ประวัติศาสตร์จังหวัดหนองคาย
สมัยกรุงธนบุรี
ปี
พ.ศ.
๒๓๑๔ ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี พระวอ (พระวรราชภักดี)
อุปราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต และพระตา เสนาบดี
เกิดขัดใจกันกับพระเจ้าศิริบุญสาร กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ ในครั้งนั้น
พระวอพระตาเป็นนายกองอยู่บ้านหินโงม
จึงรวบรวมไพร่พลไปสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณหนองบัวลำภู(จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน)
ใช้ชื่อเมืองใหม่ว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์
กาบแก้วบัวบาน" (ในพระราชวิจารณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เรียกว่า เมืองจำปา
นครขวางกาบแก้วบัวบาน)
พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกกองทัพมาปราบแต่ไม่สำเร็จ
ต่อมาพระวอพระตาเกรงจะถูกรุกรานอีก
จึงไปขออ่อนน้อมต่อพม่าเพื่อขอกำลังมาโจมตีเวียงจันทน์
เมื่อทางเวียงจันทน์ทราบเรื่องก็ส่งทูตไปขออ่อนน้อมต่อพม่าบ้าง
แล้วยกกองทัพเข้าตีเมืองหนองบัวลำภูแตก พระตาตายในที่รบ
พระวอจึงอพยพหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลหนองมดแดง (อยู่ในเขตอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
แล้วแต่งเครื่องบรรณาการไปขอเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงธนบุรี
พระเจ้าตากสินยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย
ปี พ.ศ.
๒๓๑๘ (ค.ศ.
๑๗๗๖) พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกกองทัพมาโจมตีพระวอที่ดอนมดแดง
กองทัพเวียงจันทน์ได้จับตัวพระวอฆ่าตาย พรรคพวกของพระวอจึงถือสาส์นไปยังเมืองนครราชสีมาเพื่อขอกำลังพระเจ้าตากสินไปช่วย
พระเจ้าตากสินโปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์
กองทัพไทยยกไปทางนครจำปาศักดิ์
แต่กองทัพเวียงจันทน์ถอยกลับไปแล้วเจ้าไชยกุมาร
ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ยอมอ่อนข้อแต่โดยดี
จากนั้นกองทัพไทยได้ยกไปตีเวียงจันทน์ล้อมอยู่นานถึงสี่เดือนจึงตีเมืองเวียงจันทน์ได้
และการตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น
ทางหลวงพระบางได้ยกทัพมาช่วยไทยตีเมืองเวียงจันทน์ด้วย
เมื่อไทยยึดได้เวียงจันทน์
หลวงพระบางก็ยอมอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นต่อไทยกองทัพไทยได้กวาดต้อนผู้คนชาวลาวและทรัพย์สิน
พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์
และพระบางจากหลวงพระบางลงมากรุงเทพฯ (ภายหลังได้คืนพระบางให้หลวงพระบางตามเดิม
เพราะเชื่อมั่นว่าถ้าพระบางและพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในเมืองเดียวกัน
เมืองนั้นจะเกิดวิบัติขึ้น)
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ปี พ.ศ.
๒๓๓๘ (ค.ศ.
๑๘๙๕)
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าศิริบุญสาร
ได้กลับมาที่เวียงจันทน์ ได้จับพระยาสุโภซึ่งรั้งเมืองเวียงจันทน์ฆ่าเสีย
แล้วตั้งมั่นอยู่ในเวียงจันทน์ต่อมาเจ้านันทเสนได้ครองเวียงจันทน์
แต่อ่อนแอจึงถูกถอดออกจากราชสมบัติ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์
เป็นกษัตริย์แทน เมื่อสิ้นเจ้าอินทวงศ์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าอนุวงศ์อุปราชเป็นกษัตริย์ครองเวียงจันทน์แทน
เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เจ้าอนุวงศ์ยังคงแสดงความจงรักภักดีดังเดิม
เช่นเมื่อคราวเกิดกบฏโดยพวกข่าก่อความวุ่นวายขึ้นที่เมืองจำปาศักดิ์ ใน พ.ศ.
๒๓๖๒ เรียกว่า "กบฏไอ้สาเขียดโง้ง"
เจ้าอนุวงศ์รับอาสาไปปราบจนได้ชัยชนะ แล้วขอให้เจ้าราชบุตร
(โย้)
ไปเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ รัชกาลที่ ๒ ก็ทรงอนุญาต
ครั้นรัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.
๒๓๖๗ ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ
กับ
เวียงจันทน์ก็ค่อยห่างเหินไปในรัชกาลที่ ๓
พ.ศ.
๒๓๖๘
เจ้าอนุวงศ์มาถวายบังคมพระบรมศพรัชกาลที่ ๒ แล้วกราบทูลขอละคร
ผู้หญิงในวังไปแสดงที่เวียงจันทน์ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ไม่ทรงอนุญาตตามที่ขอ เจ้าอนุวงศ์ก็ไม่พอใจ
นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต
พาชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีกลับบ้านเมืองเดิม
ก็ไม่ทรงโปรดอนุญาต
เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศอดสูและขัดเคืองเป็นอย่างยิ่ง
ขณะนั้น
เป็นเวลาที่ญวนกำลังแย่งอำนาจเข้าครอบครองเขมร
และคิดจะยึดเอาหัวเมืองลาวไว้ในอำนาจของตนด้วย
จึงส่งคนมาเกลี้ยกล่อมเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงได้โอกาสหันไปฝักใฝ่กับญวน
โดยหวังให้ญวนหนุนหลังตน
และเป็นระยะเวลาที่ไทยขัดใจกับอังกฤษเรื่องเมืองไทรบุรี
ครั้นเจ้าอนุวงศ์สืบทราบว่าไทยมีผู้ชำนาญศึกเหลือน้อยลง
เหลือแต่เจ้านายรุ่นหนุ่ม ๆอ่อนอาวุโส
เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งแข็งเมืองและเป็นกบฏขึ้น
พ.ศ. ๒๓๖๙
เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ
ยกกองทัพผ่านหัวเมืองรายทางมาจนถึงนครราชสีมาทางกรุงเทพฯ
ได้โปรดให้พระยาราชสุภาวดี (ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา
"สิ่งห์สิงหเสนี")
เป็นแม่ทัพมาปราบ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา)
ยกทัพมาจากเมืองยโสธร
และพระยาเอียงสา มาช่วยเป็นกำลังสำคัญ
ในที่สุดสามารถจับตัวเจ้าอนุวงศ์ลงไปกรุงเทพฯ สำเร็จ
และได้พระราชทานบำเหน็จทุกถ้วนหน้า แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมาเลือกทำเลที่จะสร้างเมือง
๔ เมือง คือ
๑. เมืองพานพร้าว
อยู่ตรงข้ามกับเวียงจันทน์ (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่)
๒.
เมืองเวียงคุก
๓.
เมืองปะโค
๔. บ้านไผ่ (บ้านบึงค่าย)
พ.ศ. ๒๓๗๐
ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา)
ได้เลือกเอาบ้านไผ่สร้างขึ้นเป็นเมืองหนองคายโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมา
(บุญมา) เป็นพระปทุมเทวาภิบาล
(บุญมา)
ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคายคนแรก
และให้เมืองเวียงจันทน์ขึ้นตรงต่อเมืองหนองคาย
พ.ศ. ๒๔๓๔
ภายหลังกบฏฮ่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นสมุหเทศาภิบาลประจำมณฑลลาวพวนตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองหนองคาย
(ต่อมาเป็นมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลอุดร)
พ.ศ. ๒๔๓๖
(เหตุการณ์ ร.ศ.
๑๑๒)
ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แกฝรั่งเศสและระบุในสัญญาว่า
"ห้ามมิให้ไทยตั้งหรือนำกองทัพทหารอยู่ในเขต ๒๕ กิโลเมตร
จากชายแดน" กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจึงได้ย้ายที่ทำการมณฑลไปอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง
และตั้งเป็นมณฑลอุดรมาจนถึงรัชกาลที่ ๖
ในปี พ.ศ.
๒๔๔๓ ได้มีการแก้ไขการปกครองมณฑลที่มีอยู่ก่อน พ.ศ.
๒๔๓๖ ให้เป็นลักษณะเทศาภิบาลขึ้น
รวมหัวเมืองเข้าเป็นบริเวณมีฐานะเท่าจังหวัดเดี๋ยวนี้
มณฑลอุดรได้รวมหัวเมืองเป็นบริเวณ ๕ บริเวณ คือ
๑.
บริเวณหมากแข้ง ตั้งที่ทำการที่บ้านหมากแข้ง คือ จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน
๒.
บริเวณธาตุพนม ตั้งที่ทำการที่เมืองนครพนม
๓.
บริเวณน้ำเหือง ตั้งที่ทำการที่เมืองเลย
๔.
บริเวณพาชี ตั้งที่ทำการที่เมืองขอนแก่น
๕.
บริเวณสกลนคร ตั้งที่ทำการที่เมืองสกลนคร
ส่วนเมืองหนองคายซึ่งเคยเป็นที่ตั้งบัญชาการมณฑลอุดรมาแต่ก่อนนั้นไม่มีรายชื่อ
บริเวณซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.
๒๔๔๓
แต่การปฏิบัติราชการของเมืองนั้นก็ยังคงดำเนินมาในฐานะเสมือนเมืองหรือบริเวณหนึ่ง
ดังนั้นในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.
๒๔๕๘ จึงโปรดให้ประกาศตั้งเมืองหนองคายขึ้นเป็นเมือง
โดยมีข้าหลวงคนแรกชื่อว่าพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิม
วิเศษรัตน์)
พ.ศ. ๒๔๕๗
ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ขึ้น
โดยให้ยกเลิกระบอบเจ้าปกครองนคร (เจ้าเมือง)
ทั่วประเทศ พ.ศ.
๒๔๕๙ เปลี่ยนคำเรียกชื่อ "เมือง"
มาเป็น "จังหวัด"
มีข้าหลวงปกครอง (ต่อมาเรียก
"ผู้ว่าราชการจังหวัด")
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง
โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว
การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงหมาดไทยขึ้น
อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล
ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบอบการปกครองอันสำคัญยิ่ง
ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น
การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบอบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล
เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย
และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีดั้งเดิมของไทย คือระบบกินเมืองให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕
นั้น
อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น
หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด
ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้
เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบากหัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ
ส่วนหัวเมือง
อื่นๆ
มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง
ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี
พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกันโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า
รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ.
๒๔๕๘
จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น
จึงจะขอนำคำจำกัดความของ "การเทศาภิบาล"
ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน
ณ อยุธยา)
อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
"การเทศาภิบาล
คือ
การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง
ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค
อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร
เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน
โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ
จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ
ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือจังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ
ตำบลและหมู่บ้าน
จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี
และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี
ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน
เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน
ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น
ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความว่า เป็น "ระบบ"
การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า "การปกครองส่วนภูมิภาค"
ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล"
นั้น
คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้และยังหมายความอีกว่า
ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ
แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม
อันเป็นระบบกินเมือง
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ
ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน
แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง
กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง
การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ ๓ แห่ง
ยากที่จะจัดระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร
ทรงพระราชดำริว่า
ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว
จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.
๒๔๓๕
เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว
จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง
การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ
มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน
มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา
ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้
ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ
พ.ศ.
๒๔๓๗ เป็นต้นมา
และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร
แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ.
๒๔๓๗ เป็นปีแรก ที่ได้วางแผนงาน
จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรีมณฑลนครราชสีมา
ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้
เมื่อโปรดเกล้าฯ
ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว
จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๓๘
ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี
มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า
และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต
ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒
มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐
ได้รวมหัวเมืองมลายูตะวันตกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปี พ.ศ.
๒๔๔๒
ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ
ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน
ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ.
๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์
เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ.
๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี
มีเมืองจันทบุรี ระยองและตราด
พ.ศ.
๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.
๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง
เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย
และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ.
๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล
มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ.
๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น
โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรังปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น
ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖
จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน
มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร
เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว
ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย
เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ.
๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑)
การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน
สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒)
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓)
เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล
มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔)
รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ
มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ.
๒๔๙๕
รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒)
อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล
ได้แก่คณะกรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลเดียว คือ
ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓)
ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด
ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา
ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕
โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ
อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การจัดตั้ง ยุบ
และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา
:
ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดหนองคาย.
ธนสัมพันธ์,๒๕๒๙
|