ประวัติศาสตร์จังหวัดระนอง
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดระนองสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาไม่มีหลักฐานปรากฏเข้าใจว่าสมัยนั้นจังหวัดระนองยังคงมีสภาพเป็นป่าดง
รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอยู่อาศัย
เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย
ซึ่งเจริญรุ่งเรืองทางส่วนใต้ของประเทศไทยในสมัยนั้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
แห่งกรุงศรีอยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑
- ๒๐๗๒)
ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง
โดยยกเลิกการปกครองแบบที่มีเมืองลูกหลวง ๔ ด้าน
ราชธานีที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
และได้มีการขยายขอบเขตการปกครองของเมืองหลวงให้กว้างออกไปโดยรอบ
คือจัดเป็นแบบในวงราชธานีกับนอกวงราชธานี
ในวงราชธานีนั้นถือเอาเมืองหลวงเป็นหลักและมีเมืองจัตวาขึ้นอยู่รายรอบหัวเมือง
เมืองจัตวาเหล่านี้มีผู้รั้ง (เจ้าเมือง)
กับกรมการเป็นพนักงานปกครองโดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีทั้งหลายในเมืองหลวงส่วนหัวเมืองที่อยู่นอกวงราชธานี
หรือเมืองชายแดนหน้าด่านชายแดนนั้น จัดให้เป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี
ตามขนาดความสำคัญของเมืองนั้น ๆ ซึ่งต่อมาเรียกว่าหัวเมืองชั้นนอก
หัวเมืองชั้นนอกเหล่านี้ต่างก็มีหัวเมืองเล็กๆ
คั่นอยู่เช่นเดียวกับในวงราชธานี
มากบ้างน้อยบ้างตามขนาดของอาณาเขตโดยกำหนดตามท้องที่สุดแต่จะให้พนักงานปกครองต่างเมืองเดินทางไปมาถึงกันได้ภายในวันหรือสองวัน
เพื่อจะได้บอกข่าวช่วยเหลือกันเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม
บรรดาหัวเมืองชั้นนอก เหล่านี้
พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้านายในราชวงศ์
หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเรียกว่าเจ้าเมือง
หรือพระยามหานครตามแต่ฐานะของเมืองมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดต่างพระเนตรพระกรรณทุกประการ
ในสมัยอยุธยานี้ เมืองระนองมีลักษณะเป็นหัวเมืองเล็กๆ
ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี
มีอาณาเขตติดทะเลฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
นอกจากเมืองระนองซึ่งเป็นเมืองชั้นเอก เมืองชุมพรแล้วยังมีเมืองตระ
(อำเภอกระบุรี)
เมืองปะทิว เมืองตะโก เมืองหลังสวนและเมืองมลิวัน (เดี๋ยวนี้อยู่ในสหภาพพม่า)
สมัยกรุงธนบุรี
เมืองระนองสมัยกรุงธนบุรี
ไม่ปรากฏมีเหตุการณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่
อย่างใด สันนิษฐานว่ายังเป็นหัวเมืองเล็กๆ
ขึ้นตรงต่อเมืองชุมพรตลอดสมัยกรุงธนบุรี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมืองระนองมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑
และรัชกาลที่ ๒
ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามาเพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น
นอกจากนี้ในอดีตนอกจากจะเป็นเมืองเล็กๆ
ที่อยู่ในป่าดงรกร้างหาเป็นภูมิฐานบ้านเมืองไม่
ภูมิประเทศยังเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนแทบจะหาที่ราบสำหรับการเกษตรไม่ได้
มิหนำซ้ำการเดินทางไปมาติดต่อต่างเมืองก็ลำบากยากเข็น
ถ้าไม่ใช่การเดินทางทางเรือ
อันต้องผ่านปากอ่าวเข้ามาทางด้านมหาสมุทรอินเดียแล้ว ก็ต้องขึ้นเขาลงห้วย
บุกป่าฝ่าดงกันเท่านั้นเองแต่ไม่ว่าทางใดก็ต้องเสียเวลาเดินทางกันเป็นวันๆ
ทั้งนั้นจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง สุดหล้าฟ้าเขียว
เอาทีเดียว
ผู้คนต่างกันจึงไม่ค่อยจะได้ถ่ายเทเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองระนองพลเมืองระนองจึงมีอยู่น้อยนิดเรื่อยมาแต่ในท่ามกลางป่าเขาทุรกันดารนั้น
ระนองได้
สะสมทรัพยากรธรรมชาติไว้ใต้แผ่นดินเป็นเอนกอนันต์
นั่นคือวัตถุที่มีชื่อเรียกกันในสมัยโบราณว่า
ตะกั่วดำ และในปัจจุบันเรียกว่า แร่ดีบุกนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีราษฎรในเมืองชุมพรและเมืองหลังสวนได้อพยพเข้ามาหาเลี้ยงชีพด้วยการขุดแร่ดีบุกขายมาแต่โบราณฝ่ายรัฐบาลผ่อนผันให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างผาสุกโดยให้ส่งส่วยดีบุกแทนการรับราชการ
โดยการผ่อนผันกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ให้มีเจ้าอากรภาษีรับผูกขาดอากรดีบุก
คือจักบำรุงการขุดแร่
และมีอำนาจที่จะซื้อและเก็บส่วนดีบุกในแขวงเมืองตระตลอดมาจนถึงเมืองระนอง
โดยยอมสัญญาส่งดีบุกแก่รัฐบาลปีละ ๔๐ ภารา (คิดอัตราในเวลานี้ภาราหนึ่งหนัก
๓๕๐ ชั่ง เป็นดีบุก ๑๔,๐๐๐ ชั่ง)
ในการเก็บรวบรวมและจัดส่งส่วยอากรแร่ดีบุกให้แก่รัฐบาลนั้น
ราษฎรได้ยกย่องให้นายนอง
ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้นำที่ดีและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้รวบรวมและส่งไป
ด้วยคุณงามความดีของนายนองที่มีต่อลูกบ้านปกครองลูกบ้านด้วยดีเสมอมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการหารายได้ให้กับรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นโดยการส่งภาษีอากรแร่ดีบุกที่ขุดได้เพิ่มมากขึ้น
จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงระนองเจ้าเมืองคนแรกสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่
๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีผู้ประมูลผูกขาดส่งภาษีอากรดีบุกขึ้นเรียกว่า นายอากร
ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.
๒๓๘๗ มีคนจีนชื่อคอซู้เจียง (ภายหลังได้เป็นที่
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีผู้เป็นต้นสกุล ณ ระนอง)
เป็นจีนฮกเกี้ยน เกิดที่เมืองจิวหูประเทศจีน
ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยและตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า
ได้ยื่นเรื่องราวประมูลอากรดีบุก แขวงเมืองตระและระนอง และทำการประมูลได้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งนายคอซู้เจียงเป็น หลวงรัตนเศรษฐี
ตำแหน่งขุนนางนายอากร
ในปี พ.ศ.
๒๓๙๗
หลวงระนองเจ้าเมืองระนองถึงแก่กรรมทำให้เจ้าเมืองระนองว่างลง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงดำริถึงความดีความชอบของหลวงรัตนเศรษฐีจึงทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงรัตนเศรษฐี
(คอซู้เจียง) เป็นพระรัตนเศรษฐีผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง
ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ แต่เมืองระนองยังคงเป็นเมืองไม่มีชั้น อันดับ
ยังคงขึ้นตรงต่อเมืองชุมพรต่อมา
การปกครองตามหัวเมืองในสมัยนั้นยังใช้วิธีซึ่งเรียกในกฎหมายเก่าว่า
กินเมือง
อันเป็นแบบเดิมซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้กันทุกประเทศในแถบทางตะวันออกนี้
ในเมืองจีนก็ยังเรียกว่ากันตามภาษาจีน
แต่ในเมืองไทยมาถึงชั้นหลังได้เรียกเปลี่ยนเป็น ว่าราชการเมือง
ถึงกระนั้นคำว่ากินเมืองก็ยังใช้กันในคำพูดและยังมีอยู่ในหนังสือเก่าเช่น
กฎมณเฑียรบาล เป็นต้น วิธีปกครองที่ดีเรียกว่ากินเมืองนั้น
หลักเดิมคงถือกันว่า
ผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งธุรกิจของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข
ปราศจากอันตราย
ราษฎรก็ต้องคอยแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง
หรือแบ่งสิ่งของซึ่งหามาได้ เช่น ข้าว ปลา อาหารที่เหลือให้เป็นของกำนัล
ช่วยอุปการะมิให้
เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ จึงมีความสุขสบาย
ในสมัยนั้นอำนาจเหนือราษฎรตามหัวเมืองมีอยู่ ๒ อย่างคือ
อำนาจเจ้าเมืองกรมการและอำนาจเจ้าภาษีนายอากรในการเรียกเก็บภาษี
หัวเมืองใหญ่ที่เจ้าเมืองเป็นบุคคลสำคัญ เจ้าภาษีนายอากรก็อ่อนน้อม
เพราะต้องอาศัยตามอำนาจเจ้าเมือง จึงจะเร่งเรียกเก็บภาษีได้สะดวก
สำหรับระนองขณะนั้น เดิมเจ้าเมืองระนองพระรัตนเศรษฐี เป็นพ่อค้า
เป็นเจ้าภาษีนายอากรอยู่ก่อนเป็นเจ้าเมืองระนอง
รู้ชำนาญการในท้องที่อยู่แล้ว ครั้งได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง
ก็เห็นว่าการที่จะปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองให้สะดวกเป็นประโยชน์แก่ราชการและส่วนตัวด้วยนั้น
จำเป็นจะต้องรวมอำนาจ ๒ อย่างเข้าด้วยกัน
จึงได้ขอรับผูกขาดเก็บภาษีอากรเมืองระนองต่อไป
ภาษีอากรที่เก็บ ณ
เมืองระนองในสมัยนั้นมี ๕ อย่าง คือ ภาษีดีบุกที่ออกจากเมืองภาษี
สินค้าขาเข้าเมือง ๑๐๐ ชัก ๓ ตามราคาอากรฝิ่น อากรสุรา และอากรบ่อนเบี้ย
ทั้ง ๕ อย่างนี้เรียกภาษีผลประโยชน์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า
ลักษณะการที่ให้ผู้ว่าราชการเมืองรับ
ผูกขาดเก็บภาษีผลประโยชน์ดังว่านี้
ดูเหมือนจะจัดขึ้นที่เมืองระนองก่อนครั้งเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีจึงขยายออกไปถึงเมืองใกล้เคียง
คือ ตะกั่วป่า พังงา และภูเก็ต ลักษณะนี้ดูเผินๆ
เหมือนจะเป็นการให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน
เพราะเจ้าเมืองจะต้องเก็บให้มากๆ
เหลือส่งพระคลังเท่าใดก็เป็นกำไรแต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
หัวเมืองที่มีพลเมืองน้อย แต่ก็มีแร่ดีบุกมาก
จำเป็นต้องหาคนมาเป็นแรงงานขุดดีบุก เจ้าเมืองจำเป็นต้องปกครอง
เอาใจราษฎรมิให้ทิ้งกันไปอยู่ที่อื่น
และยังต้องขวนขวายหาคนที่อื่นมาเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มเติมด้วย
ดังปรากฏในเอกสารนำเมืองตั้งพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง)
เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง ตอนหนึ่งว่า...เมืองระนองแต่ก่อนเป็นเมืองขึ้นเมืองชุมพร
บ้านเมืองก็อยู่ในดงรกร้างหาเป็นภูมิฐานบ้านเมืองไม่
พระรัตนเศรษฐีชักชวนเกลี้ยกล่อมไทยจีนให้มาตั้งบ้านเรือน
ทำมาหากินอยู่เย็นเป็นสุขบ้านเมืองบริบูรณ์มั่งคั่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
ครั้งต่อมาปรากฏว่า
อังกฤษได้จัดการปกครองหัวเมืองซึ่งได้ไปจากพม่า
เข้มงวดกวดขันมาชิดชายพระราชอาณาเขตทางทะเลตะวันตก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระดำริว่าถ้าให้เมืองระนองและเมืองตระขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร
จะรักษาราชการทางชายแดนไม่สะดวก
จึงโปรดให้ยกเมืองระนองและเมืองตระขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
ส่วนเมืองระนองนั้นทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ พระรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง)
ขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐีผู้ว่า-ราชการเมืองระนอง
เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕
และในคราวที่พระราชทานสัญญาบัตร พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง)
นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญา
บัตร
นายคอซิมก๊อง (ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยารัตนเศรษฐีและพระยาดำรงสุจริตในรัชกาลที่
๕ ) ผู้เป็นบุตรให้เป็นหลวงศรีโลหภูมิตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนองด้วย
ต่อมาพระยารัตนเศรษฐี
(คอซู้เจียง)
มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลฯ ว่า มีความแก่ชราลงมากแล้ว
ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาไปเมืองจีน
เพื่อไปบำเพ็ญการกุศลที่บ้านเดิมสักครั้งหนึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้ไปได้ตามประสงค์ พอพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง)
กลับมา จากเมืองจีน ไม่ช้านักก็เกิดเหตุพวกจีนกุลีกำเริบ
ครั้นเมื่อปราบปรามเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระยารัตนเศรษฐี
(คอซู้เจียง)
แก่ชราจึงพระราชทาน สัญญาบัตรเลื่อนยศ พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง)
ขึ้นเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง
และทรงตั้งพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง)
ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นตำแหน่ง
ผู้ช่วยราชการเมืองระนองในเวลานั้น เป็นพระยารัตนเศรษฐี
ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองระนอง เมื่อ ปีฉลู พ.ศ.
๒๔๒๐ และการต้อนรับนั้น โดยความเต็มใจแข็งแรงจริงๆ
จึงได้ผ่อนวันออกไปอีกวันหนึ่งเวลาเย็นได้ลงดูตามเนินนั้นโดยรอบ
แล้วขึ้นเขาเล็กอีกเขาหนึ่งซึ่งอยู่หน้าท้องพระโรง
พระยาดำรงสุจริต (คอซู้เจียง)
อยู่มาจนถึงปี มะเมีย พ.ศ.
๒๔๒๕ จึงถึงอนิจกรรมเมื่ออายุได้ ๘๖ ปี
หลังจากพระยาดำรงสุจริต (คอซู้เจียง)
ถึงอนิจกรรมแล้ว นายคอซิมบี้ (บุตรคนที่
๖ ) ซึ่งบิดาส่งให้ไปเล่าเรียนที่เมืองจีนนั้น
สำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง)
ผู้พี่นำถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริรักษ์โลหวิสัย
ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
ครั้งต่อมาเมื่อโปรดให้ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา
(ตันกิมเจ๋ง)
เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่
พระยาอนุกูลสยามกิจ ตำแหน่งกงสุลเยเนราลสยาม ที่เมืองสิงคโปร์
จึงพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนหลวงบริรักษ์โลหวิสัย (ตอซิมบี้)
ขึ้นเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา
ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตระบุรี
ใน พ.ศ.
๒๔๓๓ (ร.ศ.๑๐๙)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จเลียบแหลมมลายูระยะทางที่เสด็จไปครั้งนั้น ทรงเรือสุริยมณฑล (ลำแรก)
เป็นเรือพระที่นั่งไปจากกรุงเทพฯ
แล้วทรงช้างพระที่นั่งเสด็จทางสถลมารคจากเมืองชุมพร
ข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่เมืองกระบุรี เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศออกไปรอรับเสด็จอยู่ที่เมืองระนอง
เสด็จตรวจหัวเมืองชายทะเลในพระราชอาณาเขตแล้วผ่านไปในเมืองมลายูของอังฤกษ
ประทับที่เมืองเกาะหมาก เมืองสิงคโปร์
ขาเสด็จกลับเสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองมลายูและหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ตลอดมา
ในคราวเสด็จเลียบมณฑลครั้งนั้นพระบาท-
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องระยะทางเป็นพระราชหัตถเลขาพระราชทานมาถึงเสนาบดีสภาซึ่งรักษาพระนคร
ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานมาถึงเสนาบดีสภาซึ่งรักษาพระ-นคร
ทรงพรรณนาและพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่าด้วยเมืองระนองในสมัยเมื่อเสด็จไปครั้งนั้น
จึงได้คัดพระราชนิพนธ์เฉพาะตอนว่าด้วยเรื่องเมืองระนองมาให้ทราบดังนี้
พระราชนิพนธ์ว่าด้วยเมืองระนอง
วันที่ ๒๒ เมษายน (ร.ศ.๑๐๙
พ.ศ.๒๔๓๓)
เวลา ๔ โมงเช้า
นำขึ้นลงเรือกระเชียงเรือไฟลากล่องมาตามลำน้ำปากจั่น
น้ำขึ้นไหลเชี่ยวอย่างน้ำทะเล ฝั่งสองข้างตอนบนเป็นเลน ตามฝั่งข้าง
อังกฤษ แลเห็นเทือกเขาสันแหลมมะลายูตลอดไม่ขาดสาย
แต่ข้างฝ่ายเราเป็นเขาไม่สู้ใหญ่นัก
ที่ริมฝั่งหน้าเทือกเขานั้นเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ ไป โดยมากที่หว่างเนินก็ตกเป็นท้องทุ่งกว้างๆ
มีหมู่บ้านเรือนคนแลเห็นต้นหมากต้นมะพร้าว
ทั้งฝ่ายเราฝ่ายเขาก็อยู่ในข้างละห้าหกหมู่เหมือนกันแต่ตอนนี้เสียเปรียบ
อังกฤษที่ลงไปหน่อยหนึ่งถึงที่มีศาลชำระความ มีเรือนโรงใหญ่ๆ หลายหลัง
ว่าเป็นที่ตั้งเมืองแต่ก่อน แต่ศาลนั้นสี่เหลี่ยมหลังเล็กๆ
ปลูกอยู่กลางแจ้งไม่อัศจรรย์อันใดเลย โรงโปลิศที่ตะพานเหล็กวัดสะเกศโตกว่าลงมาประมาณชั่วโมงหนึ่งถึงโรงโปลิศตั้งอยู่บนหลังเนินต่ำๆ
ริมปากแม่น้ำน้อย โรงโปลิศนี้เล็กเท่าๆ กันกับศาลนั้นเอง มีโปลิศถือปืนลงมารับ
๑๑ คน เป็นพม่านุ่งผ้าโพกผ้า ๖ คน เป็นแขกซิกสวมกางเกงอย่างทหาร ๕ คน
นายทหารพม่าแต่ไม่เห็นศัสตราวุธ นุ่งผ้าและสวมเสื้อทหาร ตั้งแต่เหนือ
โรงโปลิศขึ้นมาดูบ้านคนถี่กว่าคลองเท่าไรที่เกาะกงสักนิดหนึ่ง
ต่อลงมาข้างล่างแล้วไม่มีผิดกับท่าโรง
ที่เกาะกงเลยพบวัดหนึ่งอยู่ที่ชายเขา เรียกว่าวัดขี้ไฟโบสถ์หลังคาจาก
แต่ไม่อยู่ในน้ำเหมือนเกาะกง
ลงมา ๓ ชั่วโมงถึงตำบลน้ำจืด
ซึ่งเป็นเมืองพระอัษฎงค์ไปตั้งขึ้นใหม่ มีตะพานยาวขึ้นไปจดถนน
เพราะที่นั้นเป็นที่ลุ่ม เวลาน้ำขึ้นปกติท่วมขึ้นไปมากๆ
ตะพานแต่งใบไม้และธง มีซุ้มใบไม้ที่ต้นตะพาน มิสเตอร์เมริฟิลด์ แอสสิสตัน
คอมมิสชันเนอที่มลิวัน ลงมาคอยรับอยู่ที่ตะพาน
ทักทายปราศรัยแล้วขึ้นเสลี่ยงจะไป
มิสเตอร์เมริฟิลด์จะขอเข้าแห่เสด็จด้วยกับทหารและโปลิศ
เพราะเวลานั้นแต่งตัวเป็นทหาร ได้บอกให้เดินตามไปภายหลังกับพระอัษฎงค์
ถนนที่ขึ้นไปกว้างประมาณสัก ๘ ศอก หรือ ๑๐ ศอก ยาวประมาณ ๑๐ เส้นเศษ
ผ่านไปในที่ซึ่งตัดต้นไม้ลงไว้จะทำนาขึ้นไปถึงที่สุดถนนนี้
มีถนนขวางอีกสายหนึ่ง มีประตูใบไม้และร้านพระสงฆ์สวดชยันโต
อยู่ที่สามแยกนั้น เลี้ยวขึ้นไปที่บ้านพระอัษฎงค์
ซึ่งเป็นเรือนขัดแตะถือปูนพื้นสองชั้นอย่างฝรั่ง ดูภายนอกเป็นตึกพอใช้ได้
แลดูจากบนเรือนนั้น เห็นที่ซึ่งปลูกสร้างขึ้นไว้และบ้านเรือนไร่นาราษฎรตลอด
ตามแนวถนนขวางมีโรงโปลิศเป็นสามมุข
ฝาขัดแตะถือปูนหลังหนึ่งห่างไปจากถนนใหญ่สัก ๒ เส้น มีศาลชำระความเป็นศาลฯ
กลางสามมุข เป็นตึกอยู่ริมถนนยังไม่แล้วเสร็จหลังหนึ่ง
นอกนั้นก็เป็นโรงเรือนราษฎรหลายหลัง ความคิดพระอัษฎงค์ซึ่งยกเมืองลงมาตั้งที่น้ำจืดนี้
เพื่อจะให้เรือใหญ่ขึ้นไปถึงได้การค้าขายจะได้ติด และระยะนี้คลองกว้าง ถ้า
ชักคนลงมาติดได้ที่นี่
การที่จะข้ามไปข้ามมากับฝั่งอังกฤษค่อยยากขึ้นหน่อยหนึ่ง
หาไม่โจรผู้ร้ายหนีข้ามไปข้ามมาได้ง่ายนัก อีกประการหนึ่ง ที่แถบนี้มีทำเลที่ทำนากว้าง
ถ้าตั้งติดเป็นบ้านเมืองก็จะเป็นที่ทำมาหากินได้มาก
เดี๋ยวนี้ขัดอยู่อย่างเดียว แต่เรื่องคนไม่พอแก่ภูมิที่เท่านั้น
ได้ถามมิสเตอร์เมริฟิลด์ถึงการโจรผู้ร้าย ก็ว่าเดี๋ยวนี้สงบเรียบร้อย
การที่โจรผู้ร้ายสงบไปได้นี้ ก็ด้วยอาศัยกำลังมิสเตอร์ซิมบี้ เป็นธุรแข็งแรงมาก
และว่าเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ร้ายฆ่าคนตายในแดนอังกฤษ ได้ขอให้พระยาชุมพรช่วย
พระยาชุมพรก็ช่วยจนได้ตัวผู้ร้ายแล้ว
แต่ผู้ซึ่งไปตามผู้ร้ายนั้นต้องเสือกัดตายคนหนึ่ง
มิสเตอร์เมริฟิลด์รับอาสาจะโดยเสด็จต่อไปอีก ได้บอกชอบใจและห้ามเสีย
พระสงฆ์ซึ่งมาคอยชยันโตอยู่นี้ มีเจ้าอธิการวัดนาตลิ่งชัน ซึ่งพระอัษฎงค์ว่าเป็นหัวหน้ายี่หินศีร์ษะกระบือ
ภายหลังมาสาบาลให้พระอัษฎงค์ว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นต่อไป
อธิการวัดขี้ไฟอีกองค์หนึ่ง พระอัษฎงค์ว่าเป็นคนดีรับว่าจะข้ามมาอยู่ที่น้ำจืด
พระสงฆ์เมืองหลังสวนออกไปอยู่ ๔ องค์ นอกนั้นเป็นพระมาแต่ฟากมลิวันอีก ๑๗
ได้ถวายเงินตาม
สมควรแล้วลงเรือล่องมา ประมาณสัก ๕๐ มินิตถึงปากคลองพระขยางข้างฝ่ายเราดูกว้างกว่าแม่น้ำน้อย
ลงไปอีกไม่ช้าก็ถึงคลองลำเลียง
ซึ่งเป็นพรมแดนเมืองตระกับเมืองระนองดูปากช่องกว้างใหญ่
แต่เข้าไปข้างในเห็นท่าจะไม่โต
แต่นี้ไปฝนตกมากบ้างน้อยบ้างตลอดทางไม่ใคร่จะได้ดูอันใดได้สองฟากเป็นภูเขาสลับซับซ้อนกันสูงใหญ่
เวลาฝนตกมืดคลุ้มไปเป็นเมฆทับอยู่ครึ่งเขาค่อนเขาลำน้ำกว้างออกๆ ทุกที
แต่ไม่ใคร่เห็นมีบ้านผู้เรือนคน ลงมาจากน้ำจืด ๒ ชั่วโมงถ้วน ถึงเรืออุบลบุรทิศซึ่งขึ้นไปจอดคอยรับอยู่ที่ตรงปากคลองเขมาข้างฝั่งอังกฤษ
ถึงเรือใหญ่ฝนจึงได้หาย เดิมคิดว่าจะไปไล่กระจงที่เกาะขวาง
แต่เวลามาถึงบ่าย ๕ โมงเสียแล้ว จึงได้ทอดนอนอยู่ที่ปากคลองเขมาคืนหนึ่ง
วันที่ ๒๓
ออกเวลาโมงหนึ่งกับ ๒๐ มินิต เป็นเวลาน้ำขึ้น ครู่หนึ่งถึงเกาะขวาง
ที่เกาะขวางนี้พระยาระนองร้องอยู่ว่าแผนที่อังกฤษทำ
คือแผนที่กัปตันแบกเป็นต้น หมายสีไม่ต้องกันกับหนังสือ สัญญาในหนังสือสัญญว่าเกาะทั้งสองฝั่ง
ใกล้ฝั่งข้างไทยเป็นของไทย ใกล้ฝั่งอังกฤษเป็นของอังกฤษ
เว้นไว้แต่เกาะขวางเป็นของไทย ส่วนเกาะในแผนที่นั้น
เกาะสมุดที่อยู่ใกล้ฝั่งของอังกฤษเป็นเกาะย่อมจดชื่อว่าเกาะขวางทาสีเขียวให้เป็นของไทย
ส่วนเกาะขวางซึ่งเป็นสามเกาะใหญ่ๆ
อยู่ใกล้ฝั่งข้างไทยเกาะหนึ่งอยู่ใกล้เกือบจะศูนย์กลางค่อนข้างไทยสักหน่อยหนึ่งสองเกาะ
ที่ชาวบ้านนี้ตลอดจนถึงนายโปสิศฝ่ายอังกฤษ
ก็ยอมรับว่าเป็นเกาะขวางนั้นหมายแดงเป็นของอังกฤษได้มีใบบอกเข้าไปก็ตัดสินรวม
ๆ ออกมาว่าที่หมายแดงเป็นของอังกฤษ ที่หมายเขียวเป็นของไทย
แต่ลักษณะเกาะที่เป็นอยู่นั้นขัดอยู่กับหนังสือสัญญาเช่นนี้ขอให้ฉันดู
ได้ตรวจดูก็เห็นเป็นหน้าสงสัยจริงอย่างเช่นเขาว่า
จะเป็นด้วยแกล้งหรือด้วยแผนที่ผิดก็ได้
เรื่องนี้จะได้ชี้แจงด้วยแผนที่ในที่ประชุมต่อไป
ได้ถามถึงการที่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ในที่เกาะไขว้กันเช่น อย่างไรบ้าง
ก็ว่าเกาะเหล่านี้ไม่มีคนตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำ แต่เป็นที่ชันมากทุกๆ เกาะ
ถ้าเป็นเกาะข้างฝ่ายอังกฤษคนเราจะไปทำไม่ขอหนังสือต่อเขาก่อนเขาไม่
ให้ไปทำ เป็นความลำบากแก่คนของเราที่จะไปทำมาหากินในที่นั้น
ตั้งแต่เกาะขวางนี้ไปฝ่ายข้างเราเขาสูงมากเป็นเทือกใหญ่
ดูเหมือนอย่างเกาะช้าง เรียกว่าท่าครอบ
ข้างฝ่ายอังกฤษดูแนวเขาใหญ่ปัดห่างออกไปเป็นแต่เขาย่อมๆ
มีคนตั้งอยู่ริมน้ำเทียวทำชันบ้างเป็นแห่งๆ
ต่อท่าครอบลงไปมีลำคลองเรียกว่าละอุ่นขึ้นระนอง
ในระยะนี้มีที่ตื้นอยู่สองตำบล นอกนั้นก็ลึกตลอดจนถึงปากอ่าวระนอง
ฝั่งทั้งสองข้างนั้นไม่ได้มีที่ราบเลยจนสักแห่งหนึ่ง
เป็นแต่เขาใหญ่เขาเล็กตลอดไปจนกระทั่งถึงปลายแหลม เวลาเช้า ๔
โมงทอดสมอที่เกาะผี ปากอ่าวเมืองระนอง ที่นี้พระอัษฎงค์ทำเรือนตะเกียงเช่นที่บางปะอินตั้งไว้เสาหนึ่ง
มีเรือสำเภาบรรทุกเข้ามาจากเมืองพม่าจอดอยู่ลำหนึ่ง เรือมุรธาวสิตยิงปืนสลุด
รอผ่อนของขึ้นบกอยู่จนเที่ยงจึงได้ลงเรือกระเชียงเรือไฟลากข้ามไปดูแหลมเกาะสอง
ซึ่งอังกฤษเรียกว่าวิกตอเรียปอยต์
อ้อมปลายแหลมออกไปดูข้างหน้านอกแล้วเลียบเข้าจนถึงคอแหลมหน้าใน
ที่แหลมนี้เป็นเนินสูง
ดินแดงๆ ไม่ใครมีต้นไม้คอแหลมทั้งหน้านอกหน้าในมีบ้านเรือนคนอยู่
หน้านอกไม่ได้เข้าไปใกล้
แต่หน้าในเห็นมีเรือนปั้นหยาฝาจากพื้นสองชั้น ๓ หลัง มีโรงใหญ่เล็กประมาณ
๒๐ หลัง มีต้นหมาก
มะพร้าว
แต่ที่แผ่นดินที่หมู่บ้านตั้งนั้นเป็นที่ต่ำแอบคอแหลมอยู่หน่อยเดียว
ที่บนหลังเนินปลายแหลมมีศาลชำระความแบบเดียวกับที่นาตลิ่งชัน
ตั้งอยู่กลางแจ้งแดดร้อนเปรี้ยงมีเรือนปั้นหยาฝาจากอยู่หลังหนึ่งทรุดโทรมยับเยินทั้ง
๒ หลัง คล้ายกันกับที่นาตลิ่งชัน
การที่อังกฤษจัดรักษาในที่แถบนี้ไม่กวดขันแข็งแรงอันใดอยู่ข้างโกโรโกเตกว่าเราเสียอีกคนที่อยู่บนบกแลเห็นเป็นแขกเขาว่าเป็นมะลายูบ้าง
จีนบ้างประมาณสัก ๓๐ ครัวทั้งหน้านอกหน้าในหากินด้วยทำปลา เรืออ้อมมาหว่างเกาะเล็กของอังกฤษที่แอบฝั่งอยู่สองเกาะข้างปากอ่าวเมืองระนองที่ฝั่งขวามีโรงจีนตัดฟืน
สำหรับส่งเรือเมล์ประมาณสัก ๓๐ หลัง ฝั่งซ้ายเป็นที่ตลิ่งชายเนินสูง
ตั้งโรงโปลิศอยู่ในที่นั้น เวลาน้ำขึ้นเรือขนาดองครักษ์ขึ้นไปได้ถึงท่า
ตั้งแต่ทะเลเข้าไปสองไมล์เท่านั้น
ตะพานที่ขึ้นยาวประมาณสองเส้นเศษมีแพลอยและศาลาปลายตะพาน ผูกใบไม้ปักธงตลอด
เมื่อถึงต้นตะพานมีซุ้มใบไม้ซุ้มหนึ่ง พระยาระนองและกรมการไทยจีนรับอยู่สัก
๕๐ ๖๐ คน ขึ้นรถที่เขาจัดลงมารับ
มีรถเจ้านายและข้าราชการหลายรถขึ้นไปตามหนทางซึ่งเป็นถนนถมศิลาแข็งเรียบดีอย่างยิ่ง
แต่ถนนนี้แคบกว่าถนนข้างใน ๆ ประมาณสัก ๓ วา
สองข้างทางข้างตอนต้นเป็นป่าโกงกางขึ้น
ขึ้นไปหน่อยหนึ่งก็ถึงเรือกสวนรายขึ้นไปทั้งสองข้าง ข้ามตะพานสามตะพาน
เป็นตะพานเสาไม้ปูกระดานมีพนักทาสีขาว เข้าไปข้างในมีทุ่งนาแปลงหนึ่ง
แลดูที่นี่แลเห็นเขาซึ่งเป็น
พลับพลา
แล้วก็เข้าในหมู่สวนหมู่ไร่ต่อไปอีกจนถึงต้นตลาดเก่าแลเลี้ยวแยกไปตามถนนทำใหม่
เป็นถนนกว้างสัก ๘ วา
ไปจนถึงถนนขึ้นเขามีโรงเรือนสองข้างทางแน่นหนาแต่ไม่มีตึกเลย
ผู้คนครึกครื้นตามระยะทางที่มามีซุ้มแปลกกันถึง ๖ ซุ้ม
ซุ้มที่จะเข้าถนนตลาดเป็นอย่างจีน เก๋งซ้อนๆ
กันมีเสามังกรพันเป็นงามกว่าทุกซุ้ม ทางที่ขึ้นเขาตัดอ้อมวงไป
ท่าทางก็เหมือนกันกับที่คอนเวอนเมนต์เฮาส์สิงคโปร์ หรือที่บ้านใครๆ ต่างๆ
ที่เขานี้เขาว่าสูงร้อยสิบฟิต แต่เป็นเนินลาดๆ
มีที่กว้างใหญ่โตกว่าเขาสัตนาถมาก พลับพลาที่ทำนั้นก็ทำเสาไม้จริงเครื่องไม้จริงกรอบฝาและบานประตูใช้ไม้จริง
แต่กรุใช้ไม้ระกำทั้งลำเข้าเป็นลายต่างๆ หลังคานั้นมุงไม้เกล็ดแล้วสองหลัง
นอกนั้นมุงจากดาดสี ใช้สีน้ำเงิน
จะให้เหมือนกันกับหลังคาไม้ซึ่งทาสีไว้มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง
ที่อยู่ข้างในหลังหนึ่งยกเป็นห้องนอนสูงขึ้นไปหลังหนึ่ง
มีคอนเซอเวเตอรียาวไปจนหลังแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่ง
ที่หลังเล็กซึ่งเป็นที่นอน และที่หลังแปดเหลี่ยม
และดูเห็นเมืองระนองทั่วทั้งเมือง หน้าต่างทุก ๆ
ช่องเมื่อยืนดูตรงนั้นก็เหมือนหนึ่งดูปิกเชอแผ่นหนึ่ง
แผ่นหนึ่ง ด้วยแลเห็นทุ่งนาออกไปจนกระทั่งถึงภูเขาซึ่งอยู่ใกล้ชิด
ได้ยินเสียงชะนีร้องเนืองๆ สลับซับซ้อนกันไป ด้านหนึ่งก็เป็นได้อย่างหนึ่ง
ด้านหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง
ไม่เคยอยู่ที่ใดซึ่งตั้งอยู่ในที่แลเห็นเขาทุ่งป่า
และบ้านเรือนคนงานเหมือนอย่างที่นี้เลย
การตบแต่งประดับประดาและเครื่องที่จะใช้สอย
พรักพร้อมบริบูรณ์อย่างปินังตามข้างทางและชายเนิน
ก็มีเรือนเจ้านายและข้าราชการหลังโตๆ
มีโรงบิลเลียดโรงทหารพรักพร้อมจะอยู่สักเท่าใดก็ได้
วางแผนที่ทางขึ้นทางลงข้างหน้าข้างในดีกว่าเขาสัตนาถมาก
เสียแต่ต้นไม้บนเนินนั้นไม่มีต้นใหญ่ ที่เหลือไว้ก็เป็นต้นไม่สู้โต
ต้นเล็กๆ
ที่ตัดก็ยังเป็นตอสะพรั่งอยู่โดยรอบแต่ในบริเวณพลับพลาปลูกหญ้าขึ้นเขียวสดบริบูรณ์ดีทั่วทุกแห่ง
พระยายุทธการ
โกศล
มาคอยรับอยู่ที่เมืองระนองนี้ ๕ วันมาแล้ว
เดิมคิดว่าต้องมานอนที่เกาะเขมาเกินโปรแกรมวันหนึ่งจะย่นวันเมืองระนองเข้าอยู่แต่สองคืน
แต่ครั้นเมื่อไปเห็นที่เขาทำไว้ให้อยู่ลงทุนรอนมากคล้ายเข้าหอ
พระปริคที่เพชรบุรีปลูกศาลาไว้ในหมู่ร่มไม้เป็นที่เงียบสงัด
เวลากลางวันนี้ไม่ร้อนด้วยครึ้มฝน เวลากลางคืนหนาวปรอทถึง ๗๕๐
วันที่ ๒๔
เวลาเช้าไปดูที่ตลาดเก่ามีโรงปลูกชิดๆ
กันทั้งสองฟากเกือบร้อยหลังแลเห็นเป็นจีนไปทั้งถนน
ที่สุดถนนนี้ถึงบ้านเก่าของพระยารัตนเศรษฐี ซึ่งตั้งอยู่ที่หาดใกล้ฝั่งคลอง
ต้นคลองนั้นเป็นที่ทำเหมืองแร่ดีบุก
น้ำล้างดินทรายซึ่งติดแร่ลงมาถมจนคลองนั้นตัน ดินกลับสูงขึ้นกว่าพื้นบ้าน
สายน้ำก็ซึมเข้าไปในบ้านชื้นไปหมด ผนังใช้ก่อด้วยดินปนปูน ตึกรามพังทะลายไปบ้างก็มี
ที่ยังอยู่ผนังชื้นทำให้เกิดป่วยไข้ จึงได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่
ที่ย้ายไปตั้งบ้านใหม่เสียนั้นเป็นดีมาก
ทำให้เมืองกว้างออกไปอีกสามสี่เท่า ด้วยถนนตลาดเก่านี้ไปชนคลอง
จะขยายต่อไปอีกไม่ได้อยู่แล้ว เวลาบ่ายไปดูบ่อน้ำร้อน ระยะทางเจ็ดสิบเส้น
มีถนนดีเรียบร้อย ได้เห็นทางซึ่งเขาทำชักสายน้ำมาทำเหมืองดีบุก
แย่งเอาน้ำในลำธารโตๆ เสียทั้งสิ้น จนลำธารนั้นแห้ง ไม่มีน้ำเลย
ที่บ่อน้ำร้อนนี้ ดูเป็นที่ซึ่งสำหรับจะร้อนนั้นออกมาจากเขาน้ำตกรินๆ
ออกมาจากศิลาขวางกับลำธารน้ำเย็น
ทำนบซึ่งกั้นเปิดน้ำเย็นให้ไปตามรางสายน้ำทำเหมืองข้ามมาบนที่ซึ่งเป็นน้ำร้อน
น้ำฟากข้างนี้ก็ร้อน ฟากข้างโน้นก็ร้อน น้ำเย็นไปกลาง
น้ำร้อนที่นี้ไม่มีกลิ่นกำมะถันหรือกลิ่นหินปูนเลย แต่ร้อนไม่เสมอกัน
บ่อหนึ่งปรอท ๑๔๔๐
บ่อหนึ่งปรอท ๑๕๔๐
ถ้าไปอึกกระทึกใกล้เคียงเดือดและควันขึ้นแรงได้จริง
วันที่ ๒๕
เวลาเช้าไปที่บ้านใหม่พระยาระนองผ่านหน้า โรงราง
คือตราง ทำเป็นตึกหลังคาสังกะสีแบบคุกที่ปีนัง
ดูเรียบร้อยใหญ่โตดีมากแต่ยังไม่แล้วเสร็จ
บ้านพระยาระนองเองก่อกำแพงรอบสูงสักสิบศอก กว้างใหญ่เห็นจะสามเส้นสี่เส้น
แต่ไม่หันหน้าออกถนนด้วย ซินแสว่าหันหน้าเข้าข้างเขาจึงจะดี
ที่บนหลังประตูทำเป็นเรือนหลังโตๆ ขึ้นไปอยู่เป็นหอรบ
กำแพงก็เว้นช่องปืนกรุแต่อิฐบางๆ ไว้ด้วยกลัวเจ๊กที่เคยลุกลามขึ้นครั้งก่อน
เมื่อมีเหตุการณ์ก็จะได้กระทุ้งออกเป็นช่องปืน ที่กลางบ้าน
ทำตึกหลังหนึ่งใหญ่โตมาก แต่ตัวไม่ได้ขึ้นอยู่
เป็นแต่ที่รับแขกและคนไปมาให้อาศัย ตัวเองอยู่เรือนจากเตี้ยๆ
เบียดชิดกันแน่นไปทั้งครัวญาติพี่น้องรวมอยู่แห่งเดียวกันทั้งสิ้น
มีโรงไว้สินค้าปลูกริมกำแพงยืดยาว ในบ้านนั้นก็ทำไร่ปลูกมันปีหนึ่ง
ได้ถึงพันเหรียญ เป็นอย่างคนหากินแท้ ออกจากบ้านพระยาระนองไปสวน
ซึ่งเป็นที่หากินด้วยทดลองพืชพรรณไม้ต่างๆ ด้วย
ที่กว้างใหญ่ปลูกต้นจันทน์เทศและ
กาแฟ
ส้มโอปัตเตเวีย มะพร้าว ดุกู และพริกไทยๆ
นั้นได้ออกจำหน่ายปีหนึ่งถึงสิบหาบแล้ว เวลาบ่ายนี้ไม่ได้ไปแห่งใด
ด้วยเป็นเวลาครึ้มฝนหน่อยหนึ่งก็ฝนตก
พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลานี้เป็นพระที่นั่ง
ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพระ-พิพัฒสัจจาและขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย
จึงได้ตั้งชื่อพระที่นั่งว่า รัตนรังสรรค์
เพื่อจะให้แปลกล้ำๆ พอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดี
เขาที่เป็นที่ทำวังนี้ ให้ชื่อว่า นิเวศนคีรี
ถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่าแปดสิบเส้นเศษ ให้ชื่อว่า
ถนนท่าเมือง
ถนนทำใหม่ตั้งแต่สามแยกตลาดเก่าไปตามหน้าบ้านใหม่พระยาระนองถึงตะพานยูง
เป็นถนนใหญ่เกือบเท่าถนนสนามไชย ให้ชื่อว่า ถนนเรืองราษฎร์
ถนนตั้งแต่ตะพานยูงออกไปจนถึงที่ฮ่วงซุ้ยพระยาดำรงสุจริต
สัก ๗๐ เส้นเศษย่อมหน่วยหนึ่ง ให้ชื่อ ถนนชาติเฉลิม
ถนนตั้งแต่ถนนบ่อน้ำร้อนถึงเหมืองในเมืองให้ชื่อ ถนนเพิ่มผล
ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน ๗๐ เส้นเศษ ให้ชื่อ ถนนชลระอุ
ถนนหน้าวังซึ่งเป็นถนนใหญ่ให้ชื่อ ถนนลุวัง
ถนนออบรอบตลาดนัดต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์
เป็นถนนใหญ่แต่ระยะทางสั้นให้ชื่อ ถนนกำลังทรัพย์
ถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์มาถึงถนนชลระอุผ่านหน้าศาลชำระความซึ่งทำเป็นตึกสี่มุขขึ้นใหม่ยังไม่แล้ว
ให้ชื่อ ถนนดับคดี
ถนนแยกจากถนนเรืองราษฎร์ลงไปทางริมคลองให้ชื่อ ถนนทวีสินค้า
กับอีกถนนหนึ่งซึ่งพระยาระนองคิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาด
ซึ่งเป็นทางโทรเลขขอชื่อไว้ก่อนจึงได้ให้ชื่อว่า ถนนผาดาด
ถนนซึ่งเขาทำและได้ให้ชื่อทั้งปวงนี้ เป็นถนนที่น่าจะได้ชื่อจริง ๆ
ใช้ถมด้วยศิลากรวดแร่แข็งกร่าง และวิธีทำท่อน้ำของเขาเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง
ฝนตกทันใดนั้น จะไปแห่งใดก็ไปไม่ได้
วันที่ ๒๖
เวลาเช้าไปดูที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต ตามทางที่ไปเป็นนาเป็นสวนตลอด
เมื่อจวนจะถึงที่ฝังศพเป็นสวนพระยาระนองทั้งสองฟาก
ปลูกหมากมะพร้าวมะม่วงเป็นระยะท่องแถวงามนัก มะพร้าวปลูกขึ้นไปจนถึงไหล่เขา
ที่หน้าที่ฝังศพปลูกต้นไม้ดอกต่างๆ เมื่ออยู่เมืองระนองเวลาค่ำๆ มีบุหงาส่ง
ที่ฝังศพนั้นมีป้ายศิลาสูงสักสี่ศอกเศษ
จารึกเรื่องชาติประวัติของพระยาดำรงสุจริตทั้งภาษาไทย ภาษาจีน
เป็นคำสรรเสริญตลอดจนบุตรหลาน ถัดเข้าไปมีเสาธงศิลาคู่หนึ่ง แพะคู่หนึ่ง
เสือคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง ขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊คู่หนึ่ง
แล้วก่อเขื่อนศิลาปู ศิลาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๓ ขั้น
จึงถึงลานที่ฝังศพมีพนักศิลาสลักเป็นรูปสัตว์ และต้นไม้เด่นๆ
ที่กุฏินั้นก็ล้วนแล้วด้วยศิลาตลอดจนถึงที่ทำเป็นหลังเต่า
ต่อขึ้นไปเป็นเนินพูนดินเป็นลอนๆ ขึ้นไป ๓ ลอน
ตามแบบที่ฝังศพจีนแต่แบบต้องอยู่ที่กลางแจ้ง ไม่มีร่มไม้เลย ลงทุนทำถึง ๖๐๐
ชั่งเศษ ที่ฝังศพมารดาและญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ต้องไว้ระยะห่างๆ
ดูน่าจะเปลืองที่เต็มที
กลับจากที่ฝังศพไปดูทำเหมือง
พึ่งจะเข้าใจชัดเจนในครั้งนี้ จะพรรณนาว่าทำอย่างไรให้ละเอียดก็ยืดยาวนัก
ไม่มีเวลาเขียน เช้า ๕ โมงเศษกลับมาลงเรือ
ออกจากอ่าวระนองไปทอดที่เกาะพลูจืดซึ่งเป็นด่านต่อเขตต์แดน มีโรงโปลิศของเมืองระนองตั้งรักษาอยู่ที่นั้น
แต่ที่แท้เกาะพลูจืดนี้ไม่เป็น
ปลายเขตต์แดนทีเดียว
เกาะคันเกาะหาดทรายยาวเป็นที่ต่อ แต่สองเกาะนั้นไม่มีน้ำกินจึงไปตั้งไม่ได้
เวลาที่ไปนี้เลียบไปใกล้เกาะวิกตอเรีย เกาะนี้มีที่ราบมาก มีลำคลอง
คนออกไปตั้งทำปลาอยู่ที่นั้นก็มี
เวลาบ่ายลงเรือไปรอบเกาะพลูจืด
ให้คนขึ้นไล่เนื้อเพราะที่เกาะนี้เขาเคยได้เนื้อเสมอ
และคนที่ด่านก็เข้ามาแจ้งความว่ามีแน่เพราะเข้ามากินกล้วยชาวด่านปลูก
แต่จะเป็นด้วยคนมากหรือเกินไปอย่างไร เลยตกลงเป็น โห่เปล่า
เมื่ออยู่ที่เมืองระนอง
พวกจีนในท้องตลาดมาหาเกือบจะหมดเมือง มีส้มหน่วยกล้วยใบตามแต่จะหาได้
จีนผู้หนึ่งเป็นมิวนิสเปอลกอมมิสชันเนอในเมืองระริด
ทำภาษีรังนกและภาษีฝิ่นในเมืองตะนาวศรีและบิดาจีนอองหลายซึ่งเป็นล่ามเมืองตระ
และเป็นน้องเขยพระยาระนองลงมาแต่เมืองระมิดมาหาด้วยการรับรองเลี้ยงดูของพระยาระนองแข็งแรงอย่างยิ่งพี่น้องลูกหลานกลมเกลียวกัน
คิดอ่านจัด
การแต่จะให้เป็นที่สบายทุกอย่างที่จะทำได้ การทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง
เขาบำรุงจริงๆ รักษาจริงๆ โดยความฉลาดและความตั้งใจ
ยากที่จะหาผู้รักษาเมืองผู้ใดให้เสมอเหมือนได้
คนไทยในเมืองระนองนี้ ผิดกันกับเมืองตระ
คือไม่ได้เก็บเงินค่าราชการ หรือจะเรียกว่าค่าหลังคาเรือนอย่างเช่นเมืองตระ
เลขสักข้อมือสมกรมการก็ไม่เหมือนเมืองหลังสวน
ที่เมืองหลังสวนเก็บเงินข้าราชการแต่ตัวเลขที่สักข้อมือ
คนขึ้นใหม่ไม่ได้เก็บ ที่เมืองตระไม่มีสมกรมการ แต่เก็บเงินทั่วหน้า
เมืองระนองนี้ไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ว่าแต่ก่อนมีก็คืนเสียแล้วไม่ได้เก็บเงินอันใด ชั่วแต่เกณฑ์มารักษาเมือง
(หรือบ้านเจ้าเมือง)
ในเวลาตรุษจีน คือตั้งแต่เดือน ๓,๔,๕
สามเดือน ผลัดละสิบห้าวัน แต่ก็ยัง ไม่พอ
ต้องไปเอาคนหลังสวนมาอีกห้าสิบคน เวลาคนมาอยู่ประจำการกินอาหารกงสี
กับการจรเช่นทางโทรเลข ใช้เกณฑ์ ไม่ได้จ้างเหมือนเมืองตระ
เขายื่นยอดสำมะโนครัวกรมการเมืองระนอง ๒๔ ครัว อำเภอ ๘๖ ครัว ไพร่ชายฉกรรจ์
๑,๕๓๐ คน เด็ก ๗๔๙ คน รวมชาย ๒,๒๗๙
คน หญิงฉกรรจ์ ๑,๑๐๙ คน เด็ก ๖๑๖ คน รวมหญิง ๑,๗๒๕
คน รวม ๔,๐๐๔ คน รวมทั้งครัวกรมการอำเภอ ๑,๑๒๒
ครัว แขกเดิมหลวงขุนหมื่น ๘ ครัว ไพร่ชายฉกรรจ์ ๔๒ เด็ก ๖๕ คน รวม ๑๐๗ คน
หญิงฉกรรจ์ ๓๗ เด็ก ๒๑ รวม ๕๘ คน รวมชายหญิง ๑๖๕ คน เป็นครัว ๓๕ ครัว
จีนมีบุตรภรรยา ๓๐๐ จีน จีนจร ๒,๘๐๐ (เห็นจะเป็นเอสติเมต)
รวม ๓,๑๐๐ รวมคนเดิมชาย ๕,๖๐๔
คน หญิง ๑,๗๘๓ คน รวม ๗,๓๘๕
คน คนใหม่มาแต่เมืองอื่นๆ คือ ไชยา ๒๙ ครัว หลังสวน ๙๐ ครัว
ชุมพร ๑๐ ครัว นคร ๒ ครัว ตระ ๒ ครัว ฝ่ายอังกฤษ ๒ ครัว
รวม ๑๓๕ ครัว ชายฉกรรจ์ ๑๘๕ คน เด็ก ๑๒๖ คน รวม ๔๑๑ คน หญิงฉกรรจ์ ๑๕๗ คน
เด็ก ๙๑ คน รวม ๒๖๖ คน รวมไทยมาใหม่ ๕๗๗ คน แขกมาแต่เมืองถลาง ๑๔ ครัว
เมืองตะกั่วทุ่ง ๑๗ ครัว รวม ๓๑ ครัว เป็นชายฉกรรจ์ ๔๓ เด็ก ๓๐ คน รวม ๗๓
คน หญิงฉกรรจ์ ๓๕ เด็ก ๓๗ รวม ๗๒ รวมชายหญิง ๑๔๕ คน รวมเก่าใหม่ชาย ๕,๙๘๘
คน หญิง ๒,๑๒๑ คน รวมทั้งสิ้น ๘,๑๐๙
คน
การทำนามีแต่ชั่วคนไทย
ทำข้าวไร่ทั้งนั้น นาพื้นราบทำน้อย
ที่เห็นอยู่เพียงสามแปลงก็เป็นนาเจ้าเมืองเสียแปลงหนึ่ง
แต่ยังมีข้าวพอคนไทยกินได้มาก ไม่สู้จะต้องซื้อพม่านัก
ส่วนจีนนั้นไม่ได้กินข้าวในเมืองเลย กินข้าวในเมืองพม่าทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นข้าวเมืองพม่าจึงเป็นสำคัญในแถบนี้
เรือเมล์ที่เดินอยู่ทุกวันนี้สองลำ คือเรือเซหัวของพระยาระนองลำหนึ่ง เรือเมอควีของอังกฤษลำหนึ่ง
แต่เรือ เซหัวอยู่ข้างจะคล่องแคล่วกว่าเรือเมอควี
เจ้าพนักงานอังกฤษกล่าวโทษเรือเมอควีอยู่ว่าเสียเปรียบ
เซหัว
การในเมืองระนองยังมีอยู่อีกซึ่งจะต้องแจ้งความต่อภายหลัง
วันที่ ๒๗ เวลา ๑๑ ทุ่ม
ออกเรือเดินทางช่องระหว่างเกาะเสียงไหกับเกาะช้าง ที่ในแผนที่เขียนว่าแสดดัลไอล์แลนด์มาไม่มีคลื่นลมอันใดเป็นปกติ
พระราชนิพนธ์เรื่องเมืองระนองมีปรากฏเพียงนี้
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาถึงเมืองตรัง
ทรงพระราช-ดำริว่า เมืองตรังเป็นทำเลที่สำคัญ
หากการปกครองยังไม่ดีบ้านเมืองจึงไม่มีความเจริญพระองค์ได้ทอด
พระเนตรเห็น พระอัษฎงคตทิศรักษา
(คอซิมบี้)
จัดการทำนุบำรุงเมืองตระบุรี
จึงชอบพระราชหฤทัย จึง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนพระอัษฎงคตทิศรักษา
(คอซิมบี้)
ขึ้นเป็น
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดีย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง
ต่อมาถึงสมัยเมื่อจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลโปรดฯ
ให้หัวเมืองมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวทั้งหัวเมืองปักษ์ใต้
ฝ่ายเหนือ ฝ่ายตะวันออก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง)
เลื่อนขึ้นเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีตำแหน่งสมุห-เทศาภิบาลมณฑลชุมพรและ
พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อน พระบุรีรักษ์ โลหวิสัย (คออยู่หงี)
บุตร
คนใหญ่ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง)
ขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง
พระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง)
รับราชการในตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาล อยู่จนแก่ชรา
กราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปอยู่เมืองระนอง
จนถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๖
ใน พ.ศ.
๒๔๖๐
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก
และที่เมืองระนองนี้พระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง)
ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วพระยารัตนเศรษฐี (คออยู่หงี)
บุตรพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง)
ก็ป่วยเป็นโรคอัมพาตทุพลภาพ ไม่สามารถรับราชการได้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เลื่อนพระยารัตนเศรษฐี (คออยู่หงี)
เป็นพระดำรงสุจริตมหิศรภักดี และโปรดให้พระระนองศรีสมุทรเขตต์
(คออยู่โงย)
บุตรพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต๊ก)
เป็นผู้ว่าราชการเมืองระนองสืบต่อไป
ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.
๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบ
หัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกเสด็จทรงรถไฟออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖
เมษายน ประทับแรมที่เมืองเพชรบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองชุมพร
แล้วทรงช้างพระที่นั่ง
โดยเสด็จสถลมารคข้ามแหลมมลายูไปลงเรือพระที่นั่งที่ลำน้ำปากจั่น
และเสด็จถึงเมืองระนอง เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน
ซึ่งจากหลักฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ในเรื่องตำนานเมืองระนอง
ถึงการเสด็จเมืองระนองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้
เสด็จถึงเมืองระนอง
วันอังคารที่ ๑๗ เมษายน
เวลาบ่าย ๑ โมง กระบวนเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวปากคลอง
ละอุ่นไปปากน้ำระนองบ่าย ๔ โมงถึงอ่าวระนอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องครึ่งยศเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์
เสด็จประทับเรือกลไฟเล็กศรีสุนทร เรือรบหลวงสุครีพครองเมืองยิงปืนถวายคำนับ
เรือศรีสุนทรแล่นเข้าลำน้ำระนอง
พอผ่านตลาดจีนชาวประมงที่ปากน้ำจุดประทัดดอกใหญ่ถวายคำนับเรือศรีสุนทรเข้าเทียบสะพานยาวหน้าเมือง
นายพลโทพระยาสุรินทรราชานำเสด็จไป
ประทับปรำปลายสะพานพระสงฆ์สวดชยันโตถวายชัยมงคลข้าราชการสกุล ณ
ระนองและกรมการ
พ่อค้า
นายเหมืองเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเสือป่าและลูกเสือจังหวัดระนองจังหวัดตะกั่วป่าตั้งแถว
รับเสด็จบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับรถม้าเป็นรถพระที่นั่ง
เสด็จพระราชดำเนิน
ไปตามถนนซึ่งมีราษฎรคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ทั้ง ๒
ฟากทางผ่านซุ้มพ่อค้าฝรั่งพ่อค้าพม่าและพ่อค้าจีนตกแต่งรับเสด็จขึ้นเขานิเวศน์ประทับแรม
ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์
การพระราชทานพระแสงราชศัสตราที่จังหวัดระนอง
วันพุธที่ ๑๘ เมษายน
เวลาบ่ายเจ้าพนักงานได้ไปทอดพระราชบังลังก์และแต่งตั้งเครื่องราชูปโภคที่พลับพลาทองจตุรมุขมีปรำรอบตัวอันสร้างขึ้นที่สนามตรงจวนเจ้าเมืองเก่าหนทางห่างจากที่ประทับขึ้นไปประมาณ
๑๐ เส้น เสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ พร้อมด้วยแตรวงธงประจำกอง ๑
กองร้อยในบังคับนายหมวดเอกพระพำนักนัจนิกรได้เดินแถวไปตั้งเป็นกองเกียรติยศตรงหน้าพลับพลา
มีหมวดทหารมหาดเล็กและตำรวจภูธรตั้งแถวอยู่สองข้าง
สมาชิกเสือป่าจังหวัดระนองและตะกั่วป่า
มีดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯ ถวาย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในปรำเบื้องขวา
เวลาบ่าย ๓ โมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศเสือป่า เสด็จทรงรถพระ
ที่นั่งไปยังพลับพลาทอง แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเสือป่า ทหาร
ตำรวจภูธรถวายวันทยาวุธเมื่อสุดเสียงแตรสรรเสริญพระบารมีแล้วนายพลโทพระยาสุรินทราชาสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ตอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาดังต่อไปนี้
คำถวายชัยมงคล
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้ารับฉันทานุมัติของข้าทูลละอองธุลีพระบาทและประชาชนจังหวัดระนอง
ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยในการ
ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระราชอุสาหะเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ตรอนแรมมาในทางกันดารทั้งทางบกและทางน้ำจนบรรลุถึงจังหวัดระนองครั้งนี้
ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเป็นพระมหากรุณา
ธิคุณพิเศษโดยเฉพาะ
เพราะในพระพุทธศักราช ๒๔๕๒ เมื่อทรงดำรงพระราชอิสสริยยศสมเด็จ
พระยุพราชก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาครั้งหนึ่งแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้ายังคำนึงถึงพระเดชพระคุณอยู่
มิได้ขาด
แต่ถึงแม้มาตรว่าข้าพระพุทธเจ้ามีความปรารถนาที่จะได้ชมพระบารมีอีกสักปานใดก็เป็น
อันพ้นวิสัยที่จะให้สมหวังในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ประการ ๑ อีกประการ ๑
เมื่อปีก่อนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตัดถนนและสร้างทางโทรเลขแต่จังหวัดชุมพรมาเชื่อมต่อกับจังหวัดระนอง
ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งรีบทำอยู่ ณ
บัดนี้ก็ควรนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนจังหวัดระนองโดยเฉพาะเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครั้งนี้จึงทำให้ข้า
พระพุทธเจ้าปิติยินดีเป็นพ้นที่จะพรรณนา
ตั้งแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงรับพระราชภาระ
ปกครองพระราชอาณาจักร
พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงชักจูงประเทศสยามขึ้นสู่ความเจริญโดยรวดเร็วเพียงใดข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นประจักษ์อยู่แล้ว
เป็นต้นว่าทางพระราชไมตรีในระวางนานาประเทศก็รุ่งเรือง
พระเกียรติยศพระเกียรติคุณขจรฟุ้งเฟื่องทั่วทิศานุทิศ จนพระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นมหาประเทศในยุโรปได้ถวายยศนายพลเอกในกองทัพบกอังกฤษแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
และทรงรับดำรงยศนายพลเอกในกองทัพบกสยาม
ทั้งนี้ควรนับว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูงส่วนหนึ่ง
ส่วนการป้องกันพระบรมเดชานุภาพและพระราชอาณาจักร
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก็ได้ทรงทำนุบำรุงกองทัพบก ทัพเรือ
และกองอาสาสมัครเสือป่า ลูกเสือ
ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงทั้งทรงอุดหนุนราชนาวีสมาคมและสภากาชาด
ซึ่งควรนับว่าเป็นกำลังและเป็นสง่าสำหรับบ้านเมืองสมควรแก่สมัยทั้งการไปมาค้าขายก็ได้ทรงทำนุบำรุงให้สะดวกเจริญขึ้นเป็นลำดับแม้มหาประเทศยุโรปได้ทำการสงครามขับเคี่ยวกันมาเกือบ
๓ ปีแล้วการไปมาค้าขายเกิดขัดข้องมากบ้างน้อยบ้างทั่วไปทุกประเทศ
การค้าขายในพระราชอาณาเขตต์ก็ดำเนินอยู่เรียบร้อยและเฉพาะในมณฑลภูเก็ตกลับมีผลประโยชน์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนอีก
คนต่างประเทศก็เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่เป็นนิจ
เพราะแสวงหาอาชีพได้คล่องดี
ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายนอกจากนี้ยังมีอีกเหลือที่จะยกขึ้นพรรณนาเพราะได้อาศัย
พระบุญญาภินิหารในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ประกอบกับพระปรีชาสามารถและพระราชวิริยะอุตสาหะในราชกิจทั้งปวง
จึงเป็นผลลุล่วงเห็นประจักษ์ปานฉะนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งซึ่งเป็นใหญ่ในสกลโลกจงอภิบาลรักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ทรงพระเจริญสุขทุกทิพาราตรีกาลพระชนมายุยั่งยืนนานปราศจากโรคาพาธ
ศัตรูทั้งหลายจงพินาศพ่ายแพ้พระบุญญาภินิหาร ขอให้ทรงเกษมสำราญในพระหฤทัย
จะทรงประกอบราชกิจใดๆ
จงเป็นผลสำเร็จสมดังพระบรมราชประสงค์ทุกประการ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
สิ้นคำถวายไชยมงคลแล้วมีพระราชดำรัสตอบดังนี้
พระราชดำรัสตอบ
เราได้ฟังคำของสมุหเทศาภิบาลกล่าวในนามของข้าราชการและอาณาประชาชนจังหวัดระนองนี้เรามีความปิติและจับใจเป็นอันมากที่ได้ทราบว่าท่านทั้งหลายรู้สึกตัวว่าเราได้พยายามและตั้งใจที่จะทำนุบำรุงพวกท่านทั้งหลายให้มีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับข้อนี้เป็นข้อที่เราปรารถนายิ่งกว่าอย่างอื่น
ส่วนตัวเราที่จะมีความสุขความสำราญและรื่นรมอย่างหนึ่งอย่างใดก็โดยรู้สึกว่าได้กระทำการตามหน้าที่มากที่สุดที่จะทำได้ให้เป็นผลสำเร็จ
เมื่อได้มาแลเห็นผลสำเร็จแม้ไม่เต็มที่เป็นแน่ส่วน ๑ ก็นับว่าเป็นที่สบายใจ
ส่วนจังหวัดระนองนี้เราได้เคยมาแต่ครั้งก่อนตามที่สมุหเทศาภิบาลได้กล่าวแล้วและได้มารู้สึกว่าเป็นที่ซึ่งอาจเป็นเมืองเจริญได้แห่งหนึ่งในพระราชอาณาจักรของเราแต่หากว่าลำบากในทางคมนาคม
จึงทำให้ความเจริญนั้นดำเนินได้ช้ากว่าที่จะเป็นไปได้
เราจึงได้ให้จัดการสร้างถนนระหว่าง
จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนองเพื่อให้การคมนาคมดีขึ้น
ครั้นเมื่อเราได้มาในคราวนี้อีกครั้งหนึ่งแล้วก็ได้เดินตามทางที่ตัดใหม่
ซึ่งถึงแม้ยังไม่แล้วสำเร็จดีก็อาจทำความสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก
เมื่อทางไปมาจากจังหวัดชุมพรมาจังหวัดระนองสะดวกขึ้นได้ในทางบกแล้วการค้าขายและการติดต่อในทางทำนุบำรุงอาณาเขตต์ก็ทำได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ข้อนี้ทำให้เรารู้สึกยินดีและรู้สึกเหมือนตัวเราได้มาอยู่ใกล้กับพวกท่านทั้งหลายอีกส่วนหนึ่ง
และยังหวังอยู่ว่าจะสามารถจัดการให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้นกว่าที่ทำได้ในเวลานี้
ในที่สุดนี้เราขอกล่าวว่าจังหวัดระนองเป็นที่ไปมายากเช่นนี้เราจึงมีความเสียใจที่จะ
มาเยี่ยมไม่ได้บ่อยๆ เท่าที่เราปรารถนาจะมา
แต่ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงอยู่เสมอ
จึงจะขอให้ของไว้เป็นที่ระลึกแทนคือพระแสงราชศัตราที่เป็นของเราใช้ไว้สำหรับท่านทั้งหลายจะได้รับไว้รักษาเพื่อเป็นเกียรติยศแก่เมืองนี้
เพื่อเป็นเครื่องแทนตัวเราผู้มาอยู่เองไม่ได้
ขอให้เข้าใจว่าพระแสงนี้เรามอบให้ไม่เฉพาะแต่แก่เจ้าเมืองเท่านั้น
เรามอบให้ท่านทั้งหลายที่เป็นข้าราชการทุกคนต้องช่วยกันตั้งใจทำนุบำรุงรักษาพระแสงนี้ไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติยศลงไปได้แม้แต่เล็กน้อย
ถึงแม้อาณาประชาชนพลเมืองจงรู้สึกว่ามีหน้าที่
เคารพและช่วยรักษาเหมือนกัน
เพราะต้องรู้สึกว่าในส่วนผู้ที่มีหน้าที่ปกครองพระแสงย่อมเป็นเครื่องหมายพระราชอำนาจ
ที่ท่านทั้งหลายรับแบ่งมาใช้ในทางสุจริตทางธรรมเพื่อนำความร่มเย็นแก่อาณาประชาชน
ฝ่ายอาณาประชาชนก็จงรู้สึกว่าพระแสงนี้เป็นอำนาจปกครองเช่นนั้นเหมือนกัน
และเมื่อรู้สึก
ว่ามีอำนาจปกครองอยู่ในที่นี้สมควรจะได้รับความร่มเย็นจากอำนาจนั้นแล้วก็ต้องนับถือเคารพต่ออำนาจนั้นว่าเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัยดังนี้
ถ้าจะประพฤติให้ถูกต้อง ต้องตั้งตนอยู่ในศีลในธรรม
ความสุจริต ซื่อตรง
จงรักภักดีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายและประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดีโดย
ทั่วกัน
ขอให้ผู้ว่าราชการรับพระแสงนี้ไปรักษาไว้แทนบรรดาข้าราชการและอาณาประชาชน
พลเมืองจังหวัดระนองเพื่อเป็นสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ท่านทั้งหลายทั่วกัน
จึงอำมาตย์ตรี พระระนองบุรีศรีสมุทเขตต์
ผู้ว่าราชการจังหวัดรับพระราชทานพระแสง-
ราชศัสตราฝักทองคำจำหลักลายจากพระหัตถ์ขณะนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคล
และข้าราชการจังหวัดและประชาชนถวายไชโยพร้อมกัน
และพระระนองบุรีกราบบังคมทูลรับกระแสพระบรมราโชวาทเหนือ
เกล้าฯ เพื่อปฏิบัติตาม
และรับพระแสงราชศัสตราอันเป็นเครื่องราชูปโภครักษาไว้
เพื่อเป็นเกียรติยศและเป็นสวัสดิมงคลแก่จังหวัดระนองสืบไป
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วแก่พระระนองบุรีศรีสมุทเขตต์และพระยาสุรินทราชานำหีบบรรจุคำถวายชัยมงคลมีรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
และสมุดที่ระลึกในการเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ตขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
และสมุดนั้นได้แจกข้าราชการทั่วไปด้วยแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาทองพระระนองบุรีศรีสมุทเขตต์ทูลเกล้าฯ
ถวายพระแสงราชศัสตราประจำ
จังหวัดระนอง
ทรงรับพระราชทานให้เชิญตามเสด็จพระราชดำเนินเสด็จกลับสู่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์
โดยกระบวนรถม้าตามทางเดิม
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เมษายน
เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จทรงรถม้าประพาสบ้านเมืองผ่าน
สวนซึ่งเป็นที่ตั้งฮ่องซุ้ยที่ฝังศพผู้ใหญ่สกุล ณ ระนอง
เมื่อผ่านทางเข้าไปที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต
(คอซิมก๊อง
ณ ระนอง) ซึ่งถึงอนิจกรรมเมื่อพ.ศ.
๒๔๕๕ มหาอำมาตย์ตรี พระยาดำรงสุจริต (คออยู่หงีณ
ระนอง)
บุตรผู้สืบตระกูลคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเครื่องขมาศพให้นำไปพระราชทานที่ฮ่องซุ้ย
แล้วทรงรถพระที่นั่งต่อไป ถึงฮ่องซุ้ยพระยารัษฎานุประดิษฐ (คอซิมบี้
ณ ระนอง) ซึ่งเดิมเป็นสมุหเทศาภิบาล
สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖
เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ฝังศพและพระราชทานเครื่องขมาศพโดยพระองค์เอง
หลวงบริรักษ์โลหวิสัย (คออยู่จ๋าย ณ ระนอง )
บุตรผู้สืบตระกูลได้คุกเข่าลงกราบถวายบังคมอย่างธรรมเนียมจีน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงพระราชหฤทัยอาลัยในท่านพระรัษฎานุประดิษฐ
ผู้ทรงคุ้นเคยและเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยและพระราชทานพระบรมราโชวาทให้หลวงบริรักษ์โลหวิสัยประพฤติตนให้สมควรเป็นผู้สืบตระกูลวงศ์และพระราชทานพร
แล้วเสด็จประทับในปรำบนสนามหญ้าหน้าฮ่องซุ้ย
ข้าราชการประจำจังหวัดระนองตั้งเครื่องพระสุธารส
ถวายและเลี้ยงน้ำชาข้าราชการทั่วไป พระประ-
ดิพัทธภูบาลได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดินสอเงินมีห่วงห้อย
และแจกดินสอเงินนั้นแก่ผู้ตามเสด็จเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินที่ฮ่องซุ้ย
และหลวงบริรักษ์โลหวิสัยได้แจกบุหรี่ฝรั่งปลายโต
ซึ่งเป็นบุหรี่ของชอบของพระยารัษฎานุประดิษฐผู้บิดาพอเป็นที่ระลึกแก่ผู้ตามเสด็จทั่วกัน
เวลาจวนย่ำค่ำเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ที่ประทับ ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์
ครั้นเวลาค่ำราษฎรชาติพม่าซึ่งมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในจังหวัดระนองมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
และได้เตรียมฝึกหัดบุตรหลานชั้นดรุณีไว้ฟ้อนรำถวายตัว
พวกดรุณีที่มาฟ้อนรำถวายประมาณ ๒๐ คน
แต่งตัวเสื้อผ้าแพรสีสวมมาลัยที่มวยผมที่เอวเสื้อมีโค้งเหมือนรูปแตรงอนทั้ง
๒ ข้างมีสะไบคล้องคอครั้งแรกจับระบำและร้องเพลงพร้อมๆ
กันได้ความว่าเป็นคำถวายชัยมงคลขอให้เทพเจ้าอภิบาลรักษาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทรงพระเกษมสำราญแล้วจึงจับเรื่องละคร
มีจำอวด
ผู้ชายเข้าเล่นด้วย ๒ คน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเสมาเงินอักษรพระปรมาภิไธยย่อแก่เหล่าดรุณีที่ฟ้อนถวายตัว
และพระราชทานแหนบสายนาฬิกาอักษรพระปรมาภิไธยย่อเงินลงยาแก่พม่าผู้เป็นล่ามแปลเรื่องละครถวายและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมแก่พระยาดำรงสุจริต (คออยู่หงี
ณ ระนอง) ด้วย
วันที่ ๒๐ เมษายน เวลาเช้า ๔
โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรถพระที่นั่งไปยังท่าจังหวัดระนอง
กองเสือป่าและลูกเสือจังหวัดระนอง
และตะกั่วป่าตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จและมหาอำมาตย์ตรีพระยาดำรงสุจริต พระประดิพัทธภูบาล
หลวงพิชัยชิณเขตต์ หลวงบริรักษ์โลหวิสัยกับกรมการคฤหบดี ไทย จีน แขก พม่า
ก็มาส่งเสด็จพร้อมกัน พระสงฆ์สวดถวายชัยมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดระนองแก่ระนองบุรีศรีสมุทเขตต์แล้วเสด็จประทับเรือกลไฟศรีสุนทรล่องน้ำระนอง
เมื่อถึงตลาดปากน้ำพวกจีนจุดประทัดดอกใหญ่ถวาย เวลา
เสด็จขึ้นเรือหลวงถลาง เรือรบหลวงศรีสุครีพครองเมืองยิงปืน ๒๑ นัด
กระบวนตามเสด็จมีเรือ โตรัวของบริษัทอิสเตินชิบปิงซึ่งเดินเมลระหว่างปีนังภูเก็ตและระนองและเรือมัมบางซึ่งเป็นเรือหลวงสำหรับจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้นอีก
๒ ลำ นายพลโทพระยาสุรินทราชาสมุหเทศาภิบาล
โดยเสด็จพระราชดำเนินในเรือพระที่นั่งเวลาเที่ยงเรือรบหลวงสุครีพครองเมืองนำกระบวนเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวระนอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ
เมืองระนองในคราวเสด็จประพาสเลียบหัวเมืองชายทะเลตะวันตกและเสด็จฯ
ประทับแรม ณ จังหวัดระนอง ๑ ราตรี ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๗๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ
จังหวัดระนองเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๐๒
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาครูปหนึ่งซึ่งรัฐบาลกลาง
จัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล
เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย
และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทยคือระบบกินเมืองให้หมดไป
การปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ คือเมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๗
แต่เดิมการปกครองหัวเมืองนั้นอำนาจการปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น
หัวเมืองหรือประเทศราชยังไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด
ก็ยังมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมติดต่อไปมาหาสู่กันมีความลำบาก
หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีเฉพาะหัวเมืองจัตวาใกล้ๆ
ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง
และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกันโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง
ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองอยู่ที่เจ้าเมืองระบบเทศาภิบาล
เริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗
จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จ
พระยาราชเสนา (สิริ
เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย
ได้ให้คำจำกัดความของ การเทศาภิบาล
ไว้ว่า การเทศาภิบาล
คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์
รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลางซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากรเพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน
โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ
จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้น อันดับดังนี้คือ
ส่วนใหญ่เป็นมณฑล
รองถัดลงไปเป็นเมืองคือจังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง
ทบวง กรมในราชธานี และจัดสรรข้าราช-การที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดีให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่
มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน
เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน
ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือน
กันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้
มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาด-
ไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง
การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง
ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร
ทรงพระราชดำริว่า
ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว
จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.
๒๔๓๕
เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว
จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง
การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ
มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน
มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมาส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก
บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศา
ภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ
พ.ศ.
๒๔๓๗ เป็นต้นมา และ
ก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร
แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ.
๒๔๓๗
เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ
กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก
มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา
ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้
เมื่อโปรดเกล้าฯ
ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว
จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑล
หนึ่ง
พ.ศ
. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก
๓ มณฑลคือมณฑลนคร ชัยศรี
มณฑลนครสวรรค์และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก
คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
มณฑลภูเก็ต
ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๘ นั้น ประกอบด้วย ๖ เมือง คือ
๑.
เมืองภูเก็ต
๒.
เมืองกระบี่
๓.
เมืองตรัง
๔.
เมืองตะกั่วป่า
๕.
เมืองพังงา
๖.
เมืองระนอง
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตคนแรก คือ พระยาทิพโกษา (โต
โชติกเสถียร)
ซึ่งเดิมเป็นข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกอยู่
ต่อมามณฑลภูเก็ตซึ่งเดิมขึ้นกับสมุหพระกลาโหม
ได้โอนมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
ในปี
๒๔๓๘
ในปี พ.ศ.
๒๔๕๒ ปลายสมัยรัชการที่ ๕
ได้มีการประกาศแยกการปกครองจังหวัดสตูลออกจากมณฑลไทรบุรี
ซึ่งรัฐบาลได้ทำสัญญาโอนให้ไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษโดยให้โอน
เฉพาะจังหวัดสตูลไปไว้ในมณฑลภูเก็ต
ในสมัยราชกาลที่ ๖ พ.ศ.
๒๔๖๘
ได้มีการประกาศโอนการปกครองจังหวัดสตูลมาขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชเพราะจังหวัดสตูลติดต่อกับมณฑลนครศรีธรรมราชซึ่งมีที่ตั้งบัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองสงขลาสะดวกกว่ามณฑลภูเก็ต
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ. ๒๔๗๖
จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน
มีข้าหลวงประจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร
เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นอกจากจะแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว
ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย
เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ. ๒๔๗๖
จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕
จัดระเบียบบริหารราชการส่วน
ภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ
จังหวัดระนองปัจจุบันได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๔ อำเภอ ๒๕ ตำบล และ ๑๓๑
หมู่บ้าน ดังนี้
๑.
อำเภอเมืองระนอง มี ๘ ตำบล ๓๒ หมู่บ้าน
๒. อำเภอกะเปอร์ มี ๗ ตำบล
๓๔ หมู่บ้าน
๓. อำเภอกระบุรี มี ๕
ตำบล ๔๑ หมู่บ้าน
๔. อำเภอละอุ่น มี ๕
ตำบล ๒๔ หมู่บ้าน
นอกจากนี้จังหวัดระนองยังมีหน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ดังนี้
๑.
องค์การบริหารส่วนจังหวัด
มีสมาชิกสภาจังหวัด ๑๘ คน
๒.
เทศบาลภิบาล ๑ เทศบาล คือ เทศบาลเมืองระนอง
๓.
สุขาภิบาล ๕ แห่ง คือ
-
สุขาภิบาลหงาว ต.หงาว อ.เมืองระนอง
-
สุขาภิบาลปากน้ำ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง
-
สุขาภิบาลน้ำจืด ต.น้ำจืด อ.กระบุรี
-
สุขาภิบาลกะเปอร์ ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์
-
สุขาภิบาลละอุ่น ต.ละอุ่นใต้ อ.ละอุ่น
ที่มา :
ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค
จังหวัดระนอง . กรุงเทพมหานคร :
สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง ,
๒๕๒๖.
|