ประวัติศาสตร์จังหวัดตาก
สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
ตากเป็นเมืองที่สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
เมืองเดิมตั้งอยู่บนดอยเล็ก ๆ ลูกหนึ่ง
อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอบ้านตากในปัจจุบันนี้ไปประมาณ ๔ กิโลเมตร
และอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันตก ๔๐๐ เมตร ที่หมู่บ้านท่าพระธาตุ
ตำบลเกาะตะเภาอำเภอบ้านตาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า
เดิมเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างขึ้นไว้ เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงและอยู่ตรงปากน้ำวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำปิง
เป็นเส้นทางสำคัญในทางคมนาคมในสมัยนั้น
แต่เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดเคยทำการสำรวจโดยละเอียด
และกรมศิลปากรก็ยังไม่เคยทำการขุดค้น
จึงไม่ปรากฏร่องรอยในทางโบราณคดีอันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองของมอญแต่อย่างใด
แต่มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า
ถ้าเมืองตากเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างไว้จริง
ก็เป็นเรื่องก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ.
๑๘๐๐
มอญก็มิได้ครอบครองเมืองนี้แล้ว
จะเห็นได้ว่าเมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อขุนผาเมืองยึดอำนาจจากขอมและประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ
เมืองต่าง ๆ ที่มีคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็ยอมรวมกับอาณาจักรสุโขทัยทั้งหมด
และโดยเฉพาะเมืองตากนี้ปรากฏว่า
ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยแต่โดยดีตั้งแต่ต้น
ถ้าเป็นเมืองที่มีชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทยปกครองอยู่
เห็นจะไม่ยินยอมร่วมมือกันโดยง่ายดายเช่นนั้น
นอกจากนี้ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย
ของพระบริหารเทพธานี ได้กล่าวถึงความสำคัญของเมืองตากว่า
เดิมเคยเป็นเมืองราชธานีของแคว้นเหนือมาก่อน ต่อมาในสมัยพระยากาฬ-
วรรณดิส
ได้ย้ายจากเมืองตากไปครองเมืองละโว้แทน เมืองตากจำถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
ต่อมาเมื่อพระนางจามเทวี เสด็จขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย ในราว พ.ศ.
๑๒๐๐ พระนางได้บูรณะเมืองตาก ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้
จึงน่าที่จะช่วยยืนยันว่าเมืองตากเป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัยได้อีกทางหนึ่ง
สมัยกรุงสุโขทัย
หลังจากที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมื่อ พ.ศ.
๑๘๐๐
จากนั้น ในราว พ.ศ.
๑๘๐๕
ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองตากขึ้น ครั้งหนึ่งคือ
ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
(อยู่ในอำเภอแม่สอดปัจจุบัน)
ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพมาช่วยป้องกันเมืองตากและได้ปะทะกันที่เชิงดอย
นอกเมืองตากออกไปประมาณสักกิโลเมตรเศษ
แต่เนื่องจากภูมิประเทศของเมืองตากเป็นป่าเขาโดยมาก
การซุ่มซ่อนพลจึงกระทำได้อย่างสะดวกสบาย
ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมื่อพ่อขุนศรีอินทรา-ทิตย์ต้อนพลเข้าไปทางซ้ายเพื่อหวังจะโอบล้อมกองทัพของขุนสามชน
แต่ขุนสามชนคงรู้ทีจึงขับพลเลี่ยงเข้ามาทางขวาเข้าโอบล้อมกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียก่อน
ไพร่พลในกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่นึกว่าเหตุการณ์จะกลับตรงกันข้ามเช่นนั้น
ก็เสียกำลังใจถอยร่นลงมา ขณะนั้นราช-โอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา
ได้ติดตามมาด้วยเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้ไพร่พลในกองทัพถอยร่นลงมาเรื่อยเช่นนั้น
ผลสุดท้ายต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน
จึงทรงขับช้างต้อนพลให้เข้าต่อตีกองทัพของขุนสามชนอีกครั้งหนึ่ง
แล้วทรงไสช้างบุกเข้าไปจนถึงตัวขุนสามชน
ซึ่งกำลังต้อนพลรุกไล่กองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้ามาพ่อขุนรามคำแหงทรงปะทะช้างกับขุนสามชนจนได้กระทำยุทธหัตถีกัน
ขุนสามชนสู้ไม่ได้ก็พ่ายหนีไป เมืองตากจึงรอดพ้นจากการรุกรานของ ขุนสามชน
และตลอดสมัยของกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏในศิลาจารึกหรือจดหมายใด ๆ
เกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองตากนี้อีกเลย
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการชนช้างคราวนี้
จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์แบบสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า
พระปรางค์ขึ้น สมเด็จ ฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าก่อสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย
ขนาดพระปรางค์สูงตลอดยอดประมาณ ๑๐ วา
แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ
เกี่ยวกับเมืองตาก จนกระทั่งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ปรากฏว่า
ทางประเทศพม่ามีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้า-ตะเบ็งชเวตี้
กษัตริย์องค์นี้ทรงมีอุปนิสัยกล้าหาญ พอพระราชหฤทัยในการทำศึกสงคราม
และได้คู่คิดการสงครามพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ทรงพระนามว่าบุเรงนอง
ทั้งสองพระองค์นี้ทรงคิดตระเตรียมกำลังที่จะทำสงครามแผ่อาณาจักรให้กว้างขวาง
ทรงยกกองทัพไปปราบปรามได้รามัญประเทศและไทยใหญ่ไว้ในอำนาจทั้งสิ้น
ครั้นทรงทราบข่าวว่าเกิดจราจลในกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากการผลัดแผ่นดินใหม่
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
ทรงเห็นเป็นทีว่าจะตีเอากรุงศรีอยุธยามาไว้เป็นเมืองขึ้นอีกประเทศหนึ่งได้โดยง่าย
จึงโปรดให้กะเกณฑ์กองทัพมาตั้งประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ
แล้วเสด็จเป็นจอมทัพยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
หมายจะตีเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้น แต่เมื่อยกกองทัพมาถึงชานพระนครแล้ว
ก็ไม่สามารถจะตีหักเข้าไปได้ ครั้นได้ข่าวว่ามีกองทัพไทยยกลงมาจากหัวเมือง
ฝ่ายเหนือจะมาตีกระหนาบก็ตกพระทัยจะเลิกทัพกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ซึ่งเป็นทางที่ยกเข้ามาแต่เดิมนั้น
ก็ทรงเห็นว่าหัวเมืองรายทางที่ผ่านมานั้นยับเยินหมด
จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพได้ยากจึงโปรดให้ยกทัพขึ้นไปทางข้างเหนือ
เดินทัพไปออกทางด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก
เพราะทรงเห็นว่ากองทัพของพระองค์มีกำลังมากกว่ากองทัพไทยหลายเท่า
คงจะตีหักออกไปได้โดยไม่ยากลำบากเท่าใดนัก
แต่กองทัพพม่าก็ถูกกองทัพของพระราเมศวรราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยติดตามตีไปทั้งสองทางและฆ่าฟันรี้พลพม่าล้มตายเป็นอันมาก
แต่ผลสุดท้ายพม่าวางกลอุบายล้อมจับได้ทั้งพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร
สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิต้องยอมหย่าทัพ
เอาช้างพลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีปอันเป็นช้างชนะงา
ถวายตอบแทนพระเจ้าหงสาวดีแลกเอาพระมหาธรรมราชากับพระราเมศวรกลับมา
และปล่อยให้กองทัพของ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกกลับไปได้โดยสะดวก
ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อไป
จะขอกล่าวถึงทางคมนาคมที่ติดต่อกันในระหว่างประเทศพม่ากับประเทศไทย
ซึ่งมีมาแต่ในสมัยโบราณเสียก่อน
เพื่อจะได้เข้าใจภูมิประเทศของจังหวัดตากดีขึ้น
คือแต่เดิมมีทางคมนาคมสำหรับไปมา ในระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าอยู่ ๒
ทาง โดยมีทางมาร่วมกันที่เมืองเมาะตะมะ
ผู้ที่สัญจรไปมาหรือแม้แต่กองทัพก็ต้องเดินตามทางคมนาคมทั้งสองนี้
มิฉะนั้นจะเดินทางไม่สะดวกเพราะต้องข้ามเทือกเขาบรรทัด
ซึ่งเป็นเขาเขื่อนกั้นขวางหน้าอยู่ทางคมนาคมทั้งสองทางนี้
คือสายเหนือออกจากเมืองเมาะตะมะขึ้นไปทางแม่น้ำจนถึงบ้านตะพู
(เมือง
แกรง)
แล้ว
เดินบกมาข้ามแม่น้ำกลีบ แม่น้ำเม้ย
แม่น้ำแม่สอด ผ่านเข้ามาทางด่านแม่ละเมา มาลงท่า
แม่น้ำปิง ตรงบ้านระแหง
(ที่ตั้งเมืองตากปัจจุบัน)
ทางสายนี้เป็นทางคมนาคมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองเชียงใหม่
ส่วนทางสายใต้นั้นออกจากเมืองเมาะตะมะไปตามแม่น้ำอัตรัน
(เมืองเชียงกราน)
จนถึงเมืองสมิแล้วเดินบกมาข้ามแม่น้ำสะกลิกและแม่น้ำแม่กษัตริย์
ข้ามภูเขาเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาลงลำน้ำแควน้อยที่สามสบ
แล้วใช้เรือล่องลงมาทางไทรโยคจนออกแม่น้ำแควใหญ่ที่ลิ้นช้างได้ทางหนึ่ง
ถ้าจะเดินบกก็เดินแต่สามสบมาทางเมืองไทรโยคเก่า
แล้วตัดข้ามมาลงลำน้ำแควใหญ่ที่เมืองศรีสวัสดิ์
หรือที่ท่ากระดานด่านกรามช้างแล้วเดินเลียบลำน้ำแควใหญ่ลงมาจนถึงเมืองกาญจนบุรีเก่า
ซึ่งตั้งอยู่ในทุ่งหญ้าใกล้เขาชนไก่จากเมืองกาญจนบุรีเก่าลงมาเป็นที่ราบจะได้เกวียนเดินทางบกหรือใช้เรือล่องตามลำน้ำลงมาก็สะดวกทั้งสองทาง
กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาตีกรุงศรี-อยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยกผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์นี้แทบทุกคราว
การสงครามได้ว่างเว้นมาเป็นระยะเวลา ๑๕ ปี
ประเทศพม่าได้เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ซึ่งยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
เมื่อ พ.ศ.
๒๐๙๑
นั้นพอกลับไปถึงเมือง หงสาวดีได้ไม่นานเท่าใด
ก็เกิดสติฟั่นเฟือนไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้ บุเรงนองซึ่งเป็น
พระมหาอุปราชต้องสำเร็จราชการแทน ในที่สุดพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้
ถูกขุนนางเชื้อชาติมอญคนหนึ่งชื่อ สมิงสอดวุต
ทูลลวงให้ไปจับช้างเผือกในป่าใกล้พระนคร แล้วช่วยกันจับพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ปลงพระชนม์เสีย
บุเรงนองซึ่งเป็นพระมหาอุปราชอยู่จึงทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี
เมื่อ พ.ศ.
๒๐๙๖ และเมื่อเสวยราชสมบัติแล้วไม่นาน พระเจ้ากรุงบุเรงนองก็เริ่มทำสงครามแผ่อาณาจักรเรื่อยมาเป็นเวลา
๑๐ ปี
จนได้ประเทศน้อยใหญ่ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่าไว้ในอำนาจทั้งสิ้นแล้วพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงดำริที่จะยาตรากองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
การสงครามคราวนี้ถึงแม้ว่าเมืองตากจะไม่เป็นสนามรบโดยตรงก็ตาม
แต่ก็ได้รับความเดือดร้อนด้วยเนื่องจากเมืองตากอยู่ในเส้นทางที่จะผ่านมาจากเมืองเชียงใหม่
เพราะฉะนั้นกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งในเวลานั้นเป็นฝ่ายพม่าได้คุมกองเรือลำเลียงเสบียงอาหารลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่เมืองตาก
แล้วก็ลาดตระเวนหาเสบียงอาหารในเขตเมืองตากเพื่อสะสมไว้สำหรับเลี้ยงไพร่พลในกองทัพหลวงต่อไป
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
แล้วเข้าตีหัวเมืองทางต่าง ๆ เหนือเรื่อยลงมา และได้รบกับเมืองใหญ่ ๆ
หลายเมือง เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย
แต่ไม่ปรากฏว่าเมืองตากได้สู้รบกับกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ทั้งนี้คงจะเนื่องจากเมืองตากเก่าตั้งอยู่เหนือด่านแม่ละเมาขึ้นไปมาก
กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาจึงไม่จำเป็นที่จะอ้อมขึ้นไปตีเมืองตากซึ่งอยู่ห่างออกไปตั้ง
๓๐
กิโลเมตรอีก คงเดินทัพตัดตรงเข้ามายังบ้านป่ามะม่วง
ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านระแหง
แล้วเดินทัพไปทางทิศตะวันออกเข้าตีเมืองสุโขทัยและเมืองพิษณุโลกทางหนึ่ง
อีกทัพหนึ่งแยกลงไปทางใต้เข้าเมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์
เมื่อตีได้หัวเมืองใหญ่ ๆ
เหล่านี้แล้วก็รวบรวมกำลังกันยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป
เนื่องจากศึกพม่าในคราวนี้เป็นเหตุให้ไทยคิดเห็นว่า
ตัวเมืองตากเก่าตั้งอยู่ลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมาก
กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาก็เดินทัพเข้ามาได้อย่างสบาย
โดยไม่ต้องเสียกำลังลี้พลเพื่อเข้าตีเมืองตากแต่สักคนเดียว
จึงได้ย้ายตัวเมืองลงมาตั้งในที่ซึ่งพม่าเดินทัพผ่าน คือที่บ้านป่ามะม่วง
การย้ายเมืองตากมาตั้งที่บ้านป่ามะม่วงนี้
เข้าใจว่ายังไม่ทันย้ายในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
เพราะในแผ่นดินนี้ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่ามัวเตรียมการแต่เรื่องป้องกันข้าศึกที่ยกเข้ามาทางใต้เท่านั้น
เช่น รื้อกำแพงเมืองเขื่อนขันธ์กันพระนครทั้ง ๔ ทิศออกหมด
เพื่อไม่ให้ข้าศึกเข้าอาศัยในเมื่อตีเมืองเหล่านั้นได้
และตั้งเมืองบางเมืองขึ้นใหม่ เช่นเมืองนครไชยศรีกับ
เมืองนนทบุรี
ซึ่งเป็นเมืองใกล้พระนครเพื่อจะได้เป็นที่ระดมกำลังสำหรับเรียกคนเข้ารักษาพระนครและจัดหาเสบียงอาหารได้ง่าย
การย้ายเมืองตากมาอยู่ที่บ้านป่ามะม่วงนี้
คงจะย้ายมาในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพแล้วเป็นแน่
เพราะปรากฏว่าหลังจากนั้น ไทยเราเตรียมรับศึกพม่าอย่างเต็มที่
เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตระหนักพระราชหฤทัยดีแล้วว่า
ถึงอย่างไรก็ดีก็จะต้องรบรับขับเคี่ยวกับกองทัพพม่าเป็นการใหญ่และก็เป็นจริงสมดั่งพระราชดำริเพราะในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา
และในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น
ปรากฏว่าไทยกับพม่าได้รบกันเป็นมหาสงครามถึง ๗ ครั้ง
เมืองตากที่ย้ายมาตั้งใหม่ที่บ้านป่ามะม่วง
มิใช่จะเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันกองทัพพม่า
ที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเท่านั้น
แต่ยังเป็นเมืองที่กองทัพใช้เป็นที่ชุมนุมพล
ในเวลาที่จะยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
เมื่อพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงอานุภาพมาก เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งทรงได้เมืองเชียงใหม่มารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรทั้ง ๓ พระองค์นี้
ก็มีปรากฏอยู่ที่เมืองตากนี้ด้วย
หลังจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ประเทศไทยก็เว้นว่างจากการทำสงครามขับเคี่ยวพม่ามาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
ซึ่งประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ปี
ในระยะเวลานี้ชาวเมืองตากก็อยู่กันอย่างสงบสุข จนกระทั่งถึง พ.ศ.
๒๓๐๘ เงาแห่งการสงครามจึงได้เริ่มฉายแสงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
การสงครามคราวนี้ทำให้ชาวเมืองตากต้องพลอยเดือนร้อนกันไปแทบทุกครัวเรือน
เพราะกองทัพพม่าซึ่งยกมาทางเมืองเชียงใหม่ได้เข้าตีเมืองตากด้วยสงครามคราวนี้น่าจะยกย่องเทิดทูนชาวเมืองตากที่ได้รวมแรงร่วมใจกันต่อสู้กองทัพพม่าแต่เมืองเดียว
หัวเมืองเหนืออื่น ๆ แม้จะเป็นเมืองที่ใหญ่กว่า
และมีพลเมืองมากกว่าเมืองตากมาก เช่น เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก
เมืองพิชัย เมืองกำแพงเพชร
และเมืองนครสวรรค์ก็หามีเมืองใดต่อสู้กองทัพพม่าแต่อย่างใดไม่
คงปล่อยให้กองทัพพม่าเดินเข้ายึดตัวเมืองได้อย่างสบาย
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงกล่าวเรื่องราวที่กองทัพพม่าเข้าตีประเทศไทยครั้งนั้นไว้
ในเรื่องไทยรบกับพม่าดังนี้
"ในพงศาวดารพม่าว่า
กองทัพที่ยกมาครั้งนี้มีข้ออาณัติอย่าง ๑
คือถ้าที่ไหนต่อสู้พม่าตีได้ก็เก็บริบทรัพย์สมบัติและจับผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเอาไปเป็นเชลยสงครามไปเมืองพม่า
บ้านเรือนทรัพย์สมบัติพม่าไม่ต้องการก็ให้เผาผลาญทำลายเสียสิ้น
ถ้าที่ไหนผู้คนอ่อนน้อมยอมเข้าเป็นพวก
พม่าๆ
ให้ทำสัตย์แล้วไม่ทำร้าย เป็นแต่กะเกณฑ์เอาสิ่งของที่พม่าต้องการ เช่น
เสบียงอาหารและพาหนะเป็นต้นและเรียกเอาคนมาใช้การงานต่าง ๆ
เหมือนอย่างเป็นบ่าวของพม่า"
ดังได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว การสงครามคราวนี้
ปรากฏว่าหัวเมืองรายทาง ๆ
เหนือของประเทศไทยไม่มีเมืองใดต่อสู้กองทัพพม่าเลย
คงมีแต่เมืองตากแต่เพียงเมืองเดียวเท่านั้น ที่ได้สู้รบกับกองทัพพม่า
และเนื่องจากพม่าได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้เช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าชะตากรรมของเมืองตากจะเป็นอย่างไรต่อไป
ทำให้นึกวาดภาพได้ว่า ในขณะที่พม่าเข้าเมืองได้
บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติของชาวเมืองตากตลอดจนผู้คนพลเมืองจะเป็นประการใดบ้าง
ย่อมเป็นการแน่นอนเหลือเกินที่จะกล่าวได้ว่า
ชาวเมืองตากจะต้องถูกฆ่าฟันล้มตายไปไม่น้อยและบ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สินต่าง
ๆ
ของชาวเมืองก็จะต้องถูกทำลายหรือเผาผลาญไปอย่างไม่มีชิ้นดียิ่งกว่านี้พวกที่รอดตายถ้าหนีเข้าป่าเข้าดงไปไม่ทัน
ก็จะถูกพม่าจับไปเป็นเชลย
ส่งไปเป็นข้าเป็นทาสยังประเทศพม่าต่อไปด้วยเหตุนี้
เมืองตากจึงกลายเป็นเมืองร้างอย่างสิ้นเชิง
และคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี
สมัยกรุงธนบุรี
ดังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้วว่า
กองทัพพม่าได้ยกทัพมาทางด่านแม่ละเมา
โจมตีและทำลายเมืองตากจนกลายเป็นเมืองร้างไปประมาณ ๕ ปี
จนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(พระเจ้ากรุงธนบุรี)
กษัตริย์องค์แรกและองค์เดียวในสมัยนี้ได้ทรงจัดการปกครองหัวเมืองเหนือทั้งปวง
ภายหลังจากได้ตีเมืองพิษณุโลกและเมืองฝางได้ใน พ.ศ.
๒๓๑๓ แล้ว
ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองไปครองเมืองเหนือใหม่หมดทุกเมืองรวมทั้งเมืองตากด้วย
เมื่อเจ้าเมืองใหม่มาครองเมืองตากแล้ว
คงจะพยายามเสริมแต่งค่ายคูและหอรบของเมืองตากให้มั่นคงยิ่งขึ้น
แล้วพยายามเกลี้ยกล่อมราษฎรให้เข้ามาตั้งทำมาหากินตามถิ่นที่อยู่ของตนเหมือนอย่างเดิม
ในขณะนั้นเข้าใจว่าพลเมืองของเมืองตากคงจะเหลืออยู่ไม่มากนักประมาณว่าคงจะไม่ถึง
๑,๐๐๐
คน
เพราะเมืองกำแพงเพชรเองซึ่งเป็นเมืองชั้นโทและเป็นที่มิได้สู้รบกับกองทัพพม่าไม่ได้รับความเสียหายเท่าใดนัก
ก็ยังเหลือพลเมืองเพียง ๓,๐๐๐
คน เท่านั้น
เมืองตากมีเวลาว่างจากการทำศึกสงครามเพียง ๔ ปีเท่านั้น
พอถึง พ.ศ.
๒๓๑๗
ก็ต้องเป็นที่ชุมนุมพลของกองทัพไทย
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
และในเวลาติด ๆ กันนี้ก็เกิดรบกับกองทัพทหารพม่า
ซึ่งติดตามครัวมอญเข้ามาทางด่านแม่ละเมาอีก
แต่การรบคราวนี้เป็นการรบย่อยกับทหารพม่าที่ติดตามครัวมอญเข้ามานั้นเมืองตากจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด
เรื่องราวที่เกี่ยวกับการสงครามในคราวนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชา-นุภาพทรงกล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่องไทย
รบพม่าดังนี้.-
"สงครามคราวนี้เกิดติดต่อจอแจกับที่ไทยไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งกล่าวมาในตอนก่อนมูลเหตุเกิดแต่เรื่องมอญเป็นกบฏขึ้นในเมืองพม่าดังได้บรรยายมาแล้ว
พระเจ้ามังระให้อะแซหวุ่นกี้ ยกกองทัพลงมาจากเมืองอังวะ ๓๕,๐๐๐
พวกมอญกบฏซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองร่างกุ้งสู้พม่าไม่ได้ก็ถอยหนี อะแซ-หวุ่นกี้ยกกองทัพพม่าติดตามลงมา
พวกมอญกบฏ จึงอพยพครอบครัวพากันออกจากเมืองมอญจะหนีมาอยู่ในเมืองไทย อะแซหวุ่นกี้ให้กองทัพยกตามมาจับครอบครัวมอญที่หนีนั้น
พม่าจึงมาเกิดรบขึ้นกับไทย
ครัวมอญที่หนีพม่าเข้าเมืองไทยครั้งนี้
มีหลายพวกและมาหลายทางด้วยกันครัวพวกสมิงสุหร่ายกลั่นเข้ามาทางด่านเมืองตากก่อน
สมิงสุหร่ายกลั่นตัวนายได้เฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี
ที่เมืองตากก่อนเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ทูลให้ทรงทราบ
ว่าพวกมอญจะพากันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคาดการว่าพม่าเห็นจะยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามา
จึงตรัสสั่งให้พระยากำแหงวิชิตคุมพล ๒,๐๐๐
ตั้งคอยรับครัวมอญอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองต่างทาง ๑ และให้พระยายมราช
(แขก)
คุมกำลังไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ท่าดินแดงในลำน้ำไทรโยคคอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทาง
๑ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วยประมาณการว่า
คงจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ทันกลับลงมาต่อสู้พม่าที่ยกเข้ามาทางข้างใต้
ด้วยเหตุนี้พอตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ๗ วัน
พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวงกลับลงมา
มาถึงนครลำปางก็ได้ทราบว่ามีกองทัพพม่ายกล่วงด่านแม่ละเมาเข้ามาในแดนเมืองตาก
จึงรีบเสด็จกลับลงมา พอถึงท่ามืองตากเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๓ ขึ้น ๒
ค่ำก็พอกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมานั้น มาใกล้จวนจะถึงเมืองตาก
ทำนองในเวลานั้น รีบเสด็จลงมาโดยลำลองมีแต่กองทัพสำหรับรักษาพระองค์
กองอื่นยังตามมาไม่ถึงจึงตรัสสั่งให้หลวงมหาเทพ กับจมื่นไวยวรนาถคุมทหาร ๒,๐๐๐
คน ยกไปตีกองทัพพม่ายกไปก็ได้รบในวันนั้นเอง แต่พอค่ำพม่าก็ถอยหนีกลับไป
ขณะนั้นกระบวนเรือพระที่นั่งคอยรับเสด็จอยู่ที่ค่ายหลวงบ้านระแหง
ใต้เมืองตากลงมาระยะทางที่เดินวัน ๑
ด้วยเดิมกำหนดว่าจะเสด็จกลับทางบกจนถึงบ้านระแหง
หาได้คาดว่าจะต้องมารบพุ่งกับข้าศึกที่เมืองตากไม่ครั้นทรงทราบว่าหลวงมหาเทพกับ
จมื่นไวยวรนาถ ตีพม่าถอยหนีกลับไปทำนองพระเจ้ากรุง
ธนบุรี
จะทรงดำริว่าพม่าที่ถอยหนีไปเป็นแต่กองหน้ากองหลังยังจะตามมาอีกจะวางใจไม่ได้
ถ้าไม่รีบตีให้แตกไปให้หมด
ช้าไปพม่าจะรวมกำลังกันยกกลับเข้ามาเป็นกองใหญ่จึงมีรับสั่งให้กองทัพบกสวนทางพม่าลงมาแล้วเสด็จทรงเรือของจมื่นจงกรมวัง
รีบล่องลงมาบ้านระแหงในเวลา ๒ ยามค่ำวันนั้น เรือที่ทรงมาโดนตอล่มลง
ต้องว่ายน้ำขึ้นหากทรงพระดำเนินมาจนถึงค่ายหลวงที่บ้านระแหง มีรับสั่งให้
พระยากำแหงวิชิต รีบยกกองทัพออกไปก้าวสกัดตัดหลัง
กองทัพพม่าที่ยกตามเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
ให้ถอยหนีไปให้สิ้นเชิงพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับรอฟังอยู่ที่บ้านระแหง ๗ วัน
และในระหว่างนั้นที่กรุง-
ธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่า มีครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นอันมาก
ก็เข้าพระทัยว่าคงมีกองทัพพม่ายกติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอีก
พอได้ทรงทราบว่ากองทัพพระยากำแหงวิชิตตีพม่าที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมาถอยหนีกลับไปหมดแล้ว
ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยทางชลมารค ลงมาจากบ้านระแหงเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓
ขึ้น ๙ ค่ำ รีบมาทั้งกลางวันและกลางคืน ๕ วันก็ถึงกรุงธนบุรี"
รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือใน พ.ศ.
๒๓๑๘
เมืองตากก็ถูกศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อคราวอะแซ-หวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ
ได้ยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
แต่เจ้าเมืองตากเห็นว่ากำลังไพร่พลของเมืองตากน้อยไม่สามารถจะต่อสู้กับกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ได้
ก็พาครัวราษฎรอพยพหลบหนีออกจากเมืองไป
กองทัพพม่าจึงยกจากเมืองตากไปทางบ้านด่านลานหอย ตรงไปยังเมืองสุโขทัย
และเมื่อคราวที่อะแซหวุ่นกี้ถอยทัพ ก็ถอยผ่านเมืองตากตามไปตามทางเดิม
คือทางด่านแม่ละเมาอีกเหมือนกัน
ในการสงครามคราวนี้เมืองตากคงจะไม่เสียหายมากมายเท่าใดนัก
เพราะไม่ได้สู้รบกับกองทัพพม่า แต่หัวเมืองใหญ่ ๆ ของไทย
เช่นเมืองพิษณุโลกและเมืองสุโขทัยนั้นเสียหายมาก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ.
๒๓๒๘
สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กองทัพของพม่าจึงเข้าตีประเทศไทยเป็นการใหญ่โดยพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า
ทรงโปรดให้จัดกองทัพแบ่งออก ๙ ทัพด้วยกัน
และให้กองทัพเหล่านี้ยกเข้าตีเมืองไทยทุกทิศทุกทาง
ทั้งทางเหนือทางตะวันตกและทางใต้ กองทัพที่ ๙ ของพระเจ้าปะดุงอันมีจอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ
ได้ยกเข้ามาทางด้านแม่ละเมา เมื่อเข้าตีเมืองตากได้แล้ว
ก็ยกข้ามฟากมาตั้งอยู่ที่บ้านระแหง เพื่อรอฟังผลการรบของกองทัพอื่น ๆ ต่อไป
แต่เนื่องจากจอข่องนรทาได้ทราบข่าวว่ากองทัพพม่าอีกกองหนึ่ง
ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากพิงถูกกองทัพไทยตีแตกกลับไปแล้ว
และบางทีได้ทราบว่ากองทัพหลวงซึ่งพระเจ้าปะดุง ทรงเป็นจอมพลยกเข้ามาทางด่าน
พระเจดีย์สามองค์ถอยกลับไปแล้วด้วย
เฉพาะฉะนั้นเมื่อได้ทราบข่าวว่ากองทัพไทยยกตามขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร
จึงไม่รอต่อสู้รีบถอยหนีกลับไปด่านแม่ละเมา
หลังจากสงครามคราวนี้
ก็ไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นกับเมืองตากอีก
ชาวเมืองตากที่อพยพหลบหนีข้าศึกเข้าป่าเข้าดงไปก็ค่อย ๆ
กลับเข้ามาหากินอยู่ในเมืองตากต่อไปตามเดิมอีก
จนกระทั่งถึง
รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระราชดำริเห็นว่าตัวเมืองเดิมเอาแม่น้ำไว้ข้างหลัง
ในเวลาถอยทัพย่อมได้รับความลำบากเนื่องจาก แม่น้ำน้ำกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่
สู้ย้ายเมืองข้ามฟากมาตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้
เพราะการที่ย้ายมาตั้งฟากนี้จะทำให้มีแม่น้ำขวางหน้าเป็นเสมือนคูเมืองขนาดใหญ่
ทำให้ข้าศึกเข้าตีลำบาก ทั้งการที่จะส่งกองทัพไปช่วย
หรือถอยทัพหนีข้าศึกก็จะทำได้สะดวก
เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายตัวเมืองตากจากที่เดิม
มาตั้งใหม่ที่บ้านระแหง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองตาก ที่บ้านป่ามะม่วง
ตัวเมืองที่ย้ายมาใหม่นี้ตั้งอยู่ตำบลนี้เรื่อยมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
จากประวัติความเป็นมาของจังหวัดตากและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยต่าง
ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว
พอที่จะมองได้ว่าจังหวัดตากในสมัยโบราณนับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขาย
การคมนาคมทางเรือ ระหว่างคนไทยกับมอญ
และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคม
ระหว่างเชียงใหม่ นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ
เพราะในครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟ
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ลักษณะการทั้งบ้านเรือนของราษฎรในจังหวัดตากเป็นไปตามความยาวของแม่น้ำ
ห่างจากฝั่งออกไปไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่
แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดตากในสมัยก่อนก็ยังนับว่าเป็นเมืองที่
บริบูรณ์และครึกครื้นเมืองหนึ่ง
สินค้าต่างเมืองมารวมกันหลายทาง คือ มาจากเมืองเชียงใหม่บ้าง
เมืองมะละแหม่งบ้าง ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ บ้าง
ชาวพื้นเมืองในจังหวัดส่วนมากมีเชื้อสายลาวมากกว่าไทย
ความสำคัญของจังหวัดตากอีกประการหนึ่งคือ
เป็นเมืองหน้าด่านที่พม่าจะใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบุเรงนองของพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก
ทำสงครามกับไทยในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น
จังหวัดตากยังเป็นเมืองที่ชุมนุมทัพเมื่อคราวที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ดังได้ทรงสร้างพระเจดีย์ปรากฎไว้เป็นอนุสรณ์ตราบจนทุกวันนี้
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองและบริหารราชการขึ้นใหม่
อันเป็นการปูพื้นฐานในรูปการจัดระเบียบการปกครองสมัยใหม่
โดยมีนโยบายรวมหัวเมืองต่างๆ
ให้เข้าเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่ง
อันเดียวอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง คือเปลี่ยนจากแบบราชาธิราช
มาเป็นแบบราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๓๕
พระองค์จึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง
มีการแบ่งการงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้แน่นอนลงไป
และแต่ละกระทรวงให้มีเสนาบดีเป็น
หัวหน้ารับผิดชอบกระทรวงทั้ง ๑๒ กระทรวงที่จัดตั้งขึ้น คือ
๑.
กระทรวงมหาดไทย
มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหัวเมือง
๒.
กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ฝ่ายทหารและการป้องกันประเทศ
๓.
กระทรวงนครบาลมีหน้าที่เกี่ยวกับการตำรวจ และรักษาความสงบเรียบร้อยใน
พระนคร
๔.
กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ
๖.
กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตร
และการค้าขาย ป่าไม้ แร่
๗.
กระทรวงวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการในพระราชวัง
และกรมซึ่งใกล้เคียงกับราชการในพระองค์
๘.
กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับชำระความ อรรถคดี
ทั้งแพ่งและอาญา
๙.
กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์
โทรเลข รถไฟ และการช่างทั้งหลาย
๑๐.
กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา โรงเรียนและการบังคับบัญชา
พระสงฆ์
๑๑.
กระทรวงมุรธาธร มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนด
กฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง
๑๒.
กระทรวงยุทธนาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทหารบก
ทหารเรือ
แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา
และในการประชุมเสนาบดีของแต่ละกระทรวงเพื่อหารือข้อราชการนั้น
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมกระทรวงต่างๆ
ที่กล่าวข้างต้นนี้ แต่ละกระทรวงมีกรมกอง
ในสังกัดของตนมากน้อยตามความเหมาะสม
และได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อมาทุกรัชกาล ทั้งนี้
เพื่อความเหมาะสมตามเหตุการณ์ของบ้านเมืองและตามกาลสมัย
สำหรับการปกครองหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้เป็นไปในทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา
แต่เปลี่ยนเรียก ชื่อเสียใหม่ คือ มีการแบ่งการปกครองออกเป็น จังหวัด อำเภอ
ตำบล และหมู่บ้าน และในรัชสมัยของพระองค์นี้
การปกครองหัวเมืองในรูปการแบ่งอำนาจในการปกครองหัวเมืองได้ปรากฏเป็นรูปร่างเด่นชัดขึ้น
เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เมื่อ พ.ศ.
๒๔๔๐
ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.
๒๔๕๓ แทน ซึ่งได้ถือเป็นหลักมาจนกระทั่งทุกวันนี้
จะมีการแก้ไขบ้างก็เพียงบางมาตราเพื่อความเหมาะสมในการปกครองเท่านั้นและได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองเรียกเป็น
การปกครองท้องที่ตามชื่อพระราชบัญญัติ
อนึ่ง ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ ๕
เรื่อยมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ได้ทรงดำริจัดตั้งมณฑลและภาคขึ้นโดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล
มีข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
และต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๖๙
และในปี พ.ศ.
๒๔๕๘ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการจัดตั้งภาคขึ้นหลาย ๆ
มณฑลรวมกันเป็นภาคและมีอยู่ ๔ ภาค คือ ภาคพายัพ ภาคปักษ์ใต้ ภาค
อีสาน และภาคตะวันตก
มีอุปราชซึ่งเป็นพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
แต่การจัดรูปการปกครองโดยมีภาคนี้ ได้นำมาใช้เพียง ๑๐ ปี เท่านั้น
และได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘ คงเหลือแต่มณฑล และให้มณฑลต่าง ๆ
นี้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยในปี ๒๔๖๙ ดังที่กล่าวมาแล้ว
สำหรับจำนวนมณฑลนี้มิได้มีจำนวนแน่นอน
คงเพิ่มลดกันตลอดมาเพื่อความสะดวกเหมาะสมในการปกครอง จนในที่สุดใน พ.ศ.
๒๔๗๔ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองคงเหลือเพียง ๑๐ มณฑล
และได้ยกเลิกไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
อนึ่ง
เมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๘ ได้มีการรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓
มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า
จังหวัดตากในสมัยนั้นจัดเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์เรื่อยมา
จนกระทั่งได้มีการยกเลิกไป
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน๑๖
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน
๒๔๗๕ ระบอบการ
ปกครองได้เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือปรมัตตาญาสิทธิราชย์ซึ่งหมายความว่า
การ
ปกครองโดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ
พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้ง ๓ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
โดยทางสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะรัฐมนตรีและทางศาลตามลำดับ
ปัจจุบันนี้การจัดระเบียบการบริหารงานทางการปกครองของประเทศ
ได้แบ่งลักษณะการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑.
ส่วนกลาง คือ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
และส่วนราชการอื่นที่เทียบเท่า
๒.
ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ซึ่งเป็นการปกครองในการแบ่งอำนาจในการปกครอง
๓.
ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล
องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาตำบล
และการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
ตามกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปการกระจายอำนาจในทางปกครอง
องค์การปกครองท้องถิ่นทุกรูปได้ถูกจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย
และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้
และมีสภาพเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในรูปสภาตำบล
ได้จัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม
๒๕๑๕
เจริญศุข ศิลาพันธุ์,
เพิ่งอ้าง. หน้า ๑๘-๑๙
ที่มา
:
ประวัติศาสตร์ส่วนภูมิภาคจังหวัดตาก.
กรุงเทพฯ
:
ศักดิ์ดาการพิมพ์,
๒๕๒๗.
|