อุทยาน แห่งชาติปิดการท่องเที่ยวและพักแรมเฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร ความเป็นมา : เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 452/2523 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2523 ให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำ เพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุด ที่ กส 0708/จช. 67 ลงวันที่ 15 เมษายน 2523 รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปดังพระราช ประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ตำบลน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ 1,548,750 ไร่ หรือ 2,478 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ
ต่อ มาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2525 ถึงนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่าห้วยแร่ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย กรมป่าไม้ จึงให้ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายรุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0713(กจ) /78 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเนื้อที่ 273,125 ไร่ หรือ 437.00 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 194 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวมเนื้อที่ 1,821,875 ไร่ หรือ 2,915 ตารางกิโลเมตร ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุด และจังหวัดเพชรบุรี ได้ขอเพิกถอนพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เพรียง เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เนื้อที่ 158 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในท้องที่ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 187.16 ไร่ หรือ 0.30 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 กันยายน 2541 ทำให้ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงเหลือพื้นที่ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะ ภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ยอดสูงสุดได้แก่ เขางะงันนิกยวกตอง สูงประมาณ 1,513 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ลำห้วยสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แก่ ห้วยประโดน ห้วยบางกลอย ห้วยแม่เสลียง ห้วยหินเพิง ห้วยสาริกา ห้วยฝาก ห้วยไผ่ และห้วยสามเขา ลำห้วยที่สำคัญของแม่น้ำปราณบุรีในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ห้วยคมกฤช ห้วยโสก แม่น้ำสัตว์ใหญ่ ห้วยป่าแดง และห้วยป่าเลา
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพ โดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว ปริมาณน้ำฝนรวมรายปีระหว่าง 986-1,140 มิลลิเมตร ซึ่งในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคม พืชหลักในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แก่ระบบนิเวศของป่าไม้ ซึ่งปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติถึงร้อยละ 85.64 ประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ป่าดงดิบชื้น พบขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้างในระดับความสูงประมาณ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระลอขน ตะแบก เสลา มะค่าโมง เขม่าสาย ยางโอน เสม็ดฟอง พญารากดำ มะกอกแบน นกน้อย ผมหอม ตาเสือ เสม็ดเขา หนามขี้แรด ชมพูป่า ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไม้เถา เช่น เถากระไดลิง เป็นต้น ป่าดงดิบแล้ง พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะตามที่ลุ่มริมฝั่งน้ำในหุบเขา ไหล่เขา และที่ราบต่ำระหว่างภูเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 400-500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ดำดง สมอ จัน ข่อยหนาม กระเบากลัก หมากเล็กหมากน้อย ถอบแถบ ดีหมี กระเบากลัก กระชิด หงอนไก่ดง ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไม้เถา เช่น กำลังหนุมาน สะแกวัลย์ หวายลิง เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ทางตอนกลางและส่วนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตีนนก แดง ตะคร้ำ มะกอก ประดู่ ตะแบก อ้อยช้าง ตะโก ตีนเป็ด งิ้วป่า โมกมัน ติ้ว ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างโดยทั่วไปเป็นลูกไม้ กล้าไม้ ของไม้ชั้นบน รวมทั้งไผ่ หญ้าคา หญ้าปล้อง และไม้เถา เป็นต้น ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูง 200-400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง พลวง พะยอม ประดู่ ตะแบก เปล้าหลวง แดง ฯลฯ สำหรับพืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้า ลูกไม้ของไม้ชั้นบน และไม้เถา เป็นต้น เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเชื่อมต่อกับ เทือกเขาภูเก็ตของภาคใต้และตอนเหนือเข้าไปในประเทศพม่า สัตว์ป่าจากประเทศอินเดียและพม่าจะแพร่กระจายลงมาทางทิศตะวันตกของประเทศลง มาถึงบริเวณนี้ และพวกสัตว์ป่าจากประเทศมาเลเซียก็จะแพร่กระจายขึ้นมาตามเทือกเขาภูเก็ตมา ถึงบริเวณนี้เช่นเดียวกัน ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่าทั้งจากทิศเหนือ และทิศใต้ ชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญได้แก่ ช้างป่า หมีหมา หมาไน หมาจิ้งจอก เสือดาว เสือโคร่ง เลียงผา สมเสร็จ วัวแดง กวางป่า เก้งหม้อ ชะนีมือขาว ลิงเสน นกกระสาคอขาว เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกเค้าหน้าผากขาว กบทูด ปาดยักษ์ เต่าหก จิ้งเหลนภูเขาสีจาง เป็นต้น นอกจากนี้ในบริเวณลำธารและอ่างเก็บน้ำ สำรวจพบปลาน้ำจืดอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลานางอ้าว ปลาซิวใบไผ่ ปลาขี้ยอก ปลากระสูบขีด ปลากดเหลือง ปลาดุกด้าน ปลากระทุงเหว ปลาหมอช้างเหยียบ ปละกระสง และปลากระทิง ฯลฯ
จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี เข้าสู่เขตจังหวัดเพชรบุรี หรือจะเดินทางไปตามถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี - ปากท่อ) ถึงสามแยกวังมะนาวให้เลี้ยวซ้าย ก็จะเข้าสู่เขตจังหวัดเพชรบุรีเช่นกัน จากนั้นมีหลายเส้นทางที่ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดังนี้ 1. เข้าทางอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3349 ถึงเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน ให้เลี้ยวชวา เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เส้นทางนี้ถนนบางช่วงยังเป็นถนนลูกรัง ยังอยู่ระหว่างการทำถนน 2. เข้าทางสี่แยกเขาตะเครา (ก่อนเข้าตัวเมืองเพชรบุรี) ไปตามทางหลวงหมายเลข 3204 ถึงเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน ให้เลี้ยวชวา เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3. เข้าทางอำเภอท่ายาง เมื่อเดินทางถึงสี่แยกเขื่อนเพชร ให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามเส้นทางระหว่างอำเภอท่ายาง - อำเภอแก่งกระจาน เดินทางต่อไปจนผ่านที่ทำการอำเภอแก่งกระจาน เข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถโดยสารสายกรุงเทพฯ-ท่ายาง ถึงอำเภอท่ายาง เดินทางต่อโดยรถสองแถวสายท่ายาง-แก่งกระจาน ถึงบ้านแก่งกระจาน จากนั้นต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างหรือรถยนต์จ้างเหมาอีก 4 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่
อุทยาน แห่งชาติแก่งกระจาน นอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูนก ดูผีเสื้อ และสัตว์ป่านานาชนิด จึงมีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ดัง นั้นในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว
การดูนก จุด ที่น่าสนใจสำหรับการดูนกส่วนใหญ่อยู่ตามเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง บริเวณกิโลเมตรที่ 15 มีนกพญาปากกว้าง นกบั้งรอก นกหัวขวาน นกแต้วแล้ว และนกเงือกหลายชนิด ช่วงกิโลเมตรที่ 26 - 29 มีนกเสือแมลงหัวขาว นกกะรางหัวหงอก โดยเฉพาะนกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งมักหากินรวมฝูงอยู่กับนกระวังไพรปากแดงสั้น จากบริเวณนี้เป็นต้นไป สามารถพบนกทางภาคเหนือ เช่น นกปรอดหัวตาขาว นกเสือแมลงปีกแดง นกกะลิงเขียดสีเทา ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูนก คือ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 17.00 น.
การดูผีเสื้อ จุด ที่น่าสนใจสำหรับการดูผีเสื้ออยู่บนเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง โดยเริ่มตั้งแต่กิโลเมตร ที่ 10 เป็นต้นไป จะพบผีเสื้อตามสองข้างทาง บริเวณแอ่งน้ำมีผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อวาวสีต่างฤดู ตามพุ่มไม้มีผีเสื้อกะลาสีธรรมดา ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้า ผีเสื้อช่างร่อน ตามกองมูลสัตว์มีผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา ผีเสื้อตาลหนามใหญ่ จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ. 4 (บ้านกร่าง) อาจพบผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียวซึ่งเป็นผีเสื้อหายากชนิดหนึ่ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูผีเสื้อ คือ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 14.00 น.
เขาพะเนินทุ่ง อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 50 กิโลเมตร เป็นเขาที่สูงประมาณ 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงมีความหนาวเย็นตลอดปี บนยอดเขาปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและไม้ต้นเล็กๆ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่งดงามทั้งยามปกติ และยามมีทะเลหมอกในช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูฝนหนาวที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง การเดินเท้าขึ้นยอดเขาพะเนินทุ่งมี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเริ่มจาก กม. ที่ 27.5 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง โดยเดินข้ามลำธารหลายสายก่อนขึ้นถึงยอดเขา ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง อีกเส้นทางหนึ่งเริ่มจากบริเวณ กม. ที่ 30 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง แต่ต้องข้ามเนินเขาหลายลูก ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง เนื่องจากเส้นทางบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง เป็นเส้นทางที่ลาดชัน บางช่วงแคบ ผ่านหน้าผา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงกำหนดเวลาขึ้น-ลงสำหรับรถยนต์ที่ใช้เส้นทางนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดังนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบไป-กลับ ไม่พักค้างแรม กำหนดให้เดินทางดังนี้
จุดชมทะเลหมอก กม.36 สามารถ ชมทะเลหมอกได้เกือบตลอดปี จุดชมวิวนี้อยู่บริเวณ กม.ที่ 36 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง ก่อนถึงทางลงสู่น้ำตกทอทิพย์ ในยามเช้าจะมองเห็นทะเลหมอกสีขาวปกคลุมทั่วหุบเขา เมื่อทะเลหมอกสลายตัวไปแล้วจะมองเห็นผืนป่าดงดิบเบื้องล่างเบียดตัวกันแน่น ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนกว้างไกลสุดตา บางครั้งอาจพบนกกกและนกเงือกกรามช้างบินอยู่เหนือผืนป่า การเดินทางขึ้นสู่จุดชมทะเลหมอกใช้เส้นทางขึ้นเขาที่มีกำหนดเวลาแน่นอนในการ ขับรถยนต์ขึ้นเขาและลงเขา ต้องกางเต็นท์พักแรมที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (พะเนินทุ่ง) บริเวณ กม.30 เพื่อตื่นขึ้นมาชมทะเลหมอกในยามเช้า
ชมความงามริมทางสายวังวน-น้ำตกทอทิพย์ เป็น เส้นทางเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติประมาณ 34.5 กิโลเมตร ระหว่างทางสามารถชมทิวทัศน์ได้ตลอดสายเห็นภูเขา ทะเลหมอก ป่าเขียวขจี และพบเห็นสัตว์นานาชนิด
ถ้ำค้างคาว ถ้ำค้างคาว มีหลืบหินและปล่องถ้ำสวยงามระหว่างการเดินทางเข้าถ้ำ สามารถชมทิวทัศน์ของป่าและภูเขาได้
ถ้ำวิมาน มี หินงอกหินย้อยสวยงาม อากาศเย็นสบาย ภายในถ้ำพบร่องรอยของมนุษย์โบราณ เช่น เศษกระเบื้อง และขวานหินใกล้ถ้ำ บริเวณใกล้ถ้ำมีน้ำตกห้วยปลาก้าง มีความสูง 3 ชั้น
ถ้ำหัวช้าง อยู่ ตรงบริเวณเทือกเขาสามยอด และบริเวณถ้ำวิมาน มีหินงอก หินย้อย ซึ่งธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง ภายในถ้ำยังมีหลักฐานและร่องรอยของมนุษย์โบราณ
น้ำตกกระดังลา อยู่ ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ท้องที่หมู่ 3 ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีความสูง 3 ชั้น
น้ำตกชลนาฎ มี ความสูง 3 ชั้น เป็นน้ำตกที่มีผาน้ำตกสูงที่สุดของน้ำตกในเขตอุทยานห่งชาติแก่งกระจาน สูงประมาณ 150-200 เมตร อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกป่าละอู ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
น้ำตกทอทิพย์ อยู่ ห่างจากยอดเขาพะเนินทุ่งประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจะเดินทางไปชมโดยทางรถยนต์ จุดเริ่มต้นของทางลงเขาสู่น้ำตกทอทิพย์อยู่บริเวณ กม. 36 สุดทางของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง เป็นทางดิ่งลงเขาตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร ตัวน้ำตกมีถึง 9 ชั้น สายน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นทางยาวตามความชันของพื้นที่ สามารถเดินเลาะข้างน้ำตกลงมาจนครบทุกชั้น ปลายทางของสายน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณริมแม่น้ำเป็นจุดกางเต็นท์พักแรมที่เรียกว่า เคยู แค็มป์
น้ำตกธารทิพย์ มีความสูง 7 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกหินลาด
น้ำตกปราณบุรี มีความสูง 3 ชั้น อยู่ใกล้กับเส้นทางสายวังวน-น้ำตกทอทิพย์ (บริเวณ กม. 23) มีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกป่าละอู เป็น น้ำตกขนาดใหญ่ มีความสูง 15 ชั้น ไหลลดหลั่นลงมาเป็นทางยาว ชั้นที่ 1-3 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำตกชั้นที่สูงขึ้นไปต้องปีนป่ายไปตามโขดหินสูงชัน น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือ น้ำตกชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำใหญ่อยู่ท่ามกลางป่าร่มครึ้ม น้ำตกป่าละอูอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากหัวหินประมาณ 60 กิโลเมตร ใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.3 (ห้วยป่าเลา) บริเวณนี้ทางอุทยานแห่งชาติจัดให้มีพื้นที่กางเต็นท์ บ้านพัก และค่ายพักแรม โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08 7161 2922
น้ำตกแม่สะเลียงหรือน้ำตกเสลียง มี ความสูง 3 ชั้น น้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 34 กิโลเมตร ถึงทางแยกตรง กม. 27 แล้วเดินทางไปทางทิศตะวันตกอีก 5 กิโลเมตร เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งและเดินป่า
น้ำตกห้วยป่าเลา มี ทั้งหมด 7 ชั้น อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกป่าละอู อยู่ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สองข้างเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์ ตลอดเส้นทางมีพืชพันธุ์ที่แปลกตา
น้ำตกหัวป่าเงา อยู่ ทางด้านใต้ของพื้นที่มีน้ำตกใหญ่น้อยมากมาย รวมเป็นกลุ่มได้ถึง 4 กลุ่ม มีเส้นทางเข้าถึงสะดวก อยู่ในท้องที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อกับโครงการพระราชดำริห้วยสัตว์ใหญ่
น้ำตกหินลาด มีความสูง 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกธารทิพย์
ผาน้ำหยด เป็น หน้าผาอยู่ริมลำน้ำเพชรบุรีกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ท่องเที่ยวโดยการล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรี มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลหยดลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝน น้ำจะหยดเป็นสาย ก่อให้เกิดแผงมอสคลุมเขียวไปทั้งหน้าผา
ลานหนุมานหรือเขาประการัง ลักษณะ ของภูเขาเป็นหินที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตาคล้ายประการัง บริเวณนี้มีลิง ค่าง และชะนี เป็นจำนวนมาก และยังเป็นสถานที่ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน มี เนื้อที่ประมาณ 46.5 ตารางกิโลเมตร เกิดจากการสร้างเขื่อนดินปิด 3 ช่องทางระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมแก่งน้ำเดิม เป็นพื้นน้ำอาณาเขตกว้างขวางจากยอดเขาเนินเขาหลากเป็นเกาะโผล่พ้นน้ำถึง 30-40 เกาะ ก่อให้เกิดทิวทัศน์งดงามยิ่งเหมาะสำหรับการนั่งเรือชมทัศนียภาพและชมพระ อาทิตย์ตกยามเย็นที่สันเขาตะนาวศรี
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ.
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ โซนที่ 2 บรรยายกาศริมอ่างเก็บน้ำเขื่อแก่งกระจาน บางหลังอยู่บนเนินเขา อยู่เลยที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.3 (ห้วยป่าเลา) โซนที่ 4 ใกล้น้ำตกป่าละอู
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ โซนที่ 1 บรรยายกาศบนเนินเขา
ลานกางเต็นท์ บริเวณ บ้านกร่างแคมป์ กิโลเมตรที่ 15 ของถนนเพื่อการท่องเที่ยวสายวังวน - พะเนินทุ่ง สามารถรองรับนักทองเที่ยวได้ประมาณ 400 คน บรรยากาศริมลำธาร ชายป่า ชมนก ชมผีเสื้อ และสัตว์ป่า ไฟฟ้าใช้เครื่องปั่นไฟ
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สามารถรองรับนักทองเที่ยวได้ประมาณ 600 คน บรรยากาศริมอ่างเก็บน้ำ ล่องเรือชมทิวทัศน์ พายเรือคายัค เรือแคนู มีไฟฟ้าส่องสว่าง ท่านสามารถสำรองที่พักเต็นท์โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรงที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.19 (พะเนินทุ่ง) อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ของถนนเพื่อการท่องเที่ยวสายวังวน-พะเนินทุ่ง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 150 คน บรรยากาศยอดเขา ชมทะเลหมอก ทิวทัศน์ และสัตว์ป่า ไม่มีไฟฟ้า ใช้เครื่องปั่นไฟ
ลานกางเต็นท์ นอก จากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และเกาะสะแกวัลย์) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.3 (ห้วยป่าเลา) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.4 (บ้านกร่าง) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.19 (เขาพะเนินทุ่ง) ซึ่งจัดให้บริการบ้านพัก ค่ายเยาวชน และลานกางเต็นท์แล้ว ทางอุทยานแห่งชาติยังอนุญาตให้พักค้างแรมค้างคืนโดยการจอดยานพาหนะนอน ใช้เต็นท์ กระโจม รถพ่วง หรือโดยวิธีอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.2 (เขาสามยอด) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.9 (เขาดอกไม้) และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.10 (ห้วยแม่เสลียง) ด้วย สำหรับบริเวณอื่นๆ มิให้พักแรม ยกเว้นได้รับอนุญาตก่อน จึงจะเข้าพักได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ค่ายเยาวชน มีค่ายเยาวชนให้บริการ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.3 (ห้วยป่าเลา) โซนที่ 4 ใกล้น้ำตกป่าละอู ผู้ประสงค์จะใช้บริการให้ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ค่ายเยาวชน มีค่ายเยาวชนให้บริการ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.4 (บ้านกร่าง) โซนที่ 3 ผู้ประสงค์จะใช้บริการให้ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ ลงทะเบียนเข้าที่พักพร้อมรับกุญแจที่พัก ติดต่อรถยนต์ขึ้นเขาพะเนินทุ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
อื่นๆ เนื่อง จากเส้นทางบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง เป็นเส้นทางที่ลาดชัน บางช่วงแคบ ผ่านหน้าผา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงกำหนดเวลาขึ้น-ลงสำหรับรถยนต์ที่ใช้เส้นทางนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวดังนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบไป-กลับ ไม่พักค้างแรม กำหนดให้เดินทางดังนี้
ห้องอาบน้ำ มีห้องอาบน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยวบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ