|
|
|
|
|
|
|
|
...พิธีทอดกฐิน ...
เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวษา ชาวพาราเซ็งแซ่แห่กฐิน
ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน กระแสสินธุ์สาดปรายกระจายฟอง
สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น บ้างแข่งกันขันสู้เป็นคู่สอง
แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี
(นิราศเดือน)
|
|
คำว่ากฐิน การทอดกฐินนั้น ถือว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวและมีกำหนดเวลาในการทอดเพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไปเรียกว่า สมัยจีวรกาล คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
|
กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณไม่มีจักรเย็บผ้าทันสมัยเหมือนปัจจุบัน การเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงให้ตึงแล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาช่วยสนเข็ม จนเป็นเหตุให้มีผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาปางหนึ่ง เรียกว่า ปางสนเข็ม
เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ในขณะนั้นจีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำคร่า ท่านจึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสกุลที่มีคนนำมาทิ้งตามกองหยากเยื่อบ้าง ตามสุสานที่บุคคลห่อศพมาทิ้งไว้ตามไรทางบ้าง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ที่มีผู้ศรัทธานำมาทิ้งถวายไว้ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "ผ้าป่า" ในปัจจุบันบ้าง เพื่อรวบรวมผ้าไปเย็บเป็นจีวรในสมัยจีวรกาล
ในครั้งนั้น นางชาลินีเทพธิดา ซึ่งในอดีตชาติที่ 3 เคยเป็นภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระ เห็นพระเถระเที่ยวเสาะหาผ้า หากถวายตรง ๆ พระเถระอาจไม่รับ จึงจัดการถวายแบบผ้าบังสุกุลโดยนำไปวางไว้แล้วเอาหยากเยื่อถม เผยชายผ้าไว้พอให้เห็นได้
เมื่อพระเถระเจ้าได้ผ้าบังสุกุลพอสำหรับทำจีวรแล้ว จึงบอกให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายให้มาร่วมกันจัดทำ ในครั้งนั้นพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระอย่างน่าสรรเสริญ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่มาช่วยเย็บจีวรรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่เหล่าพระสงฆ์ที่มาเข้าร่วมทำจีวรทั้งหลาย
ในคราวนั้น แม้นางชาลินีเทพธิดา ก็ได้ติดตามมาถึงวิหาร และได้แปลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ชักชวนให้ชาวบ้านจัดหาข้าวยาคูของขบฉันและอาหารอันประณีตมาถวายพระภิกษุสงฆ์
จนในที่สุด การตัดเย็บ และย้อมจีวร ก็สำเร็จได้ตามประสงค์ด้วยความสามัคคีมีน้ำใจร่วมกัน
|
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ ที่เมืองสาวัตถี แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์
ภิกษุทั้ง 30 รูปนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์ และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงทีฝนยังตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดดรำฝน ลุยโคลนอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ
เมื่อภิกษุทั้ง 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันตผล ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาทรงดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ ในเมืองออกพรรษาแล้ว นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
|
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน
แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
|
ผู้มีศรัทธาจะนำกฐินไปทอด ณ วัดใด เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาให้ไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสวัดนั้น แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน แต่หากเป็นวัดหลวงเมื่อจองกฐินแล้วทายกนั้นจะต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสังฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน เมื่อได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการแล้วจึงจะจองได้ |
เมื่อได้หมายกำหนดการทอดกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพจองกฐิน จะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินเอาไว้ ได้แก่ ผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามแต่ศรัทธา (ถ้าจัดเต็มที่มัก มี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)
สำหรับทางวัดก็ต้องบอกแก่กรรมการวัดและญาติโยมผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ให้ทราบหมายกำหนดการ เพื่อที่จะได้มาร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งสถานที่ จัดเตรียมงาน และทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาทำการทอดกฐิน
ครั้นก่อนถึงวันทำพิธีทอดกฐิน ๑ วัน เรียกว่าวันสุกดิบ ทุกคนจะมาพร้อมกันที่วัด จัดการตกแต่งสถานที่ ปักธงชาติ ธงธรรมจักร และธงจระเข้ จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับถวายพระ และใช้ในพิธี
|
วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น
อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล
|
การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้
|
ทางด้านเจ้าภาพ เมื่อก่อนถึงวัดทอดกฐิน ก็จัดเตรียมเครื่องกฐินไว้ให้พร้อม ตั้งองค์กฐินไว้ที่บ้านหรือสถานทีกำหนด เพื่อให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนาและบริจาคร่วมบุญกุศล
ครั้นถึงวันสุกดิบ จึงแห่ขบวนกฐินไปตั้งที่วัดในตอนเย็น มีมหรสพเฉลิมฉลอง หรือบางแห่งอาจทำการเฉลิมฉลองกันที่บ้านเจ้าภาพซึ่งเป็นที่ตั้งองค์กฐิน แล้วในตอนเช้าของวันทำพิธีทอด จึงแห่ไปที่วัด ในการแห่กฐินนี้ ทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำหากบ้านหรือวัดอยู่ใกล้แม่น้ำ จะมีขบวนแห่เถิดเทิงกลองยาวเป็นที่ครึกครื้น
ในคืนวันสุกดิบ จะมีการนิมนต์พระมาสวดพทุธมนต์เป็นการฉลองกฐิน เสร็จแล้วจึงมีมหรสพสมโภชหรือการละเล่นของชาวบ้าน
หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพ แยกกันตั้งองค์กฐิน ณ บ้านของเจ้าภาพ ในวันรุ่งขึ้นแห่มาทอดรวมกันที่วัด ทั้งนี้เพราะในแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น บางที
เจ้าภาพหลายรายยื่นความประสงค์จะจองกฐิน จึงต้องให้ร่วมกันทอดเป็นกฐินสามัคคี
|
พิธีทอดกฐินนี้ ที่สำคัญมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ
1. การถวายผ้ากฐิน
2. พิธีกรานกฐิน
การถวายผ้ากฐิน กระทำเมื่อพระสงฆ์ในวัดมาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพก็อุ้มผ้ากฐินนั่งหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็ให้เอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เพื่อจะได้รับกันอย่างทั่วถึง แล้วหันหน้าจึงกล่าวคำถวาย เมื่อจบแล้ว พระสงฆ์จะรับพร้อมกันว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ รวมทั้งประเคนเครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ
หลังจากนั้น พระสงฆ์ก็จะประชุมกัน เมื่อเห็นว่าพระเถระรูปใดมีจีวรเก่า และเป็นผู้รู้ธรรมวินัย ก็พร้อมใจกันถวายให้ภิกษุรูปนั้น ครั้นแล้วพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี
|
อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุโน ภันเต, สังโฆ,
อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฎิคคัณหาตุ, ปะฎิคคะเหตวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ,
กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ทุติยัมปี...(นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)
สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ตะติยัมปี... (นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)
|
คำแปล ข้าแต่พระสงค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.
|
พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร
เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้
ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ
ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)
คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต
ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา
(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)
ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง
เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง
ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน
|
|
ในพระวินัย ระบุอานิสงส์กฐินไว้ 5 คือ
| |
1. เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
|
2. เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้
|
3. ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
|
4. เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
|
5. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น
|
โดยทั่วไปผู้เขียนเองและแม้ผู้รู้บางท่านก็ยังไม่เคยพบในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย
|
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า 3 หน) แปลว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์"
|
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย
แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"
|
ในการทอดกฐินนี้ ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย คือ 1. จุลกฐิน 2.ธงจระเข้
|
มีกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าจุลกฐินเป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันมาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บผ้ายมากรอเป็นด้าย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว
"วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน 12 คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน 12 อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า 119)
|
ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงประดับองค์กฐินให้สวยงามรวมทั้งประดับบริเวณวัด จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้
|
แหล่งที่มา :
ธนากิต. วันสำคัญไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
|
วันสำคัญของไทย
วันสำคัญของไทยและต่างประเทศอื่นๆ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|