4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
สิ่งสำคัญในวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
1. องค์พระเจดีย์
ลักษณะการก่อสร้างกอด้วยอิฐถือปูน ทาบด้วยแผ่นทองเหลือง
แผ่นทองแดงตลอดทั้งองค์ วัดจากฐานโดยรอบ กว้างด้านละ 12 วา
สูงตั้งแต่ฐานพื้นดินถึงยอด 22 วา 2 ศอก
ภายในบรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่มอบให้ลั๊วอ้ายกอน เมื่อครั้งพุทธกาล
ครั้งนั้นที่ลั๊วะอ้ายกอนสร้างสูงเพียง 7 ศอก
ต่อเมื่อมาพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วนาน 218 ปี มีพระอรหันต์สององค์
ชื่อพระกุมารกัสสปะเถระกับพระเมฆิยะเถระ ได้นำเอาอัฐิพระธาตุ พระนลาตข้างขวาและอัฐิธาตุลำคอข้างหน้าหลังของพระพุทธเจ้ามาประจุในสถูปเจดีย์
พระสถูปเจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวงซึ่งปรากฏในตำนานได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สร้างเสริมมาหลายครั้งหลายคราว
และที่ปรากฏเห็นอยู่ทุกวันนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยเจ้าเมืองหาญศรีทัตถะมหาสุรมนตรี
ซึ่งพระเจ้าดิดกปนัดดา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ส่งมาปกครองเมืองลำปางเมื่อ พ.ศ. 2309
2. พระวิหารหลวง
อยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ กว้าง 8 วา 2 ศอก ยาว 18 วา เสามี
46 ต้น ก่อขึ้นด้วยศิลาแลง ในสมัยเจ้าหมื่นคำเป๊ก เป็นชาวเมืองใต้
พระเจ้าติโลกธรรมราชา (พระยาลกคำ) เจ้าเมืองเชียงใหม่
ให้มาปกครองเมืองลำปางได้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2039
ในวิหารหลวงมีมณฑปสร้างเป็นซุ้มปราสาทอันสวยงามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่และสวยที่สุดของเมืองลำปาง
ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 3 ศอก 2 คืบ สูง 1 ศอก 3 คืบ สร้างในปี พ.ศ. 2044
และมีพระเจ้าทันใจหล่อด้วยทองหน้าตักกว้าง 2 ศอก สูง 2 ศอก
ประดิษฐานอยู่ด้านหลังมณฑปพระเจ้าล้านทอง
3. วิหารพระพุทธ
กว้าง 5 วา ยาว 11 วา 1 ศอก
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างแต่ประมาณว่ามีอายุไม่น้อยกว่า
700 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าพระพุทธ เป็นพระพุทธองค์ใหญ่และสวยงามมากที่สุด
ก่อด้วยอิฐถือปูน ปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 2 วา 2 ศอก 1 คืบ สูง 2 วา 2 ศอก 1
คืบ
4. พระอุโบสถ
กว้าง 3 วา 1 ศอก 10 นิ้ว ยาว 7 วา 1 ศอก สร้างประมาณปี พ.ศ. 2019
ไม่ปรากฏนามว่าใครเป็นผู้สร้าง
5. หอพระพุทธบาทจำลอง
กว้างด้านละ 4 วา 3 ศอก สร้างฐานก่อเป็นชั้นคล้ายฐานพระเจดีย์
ครอบพระพุทธบาทไว้ ในสมัยเจ้าเมืองหาญแต่ท้องมาปกครองเมืองนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ.
1992 ในรัชกาลของพระเจ้าติโลกธรรม ราชากษัตริย์เจ้าเมืองเชียงใหม่
6. วิหารพระเจ้าศิลา
(วิหารพระยาละโว้หรือวิหารจามเทวี) กว้าง 3 วา 2 ศอก 6 นิ้ว ยาว 8
วา สร้างประมาณ พ.ศ. 1200 โดยพระเจ้ากรุงละโว้
พระราชบิดาของพระนามจามเทวีได้มาสร้างไว้ สำหรับประดิษฐานพระเจ้าศิลา ปางนาคปรก
เป็นหินสีเขียวหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว อยู่ในมณฑปซุ้มปราสาทอีกชั้นหนึ่ง
มีลวดลายสวยงดงามมาก
ตามตำนานกล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดเพื่อให้เจ้าอนันยศ
(พระเจ้าหลาน) โอรสของพะนางจามเทวีได้สักการะบูชาอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์
7. วิหารน้ำแต้ม
อยู่เหนือองค์พระเจดีย์ สร้างในสมัยเจ้าเมืองหาญศรีทัต
(เจ้าหมื่นหาญแต่ท้อง) ประมาณปี พ.ศ. 2044 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป
หล่อด้วยโลหะหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ สูง 2 ศอก 1 คืน
8. วิหารต้นแก้ว
กว้าง 3 วา 1 ศอก 5 นิ้ว ยาว 7 วา 2 ศอก
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทอง
ไม่ปรากฏนามผู้สร้างได้รับการบูรณะใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2510
9. วิหารพระแก้วมรกต
วิหารนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง
เป็นที่เก็บโบราณวัตถุสิ่งของมีค่าต่าง ๆ เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำอำเภอเกาะคา
แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบมาก เพราะมีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
ล้วนแต่สิ่งของมีค่าจึงได้จัดขยายไปไว้ในชั้นในอีกแห่งหนึ่ง
มีโบราณวัตถุมากมายไม่แพ้ที่อื่นใดในภาคเหนือ
ส่วนตัววิหารสันนิษฐานว่ามีอายุการสร้างไม่น้อยกว่า 400 ปี
10. พระแก้วมรกต
เป็นพระพุทธรูปแก้วมรกต ศิลปะเชียงแสน ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 6
นิ้วครึ่ง สูงตั้งแต่ฐานแก้วถึงเศียร 8 นิ้ว
ฐานเดิมทำด้วยแผ่นเงินทาบลวดลายสวยสดงดงามมาก
กล่าวกันว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเมืองลำปางและประชาชนชาวเหนือ
ต่อมาได้ทำฐานใหม่ด้วยแผ่นทองคำทาบเปลี่ยนเอาอันเก่าออก น้ำหนักทองคำ 19 บาท 1 สลึง
1 เฟื่อง มีชฎาทองคำ (กระโจมคำ) สำหรับเป็นเครื่องทองพระแก้วมรกต
เพราะว่าองค์พระแก้วมรตกไม่มีเกตุ ไม่มีโมลีเหมือนพระพุทธรูปอื่น ๆ
น้ำหนักชฎาทองคำหนักประมาณ 5 บาท มีสร้อยสังวาล
เครื่องทรงพระแก้วมรกตทำด้วยทองคำหนัก 7 บาท ภายหลังเจ้าหญิงทิพวรรณ ณ เชียงตุง
สร้างถวายเครื่องทรงชุดใหม่ ทำด้วยทองคำประดับด้วยทับทิม เป็นชุดที่สอง
นอกจากนั้นมีฉัตร 5 ชั้น ทำด้วยเงิน
ยอดฉัตรทำด้วยทองคำมีแก้วนิลผักตบอยู่บนยอดข้างฉัตรประทับด้วยแก้วสีต่าง ๆ
สำหรับพระแก้วมรกต 1 ต้น
11. พระพุทธไสยาสน์
(พระเจ้านอน)
ประดิษฐานอยู่ด้านหลังวิหารพระพุทธ เป็นพระพุทธรูปตระกูลทิพช้าง
กล่าวกันว่า เจ้าทิพช้างหรือองค์เจ้าสุละวะไชยสงคราม เป็นผู้สร้างประมาณปี พ.ศ.
2275 ขนาดเท่าพระองค์เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์
หรือพระเจ้านอนเมื่อคราวพระองค์ปราบศึกสงคราม แล้วขึ้นครองเมืองลำปาง
แต่ด้วยที่พระองค์ได้ทำบาปฆ่าคนตายจำนวนมากในวัดหรือนอกวัดมีท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูน
เป็นต้น เจ้าทิพช้างได้ตั้งสัจจะอธิษฐานในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่า
หากบุญของท่านตลอดจนราชตระกูลของท่านเจริญรุ่งเรือง
ขอให้พระพุทธรูปองค์นี้มีวรรณะสดใส
หากถึงคราวตระกูลจะเสื่อมก็ขอให้พระพุทธรูปองค์นี้มีอันเป็นไป
เพื่อที่จะให้ลูกหลานในราชตระกูลได้รับรู้หาทางแก้ไขเสียก่อน
ต่อมาในปี พ.ศ.2446 พระอุระของพระพุทธรูปแตกร้าว
ไม้โพธิ์ลังกาเหี่ยว แต่ไม่นานเท่าไหร่ไม้โพธิ์ลังกากลับสดชื่นกลับมาเหมือนเดิม
ส่วนพระพุทธรูปหม่นหมอง เจ้านายในราชตระกูลมิได้เอาใจใส่เพราะไม่รู้ความเป็นมา
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุสมัยนั้นได้ซ่อมแซมพระอุระด้วยผงเกสรดอกไม้ แล้วลงสักปิดทอง
ต่อมานานเข้าก็เกิดแตกร้าวอีก
จนมาถึง พ.ศ. 2507 จึงมีเจ้านายในราชตระกูลฝ่ายเหนือจำนวนมาก
มาทำการซ่อมแซม อุดพระอุระที่แตกร้าวด้วยผงเกสรดอกไม้หอม 108 ชนิด
แล้วสร้างแท่นแก้วขึ้นใหม่ที่พระวิหารต้นแก้ว เหนือวิหารหลวง
แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์มาประดิษฐานแล้วทำพิธีสมโภชพุทธาภิเษกเสียใหม่
ขณะพระสงฆ์กำลังสวดมนต์อยู่ก็มีพญาหงส์ทอง 7 ตัว บินวนเวียนอยู่รอบ
ๆ บริเวณปะรำพิธี ประชาชนผู้ร่วมงานต่างสาธุการเข้าใจว่า คงจะเป็นวิญญาณของพระเจ้า
7 คน มาดูพิธีอวยพรให้ตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือบินอยู่พักหนึ่งก็หายไป
ต่อมาก็มีดวงไฟประหลาด โตขนาดเท่าลูกฟุตบอลเปล่งฉัพพรรณรังสี
เป็นอภินิหารมี 7 สี ลอยวนเวียนอยู่เป็นเวลานาน พุทธศาสนิกชนต่างกราบไหว้บูชา
ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุจากองค์พระธาตุลำปางหลวง
หลังจากดวงไฟประหลาดหายไปแล้ว
ก็มีฝูงผึ้งหลวงบินผ่านมาในบริเวณพิธีอีกน่าอัศจรรย์ยิ่ง
จากนั้นก็มีการสวดมนต์สวดเบิกตลอดคืน ตอนพิธีเบิกพระเนตรตอนเช้า
ได้มีดวงรัศมีแสงต่าง ๆ ลอยมาวนเวียนอยู่เหนือบริเวณพิธี
ขณะที่มีการแห่พระพุทธรูปพระเจ้าทิพช้างไปรอบ ๆ ขันธสีมา 9 รอบ
แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นแก้วที่สร้างขึ้นใหม่ในวิหารต้นแก้ว
ก็ปรากฏพระบรมสารีริกธาตุได้แสดงอภินิหารมาเปล่งรัศมีวนเวียนอีก
พอพิธีแห่พระพุทธรูปครบ 9 รอบ
ก็อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นแก้วใหม่ก็เสร็จเรียบร้อย
12. วิหารศาลาบาตร
อยู่ด้านตะวันออกติดกับถนน วัดชั้นลุ่ม (วัดพร้าว)
ได้สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2510
13. ต้นไม้ขะจาว
ปลูกครั้งพุทธกาลตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงว่า ลั๊วอ้ายกอนได้ใช้เป็นไม้คานหาบกระบอก
น้ำผึ้ง มะพร้าว และมะตูม มาถวายพระพุทธเจ้า แล้วเอาไม้คานนั้นเอาทางปลายปักลง
เลยเกิดเป็นต้นขึ้นตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้และอีกครั้งหนึ่งพระยาพละเจ้าเมืองแพร่
คิดจะนำพระสารีริกธาตุขึ้นมาแต่ไม่สำเร็จจึงให้หาคนกระทำความผิด 4
คนมาฆ่าแล้วฝังไว้ให้รักษาพระบรมสารีริกธาตุ แล้วให้ปลูกต้นขะจาวไว้กลางหลุมและปลูกต้นขะจาวไว้ทั้ง
4 ทิศ ต้นขะจาวก็แพร่พันธุ์จนถึงปัจจุบันนี้
เป็นต้นไม้ที่คู่มากับพระบรมธาตุลำปางหลวง
14. บ่อน้ำโบราณ (ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำเลี้ยง)
อยู่กลางหมู่บ้าน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดประมาณ 50 วา
ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงกล่าวว่า เมื่อครั้งพระนางจามเทวีเสด็จกลับจากราชการ
ทัพของพระนางเจ้าเดินทางผ่านมานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์
ชาวบ้านมาร้องทุกข์เรื่องขาดแคลนน้ำดื่มบริโภค
พระนางจึงอธิษฐานเสี่ยงด้วยบารมีของพระนาง
เมื่อพระนางเดินทางกลับจากวัดพระธาตุลำปางหลวงกลับไปยังเมืองรมณีย์หรือเมืองตาล
(อยู่ระหว่างดอยขุนตาล)
วันต่อมาจึงมีผู้ไปพบน้ำพุขึ้นจึงขุดเป็นบ่อน้ำจนปัจจุบันนี้ได้มีการบูรณะเมื่อ
พ.ศ. 2474 บ่อมีความกว้าง 5 ศอก ลึก 5 วา
นอกจากนั้นก็มีโบราณวัตถุที่เจ้านายฝ่ายเหนือมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
สร้างถวายสิ่งของเป็นศาสนสมบัติจำนวนมาก อาทิเช่น พานเงิน หม้อน้ำเงิน
กระบวยเงินบริสุทธิ์ สำหรับใส่น้ำหอม สรงพระธาตุพระแก้วมรกต รวมน้ำหนักเงิน 776 บาท
คัมภีร์สำหรับวางพระธรรมลวดลายทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 30 บาท ดาบทหารฝักเงิน
หมวกทหารสมัยเจ้ากาวิละ และเครื่องช้าง เครื่องม้า (ดาวช้าง ดาวม้า) ต้นไม้เงิน
ต้นไม้ทองคำหนักประมาณ 10 บาท นอกจากนั้นก็มีพระพุทธรูปทันใจ
พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนหล่อด้วยทองอีกมากมายในวัดพระธาตุลำปางหลวง