ประวัติศาสตร์จังหวัดลำปาง
จังหวัดลำปางเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความสำคัญของประวัติศาสตร์
และโบราณคดีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย คือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓
มีชื่อเรียกในตำนานเป็น ภาษาบาลีว่า
"เขลางค์นคร"
คำว่า "ลคร" (นคร)
เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ ซึ่ง
นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย
ปรากฏอยู่ในตำนานศิลาจารึกและพงศาวดารส่วนภาษาพูดโดยทั่วไปเรียกว่า
"ละกอน" ดังนั้นเมืองลคร (นคร)
จึงหมายถึงบริเวณอันเป็นที่ตั้งของ เขลางค์
ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปางในปัจจุบัน ส่วนคำว่า "ลำปาง"
ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานวัดพระธาตุลำปาง หลวง
ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปะ"
ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง
อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ราว ๑๖ กิโลเมตร
เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
คำว่านครลำปาง
เป็นชื่อเรียกเมืองนครลำปางตั้งแต่สมัยเจ้าทิพย์ช้างเป็นต้นมา
ทั้งนี้เพราะได้อพยพผู้คนจากลำปางหลวงมายังเมืองลคร
แล้วเจ้าทิพย์ช้างได้รับการ สถาปนาเป็นเจ้าเมือง จึงเรียกชื่อเมืองว่า
นครลำปาง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นครลำปางยุคแรกหรือสมัยเขลางค์นคร
ซึ่งค้นได้จากตำนานมูลศาสนาชินกาล มาลีปกรณ์ ตำนานจามเทวีวงศ์
ตำนานไฟม้างกัลป์ ตำนานรัตนพิมพวงศ์ และพงศาวดารโยนก กล่าวว่า
เมืองนี้สร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ประมาณปี พ.ศ.
๑๒๐๔ พระฤษีวาสุเทพ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณ
เชิงดอยสุเทพ ได้ร่วมกับพระสุกกทันตฤษีแห่งเมืองละโว้
(ลพบุรี) สร้างเมืองหริภุญไชย
(ลำพูน)
แล้วทูลขอผู้ปกครองจากพระเจ้าลพราช กษัตริย์กรุงละโว้ พระองค์ได้ประทาน
พระนางจามเทวี พระราชธิดาให้มาเป็นผู้ครองนครพร้อมกับได้นำพระภิกษุสงฆ์
ผู้รอบรู้พระไตรปิฎก พราหมณ์ราชบัณฑิต แพทย์ ช่างฝีมือดี เศรษฐี คหบดี
อย่างละ ๕๐๐ คน ตามเสด็จขึ้นมาด้วย ในขณะที่เสด็จขึ้นมานั้น พระนางทรงครรภ์
เมื่อประทับอยู่หริภุญไชยได้ ๗ วัน ได้ประสูติโอรสฝาแฝด ๒ องค์ นามว่า
มหันตยศกุมาร หรือมหายศและอนันตยศกุมารหรืออินทรวร เมื่อกุมารทั้ง ๒
เจริญวัย พระนางจามเทวีได้ ราชาภิเษกเจ้ามหายศให้เป็นกษัตริย์ปกครองหริภุญไชย
ส่วนเจ้าอนันตยศเป็นอุปราช ต่อมา เจ้าอนันตยศมีพระประสงค์ไปสร้างเมืองใหม่
พระฤาษีวาสุเทพ จึงได้แนะนำให้ไปหาพรานเขลางค์
ที่เขลางค์บรรพต หรือภูเขาสองยอด ครั้นเมื่อพบแล้วพรานเขลางค์จึงได้พาไปพบ
พระสุพรหมฤาษีบนดอยงาม แล้วขออาราธนาให้ช่วยสร้างเมือง พระสุพรหมฤาษีและพรานเขลางค์ได้เลือกหาชัยภูมิ
ที่เหมาะสม แล้วสร้างเมืองขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง
(วังกตินที) เมื่อ พ.ศ.
๑๒๒๓ โดยสร้างเป็น
สี่เหลี่ยมจัตุรัสตามแบบอย่างเมืองหริภุญไชย แล้วขนานนามว่า เขลางค์นคร
แล้วอัญเชิญเจ้าอนันตยศขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง ทรงนามว่า พระเจ้าอินทรเกิงกร
เมืองเขลางค์
: สมัยหริภุญชัย
เมืองเขลางค์ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นใน พ.ศ.
๑๒๒๓ มีรูปร่างเป็น
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงเมืองชั้นล่างเป็นคันดิน ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นอิฐ
สันนิษฐานว่า สร้างต่อเติมขึ้น ภายหลัง
มีความยาววัดโดยรอบ ๔,๔๐๐ เมตร เนื้อที่ประมาณ ๖๐๐
ไร่ มี ประตูเมืองที่สำคัญ ได้แก่
ประตูม้า แระตูผาบ่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกด
และประตูตาล ปูชนียสถานที่สำคัญได้แก่
วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคย เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธ
มหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
ระหว่าง พ.ศ.
๑๙๓๒ - ๒๐๑๑
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ได้แก่
วัดอุโมงค์ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ บริเวณประตูตาล
ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองได้แก่วัดป่าพร้าว วัดพันเชิง วัดกู่ขาว หรือ
เสตกุฎาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระสิกชีปฏิมากร วัดกู่แดง วัดกู่คำ
ระหว่างวัด กู่ขาวมายังเมืองเขลางค์ก็มีแนวถนนโบราณทอดเข้าสู่ตัวเมืองสันนิษฐานว่า
สร้างในสมัยที่พระนางจามเทวีเสด็จมาประทับที่เมืองเขลางค์ใช้เชื่อมเมืองเขลางค์กับเขตพระราชสถาน
ที่เรียกว่า อาลัมพางค์นคร
และใช้เป็นเขื่อนกั้นน้ำเพื่อทดน้ำเข้าสู่ตัวเมือง
เมืองเขลางค์
: สมัยลานนาไทย
ใน พ.ศ.
๑๘๒๔ พระเจ้ามังรายได้แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองหริภุญชัย
พระยาญีบา เจ้าเมืองสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่งพระยาเบิกโอรสยังเมืองเขลางค์นคร
ต่อมา ใน พ.ศ. ๑๘๓๘
พระยาเบิก ได้ยกกองทัพไปตีเมืองหริภุญชัยคืน แต่พ่ายแพ้กลับมา ขุนคราม
โอรสของพระเจ้ามังรายยก
กองทัพติดตามมาทันปะทะกันที่ตำบลแม่ตาน
ปรากฏว่าพระยาเบิกเสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยา
ญีบาเมื่อทราบข่าว จึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าเมืองสองแคว
(พิษณุโลก) ประทับ
อยู่ที่นั่นจนสิ้น
พระชนม์ จึงนับว่าเป็นการสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเมืองเขลางค์รุ่นแรก
เมื่อขุนครามตีเมืองเขลางค์ได้แล้วจึงแต่งตั้งให้ขุนไชยเสนาเป็นผู้รั้งเมืองสืบ
ต่อมา ขุนไชยเสนาได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.
๑๘๔๕ เป็นเมืองเขลางค์รุ่นสอง
เมืองเขลางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๘๐ ไร่ อยู่ถัด
จากเมือง
เขลางค์เดิมลงไปทางทิศใต้ กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ
วัดความยาวโดยรอบได้ ๑,๑๐๐ เมตร มีประตูเมือง
ที่สำคัญได้แก่ ประตูเชียงใหม่
ประตูนาสร้อย ประตูปลายนา โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ วัดปลายนา
ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง และวัดเชียงภูมิ ปัจจุบันคือ วัดปงสนุก
ในระยะต่อมาได้รวมเมืองเขลางค์ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน
ดังปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมลานนาไทยก่อนรับอิทธิพลของพม่า
เช่นที่วัดพระแก้วดอนเต้า
เมืองเขลางค์
: เมืองนครลำปาง
เมืองเขลางค์ระยะนี้มีชื่อเรียกว่าเมืองนครลำปาง
ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดและตลาดเมืองลำปาง
มีพื้นที่ประมาณ ๓๕๐ ไร่ กำแพงก่อด้วยอิฐยาว ๑,๙๐๐
เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑
ในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์ (ปัจจุบันอยู่ในแนวถนนรอบเวียง)
โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ หออะม๊อก
(หอปืนใหญ่โบราณ)
วัดกลางเวียงหรือ วัดบุญวาทย์วิหาร วัดน้ำล้อม วัดป่าดั๊วะ
ความสำคัญของเมืองเขลางค์สมัยราชวงศ์มังราย
(พ.ศ.
๑๘๔๕ - ๒๑๐๑)
ในสมัยราชวงศ์มังราย เขลางค์นครเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรลานนาไทย
ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองว่าเมืองนคร เจ้าเมืองมียศเป็นหมื่น
ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
เชียงใหม่ทำสงครามเพื่อแย่งชิงหัวเมืองไทยเหนือกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
นครลำปางเป็นแหล่งชุมนุมทัพที่สำคัญ
ของพระเจ้าติโลกราชทรงแต่งตั้งให้หมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมือง
จนกระทั่งสามารถตีเมืองเชลียงไว้ได้ ต่อมาในปี พ.ศ.
๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ยกกองทัพมาตี
นครลำปาง โดยเข้าทางประตูนางเหลี่ยว
แล้วอัญเชิญพระสิขีปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญไปจากวัดกู่ขาว
นครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทย มาจนถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์
แห่งกรุงหงสาวดี ได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.
๒๑๐๑ นับตั้งแต่นั้นมาลานนาไทย
ทั้งปวงจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามาเป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี
บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาบ้าง เช่น
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ยุคแห่งการกอบกู้บ้านเมืองของชาวนครลำปาง
นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองเป็นต้นมา
พม่าได้จัดส่งเจ้านายมากำกับการปกครอง
หัวเมืองลานนาไทย
โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เชียงใหม่ ต่อมาระยะหลังได้ ย้ายไปอยู่ที่
เชียงแสน
การปกครองของพม่าระยะหลังมิได้มุ่งให้หัวเมืองลานนาไทยเป็นประเทศราชอย่างแท้จริงดังแต่ก่อน
เพราะมีการกบฏบ่อยครั้ง ประกอบกับพม่าต้องทำสงครามกับมอญ
จึงปกครองชาวลานนาอย่างกดขี่และเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น
ทำให้ชาวลานนาไทยหลายกลุ่มลุกฮือขึ้นต่อสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนกระทั่งถึงสมัยของเจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม
หรือ "หนานทิพย์ช้าง"
สามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ
ต่อมาบ้านเมืองก็ประสบความวุ่นวายอีก ทางเมืองนครลำปางเกิดการแย่ง
ชิงอำนาจ ระหว่างเจ้าชายแก้ว (ลูกของหนานทิพย์ช้าง)
เจ้าเมืองนครลำปาง กับท้าวลิ้นก่าน
เจ้าเมืองคนเดิมแต่เจ้าชายแก้วสู้ไม่ได้ จึงหนีไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่
ภายหลังจากที่พม่ากลับเข้ามามีอำนาจใน
ลานนาไทยอีก ได้พิจารณาคดีนี้
โดยให้เจ้าชายแก้วและท้าวลิ้นก่านดำน้ำแข่งกัน ปรากฏว่าท้าวลิ้นก่าน
พ่ายแพ้ จึงถูกพม่าประหารชีวิต
พร้อมทั้งริบทรัพย์สินและครอบครัว สำหรับสถานที่ที่ดำน้ำชิงเมือง
อยู่บริเวณหน้าวัดปงสนุก
ซึ่งแม่น้ำวังไหลผ่านในสมัยนั้นยังมีศาลท้าวลิ้นก่านปรากฏอยู่ตรงข้าง
วัดปงสนุกมาจนกระทั่งทุกวันนี้
พม่าแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นที่
"เจ้าฟ้าหลวงไชยแก้ว"
ครองเมืองนครลำปาง แต่พม่า
ยังปกครองชาวนครลำปางอย่างกดขี่ทารุณอยู่
หากผู้ใดขัดขืนก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก นับตั้งแต่
การจองจำ ริบทรัพย์สมบัติ ลูกเมีย
ไปจนถึงการประหารชีวิต อันเป็นสภาวะที่ชาวนครลำปางสุดแสนจะทนทานต่อไปได้
ดังนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์
(รัชกาลที่ ๑
และสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)
ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.
๒๓๑๔ เจ้ากาวิละ (โอรสของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว)
จึงพาอนุชาทั้งหกเข้าสวามิภักดิ์
แล้วนำทหารชาวนครลำปางเข้าสมทบยกขึ้นไปตีเชียงใหม่พม่าได้จับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วไว้เป็นประกัน
เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เจ้ากาวิละ
จึงนำทหารชาวนครลำปางตีหักเข้าเมืองได้ก่อนช่วย
พระบิดาออกจากที่คุมขังได้สำเร็จ
แล้วนำกำลังสมทบกับกองทัพไทยใต้ตีพม่าแตกพ่ายไป
ความดีความชอบครั้งนี้ เจ้ากาวิละได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง
"นครลำปาง"
และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ตามลำดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ
เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้ากาวิละและ
พระอนุชา
ได้นำเอาบ้านเมืองเข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทยที่ยกขึ้นไปตีพม่าที่เชียงใหม่
ใน พ.ศ.
๒๓๑๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านครลำปางกับราชวงศ์จักรีมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เพราะเจ้านายฝ่ายเหนือต้องการสวามิภักดิ์ต่อคนไทยด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ
เนื่องจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทได้สู่ขอเจ้าศรีอโนชา
กนิษฐาของเจ้ากาวิละเป็นชายาทางกรุงเทพฯก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เมืองนครลำปางอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา
บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับยกย่องให้มีฐานะสูงขึ้น เป็นถึงเจ้าประเทศราช
อย่างไรก็ตามพม่าก็มิได้ลดละความพยายามที่จะกลับเข้ามามีอิทธิพลในลานนาไทยอีก
เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมผู้คนและเสบียงอาหาร
เข้าโจมตีกรุงเทพ ฯ
สงครามคราวพม่าตีนครลำปาง และป่าซาง
(พ.ศ.
๒๓๓๐)
หลังจากที่พระเจ้าปะดุงพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไปจากสงครามเก้าทัพ
(พ.ศ.
๒๓๒๘) และสงครามที่ท่าดินแดง
(พ.ศ.
๒๓๒๙) แล้ว
บรรดาหัวเมืองประเทศราชลื้อ เขิน ของพม่าแถบเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง
เมืองสาด เมืองปุก็พากันกระด้างกระเดื่องแข็งเมือง พระเจ้าปะดุงจึงโปรดให้ยกกองทัพไป
ปราบปรามใน พ.ศ.
๒๓๓๐ โดยมีหวุ่นยีมหาชัยสุระเป็นแม่ทัพใหญ่ คุมรี้พล ๔๕,๐๐๐
คน ลงมาทางหัวเมืองไทยใหญ่
ครั้นยกมาถึงเมืองนายได้แบ่งกำลังออกเป็นสองส่วนออกปราบบรรดาหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง
สำหรับกองทัพพม่าที่ยกเข้าทางหัวเมืองลานนาไทย จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพคุมรี้พล
๕,๐๐๐ คน
ยกลงมายึดเมืองฝางไว้เป็นแหล่งชุมนุมพล
และสะสมเสบียงอาหารไว้รอกำลังส่วนใหญ่เพื่อเตรียมเข้าตีนครลำปาง
ฝ่ายโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งหลบหนีกองทัพไทยไปอยู่เมืองเชียงแสนมีกำลังรักษาบ้านเมืองไม่มากนัก
เพราะกำลังส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์ไปช่วยทำนาที่เมืองฝาง จึงทำให้พระยาแพร่
ชือมังชัย
และพระยายองเห็นเป็นโอกาสคุมกำลังเข้าโจมตีเมืองเชียงแสนโปมะยุง่วนสู้ไม่ได้หนีไปอาศัยอยู่กับพระยาเชียงราย
จึงถูกพระยาเชียงรายควบคุมตัวส่งแก่ พระยาแพร่ และพระยายอง
แล้วพระยาแพร่และพระยายองคุมตัวส่งแก่เจ้ากาวิละ
ที่นครลำปางเนื่องจากเห็นว่าโปมะยุง่วนเป็นบุคลสำคัญระดับเจ้าเมือง
ทางนครลำปางจึงคุมตัวส่งลงไปถวายยังกรุงเทพฯ การจับโปมะยุง่วนเป็นเชลยได้
กลายเป็นผลดีต่อฝ่ายไทยอย่างมาก
เพราะได้นำตัวไปสอบสวนข้อราชการสงคราม ทำให้ทราบข่าว
แน่ชัดว่า พม่าเตรียมกองทัพเข้ามาตีนครลำปางในฤดูแล้ง
เมื่อตีได้แล้วก็จะกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง(คำให้การของโปมะยุง่วนต่อมากลายเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง
ที่เรียกว่า คำให้การของชาวอังวะ)
การที่พม่ามีนโยบายเข้ามายึดเชียงใหม่เป็นที่มั่น
นับว่าเป็นอันตรายต่อบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวง
ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงคิดหาทางป้องกันไว้ก่อน
โดยมีพระบรมราชโองการให้เจ้ากาวิละแบ่งครอบครัวจากนครลำปางส่วนหนึ่ง
ขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางเมืองนครลำปางโปรดให้เจ้าคำโสมอนุชา
เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองสืบแทน
เนื่องจากมีกำลังน้อยเจ้ากาวิละเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่
ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะเป็นเมืองร้างมาหลายปี
ดังนั้นจึงอพยพครอบครัวไปตั้งที่ป่าซางก่อนเป็นการชั่วคราว
โดยมีกองทหารจากเมืองสวรรคโลก
และกำแพงเพชรยกขึ้นมาช่วยป้องกันบ้านเมือง
ในระหว่างนั้นได้รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายบริเวณชายแดน
มาไว้ในบ้านเมืองตามนโยบายที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง"
แต่ยังไม่ทันจะอพยพขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่
พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีเสียก่อน ดังนั้นจึงตั้งมั่นอยู่ที่ป่าซางถึง ๕ ปี
เศษ
ครั้นถึงฤดูแล้ง พ.ศ.
๒๓๓๐ กองทัพของหวุ่นยีมหาชัยสุระยกลงจากเชียงตุงเข้ายึดเชียงใหม่คืน
ตีเชียงรายแล้วเข้าสมทบกับกองทัพของจอข้องนรทาที่ฝาง รวมรี้พลได้ ราว ๓๐,๐๐๐
คน ยกลงมาทางเมืองพะเยา เข้าตีนครลำปาง ส่วนทางป่าซางพระเจ้าปะดุงทรงมีรับสั่งให้ยีแข่งอุเมงคีโป
คุมกำลัง ๑๖,๐๐๐ คน
จากเมืองเมาะตะมะ
เข้าโจมตีล้อมไว้ป้องกันมิให้ยกไปช่วยทางนครลำปาง ฝ่ายกองทัพพม่าที่ล้อมนครลำปาง
เจ้าคำโสมได้นำทัพชาวเมืองต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างเข้มแข็ง
พม่าพยายามเข้าปล้น
เมืองหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จจึงตั้งค่ายล้อมไว้ให้ขาดเสบียงอาหาร
ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ กำลังเตรียมกองทัพจะไปตีเมืองทวาย
ครั้นทราบข่าวการศึกทางหัวเมืองเหนือ จึงโปรดให้พระอนุชาธิราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ยกขึ้นมาช่วย พอยกขึ้นมาถึงนครลำปาง
โปรดให้ตั้งค่ายโอบล้อม พม่าไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อพร้อมแล้วก็
ส่งสัญญาณให้กองกำลังในเมืองตีกระหนาบออกมาพร้อมกัน
พม่าสู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีกลับไปยัง
เชียงแสน
ส่วนที่ป่าซางกองทัพไทยก็ได้ยกขึ้นไปช่วยตีกระหนาบข้าศึกแตกพ่ายไป
เช่นเดียวกัน
ภายหลังเสร็จจากการศึกสงครามคราวนี้
เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้าคำโสม
เจ้าเมืองนครลำปาง ได้พาพระอนุชา (เจ้าเจ็ดตน)
เข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้า
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แล้วถวายพระพุทธสิหิงค์ให้นำไปประดิษฐาน ณ
กรุงเทพ ฯ มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในปีจุลศักราช ๑๑๘๑
(พ.ศ.
๒๓๓๗)
เจ้ากาวิละได้เรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้าแล้ว
มีโอวาทคำสอน
โดยมุ่งให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ซึ่งมีสาระสำคัญ
ตอนหนึ่งว่า
"ตั้งแต่เจ้าเราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไป
ถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้น
ราชตระกูลแห่งเราทั้งหลาย แม้นว่าลูกหลาน เหลน หลีด หลี้
บุคคลใดยังมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบกับ
พระมหากษัตริย์เจ้า แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็น
ข้าม่าน ข้าฮ่อ ข้ากูลา ข้าแก๋ว ข้าญวน ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวาย
พลันฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา
ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัปป์ อย่าได้เกิดได้งอก
ผู้ใดยังอยู่ตามโอวาทคำสอนแห่งเรา
อันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ ขอให้มีเตชะฤทธีอนุภาพปราบชนะศัตรูมีฑีฆา
อายุมั่นยืนยาว"
สงครามคราวพม่าตีเชียงใหม่
(พ.ศ.
๒๓๔๐)
ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไป เมื่อครั้งตีนครลำปางและป่าซาง
ในปี พ.ศ.
๒๓๓๐ เจ้ากาวิละจึงได้อพยพผู้คนจากป่าซาง ขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่ ใน พ.ศ.
๒๓๓๙ ยังจัดราชการบ้านเมืองไม่เป็นที่เรียบร้อย
พม่าก็ยกกองทัพเข้ามาโจมตี ใน พ.ศ.
๒๓๔๐ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าปะดุงยังคิดเสียดายอาณาเขตในแคว้นลานนาไทยอยู่
จึงสั่งให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระคุมกองทัพมาประชุมพลที่เมืองนาย รวมรี้พล ๕๕,๐๐๐
คน จัดเป็น ๗ กองทัพ พม่าจัดวางกำลังล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างแน่นหนาถึง
๓ ชั้น ประสงค์จะตีหักเอาเมืองให้ได้ แต่เจ้ากาวิละก็สามารถคุมกำลัง
ป้องกันเมืองไว้ได้
ทางกรุงเทพฯเมื่อทราบข่าวศึกเมืองเชียงใหม่จึงโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้า
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพขึ้นมาช่วยเหลือ
ประชุมทัพที่นครลำปาง ส่งกองทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าซึ่งสกัดอยู่ที่ลำพูน
และป่าซางแตกพ่ายไป แล้วกองทหารชาวนครลำปางได้สมทบกับกองทัพหลวง รวม ๔๐,๐๐๐
คน ยกขึ้นไปตีกระหนาบพม่าที่ล้อมเชียงใหม่แตกพ่ายไปอย่างยับเยิน
จับเชลยอาวุธ และช้างม้าพาหนะไว้ได้จำนวนมาก
สงครามขับไล่พม่าออกจากเขตแดนลานนาไทย
(พ.ศ.
๒๓๔๕ - ๒๓๔๗)
ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแก่กองทัพไทยในสงครามพม่าตีเชียงใหม่แล้ว
ต่อมาในปี พ.ศ.
๒๓๔๔
เจ้ากาวิละได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองเหนือไปโจมตีเมืองสาด
หัวเมืองประเทศราชของพม่าเป็นการตอบแทนบ้าง
จับได้เจ้าเมืองกับลูกชายรวมทั้งทูตพม่าซึ่งส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ
ตังเกี๋ยลงไปถวายยังกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังกวาดต้อนครอบครัว
ชาวเมืองสาดประมาณ ๕,๐๐๐ คน มาใส่บ้านเมือง
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเจ้าปะดุงขัดเคืองมาก จึงโปรดให้อินแซะหวุ่น
คุมกองทัพ ๔๐,๐๐๐ คน มาตีเชียงใหม่ ใน พ.ศ.
๒๓๔๕
สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
เสด็จยกกองทัพไทยขึ้นมาช่วยเหมือนครั้งก่อน
ครั้นถึงเมืองเถินพระองค์ประชวรเป็นโรคนิ่ว ไม่สามารถ เสด็จต่อไปได้อีก
จึงแต่ง
กองทัพขึ้นมาสมทบกับกองทัพของนครลำปาง
ขึ้นไปช่วยทางเชียงใหม่จนสามารถขับไล่พม่าแตกพ่ายไป เมื่อเสร็จสงคราม
เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ และเจ้าดวงทิพเจ้าเมืองนครลำปาง
ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชที่เมืองเถิน
ทรงมีรับสั่งให้ช่วยกันขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนให้ได้
แล้วพระองค์เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ ได้ไม่นานก็ทิวงคต
พอถึงฤดูแล้งกองทัพหลวงมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และเจ้าพระยายมราช
พร้อมด้วยกองทัพของเชียงใหม่ นครลำปาง น่าน และเวียงจันทน์
ยกไปตีเชียงแสนใน พ.ศ.
๒๓๔๗ แต่ปรากฏว่าการบังคับบัญชากองทัพไม่เด็ดขาด
เนื่องจากมีหลายกองทัพ ส่วนกองทัพวังหลวงที่ยกขึ้นไปนั้นก็ ไม่ตั้งใจทำสงครามอย่างเต็มที่
เนื่องจากถูกปรับโทษจากการยกไปตีเชียงใหม่ล่าช้า ตั้งล้อมเชียงแสนอยู่ได้ ๒
เดือน กองทัพชาวใต้ ได้เลิกทัพกลับเสีย ก่อนคงเหลือแต่กองทัพของลานนาไทย
และ เวียงจันทน์ยังคงล้อมเชียงแสนต่อไป
จนกระทั่งในที่สุดชาวเชียงแสนลักลอบเปิดประตูเมืองให้เนื่องจากเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันจึงสามารถ
ยึดเชียงแสนไว้ได้ เจ้ากาวิละสั่งให้รื้อกำแพงเมือง
และทำลายเมืองเพื่อมิให้เป็นที่มั่นของข้าศึกอีกต่อไป
แล้วอพยพครอบครัวชาวเชียงแสนลงมา ได้ครอบครัวประมาณ ๒๐,๐๐๐
คนแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ส่งลงไปกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง
ซึ่งต่อมาได้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน
ที่เหลือส่งไปเวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่และนครลำปาง
ชาวเชียงแสนที่อพยพลงมาอยู่ที่นครลำปางอาศัยอยู่แถบบริเวณวัดปงสนุกสืบต่อลูกหลานกันมา
จนถึงปัจจุบัน
ความดีความชอบในครั้งนี้เจ้ากาวิละได้รับบำเหน็จความชอบมาก
โปรดให้สถาปนาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช
หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้กองทัพของลานนาไทยประกอบด้วย เชียงใหม่ นครลำปาง
แพร่ เมืองเถิน น่าน รวมทั้งกองทัพของลานช้างได้แก่
หลวงพระบางและเวียงจันทน์
ร่วมกันยกขึ้นไปตีเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองเชียงตุง
เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงแขง ตลอดจนบรรดาหัวเมืองต่างๆ แถบไทยใหญ่ ลื้อ
เขิน มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงเทพฯ ทำให้อาณาเขตของ
ไทยแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าครั้งใดๆ
นับตั้งแต่นั้นมาบรรดาหัวเมืองลานนาไทย
ทั้งปวงจึงปลอดภัยจากการรุกรานของพม่าข้าศึก
ด้วยเดชะพระบารมีแห่งบรมราชจักรีวงศ์
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงขอนำคำจำกัดความของ
"การเทศาภิบาล"
ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน
ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลอง
กระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
"การเทศาภิบาล
คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ
อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำ
แต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไป
ดำเนินงานในส่วนภูมิภาคให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร
เพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและ
เกิดความเจริญทั่วถึงกัน
โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกัน เป็นขั้นอันดับกันดังนี้คือ
ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล
และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้
สอดคล้องกับ ทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี
และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี
ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน
เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน
ซึ่งต้องอาศัยทาง ราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น
ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล
ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้นหมายความรวมว่า เป็น
"ระบบ"
การปกครองอาณาเขต ซึ่งเรียกว่า "การปกครองส่วนภูมิภาค"
ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล"
นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองแบบเทศาภิบาล
ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆแทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม
ซึ่งเรียกว่าการปกครองแบบ "กินเมือง"
ดังนั้นระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้
ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก่อนปฏิรูป
การปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลแล้ว
แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดัง
จะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้มั่นคง
และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง
กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง
การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง
ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
เหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร
ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง
ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว
จึงมีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย
กับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.
๒๔๓๕
เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว
จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่
เป็นผู้ปกครอง
การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ
มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน
มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา
ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกรวมเป็นมณฑลภูเก็ต
บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้
ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล
การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๗ เป็นต้นมา
และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร
แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ.
๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงาน
จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ
กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก
มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่า
มาเป็นแบบใหม่และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว
จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๓๘
ได้รวบรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี
มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่าและได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก
คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๓๙
ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช
และมณฑลชุมพร
พ.ศ.
๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันตกเป็นมณฑลไทรบุรี
และได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง ในปี พ.ศ.
๒๔๔๒
พ.ศ.
๒๔๔๓
ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการปกครองมณฑลอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพมณฑลอุดร
และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ.
๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์
เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ.
๒๔๔๙
จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี
พ.ศ.
๒๔๕๐
ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง
เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่
อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย
และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ.
๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล
มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ.
๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น
โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ
เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ. ๒๔๗๖
จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน
มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัด เป็นผู้บริหาร
เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น
จังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย
เมื่อได้มีการประกาศ
ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑)
การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน
สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒)
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓)
เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด
จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑล รายงานต่อกระทรวง
เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔)
รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่
ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ.
๒๔๙๕
รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑)
จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหาร
แห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒)
อำนาจบริหารในจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น
ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓)
ในฐานะคณะกรมการจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นในจังหวัด
ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘
ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการ
ส่วนภูมิภาคเป็น
๑)
จังหวัด
๒)
อำเภอ
จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล
การตั้ง ยุบ
และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด
ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา
: ประวัติมหาดไทยภูมิภาคจังหวัดลำปาง.
ลำปาง : กิจเสรีการพิมพ์,
๒๕๒๘.
|