อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000.00 ไร่ หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร สำหรับชื่อของอุทยานแห่งชาติเป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของ อุทยานแห่งชาติ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นโดยอาศัยชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลสุกสีแสด เมล็ดให้สารสตริคนิน ซึ่งเป็นสารเบื่อเมา คาดว่าในสมัยก่อนมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า ทุ่งแสลงหลวง ให้สมกับเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติไว้ ความเป็นมา: มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2503 กรมป่าไม้จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจและหมายแนวเขตป่าทุ่งแสลงหลวง เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง เนื้อที่ประมาณ 801,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนก นางแอ่น ตำบลชมภู ตำบลบ้านมุง อำเภอวังทอง ตำบลหนองกระท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดจังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าผล อำเภอเมือง ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 80 ตอนที่ 11 ลงวันที่ 29 มกราคม 2506 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศ ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้มีหนังสือที่ กห 0334/137 ลงวันที่ 7 มกราคม 2514 ขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดตั้งกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนออนุกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2514 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 มีมติเห็นควรให้ทำการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวให้ทางราชการทหาร โดยออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นพื้นที่หวงห้ามทางราชการทหารต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงบางส่วน และกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นใหม่ รวมเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89 ตอนที่ 190 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ต่อมาอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้มีหนังสือที่ 49/2517 ลงวันที่ 17 เมษายน 2517 รายงานว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กำหนดให้บริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า การประกาศมิได้ระบุบางตำบลที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไว้ด้วย กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 มีมติให้ขยายบริเวณที่ดินส่วนที่มิได้ระบุในประกาศคณะปฏิวัติให้ถูกต้อง โดยมีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติและกำหนดบริเวณที่ดินทุ่ง แสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลชมภู อำเภอหล่มสัก ตำบลท่าพล อำเภอเมือง ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 92 ตอนที่ 101 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 รวมพื้นที่ 789,000 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ อุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร เนื่องจากภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทราย ลักษณะของภูเขาจะเป็นภูเขายอดตัดหรือมีที่ราบบริเวณยอดเขา แต่บริเวณร่องเขาจะลึก และมีความลาดชันสูง เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่ง่ายต่อการถูกกัดเซาะ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ่ม คลองชมภู คลองน้ำปอย คลองวังทอง และห้วยกอก เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
ใน ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,300-1,700 มิลลิเมตรต่อปี โดยมีปริมาณมากที่สุดในเดือนกันยายน และในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงประกอบด้วย 1. ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไปชนิดไม้สำคัญที่พบเป็นไม้เด่นได้แก่ หว้าหิน ก่อหิน ก่อเดือย ก่อตาหมู หว้าดง ทะโล้ ตำแยต้น กระดูกไก่ สนสองใบ ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกมอส เฟิน เถาวัลย์ หวาย และว่านชนิดต่างๆ 2. ป่าดิบชื้น พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป และตามร่องน้ำ หรือที่ลาดเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ก่อตลับ ตาเสือ มะไฟ ดำดง ชะมวง มะกอก ยมหอม ยางโดน กระเบากลัก จำปาป่า ตะเคียนหิน อบเชย พญาไม้ ฯลฯ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา มะพร้าวนกคุ่ม ม้ากระทืบโรง หวาย เฟิน และพืชในตระกูลขิงข่า เป็นต้น 3. ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ยอป่า เต็งตานี มะหาด ยางโดน ยางนา แคทราย กระบาก มะกล่ำต้น ขี้อ้าย ก่อข้าว กฤษณา ฯลฯ 4. ป่าสนเขา ขึ้นอยู่ในที่สูง 700 - 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า มีสนสองใบ เหียง เหมือดแอ เหมือดคน ส้านใหญ่ ชะมวง ตับเต่าต้น ฯลฯ ขึ้นอยู่ พืชพื้นล่างเป็นหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง บุก กระเจียว และเฟิน เป็นต้น 5. ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ในระดับความสูง 400-700 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบกเปลือกบาง กระบาก ซ้อ ปอสำโรง เก็ดดำ ตีนนก แต้ว พลับพลา ชิงชัน พะยูง โมกมัน ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ชนิดต่างๆ กลอย กระทือ ว่านมหากาฬ โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น 6. ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงประมาณ 400 เมตร ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ รัง เหียง กราด พลวง เต็ง มะม่วงป่า ตับเต่าต้น ส้านใหญ่ มะเกิ้ม งิ้วป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าเพ็ก หญ้าคา หญ้าขน บุก กวาวเครือ กระเจียว ไพล เป็นต้น 7. ทุ่งหญ้า เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ ประกอบด้วยหญ้าชนิดต่างๆ มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ในสภาพแคระแกร็นประกอบด้วย เหมือดคน ส้านใหญ่ เหียง มะขามป้อม พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง กระเจียว กลอย บุก ก้ามกุ้ง ก้ามปู ว่านมหากาฬ ข่าป่า อบเชยเถา คราม และเป้ง เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ประกอบด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่ากระแตธรรมดา กระรอกหลากสี กระเล็น หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง นกเขาเปล้าธรรมดา นกแอ่นตาล นกตะขาบทุ่ง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดเหลืองหัวจุก นกจับแมลงหัวเทา เต่าหับ ตะพาบน้ำ ตะกวด ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบ้าน จิ้งเหลนหลากหลาย งูลายสอธรรมดา งูทางมะพร้าวธรรมดา งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกรายลายเลอะ เขียดอ่อง กบหนอง ปาดแคระธรรมดา เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาที่อาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลาซิว ปลาพุง ปลาขาว ปลาเขียว ปลามุด ปลาติดหิน ปลารากกล้วย และปลากั้ง เป็นต้น
การ เดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สามารถเข้าได้หลายทาง ทางที่สะดวกที่สุดคือ จากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข12 สายพิษณุโลก - หล่มสัก ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
เริ่ม ต้น บขส.พิษณุโลก โดยนั่งรถพิษณุโลก - หล่มสัก - เพชรบูรณ์ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 80 ถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่ถ้าเดินทางไปทุ่งแสลงหลวงต้องนั่งรถไปลงที่สามแยกตำบลแคมป์สน โดยต่อรถหรือเหมารถสองแถวไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งฃาติที่ สล.8 ( หนองแม่นา )
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
แก่งวังน้ำเย็น เป็น แก่งหินขนาดใหญ่กว้าง 40-50 เมตร ยาวหลายร้อยเมตร ประกอบด้วยแก่งหินขนาดใหญ่หลายแก่ง โดยในระหว่างแก่งแต่ละแก่งเป็นวังน้ำลึกขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) ไปตามทางที่จะไปทุ่งโนนสนประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วมีทางแยกเข้าไปอีก 500 เมตร ระหว่างทางเป็นป่าเต็งรัง ป่าสนเขา และป่าเบญจพรรณ มีโอกาสพบนกมากมายหลายชนิด เช่น นกหัวขวานใหญ่สีเทา นกโกโรโกโส ฯลฯ บริเวณแก่งวังน้ำเย็นยังมีผีเสื้อให้ชม เช่น ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อหนอนคืบสไบแดง เป็นต้น
ถ้ำค้างคาว อยู่ ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (สะพานสลิง) ไปทางทิศใต้ระยะทางทางบกประมาณ 5 กิโลเมตร ทางน้ำประมาณ 4 กิโลเมตร (ต้องใช้เรือ) ระหว่างเส้นทางจะพบนกและปลานานาชนิด ตลอดทางมีแก่งหินที่สามารถนั่งพักผ่อนได้
ถ้ำเดือน-ถ้ำดาว ลักษณะถ้ำ มีโถงถ้ำสูงใหญ่ มีหินงอกหินย้อยและลำธารไหลผ่านในถ้ำ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเนินมะปรางประมาณ 8 กิโลเมตร
ถ้ำพระวังแดง เป็น ถ้ำขนาดใหญ่และมีความยาวถึง 13 กิโลเมตร มีทางเข้าถ้ำอยู่ตรงกลางถ้ำ ทางด้านท้ายถ้ำยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก สำหรับทางด้านหน้าถ้ำมีทางเล็กๆ ลงไปพบกับโถงถ้ำใหญ่ และมีลำห้วยอยู่ด้านล่าง ถ้ำมีความคดเคี้ยวมาก มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีอากาศหายใจสะดวกตลอดถ้ำ
ทุ่งนางพญา เป็น ทุ่งหญ้าที่แวดล้อมด้วยป่าสนสองใบสลับกับป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง เหมาะสำหรับการกางเต็นท์พักแรมมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีสายหมอกลอยอ้อยอิ่งปกคลุมไปทั่วบริเวณ แต่ที่ทุ่งนางพญาไม่มีสิ่งอำนวยควาสะดวกเหมาะสำหรับนักท่องที่ยวที่ต้องการ ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างแท้จริง ทุ่งนางพญาอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) ประมาณ 14 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่นิยมสำหรับกิจกรรมปั่นจักรยานเสือภูเขา
ทุ่งโนนสน เป็น ทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตามบริเวณลานหินจะเต็มไปด้วยดอกไม้เล็กๆ เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน ฯลฯ รวมทั้งกล้วยไม้ดินนานาชนิด เช่น เอื้องม้าวิ่ง ยี่โถปีนัง ฯลฯ จึงนับเป็นทุ่งดอกไม้ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถพบรอยเท้าสัตว์ป่าพวกเก้ง กวางป่า ได้ไม่ยาก การเดินทาง สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) มาประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าเข้าไปอีก 15 กิโลเมตร จึงจะถึง ปัจจุบันเป็นที่นิยมสำหรับกิจกรรมปั่นจักรยานเสือภูเขาเช่นกัน
ทุ่งแสลงหลวง เป็น ทุ่งหญ้าแบบสะวันนา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ตามเส้นทางจะตัดผ่านป่าเบญจพรรณจะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทางเป็นประจำ และพันธุ์ไม้ดอกมากมาย การเดินทางจากอำเภอหล่มสัก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ไปทางจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงทางแยกแค็มป์สน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2196 ไปอำเภอเขาค้อ เมื่อถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2258 ตรงไปจนถึงบ้านทานตะวัน แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ
น้ำตกแก่งโสภา เป็น น้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดจากลำห้วยเข็กใหญ่ไหลผ่านหน้าผาขนาดใหญ่ลดหลั่นกัน ประมาณ 3 ชั้น และไหลผ่านไปตามแก่งหินอีกหลายแก่ง ตั้งอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 71-72 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ซึ่งจะมีทางแยกเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร
น้ำตกซอนโสม เป็น น้ำตกขนาดเล็กสูงประมาณ 10 เมตร 2 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นห่างกันประมาณ 200 เมตร อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร การเดินทางสามารถไปได้ทั้งรถยนต์และเดินเท้าอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางสามารถพบเห็นดอกไม้ต่างๆ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะ ทาง 2.5 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะได้ชมพื้นที่นาและบ้านพักอาศัยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่ง เคยตั้งกองกำลังในพื้นที่มาก่อน รวมทั้งชมความหลากหลายของพันธุ์ไม้ เช่น สน ค้อ เสม็ดแดงใบมน ฯลฯ และนก เช่น นกกระทาทุ่ง นกกะรางหัวขวาน นกแซงแซวสีเทา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินป่าจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.12 (รักไทย) ผ่านฐานแตก (ฐานปฏิบัติการของทหารที่มีการสู้รบกับ ผกค.) และเดินเท้าต่อไปยังทุ่งโนนสนอีกประมาณ 8 กิโลเมตร และยังมีน้ำตกคนเมินซึ่งเป็นน้ำตกเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่กลางป่าดงดิบ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (โซนที่ 1) จำนวน 7 หลัง
ที่พักแรม/บ้านพัก มี บ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณหนองแม่นา (โซนที่ 2) จำนวน 8 หลัง โซนนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 60 กิโลเมตร
ที่พักแรม/บ้านพัก มี บ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณลำน้ำเข็ก (โซนที่ 3) จำนวน 2 หลัง โซนนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติม คลิกที่นี่
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.