๑ แลคลองขุนศรี เป็นหมดเขตกรุงเก่าเข้าเขตปทุม
โอบเมืองปทุมตามทุ่งนา ตามลำกล่ำ ตัดตรงมาวัดกระโจม มาคลองบางตะไนย
ออกปากคลองคนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาปั่นกันที่คลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อ
ใต้วัดเทียนถวาย ตามลำคลองมาตกคลองเปรมประชากร
เขตแดนใหม่เป็นดังที่กล่าวมานี้
เมืองนนทบุรีแบ่งเป็น ๔ อำเภอ
๔๙ ตำบล ๗๗๕ หมู่บ้าน
อำเภอตลาดขวัญ
ตั้งอยู่ที่ใต้บ้านตลาดขวัญ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีตำบล ๑๕
ตำบล ๒๖๗ หมู่บ้าน
อำเภอบางบัวทอง
ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองพระราชาภิมณฑ์ มีตำบล ๑๔ ตำบล
หมู่บ้าน ๒๒๓ หมู่บ้าน
อำเภอบางใหญ่
ตั้งที่ว่าการอำเภอวัดชลอ ปากคลองบางกรวยมีตำบล ๑๐ ตำบล
หมู่บ้าน ๒๑๗ หมู่บ้าน
อำเภอปากเกร็ด
ตั้งที่ว่าการอำเภอวัดสนามไชย มีตำบล ๑๐ ตำบล หมู่บ้าน ๑๖๘ หมู่บ้าน
เขตแดนติดต่อระหว่างอำเภอตลาดขวัญ พรมแดนกับอำเภอปากเกร็ด ที่คลองบางตลาด
พรมแดนกับอำเภอบางบัวทองที่คลองบางรักใหญ่
พรมแดนกับอำเภอบางใหญ่คนละฝั่งคลองอ้อมมาออกคลองบางกรวย
อำเภอปากเกร็ด
พรมแดนกับอำเภอบางบัวทอง ที่คลองลำโพ
อำเภอบางบัวทอง
พรมแดนกับอำเภอบางใหญ่ ที่คลองบางใหญ่
แม่น้ำลำคลองในเมืองนนทบุรี
เป็นแม่น้ำสำคัญเกี่ยวด้วยการไปมาค้าขายแลการเดินเรือแพ
แม่น้ำบางตอนเป็นแม่น้ำที่ขุดขึ้นเป็นทางลัด แต่โดยเหตุที่สายน้ำเดินตรง
น้ำจึงแรงกัดเอาเป็น แม่น้ำเหมือนกับแม่น้ำที่ไม่ได้ขุด
แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมนั้นคือลำแม่น้ำอ้อมที่เรียกกันว่า
คลองอ้อมตรงหน้าเมืองนนท์เดี๋ยวนี้ไปออกคลองบางกรวยเหนือวัดลุ่ม
ส่วนแม่น้ำตั้งแต่คลองอ้อมตรงไปวัดเขมานั้นเป็นทางลัด
ได้ขุดขึ้นเมื่อจุลศักราช ๙๘๘ ปี พ.ศ.
๒๑๖๙ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง
แม่น้ำตอนตั้งแต่วัดชลอไปวัดขี้เหล็กนั้น ได้ขุดเมื่อจุลศักราช ๙๐๐ พ.ศ.
๒๐๘๑
แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
คลองลัดเกร็ดนั้นขุดเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๘ แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ปรากฏตาม พระราชพงศาวดารว่า ขุดกว้าง ๖ วา ลึก ๖ ศอก ยาว ๒๙ เส้น
พระชลบุรี ผู้ว่าราชการเมืองชล เป็นแม่กองขุด ขุดอยู่ปีเศษจึงสำเร็จ
ลำคลองอ้อมหรือแม่น้ำอ้อม
มีคลองสำคัญๆ ที่เป็นทางเชื่อมการไปมาค้าขายหลายคลอง
แต่คลองเหล่านี้จะใช้ได้เฉพาะฤดูหน้าน้ำ
คลองที่นับว่าเป็นทางเชื่อมแม่น้ำลำคลองอื่น คือ
คลองบางรักใหญ่
ปากคลองอยู่ที่ลำคลองอ้อม อยู่ทิศตะวันตกของบ้านบางพลูห่างบ้าน
บางพลูประมาณ ๓๐ เส้น คลองนี้ลัดไปออกคลองบางบัวทอง
ใกล้กว่าที่จะไปทางแม่น้ำ ประมาณ ๒๐๐ เส้น
คลองบางใหญ่
ปากคลองอยู่ที่ลำแม่น้ำอ้อม ใกล้วัดค้างคาว เป็นคลองตรงไปออกคลอง
นราภิรมย์ และถ้าจะไม่ไปทางคลองนราภิรมย์
ไปออกแม่น้ำสุพรรณที่ตรงวัดลานตากฟ้าเหนือคลองกระทุ่มเมืองก็ได้
คลองบางคูเวียง
ปากคลองอยู่ที่ลำแม่น้ำอ้อม ใกล้วัดยุคันธร์ คลองนี้ไปออกคลอง
มหาสวัสดิ์ใต้สถานีธรรมสพน์ก็ได้ ไปออกคลองวัดไผ่ ไปออกวัดบ้านช่างเหล็ก
คลองบางกอกใหญ่ ก็ได้
แต่การที่จะไปทางนี้ระยะทางพอกันกับที่จะเดินทางแม่น้ำใหญ่
ส่วนไปทางคลองนราภิรมย์ไปออกสถานีศาลาธรรมสพน์นั้นย่นระยะทางได้กว่า ๒๕๐
เส้น
คลองบางราวนก
ปากคลองอยู่ที่ลำแม่น้ำอ้อม ใต้ปากคลองบางคูเวียงสัก ๓๐ วา คลอง
บางราวนกนี้ไปออกคลองวัดไผ่ที่วัดใหม่
หรือจะมาออกทางคลองขื่อขวางวัดไชยพฤกษ์ก็ได้
คลองบางสีทอง
ปากคลองอยู่ตรงหน้าที่ว่าการอำเภอบางใหญ่ข้าม เป็นคลองลัดมาออก
ลำแม่น้ำใหญ่ ตรงหน้าโรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางข้าม
คลองบางกรวย ปากคลองอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบางใหญ่
ตรงวัดชลอมาออกแม่น้ำใหญ่ตรงหน้าวัดเขมาข้าม
(แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม)
คลองบางแพรก บางตะนาวศรี
บางขุนเทียน เป็นคลองปลายตันตามทุ่งนาแต่เป็นคลอง
ที่มีบ้านเรือนราษฏรมาก แลสองฝั่งคลองเป็นสวน
เป็นคลองที่น่าเที่ยวในเวลาฤดูน้ำ
คลองบางตลาด
ปากคลองอยู่ที่วัดเชิงท่า ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองนี้เมื่อยัง
ไม่ทำประปา เป็นทางลัดไปออกคลองเปรมประชากรก็ได้
ในเวลานี้ไปสุดแค่คลองผ่านประปา
คลองบางบัวทอง
ปากคลองอยู่ที่เหนือโรงอิฐหลวงอ้อมเกร็ด อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตอนปากคลองทางคดเคี้ยวมาก แต่เมื่อพ้นปากคลองเข้าไปทางลึก ๕๐
เส้นตรงคลองนี้
ไปประจบกับคลองราชาภิรมณฑ์ส่วนตัวลำคลองไปที่สุดเพียงบ้านละหารประจบคลองลำโพ
คลองพระราชาภิมณฑ์
ปากคลองอยู่เหนือวัดราษฎร์บรรหาร ฝั่งตะวันตกของลำคลอง
บางบัวทองไปออกลำลาดสวาย คลองบางภาษี ที่วัดบางภาษี แม่น้ำสุพรรณ
เป็นทางชาวเมืองนนท์ ไปตัดฟืนเมืองสุพรรณทางนี้
คลองบางเขน
ปากคลองอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้บ้านตลาดแก้วคลองนี้
ไปออกคลองเปรมประชากรตรงสถานีบางเขนก็ได้ ไปออกคลองวังหิน
คลองลาดพร้าวไปเมืองนครเขื่อนขันธ์ ไปออกคลองแสนแสบ
ลัดที่ตรงคลองพลับพลาไปเมืองมีนบุรีก็ได้
คลองมหาสวัสดิ์
ปากคลองอยู่ที่วัดไชยพฤกษ์ ตรงไปแม่น้ำนครไชยศรี ออกตรงใต้บ้าน งิ้วราย
หรือจะไปออกคลองนราภิรมย์
คลองทวีวัฒนาก็ได้เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นเพื่อไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เพราะทางรถไฟสายใต้ยังไม่มี
เมืองนนทบุรีมีที่ดินทั้งสวนแลนา
ที่สวนมีอยู่ในอำเภอตลาดขวัญแลอำเภอบางใหญ่โดยมาก
ส่วนอำเภอบางบัวทองแลอำเภอปากเกร็ดนั้น มีที่นามากกว่าที่สวน
สวนมีทุเรียนแลส้มเขียวหวานเป็นไม้ยืน นอกจากนี้มีไม้อื่นๆ เป็นไม้แซม
แลมีผลไม้อีกชนิดหนึ่งเป็นของมีชื่อสำหรับเมืองนนท์ คือ สะท้อนห่อคลองอ้อม
สะท้อนนี้มีตามแถวปากคลองอ้อมฝั่งเหนือ
เวลานี้เจ้าของสวนสะท้อนไม่สู้จะนิยม เห็นว่าประโยชน์สู้ส้มเขียวหวานไม่ได้
ได้พากันโค่นสะท้อนปลูกส้มเขียวหวานแทนชุกชุม
ต่อไปสะท้อนมีชื่อเสียงจะแพงขึ้น
นาในเมืองนนทบุรี
แต่เดิมทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นนาปักโดยมาก
แต่เวลานี้เจ้าของนาได้เปลี่ยนเป็นวิธีนาหว่าน ด้วยเหตุฝนไม่ให้ช่อง
๒.
การปกครองแลการภาษีอากร
เมืองนนทบุรีเป็นเมืองขึ้นในมณฑลกรุงเทพ มีศาลากลาง โรงศาล
หอทะเบียนที่ดินได้เริ่มจัดการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
มีกำนัน พันทนายบ้านเป็นระเบียบ แบบแผน
แลได้จัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบอย่างดีเป็นลำดับมาโดยรวดเร็วในเวลานี้นับว่าได้จัดการเข้ารูปเรียบร้อยดียิ่ง
การโจรผู้ร้ายนอกจากอาศัยอำเภอ กำนัน เป็นผู้ปราบปราม
ยังได้จัดการพลตระเวนขยายออกไปในถิ่นสำคัญๆ เป็นกำลังของผู้ปกครองท้องถิ่น
การภาษีอากร แยกวิธีการออกเป็น ๒ อย่าง
ฝ่ายบ้านเมืองจัดการอย่างมีระเบียบชั้นนอก มีสมุห์บัญชีเป็นผู้เก็บเงิน
รวมอยู่ในกรมการอำเภอ มีค่านา ค่าน้ำ อากรสวนแลอื่นๆ ส่วนภาษีผ่านด่าน
กรมศุลกากรตั้งด่านครองเก็บ
ด่านใหญ่ตั้งเจ้าพนักงานมีเงินเดือนด่านย่อยให้สิบลด ด่านเวลานี้มีอยู่คือ
๑.
ด่านใหญ่ปากคลองอ้อม ๒. ด่านบางเขน
๓. ด่านย่อยปากคลอง มหาสวัสดิ์ ๔.
ด่านย่อยปากคลองบางใหญ่ ๕.
ด่านย่อยคลองบ้านแหลม ๖. ด่านย่อยคลอง บางบัวทอง ๗.
ด่านย่อยปากคลองเกร็ด ๘.
ด่านย่อยบางพูด ๙.
ด่านย่อยปากคลองบางสีทอง
ด่านเหล่านี้ได้เงินทางภาษีน้ำตาลโตนด
และนายด่านบางคนได้รับอำนาจจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้จัดการสุรารัฐบาลด้วย
ภาษีฝิ่น
มีเจ้าพนักงานต่างหากจากสุรา แบ่งผู้จัดการออกเป็น ๒ แขวงตอนปากเกร็ด
แลบางบัวทองแขวงหนึ่ง ตอนบางใหญ่ตลาดขวัญแขวงหนึ่ง
ทะเบียนเรือเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายหนึ่งของกรมเจ้าท่า ทำการโดยเฉพาะ
ตั้งที่ทำการที่เมือง การตรวจตราจับกุมอาศัยกำลังเจ้าพนักงานฝ่ายบ้านเมือง
การอื่นๆ อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าแผนก
หวย
มีผู้รับผูกขาดมาจากนายอากร รับกินเองใช้เอง รวมทั้งเมืองนนท์มี ๓ แขวง
แบ่งอาณาเขตแขวงไม่ถูกกับอาณาเขตการปกครอง แบ่งตามสะดวกของการหวย
หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการส่งเงินหวยให้เจ๊กมากที่สุดคือ
หมู่บ้านบางตะนาวศรี เจ๊กว่าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหมื่นบาท
หวยที่นี่แปลกกว่ากรุงเทพ ใช้เพียง ๒๘ ต่อต้นทุน
สุราโรงทำนองเป็นผู้ผูกขาด
การแบ่งแขวงก็แบ่งตามความสะดวกในการสุรา การตรวจตราจับกุมส่วนเหล้าเถื่อน
น้ำตาลเมา เป็นธุระของฝ่ายบ้านเมือง
การตรวจตราโรงร้านเป็นธุระของเจ้าพนักงานโรงสุราที่จัดกันมาต่างหาก
๓.
ว่าด้วยการสำมโนครัว
เมืองนนทบุรีมีจำนวนพลเมืองที่ได้สำรวจอย่างแน่นอน ๗๒,๔๐๗
คน พลเมืองโดยมากเป็นมอญและแขก ไทยมีมากกว่ามอญ มอญมากกว่าแขก
แขกน้อยกว่าไทย
มอญได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบตั้งแต่คลองบางตลาดไปจนสุดเขตแดนของเมืองนี้พวกหนึ่ง
อยู่ในแถวคลองขุนศรี คลองญี่ปุ่น อำเภอบางบัวทองพวกหนึ่ง
มอญพวกนี้ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่าเป็นพวกที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
มา ๒ คราว คราวที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ คราวที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๗
ในคราวนี้ มาถึง ๓๐,๐๐๐ เศษ
รัฐบาลได้จัดให้อยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง
เมืองปทุมธานีบ้าง
ส่วนแขกนั้นได้แยกย้ายกันอยู่หลายแห่ง ที่บ้านตลาดขวัญพวกหนึ่ง
ตลาดแก้วพวกหนึ่ง คลองบางตลาดพวกหนึ่ง บ้านท่าอิฐพวกหนึ่ง แขกละหารพวกหนึ่ง
แขกบ้านละหาร เป็นแขกบ้านท่าอิฐ บางตลาด ตลาดแก้ว ยกออกไป
แขกเหล่านี้เข้าใจว่าได้มาอยู่ก่อนพวกมอญ แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน
๔.
ว่าด้วยการศาสนาแลการเล่าเรียน
ทางฝ่ายพุทธศาสนานับว่าเจริญ
พระสงฆ์องค์เจ้าปฏิบัติกิจการในศาสนาอย่างเคร่งครัดดีฝ่ายศาสนาอิสลามต่างหมู่บ้านก็ต่างมีโบสถ์
เป็นที่กระทำพิธีกรรมตามศาสนา โบสถ์ได้ทำเป็นตึกอย่างถาวรถึง ๓ แห่ง คือ
ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ ท่าอิฐ พวกแขกบ้านอื่นๆ
นอกจากบ้านตลาดขวัญปรองดองกันในทางศาสนาเรียบร้อย
ส่วนหมู่บ้านตลาดขวัญไม่สู้ปรองดองกันต้นเหตุเกิดจากเรื่องถือ ๑๐ ถือ ๒๐
การเล่าเรียนนั้นในเมืองนนทบุรีมีโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่สำคัญ
โรงเรียนนี้จัดดีทั้งการปกครองแลการสอน
ฝรั่งบางคนที่ได้มาเห็นการสอนของโรงเรียนสรรเสริญว่าจัดดีกว่าโรงเรียนเมืองนอกที่เทียบชั้นเดียวกัน
ส่วนโรงเรียนของกรมศึกษาธิการ มีโรงเรียนตัวอย่างประจำเมือง
ตั้งอยู่ที่วัดท้ายเมือง นอกจากโรงเรียนตัวอย่างได้จัดให้มีโรงรียนประจำอำเภอ
นอกจากโรงเรียนประจำอำเภอยังได้มีโรงเรียนตามหมู่บ้านใหญ่ ๆ
การเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนั้นได้อาศัยพระเป็นกำลังสำคัญ
เจ้าอธิการบางวัดได้พยายามจัดสร้างโรงเรียนอย่างมั่นคงขึ้นหลายแห่งการศึกษาเฉพาะในเมืองนี้นับว่าได้รับอุปการะจากวัดมาก
๕.
ว่าด้วยโรงงาน การกสิกรรม พานิชการแลการหัตถกรรม
การหัตถกรรมซึ่งเป็นของพื้นเมือง มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างหนึ่ง
การจักสานอย่างหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผานั้นชาวบ้านแถวปากคลองอ้อมทำหม้อตาล
ชาวบ้านแถวเกาะเกร็ด ปั้นโอ่งอ่างกระถางต้นไม้
เครื่องปั้นดินเผานี้เป็นของพื้นเมืองมีมานาน ทำได้อย่างดี
ไม่มีที่อื่นสู้ดินที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา
ใช้ดินท้องนาที่ในบริเวณเกาะศาลากุนแลบ้านแหลมใหญ่
วิธีนั้นซื้อนากันเป็นแปลง ๆ แล้วขุดเอาดินที่นานั้นมาใช้ นอกจากดินในที่
๒ แห่งนี้ใช้ไม่ได้หรือจะใช้ก็ไม่ดี
ส่วนการจักสาน
มีทำงอบและเข่งปลาทู พวกทำงอบอยู่แถวคลองบางกรวยแลบางราวนก บางคูเวียง
พวกทำเข่งปลาทูอยู่แถวตั้งแต่บางแพรกไปจนคลองบางตลาด
โรงงานที่มีในเมืองนนท์
มีโรงอิฐหลวง
ตั้งอยู่ที่ป้อมเกร็ดใต้ปากคลองบางบัวทองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
โรงอิฐนี้เป็นของพระคลังข้างที่ ทำอิฐอย่างฝรั่งได้ผลดี โรงสีตั้งอยู่ใกล้
ๆ กับ โรงทำอิฐ ทำการสีข้าวของตนเองแลรับจ้างสีข้าวราษฎร
ได้ประโยชน์ดีเหมือนกันโรงหีบนั้นมีโรงหีบเครื่องจักรโรงหนึ่ง
ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางใหญ่ แลโรงที่ใช้แรงกระบือ
ตั้งอยู่ตามระยะคลองอ้อมถึง ๓ โรง
เป็นโรงสำหรับรับจ้างหีบอ้อยของราษฎร
๖.
เรือไฟ รถไฟ
เมืองนนทบุรีมีรถไฟสายหนึ่งเดินตั้งแต่วัดสิงขรผ่านตามสวนมาข้ามที่คลองบางกรวยตัด
ไปบางใหญ่ ทางหนึ่งแยกมาเมืองนนท์ตรงบ้านตึก เยื้องศาลากลางข้ามทางหนึ่ง
ทางที่ตัดไปบางใหญ่นั้นเจ้าของได้ตั้งใจจะทำไปอำเภอบางบัวทอง
ที่สุดบ้านเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา กลางกรุงเก่าแต่ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ
ตอนที่ไปบางใหญ่กับเมืองนนท์จะได้ประโยชน์เฉพาะรับคนโดยสาร
คงจะไม่ได้ประโยชน์ในทางบรรทุกสินค้า
แต่ตอนบ้านเจ้าเจ็ดมาบางบัวทองนั้นเข้าใจว่าจะได้ประโยชน์
ในทางบรรทุกข้าวมาก
เรือที่รับส่งคนโดยสารนั้น
มีเรือยนต์ของบริษัทแม่น้ำมอเตอร์โบ๊ต
เดินระหว่างปากคลองบางใหญ่ไปออกคลองบางกอกน้อย
รับส่งคนขึ้นลงที่ท่าข้างวังหลวงสายหนึ่ง
เดินระหว่างปากคลองบางใหญ่มาส่งตลาดเมืองนนท์
แต่เดินเฉพาะฤดูที่น้ำเดินได้สายหนึ่ง
เดินระหว่างเมืองปทุมแลปากเกร็ดไปส่งที่ท่าบางกระบืออีกสายหนึ่ง
นอกจากเรือประจำมีเรือผ่านที่ไปกรุงเก่า อ่างทอง บ้านผักไห่
อีกพวกหนึ่งแลนอกจากเรือรับส่งคนโดยสารมีเรือโยงลากเรือไปส่งกรุงเก่าและแควเหนืออีกพวกหนึ่ง
๗.
ตลาดค้าขาย
ตลาดค้าขายมีตลาดใหญ่ที่อำเภอปากเกร็ด เป็นตลาดแพจอดเรียงเป็นตับ
ตั้งแต่หน้าวัดสนามไชยไปจนเลยวัดบ่อ ตลาดนี้เป็นตลาดสำคัญของเมืองนี้
ทำการติดต่อกับพวกตลาดย่อย แลแม่ค้าเร่ แถบเมืองปทุม บางบัวทอง
บ้านแหลมใหญ่ บ้านใหม่ตลาดเนื้อ
ที่ปากคลองบางราวนก บางคูเวียง มีตลาดแพอีกตลาดหนึ่ง
ทำการติดต่อกับพวกคลอง บางใหญ่ บางราวนก บางคูเวียง ไปจนคลองนราภิรมย์
นอกจากสองตลาดนี้ไม่มีตลาดที่เป็นแก่นสาร ส่วนตลาดขายของสวนนั้นมีอยู่ ๔
แห่ง ๑.ปากคลองบางเขน
ของสวนที่ออกจากคลองบางเขน บางตะนาวศรี บางแพรก แลบางอื่นๆ ไปรวมขายที่นั่น
๒. ปากคลองบางกรวยตรงวัดชลอของสวนในแถวบางขนุน
บางขุนกอง บางศรีเมือง บางศรีทอง บางกรวย มารวมขายที่นั่น ๓.
ปากคลองบางราวนก บางคูเวียง ของสวนในคลองบางราวนก
บางคูเวียง มารวมขายที่นั่น ๔.
ปากคลองบางใหญ่ ของสวนในคลองบางใหญ่ บางเลน บางรักน้อย
บางรักใหญ่ไปขายที่นั่น ตลาดสวนติดเวลาเช้าเวลาเดียวสายหน่อยเลิกหมด
๘.
การทำมาหากิน
ชาวเมืองนนท์ทำสวนแลทำนาเป็นพื้น
การหัตถกรรมมีเครื่องปั้นดินเผาและการจักสานเป็นงานที่สำหรับทำในเวลาว่าง
ชาวเมืองนนท์น่าชมที่ไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปในใช่เหตุ ว่างนั่นทำนี่
เป็นพลเมืองขยันต่อการงานจริงๆ แลนอกจากการทำนา ทำสวนเครื่องปั้นดินเผา
ยังมีพวกที่ทำน้ำตาลโตนดอีกพวกหนึ่ง
น้ำตาลโตนดกรอกเป็นหม้อเป็นคะนนเป็นสินค้าซึ่งออกจากเมืองนนท์ปีละมากๆ
๙.
นิสัยความประพฤติพลเมือง
นิสัยชาวเมืองนนท์ใจกว้าง
การตีรันฟันแทงนับว่าเป็นมือขวา การพนันไม่สู้จะชอบเป็น
นักเลงยาฝิ่นน้อย เป็นคนหมั่นต่อกิจการงาน
๑๐.
ผลประโยชน์รายได้
เมืองนี้ประโยชน์รายได้รวมทุกประเภทราว ๕๐๐,๐๐๐
บาท ได้จากค่าอากรค่านาแลอากรสวนใหญ่ มากกว่าอย่างอื่น
๑๑.
ที่เที่ยว
ที่เที่ยวมี ๒ ประเภท
เที่ยวหาอากาศสบายที่วัดเขมาแห่งหนึ่ง
วัดเสาธงทองแห่งหนึ่งวัดเขมาอยู่ตรงปากคลองบางกรวยข้าม
วัดเสาธงทองอยู่ตรงอ้อมเกร็ดเยื้องปากคลองบ้านแหลมใหญ่ข้าม
เที่ยวเพื่อเย็นตาสบายใจแลดูฐานเดิมแห่งลำแม่น้ำเก่าต้องเที่ยวในคลองอ้อมออกคลองบางกอกน้อย
๑๒.
โบราณคดี
เมืองนี้ครั้งกรุงเก่า เป็นเมืองห่างจากพระนครหลวง
แลเป็นเมืองจัตวาปักษ์ใต้ไม่สู้จะมี
เหตุการณ์แลถาวรวัตถุเกี่ยวเนื่องโบราณคดี
มีบ้างก็เป็นเรื่องขุดแม่น้ำลำคลองดังที่ว่ามาในตอนต้น นั้น
นอกจากเรื่องขุดแม่น้ำลำคลองมีเรื่องเกี่ยวกับวัดเขมาอยู่ตอนหนึ่ง คือ
เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๗ ปี พ.ศ.
๒๓๐๘
ในครั้งนั้นมีศึกพม่ามาติดพระนคร มีความตามพระราชพงศาวดารดังนี้
ฝ่ายกองทัพหน้าพม่าข้างทางใต้
ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตอกระออมนั้น ถึง ณ เดือนสิบ ปีระกาสัปตศก เมฆราโบ
จึงยกทัพเรือพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทย ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบำหรุนั้นแตกแล้วก็ยกลงมาตีทัพเรือพวกไทยตำบลบางกุ้งก็แตกฉานพ่ายหนี
จึงยกล่วงหน้าเข้ามาถึงเมืองธนบุรี พระยารัตนา ธเบศมิได้สู้รบหนีกลับขึ้นไปกรุงเทพมหานคร
กองทัพเมืองนครราชสีมา ก็เลิกไปทางฟากตะวันออก ยกกลับไปเมืองสิ้น
พม่าก็ได้เมืองธนบุรี เข้าตั้งอยู่ ๓ วันแล้วเลิกทัพกลับไป ณ
ค่ายตอกระออมดังเก่า
ในขณะนั้นมีกำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่ง บรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่าย ณ
กรุงเทพมหานคร โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่า
ถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอีก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบหรือจะไปเสีย
นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ
แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่น เบาก่อน
ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้วก็ถอยกำปั่นล่องลงมาทอดอยู่ ณ ปากคลองบางกอกใหญ่
ครั้น ณ เดือนยี่ เมฆราโบ ก็ยกทัพเรือเข้ามาเมืองธนบุรีอีก
ไม่มีใครอยู่รักษาเมืองแลสู้รบ พม่าเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชยเยนทร์ฟากตะวันตก
ยิงโต้ตอบกับปืนกำปั่นจนเวลาค่ำ กำปั่น จึงถอนสมอลอยขึ้นไปตามน้ำ
ขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี แลกองทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่
เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสียมิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า พม่าเข้าตั้งอยู่
ณ เมืองธนแล้ว จึงแบ่งทัพขึ้นมา
ตั้งค่าย ณ
วัดเขมาตลาดแก้วทั้งสองฟาก
ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบ ช่วง
ล่องลงไปให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมา
ก็ได้จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง ยิงค่ายพม่า ทั้งสองฟาก
พม่าต้องปืนล้มป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้น
สลุบช่วงก็ถอนขึ้นมาหากำปั่นใหญ่ ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนท์
ฝ่ายทัพพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนท์ ครั้นเวลาค่ำให้ยกสลุบช่วงล่องลงไปอีก
จุดปืนชายแคมยิงค่ายเมืองนนท์ พม่าหนีออกไปซุ่มอยู่หลังค่าย
อังกฤษแลไทยลงกำปั่นขึ้นไปเก็บของในค่าย
พม่ากลับกรูกันเข้ามาข้างหลังค่ายไล่ฟันแทงไทยแลอังกฤษแตกหนีออกจากค่ายลงกำปั่น
แลตัดศรีษะล้าต้าอังกฤษได้คนหนึ่ง เอาขึ้นเสียบประจานไว้หน้าค่าย
นายกำปั่นจึงบอกแก่ล่ามว่าปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า
เสียเปรียบข้าศึกจะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอกแล้วจะขอเรือรบ
พลทหารสิบลำจะลงไปรบพม่าอีก ล่ามกราบเรียนแก่เจ้าพระยาพระคลัง
พระยาพระคลังกราบบังคมทูล
จึงโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกลงบรรทุกเรือใหญ่ขึ้นไปกำปั่น
แต่เรือสิบลำนั้นหาทันจัดแจงให้ไปไม่
ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องเรือกำปั่นแลสลุบช่วงลงไปจนพ้นเมืองธนบุรีแล้ว
จึงทอดสมออยู่
ขณะนั้นไทยในกรุงเทพมหานคร
ลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณ
สวนอังกฤษจับขึ้นไว้บนเรือมากกว่าร้อยคน แล้วก็ใช้ใบหนีไปออกท้องทะเล
ครั้นเพลาค่ำไทยหนีขึ้นมาถึงพระนครได้ ๒ คน
จึงรู้เนื้อความว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่า หนีไปแล้วได้แต่มัดผ้า
ซึ่งขนขึ้นไว้สี่สิบมัด
นอกจากวัดเขมามีวัดหนึ่งที่เกี่ยวด้วยโบราณคดี
คือวัดบางอ้อยช้าง ท้องที่อำเภอบางกรวย วัดนี้ว่ากันว่า
เป็นวัดที่ขุนหลวงหาวัดได้เคยจำพรรษาอยู่ จะจริงเท็จฉันใดไม่พบหลักฐาน
..
(การคัดลอกนี้รักษาอักขระตามต้นฉบับเดิมทุกประการ)
เมื่อ พ.ศ.
๒๔๔๕ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้า ฯ
ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงนครบาล
เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่ดินตำบลบางขวาง อำเภอตลาดขวัญ
จังหวัดนนทบุรีเพื่อจัดสร้างเรือนจำมหันตโทษกลาง
แต่ยังไม่ทันสำเร็จเรียบร้อย ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่
๖ ทรงใช้ที่ดินส่วนหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนแบบกินนอน คือ
โรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ ถึงสมัยรัชกาลที่ ๗
เศรษฐกิจตกต่ำมากจึงได้ยุบกิจการโรงเรียนนี้
แล้วมอบอาคารเรียนให้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พ.ศ.
๒๔๗๑ จึงได้ย้ายศาลากลางจากท่าเรือตลาดขวัญ มาตั้งใหม่
ณ อาคารเดิมของโรงเรียนราชวิทยาลัย
ส่วนเรือนจำกลางบางขวางนั้นได้เริ่มดำเนินการใหม่ ราว พ.ศ.
๒๔๖๒ และสร้างเสร็จเปิดดำเนินกิจการได้เมื่อ พ.ศ.
๒๔๗๔
ซึ่งจะได้กล่าวเฉพาะเรื่องในบทต่อไป
อาคารเรียนของโรงเรียนราชวิทยาลัยนี้
นอกจากจะใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแล้ว
ยังจัดแบ่งบางส่วนเป็นที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี
เป็นสำนักงานเทศบาลเมืองนนทบุรี ส่วนหอประชุมของโรงเรียนนั้น
ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๗๖ พ.ศ.
๒๔๙๘ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งนี้
นับว่าเป็นศาลากลางจังหวัด ที่สง่างามยิ่งแห่งหนึ่ง
เนื่องจากรูปแบบการก่อสร้างมีลักษณะเฉพาะที่อิงเอกลักษณ์ไทย
กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นบัญชีไว้เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งด้วย
ทางกระทรวงมหาดไทยเคยขอรื้อดัดแปลง เพื่อสร้างใหม่
ทางกรมศิลปากรคัดค้านจึงคงรูปอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในสมัยก่อนการคมนาคมระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับเมืองหลวง
ต้องใช้ทางน้ำเป็นพื้น
ดังในรายงานที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าใช้เรือยนต์ของบริษัทมอเตอร์โบ๊ต
และมีรถไฟของเอกชนแล่นทางฝั่งตะวันตก
(ชาวบ้านเรียกว่า
รถไฟเจ้าพระยาวรพงศ์) ซึ่งก็ไม่ใคร่สะดวกนัก
ต่อมาการใช้รถยนต์ก้าวหน้าขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๘
ได้มีการตัดถนนรถยนต์เชื่อมระหว่างนนทบุรี
กรุงเทพ ขึ้นเป็นสายแรก เรียกว่า
ถนนประชาราษฎร์
สายต่อมาคือถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำตัดค้างไว้แต่สมัยรัชกาลที่ ๘
แต่สำเร็จใช้เดินรถได้ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ให้ชื่อว่าถนนพิบูลสงคราม
กล่าวได้ว่าจังหวัดนนทบุรีได้เริ่มพัฒนามากขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๘ โดยเฉพาะการคมนาคม และการศึกษา
ส่วนรูปแบบการปกครองก็เปลี่ยนไปตามลักษณะการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
และส่วนท้องถิ่น
เพราะประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๗
ความเจริญเหล่านี้มีอุปสรรคทำให้ชะงักลงด้วยเหตุ ๒ ประการคือ เกิดสงครามโลก
ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒
- พ.ศ.
๒๔๘๘ และเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ.
๒๔๘๕ ซึ่งทำให้สวนทุเรียน จมน้ำ
ทุเรียนตายเกือบหมด เกิดการเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่
หากจะกล่าวถึงผลดีที่ชาวเมืองนนท์ได้รับจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒
ก็อาจจะมีอยู่บ้างคือในราว พ.ศ.
๒๔๘๖ - พ.ศ.
๒๔๘๗
ครั้งนั้นเครื่องบินของสัมพันธมิตรได้โจมตีกรุงเทพฯ หนักมาก
ชาวกรุงเทพฯ จึงอพยพมาเช่าบ้านอยู่ทางจังหวัดนนทบุรี
เพราะไม่มีจุดยุทธศาสตร์ และ ต่อมาก็ได้แต่งงานกับชาวนนท์ไปหลายคู่
โรงเรียนบางแห่งก็ย้ายมา แม้กระทั่งโรงพยาบาลศิริราชก็
ยังย้ายคนไข้มาอยู่ที่บริเวณสนามศาลากลางจังหวัด
โดยสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นเต็มตลอดทั้งสนาม
นับได้ว่าการอพยพของชาวกรุงมีส่วนช่วยให้ชาวเมืองนนท์มีเศรษฐกิจดีขึ้นทั้งการสังคมก็กว้างขวาง
ขึ้นด้วย
รัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ.
๒๔๘๙ - ปัจจุบัน)
แม้จังหวัดนนทบุรีจะเป็นเมืองชานนครหลวง แต่สภาพของตัวเมือง
เมื่อเริ่มสมัยรัชกาลที่ ๙ ยังคงมีสภาพคล้ายหัวเมืองชนบทที่อยู่ห่างไกล
กระทรวงมหาดไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้จังหวัดได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว
จึงได้มอบนโยบายสำคัญมากับผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น
(นาย
สอาด ปายะนันทน์ พ.ศ. ๒๕๐๓
- ๒๕๑๑)
ให้สนองนโยบายของรัฐบาลให้ได้
จังหวัดนนทบุรีจึงได้พัฒนาอย่างรุดหน้าและรวดเร็วมาก โดยเริ่มจากตัวเมือง
และตัวอำเภอที่สำคัญๆ ก่อน ดังจะขอนำตอนหนึ่งจากคำปราศัยของจอมพลประภาส
จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น
ได้กล่าวต่อที่ประชุมข้าราชการ เมื่อคราวมาตรวจเยี่ยมประชาชนชาวนนทบุรี
เมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๖ ดังนี้
..แต่เดิมมา
แม้แต่ภายในตัวเมืองเอง ก็ยังอยู่กันขะมุกขะมอมมอมแมม
ผมก็อยากให้เมืองนี้สวยงามขึ้น และนอกจากนั้น
ถนนเชื่อมจากพระนครเข้ามาถึงแล้ว ทั้งแขก ทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่น ทั้งจีน
ก็พากันมาดูเรือนจำบางขวาง เขาเห็นนนทบุรีพรอวินส์ ขะมุกขะมอมเข้า
ผมก็รู้สึกอายเขาเหลือเกิน มีกอฟเวอเนอร์อยู่ทั้งคน
จะปล่อยให้เก่าแก่เหมือนเดิมไม่ได้ฉะนั้นผมจึงได้เคี่ยวเข็นมายังจังหวัด
พยายามจะให้เห็นจังหวัดนี้สวยงามขึ้น และมีความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควร
ดังนั้น จึงได้รุกมายัง ผู้ว่าราชการจังหวัดมาก
ท่านก็เป็นคนชอบมุมานะในเรื่องนี้อยู่แล้วผมเห็นว่าท่านเหมาะกับงานนี้
จึงได้เชิญมาอยู่ที่นี่และก็ได้เห็นผลทันตาดีเหมือนกัน
จังหวัดนนทบุรีจะพัฒนาอย่างไรนั้น จะขอบรรยายสรุป
โดยอาศัยหัวข้อจากป้ายอนุสรณ์แสดงผลงานของการพัฒนา
ซึ่งสร้างไว้หน้าศาลากลางจังหวัดมากล่าว ดังนี้
ผลการพัฒนาจังหวัดนนทบุรี
ระหว่างปี พ.ศ.
๒๕๐๓ - ๒๕๐๗
ซึ่งสำเร็จด้วยความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ
๑.
การพัฒนาเมืองนนทบุรี
กวาดล้างแหล่งเสื่อมโทรมทั้งเมือง
(ขยายถนนให้กว้าง)
และสร้างเมืองใหม่ (รวมทั้งตลาดสดและถนนโดยรอบ)
เฉพาะอาคารพาณิชย์เทศบาล ๑๒๓ คูหา ราคา ๕,๐๐๐,๐๐๐
บาท มีผู้สร้างอุทิศให้เทศบาล
รวมรายจ่ายตามโครงการประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๒.
การพัฒนาเมืองบางบัวทอง
กวาดล้างแหล่งเสื่อมโทรมครึ่งเมือง และสร้างเมืองใหม่
เฉพาะอาคารพาณิชย์เทศบาล ๑๒๘ คูหา ตลาดสด
(รวมเขื่อนหน้าตลาด)
และถนน ราคา ๖,๐๐๐,๐๐๐
บาท มีผู้สร้างอุทิศให้เทศบาล
รวมรายจ่ายตามโครงการนี้ประมาณ ๘,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๓.
การพัฒนาอำเภอปากเกร็ด
ย้ายที่ตั้งอำเภอและสร้างบริเวณชุมนุมชนการค้าใหม่
เฉพาะอาคารพาณิชย์และอาคาร ต่าง ๆ ราคา ๒,๐๐๐,๐๐๐
บาท มีผู้สร้างอุทิศให้สุขาภิบาล
๔.
การพัฒนางานคมนาคม
๔.๑
ตัดถนนสายบางกรวย ไทรน้อย เป็นถนนลาดยาง ยาว ๓๘
กิโลเมตร (และถนนแยกไปบางบำหรุ)
รวมรายจ่ายตามโครงการนี้ประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐
บาท ทั้งนี้ประชาชนได้อุทิศที่ดินให้ตัดถนนด้วยคิดเป็นเงินอีกประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๔.๒
ถนนตัดใหม่ ๑๐ สาย และปรับปรุงถนนเก่า รวมรายจ่ายประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐
บาท กล่าวคือ บริเวณเมืองด้านตะวันออกได้ตัดถนนซอยหลายสายเช่นซอยวัดบางขวาง
ซอยวัดกำแพง ซอยเหนือโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ซอยหน้าโรงเรียนศรีบุณยานนท์ไปเชื่อมกับซอยเรวดี
ซอยรอบศาลากลางจังหวัดและซอยหลังธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ส่วนทางด้านทิศตะวันตก
มีการตัดถนนเชื่อมตำบล ชุมชน และวัด เข้าสู่ถนนใหญ่ (บางกรวย
ไทรน้อย) หลายสาย เช่น
ซอยวัดเฉลิมพระเกียรติ ซอยวัดประชารังสรรค์
ค่ายลูกเสือ และซอย อ.
บางใหญ่ ฯลฯ
๕.
การพัฒนาการศึกษา
ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ
ห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด ปรับปรุงโรงเรียนให้ถาวร
(๒๓
แห่ง) และอื่นๆ รวมค่าใช้จ่ายประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๖.
การพัฒนางานสาธารณสุข
ได้สร้างอาคารในโรงพยาบาลนนทบุรีเพิ่มเติม
สร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ๓ แห่ง สร้างสถานีอนามัยชั้นสองและอื่นๆ
รวมค่าใช้จ่ายประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๗.
การพัฒนาอาชีพ
ขุดคลองขนาดใหญ่ ๒ คลอง ขุดคลองขนาดเล็กและลอกคลองเก่า ๔๕
คลอง รวม ความยาวประมาณ ๑๕๓ กิโลเมตร
รวมค่าใช้จ่ายในการนี้และกิจการอื่นๆ ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐
บาท
ได้ซื้อรถขุดเพื่อช่วยการทำนา และขุดคลองใหม่ ๓ คัน
ราคาประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๘.
การพัฒนางานสาธารณูปโภค
ติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะที่ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน
และอื่นๆ รวม ๑๐ ถนนยาวประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐
บาท
ปรับปรุงกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง โดยซื้อรถใหม่ ๕๐ คัน
รวมทั้งปรับปรุง กิจการอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายประมาณ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐
บาท
๙.
การพัฒนาตามอำเภออื่นๆ
รวมรายจ่ายประมาณ
๑,๐๐๐,๐๐๐
บาท
รวมการพัฒนาในรอบ ๔ ปี ๖๐,๐๐๐,๐๐๐
บาท
การพัฒนาอื่นๆ
ที่ควรกล่าวถึงได้แก่
๑.
การสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
แทนเขื่อนเดิมที่ พังทลาย เขื่อนที่สร้างใหม่ยาว ๑๗๐ เมตร
ขยายถนนคอนกรีตออกไปอีก ๘ เมตร และมีทางเท้า กว้าง ๔ เมตร
สุดทางเท้ามีลูกกรงคอนกรีตและเสาไฟฟ้าพร้อมดวงโคมทุกระยะ ๖ เมตร
เสร็จเมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๘ ใช้งบประมาณ ๔,๒๗๘,๓๕๐
บาท
๒.
การสร้างสนามกีฬาจังหวัด ค่ายลูกเสือและสวนสาธารณะ
สร้างที่บริเวณวัดโบสถ์ ดอนพรหมเขต อ.
เมืองนนทบุรีติดต่อกับ อ. บางใหญ่ใช้เนื้อที่ประมาณ
๔๐ ไร่ งบประมาณ ในการก่อสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐
บาท เมื่อ พ.ศ.
๒๕๐๘
ผลจากการพัฒนาของจังหวัด
ทำให้ชุมชนต่างๆ ตื่นตัวขึ้น
ต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตน
ทั้งรัฐบาลในสมัยต่อมาได้มีโครงการสร้างงานในชนบทเป็น โครงการสำคัญ
สภาตำบลทุกสภาต่างวางโครงการพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญ
โครงการส่วนใหญ่ได้แก่ การตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน การประปาอนามัย
และการขุดลอกคลอง สมัยปัจจุบันนี้จังหวัดนนทบุรีจึงกำลังพัฒนาในทุกๆ ด้าน
อาทิ การคมนาคม การศึกษา การพาณิชย์ การเกษตร และการสาธารณสุข เป็นต้น
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ
พระบรมวงศานุวงศ์ที่เกี่ยวกับจังหวัดนนทบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาที่ จังหวัดนนทบุรีหลายครั้ง
เท่าที่พอจะค้นหาหลักฐานได้มีดังนี้
พ.ศ.
๒๔๙๔
(โดยประมาณ)
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมชมสวนทุเรียนของชาวสวนแห่งหนึ่ง
สวนแห่งนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี
เป็นสวนของนายสุเทพ รัตนเสวี อดีตผู้แทนราษฎรนนทบุรี
พ.ศ.
๒๕๐๔
- สมเด็จพระศรีนครินทราทราบรมราชชนนี
เสด็จเยี่ยมศูนย์บริการเด็กพิการ ที่อำเภอ ปากเกร็ด เมื่อวันที่ ๖
กุมภาพันธ์
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินร่วมพิธีลอยกระทง ณ
วัดเฉลิมพระเกียรติ พร้อมด้วยเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ เมื่อวันที่
๒๒ พฤศจิกายน
พ.ศ.
๒๕๑๗
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงประกอบพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน
๓ รุ่น และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ที่มีจิตศรัทธา เฝ้าทูลเกล้า ฯ
ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการลูกเสือชาวบ้าน เมื่อวันที่ ๑๖
กุมภาพันธ์
ในวันเดียวกันนี้ได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีเปิดวัดพระแม่การุณย์ของมิซซังโรมัน
คาทอลิก ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ดด้วย
พ.ศ.
๒๕๒๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
เสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน ที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี
พ.ศ.
๒๕๒๓
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เสด็จแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในพิธีตัดลูกนิมิตร ณ วัดกู้
อำเภอปากเกร็ด เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม
ที่มา
:
ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนนทบุรี.
นนทบุรี :
โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงบ้านปากเกร็ด,
๒๕๒๖
|