ประวัติศาสตร์จังหวัดอุดรธานี
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
อุดรธานีแหล่งอารยธรรมโบราณ
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ร่องรอยแสดงว่า
ได้เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งอื่น ๆ ของโลก
อาจจะเป็นเวลานานนับถึงห้าแสนปี
ตามหลักฐานการขุดค้นของนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้พบแล้ว
โดยเฉพาะดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนับเป็นแหล่งที่สามารถยืนยันได้
เพราะเป็นแหล่งที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษยชาติ
แหล่งขุดค้นที่สำคัญที่นักโบราณคดีและกองโบราณคดีกรมศิลปากร
ได้ทำการขุดค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักโบราณคดีระหว่างประเทศว่าเป็นแหล่งที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง
มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ การขุดค้นที่บ้านโนนนกทา ตำบลนาดี
อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน
จังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดค้นที่บ้านเชียง
นับเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทางโบราณคดีไปทั่วโลก
วัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์
บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ซึ่งค้นพบว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝั่งศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เมื่อราว ๕,๐๐๐
กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาแต่โบราณ
ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะที่รู้จักทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์
นิยมทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากสำริด
ในระยะแรกและรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมา แต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป
ชาวบ้านเชียงโบราณรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาภาชนะสีเทา ทำเป็นลายขูดขีด
ลายเชือกทาบและขัดมัน รู้จักทำภาชนะดินเผาลายเขียนสี รูปทรงและลวดลายต่าง ๆ
มากมาย กรมศิลปากรได้ส่งเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่บ้านเชียงนี้
ไปตรวจสอบคำนวณหาอายุโดยใช้วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์
(THERMOLUMINES CENSE)
ที่ห้องปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอายุประมาณ ๕,๐๐๐
-
๗,๐๐๐
ปี
ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่พบที่บ้านเชียงนี้นับว่ามีอายุเก่าแก่กว่าที่ค้นพบที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากความเห็นและการสันนิษฐานของนายชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์พิเศษของกรมศิลปากร
ได้ให้ความเห็นว่า
"
เป็นเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชียอาคเนย์
"
และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในโลกก็เป็นได้
นอกจากนั้นชาวบ้านเชียงโบราณยังรู้จักทำเครื่องจักสาน ทอผ้า
มีประเพณีการฝังศพ ฝังสิ่งของ เครื่องใช้
อาหารรวมกับศพเป็นการอุทิศให้กับผู้ตาย
สิ่งของที่เป็นโบราณวัตถุซึ่งได้จากการสำรวจรวบรวมและขุดค้นที่บ้านเชียงรวมแหล่งใกล้เคียง
เช่น ขวาน ใบหอก มีด ภาชนะดินเผาทั้งที่เขียนสีและไม่เขียนสี
และดินเผาลูกกลิ้งดินเผา แม่พิมพ์หินใช้หล่อเครื่องมือสำริด
ทำจากหินทรายเบ้าดินเผา รูปสัตว์ดินเผา ลูกปัดทำจากหินสีและแก้วกำไล
และแหวนสำริด ลูกกระสุนดินเผา
ขวานหินขัดและได้พบเศษผ้าที่ติดอยู่กับเครื่องมือสำริด
แกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก เป็นต้น
จากการสำรวจและขุดค้นที่ผ่านมา
และการขุดค้นของกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา
ในระหว่างปี พ.ศ.
๒๕๑๗-๒๕๑๘
ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่
เทคโนโลยีของวัฒนธรรมบ้านเชียงโบราณและกำหนดอายุสมัยโดยประมาณพอสรุปได้ว่า
ชุมชนบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นชุมชนเกษตรกรรมยุคโลหะ
มีความเจริญก้าวหน้ามานานแล้ว
สามารถแบ่งลำดับขั้นวัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมที่บ้านเชียงออกเป็น ๖ สมัย
โดยกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์วิธีคาร์บอน ๑๔ ว่า วัฒนธรรมสมัยที่ ๑
หรือชั้นดินล่างสุดของบ้านเชียงมีอายุประมาณ ๕,๖๐๐
ปีมาแล้ว
จากการศึกษาวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอยทำให้มีความคิดว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงในระยะแรกได้เลือกตั้งถิ่นฐานในบริเวณป่าที่ถูกถากถาง
มีการเลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ด้วย พอถึงสมัยที่ ๔ เมื่อราว ๓,๖๐๐
ปีมาแล้วรู้จักใช้เครื่องมือ เหล็ก เลี้ยงควาย เพื่อช่วยในการทำนา
ในสมัยที่ ๕ เมื่อราว ๓,๐๐๐
ปีมาแล้ว มีการทำภาชนะดินเผาลายเขียนสีลงลายและรูปทรงหลายแบบ พอถึงสมัยที่
๖ จึงทำแต่ภาชนะดินเผาเคลือบสีแดงหรือเขียนสีบนพื้นสีแดง
ทำเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของโลหะที่มีความวาวมากขึ้น กำหนดอายุได้ราว ๑,๗๐๐
ปีมาแล้ว
จากการค้นพบแกลบข้าวที่ติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก การค้นพบเครื่องมือสำริด
แม่พิมพ์เครื่องมือสำริด เบ้าดินเผา
ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมบ้านเชียงมีความเจริญก้าวหน้าสูง
รู้จักการใช้โลหะกรรมหล่อหลอมสำริด
และปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐
ปีมาแล้ว และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ของประเทศไทย
จากการสันนิษฐานโดยอาศัยหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของศาสตรจารย์นายแพทย์สุด
แสงวิเชียรที่ว่า
"มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
ในสมัยเมื่อ ๕,๐๐๐
ปีมาแล้ว มีความเจริญทางวัฒนธรรม ไม่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ กล่าวคือ
ขณะที่พวกที่อาศัยอยู่ทางแควน้อยและแควใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อ ๓,๗๐๐
ปี
ใช้หินเป็นเครื่องมือและใช้หินกระดูกสัตว์และเปลือกหอยเป็นเครื่องประดับนั้น
พวกที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีความเจริญรุดหน้ากว่า
รู้จักใช้สำริดมาทำเป็นเครื่องประดับและรู้จักใช้เหล็กทำเป็นเครื่องมือ
."
ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างตันตรงกับสันนิษฐานของศาสตราจารย์ ดร.โซเฮล์ม
(DR.W.G.SOLHEIM)
แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ให้ความเห็นว่า
"
ความเจริญทางวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า
ได้มีการใช้สำริดทำกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยก่อนแหล่งอื่น
ในโลกภาคตะวันออก คือประมาณ ๒,๕๐๐
ปี ก่อนคริสตศักราช คือประมาณ ๔,๔๗๒
ปีมาแล้วใกล้เคียงกับเวลาที่ใกล้ที่สุดที่อาจเป็นได้ ที่บ้านเชียง
"
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้พบขวานหินขัดของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่าขวานฟ้า
ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีอีกด้วย
และที่บริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ
จังหวัดอุดรธานี นี้เอง
ได้พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ว่าเคยได้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้
กล่าวคือได้มีการค้นพบ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ
หรือเพิงถ้ำของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่บริเวณถ้ำลาย
บนเทือกเขาภูพาน บ้านโปร่งฮี ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ
เป็นลายเขียนเส้นสีเหลือง เป็นรูปเรขาคณิต
คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมและรูปเส้นวกไปวกมาติดต่อกัน และที่บริเวณถ้ำโนนเสาเอ้
บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ พบว่า
เป็นรูปทรงเรขาคณิตคล้ายที่ถ้ำลาย บางรูปเขียนเป็นเส้นใหญ่ ๆ
ขนานกันหลายเส้น และในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังได้พบภาพฝ่ามือทาบบนผนังถ้ำ
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำเป็นรูปคน,
รูปวัวแดง,
บริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผืออีกด้วย
จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น
อดีตเคยเป็นแหล่งที่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมในระดับสูงจนเป็นที่ยอมรับกันในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระหว่างประเทศว่า
วัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นเป็นความเจริญที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลา ๕,๐๐๐-๗,๐๐๐
ปีมาแล้ว
และได้มีการขนานนามวัฒนธรรมที่เกิดในยุคร่วมสมัยของบ้านเชียงที่เกิดในแหล่งอื่นของโลกว่า
BANCHIANG
CIVILIZATION.
และจากเหตุผลดังกล่าวนี้เองจึงเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ที่ว่า
ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น
ได้รับวัฒนธรรมจากจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณมาเป็น ในทางกลับกัน
ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ ดร.เชสเตอร์
กอร์มัน (DR.
CHESTER GORMAN)
แห่งมหาวิทยาลัย
เพนซิลวาเนีย
ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ว่า
"
ดินแดนที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมิใช่เป็นบริเวณล้าหลัง
ในทางวัฒนธรรมแต่อย่างใดและไม่ได้เป็นดินแดนที่รับวัฒนธรรมจากจีน
แต่เป็นผู้แผ่วัฒนธรรมไปให้จีน
"
นอกจากร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว
ในทางประวัติศาสตร์ยังพบว่าบริเวณใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ
กรมศิลปากร ได้พบโบราณวัตถุในสมัยต่าง ๆ คือ พบใบเสมา สมัยทวารวดี
(ประมาณ
พ.ศ.
๑๒๐๐
-
๑๖๐๐
)
พระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย
ศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลายต่อกับศิลปะสมัยลพบุรีตอนต้น
(ประมาณ
พ.ศ.
๑๒๐๐-๑๘๐๐)
และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ ที่ปรักหักพัง
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ศิลปะสมัยทวารวดี
จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าบริเวณที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น
เคยเป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์
และสมัยประวัติศาสตร์
ซึ่งมีการสืบเนื่องความเจริญทางวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลานาน
สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จอำเภอหนองบัวลำภู
ภายหลังจากที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงแล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
(พระเจ้าอู่ทอง)ได้
ผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ.
๑๙๘๑ และในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็น
ราชธานีนี่เอง
ไทยเราต้องทำศึกสงครามกับพม่ามาโดยตลอด ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา
และเสียกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง คือ ใน พ.ศ.
๒๑๑๒ และ พ.ศ.
๒๓๑๐ แต่ถึงแม้เพลี่ยงพล้ำให้แก่พม่าข้าศึก
แต่ไทยเราก็ยังมีวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงสามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนมาได้คือ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงประกาศอิสรภาพใน พ.ศ.
๒๑๒๗ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใน พ.ศ.
๒๓๑๐
ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า
พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น
เคยเป็นแหล่งที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
และยังได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นหลักฐานว่า
ในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดีจวบจนถึงสมัยสุโขทัย
ก็เป็นแหล่งความเจริญเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนมาโดยตลอด
และอาจเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองของอาณาจักรโคตรบูรณ์ที่มีเมืองสำคัญอยู่ที่นครพนมก็เป็นได้
แต่ทั้งนี้หลักฐานปรากฏชัดเจนทางโบราณคดียังไม่อาจสืบสวนได้
แต่อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ดังนั้นจึงไม่ปรากฏชื่อเมืองอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์พงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ทั้งนี้ชื่อสถานที่ต่าง ๆ
ที่เป็นอำเภอที่ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น
ได้เคยมีประวัติปรากฏตามพงศาวดารและประวัติศาสตร์ ดังนี้คือ
จากหลักฐานลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม
พ.ศ.
๒๔๗๘
ซึ่ง
สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ได้ทรงเล่าตอนหนึ่งว่า
"
เรื่องตำบลหนองบัวลำภูนั้นเมื่อหม่อมฉันขึ้นไปตรวจราชการมณฑลอุดร
ได้สืบถามว่าอยู่ที่ไหน
เพราะเห็นเป็นที่สำคัญมีชื่อในพงศาวดารเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ยกกองทัพขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคณหุต
ได้พาพระนเรศวรราชบุตรไปด้วย เมื่อไปถึงหนองบัว-ลำภู
พระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีจึงอนุญาตให้กองทัพไทยยกกลับลงมา
"
และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่ารายละเอียดในพระนิพนธ์
เรื่องประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ว่า
"
ถึงปีจอ
พ.ศ.
๒๑๑๗ ได้ข่าวไปถึงเมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าไชยเชษฐา
เมืองลานช้างไปตีเมืองญวนเลยเป็นอันตรายหายสูญไปและที่เมืองลานช้างเกิดชิงราชสมบัติกัน
พระเจ้าหงสาวดีเห็นได้ทีก็ยกกองทัพหลวงไปตีเมืองเวียงจันทน์
ครั้งนั้นตรัสสั่งมาให้ไทยยกกองทัพไปสมทบด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ
กับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเองทั้ง ๒ พระองค์
เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๙ ปี เห็นจะได้เป็นตำแหน่ง เช่น
เสนาธิการในกองทัพ แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวด่านของเมืองเวียงจันทน์
เผอิญสมเด็จพระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษพระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ตรัสอนุญาตให้กองทัพไทยกลับมามิต้องรบพุ่ง
พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเวียงจันทน์
แล้วก็ตั้งให้อุปราชเดิมซึ่งได้ตัวไปไว้เมืองหงสาวดีตั้งแต่พระมหาอุปราชาตีเมืองครั้งแรกนั้น
ครองอาณาเขตลานช้างเป็นประเทศราช ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีต่อมา
"
เมืองหนองบัวลำภูเมืองเก่าของจังหวัดอุดรธานี
เมืองหนองบัวลำภูนั้นมีชื่อเรียกอื่น คือ เมืองหนองบัวลุ่มภู เมืองกมุทาสัย
หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานนั้น
จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์เชื่อว่า
เป็นเมืองที่มีความเจริญเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ได้มีพงศาวดารกล่าวถึงเมืองหนองบัวลำภูในหนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสานซึ่งหม่อมอมร
วงษ์วิจิตร
(ม.ร.ว.ปฐม
คเณจร)
เรียบเรียงไว้ ความตอนหนึ่งว่า
"
จุลศักราช
๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก
(พ.ศ.
๒๓๑๐)
พระเจ้าองค์หล่อ ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคณหุตถึงแก่พิราไลย
หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยา แลนายวอนายตาจึงได้เชิญกุมารสองคน
(มิได้ปรากฏนาม)
ซึ่งเป็นเชื้อวงษ์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุตคนเก่า
(ไม่ปรากฏว่าคนไหน)
อันได้หนีไปอยู่กับนายวอนายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น
ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคณหุตแล้ว นายวอนายตาจะขอเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายน่า
ราชกุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอนายตามิได้เป็นเชื้อเจ้า
จึงตั้งให้นายวอนายตาเป็นแต่ตำแหน่งเสนาบดี ณ กรุงศรีสัตนาคณหุตแล้วราชกุมารผู้เชษฐาจึงตั้งราชกุมารผู้เป็นอนุชาให้เป็นมหาอุปราชขึ้น
ฝ่ายพระวอ พระตา ก็มีความโทมนัสด้วยมิได้เป็นที่มหาอุปราชดังความประสงค์
จึงได้อพยพครอบครัวพากันมาตั้งสร้างเวียงขึ้นบ้านหนองบัวลำภู
แขวงเมืองเวียงจันทน์ เสร็จแล้วยกขึ้นเป็นเมืองให้ชื่อว่า
เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ฝ่าย
พระเจ้าศรีสัตนาคณหุตทราบเหตุดังนั้น
จึ่งให้แสนท้าวพระยาไปห้ามปรามมิให้พระวอพระตาตั้งเป็นเมืองพระวอพระตาก็หาฟังไม่
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุตจึ่งได้ยกกองทัพมาตี
พระวอพระตาสู้รบกันอยู่ได้ประมาณสามปี
พระวอพระตาเห็นว่าต้านทานมิได้จึ่งได้แต่งคนไปอ่อนน้อมต่อพม่าขอกำลังมาช่วยฝ่ายผู้เป็นใหญ่ในพม่าจึงได้แต่งให้มองละแงะเป็นแม่ทัพคุมกำลังจะมาช่วยพระวอ
พระตา ฝ่ายกรงุศรีสัตนาคณหุตทราบดังนั้น
จึงแต่งเครื่องบรรณาการให้แสนท้าวพระยาคุมลงมาดักกองทัพพม่าอยู่กลางทางแล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพวกพม่าเข้าเป็นพวกเดียวกันได้แล้ว
พากันยกทัพมาตีพระวอพระตาก็แตก พระตาตายในที่รบ
ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายน่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ผู้เป็นบุตรพระตา
แล้วท้าวทิดก่ำผู้บุตรพระวอ
แล้วจึ่งพาครอบครัวแตกหนีอพยพลงไปขอพึ่งอยู่กับพระเจ้าองค์หลวงเจ้าเมืองไชยกุมาร
เมืองจำปาศักดิ์
"
และต่อมาพระวอได้ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งภายหลังพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคณหุต ได้ส่งกองทัพมาโจมตีพระวออีก
และพระวอถูกฆ่าตายที่ตำบลเวียงดอนกลาง
เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ
ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์แตกเมื่อ พ.ศ.
๒๓๒๑
ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนั้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น อาจขึ้นการปกครองกับอาณาจักรลานช้าง
กรุงศรีสัตนาคณหุต ดังจะเห็นได้ว่า
เมืองหนองบัวลำภูเคยเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีสัตนาคณหุต
และนอกจากนี้เมืองหนองหานหรือเมืองหนองหานน้อย ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหนองหาน
จังหวัดอุดรธานี ก็เคยพบคูเมืองโบราณ
ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ซึ่งอาจจะเป็นไปได้
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ยุทธภูมิ
ไทย -
ลาว ที่หนองบัวลำภู
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.
๒๓๒๕ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญมาโดยตลอด
ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการจัดตั้งเมืองอุดรธานี
ดังนั้นจึงยังไม่มีชื่อเมืองอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารในเวลานั้น
แต่ได้มีการกล่าวถึงเมืองหนองบัวลำภูในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในระหว่าง พ.ศ.
๒๓๖๙
-
๒๓๗๑
ได้เกิดกบฏเจ้านุวงศ์ขึ้นและได้มีข้อความเกี่ยวข้องกับเมืองหนองบัวลำภูอยู่ตอนหนึ่ง
ตามสำเนาลายพระหัตถเลขาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.
๒๔๗๘ ในสาส์นสมเด็จ เล่ม ๖ ความว่า
"
ในสมัยรัชกาลที่
๓ กรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา
ครั้นรู้ว่าที่ในกรุงฯ เตรียมกองทัพใหญ่จะขึ้นไป จึงถอยหนีกลับไปตั้งรับที่
หนองบัวลำภู
ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถเมื่อหม่อมฉันไปได้รับคำชี้แจงที่เมืองอุดรว่า
หนองบัวลำภูนั้นคือ เมืองกุมุทาสัย ซึ่งยกขึ้นเป็นเมืองเมื่อในรัชกาลที่ ๔
หม่อมฉันกลับลงมากรุงเทพฯ ได้มีท้องตราซึ่งให้เปลี่ยนชื่อเมือง กุมุทาสัย
ซึ่งลดลงเป็นอำเภออยู่ในเวลานั้น กลับเรียกชื่อเดิมว่า
"อำเภอหนองบัวลำภู"
ดูเหมือนจะยังใช้อยู่จนบัดนี้
"
การปราบปรามฮ่อในมณฑลลาวพวน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะเวลานั้น
นับเป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ประเทศไทย
(ในขณะนั้นเรียกว่าประเทศสยาม)
ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ทำให้วัฒนธรรม อารยธรรม ความเจริญต่าง ๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย
ประกอบกับในระยะเวลานั้นเป็นระยะเวลาของการแสวงหาเมืองขึ้น
ตามลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกของชาติตะวันตกที่สำคัญสองชาติ คือ อังกฤษ
กับฝรั่งเศส ที่พยายามจะผนวกดินแดนบริเวณแหลมอินโดจีนให้เป็นเมืองขึ้นของตน
และพยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากเมืองไทยในระหว่าง พ.ศ.
๒๓๙๑
-
๒๓๙๕ พวกจีนที่เป็นกบฏที่เรียกว่า กบฏไต้เผง
ถูกจีนตีจากผืนแผ่นดินใหญ่ได้มาอาศัยอยู่ตามชายแดนไทย ลาว และญวน
ซึ่งเวลานั้นดินแดนลาวที่เรียกว่าลานช้าง
บริเวณเขตสิบสองจุไทยหัวพันทั้งห้าทั้งหกนั้นขึ้นอยู่กับประเทศไทย
พวกฮ่อได้เที่ยวปล้นสดมภ์ ก่อความไม่สงบและได้กำเริบเสิบสานมากขึ้น
จนกระทั่ง พ.ศ.
๒๔๑๑ ได้เข้ายึดเมืองลาวกาย เมืองพวน เมืองเชียงขวาง
และยกมาตีเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และหนองคายต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จขึ้น
ครองราชย์
เมื่อ พ.ศ.
๒๔๑๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาสุโขทัยกับพระยาพิชัยยกกองทัพไปช่วยหลวงพระบาง
และให้พระยามหาอำมาตย์ยกทัพไปช่วยทางด้านหนองคาย
แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปช่วย
พระยามหาอำมาตย์อีกกองทัพหนึ่ง กองทัพไทยสามารถตีพวกฮ่อแตกพ่ายไป
แต่กระนั้นก็ตามพวกฮ่อที่แตกพ่ายไปแล้วนั้นก็ยังทำการปล้นสดมภ์รบกวนชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งใน พ.ศ.
๒๔๒๘ พวกฮ่อได้ส้องสุมกำลังมากขึ้น จนสามารถยึดเมืองซอนลา
เมืองเชียงขวาง และทุ่งเชียงคำไว้ได้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปปราบปรามทางด้านเมืองหนองคาย
เรียกว่าแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ
(ต่อมาเป็นจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
(เจิม
แสงชูโต)
เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหลือทางเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่
๒ ฯ ๑๒
๑๒ ค่ำ ปีระกา สัปตศก๑๘(ตรงกับวันที่
๙ พฤศจิกายน พ.ศ.
๒๔๒๘)
และได้ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่แม่ทัพใหญ่ทั้งสอง
ดังความตอนหนึ่งว่า
"
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกกองทัพขึ้นไปเพื่อจะปราบปรามพวกฮ่อในเมืองพวน เมืองหัวพันทั้งหกครั้ง
ด้วยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎรอันอยู่ในพระราชอาณาเขตร์ซึ่งพวกฮ่อมาย่ำยีตีปล้นเกบทรัพสมบัตร
เสบียงอาหาร จุดเผาบ้านเรือน
คุ่มตัวไปใช้สอยเปนทาษเปนเชลย ได้ความลำบากต่าง ๆ ไม่เปนอันที่จะทำมาหากิน
จึงได้คิดจะปราบปรามพวกฮ่อเสียให้ราบคาบ เพื่อจะให้ราษฎรทั้งปวงได้อยู่เยนเปนศุข
เพราะเหตุฉนั้นให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงกำชับห้ามปรามไพร่พลในกองทัพอย่าให้เที่ยวข่มขี่ราษฎรทั้งปวง
แย่งชิง เสบียงอาหารต่าง ๆ เหมือนอย่าง เช่น คำเล่าฤาที่คนปรกติมักจะเข้าใจว่าเปนธรรมเนียมกองทัพแล้ว
จะแย่งชิงฤาคุมเหง คเนงร้ายผู้ใดแล้วไม่มีโทษ
ให้การซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่ราษฏรจะให้อยู่เยนเปนศุขนั้นกลับเปนความเดือดร้อนไปได้เปนอันขาด
"
กองทัพไทยทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือต้องประสบความลำบากในการทำสงครามกับพวกฮ่อ
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา
ซึ่งมีไข้ป่าชุกชุมทำให้ทหารฝ่ายไทยต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
ในที่สุดกองทัพไทยทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือก็สามารถตีพวกฮ่อแตกพ่ายไป
หลังจากเหตุการณ์ปราบฮ่อได้สงบลงแล้ว
ฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนมหาอำนาจตะวันตกในเวลานั้นได้ขยายดินแดนเข้ามาในแหลมอินโดจีนเพื่อขยายอาณานิคมของตน
และสามารถผนวกกัมพูชาได้ใน พ.ศ.
๒๔๑๐ ต่อมาได้ญวนทั้งประเทศเป็นอาณานิคมเมื่อ พ.ศ.
๒๔๒๖ จากนั้นได้พยายามเข้าครอบครองลาว
โดยอ้างสิทธิของญวนว่า
ลาวเคยตกเป็นเมืองขึ้นของญวน
ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคมแล้ว
ลาวจะต้องเป็นเมืองขึ้นของญวนด้วย
จึงได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะได้ลาวเป็นเมืองขึ้น
และยังต้องการให้ไทยเป็นเมืองขึ้นด้วย
จากการขยายดินแดนของฝรั่งเศสในครั้งนี้
ทำให้กระทบกระเทือนต่อพระราชอาณาเขตของไทยเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า
นโยบายหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับชาติตะวันตกไม่สามารถที่จะทำให้ประเทศปลอดภัยได้
จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการปกครองของไทยที่ยังล้าสมัยอยู่ในเวลานั้น
ด้วยการควบคุมดินแดนชายพระราชอาณาเขตให้มากกว่านี้เพราะถ้าหากไม่มีการควบคุมดังกล่าว
อาจทำให้ฝรั่งเศสใช้เป็นช่องทางที่จะเข้าครอบครองประเทศไทยได้
จึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เหมาะสม
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อน พ.ศ.
๒๔๓๕ นั้น เป็นระบบที่เรียกว่า
"กินเมือง"
มีหลักอยู่ว่า
ผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย
ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยออกแรงช่วยทำการงานให้บ้างหรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้
เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น
อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัลช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ
ทั้งนี้เจ้าเมืองจะมีกรมการเมืองเป็นผู้ช่วย
โดยเจ้าเมืองเหล่านั้นมักจะเป็นชาวเมืองนั้นเองและส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองคนเก่า
ปกครองราษฎรกันเองโดยทางส่วนกลาง คือ กรุงเทพจะควบคุมดูแลในกิจการใหญ่ ๆ
เช่น การส่งภาษีที่เก็บได้ในเมืองไปยังส่วนกลาง หรือส่งส่วย เป็นต้น
ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นเจ้าเมืองปกครองกันเองจะส่งเฉพาะดอกไม้เงินดอกไม้ทอง
และเครื่องราชบรรณาการเท่านั้น
เพราะในสมัยนั้นข้าราชการที่กรุงเทพไม่ค่อยมีผู้สมัครไปทำงานหัวเมือง
การควบคุมดูแลจึงมีลักษณะไม่เด็ดขาดเจ้าเมืองในแต่ละเมืองจึงมีอำนาจสิทธิขาดมากหากเจ้าเมืองใดเป็นคนดีมีคุณธรรมบ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย
ในทางกลับกันหากบ้านเมืองใดเจ้าเมืองเป็นคนทุจริตบ้านเมืองก็ไม่สงบมีความเดือดร้อนทั่วไป
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าหัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ
มากเท่าใดก็ยิ่งมีอิสรภาพในการปกครองมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งในสมัยนั้น
หัวเมืองที่รัฐบาลบังคับบัญชาโดยตรงมีแต่หัวเมืองจัตวา ใกล้
ๆ ราชธานี ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ซึ่งแบ่งไว้เป็นชั้น เอก โท ตรี
ตามสำคัญของเมืองจะมีอิสระมาก
ดังนั้น เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้เริ่มปฏิรูปการปกครองหัวเมืองโดยยึดหลักที่ว่า
อำนาจของการปกครองควรจะเข้ามาอยู่จุดเดียวกันหมด ซึ่งหมายความว่า
รัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองกระจายไปอยู่กับกระทรวงสามกระทรวง
และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มีอิสระอย่างที่มีมาในอดีต
ระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า
"เทศาภิบาล"
หรือ
"มณฑลเทศาภิบาล"
ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครอง
ปรากฏตามคำจำกัดความของการเทศาภิบาล ซึ่งพระยาราชเสนา
(ศิริ
เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความหมายดังนี้
"
การเทศาภิบาล
คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วย
ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์
รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลางซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค
อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากรเพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข
และความเจริญทั่วถึงกัน
โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ
จึงได้แบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับขั้นเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ
ตำบล และหมู่บ้าน
และแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดจัดเป็นแผนกพนักงานทำนองการของกระทรวงในราชธานี
อันเป็นวิธีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยรวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับทุกข์
บำรุงสุขด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชน
"
ดังนั้น "เทศาภิบาล"
หรือ
"มณฑลเทศาภิบาล"
จึงประกอบด้วย
๑.
มณฑล
รวมหลายเมืองเป็นหนึ่งมณฑล
๒.
เมือง
รวมหลายอำเภอเป็นหนึ่งเมือง
๓.
อำเภอ
แต่ละอำเภอ แบ่งท้องที่เป็นตำบลและหมู่บ้าน
ส่วนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางนั้น ได้ยกเลิกตำแหน่งสมุหนายก,
สมุหกลาโหม,
จตุสดมภ์ โดยทรงโปรดให้ตั้งเสนาบดีว่าการกระทรวงแทน
การจัดตั้งมณฑลก่อนการปฏิรูปใน
พ.ศ.
๒๔๓๕
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการจัดการปกครอง
ในพระพุทธศักราช ๒๔๓๕
เหตุการณ์ระหว่างประเทศตามชายแดนของประเทศมีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงคับขันขึ้นจนไม่อาจปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเฉย
ๆ โดยไม่จัดการรักษาและระวังพระราชอาณาจักรของไทยไว้เสียก่อน
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงได้ทรงจัดการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญขึ้นเป็นเขตปกครองเรียกว่า
มณฑล โดยมุ่งที่จะป้องกันพระราชอาณาจักร
ให้พ้นจากการคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก
และในขณะเดียวกันก็เป็นการทดลองการจัดระเบียบการปกครองอย่างใหม่
ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยที่จะจัดให้มีขึ้นในประเทศต่อไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเลือกสรรบุคคลที่ทรงคุณวุฒิ
มีความสามารถสูง และเป็นที่วางพระราชหฤทัยให้ออกไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่
บัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ
กำกับราชการซึ่งผู้ว่าราชการเมืองและกรมการบังคับบัญชาและปฏิบัติอยู่ทุกฝ่าย
ให้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยความสุจริต ยุติธรรม และรวดเร็ว
และพร้อมทั้งอำนวยความสงบสุขสวัสดิภาพ
และป้องกันทุกข์ภัยของประชาชนให้ได้รับความร่มเย็นตามควรแก่วิสัยที่จะพึงเป็นไปได้
รายชื่อ มณฑล พร้อมทั้งพระนามและนามของข้าหลวงใหญ่ มีดังต่อไปนี้คือ
(1)
มณฑลลาวเฉียง
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มีเจ้าพระยาพลเทพ
(พุ่ม
ศรี-
ไชยันต์)
ว่าที่สมุหกลาโหม เป็นข้าหลวงใหญ่ ประกอบด้วย ๖ เมือง คือ
นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน ตั้งที่บัญชาการมณฑล
(ศาลารัฐบาล)
ที่นครเชียงใหม่
(๒)
มณฑลลาวพวน
(เดิมเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ)
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรมีพระวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดี กระทรวงวัง เป็นข้าหลวงต่างพระองค์
บัญชากรอยู่ที่เมืองหนองคาย มณฑลนี้ก่อน พ.ศ.
๒๔๓๖
(ร.ศ.
๑๑๒)
ได้รวมหัวเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหลายเมือง
ความรู้เรื่องมณฑลลาวพวน
มณฑลลาวพวน
(เดิมเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ)
พวนเป็นชื่อแคว้นอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
มีเมืองใหญ่ของแคว้นคือ เมืองพวน และเมืองเชียงขวาง เมืองพวนอยู่ทิศอิสานของเวียงจันทน์
และทิศอาคเนย์ของหลวงพระบาง เดิมเป็นของไทย ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ก่อน ร.ศ.
๑๑๒
(พ.ส.
๒๔๓๖)
มณฑลลาวพวนประกอบด้วย หัวเมืองเอก ๑๖ เมือง
ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนหัวเมืองโท ตรี จัตวา ๓๖ เมือง
รวมขึ้นอยู่ในหัวเมืองเอก ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ |
เมืองเอก |
เมืองโท ตรี จัตวา
(ขึ้นกับเมืองเอก) |
หมายเหตุ
|
๑.
๒.
๓.
๔.
๕.
๖.
๗.
๘.
๙.
๑๐.
๑๑.
๑๒.
๑๓.
๑๔.
๑๕.
๑๖. |
หนองคาย
เชียงขวาง
บริคัณฑนิคม
นครพนม
คำม่วน
สกลนคร
มุกดาหาร
บุรีรัมย์
ขอนแก่น
หล่มศักดิ์
โพนพิสัย
ชัยบุรี
ท่าอุเทน
กมุทาสัย
หนองหารใหญ่
คำเกิด |
เวียงจันทน์ เชียงคาน พานพร้าว ธุรคมหงส์สถิตย์
กุมภวาปี
รัตนวาปี
แสน
พาน งัน ซุย จิม
ประชุม
วัง
เรณูนคร รามราช อาจสามารถ อากาศอำนวย
มหาชัยกองแก้ว ชุมพร วังมน ทาง
กุสุมาลมณฑล พรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างดินแดน
วานรนิวาส ไพธิไพศาล จำปาชนบท
พาลุกากรภูมิ หนองสูง
นางรอง
พล
ภูเวียง มัญจาคีรี คำทองน้อย
เลย
-
-
-
-
-
- |
รวม ๖
เมือง
รวม ๕
เมือง
หนึ่งเมือง
รวม ๕
เมือง
รวม ๔
เมือง
รวม ๗
เมือง
รวม ๒
เมือง
หนึ่งเมือง
รวม ๔
เมือง
หนึ่งเมือง
|
รวมเมืองเอก ๑๖ เมือง และเมืองโท ตรี จัตวา ที่ขึ้นกับเมืองเอก จำนวน ๓๖
เมือง เมืองเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ
ให้ส่งข้าราชการไปเป็นข้าหลวงรักษาพระราชอาณาเขตอยู่หลายเมือง
ครั้นถึง ตุลาคม พ.ศ.
๒๔๓๖
(ร.ศ.
๑๑๒)
ดินแดนดังกล่าวนั้นตกไปเป็นของฝรั่งเศส
เมืองในมณฑลนี้จึงเหลืออยู่เพียง ๖ เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม
สกลนคร เลย และหนองคาย ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่หนองคาย
ต่อมาย้ายมาตั้งที่บ้านหมากแข้ง คือ จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน
(๓)
มณฑลลาวกาว
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอิสาน มีพระวรวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
บัญชาการอยู่ที่นครจัมปาศักดิ์ มี ๗ เมือง คือ อุบลราชธานี นครจำปาศักดิ์
ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
ตั้งที่ว่าการมณฑลที่เมืองอุบลราชธานี
(๔)
มณฑลเขมร
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี
(หรุ่น
ศรีเพ็ญ
เป็นข้าหลวงใหญ่ มี ๔ เมือง คือ พระตะบอง เสียมราษฎร์ ศรีโสภณ และพนมศก
ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองพระตะบอง
(๕)
มณฑลลาวกลาง
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลนครราชสีมา มีพระวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ มี ๓ เมือง คือ นครราชสีมา
ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองนครราชสีมา
(๖)
มณฑลภูเก็ต
เดิมเรียกว่า หัวเมืองฝ่ายตะวันตก มีพระยาทิพโกษา
(โต
โชติกเสถียร)
เป็นข้าหลวงใหญ่ มีอยู่ ๖ เมือง คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง
ตะกั่วป่า พังงา และระนอง ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองภูเก็ต
มณฑลทั้ง ๖
นี้เป็นเพียงการรวมเขตหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลและมีข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลเท่านั้นยังไม่ได้ดำเนินการ
เป็นลักษณะมณฑลเทศาภิบาล
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครอง
หัวเมืองส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๗ จึงได้ทรงแก้ไขการปกครองมณฑลทั้ง ๖
นี้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ด้วย
กรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างไทย
-
ฝรั่งเศส
ใน พ.ศ.
๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชประสงค์ที่จะรักษาพระราชไมตรีให้มั่นคงถาวรกับชาติตะวันตก
อันได้แก่
ฝรั่งเศส
และอังกฤษ
เนื่องจากในระยะนั้นฝรั่งเศสได้ประเทศเขมรและประเทศญวน
ตลอดจนแคว้นตังเกี๋ยเป็นเมืองขึ้น
และอังกฤษก็ได้ประเทศพม่าเป็นเมืองขึ้นมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย
จึงมีปัญหาเรื่องการแบ่งปันเขตแดนเพื่อที่จะให้เป็นที่ตกลงกันแน่นอน
ดังนั้น
เพื่อที่จะรักษาพระราชไมตรีและปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้มีความสามารถที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้
ส่งออกไปปฏิบัติราชการประจำต่างหัวเมือง และยิ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่าน
ซึ่งข้าศึกศัตรูอาจล่วงล้ำเข้ารุกรานได้ง่าย
ก็ต้องยิ่งเลือกบุคคลที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้แน่นอน โดยเฉพาะในภาคอีสาน
ดังนั้นใน พ.ศ.
๒๔๓๔ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระน้องยาเธอ
กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน
ออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์กองหนึ่งให้เรียกว่า
ข้าหลวงเมืองลาวกาว
(แต่ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี)
ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการทหาร พลเรือน ตั้งอยู่ ณ
เมืองหนองคายกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน
ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์
เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการทหาร ตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบางกองหนึ่ง
ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงดำ
(แต่กองนี้ภายหลังเปลี่ยนมาประจำเมืองนครราชสีมา
หาได้ไปตั้งที่เมืองหลวงพระบางไม่)
โดยเฉพาะหัวเมืองลาวพวนในเวลานั้น
(พ.ศ.
๒๔๓๔)
ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นข้าหลวงหัวเมืองลาวพวนนั้น ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือ เมืองหนองคาย
เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณฑนิคม เมืองโพนพิไสย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน
เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์
เมืองใหญ่ ๑๓ เมือง เมืองขึ้น ๓๖ เมือง
อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน
ในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ญวนและเขมรเป็นอาณานิคมแล้วก็ได้พยายามที่จะขยายดินแดนอาณานิคมมายึดครองลานช้าง
(ลาว)
ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทยโดยได้อาศัยที่เกิดเหตุความวุ่นวายของพวกฮ่อ
ค่อย ๆ ขยายอิทธิพลเข้ามาทีละน้อย คือ
หลังจากที่ไทยได้ปราบปรามฮ่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย
โดยอ้างว่าจะคอยปราบโจรจีนฮ่อ แม้ไทยจะเจรจาอย่างไร
ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนออกไป แคว้นสิบสองจุไทยเราจึงกลายเป็นของฝรั่งเศส
ตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๓๑
ฝรั่งเศสได้ถือสาเหตุกระทบกระทั่งกับไทยกรณีปัญหาชายแดน กล่าวคือ
ฝรั่งเศสอ้างว่าลาวเคยเป็นของญวน เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนญวนแล้ว
ลาวจะต้องตกเป็นของญวนด้วย
ฝรั่งเศสได้ตั้งเจ้าหน้าที่ของตนออกเดินสำรวจพลเมือง
และเขตแดนว่ามีอาณาเขตที่แน่นอนเพียงใด
และเนื่องจากเขตแดนระหว่างไทยกับลาวมิได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนและรัดกุม
จึงเป็นการง่ายที่พวกสำรวจเหล่านั้นจะได้ถือโอกาสผนวกดินแดนของไทยเข้าไปกับฝ่ายตนมากทุกที
วิกฤตการณ์สยาม
ร.ศ.
๑๑๒
ในที่สุดชนวนที่ฝรั่งเศสถือเป็นสาเหตุข้อพิพาทในการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ก็เกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสได้ส่งทหารรุกเข้ามาทางด้านคำมวน
เข้าปลดอาวุธพระยอดเมืองขวางกับทหารแล้วบังคับให้ควบคุมตัวมาส่งที่แม่น้ำโขง
ณ เมืองท่าอุเทนก่อนที่พระยอดเมืองขวางปลัดจะยอมถอยออกจากเมืองคำมวนนั้น
พระยอดเมืองขวางได้ยื่นหนังสือเป็นการประท้วงต่อฝรั่งเศส
มีข้อความดังนี้คือ
"
เมื่อวันที่
๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒
(พ.ศ.
๒๔๓๖)
ข้าพเจ้าพระยอดเมืองขวางข้าหลวงซึ่งรักษาราชการเมืองคำเกิด
คำมวน ทำคำมอบอายัติเขตแดนแผ่นดิน และผลประโยชน์ในเมืองคำเกิด คำมวน
ไว้กับกงถือฝรั่งเศส ฉบับหนึ่งด้วย
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคมเสนาบดีว่าการกรมวังข้าหลวงใหญ่ซึ่งจัดราชการเมืองลาวพวน
โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าขึ้นมารักษาราชการเมืองคำเกิด คำมวน
ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามติดต่อกับเขตแดนเมืองญวน
ที่น้ำแบ่งด้านตาบัวข้าพเจ้าได้รักษาราชการแลท้าวเพี้ยไพร่ทาษาต่าง ๆ
ให้อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยโดยยุติธรรมมาช้านานหลายปี ครั้นถึงวันที่ ๒๓
พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ท่านกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ คน คุมทหารประมาณ
๒๐๐ เศษ มาปล้นข้าพเจ้า แล้วเอาทหารเข้าล้อมจับผลักไส แทงด้วยอาวุธ
ขับไล่กุมตัวข้าพเจ้ากับข้าหลวงขุนหมื่นทหารออกจากค่าย ข้าพเจ้าไม่ยอมให้
จะอยู่รักษาราชการผลประโยชน์ตามคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นเจ้าของข้าพเจ้าต่อไป กงถือฝรั่งเศสหาให้อยู่ไม่
ฉุดฉากข้าพเจ้ากับขุนหมื่นทหาร ข้าพเจ้าขอมอบอายัติเขตแดนแผ่นดิน
ท้าวเพี้ยไพร่แลผลประโยชน์ของฝ่ายกรุงสยาม ไว้กับกงถือฝรั่งเศส
กว่าจะมีคำสั่งมาประการใด
จึงจะจัดการต่อไปและให้กงถือฝรั่งเศสเอาหนังสือไปแจ้งกับคอนเวอนแมนฝรั่งเศสแลคอนเวอนแมนต์ฝ่ายสยาม
ให้ชำระตัดสินคืนให้กับฝ่ายกรุงสยามตามทำเนียบแผนที่เขตแดนแผ่นดิน
ซึ่งเป็นของกรุงสยามตามเยี่ยงอย่างธรรมเนียมที่ฝ่ายกรุงสยามถือว่าเป็นของฝ่ายกรุงสยามได้รักษามาแต่เดิม
(เซ็นชื่อ)
พระยอดเมืองขวางปลัด
"
พระยอดเมืองขวางกับคณะถูกโกสกือแรงนายทหารฝรั่งเศสคุมตัวมาถึงแก่งเกียด
พระยอดเมืองขวางได้ทหารจากท่าอุเทนเข้าสู้กับฝรั่งเศส
จนฝรั่งเศสตายเกือบหมด หนีรอดไปได้เพียง ๓ คน
จากเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสได้กระทำในครั้งนี้
ฝ่ายไทยได้ประท้วงการกระทำต่อรัฐบาล
ฝรั่งเศสแต่ไม่ได้ผล ฝรั่งเศสกลับส่งกำลังคุกคามอาณาเขตไทยมากยิ่งขึ้น
และกลับเป็นฝ่ายกล่าวหาว่าไทยเป็นผู้รุกราน
ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๑๒
(พ.ศ.
๒๔๓๖)
ฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบจำนวน ๒ ลำ เรือนำร่อง จำนวน ๑ ลำ
เข้ามาในปากน้ำของไทย และได้เกิดยิงสู้กัน ป้อมพระจุลฯ ทำให้ทหารฝ่ายไทยตาย
๑๕ คน ฝรั่งเศสตาย ๒ คน บาดเจ็บ ๓ คน แต่ไม่อาจหยุดยั้งเรือรบฝรั่งเศสได้
และได้เข้ามาจอดที่กรุงเทพฯ บริเวณสถานทูตฝรั่งเศส
จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๑๒ ฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดให้ไทยตอบรับภายใน ๒๔ ชั่วโมง
เรื่องที่จะให้ไทยมอบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เป็นดินแดนลาวให้แก่ฝรั่งเศส
เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ทูตฝรั่งเศส
(ม.ปาวี)
จึงได้เดินทางออกจากประเทศไทย และประกาศปิดอ่าวไทย
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๑๒
ในที่สุดด้วยพระปรีชาญาณเล็งเห็นการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมเสียสละดินแดนส่วนน้อยเพื่อมิให้ต้องเสียดินแดนทั้งหมดพระราชอาณาเขตให้แก่ฝรั่งเศสดังที่ฝรั่งเศสเคยใช้วิธีการกับญวน
และเขมรมาแล้ว พระองค์จึงได้ตกลงพระทัยยอมทำสัญญากับฝรั่งเศสด้วยความโทมนัส
จนถึงกับทรงพระประชวร
สำหรับสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.
๑๑๒
(พ.ศ.
๒๔๓๖)
นั้นมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองอุดรธานี
ดังต่อไปนี้คือ
หนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสแต่วันที่
๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม และท่านประธานาธิบดีริบับลิก
กรุงฝรั่งเศสมีความประสงค์เพื่อจะระงับกับความวิวาท
ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ล่วงไปแล้ว ในระหว่างประเทศทั้งสองนี้
และเพื่อจะผูกพันทางไมตรีอันได้มีมาหลายร้อยปีแล้ว
ในระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศสนั้นให้สนิทยิ่งขึ้นจึงได้ตั้งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย
ให้ทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ คือ
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ได้ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงเทวะวงษ-วโรประการ
คณาภยันดรมหาจักรีและแครนด์ออฟฟิเชอร์ลิยิอองคอนเนอร์ ฯลฯ
เสนาบดีว่าการต่างประเทศกรุงสยามฝ่ายหนึ่ง
แลฝ่ายท่านประธานาธิบดี
ริปันลิกกรุงฝรั่งเศส
ได้ตั้งมองซิเออร์เลอร์
ชาวส์มาริเลอ
มิร์เดอวิเลร์
ผู้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ แกรนด์ออฟฟิเชอร์ลิยิอองคอนเนอร์ แลจุลวราภรณ์อัครราชทูนผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง
และที่ปรึกษาแผ่นดินอีกฝ่ายหนึ่ง
ผู้ซึ่งเมื่อได้แลกเปลี่ยนตราตั้งมอบอำนาจแลได้เห็นเป็นการถูกต้องตามแบบแผนดีแล้ว
ได้ตกลงทำข้อสัญญาดังมีต่อไปนี้
ข้อ ๑.
คอเวอนแมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน
ณ ฝั่งซ้าย ฟากตะวันออกแม่น้ำโขง แลในบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นด้วย
ข้อ ๒.
คอเวอนแมนต์สยามจะไม่มีเรือรบใหญ่น้อยไปไว้ ฤาใช้ดินแดนในทเลสาบก็ดี
แลในลำน้ำแยกจากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ภายในที่อันได้มีกำหนดไว้ในข้อต่อไปนี้
ข้อ ๓.
คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้างด่านค่ายคูฤาที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง
แลเมืองนครเสียมราบ แลในจังหวัด ๒๕ กิโลเมตร
(๖๒๕
เส้น)
บนฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขง
ข้อ ๔.
ในจังหวัดซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ นั้น
บรรดาการตระเวนรักษาจะมีแต่กองตระเวนเจ้าพนักงานเมืองนั้น ๆ กับคนใช้เปนกำลังแต่เพียงที่จำเปนแท้
แลทำการตามอย่างเช่นเคยรักษาเปนธรรมเนียมในที่นั้น
จะไม่มีพลประจำฤาพลเกณฑ์สรรด้วยอาวุธเป็นทหารอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ในที่นั้นด้วย
ข้อ ๕.
คอเวอนแมนต์สยามจะรับปฤกษากับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสภายในกำหนดหกเดือน
แต่ปีนี้ไปในการที่จะจัดการเปนวิธีการค้าขาย แลวิธีตั้งด่านโรงภาษี
ในที่ตำบลซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ นั้น
แลในการที่จะแก้ไขข้อความสัญญา ปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ คฤษตศักราช
๑๘๕๖ นั้นด้วย คอเวอนแมนต์สยามจะไม่เก็บภาษีสินค้าเข้าออกในจังหวัดที่ได้กล่าวไว้ในข้อ
3
แล้วนั้น จนกว่าจะได้ตกลงกับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะได้ทำตอบแทนให้เหมือนกันในสิ่งของที่เกิดจากจังหวัดที่กล่าวนี้สืบ
ข้อ ๖.
การซึ่งจะอุดหนุนการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น จะมีการจำเปนที่จะทำได้ในฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขงโดยการก่อสร้างก็ดี
ฤาตั้งท่าเรือจอดก็ดี ทำที่ไว้ฟืนและถ่านก็ดี คอเวอนแมนต์สยามรับว่าเมื่อคอเวอนแมนด์ฝรั่งเศสขอแล้ว
จะช่วยตามการจำเปนที่จะทำให้สดวกทุกอย่างเพื่อประโยชน์นั้น
ข้อ ๗.
คนชาวเมืองฝรั่งเศสก็ดี
คนในบังคับฤาคนอยู่ในปกครองฝรั่งเศสก็ดี
ไปมาค้าขายได้โดยสะดวกในตำบลซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓
เมื่อถือหนังสือเดินทางของเจ้าพนักงานฝรั่งเศสในตำบลนั้น
ฝ่ายราษฎรในจังหวัดอันได้กล่าวไว้นี้จะได้รับผลเป็นการตอบแทนอย่างเดียวกันด้วยเหมือนกัน
ข้อ ๘.
คอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะตั้งกงศุลได้ในที่ใด ๆ
ซึ่งจะคิดเห็นว่าเป็นการสมควรแก่ประโยชน์ของคนผู้อยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศสแลมีที่เมืองนครราชสีมาแลเมืองน่าน
เป็นต้น
ข้อ ๙.
ถ้ามีความข้อข้องไม่เห็นต้องกัน
ในความหมายของหนังสือสัญญานี้แล้ว ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้นจะเปนหลัก
ข้อ ๑๐.
สัญญานี้จะได้ตรวจแก้เปนใช้ได้ภายในเวลาสี่เดือนตั้งแต่วันลงชื่อกันนี้
อรรคราชทูตผู้มีอำนาทเต็มทั้งสองฝ่ายซึ่งได้กล่าวชื่อไว้ข้างต้นนั้นฯ
ได้ลงชื่อแลได้ประทับตราหนังสือสัญญานี้สองฉบับ เหมือนกันไว้เปนสำคัญแล้ว
ได้ทำที่ราชวัลลภกรุงเทพฯ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒
(เซ็นพระนาม)
เทวะวงษวโรประการ
นอกจากนี้ฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้ไทยยอมรับข้อกำหนดในสัญญาน้อย
ผนวกท้ายสัญญาเกี่ยวกับการถอนทหาร ดังนี้คือ
"
ข้อ
๑.
ว่าด่านหลังที่สุดของทหารฝ่ายสยามที่ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำโขงนั้นจะต้องเลิกถอนมาอย่างช้าที่สุดภายในเดือนหนึ่งตั้งแต่วันที่
๕ กันยายน และ
ข้อ ๒.
บรรดาป้องค่ายคู อันอยู่ในจังหวัดที่กล่าวไว้ในข้อ ๓
ของหนังสือสัญญาฉบับใหญ่ที่ทำไว้วันนี้แล้ว จะต้องรื้อถอนเสียให้สิ้น
"
การย้ายที่บัญชาการมณฑลลาวพวน
(พ.ศ.
๒๔๓๖)
จากสัญญาใหญ่และสัญญาน้อยที่ฝ่ายไทยจำต้องยอมทำกับฝรั่งเศสนี้เอง
เป็นเหตุให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวนจำต้องย้ายที่บัญชาการมณฑลลาวพวนที่ตั้งที่เมืองหนองคาย
มาตั้งที่บ้านหมากแข้ง ดังปรากฏจากเอกสารกระทรวงมหาดไทย
เรื่องจะถอยข้าหลวงหมากแข้งลงมาอยู่นครราชสีมา ร.ศ.
๑๑๒
-
๑๑๓
(พ.ศ.
๒๔๓๖
-
๒๔๓๗)
ม.๕๙/๑๒
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑.
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม บอกมาว่า ตามความที่โปรดเกล้าฯ
ให้ชี้แจงตำบลบ้านเดื่อหมากแค่งซึ่งกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจะได้ไปตั้งพักอยู่นั้น
ประโยชน์ของตำบลนี้คือ
(๑)
ถ้าฝรั่งเศสคิดข้ามมาจับฟากข้างนี้แล้วคงจะจับเมืองหนองคายก่อน
เพราะเปนเมืองบริบูรณ์ ถ้ามาจับหนองคายแล้วจะได้มาโต้ทันเวลา
(๑)
บ้านนี้ระยะทางกึ่งกลางที่จะไปมาบังคับราชการเขตลาวพวนได้ตลอด
(๒)
โทระเลขในแขวงลาวพวนต้องมารวมในบ้านนี้ทั้งสิ้น
(๓)
เสบียงอาหารแต่ก่อนมาเข้าที่จะเลี้ยงไพร่พลนั้น
ด้วยเมืองลาวหาได้เก็บเงินค่านาไม่
เก็บแต่หางเข้าตามพรรณเข้าปลูกขึ้นฉางไว้
ถ้ามีข้าหลวงฤากองทัพก็ต้องจ่ายเลี้ยงข้าหลวงแลกองทัพถ้าสิ้นเข้าคงฉางแล้ว
จึงต้องจ่ายเงินหลวงจัดซื้อเพิ่มเติม ถ้าข้าหลวงตั้งอยู่เมืองน้อย ๆ
เข้าไม่พอก็ต้องจัดซื้อ ไม่ได้ใช้ขนเข้าเมืองอื่นมาเจือจาน ที่ตำบลบ้านนี้เปนบ้านอยู่ในระหว่างเมืองหนองคาย
เมืองหนองหาร ขอนแก่น เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย
จะได้ใช้เสบียงเมืองเหล่านี้ ไม่ต้องออกเงินหลวงให้เปลืองพระราชทรัพย์
(๕)
เมืองสกลนคร แม้ว่าจะเป็นที่ภูมิถานใหญ่โตสบายก็จริง
แต่ในปีนี้น้ำท่วมเสบียงอาหารเสียสิ้น
ถ้าจะยกกองข้าหลวงไปตั้งก็จะต้องเสียเงินมาก แลจะไม่มีที่ซื้อเข้าด้วย
อนึ่งระยะทาง
โทระเลขตั้งแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปหนองคาย อย่างเร็ว ๘ วัน อย่างช้า ๑๒ วัน
ถ้าที่เมืองสกลนคร โทระเลขจะต้องอย่างเร็ว ๑๔ วัน อย่างช้า ๑๘ วัน
(๖)
ได้คิดดูในตำบลนี้ก็อยู่นอก ๒๕ กิโลมิเตอร์
ตามแผนที่ฝรั่งเศส ซึ่ง ม.ปาวี
เปนผู้ทำส่งพระราชทานขึ้นไป บ้านนี้อยู่ในอายันต์เหนือ ๑๗ องษา ๒๗ นาที
อายามตวันออกของปารีศ ๑๐๐ องษา ๒๒ นาที
แต่ที่จะพูดกับอ้ายฝรั่งเศสเป็นมนุษย์ดื้อ ๆ ด้าน ๆ
ปราศจากความอายแล้วก็คงจะทำให้ขุ่นเคือง ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ จึงปฤกษาตกลงกันว่าควรจะไปตั้งที่บ้านน้ำฆ้อง
เมืองกุมภวาปีดีกว่า คงจะได้ประโยชน์เหมือนกับบ้านเดื่อหมาแค่ง ทุกอย่าง
กรมหมื่นดำรง
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ได้ทรงตอบไปว่า
ตามดำริห์
ของกรมหมื่นประจักษ์ที่จะเลื่อนไปตั้งที่บ้านน้ำฆ้อง
เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสทักท้วงได้ในภายน่านั้น ที่บ้านเดื่อหมากแค่งก็อยู่นอก
๖๒๕ เส้นแล้ว แต่จะทรงพระดำริห์เลือกที่อื่นก็ตามการนี้แล้วแต่กรมหมื่นประจักษ์จะทรงเลือกหา
เพราะทรงทราบท้องที่ดีอยู่แล้ว กรมหมื่นดำรงไม่สามารถจะมีพระราชดำริห์ให้ดีกว่าได้
๒.
กรมหมื่นประจักษ์โทระเลขมาว่า ได้ยกออกจากเมืองหนองคาย
ในวันที่ ๑๖ มกราคม ได้เดินทางถนนรัชฎาภิเศก อีกฉบับหนึ่งว่า
ได้ยกมาถึงบ้านหมากแค่ง วันที่ ๑๘ มกราคม
ดังนั้น จากหนังสือกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงไว้วางใจและเชื่อในพระปรีชาสามารถของกรมหมื่นประจักษ์
-
ศิลปาคม
ในการที่จะเลือกตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ถึงกับได้นำความเห็นของพระองค์
(กรม-
พระยาดำรงฯ)
ที่มีต่อพระดำริของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ในเรื่องที่จะขอให้ตัดสินใจได้เอง นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทล้นเกล้าฯ
รัชกาลที่ ๕ แลกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงแนบความรู้เรื่องบ้านเดื่อหมากแข้ง
ดังนี้คือ
"ความรู้เรื่องบ้านเดื่อหมากแข้ง
พื้นที่
บ้านเดื่อหมากแข้ง เปนแขวงเมืองหนองคาย มีเรือน
(ร.ศ.
๑๐๙)
ไม่เกิน ๒๐๐ หลังคาเรือน เปนบ้านอยู่ในที่ราบชายเนิน,
ด้านตะวันออกเปนที่ทุ่งนาใหญ่ ตลอดมาต่อทุ่งขายหนองหาร เปนต้นทางร่วมที่มาจากเมืองใกล้เคียง
แต่เปนที่บ้านป่าขับขันกันดาน ต้องอาไศรยเสบียงอาหารจากเมืองหนองคายและเมืองสกลนคร
ทางส่งข่าว
ส่งข่าวทางโทรศัพท์แต่กรุงเทพฯ ไปบ้านเดื่อหมากแข้งอย่างเร็ว ๘ วัน
อย่างช้า ๑๒ วัน
ระยะทางไปเมืองที่ใกล้เคียง
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองนครรราชสีห์มา
ทาง
๘ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหนองคาย
ทาง
๓ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหนองหาร
ทาง
๑ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองกุมภวาปี
ทาง
๒ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองกมุทาไสย
ทาง
๒ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองหล่มศักดิ์
ทาง
๗ วัน
จากบ้านหมากแข้งไปเมืองสกลนคร
ทาง
๔ วัน
เหตุผลหนึ่งที่กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ทรงมีความพอพระราชหทัยในตำบลที่ตั้งของบ้านหมากแข้งนั้น
ท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดมัชฉิมาวาส และรองเจ้าคณะภาค ๘
ได้เล่าไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือประวัติวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี
ความว่า
"
การย้ายกองบัญชาการมณฑลลาวพวนมายังบ้านเดื่อหมากแข้งนั้น
คนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าไว้ว่าต้องใช้เกวียนประมาณ ๒๐๐ เล่ม
เป็นพาหนะได้ออกเดินทางรอนแรมมาโดยลำดับถึงน้ำซวย
(ซวย
หมายถึง ปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนเรียกน้ำสวย)
เสด็จในกรมฯ ได้ให้ตรวจดูพื้นที่ เพื่อจะได้ตั้งกองบัญชาการ
แต่เมื่อได้ตรวจดูโดยถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่ามีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ สูง ๆ ต่ำ ๆ
ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ในโอกาสข้างหน้า
และตั้งอยู่จากฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น
พระองค์ได้อพยพรอนแรมมาทางทิศใต้โดยลำดับ ห่างจากน้ำซวยนั้นประมาณ ๓๐
กิโลเมตร จนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง
จึงได้พักกองเกวียนอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส
ในบริเวณอนามัยจังหวัดในปัจจุบัน จึงได้ให้ออกสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง
ในบริเวณใกล้เคียงทางทิศตะวันออกมี หนองบัวกลอง หนองเหล็ก
ทางทิศใต้มีหนองขอนขว้าง ทางทิศตะวันตกมี หนองนาเกลือ หนองวัวข้อง
หนองสวรรค์ และทางทิศเหนือมี หนองสำโรง หนองแด และมีลำห้วยหมากแข้ง
ซึ่งมีต้นน้ำจากภูเขาพานมีน้ำใสสะอาด มีป่าไผ่ปกคลุม มีปลา เต่า จระเข้
ชุกชุมมาก ลำน้ำนี้ไหลผ่านจากทิศใต้สู่ทิศเหนือลงลำห้วยหลวง
เสด็จในกรมจึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการสร้างบ้านแปลงเมืองลง ณ
พื้นที่ดังกล่าวนี้
"
ตำนานบ้านหมาแข้ง
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า บ้านหมากแข้ง เนื่องจากเดิมเป็นบ้านร้างเรียกว่า
บ้านหมากแข้ง เพราะมีต้นหมากแข้ง
(มะเขือพวง)
ใหญ่ต้นหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐ เซนติเมตร
ซึ่งมีตำนานเล่ากันสืบมา เรื่องบ้านหมากแข้งว่า
"
บริเวณใกล้เคียงที่สร้างวังของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดมัชฌิมา-
วาส
มีโนนอยู่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า
"โนนหมากแข้ง"
มีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดังกรงนกเขาตั้งอยู่ที่โนนนั้น
เล่ากันสืบมาว่า เป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่
นัยว่ามีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่ต้นหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงล้านช้างร่มขาวได้ให้มาโค่นไปทำกลอง
และทำเป็นกลองขนาดใหญ่ได้ถึง ๓ ใบ ใบหนึ่งเอาไปไว้ที่นครเวียงจันทน์
ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเหตุในเมื่อข้าศึกศัตรูมาราวี
เมื่อตีกลองใบนี้พระยานาคจะขึ้นมาช่วยรบข้าศึกศัตรูให้พ่ายแพ้
แต่ภายหลังถูกเชียงเมี่ยงไปหลอกให้ทำลายกลองใบนี้เสีย
ชาวเวียงจันทน์จึงไม่มีพระยานาคมาช่วยดุจในอดีต
ใบที่สองนำไปไว้ที่พระนครหลวงพระบางส่วนใบที่สามเป็นใบที่เล็กกว่า ๒ ใบนั้น
ได้นำไปไว้ที่วัดหนองบัว
(วัดเก่าตั้งอยู่ติดกับถนนสายอุดร
-
สกลนคร ห่างจากทางรถไฟประมาณ ๕ เส้น
ยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน)
เพราะมีกลองหมากแข้งอยู่ที่วัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งหนองบัว
จึงเรียกว่า หนองบัวกลอง
(แต่ในปัจจุบันคำว่ากลองหายไป
คงเหลือแต่หนองบัวเท่านั้น)
ต้นหมากแข้งต้นนี้คนในสมัยก่อนไม่มีความชำนาญในมาตรวัด
จึงบอกเล่าขนาดไว้ว่า ตอต้นหมากแข้งนั้น ภิกษุ ๘
รูปนั่งฉันจังหันได้สะดวกสบาย
"
แสดงว่าต้นหมากแข้งต้นนั้นใหญ่โตมากเอาการทีเดียว
แต่คงไม่ได้หมายความว่าภิกษุทั้ง ๘ รูป นั้นนั่งบนตอหมากแข้ง
เห็นจะหมายความว่าภิกษุ ๘ รูปนั่งวงล้อมรอบตอหมากแข้ง
โดยใช้ตอหมากแข้งนั้นเป็นโต๊ะหรือโตกสำหรับวางอาหาร
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมองเห็นว่าเป็นต้นหมากแข้งที่ใหญ่มากทีเดียว
เรื่องต้นหมากแข้งนี้ ท่านเจ้าคุณปู่พระเทพวิสุทธาจารย์
(บุญ
บุญญศิริมหาเถระ)
เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ซึ่งได้มาอยู่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ.
๒๔๔๐ คือหลังจากสร้างวัดเพียง ๔ ปี ได้เล่าว่า
ที่โนนหมากแข้งนั้นมีต้นหมากแข้งขนาดเล็กอยู่มากมาย
และมีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าวขนาดเขื่องอยู่ต้นหนึ่ง
แต่มีลำต้นไม่สูง เป็นพุ่มมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกอย่างไพศาล ประมาณ พ.ศ.
๒๔๔๒ มีแบ้
(แพะ)
ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
จำนวนมากได้มากินใบกินกิ่งก้านของมันมันจึงตายเข้าใจว่า
ต้นหมากแข้งต้นนี้จะเป็นหลานหรือเหลนของต้นหมากแข้งที่เจ้าเมืองลานช้างร่มขาวเอาไปทำกลองเพลนั้นแน่
เจดีย์ศิลาแลงนั้นตั้งอยู่ตรงกลางพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาส ในปัจจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ
ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง
ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา
ที่ ๑/๑๗๔
ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๓
(พ.ศ.
๒๔๓๗)
ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
สรุปความว่าพระองค์ทรงเห็นชอบด้วยกับกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ที่ได้เลือกบ้านหมากแข้งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน
ดังความตอนหนึ่งว่า
"
บัดนี้
ได้ทราบว่า ที่ถอยลงมาตั้งอยู่บ้านหมากแข้ง ว่าเปนที่กลางป่า ไข้เจ็บชุกชุม
ไม่เปนภูมิสถานซึ่งจะตั้งมั่งคงสำหรับข้าหลวงต่างพระองค์ ยั่งยืนต่อไปได้
จึ่งได้เรียกแผนที่มาดูก็เห็นอยู่ว่าตำบลซึ่งเธอถอยลงมาตั้งนั้น เปนที่สมควรแก่จะยึดหน่วงหัวเมืองริมฝั่งโขง
แลจะส่งข่าวถึงหัวเมืองทั้งปวงได้โดยรอบคอบ มีระยะทางไม่สู้ห่างไกลทุกทิศ
แต่เมื่อไต่สวนถึงประเทศที่นั้นก็ไปได้ความว่าเปนที่ไม่บริบูรณดี
และมีไข้เจ็บชุกชุม มีความสงสารตัวเธอแลไพร่พลทั้งปวง
ซึ่งขึ้นไปอยู่ด้วยจะได้ความลำบาก เจ็บป่วย จึ่งขอหาฤาตามความเห็นต่อไป
"
และได้ทรงหารือกับกรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคมว่า
หากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจะถอยลงมาอยู่ที่นครราชสีมาและให้ข้าหลวงไพร่พลอยู่ที่บ้านหมากแข้งก็ได้
แต่จะมีผลเสียทำให้หัวเมืองลาวเห็นว่า ฝ่ายเราย่อท้อต่อฝรั่งเศส
และได้ทรงให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมตัดสินพระทัยเอง
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ.
๑๑๓
(พ.ศ.
๒๔๓๗)
สรุปความว่า กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงมีความเห็นว่าภูมิประเทศของบ้านหมากแข้ง
เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ ดังความตอนหนึ่งว่า
"
ข้าพระพุทธเจ้า
ใด้ภักที่นี้ด้วยเวลาเดินทาง ๒ ครั้ง ต้องภักอยู่ ๒ เวลา ทั้ง ๒
คราวเพราะชอบภูมที่จริง ๆ ครั้นใด้มาอยู่จิงจังเข้าก็ยิ่งชอบมากขึ้น แต่เปนธรรมดาที่
ๆ ใดห่างจากบ้านเมืองที่ราษฎรค้าขายก็จำเปนที่จะหาอาหารลำบาก แต่บัดนี้ ก็บริบูรณกว่าเมืองอื่น
ๆ ที่ใด้เห็นและพวกที่ใปมายังซ้ำกล่าวว่า ที่หนองคายเดี๋ยวนี้ ตลาดร่วงโรยใป
สู้ที่นี้ใม่ใด้ จะยอให้หรืออย่างใร ใม่ทราบเกล้าฯ แต่ถ้าจะยอก็ละเอียดพอรับใด้คือ
ใด้เดินตรวจดูในปี ๑๑๓ มีเรือนราษฎรอพยพเข้ามาจากหนองคาย
และออกมาจากหนองละหาร
-
กุมภวาปี ขรแก่น เปนอันมาก กลางคืนแลดูเหนใฟรายใบ
คล้ายแพที่จอดในลำน้ำกรุงเทพ จนมีพยานใด้ว่าเมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ พระยาใตรเพชรัตนสงครามข้าหลวงหนองคายสั่งให้คนเข้ามาซื้อศีศะหอมที่บ้านหมากแข้ง
๑ บาท ใด้ถามใด้ความว่า ที่โน่นใม่มีใครปลูกเพราะขายใม่ใด้
"
ส่วนทางด้านความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่บ้านหมากแข้ง มีโรคภัยน้อยกว่าที่หนองคาย
และในที่สุดกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงกราบบังคมทูลฯ
ในตอนท้ายด้วยความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อความจงรักภักดีในแผ่นดิน
และองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แม้ว่าจะมีความยากลำบากสักปานใดก็ตามดังความว่า
"
จะคิดถึงการแผ่นดินแล้ว
เท่านี้ยังเพียงนี้ ถ้ายิ่งกว่านี้จะทำอย่างไรสู้แลกกับมันตัวต่อตัวดีกว่า
เหนดีกว่านอนให้ฝีในท้องกินตาย
"
ในที่สุดบ้านหมากแข้งก็ได้เป็นสถานที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเห็นชอบด้วยกับความเห็นของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ตามพระราชหัตถเลขาที่
๑๒๘/๒๘๐๘
ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓
(พ.ศ.๒๔๓๗)
ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
"
ถึง
กรมดำรงราชานุภาพ ด้วยตามที่เธอได้ขอให้จดหมายไปถึง
กรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคมอันได้ส่งสำเนามาให้ดูแต่ก่อนแล้ว
บัดนี้ ได้รับคำตอบยืนยันว่า
บ้านหมากแข้งเป็นที่สมควรแลสมัคใจที่จะอยู่ในที่นั้น มีปันซ์ แลยูดี อไรเจือปนต่าง
ๆ ได้ส่งสำเนามาให้ดูด้วย
เมื่อตรวจสอบแผนที่ฤามีความเห็นที่จะอธิบายโต้แย้งอีกประการใด
ขอให้บอกมาให้ทราบจะได้ตอบกรมหมื่นประจักษ์
"
และได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ ๒/
๓๔๕๐ ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ความว่า
"
ด้วย
ได้รับหนังสือ ลงวันที่ ๒ มกราคมนี้ ซึ่งตอบช้าไป
เพราะเหตุใดเธอคงจะทราบอยู่แล้วการซึ่งเธอเหนว่า บ้านหมากแข้งเปนที่สมควรจะตั้งอยู่
โดยอธิบายหลายประการนั้น
ก็ให้ตั้งอยู่ที่นั้นจัดการเต็มตามความคิดที่เห็นว่าจะเป็นคุณแก่ราชการ
"
บ้านหมากแข้งที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา
มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ดเมื่อ ร.ศ.
๑๒๕
(พ.ศ.
๒๔๔๙)
ได้ทรงเล่าถึงเมืองอุดร
(ขณะเป็นบ้านหมากแข้ง)
ในขณะนั้นไว้ว่า
"
เวลานี้ที่ว่าการมณฑล
ที่ว่าการอำเภอ ศาล เรือนจำ โรงทหาร โรงพัก ตำรวจภูธร ออฟฟิศ ไปรษณีย์
โทรเลข และบ้านเรือนข้าราชการอยู่ติดต่อเป็นระยะลำดับกันไป
มีตลาดขายของสดและมีตึกอย่างโคราชของพ่อค้า นายห้างบ้าง
มีวัดเรียกวัดมัชฌิมาวาสตั้งอยู่บนเนิน
และมีบ่อน้ำใหญ่สำหรับราษฎรได้ใช้น้ำทุก ๆ ฤดูกาลด้วย
มีบ้านเรือนราษฎรมาตั้งอยู่หลังบ้านข้าราชการ มีถนนตัดตรง ๆ
ไปตามที่ตั้งที่ทำการและตลาดเหล่านี้หลายสาย
และเมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าจะมาคราวนี้
มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่งและเมื่อรื้อที่ว่าการบัดนี้
ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ถนนสายนี้
จะบรรจบกับถนนเก่าเป็นถนนยาวและงามมาก
"
และได้ทรงอธิบายถึงหนองนาเกลือว่า
"เป็นหนองใหญ่
เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น
ได้ขนานนามว่าหนองประจักษ์"
กองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้งในเวลานั้น นายสังข์ นุตราวงศ์
ทนายความอดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมคนเก่าแก่เมืองอุดรธานี
ได้เล่าให้ฟังว่า
"
ที่ทำการมณฑลและสถานที่ราชการต่าง
ๆ นั้น ตั้งอยู่บริเวณใกล้หนองน้ำใหญ่ที่มีชื่อว่า หนองนาเกลือ
(ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ
เป็นหนองประจักษ์ในภายหลัง)
บริเวณศาลาว่าการมณฑลและศาลประจำมณฑลอยู่ติดกัน
และหันหน้าที่ทำการไปทางทิศเหนือ เพราะทั้งนี้
เนื่องจากเตรียมรับข้าศึกหากจะมีการรบกับฝรั่งเศส
ส่วนที่ประทับของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมนั้น
อยู่บริเวณที่เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรงข้ามกับวัดวัชฌิมาวาสวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุดรธานี
ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวพวนสืบต่อจากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
บริเวณที่เป็นทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าลักษณะคล้ายทุ่งนาผสมป่าละเมาะ
มีต้นไม้ใหญ่อยู่อย่างประปราย
นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นสำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี
ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมทหารส่วนเรือนจำนั้นตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานีในเวลานี้
และสำหรับหนองนาเกลือนั้นในเวลานั้นเป็นหนองน้ำที่กว้างใหญ่
เมื่อคนจะข้ามมาติดต่อกับส่วนราชการที่ตั้งศาลาว่าการมณฑลจากฝั่งหนองนาเกลือด้านตะวันตก
มายังฝั่งตะวันออกก็จะต้องจ้างเรือแจวที่มีผู้มารับจ้างที่หนองนาเกลือเพราะในเวลานั้นน้ำลึก
มีปลา และจรเข้ชุกชุม
"
ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิรูปการปกครองนั้น
(ก่อน
พ.ศ.
๒๔๓๕)
การปกครองของประเทศไทยในส่วนภูมิภาคเป็น
"ระบบกินเมือง"
จึงได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นแบบเทศาภิบาล
โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๓๕
(ร.ศ.
๑๑๑)
โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ
(เฉพาะในมณฑลลาวพวน
เรียกว่า ข้าหลวงต่างพระองค์)
ต่อมาได้ทรงเลิกตำแหน่งข้าหลวงใหญ่
มีตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลแทนขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งสามารถแบ่งเบาพระราชภาระในการปกครองแผ่นดินลงได้ทั้งยังสามารถอำนวยความสุขร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น บ้านหมากแข้งในฐานะกองบัญชาการมณฑลลาวพวน
จึงมีข้าหลวงใหญ่ปกครองตามลำดับ คือ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
(ร.ศ.
๑๑๒
-
๑๑๘)
และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
(ร.ศ.
๑๑๘
-
๑๒๕)
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองมณฑลจากข้าหลวงใหญ่
(หรือข้าหลวงต่างพระองค์)
เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
ใน พ.ศ.
๒๔๔๒
(ร.ศ.
๑๑๘)
ปีกุน เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ
โดยมีเมืองต่าง ๆ รวม ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ คือ เมืองหนองคาย
หนองหาน ขอนแก่น ชนบท หล่มศักดิ์ กมุทาสัย สกลนคร ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน
นครพนม มุกดาหาร
ต่อมา
ใน พ.ศ.
๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน
เป็นมณฑลอุดรและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า
เมืองที่จัดแบ่งไว้ในมณฑลอุดรมีมากเกินความจำเป็นในการปกครอง
จึงทรงรวมหัวเมืองในมณฑลเป็นบริเวณซึ่งมีฐานะเท่าจังหวัดเพื่อให้เหมาะสมแก่การปกครอง
และโปรดให้ยุบเมืองจัตวาบางเมืองลงเป็นอำเภอ
ส่วนอำเภอใดที่เคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองที่ตั้งเป็นบริเวณหรือสมควรจะให้ขึ้นกับบริเวณใดก็ให้รวมเข้าไว้ในบริเวณนั้น
โดยโปรดให้แบ่งออกเป็น ๕ บริเวณ คือ
(๑)
บริเวณหมากแข้ง
มี ๗ เมือง คือ บ้านหมากแข้ง
เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย
เมืองโพนพิไศรย เมืองรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการบริเวณที่บ้านหมากแข้ง
(๒)
บริเวณพาชี
มี ๓ เมือง คือ เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง
ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองขอนแก่น
(๓)
บริเวณธาตุพนม
มี ๔ เมือง คือ เมืองนครพนม เมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองมุกดาหาร
ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองนครพนม
(๔)
บริเวณสกลนคร
มี ๑ เมืองคือ เมืองสกลนคร ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองสกลนคร
(๕)
บริเวณน้ำเหือง
มี ๓ เมือง คือ เมืองเลย เมืองบ่อแตน เมืองแก่นท้าว
ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองเลย
ลักษณะการปกครองที่รวมเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และจัดแบ่งการบริหารออกเป็น
๕ บริเวณ ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด
ส่วนเมืองที่อยู่ในสังกัดบริเวณมีฐานะเทียบเท่ากับอำเภอนั้นอาจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดการปกครองในมณฑลอุดรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณ ควบคุมเจ้าเมืองต่าง ๆ
ซึ่งมีข้าหลวงตรวจการประจำเมืองควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
แสดงให้เห็นว่าอำนาจจากส่วนกลางได้ขยายออกไปควบคุมอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นอีกชั้นหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้ผลดียิ่งขึ้น
สามารถควบคุมเจ้าเมืองและตรวจตราทุกข์สุขของราษฎรได้อย่างทั่วถึง
ขบถผู้มีบุญที่มณฑลอุดร
ในระหว่างปลายปี พ.ศ.
๒๔๔๔ จนถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.
๒๔๔๕ ได้มีเหตุการณ์สำคัญขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คือมีขบถที่เกิดขึ้นเรียกว่า ขบถผู้มีบุญ หรือผีบุญ ในมณฑลอุดรและมณฑลอิสาน
เนื่องจากมีผู้พบลายแทง ความว่า
"
ราวเดือน
๓ เพ็ญ ถึงเพ็ญเดือน ๔ จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง
เงินทองทั้งปวงจะกลายเป็นกรวดทรายไปหมด ก้อนกรวดในหินแลงจะกลับเป็นเงินทอง
หมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคนแล้วท้าวชัยมิกราชผู้มีบุญ
(คือ
ผู้มีบุญ)
จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากจะพ้นภัยก็ให้คัดลอก
หรือบอกความลายแทงให้รู้กันต่อ ๆ ไป
ใครอยากจะมั่งมีก็ให้เก็บกรวดหินและรวบรวมไว้ให้ท้าวชัยมิกราชชุบเป็นเงินทอง
ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าหมูเสีย อย่าให้มันกลายเป็นยักษ์
"
จึงได้เกิดมีผู้มีบุญประมาณ ๑๐๐ คน ทั่วมณฑล
มณฑลอุดรและมณฑลอีสานได้มีราษฎรพากันเข้ามาเป็นพวกเป็นจำนวนมาก
บรรดาผู้มีบุญได้กำเริบเสิบสานถึงกลับพาพรรคพวกเข้าปล้นและเผาเมืองเขมรราฐ
ในจังหวัดอุบลราชธานี และขยายความรุนแรงไปทั่วมณฑลอุดรและมณฑลอิสาน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พันเอกพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์
(จัน
อินทรกำแหง)
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาเป็นข้าหลวงพิเศษ
ผู้ช่วยปราบปรามผีบุญทั้ง ๒ มณฑล โดยใช้ทหารบก พลตระเวน
และทหารพื้นเมืองจากมณฑลนครราชสีมา,
มณฑลอุดร,
มณฑลอีสาน
และมณฑลบูรพา สามารถปราบปรามขบถผู้มีบุญได้สำเร็จในเวลารวดเร็ว
ดังนั้น
มณฑลอุดรจึงมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านหมากแข้งเหมือนเมื่อครั้งเป็นมณฑลลาวพวน,
มณฑลฝ่ายเหนือและมีสมุหเทศาภิบาล ปกครองสืบต่อมา ๕ คน
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์
(โพธิ์
เนติโพธิ์)
ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดร ระหว่าง พ.ศ.
๒๔๔๙
๒๔๕๕
ในระยะเวลานี้มณฑลอุดรยังคงแบ่งการปกครองออกเป็น ๕ บริเวณ
และมีผู้ปกครองดังนี้ คือ
(๑)
บริเวณหมากแข้ง
พระรังสรรคสรกิจ
(เลื่อน)
เป็นข้าหลวงบริเวณมีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ
เมืองอุดรธานี
พระประทุมเทวาภิบาล
(เสือ)
เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุรักษ์ประชาราษฎร์
เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง แบ่งออกเป็น ๘ อำเภอ คือ
๑.
อำเภอหมากแข้ง
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองอุดรธานี)
๒.อำเภอหนองค่าย
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองหนองคาย)
๓.
อำเภอท่าบ่อ
๔.
อำเภอหนองหาร
๕.
อำเภอเมืองกมุทธาไสย
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอหนองบัวลำภู)
๖.
อำเภอโพนพิสัย
๗.
อำเภอกุมภวาปี
๘.
อำเภอรัตนวาปี
(๒)
บริเวณธาตุพนม
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
(เลื่อง
ภูมิรัตน์)
เป็นข้าหลวงบริเวณมี
เมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ
เมืองนครพนม
พระยาพนมนครานุรักษ์
(กา
พรหมประกาย ณ นครพนม)
เป็นผู้ว่าราชการเมือง มีอำเภอปกครอง ๑๑ อำเภอ คือ
๑.
อำเภอเมืองนครพนม
๒.
อำเภอมุกดาหาร
๓.
อำเภอหนองสูง
(ปัจจุบันคือ
ตำบลหนองสูงและตำบลหนองสูงใต้ ขึ้นกับอำเภอคำชะอี)
๔.
อำเภอเมืองชัยบุรี
(ปัจจุบันยุบขึ้นเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน)
๕.
อำเภอเมืองท่าอุเทน
(ต่อมาเปลี่ยนเป็น
อำเภอท่าอุเทน)
๖.
อำเภอเมืองเรณูนคร
๗.
อำเภออาจสามารถ
๘.
อำเภอเมืองอากาศอำนวย
๙.
อำเภอเมืองกุสุมาลย์มณฑล
๑๐.
อำเภอเมืองโพธิไพศาล
(ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนคร)
๑๑.
อำเภอรามราช
(ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน)
(๓)
บริเวณสกลนคร
หลวงวิสัยสิทธิกรรม
(จีน)
เป็นข้าหลวงบริเวณ มีพระยาประจันต-
ประเทศธานี
(โหง่นคำ
ต้นสกุล พรหมสาขา ณ สกลนคร)
เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุบาลสกลเขต
(เมฆ
พรหมสาขา ณ สกลนคร น้องชาย พระยาประจันตประเทศธานี)
เป็นปลัดเมือง ได้แบ่งอำเภอปกครองออกเป็น ๕ อำเภอ คือ
๑.
อำเภอเมืองสกลนคร
๒.
อำเภอพรรณานิคม
๓.
อำเภอวาริชภูมิ
๔.
อำเภอวานรนิวาส
๕.
อำเภอจำปาชนบท
(ปัจจุบัน
คือ อำเภอพังโคน)
(๔)
บริเวณพาชี
(หรือภาชี)
ขุนผดุงแคว้นประจันต์
(ช่วง)
เป็นข้าหลวงบริเวณ มีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ
เมืองขอนแก่น ผู้ว่าราชการเมืองเวลานั้นว่าง มีอำเภอในสังกัด ๔ อำเภอ คือ
๑.
อำเภอเมืองขอนแก่น
๒.
อำเภอเมืองมัญจาคีรี
๓. อำเภอชนบท
๔. อำเภอภูเวียง
(๕)
บริเวณน้ำเหือง
พระรามฤทธี
(สอน
ต้นสกุล วิวัฒน์ปทุม)
เป็นข้าหลวงบริเวณพระศรีสงคราม
(มณี
เหมาภา)
เป็นผู้ว่าราชการเมือง ตั้งที่ทำการบริเวณ ณ เมืองเลย
มีอำเภอปกครอง ๓ อำเภอ
๑.
อำเภอเมืองเลย
๒.
อำเภอท่าลี่
๓.
อำเภออาฮี
(ปัจจุบันยุบเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าลี่)
ตั้งเมืองอุดรธานีเป็นเมืองจัตวา
เนื่องจากลักษณะการปกครองที่แบ่งเป็นบริเวณมีฐานะเทียบเท่าเมืองดังกล่าว
แต่ชื่อยังคงใช้คำว่า
"บริเวณ"
อยู่นั้น เพื่อให้การเรียกชื่อไม่สับสน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระบรมราชโองการ เมื่อ พ.ศ.
๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทย
จัดดำเนินการให้รวมหัวเมืองมณฑลอุดรเข้าเป็นเมืองจัตวารวม ๗ เมือง คือ
(๑)
ให้รวมเมืองกมุทาไสย เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาร
อำเภอบ้านหมาแข้ง ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า
"เมืองอุดรธานี"
เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลอุดร
(๒)
หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่ก่อนว่า บริเวณพาชีนั้น
ให้เปลี่ยนเรียกว่า
"เมืองขอนแก่น"
(๓)
หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า บริเวณน้ำเหืองนั้นให้เปลี่ยนเรียกว่า
"เมืองเลย"
(๔)
หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า
บริเวณสกลนครนั้นให้เปลี่ยนเรียกว่า
"เมืองสกลนคร"
(๕)
หัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมเรียกแต่เดิมว่า บริเวณธาตุพนมนั้น
ให้เปลี่ยนเรียกว่า
"เมืองนครพนม"
(๖)
เมืองหนองคาย
(๗)
เมืองโพนพิสัย
การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้รวมหัวเมืองมณฑล
อุดรเข้าเป็นเมืองจัตวา ๗ เมืองนั้น
จะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการบริหารการปกครองที่มีการแบ่งการปกครองเป็นบริเวณและจังหวัด
เนื่องจากการบริหารงานในบริเวณมีฐานะเทียบเท่าจังหวัดดังกล่าวแล้ว
ฉะนั้นพระองค์จึงทรงจัดรวมหัวเมืองต่าง
ๆ
เข้าด้วยกันเป็นจังหวัด
ซึ่งบางจังหวัดยุบมาจากบริเวณ
ส่วนเมืองที่อยู่ในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ
การจัดระเบียบบริหารการปกครองดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้การปกครองแบบเทศาภิบาลได้รับผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นการรับการบริหารการปกครองให้รัดกุมยิ่งขึ้น
และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในเวลาต่อมา
พิธีตั้งเมืองอุดรธานี
วันที่
๑
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
(พ.ศ.
๒๔๕๐)
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์
เนติโพธิ์)
สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร
ได้พร้อมกับกรมการเมืองข้าราชการ
พ่อค้า
ประชาชน
จัดพิธีตั้งเมืองอุดรธานี
ณ
สนามกลางเมือง
เมื่อวันที่
๑
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
สำหรับความละเอียดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวปรากฏตามพระหัตถเลขาของสมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ราชเลขานุการ
เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละองธุลีพระบาท
ตามหนังสือศาลาว่าการมหาดไทย
ที่
๒๑๐
/ ๘๘๐
ลงวันที่
๒๗
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
ดังต่อไปนี้
(สำเนา)
ที่
๒๑๐
/ ๘๘๐
ศาลาว่าการมหาดไทย
วันที่
๒๗
เดือนเมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
กราบทูล
พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมขุนสมมตอมรพันธุ์
ราชเลขานุการ
ทรงทราบ
ด้วยเกล้าฯ
ได้รับใบบอกพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์
ข้าหลวงเทศาภิบาล
สำเร็จราชการมณฑลอุดรที่
๓/๓๑
ลงวันที่
๗
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
ว่า
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวมเมืองกมุทธาไสย
๑
เมืองกุมภวาปี
๑
เมืองหนองหาร
๑
อำเภอบ้านหมากแข้ง
๑
ตั้งเป็นเมืองจัตวา "เรียกว่าเมืองอุดรธานี"
นั้น
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์
เห็นว่าการที่ตั้งเมืองใหม่เช่นนี้ควรต้องมีการพิธีเพื่อให้เป็นศิริสวัสดิมงคลและแสดงความรื่นเริง
เพราะฉนั้นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์แลข้าราชการจึงได้พร้อมกันออกทรัพย์รวมเป็นเงิน
๘๒๗
บาท
ได้เริ่มจัดการพิธีเมื่อวันที่
๓๑
มีนาคม
ร.ศ.
๑๒๖
เวลาบ่าย
๔
โมงได้อาราธนาพระสงฆ์
๕๐
รูปเจริญพระพุทธมนต์ที่ปรำสนามกลางเมืองอุดรธานีเวลาค่ำมีการมะโหรศพและดอกไม้เพลิง
ครั้นรุ่งขึ้นวันที่
๑
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
เวลาเช้าข้าราชการได้พร้อมกันถวายอาหารบิณฑบาตร์และเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์
๕๐
รูป
เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจึงได้อ่านประกาศตั้งเมืองที่ปรำพิธีพร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือนตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนทั้งหลาย
เมื่อเสร็จการอ่านประกาศแล้วพระสงฆ์
๕๐
รูป
ได้สวดไชยันโต
แคนวงและพิณพาทย์ได้ทำเพลงสรรเสริญพระบารมี
ข้าราชการ
พ่อค้าและประชาชนได้โห่ถวายไชยมงคล
๓
ครั้ง
เมื่อถึงเวลาค่ำได้มีการเลี้ยงและการละเล่นจุดดอกไม้เพลิง
รุ่งขึ้นวันที่
๒
เมษายน
ได้มีการเลี้ยงอาหารกำนัน
ผู้ใหญ่บ้านและมีการละเล่นเหมือนอย่างวันก่อน
รวมเวลาที่กระทำพิธีตั้งเมืองอุดรธานี
๓
วัน
พระยาศรีสุริย
ราชวรานุวัตร์
และบรรดาข้าราชการที่ได้ออกทรัพย์มีนามและจำนวนเงินตามบาญชีซึ่งได้ถวายมาพร้อมกับจดหมายนี้พร้อมกัน
ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล
มีความใบบอกดังนี้
ขอได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ดำรง
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ป,พ,
ก.ท.
สำเนาที่
๑๓๘๐
กระทรวงมหาดไทยรับวันที่
๒๒
เมษายน
ร.ศ.
๑๒๗
บาญชีรายนามผู้ที่ออกทรัพย์ในงานเปิดเมืองอุดรธานี
รายนาม |
ตำแหน่ง |
เมือง |
จำนวนเงิน |
หมายเหตุ |
|
|
|
บ. |
อ. |
|
พระยาศรีสุริยราช |
ข้าหลวงเทศา |
หมากแข้ง |
๑๗๐ |
- |
|
พระยาสุนทร |
ข้าหลวง |
นครพนม |
๓๕ |
- |
|
พระยาพิไสยสรเดช |
นายอำเภอ |
โพนพิสัย |
๑๐ |
- |
|
พระรามฤทธิ์ |
ข้าหลวง |
เมืองเลย |
๑๐ |
- |
|
ขุนวรภักดิ์พิบูลย์ |
ข้าหลวงมหาดไทย |
อุดรธานี |
๒๐ |
- |
|
หลวงพิไชย |
พธำมรงค์ |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
หลวงวิตร์ |
ข้าหลวงสรรพากร |
อุดรธานี |
๒๐ |
- |
|
นายสดจำรอง |
- |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
หลวงบริรักษ์ |
ข้าหลวงคลัง |
อุดรธานี |
๒๐ |
- |
|
หม่อมเจ้าคำงอก |
ผู้ช่วยข้าหลวงคลัง |
อุดรธานี |
๘ |
- |
|
ขุนอักษรเลขา |
เลขานุการ |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
ขุนประจิตร์รัฐกรรม |
ว่าที่ยกรบัตร์เมือง |
อุดรธานี |
๑๕ |
- |
|
ขุนไตร |
- |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายถึง |
เสมียน |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
ขุนสวัสดิ์ |
- |
อุดรธานี |
๔๔ |
- |
|
นายต่อม |
เสมียน |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
หลวงผลานันตกิจ |
ข้าหลวงธรรมการ |
อุดรธานี |
๑๕ |
- |
|
ขุนศรีเกษตร์ |
ว่าที่ผู้พิพากษา |
อุดรธานี |
๒๐ |
- |
|
นายบุญช่วย |
ยกรบัตร์ศาล |
อุดรธานี |
๖ |
- |
|
ขุนภิมโทรเลข |
ผู้รั้งสารวัด |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
นายสิ้น |
- |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายสาร |
- |
อุดรธานี |
๒ |
- |
|
หมื่นแสดง |
พนักงานไปรสนีย์ |
หนองคาย |
๑๐ |
- |
|
นายโพ |
พนักงานไปรสนีย์ |
อุดรธานี |
๖ |
- |
|
นายจารณ์ |
ผู้พิพากษา |
เมืองเลย |
๑๐ |
- |
|
ทำการร้อยเอกยิ้ม |
แทนผู้บังคับการ |
อุดรธานี |
|
|
|
นายเปีย |
พนักงานบาญชี |
อุดรธานี |
๓ |
- |
|
นายจันดี |
เสมียนตำรวจ |
อุดรธานี |
๓ |
- |
|
นายร้อยอือรุมเอกดัล |
ครูตำรวจ |
อุดรธานี |
๕๐ |
- |
|
รายนาม |
ตำแหน่ง |
เมือง |
จำนวนเงิน |
หมายเหตุ |
|
|
|
บ. |
อ. |
|
ขุนอภัยบริพัตร์ |
ปลัดเมือง |
ขอนแก่น |
๑๐ |
|
|
นายวินเด |
ล่าม |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
นายเจียก |
เสมียนตรา |
อุดรธานี |
๑๐ |
- |
|
นายถึก |
พนักงานแผนที่ |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายอนุชาติวฒาธิคุณ |
นายอำเภอ |
เพ็ญ |
๑๐ |
- |
|
นายบุญเพ็ญ |
ปลัดอำเภอ |
หนองหาร |
๔ |
- |
|
พระวิจารณ์กมุทธกิจ |
นายอำเภอ |
กมุทธไสย |
๔ |
- |
|
ขุนสมัคใจราษฎร์ |
นายอำเภอ |
กุมภวาปี |
๑๐ |
- |
|
ขุนธนภารบริรักษ์ |
แพทย์ |
อุดรธานี |
๕ |
- |
|
นายทอง |
ภารโรง |
อุดรธานี |
๕ |
- |
|
พระบริบาลภูมิเขตร์ |
นายอำเภอ |
อุดรธานี |
๑๒ |
- |
|
ขุนธนสาร |
สมุหบาญชี |
อุดรธานี |
๕ |
- |
|
นายเขียน |
ปลัดอำเภอ |
อุดรธานี |
๓ |
- |
|
นายกำปั่น |
เสมียน |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
นายผอง |
เสมียน |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
นายสิง |
เสมียน |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
ขุนประจงอักษร |
สัสดี |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายสาลี |
ว่าที่อักษรเลข |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายทอง |
หมอ |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายเด่น |
ศุภมาตรา |
อุดรธานี |
๔ |
- |
|
นายโสม |
คนใช้ |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
นายยา |
- |
อุดรธานี |
๑ |
- |
|
สุวรรณราช |
ปลัดอำเภอ |
วังสะพุง |
๔ |
- |
|
ขุนวิจิตร์คุณสาร |
นายอำเภอ |
หนองคาย |
๑๐ |
- |
|
หลวงทรงสาราวุธ |
นายอำเภอ |
มุกดาหาร |
๑๐ |
- |
|
ขุนผดุงแคว้นประจัน |
ข้าหลวง |
สกล |
๒๐ |
- |
|
ขุนผลาญณรงค์ |
ผู้พิพากษา |
สกล |
๑๐ |
- |
|
นายจันที |
ปลัดอำเภอ |
อุดรธานี |
๕ |
- |
|
ขุนศรีสุนทรกิจ |
ปลัดอำเภอ |
อุดรธานี |
๖ |
- |
|
นายมณี |
ผู้พิพากษา |
นครพนม |
๘ |
- |
|
ขุนพิพิธคดีราษฎร์ |
ผู้พิพากษา |
ขอนแก่น |
๑๐ |
- |
|
หลวงพิไสย |
ข้าหลวง |
ขอนแก่น |
๓๐ |
- |
|
รายนาม |
ตำแหน่ง |
เมือง |
จำนวนเงิน |
หมายเหตุ |
|
|
|
บ. |
อ. |
|
หลวงพินิจ |
นายอำเภอ |
วังสะพุง |
๘ |
- |
|
หลวงณรงค์ |
ยกรบัตร์ |
เลย |
๑๐ |
- |
|
นายปลื้ม |
นายอำเภอ |
มัญจาคีรี |
๑๐ |
- |
|
พระศรีทรงไชย |
นายอำเภอ |
ภูเวียง |
๖ |
- |
|
พระศรีชนบาล |
นายอำเภอ |
ชนบท |
๑๐ |
- |
|
ขุนสุรากิจจำนงค์ |
นายอำเภอ |
ท่าอุเทน |
๑๐ |
- |
|
หลวงสุราการ |
รั้งนายอำเภอด่านซ้าย |
|
๘ |
- |
|
นายหริ่ง |
ผู้ช่วยข้าหลวงสรรพากร |
อุดรธานี |
๕ |
- |
|
พระกุประดิษฐบดี |
ผู้ว่าราชการ |
ท่าบ่อ |
๑๐ |
- |
|
ขุนมหาวิไชย |
นายอำเภอ |
พอง |
๑๕ |
- |
|
ขุนอภิบาลนิติสาร |
- |
|
๑ |
- |
|
พระอุดมสรเขตร์ |
ปลัดเมือง |
ขอนแก่น |
๑๐ |
- |
|
|
|
รวม |
๘๒๗ |
- |
|
ในสมัยพระศรีสุริยราชวรานุวัตร์
(โพธิ์
เนติโพธิ์)
สมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดร
ท่านได้ก่อร่างสร้างเมืองอุดรธานีให้มีความเจริญสืบต่อจาก
พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์
ศิลปาคม
และพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ เป็นอันมาก อาทิเช่น ท่านได้นำข้าราชการ พ่อค้า
ประชาชนตัดถนนหนทาง วางผังเมืองอุดรขึ้นใหม่หลายสาย
และท่านได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ยังไม่มีชื่อ
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ทรงประทานชื่อว่า วัดโพธิสมภรณ์
เป็นวัดธรรมยุติวัดแรกในจังหวัดอุดรธานี
ซึ่งชาวจังหวัดอุดรธานีเรียกกันสืบมาว่า
วัดโพธิ์เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์
(โพธิ์
เนติโพธิ์)
นอกจากนั้นทางด้านการศึกษาของกุลบุตร
ได้ส่งเสริมให้ราษฎรมรฑลอุดรส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล
ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงเรียนที่อาศัยบริเวณของวัดมัชฌิมาวาสและต่อมาได้ขยายมาอยู่บริเวณที่เป็นวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีในปัจจุบัน
สำหรับการจัดการศึกษาให้แก่กุลสตรี พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์
(โพธิ์
เนติโพธิ์)
และคุณ
หญิง
ได้ชักชวนพ่อค้า ข้าราชการ
และประชาชนบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาสมทบทุนกับรายได้ของมณฑลเพื่อสร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีหลังใหม่
เนื่องจากเห็นว่าโรงเรียนอุปถัมภ์นารีหลังเก่าคับแคบ
ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าว่า สตรีราชินูทิศ
เพื่อเป็นการระลึกถึงและบำเพ็ญพระกุศลถวาย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใน พ.ศ.
๒๔๖๔ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้มีพระบรมราช-โองการ
โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ดเป็นภาค
เรียกว่า ภาคอีสาน ตั้งที่บัญชาการมณฑลภาคที่เมืองอุดรธานี
มีเจ้าพระยามุขมนตรี
(อวบ
เปาวโรหิต)
ดำรงตำแหน่งอุปราชภาคอีสาน
และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ต่อมา
ใน พ.ศ.
๒๔๖๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย
จึงได้ทรงประกาศยกเลิกภาคอีสาน และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรี
ย้ายไปดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ
พ.ศ.
๒๔๗๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอดุลยเดชสมยามเมศรวรภักดี
(อุ้ย
นาครธรรพ)
เป็น
สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร
พ.ศ.
๒๔๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาตรังคภูมาภิบาล
(เจิม
ปันยารชุน)
เป็นผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลอุดรคนสุดท้าย
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ทำให้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองปรากฏตามพระราชบัญญัติ
ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ได้ยกเลิกมณฑลเสียคงให้มีแต่ จังหวัดและอำเภอ
โดยกำหนดให้การดำเนินงานในแต่ละจังหวัดมีคณะบุคคลเป็นผู้บริหาร เรียกว่า
กรมการจังหวัด
ประกอบด้วย
(๑)
ข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นประธานโดยตำแหน่ง
(๒)
ปลัดจังหวัด
(๓)
หัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ
ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด
ซึ่งมีจำนวนมากน้อยกว่ากันตามคุณภาพแห่งงานของแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้การบริหารราช
การในจังหวัดจะมีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดบริหารร่วมกันเป็นคณะ
สำหรับความมุ่งหมายของการบริหารราชการจังหวัด โดยคณะกรมการจังหวัด ตามพระ-ราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ดร.หยุด
แสงอุทัย ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือชุมนุมกฎหมายปกครองว่า
(๑)
เพื่อให้มีการประสานงานระหว่าง หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ
ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ส่งมาประจำจังหวัด
(๒)
เพื่อไม่ให้แก่งแย่งกันว่างานนั้น ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของตน
โดยกำหนดให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน กล่าวคือ
จะถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ของตน
กฎหมายก็กำหนดให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของจังหวัด
(๓)
เพื่อให้ช่วยกันส่งเสริมจังหวัดของตนให้เจริญ
เพราะกรมการจังหวัดทุกคนสามารถที่จะออกความเห็น แนะนำ คัดค้าน
และอธิบายเรื่องที่เกี่ยวแก่จังหวัดตามที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันได้
ดังนั้นมณฑลอุดรจึงถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พุทธศักราช ๒๔๗๖ คงฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี
ในระหว่าง พ.ศ.
๒๔๗๖-๒๔๗๗
ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี คือ
ได้เกิดมีคณะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายที่จังหวัดอุดรธานี
ทำการปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
ได้มีการเคลื่อนไหวโดยในตอนกลางดึกบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดได้มีผู้เอาธงแดงคอมมิวนิสต์ไปปักบนต้นก้ามปู
ในตอนเช้าทางราชการก็ได้ให้พนักงานเอาลงมาสลับกันอยู่หลายคืนและมีทีท่าจะก่อความวุ่นวาย
ดังปรากฏในประวัติพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขต
(จิตร
จิตตะยโศธร)
อดีตข้าหลวงประจำจังหวัดอุดรธานี
ในหนังสือเมืองในภาคอีสานว่า
ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาเผยแพร่ลัทธิคอมมูนิสต์ที่จังหวัดอุดรธานี
ได้มีการเนรเทศบ้างฟ้องศาลลงโทษบ้าง เป็นจำนวนมากราว ๕๐ คน
ต่อมา
ใน พ.ศ.
๒๔๘๔ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๐ กันยายน
๒๔๘๔ จัดการรวมจังหวัดต่าง ๆ ยกขึ้นเป็นภาค จำนวน ๕ ภาค
จังหวัดอุดรธานีขึ้นกับภาค ๓ ซึ่งมีที่ทำการภาคอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
โดยภาค ๓ ในเวลานั้นมีจังหวัดสังกัดรวม ๑๕ จังหวัด
ใน พ.ศ.
๒๔๙๔ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๙๔
ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเขตภาคขึ้นใหม่ เป็น ๙ ภาค
จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่ตั้งภาค ๔ และต่อมา ใน พ.ศ.
๒๔๙๕ ก็ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒๔๙๕
ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้คือ
(๑)
ภาค
(๒)
จังหวัด
(๓)
อำเภอ
โดยกำหนดให้รวมท้องที่หลายจังหวัดตั้งเป็นภาค
มีผู้ว่าราชการภาคคนหนึ่งเป็นหัวหน้า
ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการบริหารส่วนภูมิภาค
จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่ตั้งภาค ๔ ได้มีส่วนราชการต่าง ๆ
มาตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดอุดรธานีเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒๔๙๕
ได้กำหนดให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ผู้เดียว
ยกเลิกคณะกรมการจังหวัดในฐานะองค์คณะบริหารราชการภูมิภาค
โดยได้เปลี่ยนสภาพคณะกรมการจังหวัดมาเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น
ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ย้ายผู้ว่าราชการ
และรองผู้ว่าราชการภาคไปประจำกระทรวง
ในที่สุด ในปี พ.ศ.
๒๔๙๙ ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
ในส่วนกลางและในราชการส่วนภูมภาค ได้ยกเลิกภาค คงเหลือจังหวัดและอำเภอ
ดังนั้นจังหวัดอุดรธานีจึงมีฐานะจังหวัดเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ พ.ศ.
๒๔๙๙ เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ที่มา
: ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุดรธานี
. กรุงเทพฯ
:
อมรินทร์การพิมพ์
,
๒๕๒๘
|