ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > รวมประวัติศาสรตร์ / Surin
.

จังหวัดสุรินทร์

. สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

สภาพและความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารอันแน่นอน เพียงแต่ได้มีการจดบันทึกไว้เพียงสังเขป ซึ่งส่วนมากได้มาจากคำบอกเล่าของผู้มีอายุและเล่าต่อๆ กันมา จึงเอาความแน่นอนไม่ได้ แต่จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า พื้นที่ซึ่งเป็นภาคอีสานในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว มีแว่นแคว้นอันเป็นเขตปกครองเรียกว่า “อาณาจักรฟูนัน”

เมื่อนับย้อนถอยหลังเป็นระยะเวลาประมาณ ๒,๐๐๐ ปี สมัยที่ละว้ามีอำนาจปกครองอาณาจักรฟูนันนั้น คงจะได้สร้างเมืองสุรินทร์ขึ้นและต่อมาเมื่อประมาณ พ.. ๑๑๐๐ พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจินละ หรืออิศานปุระ ส่วนพวกละว้าก็ถอยร่นไปทางทิศเหนือ ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าลงเป็นจำนวนมาก จังหวัดสุรินทร์ก็คงจะทิ้งไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นป่าดงอยู่ เมื่อขอมแผ่อิทธิพลและมีอำนาจครอบครองดินแดนเดิมของละว้าแล้ว ขอมได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ภาค โดยตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองบังคับบัญชาขึ้น ๓ เมือง คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองสกลนคร แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชเท่าเทียมกันและปกครองบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนครวัด อันเป็นราชธานีของขอม ซึ่งอยู่ในดินแดนเขมร

สมัยที่ขอมมีอำนาจนั้น เมืองสุรินทร์อาจเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมระหว่างเขาพระวิหาร เขาพนมรุ้ง กับนครวัด นครธม ก็ได้ จึงปรากฏว่าได้มีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก คำนวณอายุประมาณ ๑,๑๐๐ ปีเศษ เรียงรายอยู่ท้องที่อำเภอต่างๆ ตามชายแดนในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีปราสาทอยู่ริมเขาพนมดองแหรก หรือดงรัก เรียกว่าช่องตาเมือน มีปราสาทตาเมือนโต๊จ (ปราสาทตาเมือนเล็ก) ปราสาทตาเมือนธม (ปราสาทตาเมือนใหญ่) มีวิหาร ระเบียงคด สระน้ำเรียงรายอยู่รอบๆ บริเวณปราสาท นอกจากปราสาทเหล่านี้ก็มีปราสาทอื่นๆ อีกประมาณ ๒๕ แห่ง อยู่ตามท้องที่อำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าขอมสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพล และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างเดินทางจากนครวัด นครธม ข้ามเทือกเขาพนมดองแหรก หรือดงรัก มาสู่เมืองศูนย์กลางการปกครองทั้ง ๓ เมืองดังกล่าวมาแล้ว และขอมคงยึดถือเอาเมืองสุรินทร์เป็นเมืองหน้าด่านใหญ่ เพราะขอมมีราชธานีอยู่ทางด้านใต้ของเทือกเขาใหญ่ คือ เขาพนมดองแหรก หรือดงรัก เมืองสุรินทร์คงเป็นที่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหน้าด่านใหญ่ เมื่อข้ามเทือกเขามาสู่ที่ราบทางทิศเหนือเพื่อไปยังเมืองศูนย์กลาง คือเมืองละโว้ เมืองพิมาย และเมืองสกลนคร เพราะเมืองสุรินทร์นั้นมีกำแพงเดินและคูเมืองล้อมรอบ ๒ ชั้น เหมาะสมที่จะสร้างค่ายคูประตูหอรบเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเมืองหน้าด่านรองๆ ลงไปอีก เช่น บ้านเมืองลิ่ง (อยู่ในเขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) บ้านประปืด อยู่ในเขตตำบลเขวาสินรินทร์ บ้านแสลงพัน เขตตำบลแกใหญ่ บ้านสลักได อำเภอเมืองสุรินทร์ ในปัจจุบันทั้ง ๔ แห่งนี้ปรากฏร่องรอยเช่นซากกำแพงเมืองเก่าให้เห็นอยู่ ส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น คือ บ้านประปืด ตำบลเขวาสินรินทร์ ซึ่งมีกำแพงดินและคูเมือง ๒ ชั้น ให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน

จากเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กๆ เหล่านี้แต่ก่อนเคยมีถนนดินพูนสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๑๒ เมตร ทอดออกจากกำแพงเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กดังกล่าวแล้วทุกแห่ง แต่ปัจจุบันสภาพถนนเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

. สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ไทยก็เริ่มมีอำนาจและเข้าครอบครองดินแดนเหล่านี้ และได้มีการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสุรินทร์ และในสมัยที่ขอมหมดอำนาจลงนั้น จังหวัดสุรินทร์คงมีสภาพเป็นป่าดงอยู่นาน เสมือนหนึ่งเป็นดินแดนหลงสำรวจ เพราะแม้แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง ก็มิได้มีการบันทึกกล่าวถึงเมืองสุรินทร์แต่อย่างใด เพิ่งจะได้มีการรู้จักเมืองสุรินทร์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในระยะเริ่มแรกของการตั้งเมือง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานพงศาวดารเมืองสุรินทร์ ดังต่อไปนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ชาวไทยพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ส่วย” “กวย” หรือ “กุย” ที่อาศัยในแถบเมืองอัตปือแสนแป (แสนแป) ในแคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ (เพิ่งเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อ พ.. ๒๔๓๖ หรือ ร.. ๑๑๒) พวกเหล่านี้มีความรู้ความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งาน ตลอดทั้งการจับสัตว์ป่านานาชนิด ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา เมื่อ พ.. ๒๒๖๐ โดยแยกกันหลายพวกด้วยกัน แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมมา และมาตั้งหลักฐาน ดังนี้

พวกที่ ๑ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงปุม”

พวกที่ ๒ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดหวาย หรือเมืองเตา (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงสี” หรือ “ตากะอาม”

พวกที่ ๓ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองลิ่ง (เขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงสง”

พวกที่ ๔ มาตั้งหลักฐานที่บ้านโคกลำดวน (เขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) หัวหน้าชื่อ “ตากะจะ” และ “เชียงขัน”

พวกที่ ๕ มาตั้งหลักฐานที่บ้านอัจจะปะนึง หรือโคกอัจจะ (เขตอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงฆะ”

พวกที่ ๖ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงไชย”

ลุ พ.. ๒๓๐๒ ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ครองกรุงศรีอยุธยาราชธานี ช้างเผือกแตกโรงออกจากเมืองหลวงเข้าป่าไปทางทิศตะวันออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามารินทร์ โปรดให้สองพี่น้องเป็นหัวหน้ากับไพร่พล ๓๐ นายออกติดตาม เมื่อสองพี่น้องกับไพร่พลติดตามมาถึงเมืองพิมายทราบจากเจ้าเมืองพิมายว่า ในดงริมเขามีพวกส่วยซึ่งชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงช้างอยู่ หากไปสืบหาจากพวกส่วยเหล่านี้คงจะทราบเรื่อง สองพี่น้องกับไพร่พลจึงได้ติดตามไปพบเชียงสี หรือตากะอามที่บ้านกุดหวาย (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน) เชียงสีจึงได้พาสองพี่น้องกับไพร่พลไปหาเชียงสงที่บ้านเมืองลิ่ง ไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที ไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท ไปหาตากะจะและเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน และไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง

เชียงฆะได้เล่าบอกกับสองพี่น้องว่า ได้เคยเห็นช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาทั้งสองข้าง ได้พาโขลงช้างป่ามาลงเล่นน้ำที่หนองโชกตอนบ่ายๆ ทุกวัน เมื่อได้ทราบเช่นนั้นสองพี่น้องจึงได้พาหัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นไปขึ้นต้นไม้ริมหนองโชกคอยดู ครั้นถึงตอนบ่ายก็เห็นโขลงช้างป่าประมาณ ๕๐ - ๖๐ เชือก เดินห้อมล้อมช้างเผือกออกจากชายป่าลงเล่นน้ำในหนอง สมจริงดังที่เชียงฆะบอกกล่าว สองพี่น้องจึงใช้พิธีกรรมทางคชศาสตร์จับช้างเผือกได้แล้ว สองพี่น้องกับไพร่พลโดยมีหัวหน้าบ้านป่าดง คือ เชียงปุม เชียงสี หรือตะกะอาม เชียงฆะ เชียงไชย ตากะจะ และเชียงขัน ได้ร่วมเดินทางไปส่งด้วย สองพี่น้องได้กราบทูลถึงการที่เชียงปุมกับพวกได้ช่วยเหลือติดตามช้างเผือกได้คืนมาและนำมาส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

๑.     เชียงปุม         หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที             เป็นหลวงสุรินทรภักดี

๒.    ตากะจะ          หัวหน้าหมู่บ้านโคกลำดวน        เป็นหลวงแก้วสุวรรณ

๓.     เชียงขัน                   อยู่รวมกันกับตากะจะ             เป็นหลวงปราบ

๔.     เชียงฆะ                   หัวหน้าหมู่บ้านอัจจะปะนึง        เป็นหลวงเพชร

๕.     เชียงสี            หัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย          เป็นหลวงศรีนครเตา

๖.     เชียงไชย        หัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท          เป็นขุนไชยสุริยงศ์

พร้อมทั้งพระราชทานตราตั้งและโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองหมู่บ้านเดิมขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย

หลวงสุรินทรภักดีกับพวก ได้พากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและได้ปกครองหมู่บ้านเดิมตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตลอดมา

.. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากหมู่บ้านเมืองทีไปตั้งอยู่ที่บ้านคูปะทาย หรือบ้านปะทายสมันต์ เพราะบ้านเมืองทีเป็นหมู่บ้านเล็กไม่เหมาะสม ส่วนบ้านคูปะทายหรือประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน) เป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง ๒ ชั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี ประกอบทั้งเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ก็ได้ทรงอนุญาตให้ย้ายได้ หลวงสุรินทรภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูปะทาย ส่วนญาติพี่น้องชื่อ เชียงปืด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะดา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม

ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ร่วมกับญาติดังกล่าวพากันสร้างเจดีย์ ๓ ยอด สูง ๑๘ ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูปะทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง ๕ จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา โดยนำสิ่งของไปทูลเกล้าฯ ถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรต) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้

๑.     หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูปะทายเป็น “เมืองปะทายสมันต์” ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเป็นเจ้าเมืองปกครอง

๒.    หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็น พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น “เมืองสังฆะ” ให้พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะเป็นเจ้าเมืองปกครอง

๓.     หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็นพระศรีนครเตา ยกบ้านกุดหวายเป็น “เมืองรัตนบุรี” ให้พระศรีนครเตาเป็นเจ้าเมืองปกครอง

๔.     หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท-สี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น “เมืองขุขันธ์” ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมืองปกครอง

การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย

หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา

. สมัยกรุงธนบุรี (.. ๒๓๑๐ - .. ๒๓๒๕)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ใน พ.. ๒๓๑๐ แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

.. ๒๓๒๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองพิมาย แม่ทัพสั่งให้เจ้าเมืองพิมายแต่งข้าหลวงออกมาเกณฑ์กำลังเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะ เมืองรัตนบุรี เพื่อให้เป็นกองทัพบกยกทัพไปล้อมตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ยอมแพ้ยอมขึ้นแก่กรุงไทย ต่อมาได้ไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ไม่ยอมต่อสู้เพราะมีกำลังทหารอ่อนแอ จึงยอมขึ้นต่อกรุงไทย กองทัพไทยจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรี

.. ๒๓๒๔ เมืองเขมรเกิดจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพไปปราบปรามการจลาจลครั้งนี้ โดยเกณฑ์กำลังของเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ สมทบกับกองทัพหลวงด้วย การไปปราบปรามครั้งนี้กองทัพไทยเคลื่อนขบวนไปตีเมืองเสียมราฐ เมืองกำพงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ (ถ้ำช้าง) เมืองเหล่านี้ยอมแพ้ขอขึ้นเป็นข้าขอบขันฑสีมา เสร็จแล้วก็ยกทัพกลับกรุงธนบุรี บ้านเมืองที่ตีได้ก็กวาดต้อนพลเมืองมาบ้าง บางพวกก็อพยพมาเอง ในโอกาสนี้ได้มีลาวบราย เขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำพงสวาย บรรทายเพชร อพยพมาทางเมืองสุรินทร์ ออกญาแอกและนารอง พาบ่าวไพร่ขึ้นมาอยู่ที่บ้านนางรอง ออกญารินทร์เสน่หาจางวาง ออกไกรแป้น ออกญาตูม นางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชร และพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐได้พากันมาอยู่เมืองปะทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) เป็นจำนวนมาก บ้างก็แยกไปอยู่เมืองสังฆะ ไปอยู่บ้านกำพงสวาย (แขวงอำเภอท่าตูม) บ้าง ในโอกาสนี้เอง พระสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เจ้าเมืองปะทายสมันต์ จึงจัดพิธีแต่งงานนางสาวดาม มาตไว บุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชรกับหลานชายชื่อ “สุ่น” (นายสุ่นเป็นบุตรของนายตี ซึ่งเป็นบุตรชายคนแรกของพระสุรินทรภักดี (เชียงปุม)) เมื่อชาวเขมรทราบว่า นางสาวดาม มาตไว ได้เป็นหลานสะใภ้ของพระสุรินทรภักดีก็พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากขึ้น ดังนี้ชาวบ้านคูปะทายหรือบ้านปะทายสมันต์ ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมร และเพราะเหตุที่เขมรรุ่งเรืองมาก่อนความเป็นอยู่จึงผันแปรไปทางเขมร

เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทน์และเมืองเขมรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ปูนบำเหน็จให้แก่เจ้าเมืองประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ โดยเลื่อนบรรศักดิ์ให้เป็น “พระยา” ทั้ง ๓ เมือง

. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (.. ๒๓๒๕ - .. ๒๓๕๒)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.. ๒๓๒๕ และตั้งกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี

.. ๒๓๒๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในการเปลี่ยนชื่อเมืองปะทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพิมายแบ่งปันอาณาเขตให้เมืองสุรินทร์ ดังนี้

ทิศเหนือ                                 จดลำห้วยพลับพลา

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ               ติดต่อกับแขวงเมืองรัตนบุรี ตั้งแต่แม่น้ำมูลถึงหลักหินตะวันออกบ้านโพนงอยถึงบ้านโคกหัวลาว และต่อไปยังบ้านโนนเปือย และตามคลองห้วยถึงบ้านนาดี บ้านสัจจังบรรจง ไปทางตะวันออกถึงห้วยทับทัน

ทิศตะวันออก                            จดห้วยทับทัน

ทิศตะวันตก                             ถึงลำห้วยตะโคงหรือชะโกง มีบ้านกก บ้านโคกสูง แนงทม สองชั้น และห้วยราช (ส่วนทางทิศใต้ไม่ได้บอกไว้ เพราะขณะนั้นเมืองเขมรบางส่วนได้อยู่ในความปกครองของไทย เช่น บ้านจงกัลในเขตเขมรปัจจุบัน เคยเป็นอำเภอจงกัลของไทย ขึ้นกับอำเภอสังขะ)

เมื่อ พ.. ๒๓๓๗ พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม

พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) มีบุตร ๔ คน เป็นชาย ๒ คน ชื่อ นายตี (แต็ย) และนายมี (แม็ย) เป็นหญิง ๒ คน ชื่อ นางน้อย นางเงิน เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายตี (แต็ย) บุตรชายคนโตเป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

ในปี พ.. ๒๓๔๒ มีตราโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ เข้ากองทัพยกไปตีกองทัพพม่า ซึ่งยกมาตั้งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันไปถึงพอได้ข่าวว่ากองทัพถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพกลับและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ตี) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

.. ๒๓๕๐ ทรงพระราชดำริว่าเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้ง มีความชอบมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๓ เมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เลยทีเดียว มีอำนาจชำระคดีได้เอง ไม่ต้องขึ้นต่อเมืองพิมายเหมือนแต่ก่อน

.. ๒๓๕๑ พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ หลวงวิเศษราชา (มี หรือแม็ย) ผู้เป็นน้องชายเป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อไป

. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (.. ๒๓๕๒ - .. ๒๓๙๔)

.. ๒๓๕๔ พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายสุ่น บุตรพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อ

. สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (.. ๒๓๖๗ - .. ๒๓๙๔)

ลำดับนั้น ตั้งแต่เขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์อยู่ในอำนาจอนุเวียงจันทน์กับเจ้าโย่ บุตรที่ครองเมืองจำปาศักดิ์ พ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตแขวงและกำลังผู้คนมากขึ้น ก็มีใจกำเริบคิดขบถต่อกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.. ๒๓๖๙ เจ้าอนุแต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์คุมกองทัพยกเข้าตีหัวเมืองรายทางเข้ามาจนถึงเมืองนครราชสีมา

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ก็เกณฑ์กำลังยกเป็นกองทัพมาตรีเมืองขุขันธ์แตก จับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์กับพระภักดีภูธรสงครามปลัด (มานะ) พระแก้วมนตรียกกระบัตร (เทศ) กับกรมการได้ฆ่าเสีย ส่วนเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ ได้มีการป้องกันรักษาเมืองอย่างเข้มแข็งทั้งกลางวันและกลางคืน และได้เกณฑ์กำลังไพร่พลไปสมทบกับกองทัพหลวงจนเสร็จสงคราม

.. ๒๓๗๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

.. ๒๓๗๒ ครั้งนั้นหัวเมืองทางฝ่ายตะวันออกยังไม่เรียบร้อยดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ครั้งที่เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ออกไปจัดตั้งราชการทำสำมะโนครัว และตั้งกองสักอยู่ ณ กุดไผท (ซึ่งเป็นท้องที่อำเภอศีขรภูมิปัจจุบันนี้)

ในปี พ.. ๒๓๙๔ พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม

. สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (.. ๒๓๙๕ - .. ๒๔๑๑)

.. ๒๓๙๕ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระพิไชยราชวงษา (ม่วง) ผู้ช่วยเป็นพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์สืบต่อมา (พระพิไชยราชวงษา (ม่วง) เป็นบุตรของพระยาสุรินทรภักดีฯ (สุ่น))

.. ๒๔๑๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ให้หลวงนรินทรราชวงศา (นาก) บุตรพระยาสุรินทรฯ (สุ่น) เป็นพระไชยณรงค์ภักดี (ปลัด) ให้พระมหาดไทย (จันทร์) บุตรนายสอน หลานพระยาสุรินทรฯ (สุ่น) เป็นพระพิชัยนครบวรวุฒิ (ยกกระบัตร) รักษาราชการเมืองสุรินทร์

. สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (.. ๒๔๑๑ - .. ๒๔๕๓)

.. ๒๔๑๒ พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดไผทหรือจารพัตเป็นเมือง ขอหลวงไชยสุริยง (คำมี) บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์ (หมื่น) กองนอกเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งปลัดและยกกระบัตรเมืองสังฆะว่าง ขอพระสุนทรพิทักษ์ บุตรพระปลัดคนเก่าเป็นปลัด ขอหลวงศรีสุราช ผู้หลานเป็น ยกกระบัตรเมืองสังฆะ

ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีมะเส็งนั้น (.. ๒๔๑๒) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัต เป็นเมืองศีขรภูมิพิไสย ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเป็นพระศีขรภูมานุรักษ์เจ้าเมืองขึ้นเมืองสังฆะ

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ เห็นว่าพระยาสังฆะฯ ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศีขรภูมิแล้ว ก็เกรงว่าพระยาสังฆะฯ จะเอาบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำดวนเป็นเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก) ปลัดเมืองสุรินทร์ เป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมืองนามว่า เมืองสุรพินทนิคม ให้พระปลัด (นาก) เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคมขึ้นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น

.. ๒๔๑๕ ฝ่ายพระยาสังฆะฯ ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำพุกเป็นเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำพุกขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์ ตั้งให้พระมหาดไทยเ็นพระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ ขึ้นกับเมืองสังฆะ

.. ๒๔๑๖ ทางเมืองสุรพินทนิคม พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาสุรินทรฯ (ม่วง) เห็นว่า หลวงพิทักษ์สุนทร บุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัครมาอยู่เมืองสุรพินทนิคมเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงดี จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคม หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคมได้สามปีก็ถึงแก่กรรม แต่นั้นมาเจ้าเมืองสุรพินทนิคมว่างตลอดมา

.. ๒๔๒๔ ฝ่ายทางเมืองจงกัล ตั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสัสดี (สิน) เป็นพระวิไชยเจ้าเมืองจงกัลแล้ว พระวิไชยรับราชการได้ ๗ ปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นมาปีนี้ เจ้าเมืองสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกไปกรุงเทพฯ ขอให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นพระทิพชลสินธุ์อินทรนฤมิตร

ทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง ขอพระมหาดไทยเป็นพระพิไชยนครบวรวุฒิ ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์

.. ๒๔๒๕ ระหว่างปีนี้ คนทางเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมากข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่าย เป็นต้น พระยาสุรินทรฯ จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เป็นเจ้าเมือง วันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (นัยหนึ่งว่า หลวงราชวรินทร์) (ทองอิน) เป็นพระฤทธิรณยุทธ เจ้าเมือง และโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวเพชรเป็นที่ปลัดให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) และท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี พร้อมกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทรฯ (ม่วง) คนหนึ่งเป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เป็นเจ้าเมืองสุรพินทนิคมแทนคนเก่าที่ถึงแก่กรรมและตำแหน่งเจ้าเมืองยังว่าง

.. ๒๔๒๙ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เชิญประชุมเจ้าเมืองภาคอีสานขึ้น ณ เมืองอุบล เพื่อสำรวจชายฉกรรจ์และแก้ไขระเบียบการจัดเก็บภาษีอากรในระหว่างการประชุมข้าราชการอยู่นั้น ได้รับรายงานว่าทัพฮ่อเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์แตก การประชุมต้องยุติลง พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ต้องรีบระดมกำลังขึ้นไปยังเมืองหนองคายโดยด่วนเพื่อสมทบกับกองทัพเมืองนครราชสีมา ส่วนกองทัพจากกรุงเทพฯ นั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปสมทบที่เมืองหนองคายซึ่งเป็นจุดชุมพล สำหรับพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ ได้มีคำสั่งให้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบล เพราะเจ้าเมืองและกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพในครั้งนั้นด้วย พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบลอยู่ ๒ ปี จึงได้กลับเมืองสุรินทร์

เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ย่างเข้าวัยชราภาพแล้ว ไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เต็มที่ จึงได้มอบให้นายเยียบ (บุตรชาย) ช่วยราชการเป็นการภายใน

.. ๒๔๓๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งมีอำนาจเต็มในภาคอีสานทั้งหมด ได้แต่งตั้งใบประทวนให้ นายเยียบ เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป แต่อยู่ได้เพียง ๒ ปี ถึง พ.. ๒๔๓๓ ก็ถึงแก่กรรม พระยา   สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) จึงต้องกลับมาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้นเอง

.. ๒๔๓๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว

ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาลวัน เมืองอัตปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสะเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

.. ๒๔๓๕ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ ซึ่งย้ายมาแทนพระมหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้ทรงแต่งตั้งให้พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) น้องชายพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ (เปลี่ยนจากเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง)

ในสมัยที่พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์นี้เป็นยุคที่บ้านเมืองกำลังปรับปรุงระบบบริหารใหม่ ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลอีสานได้ทรงวางระเบียบให้มีข้าราชการจากส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการทุกหัวเมือง สำหรับเมืองสุรินทร์ หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงกำกับราชการ มีอำนาจเด็ดขาดทัดเทียมผู้ว่าราชการเมือง

.. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร และเมืองสมโบก ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของไทย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ในฐานะผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการป้องกันราชอาณาจักร ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์ ศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ ฝึกการรบแล้วส่งกำลังรบเหล่านี้เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด สถานการณ์สงครามสงบลงในเดือนตุลาคม ๒๔๓๖ ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังรบ กำลังรบของเมืองสุรินทร์จึงได้กลับคืนบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่านับแต่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดศึกสงครามจากข้าศึกนอกราชอาณาจักร ชาวสุรินทร์จะมีบทบาทในการป้องกันบ้านเมืองด้วยเสมอ

กรณีพิพาทกับฝรั่งเศสสงบลงไม่นานนัก ในปีเดียวกันนี้ พระไชยณรงค์ (บุนนาค) ผ฿ว่าราชการเมืองสุรินทร์ได้ถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ยังมิได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ตามตำแหน่งในช่วงระยะนี้ เสด็จในกรมฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้สั่งย้ายหลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) และแต่งตั้งหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองสุรินทร์แทน และในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สับเปลี่ยนข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสาน โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาดำรงตำแหน่งแทนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ในวาระที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เดินทางกลับกรุงเทพฯ ผ่านเมืองสุรินทร์ ได้ทรงแต่งตั้งพระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) บุตรนายสอน ซึ่งเป็นบุตรพระยาสุรินทรฯ (ตี) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ และเมื่อเสด็จถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) เป็นพระยา   สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา

ระหว่างนี้ ได้มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตัวข้าหลวงกำกับราชการโดยลำดับ กล่าวคือ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาประจำอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปอยู่จังหวัดศรีสะเกษ สับเปลี่ยนกับจมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี ดำรงตำแหน่งประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปโดยมีหลวงวิชิตชลหาญมาดำรงตำแหน่งแทน ชั่วระยะเวลาอันสั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ก็ได้ย้ายหลวงสาทรสรรพกิจมาดำรงตำแหน่งแทนในประมาณปี พ.. ๒๔๓๘

พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) ถึงแก่กรรมในปีจุลศักราช ๑๒๕๗ หรือ ร.. ๑๑๔ ตรงกับปี พ.. ๒๔๓๘ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) สันนิษฐานว่าเป็นบุตรของนายพรหม (นายพรหมเป็นบุตรของพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๓) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) ถึงแก่กรรมเมื่อ ร.. ๑๒๖ หรือ พ.. ๒๔๕๐ และเมื่อถึงแก่กรรมแล้วจึงไดรับสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นที่พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน จึงโปรดให้หลวงประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) ซึ่งเป็นบุตรของพระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์คนที่ ๘ เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์แทน แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๑ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.. ๒๔๕๑ และในต้นปี พ.. ๒๔๕๑ นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นช่วงเวลาที่ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินในราชการบริหารส่วนภูมิภาค (เข้าสู่แบบเทศาภิบาล) ส่วนกลางได้เริ่มแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายปกครองมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดบ้าง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง บุคคลแรกที่ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ในปี พ.. ๒๔๕๑ คือ พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์)

นับแต่ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองสุรินทร์ มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง     ปกครองสืบเชื้อสายต่อมา ได้มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมืองปกครองโดยลำดับ ดังนี้

๑.     พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม)                    .. ๒๓๐๓ - ๒๓๓๗

๒.    พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี)                         .. ๒๓๓๗– ๒๓๕๑

๓.     พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี)                             .. ๒๓๕๑ - ๒๓๕๔

๔.     พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น)                        .. ๒๓๕๔ - ๒๓๙๔

๕.     พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง)                      .. ๒๓๙๕ - ๒๔๓๒

๖.     พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (เยียบ)                     .. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๓

๗.    พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง)                      .. ๒๔๓๓ - ๒๔๓๔

๘.     พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค)                                .. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖

๙.     พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ)                      .. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๘

๑๐. พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (บุญจันทร์)                   .. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐

๑๑. พระประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง)                           .. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๑

รายนามข้าหลวงกำกับราชการ

๑.     หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง)                                .. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖

๒.    หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม)                               .. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๗

๓.     จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม)                                  .. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๘

๔.     หลวงวิชิตชลหาญ                                              .. ๒๔๓๘ - ๒๔๓๘

๕.     หลวงสาทรสรรพกิจ (อู๊ต)                                      .. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐

รายนามข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัด

๑.        พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์)                           .. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๓

๒.       หลวงวิชิตสรไกร (ขำ ณ ป้อมเพชร)                         .. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๔

๓.        พระอนันตรานุกูล (สว่าง พุกณานนท์)                       .. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๗

๔.        หลวงประสงค์สุขการี (เทียบ สุวรรณิน)                     .. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑

๕.        พระยาสำเริงนฤปการ (อนงค์ พยัคฆันตร์)                  .. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๕

๖.        พระนิกรจำนงค์ (จิตร ไกรฤกษ์)                             .. ๒๔๖๕ - ๒๔๖๙

๗.       พระยาเสนานุชิต (จร ศกุนตะลักษณ์)                       .. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๐

๘.        พระยาปทุมเทพภักดี (ธน ณ สงขลา)                       .. ๒๔๗๐ - ๒๔๗๑

๙.        พระยาสุริยาราชวราภัย (ศิริ วิเศษโกสิน)                   .. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๖

๑๐.    ...พระยาขจรธรณี (ปลั่ง โสภารักษ์)                    .. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗

๑๑.    พระศรีพิชัยบริบาล (สวัสดิ์ ปัทมดิลก)                      .. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๑

๑๒.   หลวงนครคุนูปถัมภ์ (หยวก ไพโรจน์)                       .. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๔

๑๓.   นายโฉม จงศิริ                                                 .. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙

๑๔.   ขุนไมตรีประชารักษ์ (ไมตรี ไมตรีประชารักษ์)             .. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๐

๑๕.   ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ พำนักนิคมคาม)                   .. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๒

๑๖.    นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต                                .. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๖

๑๗.   นายเลื่อน ไขแสง                                              .. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๘

๑๘.   ...นิรันดร ชัยนาม                                        .. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐

๑๙.    นายมานิต ปุรณพรรค์                                         .. ๒๕๐๐- ๒๕๐๑

๒๐.   หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย ปริวรรตวร)      .. ๒๕๐๑ - ๒๕๐๕

๒๑.   นายคำรน สังขกร                                              .. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๐

๒๒.  พล...วิเชียร สีมันตร                                       .. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๓

๒๓.  นายสงัด รักษ์เจริญ                                            .. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔

๒๔.  นายฉลอง วัชรากร                                            .. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕

๒๕.  นายสงวน สาริตานนท์                                        .. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๗

๒๖.   นายสุธี โอบอ้อม                                               .. ๒๕๑๗- ๒๕๑๙

๒๗.  นายฉลอง กัลยาณมิตร                                        .. ๒๕๑๙- ๒๕๒๓

๒๘.  นายเสนอ มูลศาสตร์                                           .. ๒๔๒๓– ปัจจุบัน

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครอง จากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมืองให้หมดไป

การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่นหัวเมืองหรือประเทศราช ยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ได้จัดให้มีอำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.. ๒๔๓๗ จนถึง พ.. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า

“การเทศาภิบาล” คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมืองคือจังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้

การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่าเป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมเจ้าท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้

.. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

.. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

.. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร

.. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

.. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

.. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

.. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด

.. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

.. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้

.. ๒๔๕๔ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด

.. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก

๑.     การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง

๒.    เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง

๓.     เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น

๔.     รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑล เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง

ต่อมาในปี พ.. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

๑.     จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่

๒.    อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓.     ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต่อมา ได้มีการแก้ไปขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น

๑.     จังหวัด

๒.    อำเภอ

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

 

อาณาจักรฟูนัน จดหมายเหตุจีนเรียกประเทศเขมรโบราณว่า ฟูนัน ภาคกลางและภาคอีสานของไทย ก็เป็นอาณาจักรฟูนัน ชนชาติในประเทศเขมรก็เรียกว่าชาวฟูนัน ซึ่งเป็นพวกตระกูลมอญ-เขมร ได้แก่ ละว้า ที่สืบเชื้อสายมาเป็นเขมรโบราณ พ.. ๑๐๙๓ แคว้นเจนละบกเมืองขึ้นก่อกบฏ เจ้าจิตรเสน ชิงเอากรุงโตมู (ศมภู) ได้เป็นกษัตริย์มีพระนามว่า พระเจ้ามเหนทวรมัน เรียกชื่อประเทศใหม่ว่า เจนละ พ.. ๑๒๐๙ - ๑๓๔๕ อาณาจักรเจนละเกิดแตกกันเป็นสองประเทศ ทางแผ่นดินสูงตอนเหนือ ได้แก่ ภาคอีสาน และประเทศลาว เรียกว่า เจนละบก ทางแผ่นดินต่ำตอนใต้ ได้แก่ ประเทศเขมร จรดชายทะเล เรียกว่า เจนละน้ำ คล้ายกับคำที่ชาวสุรินทร์พูดว่า แขมร์กรอม แขมร์เลอร์ (เขมรต่ำ-เขมรสูง) คำว่า กรอม แปลว่า ต่ำ ใต้ ล่าง และเรียกชาวเขมรที่อยู่ในประเทศเขมรว่า แขมร์กรอม มาจนถึงปัจจุบันนี้ หลักการกลายของเสียงกรอมก็คงเป็นคำเดียวกับขอม ก็คือ เขมร สรุปว่า ภาคอีสานเคยเรียกว่าอาณาจักรเจนละบก เป็นอาณาจักรเขมรโบราณบางหัวเมืองคงรวมกับอาณาจักรเขมรตลอดสมัยกรุงสุโขทัย เช่น ในวงมณฑลอุดร นครราชสีมา จันทบุรี จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไทยได้รบเขมรตีได้นครหลวง (นครธม) เขมรเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่ พ.. ๑๘๙๕ ได้ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกได้ดินแดนนครราชสีมา และจันทบุรีไว้เป็นราชอาณาจักรเข้าใจว่าเมืองสุรินทร์และหัวเมืองแถบนี้รวมอยู่ในเขตราชอาณาเขตมาตั้งแต่ครั้งนั้น (จากหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีน สมัยโบราณของเสฐียรโกเศศ ไทยในแหลมทองของ พ..หลวงรณสิทธิพิชัย ประวัติศาสตร์ไทยกับเขมร ของสิริ เปรมจิตต์ หลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา สยามกับสุวรรณภูมิ ของหลวงวิจิตรวาทการ แบบเรียนประวัติศาสตร์สยาม ของหลวงชุณห์กสิกรและคณะ

   

dooasia

รวมประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด (อย่างละเอียด) /Information

 
รวมประวิติศาสตร์ไทย 76 จังหวัด โดยละเอียด
     
 
   
 
 
 
 
รวมแสดงความคิดเห็นค่ะ

เชิญแนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความประทับใจมหาสารคาม

ชื่อ / Email
ข้อความ
  


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์