ประวัติศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระในปี
พ.ศ.
๑๘๐๐
ชนชาวไทยส่วนหนึ่งที่อพยพมาตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้าแตกได้อพยพลงมาทางใต้
และตะวันออกเฉียงใต้ แถบลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี เรียกตัวเองว่า
ลานช้าง หรือ ล้านช้าง
ในระยะแรกที่อพยพเข้าสู่ดินแดนบริเวณนี้ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอมเช่นเดียวกันจนถึงรัชสมัยของพระเจ้ารามคำแหง
ได้ทรงขยายอาณาเขตเข้าครอบคลุมลานช้างด้วยจนถึงปี พ.ศ.
๑๘๙๓
พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย
ขณะเดียวกันทางกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง
หัวเมืองประเทศราชพากันกระด้างกระเดื่องในปี พ.ศ.
๑๙๒๑ พระบรมราชา
(ขุนหลวงพะงั่ว)
แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพไปตีสุโขทัยไว้ในอำนาจได้
ชนชาติไทยในลานช้าง
ในระยะก่อนตั้งกรุงสุโขทัยมาจนถึงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น
ขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้าได้ให้โอรสองค์ใหญ่ชื่อ
ขุนลอ
มาครองเมืองเซ่า (หลวงพระบาง)
และได้มีกษัตริย์สืบทอดมาอีก ๒๒ พระองค์ จนถึงปี ๑๘๖๙
เจ้าฟ้างุ้มได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเซ่าเป็นเมืองลานช้าง
แต่เนื่องจากระยะนั้นขอมยังมีอิทธิอยู่ในบริเวณนี้ ชาวไทยจึงได้รวมตัวกัน
โดยสร้างสัมพันธ์ทางสายเลือด เพื่อต่อต้านอำนาจขอม ในปี พ.ศ.
๒๐๘๙ พระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์ลานช้าง ได้รับราชสมบัติลานนา
(เชียงใหม่) ให้แก่โอรส คือ
พระไชยเชษฐา เพราะมีสิทธิทางฝ่ายมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ พ.ศ.
๒๑๐๒ พระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์
พระโอรสของพระองค์แย่งราชสมบัติกัน
พระไชยเชษฐาจึงทิ้งเมืองเชียงใหม่และได้อันเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย
และได้ยกกองทัพมาลานช้างบังคับให้น้องสละราชสมบัติลานช้างแล้วครอบครองราชสมบัติใช้พระนามว่า
ท้าวไชยเชษฐาธิราช
ส่วนทางเมืองเชียงใหม่เกิดความไม่สงบเพราะพระเจ้าบุเรงนองแผ่อำนาจขึ้นไปทางเมืองไทยใหญ่
แล้วมุ่งมาตีเมืองเชียงใหม่ ขณะนั้นเชียงใหม่มีพระเจ้าเมกุติเจ้าไทยใหญ่
เชื้อสายเจ้าเชียงใหม่ครองอยู่
พระเจ้าเมกุติยอมแพ้พม่าโดยไม่สู้รบเลยและสัญญาว่าจะส่งบรรณาการต่อบุเรงนองทุกปี
พอทัพพม่าออกจากเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาธิราชก็ยกทัพเข้าเชียงใหม่ขับไล่พระเจ้าเมกุติออกจากราชบัลลังก์
บุเรงนองได้ยกทัพย้อนกลับมาอีก ขับไล่ทหารของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชออกจากเชียงใหม่
และประกาศถอดพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชออกจากบัลลังก์ลานช้าง
พระไชยเชษฐาได้รวบรวมผู้คนและชักชวนเจ้าผู้ครองนครแถบนั้นเข้าเป็นพันธมิตร
แล้วยกทัพไปตีเชียงแสน บุเรงนองก็ตามไปโจมตีเมืองต่างๆ
ที่เป็นพันธมิตรพระไชยเชษฐาได้จนหมดสิ้น พระไชยเชษฐาจึงหนีกลับไปลานช้าง
พ.ศ.
๒๑๐๓
พระไชยเชษฐาได้ทำไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในปี
๒๑๐๖ ได้ย้ายราชธานีไปเวียงจันทน์
สร้างค่ายคูประตูหอรบสร้างวัดพระธาตุหลวงและวัดพระแก้วเปลี่ยนชื่อเมืองเซ่าหรือลานช้าง
เป็นหลวงพระบางพระไชยเชษฐามีนโยบายเป็นมิตรกับคนไทยด้วยกัน
และได้รักษาสัมพันธไมตรีอันดีเมื่อคราวที่พม่ามารบไทย
พระไชยเชษฐาได้ยกทัพมาช่วย
ทำให้พม่าเคียดแค้นจึงได้ยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์ได้และพระไชยเชษฐาได้หายสาบสูญไป
เหตุการณ์ระยะปี พ.ศ. ๒๑๑๒
ถึง ๒๑๓๓ พม่าได้ปกครองดินแดนลานช้างและพม่ากำลังเสื่อมอำนาจลงเพราะสิ้นบุเรงนอง
ประกอบกับได้ทำสงครามติดพันกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(๒๑๓๓๒๑๔๘)
จึงทำให้ลานช้างปลอดจากอิทธิพลพม่า
ในปี พ.ศ.
๒๑๓๔
พระสงฆ์ของเวียงจันทน์ได้ขอให้พม่าส่งพระหน่อแก้วเชื้อพระวงศ์พระไชยเชษฐาธิราชคืนกลับมาเป็นกษัตริย์
เมื่อกลับถึงเวียงจันทน์พระหน่อแก้วได้ประกาศเอกราชจากพม่า
แล้วจึงยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบางได้ไว้ในอำนาจ และมีความสงบอยู่เกือบร้อยปี
อพยพจากลานช้างสู่อีสาน
เหตุที่ทำให้คนไทยลานช้างต้องอพยพลงใต้นั้น เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุต
(เวียงจันทน์)
ถึงแก่พิราลัยเมื่อพุทธศักราช ๒๒๓๑ ซึ่งตรงกับรัช-สมัยของพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระองค์มีพระราชโอรส ๑ องค์นามว่า เจ้าองค์หล่อ ซึ่งมีชนมายุ ๓ พรรษา
และมีพระนางสุมังคละมเหสี กำลังทรงครรภ์อยู่ด้วย ขณะนั้นมีเสนาบดี
ผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อว่า พระยาเมืองแสน มีอำนาจมากกว่าคนอื่นๆ
ได้ราชาภิเษกให้แก่เจ้าองค์หล่อราชโอรสครองราชสมบัติ
ต่อมาก็ยกตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน
โดยอ้างว่าเจ้าองค์หล่อยังเยาว์นัก
ประกาศว่าเมื่อเจ้าองค์หล่อเจริญวัยขึ้นจะถวายราชสมบัติ
โดยสิทธิ์ขาดในภายหลัง ด้วยเลห์เหลี่ยมอันฉลาดแกมโกงของพระยาเมืองแสนๆ
ก็ได้ครองบัลลังก์ โดยไม่มีการราชาภิเษกแต่อย่างใด
ขับเจ้าองค์หล่อจากราชบัลลังก์อย่างเงียบๆ
และคิดการจะรับเอามารดาของเจ้าองค์หล่อที่ทรงครรภ์มาเป็นภรรยาของตน
แต่มารดาของเจ้าองค์หล่อทราบระแคะระคายจึงพาเจ้าองค์หล่อกับคนสนิทลอบหนีไปขออาศัยอยู่กับเจ้าครูโพนเสม็ด
(สมเด็จเจ้าหัวครูโพนเสม็ดอยู่ในตำแหน่งเจ้าหัวครูยอดแก้ว
"พระสังฆราช")
ซึ่งเป็นที่เคารพและมีลูกศิษย์มาก
เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเห็นว่าถ้าให้นางอาศัยอยู่ด้วยก็เกรงความครหานินทาทั้งไม่เป็นการปลอดภัยจึงส่งไปไว้ที่ตำบลภูชะง้อหอคำและได้ประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่งนามว่า
เจ้าหน่อกษัตริย์
ที่นั้น
ฝ่ายพระยาเมืองแสนเห็นว่า เจ้าหัวครูโพนเสม็ดมีผู้รักใคร่นับถือมาก
เกรงว่าจะคิดการแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดการกำจัด
แต่เจ้าหัวครูโพนเสม็ดรู้เสียก่อนจึงรวบรวมพวกพ้องเหล่าสานุศิษย์ประมาณ ๓,๐๐๐
คน เดินทางหลบไป
เมื่อผ่านไปทางใดก็มีราษฎรอพยพตามไปด้วยจนเดินทางถึงแขวงเมืองบันทายเพชร์
ดินแดนเขมร
ฝ่ายพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้สั่งให้มีการสำรวจสำมะโนครัวและให้เรียกเก็บเงินจากชาวเวียงจันทน์
ครัวละ ๒ ตำลึง เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเห็นว่า เป็นการเดือนร้อนแก่เหล่าศิษยานุศิษย์
จึงอพยพออกจากดินแดนเขมรจนบรรลุถึงเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี
การเดินทางออกจากเมืองเวียนจันทน์จนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีนี้
เจ้าหัวครูโพนเสม็ดต้องอาศัยเจ้าแก้วมงคล (บรรพบุรุษชาวมหาสารคาม)
เป็นแม่กองใหญ่ และจารย์หวด
รองแม่กอง ในการควบคุมดูแลบริวารของท่านมาตลอดทาง
ฝ่ายนางเภา นางแพง
ซึ่งเป็นธิดาของผู้ครองเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเมื่อบิดาของนางถึงแก่พิราลัยแล้ว
นางก็เป็นผู้บัญชาราชการบ้านเมืองต่อมา
จนกระทั่งถึงปีที่เจ้าหัวครูโพนเสม็ดมาถึงเมือง
นางทั้งสองทราบข่าวก็มีความเลื่อมใจ จึงพาแสนท้าวพญาเสนามาตย์ออกไปอาราธนาเจ้าหัวครูโพนเสด็ดเข้ามาในเมืองครั้งเวลาต่อมานางและประชาชนมีความเคารพนับถือเจ้าหัวครูโพนเสม็ดมากขึ้น
และนางทั้งสองก็ชราลงมากจึงอาราธนาให้เจ้าหัวครูโพนเสม็ดเป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
เมื่อเจ้าองค์หล่อได้เจริญวัยขึ้นหน่อยก็สามารถไปอยู่ที่ประเทศญวน
ต่อมาได้เกลี้ยกล่อมสมัครพรรคพวกได้มากจึงยกกำลังมาล้อมเมืองเวียงจันทน์
เมื่อราว พ.ศ.
๒๒๔๕ จับ พระยาเมืองแสนประหารชีวิต
เจ้าองค์หล่อได้ครองราชสมบัติต่อมา
ครั้น พ.ศ.
๒๒๕๒ ปรากฏว่าชาวเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี
บางพวกได้ซ่องสุมพรรคพวกก่อการกำเริบเป็นโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสะดมในตำบลต่างๆ
ทำให้ราษฎรผู้มีความสุจริตธรรมต้องเดือนร้อนทั่วไป
เจ้าหัวครูโพนเสม็ดได้พยายามปราบปรามโดยการเที่ยวอบรมสั่งสอนในทางดีก็หาได้ผลไม่
ครั้นจะทำการบำราบปราบปรามโดยอำนาจอาชญาจักร์ก็เป็นการเสื่อมเสียทางพรหมจรรย์
ทั้งจะเป็นที่ครหานินทาของประชาชนทั้งหลาย
จึงดำริหาวิธีที่จะระงับเหตุร้ายโดยละม่อมที่สุดก็เห็นว่า
เจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งอยู่ที่ตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุก
เวลานี้ก็ทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว
และเป็นผู้ประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณอันดีงาน
สมควรจะปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความร่มเย็นได้
จึงจัดให้ท้าวพระยาเสนาบดีแลบ่าวไพร่ออกไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาเข้ามายังเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี
แล้วเจ้าหัวครูโพนเสม็ดก็กระทำพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินของนครกาละจำบากนาบุรีศรี
และได้ถวายพระนามว่า พระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร
และได้เปลี่ยนนามเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเป็นเมือง
นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี
ตั้งแต่นั้นมา เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ
ได้จัดการปกครองแลปราบปรามยุคเข็ญสงบราบคาบลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วเป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามยุคเข็ญนั้น
เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ ก็เริ่มดำริหาเมืองขึ้น
โดยให้มีการสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่หลายเมือง
แล้วจัดให้บรรดาบุคคลที่มีปรีชาสามารถแลมีผู้รักใคร่นับถือออกไปเป็นเจ้าเมือง
(เจ้าเมืองสมัยนั้นก็เสมือนกษัตริย์เมืองขึ้น
เพราะการแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนคำพูดที่ใช้ในสำนักของเจ้าเมืองนั้นๆ
ก็ใช้เป็นราชาศัพท์) ให้จารย์หวดไปสร้างเมืองขึ้นชื่อเมืองโขงตั้งจารย์หวดเป็นเจ้าเมือง
ให้ท้าวจันทร์ (นับว่าเป็นน้องจารย์แก้ว)
ไป
รักษาเมืองตะโปน เมืองพิน
เมืองนอง
สร้างเมืองบรรพบุรุษของชาวอีสาน
ส่วนจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคลให้ไปสร้างเมืองทง
(สุวรรณภูมิ)
ให้จารย์แก้วเป็นเจ้าเมือง (ชื่อของจารย์แก้วในภายหลังก็ได้นำมาใช้เป็นชื่อเจ้าเมืองและนายอำเภอเมืองนี้
ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เช่น พระยารัตนวงศา พระรัตนวงศาฯ หลวงรัตนาวงศา
(เมืองนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเมืองสุวรรณภูมิแล้วยุบลงเป็นอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด
ราว พ.ศ. ๒๔๕๔)
ครั้น พ.ศ.
๒๒๖๘ อาจารย์แก้วเจ้าเมืองทงก็ถึงแก่อนิจกรรม มีบุตรรวม ๓
คน คือ (๑)
เจ้าองค์หล่อหน่อคำ (หลานเจ้านครน่าน) (๒)
ท้าวมือดำดล หรือท้าวมืด (๓)
ท้าวสุทนต์มณี หรือท้าวทนต์ (ปรากฏในพงศาวดารว่าเหตุที่ชื่อท้าวมืดเพราะเวลาคลอดนั้นเป็นเวลาสุริยุปราคามืดมิดไปทั่วเมือง
ที่ชื่อท้าวสุทนต์มณี
เพราะเวลาตั้งครรภ์บิดาฝันว่าฟันของตนได้เกิดเป็นแก้วมณีขึ้น)
เมื่อจารย์แก้วถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ
ก็ตั้งให้ท้าวมืดเป็นเจ้าเมือง ท้าวทนต์เป็นอุปฮาช รักษาบ้านเมือง
ต่อไปในภายหลัง ท้าวมืดดำดลเจ้าเมืองถึงแก่กรรมลง
ท้าวสุทนต์มณีน้องชายได้เป็นเจ้าเมืองแทน
ท้าวสุทนต์ผู้นี้นับว่ายังเป็นผู้ยังไม่สิ้นเคราะห์พอขึ้นเป็นเจ้าเมืองไม่ทันไรก็ถูกอิจฉา
โดยท้าวเชียง ท้าวสูนบุตรของท้าวมืดซึ่งเป็นหลานชาย
อยากเป็นเจ้าเมืองเสียเอง จึงพากันลงไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
(เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี)
ณ พระนครศรีอยุธยา
ขอกำลังมาทำการขับไล่ท้าวสุทนต์ผู้อา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาพรหม พระยากรมท่าออกไปจัดการกับท้าวเชียง ท้าวสูน
โดยมีพระประสงค์จะให้ประนีประนอมกันแต่โดยทางดี
ฝ่ายท้าวสุทนต์เจ้าเมืองเมื่อทราบข่าวว่ากองทัพกรุงยกมาก็ดำริเห็นว่า
เราเป็นเมืองน้อยมีกำลังน้อยไม่สามารถต้านทานกำลังของกองทัพกรุงได้
ถ้าหากมีการต่อสู้กันขึ้นมา
คงเป็นฝ่ายย่อยยับจึงอพยพครอบครัวออกไปอยู่ที่ทุ่งตะมุม
(หรือขมุม หรือกระหมุม
ที่นั่นได้เรียกว่าคงเมืองจอกมาจนทุกวันนี้)
ในครั้งนั้นมีประชาชนที่จงรักภักดีติดตามท้าวทนต์ไปอยู่ที่ทุ่งตะมุมด้วยเป็นจำนวนมาก
ครั้นพระยาพรหม
พระยากรมท่ามาถึงเมืองทงเมื่อทราบว่าท้าวทนต์ฯ ได้หนีไปแล้ว
จึงมีใบบอกขอตั้งท้าวเชียงเป็นเจ้าเมืองท้าวสูนเป็นอุปฮาช
ได้โปรดพระราชทานตามที่ขอ แต่นั้นมาเมืองทง (ทุ่ง)
ก็เป็นอันขาดจากความปกครองของเมืองนครจำปาศักดิ์ฯ
ครั้นเรียบร้อยแล้วพระยาพรหม
พระยากรมท่าก็ออกไปตั้งสำนักอยู่ที่ทุ่งสนามโนนกระเบา (ในท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ)
สร้างบ้านร้อยเอ็ด
เมืองร้อยเอ็ดได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.
๒๓๑๘ (ก่อนเมืองมหาสารคาม ๙๐
ปีบริบูรณ์)
ปรากฏในพงศาวดารภาคอีสานของหอสมุดว่า
สมัครพรรคพวกที่ไปขอขึ้นด้วยมากขึ้นทุกที ในที่สุดพระยาพรหม
พระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนต์เป็นตระกูลสูงเก่าแก่
และมีความเฉลียวฉลาดประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมเป็นอันดีทั้งมีคนเคารพเลื่อมใสยอมตนเข้าเป็นพรรคพวกเป็นอันมาก
สมควรจะเป็นเจ้าเมืองต่อไปอีกได้ จึงพร้อมด้วยเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์
เจ้าหมื่นน้อย เจ้าธรรมสุนทรซึ่งเป็นญาติของท้าวสุทนต์ กับท้าวเชียง
ท้าวสูน มาว่ากล่าวประนีประนอมให้คืนดีกันจนเป็นผลสำเร็จแล้วพระยาพรหม
พระยากรมท่าก็มีใบบอกขอยกเอาดงกุ่มขึ้นเป็นเมือง ขอท้าว
สุทนต์เป็นเจ้าเมือง
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุทนต์เป็นพระขัติยะวงศาให้ยกดงกุ่มเป็นเมืองร้อยเอ็ดในปี
พ.ศ.
๒๓๑๘ นั้นเอง (เหตุที่ให้นามว่า
ขัติยะวงศา เพราะท้าวแก้วต้นตระกูลเป็นผู้สืบสายจากกษัตริย์เวียงจันทน์)
ต่อจากนั้นพระขัติยะวงศา (สุทนต์)
ได้เริ่มอำนวยการให้ราษฎรแผ้วป่าดงกุ่มสร้างเมืองใหม่ตามมีพระบรมราชโองการ
ต่อจากนั้นก็มีการสร้างวัดวาอาราม
ปรับปรุงบ้านเมืองในด้านการปกครองการศาสนาตลอดจนส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้น พ.ศ.
๒๓๒๖ พระขัติยะวงศา (สุทนต์)
ชราภาพลงมาก จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระนิคมจางวาง
พระนิคมจางวาง (สุทนต์)
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวศีลัง เป็นพระขันติยะวงศา เจ้าเมืองแทนบิดา
ให้ท้าวภูเป็นอุปฮาช ท้าวอ่อนเป็นราชวงศ์ ต่อมาพระขัติยะวงศา (ศีลัง)
มีความชอบในราชการสงครามจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น
พระยาขัติยะวงศาพิสุทธาธิบดี และปี พ.ศ.
๒๓๘๐
หลังจากปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์สงบราบคาบแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเห็นว่า
สามพี่น้องมีความชอบในราชการเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาขัติยะวงศา
(ศีลัง)
ขึ้นเป็นพระยาชั้นพานทองและพระราชทานพานทองคำขนาดใหญ่ ๑ ใบ โปรดเกล้าฯ
ให้ท้าวภูเป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ
ให้ท้าวอ่อนเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในพระบรมหาราชวัง เมื่องพระรัตนวงศา
(ภู) ผู้นี้ถึงอนิจ-กรรมแล้ว
ก็โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอ่อนมหาดเล็กออกมาเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิต่อไป
ตั้งเมืองมหาสารคามแยกออกจากร้อยเอ็ด
เมื่อพระยาขัติยะวงศาถึงแก่อนิจกรรมลง
อุปฮาชสิงห์พร้อมด้วยท้าวจันทร์และราชวงศ์อินได้นำใบบอกไปขอศิลาหน้าเพลิง ณ
กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระพิชัยสุริวงศ์เป็นผู้รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดแทนบิดาหลังจากจัดการพระราชทานเพลิงศพบิดาเสร็จแล้ว
อุปฮาชสิงห์ได้จัดให้มีการเล่นโปขึ้นที่หอนั่งในจวนของพระยาขัติยะวงศา
และชักชวนให้พระพิชัยพี่ชายเล่นด้วย
พอยามดึกสงัดพระพิชัยได้ถูกคนร้ายลอบแทงถูกสีข้างข้างซ้ายถึงแก่กรรม
ขณะนั้นพระรัตนวงศา
(ภู)
น้อยชายพระยาขัติยะวงศาได้มาทำการปลงศพพี่ชายที่เมืองร้อยเอ็ดด้วย
ได้พร้อมกับกรมการเมืองทำการสืบหาตัวผู้ร้าย จับตัวเจ๊กจั๊นผู้ชึ่งเป็นผู้ร้ายได้
พระรัตนวงศา (ภู)
สงสัยอุปฮาชสิงห์หลายชาย จึงจับตัวส่งไปกรุงเทพฯ พร้อมเจ๊กจั๊น
ครั้นเดินทางใกล้ถึงเมืองนครราชสีมาอุปฮาชสิงห์ได้กินยาพิษถึงถึงแก่กรรมเสียก่อนยังมิได้มีการไต่สวนพิพากษาแต่อย่างใด
คดีจึงเป็นอันระงับไป
ฝ่ายท้าวศรีวงศ์บุตรของอุปฮาชสิงห์ ซึ่งมีอายุ ๑๑ ปี
เมื่อบิดาถูกส่งไปกรุงเทพฯ ญาติหวาดหวั่นว่าจะได้รับภัยด้วย
จึงส่งตัวท้าวศรีวงศ์ไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิ
และได้ถูกส่งตัวไปจนถึงเขตแขวงเมืองยโสธรนัยว่าไม่ได้ฝากฝังไว้กับใคร
ชีวิตจึงต้องระเหเร่ร่อนได้รับความทรมานลำบากยากแค้น
ถึงกับต้องอาศัยนอนตามถนนหนทางและศาลาวัดและเที่ยวขอทานประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ
เท่านั้น ท้าวศรีวงศ์ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่เช่นนี้ ๖ เดือนเศษ
จึงได้พบกับสมภารทองสุก ซึ่งมีวัดใกล้เมืองยโสธร
โดยพบขณะนอนหลับอยู่ใต้ธรรมาสน์บนศาลา จึงปลุกขึ้นมาสอบถามความเป็นมา
เมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนต้องหลบหนีมาสมภารทองสุกเกิดความสงสารจึงชักชวนให้อยู่ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า
ท้าวกวด
และทำการบรรพชาให้เป็นสามเณร
ให้เล่าเรียนภาษาบาลี พระธรรมวินัย ภาษาไทย จนแตกฉาน
ต่อมาได้อุปสมบทได้สองพรรษาก็ลาสิกขาบทออกไปทำราชการที่เมืองอุบลฯ
ทำราชการมีความชอบจนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ท้าวมหาชัย
ครั้น พ.ศ.
๒๓๙๙ ท้าวมหาชัยได้รับจดหมายของพระขัติยะวงศา (จันทร์)
เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเรียกให้กลับไปรับราชการที่เมืองร้อยเอ็ด
จึงได้กลับไปรับราชการอยู่กับญาติของตน
พ.ศ.
๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแหงสงคราม (แก้ว
สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมา (ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช)
เป็นข้าหลวงแม่กองสักออกไปสักเลขทางหัวเมืองตะวันออกตั้งอยู่ที่เมืองยโสธรคราวนี้กรมการเมืองร้อยเอ็ดได้นำตัวเลขไปสักที่เมืองยโสธรเป็นจำนวน
๑๓,๐๐๐ คนเศษ
พระขัติยะวงศา
(จันทร์)
เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเห็นว่า
พลเมืองของร้อยเอ็ดมีมากขึ้นประกอบกับท้าวมหาชัยเป็นผู้มีความชอบในราชการหลายอย่าง
ทั้งชื่อสัตย์มั่นคง มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม สมควรเป็นเจ้าเมืองได้
ถ้าแยกออกไปตั้งเมืองหนึ่งก็จะเป็นการสมควร
จึงปรึกษาหารือกับกรมการเมืองแล้วเห็นชอบให้ตั้งเมืองใหม่ พระขัติยะวงศาจึงให้ท้าวมหาชัย
(กวด) กับอุปฮาชภูไปสำรวจที่ตั้งเมือง
และได้เลือกที่ดินระหว่างห้วยคะคางและกุดนางใย
เพราะเป็นโคกเนินสูงน้ำไม่ท่วมถึง
หน้าแล้งก็ได้อาศัยน้ำห้วยคะคางและกุดนางใย หนองกระทุ่มเป็นที่ใช้สอย
บริโภคของประชาชน เมืองได้ถูกสร้างขึ้นในปี ๒๔๐๘ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วพระขัติยะวงศา
ขอท้าวมหาชัย (กวด)
เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวบัวทอง (พานทอง)
เป็นอรรคฮาช (ทั้งสองคนเป็นหลานพระยาขัติยะวงศา)
ขอท้าวไชยวงศา (ฮึง)
บุตรพระยาขัติยะวงศา (ศีลัง)
เป็นอรรควงศ์ ขอท้าวเถื่อนบุตรพระขัติยะวงศา (จันทร์)
เป็นอรรคบุตร และให้ท้าวมหาชัย (กวด)
กับพวกทั้งสามคนทำใบบอกลงไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ ที่กรุงเทพฯ
พ.ศ.
๒๔๑๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองมหาสารคาม
ซึ่งเกิดใหม่และเป็นเมืองขึ้นของเมืองร้อยเอ็ดให้ยกไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
ฐานะของอรรคฮาช อรรควงศ์ อรรคบุตร ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาชราชวงศ์
ราชบุตร พร้อมกันทันที และในปีนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต
พ.ศ.
๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
โปรดเกล้าฯ ให้มีตราถึงเมืองมหาสารคาม และหัวเมืองตะวันออกว่า
ให้ยกเลิกธรรมเนียมตั้งข้าหลวงกองสักที่มาสักเลขตามหัวเมือง
และขอให้ไพร่บ้านพลเมืองไปอยู่ในความปกครองของเมืองใดก็ได้ตามใจสมัคร
และโปรดเกล้าฯ ให้ทำสำมะโนครัวตัวเลขส่งไปยังกรุงเทพฯ
ในปีนี้พลเมืองของร้อยเอ็ดได้พากันอพยพมาขอขึ้นอยู่กับเมืองมหาสารคามอย่างมากมาย
ไทยรบกับฮ่อ
พ.ศ.
๒๔๑๘ พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ
ของหลวงพระบางซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของไทย
และตระเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองเวียงจันทน์
และหนองคายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น
กัลยาณมิตร)
เป็นแม่ทัพใหญ่ให้เกณฑ์กำลังทางหัวเมืองตะวันออกไปปราบฮ่อทางเมืองหนองคาย
พระยามหาอำมาตย์
(ชื่น)
ได้ส่งให้พระเจริญราชเดช (ท้าวมหาชัย
กวด ภวภูตานนท์) เกณฑ์กำลังเมืองมหาสารคาม
เมืองร้อยเอ็ด
เป็นแม่ทัพหน้ายกไปสมทบทัพของพระพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบลราชธานี
และพระยาชัยสุนทร (ทน)
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ โดยให้ราชบุตร (เสือ)
เมืองร้อยเอ็ดเป็นนายกองผู้ช่วยพระเจริญราชเดช (มหาชัยกวด)
ทัพไทยได้ยกข้ามโขงไปโจมตีและเกิดตลุมบอนกันจนฮ่อแตกกระจาย
ผลปรากฏว่าราชบุตรเสือถูกฮ่อยิงถูกมือขวาโลหิตไหล พวกพลจึงเข้าพยุงกลับมา
ส่วนพระเจริญราชเดชได้ถูกกระสุนปืนของฮ่อที่ต้นขาซ้าย และแขนซ้าย
ตกจากหลังม้าอาการสาหัสไพร่พลจึงเข้าพยุงขึ้นใส่บ่าจะพากลับที่พัก
แต่พระเจริญราชเดชไม่ยอมกลับ โดยอ้างว่า กลับไปก็อายเขา
เมื่อถึงที่ตายก็ขอให้ตายในที่รบ ฯลฯ
จึงสั่งให้ไพร่พลพยุงขึ้นบนหลังม้าแล้วพยายามขับขี่ต่อไปอีก
ในวันต่อมากองทัพไทยได้ยกเข้าตีค่ายโพธานาเลา ได้ชัยชนะอีก
พวกฮ่อได้แตกหนีไป ไทยจับได้พวกฮ่อและ
สาตราวุธมากมาย
เมื่อเสร็จการปราบฮ่อแล้ว
พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงใหญ่ภาคอีสานได้กลับ
ไปจัดราชการอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด กองทัพอื่นๆ ก็กลับไปยังบ้านเมืองตามเดิม
ส่วนพระเจริญ-
ราชเดช
ที่ถูกยิงและตกจากหลังม้านั้น
มีอาการป่วยได้เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่คุ้มเจ้าราชวงศ์
เวียงจันทน์
และต่อมาได้กลับมารักษาตัวที่เมืองมหาสารคามและได้ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อ พ.ศ.
๒๔๒๑ อุปฮาช (ฮึง)
ผู้เป็นอาพร้อมด้วยกรมการเมืองปรึกษากันเห็นว่า ท้าวสุพรรณ
บุตรพระเจริญราชเดชสมควรจะเป็นเจ้าเมืองต่อไปได้
จึงเขียนใบบอกให้ท้าวสุพรรณนำลงไปยังกรุงเทพฯ
ขณะที่ท้าวสุพรรณเดินทางไปยังไม่ถึงกรุงเทพฯ
ก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่กลางทาง ตำแหน่งเจ้าเมืองมหาสารคามจึงได้ว่าง
ต่อมาถึง ๒ ปี โดยมีอุปฮาช (ฮึง)
รักษาการแทนอยู่
พ.ศ.
๒๔๒๒ ขุนหลวงสุวรรณพันธนากร (คำภา)
ขุนสุนทรภักดีสมมุติตนเองขึ้นเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเที่ยวตามหัวเมืองตะวันออก
อ้างว่าโปรดเกล้าฯ ให้มาชำระถ้อยความของราษฎรที่เกิดขึ้น
แต่หนังสือที่ว่าเป็นท้องตรานั้นประทับเป็นรูปราชสีห์ถือเศวตฉัตรสองตัวเป็นเส้นลายทอง
และถือหนังสือของขุนบรรเทาพินราชกรมมหาดไทยว่า
ตนเป็นนายเวรของกรมพระบำราบปรปักษ์มาถึงอุปฮาช
ราชวงศ์ราชบุตรเมืองมหาสารคามว่า ตนมาชำระคดีเรื่องขุนสุนทรและท้าวจันทร์ชมภู
อุปฮาชฮึงและกรมการเมืองมหาสารคามมีความสงสัย
เพราะเห็นว่ามีพิรุธแต่ครั้นจะกักตัวไว้ก็ไม่ปรากฏว่าทุจริต
จึงได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้มีตราถึงหัวเมืองตะวันออกให้ทำการตรวจจับขุนแสวงฯ
และขุนสุนทรภักดีส่งไปกรุงเทพฯ
พ.ศ.
๒๔๒๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งให้อุปฮาชฮึงเป็นพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม
และในปีนี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย
ขึ้นในปกครองของเมืองสุวรรณภูมิแต่มาตั้งเมืองในเขตของเมืองมหาสารคาม
พ.ศ.
๒๔๒๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาเลาเป็นเมือง วาปีปทุม
แต่บ้านนาเลาไม่เหมาะสมกับการตั้งเมือง
จึงได้มาตั้งที่บ้านหนองแสง และโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านวังทาหอขวางเป็นเมือง
โกสุมพิสัย
พ.ศ.
๒๔๓๒ อุปฮาชผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ
มีใบบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคามสุรินทร์ ศรีสะเกษ
ว่าแย่งเอาเขตของตนไปตั้งเป็นเมือง เฉพาะเมืองมหาสารคาม
ถูกหาว่าขอเอาบ้านนาเลาตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ ข้าหลวงอุบลฯ ทำการไต่ส่วนว่ากล่าวในเรื่องนี้
แต่เมืองเหล่านี้ได้ตั้งมานานแล้วรื้อถอนไม่ได้ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้เมืองวาปีปทุมเป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามไปตามเดิม
โดยมิได้โยกย้ายประการใด
การจัดแบ่งเขตปกครอง
พ.ศ.
๒๔๓๓ โปรดเกล้าฯ
แบ่งเขตปกครองหัวเมืองตะวันออกเป็น ๔ ส่วน หรือ
สี่กอง กองหนึ่งๆ
มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้กำกับราชการ
๑.
หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีเมืองใหญ่ ๑๖
เมือง เมืองเล็กขึ้น ๓๖ เมือง อยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองหนองคาย
๒.
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก
มีเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้น ๒๖ เมือง
อยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์
๓.
หัวเมืองลาวฝ่ายกลางมีเมืองใหญ่ ๓
เมือง เมืองขึ้น ๑๖ เมือง อยู่ในความ
ปกครองของข้าหลวงเมืองนครราชสีมา
๔.
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองใหญ่ ๑๒ เมือง
เมืองขึ้น ๒๙ เมือง ขึ้นอยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี
(ภายหลังเรียกมณฑลอีสาน)
เมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์
ขึ้นอยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองอุบลฯ
พ.ศ.
๒๔๓๕ โปรดเกล้าฯ ให้นายรองชิต (เลื่อง
ณ นคร ) จมื่นศรีบริรักษ์
มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ดเป็นครั้งแรก
ตั้งอยู่ที่เมืองมหาสารคาม
พ.ศ.
๒๔๓๗
ทางการได้โอนเมืองชุมพลบุรีจากเมืองสุรินทร์มาขึ้นเมืองมหาสาร-
คาม
(พ.ศ.
๒๔๔๓ ยุบเป็นอำเภอแล้วโอนกลับไปขึ้นเมืองสุรินทร์)
พ.ศ.
๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเพื่อวางระเบียบแบบแผนการปกครองท้องที่ให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น
แต่เวลานั้นมณฑลอีสานยังมิได้จัดการปกครองให้เป็นไปอย่างมณฑลอื่น
พ.ศ.
๒๔๔๓ โปรดเกล้าฯ
ให้แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นบริเวณ ๕ บริเวณ คือ
๑)
บริเวณอุบล
๒)
บริเวณจำปาศักดิ์
๓)
บริเวณขุขันธ์
๔)
บริเวณสุรินทร์
๕)
บริเวณร้อยเอ็ด
บริเวณร้อยเอ็ดแบ่งเป็น ๕ หัวเมือง คือ
๑)
เมืองร้อยเอ็ด
๒)
เมืองมหาสารคาม
๓)
เมืองกาฬสินธุ์ (ยุบลงเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดมหาสารคาม
ปี ๒๔๗๔ แล้ว กลับตั้งเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์อีก เมื่อปี ๒๔๙๐)
๔)
เมืองกมลาไสย (ยุบลงเป็นอำเภอจนทุกวันนี้)
๕)
เมืองสุวรรณภูมิ (ยุบลงเป็นอำเภอจนทุกวันนี้)
ในปี พ.ศ.
๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า เจ้าเมือง
เป็น ผู้ว่าราชการเมือง
อุปฮาช เป็น ปลัดเมือง ราชวงศ์ เป็น
ยกกระบัตร ราชบุตร เป็น ผู้ช่วยราชการเมือง
ชาเนตร เป็น เสมียนตราเมือง
ในปี พ.ศ.
๒๔๔๓ เมืองมหาสารคาม
ได้จัดการแบ่งเขตเมืองตั้งขึ้นเป็นอำเภอคือ (๑)
อำเภออุทัยสารคาม (๒)
อำเภอประจิมสารคาม
ส่วนเมืองวาปีปทุม โกสุมพิสัย
ก็คงให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามไปตามเดิม
และได้ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอในปีนี้ เช่นเดียวกัน
พ.ศ.
๒๔๔๔ เมืองมหาสารคาม
มีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครอง ๔ อำเภอ คือ อุทัยสารคาม ประจิมสารคาม
วาปีปทุมและโกสุมพิสัย ยุบเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ลงเป็นอำเภอ
พยัคฆภูมิพิสัย
และย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านนาข่าไปตั้งที่ตำบลปะหลานแต่นั้นมา
แล้วโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากเมืองสุวรรณภูมิมาให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของร้อยเอ็ดในปีนั้น
พ.ศ.
๒๔๔๖
ยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองโดยทั่วไป
พ.ศ.
๒๔๕๑ ทางราชการได้สั่งให้เปลี่ยนคำที่เรียกว่า บริเวณ
เป็น เมือง
ตามเดิม และปี พ.ศ.
๒๔๕๖ เปลี่ยนคำที่เรียกว่า ที่ว่าการเมือง
เป็น ศาลากลางจังหวัด
และเปลี่ยนคำว่าคุ้มหรือบ้านของเจ้าเมืองเรียกว่า จวนผู้ว่าราชการเมือง
พ.ศ.
๒๔๕๔ ย้ายอำเภอประจิมสารคาม
จากเมืองมหาสารคามไปตั้งทางทิศตะวันตก เมืองมหาสารคาม ไปติดตั้งกับหนองบรบือ
เรียกใหม่ว่าอำเภอท่าขอนยาง และเปลี่ยนนามอำเภออุทัยสารคาม เรียกว่า
อำเภอเมืองมหาสารคาม
พ.ศ.
๒๔๕๙ เปลี่ยนค่ำว่า ผู้ว่าราชการเมือง
เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด
และยกเลิกตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดปีนี้
พ.ศ.
๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้น
ตั้งศาลารัฐบาลที่เมืองร้อยเอ็ด (ที่ทำการมณฑลเรียกว่า
ศาลากลางรัฐบาลมณฑล) โอนเมืองกาฬสินธุ์
เมืองมหาสารคามจากมณฑลอีสาน (ซึ่งเปลี่ยนเป็นมณฑลอุบลราชธานี)
มาขึ้นมณฑลร้อยเอ็ดซึ่งตั้งใหม่
และในปีนี้ได้จัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นในจังหวัดมหาสารคามเป็นครั้งแรก
โอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาขึ้นในความปกครองของจังหวัดมหาสารคาม
โอนอำเภอกันทรวิชัย (แล้วเปลี่ยนเป็นอำเภอโคกพระ)
จากจังหวัดกาฬสินธุ์มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม ดังนั้น
ในปี พ.ศ.
๒๔๕๖ จังหวัดมหาสารคามจึงมี ๖ อำเภอ คือ
๑)
อำเภอเมืองมหาสารคาม (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอตลาด)
๒)
อำเภอเมืองวาปีปทุม
๓)
อำเภอโกสุมพิสัย
๔)
พยัคฆภูมิพิสัย
๕)
อำเภอโคกพระ
๖)
อำเภอท่าขอนยาง (ถึง พ.ศ.
๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบรบือ)
พ.ศ.
๒๔๕๗ ได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัด (ต่อมาได้ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
เพราะได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ เสร็จในปี ๒๔๖๗)
พ.ศ.
๒๔๖๘ โปรดเกล้าฯ
ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ดเป็นจังหวัด โอนจังหวัดทั้งสาม คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม
และกาฬสินธุ์ ไปขึ้นอยู่มณฑลนครราชสีมา
พ.ศ.
๒๔๗๔
ทางราชการได้ยุบจังหวัดกาฬสินธุ์มารวมขึ้นในความปกครองของจังหวัดมหาสารคามอีก
๕ อำเภอรวมเป็น ๑๑ อำเภอ
เปลี่ยนแปลงการปกครอง
วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎร์ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยา
ทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอาคเณ
เป็นหัวหน้า ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย
มาเป็นประชาธิปไตย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม
๒๔๗๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม และในเดือนนี้รัฐบาลได้สั่งให้จัดตั้ง
สาขาสมาคมคณะราษฎร์
ขึ้นในจังหวัดต่างๆ จังหวัดมหาสารคามได้จัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า สาขาสมาคมคณะราษฎร์
ประจำจังหวัดมหาสารคาม
กันยายน ๒๔๗๖
จังหวัดมหาสารคามได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นเป็นครั้งแรก
พฤศจิกายน ๒๔๗๖
จังหวัดมหาสารคามได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยวิธีให้ผู้แทนตำบลทั่งทั้งจังหวัดเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง
(มีผู้แทนตำบล
๑๑ อำเภอ
รวมกัน ๖๑ คน
และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม
๒๔๗๖
พ.ศ.
๒๔๗๖ รัฐบาลได้เปลี่ยนคำที่เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
เป็น ข้าหลวงประจำจังหวัด
ภายหลังได้เปลี่ยนกลับไปใช้คำว่า
ผู้ว่าราชการจังหวัด
อีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งบัดนี้
พ.ศ.
๒๔๙๖ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม
ได้สร้างเสร็จและเปิดใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น ๙
อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ดังนี้
๑.
อำเภอเมืองมหาสารคาม
๒.
อำเภอบรบือ
๓.
อำเภอกันทรวิชัย
๔.
อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
๕.
อำเภอนาดูน
๖.
อำเภอวาปีปทุม
๗.
อำเภอนาเชือก
๘.
อำเภอเชียงยืน
๙.
อำเภอโกสุมพิสัย และ
๑๐.
กิ่งอำเภอแกดำ
ที่มา
:
ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดมหาสารคาม.
มหาสารคาม : โรงพิมพ์ปรีดาการพิมพ์ มหาสารคาม,
๒๕๔๒
|