ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > พระธาตุ > พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง : ประวัติพระแก้วมรกต พระมหามณีรัตนปฏิมากร


  4  พระบรมธาตุ

พระบรมธาตุ

ตำนานที่มาโดยละเอียด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี

พระธาตุลำปางหลวง  ลำปาง

โดย สำนักงานนิตยสารเทียนชัย

 

ประวัติพระแก้วมรกต พระมหามณีรัตนปฏิมากร

                พระแก้วมรกต คือ พระพุทธรูปสร้างจากก้อนแก้วมรกต มีความสวยงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่งทั้งในด้านประวัติศาสตร์จะได้ทราบเรื่องราวระหว่างช่วง พ.ศ.1200 กว่าลงมาจึงถึงปัจจุบัน

                ทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่อยู่ในดินแดนแหลมทองก่อนยุคสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1800 ที่แผ่นดินผืนนี้ชนชาติไทยได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในยุคสมัยทราวดีศรีวิชัย

                พงศาวดารตำนานต่างๆ ที่องค์พระแก้วมรกตได้ไปโปรดทั่วทุกภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนักประวัติศาสตร์โบราณคดีได้สละแรงกาย แรงใจ ค้นคว้า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาเผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลังให้ได้รับทราบข้อเท็จจริง

                ประวัติการสร้างพระแก้วมรกต

                สมัยเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนภาคใต้ที่นครศรีโพธิ์ (โพธิ์) ไชยา นครตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช และนครพานพาน ที่ตำบลเวียงสระปัจจุบัน ระหว่าง พ.ศ. 900-1400 คนไทยที่เขียนตำนานได้ให้พระนามพระมหากษัตริย์ในนครเหล่านี้ว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” เหมือนกันหมด เพราะพระองค์ท่านเหล่านี้ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเหมือนอย่างพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (อินเดีย) ตำนานไทยจึงเรียกนครของพระศรีธรรมาโศกราชในแดนไทยว่า นครปาตลีบุตร ด้วย ในลายแทงเจดีย์วัดแก้วไชยากล่าวไว้ว่า

                “เจดีย์วัดแก้ว ศรีธรรมาโศกสร้างแล้วแลเห็นเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้องกินไม่สิ้นเลย” แสดงว่าคนไทยโบราณเรียกกษัตริย์ของตนเองว่า “ศรีธรรมาโศก” ซึ่งครองนครปาตลีบุตรในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรีของนายส่วนมหาดเล็กแต่งไว้ ได้กล่าวถึงเมือง “ปาตลีบุตร” มีว่า

                ปางปาตลีบุตรเจ้า                   นัครา

                แจ้งพระยศเดชา                     ปิ่นเกล้า

                ทรนงศักดิ์อหังกา                  เกกเก่ง  อยู่แฮ

                ยังไป่ประนตเข้า                    สู่เงื้อมบทมาลย์

                เจ้าปาตลีบุตรนั้น                   อัปรา ชัยเฮย

                ไปสถิตเทพาพา                      พวกแพ้

                หนีเข้าพึ่งตนนา                      ทัพเล่า

                ทัพราชรีบรมแหร้                  แขกม้วยเมืองทลาย

                จะเห็นได้ว่าบทโคลงในสมัยนั้นเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “นครปาตลีบุตร”

                จากจดหมายเหตุการณ์ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุอิจิงที่มาแวะพัก จารึกปฏิบัติธรรมที่นครโพธิ์ ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “ฮุดซี” เมื่อ พ.ศ. 1214-1238 แล้วเดินทางจากเมืองท่ากาจา (ไทรบุรี) ไปอินเดีย เมื่อท่านเดินทางกลับจากอินเดีย พ.ศ. 1232 ปรากฏว่ารัฐต่าง ๆ ในแถบทะเลใต้มีรัฐพานพาน (เวียงสระ) รัฐไฮลิง (ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช) ปองพอง (ปาหัง) กิลันตัน (กลันตัน) ปลึกฟอง (ปาเลมบัง) และรัฐอื่น ๆ อีก 10 รัฐ เข้ารวมกันเป็นประเทศ ซีหลีฮุดซี หรือที่ท่านเซเดส์เรียกว่า “ศรีวิชัย” มีพระอินทรวรมเทวะเป็นประมุข

                ในตำนานพระแก้วมรกตของไทย กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และพระราชบุตร ที่ร่วมสร้างพระแก้วมรกตถวายพระนาคเสน คือพระอินทร์กับพระวิษณุกรรมเทพบุตร ได้ชวนกันไปหาก้อนแก้วมรกตจากเขาเวบุลบรรพต คนไทยโบราณหมายถึงแดนยูนาน(น่านเจ้า) มาแปลงเป็นพระแก้วมรกตสำเร็จในเวลา 7 วัน นามพระมหากษัตริย์ทั้งสองนี้ เป็นพระนามจริงในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรศรีวิชัย

                ตามประวัติศาสตร์อาณาจักรศรีวิชัย กษัตริย์ที่ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. 1230-1270 ทรงพระนามว่า พระอินทร์บรมเทพ มีนามเป็นภาษาสันสกฤตว่า ศรีนทรวรมเทวะ พระองค์ได้ส่งพระราชบุตรพระวิษณุไปถวายบังคมพระเจ้ากรุงจีนในปี พ.ศ. 1267 จากพงศาวดารราชวงศ์สูงของจีน บันทึกไว้ว่า

                “ปี พ.ศ. 1267 มีพระราชกุมาร (กิวโมโล) มาจากประเทศซีหลีฮุดซีมาถวาย คนเงาะชายสองหญิงหนึ่งคนและนักดนตรีคณะหนึ่งกับนกแก้วห้าสีหลายตัว พระเจ้ากรุงจีนตั้งให้พระราชกุมารเป็นนายพลในกองทัพจีนและพระราชทานผ้าแพรหนึ่งร้อยม้วนและถวายตำแหน่งอ๋องให้แก่เจ้าเมืองซีหลีฮุดซี พระนามว่า เช ลี โตเลปะโม” คำนี้เป็นภาษาจีนคือ ศรีน-ทะระ-วรมะ ในภาษาสันสกฤต

                จากศิลาจารึกอาณาจักรศรีวิชัย พ.ศ. 1318 พบที่วัดเวียงไชยา ของพระวิษณุ เสวยราชระหว่าง พ.ศ. 1270-1330 จารึกด้านหน้านามพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ชื่อศรีวิชเยศวรภูบดี ทรงสร้างปราสาทอิฐขึ้น 3 ปราสาท คือ ปราสาทอิฐวัดหลง  ปราสาทอิฐวัดแก้ว  ปราสาทอิฐวัดเวียง

                เป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์วัชรปาณี สร้างอุทิศให้แก่พระอัยการผู้สร้างพระนครนี้อยู่ปราสาทองค์ทิศเหนือ

                ปราสาทองค์ทิศใต้ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี อุทิศให้พระอินทร์พระราชบิดา

                ส่วนปราสาทองค์กลาง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

                ด้านหลังแผ่นศิลาจารึก ลงนามผู้สร้างจารึกนี้นามว่าพระวิษณุ (วิษฺณวาชโย) เป็นประมุขไศเลนทร์วงศ์

                จากศิลาจารึกนี้ ทำให้เราทราบถึงอาณาจักรศรีวิชัย และพระวิษณุเป็นกษัตริย์ครองนครโพธิ์องค์ที่ 3 พระองค์ทรงสร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเนื้อสำฤทธิ์ขึ้นสององค์ คือ พระโพธิสัตว์ปัทมาปาณีกับพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก

                องค์ใหญ่มีเครื่องประดับน้อย ซึ่งสร้างก่อนองค์เล็กที่มีเครื่องทรงประดับวิจิตรงดงาม สร้างอุทิศให้พระอัยกาและพระบิดาตามวัฒนธรรมไศเลนทร์ ตามความเชื่อของคนโบราณในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

                พระมหากษัตริย์องค์ใดที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป เมื่อสวรรคตแล้วจึงมีการสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระนางจามเทวี หรือการสร้างพระพุทธรูปอุทิศถวายเพื่อเป็นความหมายของนิพพานธรรม เช่น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

                ในตำนานพระแก้วมรกตและประวัติศาสตร์ศรีวิชัยกล่าวไว้ว่านครโพธิ์เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระอินทร์และพระวิษณุในการหล่อพระโพธิสัตว์วัชรปาณีด้วยฝีพระหัตถ์ของพระวิษณุเทพบุตร ซึ่งเป็นกษัตริย์จึงทำตรีเนตรเป็นตุ่มเล็กๆ ระหว่างพระเนตรของพระพุทธรูป อุทิศให้กับพระอินทร์พระราชบิดา ตุ่มนี่จึงเป็นความหมายของท้าวสามตาพระอินทร์

                องค์พระแก้วมรกต ที่พระวิษณุกรรมสร้างให้เป็นตัวแทนของพระมหาธรรมรักขิต ซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็เป็นตรีเนตรแต่เดิมฝังเพชรเม็ดเล็กไว้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ถวายเพชรเม็ดใหญ่ เปลี่ยนเพชรตรีเนตรแบบศรีวิชัยออก

                เมื่อพระวิษณุสวรรคต มีผู้สร้างพระโพธิสัตว์แทนพระองค์ท่านขึ้นที่เมืองไชยา เป็นพระโพธิสัตว์มี 4 กร ด้วยที่ท่านมีพระนามในศิลาจารึกว่า พระวิษณุ จึงสร้างพระนารายณ์แทนองค์ท่าน แต่ไม่มีเครื่องหมายตรีเนตรเพราะคนสร้างมิได้เป็นกษัตริย์หรือองค์เจ้า

                ในปลายรัชกาลพระอินทร์ พระวิษณุราชบุตรได้ร่วมกันสร้างพระแก้วมรกตขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 1260-1270 ที่นครโพธิ์ไชยา ส่วนพระภาณุโอรสของพระอินทร์อีกพระองค์หนึ่งได้ไปปกครองเกาะชวา เป็นปฐมวงศ์ของไศเลนทร์วงศ์อีกสาขาหนึ่งที่ได้สร้างเจดีย์บรมพุทโธเจดีย์ปะวน เจดีย์มณฑปในเกาะชะวา เป็นศิลปของพระพุทธศาสนาตราบเท่าทุกวันนี้

                ตำนานพระแก้วมรกต กล่าวถึงพระมหากษัตริย์นครปาตลีบุตร ต่อจากพระวิษณุกรรม คือพระราชาธิราชบุนดะละและพระเจ้าดะกะละ (หลานของพระเจ้าบุนดะละ) แล้วถึงพระศิริกิตติกุมาร ในรัชกาลของพระศิริกิตติ เกิดศึกสงครามคนล้มตายเป็นอันมาก พวกข้าปฏิบัติรักษาพระแก้วมรกต เห็นเหตุการณ์ไม่ดี กลัวพระแก้วจะเสียหาย จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสู่เรือสำเภาลำหนึ่งพร้อมกับพระธรรมปิฏก พากันหนีไปสู่กัมโพชวิสัย คือ ลังกาทวีปที่นครศรีธรรมราช

                ตามตำนานพระแก้ว กษัตริย์ที่ครองนครโพธิ์ รหือนครปาตลีบุตรเป็นลูกหลานกษัตริย์ของพระเจ้ากรุงทวาราวดีที่อู่ทอง พ.ศ. 1100-1200

                ในประมาณ พ.ศ. 1180 พระเจ้าอนุรุธกษัตริย์มอญได้ยกกองทัพมาตีกรุงทวาราวดี ลูกหลานของพระเจ้ากรุงทวาราวดีพวกหนึ่งอพยพลงมาตั้งนครโพธิ์ที่ไชยา

                อีกพวกหนึ่งไปตั้งนครละโว้ ขึ้นเป็นเมืองหลวง พระเจ้ากรุงละโว้ได้ส่งพระนางจามเทวีไปครองนครหริภุญชัย เมื่อประมาณ พ.ศ.1205

                ต่อมาถึง พ.ศ. 1400 พระเจ้าศิริกิตติได้ยกกองทัพไปยึดนครละโว้ (จากตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์จามเทวีวงศ์ได้กล่าวไว้) ทางนครปาตลีบุตร เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นมีผู้เกรงพระแก้วมรกตจะเสียหายจึงได้ลักลอบพาลงเรือไปนครศรีธรรมราช ซึ่งมีกษัตริย์ไศเลนทร์วงศ์องค์หนึ่งปกครองอยู่พุทธศาสนานครนี้ก็เจริญรุ่งเรือง

                จากพงศาวดารเหนือของไทยเขียนไว้ว่า พระเจ้าอนุรุธ กษัตริย์องค์ปฐมวงศ์ของมอญเป็นผู้ตั้งจุลศักราชขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1181 เมืองต่าง ๆ ของคนไทยทางแดนล้านนาตกอยู่ ภายใต้การปกครองของมอญและพม่าเป็นเวลานานมาก จนนิยมใช้จุลศักราช กษัตริย์ในดินแดนล้านนาไปชุมนุมกันทั่วล้านนา ยกเว้นแต่กษัตริย์ที่นครหริภุญชัยและสวรรคโลก

                พอตั้งจุลศักราชได้ปีเดียวพระเจ้าอนุรุธก็สวรรคต พระเจ้ากากวรรณดิศราชโอรสพระเจ้าอนุรุธยกทัพมาตีเมืองละโว้ถึง 7 ปี แล้วมาตั้งพระประโทนเจดีย์ที่นครปฐม เมื่อ พ.ศ. 1199

                ตำนานไทยโบราณเรียกนามกษัตริย์ทางดินแดนมอญว่าพระเจ้าอนุรุธไปทุกพระองค์หลายยุค เหมือนตำนานไทยเรียกพระเจ้าแผ่นดินทางไชยาเวียงสระนครศรีธรรมราชว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เรียกกษัตริย์ทางกรุงสุโขทัยว่า พระร่วงไปทุกพระองค์ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับของ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระเจ้าอนุรุธที่ไปชิงพระแก้ว เป็นลูกหลานของพระเจ้าอนุรุธที่ตั้งจุลศักราช

                ดินแดนของไทยที่อยู่ตั้งแต่เชียงแสนไปกำแพงเพชรละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช ตลอดเวลาสองพันปีที่คนไทยได้เขียนตำนานเล่าไว้เป็นความจริงทั้งสิ้น แต่เราไปเชื่อประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเขียนไว้ว่า ตำนานที่คนไทยเขียนไว้เป็นนิยายไม่มีความจริงทางประวัติศาสตร์

                ดินแดนแห่งนี้มีการรบมุ่งกับพวกมอญทางด้านตะวันตกและเขมรทางดินตะวันออก ผลัดกันแพ้ชนะกันมาหลายยุคหลายสมัย คนไทยโบราณที่อยู่ทางล้านนาเรียกว่าพวกโยนกคนไทยโบราณที่อยู่ทางละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช เรียกว่า พวกกัมโพช (หมายถึงชาวใต้ในสมัยต่อมาเมื่อคนไทยที่มีมารดาเป็นเขมรมีอำนาจมาก ไทยเหนือเลยเรียกไทยใต้ว่า เป็นพวกขอมไปหมด)

                ตำนานต่าง ๆ ของไทยและพงศาวดารเหนือ จดเรื่องก่อนสมัยตั้งกรุงอโยธยาที่หนองโสน ล้วนเป็นเรื่องของไทยกัมโพชหรือไทยไศเลนทร์ มาตั้งนครที่สวรรคโลก กำแพงเพชร ละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราช

                คนไทยที่สร้างพระแก้วมรกตเรียกตัวเองในศิลาจารึกว่า ไศเลนทร์วงศ์ ตำนานพระแก้วมรกตเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่าลังกาทวีปกัมโพชวิสัยปาตลีบุตร

                ลังกา หมายถึง เมืองที่มีพระไตรปิฏกของชาวกัมโพช เมืองที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างชมพูทวีป คือ เมืองนครศรีธรรมราช

                ตามตำนานพระแก้วมรกตว่า พระเจ้าอนุรุธได้ยกกองทัพม้ามาเอาพระแก้วมรกตที่ลังกาทวีป (ตามตำนานจะเป็นเกาะลังกาของชาวสิงห์ไม่ได้ เพราะมาทางบกจากเมืองมอญลงมาทางใต้ต้องเป็นเมืองพระไตรปิฏกที่นครศรีธรรมราช) แล้วนำพระไตรปิฏกกับพระแก้วมรกตลงเรือนำกลับเมืองมอญ แต่เรือสำเภาพระแก้วมรกต พวกไศเลนทร์วงศ์ได้ปลอมปนลงมาบนเรือสำเภาแล้วประหารพวกมอญที่ควบคุมอยู่จากนั้นก็นำเรือสำเภาพระแก้วมรกตเข้าปากน้ำปันทายมาสหนีไปยังนครอินทปัตรได้

                นครอินทปัตในตำนานพระแก้วมรกต เป็นนครของไศเลนทร์วงศ์ที่ได้นางเขมรเป็นมเหสี ทางเขมรถึงว่า ถ้ามารดาเป็นเขมร ต้องเป็นเขมร

                ต้นราชวงศ์เขมร คือ พราหมณ์กัมพู มาได้นางเขมรเป็นมเหสีลูกหลานของพราหมณ์กัมพูก็ต้องเป็นเขมรที่เรียกกันว่า พวกเจนละ

                จนมาถึงสมัยพระอุทัยราช ได้นางนาคเป็นมเหสี เป็นธรรมเนียมของกษัตริย์ไศเลนทร์ที่ปกครองพระนครวัด ต้องมีมเหสีเป็นเขมร มิฉะนั้นพรรคพวกพระยานาคจะก่อการกบฏ พระนางมีโอรสออกมาเป็นฟอง ต้องนำไปทิ้ง พระคงเคราเมืองละโว้ได้เก็บไปเลี้ยงไว้ ภายหลังได้เป็นพระร่วงเมืองละโว้

                โอรสของนางนาคอีกพระองค์หนึ่งเป็นมนุษย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 (นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเรียก ยโศวรมเทวะ ระหว่าง พ.ศ. 1432-1453) มีอำนาจมากได้ปราบปรามหัวเมืองใกล้เคียงอยู่ในอำนาจดินแดนไทยเมืองหลายแห่งต้องส่งส่วยให้พระองค์

                เมื่อพวกไศเลนทร์จากนครศรีธรรมราช นำเรือสำเภาพระแก้วมรกตเข้ามาถึงนครอินทรปัตในปลายรัชกาลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ พระองค์ทรงโสมนัสปลื้มปิติในองค์พระแก้วมรกตมาก ทรงถวายพระนครของพระองค์ให้แก่พระแก้วมรกต หลังจากสมโภชแล้วก็ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ พระองค์ก็ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตเป็นประจำมิได้ขาด พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองไปทั่วสกลทวีป มีชัยเหนือศาสนาพราหมณ์ในทั่วดินแดนพระนครอินทรปัต

                เมื่อพระองค์ยกปราสาทราชวังถวายแก่พระแก้วมรกตเป็นพระนครวัดแล้ว พระองค์ก็ไปสร้างพระนครหลวงใหม่ ที่ยโศธร ปุระ โดยเอาภูเขาพนมบาแค็ง (ผาแค็ง) เป็นใจกลางของพระนครหลวง ต่อมาลูกหลานขอมทุกยุคทุกสมัย จึงยกย่องพระองค์เป็นเทพเจ้าประจำยโศธรปุระเมืองพระนครหลวง

                ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พ.ศ.1656-1695 ได้ทรงสร้างปราสาทนครวัดตรงพระนครที่พระปทุมสุริยวงศ์ ถวายแก่พระแก้วมรกตสร้างเป็นปรางค์ขอม มีเก้ายอดเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า กษัตริย์ผู้ทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรืองเข้าถึงพระพุทธศาสนาเสมือนผู้บรรลุนิพพานธรรม

                ยอดกลางสูงสุดหมายถึงพระนิพพาน ยอดสี่ยอด ยอดอีกสองชั้น แสดงถึงมรกต 4 ผล 4 ยอดปรางค์ ทำเป็นฉัตรหลายชั้น ฉัตรแต่ละชั้นประดับด้วยกลีบบัวเหมือนฝักข้าวโพดยอดปราสาทนครวัดทั้งเก้ายอดปิดทองเหลืองอร่ามไปหมด ตามแบบไศเลนทร์

                ปราสาทใหม่ที่พระระเบียงวิหารคดของปราสาทนครวัดสลักเป็นภาพ นรก สวรรค์ ตามคัมภีร์ไตรภูมิ แสดงให้เห็นว่าปราสาทนครวัด เป็นปรางค์ของฝ่ายพระพุทธศาสนามีภาพสลักเป็นเรื่องรามเกียรติ์มหาภารตะ เพื่อยกย่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นกษัตริย์ที่ทรงธรรมและมีฤทธิ์อำนาจเหมือนพระนารายณ์ ตอนสมัยท่านมีชีวิตอยู่พระองค์ชอบมานั่งวิปัสสนาในปราสาทพระแก้ว เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วก็บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่นี้ด้วย ลูกหลานของท่านทุกพระองค์จึงนิยมไปนั่งวิปัสสนาที่นครวัด

                พงศาวดารกรุงกัมพูชา เล่าถึงตอนที่พระแก้วมรกตอยู่ในนครอินทรปัตได้ถูกต้องกว่าฉบับอื่น ๆ ว่าพระแก้วมรกตเข้ามาในรัชกาลของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จนถึงรัชกาลที่ 6 พระทะเมิญชัย จึงได้โปรดให้นำพระไตรปิฏกที่ติดมากับเรือสำเภาพระแก้วมรกต ส่งคืนไปให้พระเจ้าอนุรุธ แต่องค์พระแก้วมรกตไม่ยอมคืนให้

                ตามตำนานพระแก้วมรกต เขียนไว้ว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุธไม่ได้พระแก้วมรกต ก็ได้ติดตามปลอมเป็นราษฎรไปสืบเรื่องพระแก้วมรกต เมื่อรู้ว่าพระแก้วมรกตตกไปอยู่ในเมืองอินทรปัต พระองค์ก็ไม่กล้าตามไปแย่งเอามา เพราะเมืองอันทรปัตตอนนั้นมีพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กษัตริย์ผู้เรืองอำนาจมีพระเดชานุภาพมาก

                ต่อมามีลูกหลานของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 1453-1471 อีก 6 พระองค์ จนประมาณ พ.ศ. 1471 พวกเจ้านายเขมรได้มาแย่งชิงเมืองได้ (พงศาวดารกัมพูชาว่าเป็นราชวงศ์ใหม่ตั้งนครหลวงที่โคห์แกร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

                มีการกวาดล้างพวกเจ้านายขอม จนบางพวกต้องหนีไปพึ่งพวกไศเลนทร์วงศ์ที่เมืองละโว้

                ในรัชกาลพระเสนก โอรสของพระเสนกเลี้ยงแมลงวันเขียวถูกแมงมุมเสือของบุตรปุโรหิตเขมรที่เลี้ยงไว้กินแมลงวันเขียวของพระโอรส พระเสนกให้ทหารไปจับบุตรของปุโรหิตไปถ่วงน้ำ เพราะเหตุว่าพระเสนกไม่ทรงธรรม พวกเขมรจึงชวนกันก่อการกบฏปราบขอม พระเถระต้องพาพระแก้วมรกตหนีไปอยู่ที่ปราสาทตาแก้ว ซึ่งมีพวกไศเลนทร์อยู่

                ข่าวการเกิดจลาจลในนครอินทรปัตทราบไปถึง พระเจ้าอาทิตย์ราช ซึ่งครองราชย์สมบัติในกรุงอโยธยาปุระในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ราชเป็นห่วงพระแก้วมรกต เกรงพวกเขมรที่นับถือพระศิวะจะทำลายเสีย แล้วตั้งศิวลึงค์แทน จึงรีบยกทัพพร้อมด้วยจัตุรงคเสนา ทะแกล้วทหารเป็นอันมากไปเอาพระแก้วมรกตมาไว้ตั้งแต่รัชกาลพระเสนก พ.ศ.1545 แล้วกวาดต้อนผู้คนที่รักษาพระแก้วมรกตเป็นอันมาก แล้วเสด็จกลับมายังกรุงอโยชฌ ปุระที่หนองโสน

                ตามตำนานพระแก้วมรกตและตำนานไทย กล่าวว่าพระอาทิตยราชนี้เป็นกษัตริย์ไทย ลูกหลานของพระอินทร์ผู้สร้างพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าศิริธรรมราชได้ยกกองทัพบก กองทัพเรือมายึดนครละโว้ไว้ได้ในปี พ.ศ. 1400

                ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1417 กษัตริย์ขอมที่เมืองพระนครอินทรปัตถูกกวาดล้าง

                ธิดาของพระอินทรวรมัน พี่น้องของพระเจ้าปทุมสุริยะวงศ์มาเป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงละโว้พระองค์หนึ่ง มีพระโอรสเป็นพระอาทิตยราช ต่อมาได้ย้ายพระนครจากละโว้กลับมายังนครอโยชฌ ปุระโบราณ ตรงเมืองอู่ทอง

                แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเขียนประวัติศาสตร์เขมรว่า เป็นพระสุรยวรมเทวะ (สุรยวรมันที่ 1) เป็นกษัตริย์เขมรในเมืองพระนคาอินทรปัต ปี พ.ศ. 1545-1592 ได้มาแย่งราชสมบัติจากราชวงศ์เดิมได้ มีอาณาเขตกว้างขวางตลอดดินแดนไทยทั้งหมด เพราะเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) และเข้ามาครองกรุงกัมพูชา โดยอ้างพระราชมารดาของพระองค์เป็นธิดาของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มีสิทธิ์ในราชบัลลังค์นี้ จึงปราบไปทั่วเกือบหมดแดนกัมพูชาโบราณสถานที่สร้างในสมัยพระองค์ มีปราสาทพิมานากาศปราสาทตาแก้วและปราสาทเขาพระวิหารสมัยสุริยวรเทวะคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำตาปีใช้คำว่า “สุริยงศ์” เข้ามาแทนคำว่า “ไศเลนทร์”

                ประมาณ พ.ศ. 1595 พระอาทิตยราชสวรรคตพระยาจันทโชติอำมาตย์ พระสามีของเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาจันทร์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา เนื่องจากไม่มีโอรสสืบวงศ์ เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์พระธิดาในสุริยวงศ์ ซึ่งมีสิทธิในราชบัลลังค์พระสามีพระเจ้าจันทโชติจึงขึ้นเสวยราชย์แล้วย้ายนครหลวงจากอโยชฌปุระ ไปนครละโว้ตามเดิม หลังจากเสวยราชได้ 5 ปี ได้สร้างวัดกุฎีทอง ถวายพระอาจารย์ส่วนพระอัครมเหสีสร้างวัดคงคาวิหาร

                พ.ศ. 1601 พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ กษัตริย์มอญ ลูกหลานของพระเจ้าอนุรุธ ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินมีการแย่งชิงราชสมบัติ จึงยกทัพมาล้อมเมืองละโว้ พระเจ้าจันทโชติเห็นว่าไม่สามารถสู้กับกองทัพมอญได้ จึงปรึกษาเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ขอถวายพระพี่นางเจ้าฟ้าแก้วประพาสให้กษัตริย์มอญ-พม่า เป็นอัครมเหสีเพื่อเป็นทางพระราชไมตรี

                ต่อมามีโอรสเป็น พระนเรศวรหงศา ส่วนเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์มีโอรสเป็นพระนารายณ์ เมื่อมีพระชนม์ได้ 14 ปี ได้ไปเยี่ยมพระเจ้าป้าอยู่จนคุ้นเคยในราชสำนักพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ เกิดวิวาทกับพระนเรศวรหงศา

                พระนารายณ์จึงเกลี้ยกล่อมชาวไทยและมอญ ที่ตกอยู่ทางกรุงหงศาพาหนีกลับมาได้จำนวนมาก พอพระบิดาสวรรคตพระนารายณ์ซึ่งเป็นหลานทางสายมารดาได้ครองราชย์ ก็ย้ายนครหลวงกลับไปอโยชฌปุระ

                ปี พ.ศ. 1630 พระนเรศวรหงศา ยกกำลังพลสีแสนมาปิดล้อมกรุงอโยชฌปุระ แล้วมีการนัดก่อเจดีย์พนันเมืองกัน พระเรศวรหงศาแพ้ยกทัพกลับไปพระนารายณ์ได้ไปสร้างพระปรางค์สามยอดเมืองละโว้ แล้วขนานนามเมืองละโว้ใหม่ว่า เมืองลพบุรี

                พระนารายณ์สร้างพระปรางค์สามยอดที่ละโว้ ตามความเชื่อของวัฒนธรรมไศเลนทร์สร้างเป็นมณเฑียรธรรมในพระพุทธศาสนาสร้างอุทิศให้บรรพบุรุษ ยอดกลางประดิษฐานพระพุทธรูป ยอดซ้ายและขวาประดิษฐานพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธรูปทรงเครื่อง

                พระองค์สร้างอุทิศให้แก่พระบิดา พระอัยกา เมื่อพระนารายณ์ ประชวรสวรรคต อำมาตย์เก้าคนฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกับพระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติ ให้ยกวังเป็นวัด แล้วลงไปสร้างพระนครอโยธยาใหม่อยู่ท้ายเมืองไปวัดโปรดสัตว์

                ตำนานพระแก้วมรกตเล่าถึง พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในกรุงอโยธยามานาน สืบได้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ จนอยู่มาวันหนึ่ง เจ้าพระยากำแพงเพชรยกกองทัพเรือลงมาขอพระแก้วมรกตขึ้นไปไว้ในเมืองกำแพงเพชร

                เมืองกำแพงเพชรโบราณ คงจะมีมาก่อนแต่ไม่ค่อยมีหลักฐานของกษัตริย์ที่คงเมืองมากนัก จะมีก็แต่โบราณสถานเก่าแก่ทั่วไป ในแถบทุ่งเศรษฐีที่พบพระพิมพ์ต่าง ๆเช่น พระจำพวกซุ้มกอ พระกำแพง ลีลาต่าง ๆ

                มีตำนานพระพิมพ์ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โบราณผู้ทรงธรรมจนมีผู้เรียกเทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่มหานครแถวเมืองกำแพงเพชร มีประวัติว่า พระฤาษี 11 ตน ได้ปรึกษากันที่จะสร้างอะไรเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระยาศรีธรรมาโศก แล้วก็ช่วยกันทำพระพิมพ์แบบกำแพงเพชรขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เราทราบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก่อนเป็นเวลาเป็นพันปี และมีชนชาติไทยเราอาศัยอยู่มีเมืองต่าง ๆ รบพุ่งกันตลอดมา เราเพียงแต่รู้ประวัติศาสตร์จากศิลาจารึกในช่วง 1 สองสมัยพระร่วงชนช้างกับเจ้าสมาชนเจ้าเมืองฉอด  (อยู่แถวจังหวัดตาก)

                จากหนังสือพระบรมราชธิบายของรัชกาลที่ 5 เขียนถึงพระแก้วมรกตว่า “ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกันกลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์หรือปรางค์อันใดพังเสียหรือไม่ แล้วด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่ อีกหลังหนึ่งในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ที่เป็นฐานเดียวกันหลาย ๆ องค์บ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีและวัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช จะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย

                 วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมีข้างหน้าวัดมีสระสี่เหลี่ยมกว้าง ยาวลึกประมาณสัก 5 วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลยมีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง

                น้ำในนั้นยังมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้เมื่อเห็นวัดนี้เข้าแล้วเป็นการจำเป็นที่จะยืนยันรับรองว่า วัดในเมืองจะเป็นวัดพระแก้วไม่ได้เลย ถ้าพระแก้วได้อยู่ในเมืองนี้ คงจะอยู่วัดนี้ ใช่จะแต่เฉพาะว่าวัดใหญ่เกี่ยวด้วยกาลเวลา

                ด้วยเหตุที่พระแก้วจะตกมาอยู่กำแพงเพชร คงจะอยู่มาก่อนสร้างเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ด้วย ถ้ามาอยู่ภายหลังคงไม่อยู่กำแพงเพชร ต้องไปอยู่สุโขทัย เมืองขึ้นกำแพงเพชร ไม่เกิน 600 ปี แต่เมืองโบราณภายในนี้ไม่ภายหลังพระร่วง ถ้าหากว่าได้ค้นคว้ากันจริง ๆ คงจะพบลำน้ำเขินพบเชิงเทินเมืองเก่า...”

                เจ้าเมืองกำแพงเพชร ที่ไดรับการยกย่องเป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกที่ครองนครโบราณ นอกเมืองกำแพงเพชรในสมัยประมาณ พ.ศ. 1730 ได้ยกกองทัพเรือล่องลงไปขอพระแก้วมรกตจากนครอโยธยา ซึ่งขณะนั้นเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกำลังจะล่มสลาย

                คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่พระรัตนปัญญาได้เขียนไว้ที่นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2060 ได้เขียนเรื่องพระแก้วมรกต ตั้งแต่ออกจากเมืองกำแพงเพชรจนถึงเมืองเชียงใหม่ ได้ถูกต้องกว่าตำนานพระแก้วมรกตฉบับอื่นๆ เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา เวลาที่บันทึกเรื่องก็ไม่นานเพียง 160 ปี เรื่องพระแก้วมรกตส่วนมากจึงถือตามคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์

                ลุล่วงเข้าในสมัยพระเจ้ากือนา ครองเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 18—91929 พระอนุชาของพระเจ้ากือนาชื่อเจ้ามหาพรหม ครองเมืองเชียงราย เจ้ามหาพรหมได้ยกกองทัพมา และทูลขอทหารจากพระเจ้ากือนา รวมทหารได้แปดหมื่น ยกทัพลงไปเมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระเจ้าติปัญญา (พระยาญาณดิศ) ทูลขอพระรัตนปฏิมา (พระแก้วมรกต) และพระสีหลปฏิมา (พระพุทธสิหิงค์) แล้วเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองเชียงราย ขุนหลวงพะงั่วทราบข่าวยกกองทัพไปช่วย แต่เจ้ามหาพรหมได้ยกทัพนำพระพุทธรูปไปเสียแล้ว

                จากคัมภีร์รัตนพิมพ์วงศ์ ซึ่งแต่งโดยพระภิกษุพรหมราชปัญญาเป็นภาษาบาลี เล่าว่า เมื่อพระเจ้าเมืองเชียงรายพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์และประชาชนทำการสมโภช สรงน้ำแก่องค์พระรัตนปฏิมากร บุคคลใดมีศรัทธาอันบริสุทธิ์ ด้วยบุญญาธิคุณ มีศีล มีทาน อุปัฏฐากแก่บิดามารดา เมื่อสรงน้ำพระแก้วมรกตน้ำนั้นมิต้ององค์พระเลย ทำให้ทราบว่าคนไหนดีคนไหนชั่ว ใครเป็นคนชั่วก็ไม่กล้าไปสรงน้ำให้เดือดร้อนใจทำให้ต้องกลับใจขอขมาลุแก่โทษต่อองค์พระแก้วกลับใจเป็นคนดี ไม่ประพฤติชั่ว จึงไปสรงนำพระแก้วมรกตได้เหมือนคนอื่น ๆ บ้านเมืองก็บังเกิดความร่มเย็นสงบสุขทั่วดินแดนแห่งนั้น

                ต่อมาเมื่อพรเจ้าแสนเมืองมา (โอรสพระเจ้ากือนา) ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ยกกองทัพไปรบกับเจ้ามหาพรหมผู้เป็นพระเจ้าอา พระเจ้าแสนเมืองรบชนะเข้าเมืองเชียงรายได้ พบแต่พระสีหลปฏิมาองค์เดียว ก็นำกลับมาเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระแก้วมรกตมีผู้นำไปซ่อน หายสาบสูญไป  ไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย

                ในสมัยพระเจ้าพิลก ครงอเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1985-2031 ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย มีผู้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ขณะทำความสะอาดพระพุทธรูปพบทองและรักของพระพุทธรูปกะเทาะออกมาจากพระกรรณ เห็นข้างในเป็นแก้วสีเขียวสุกใส จึงแจ้งไปยังพระภิกษุเจ้าอาวาส ภายหลังกะเทาะทองและรักที่หุ้มออกหมด ปรากฏว่าเป็นองค์พระแก้วมรกต ที่หายสาบสูญไปนานแล้วนั่นเอง จึงแจ้งให้เจ้าเมืองเชียงรายได้รับทราบ

                พระเจ้าพิลกทราบข่าวการพบพระแก้วมรกต ก็ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาสู่เมืองเชียงใหม่ ให้จัดขบวนช้างและภิกษุสงฆ์ อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงรายถึงเมืองไชยสัก ปรากฏว่าพระแก้วมรกตมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นในทันที จนช้างที่อัญเชิญไม่อาจทานได้ ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตลงพักไว้ แล้วส่งคนไปกราบทูลพระเจ้าพิลกให้ทรงทราบ

                พระองค์จึงตรึกตรองว่า ชะรอยพระแก้วมรกตยังไม่มาโปรดเมืองเชียงใหม่ก่อน เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังพระชนม์อยู่ ย่อมเห็นว่ามีเวไนยชน ณ ที่ใดที่พระองค์ควรจะเสด็จไปโปรดได้ พระองค์ก็เลือกเสด็จไปทั่วทุกแห่ง ครั้งนี้พระแก้วมรกตคงจะเสด็จไปโปรดที่แห่งใดก่อนเป็นแน่แท้

                พระเจ้าพิลกจึงให้เขียนชื่อเมืองเชียงใหม่ เมืองหริภุญชัย เมืองพะเยา และเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) แล้วให้เสี่ยงทายจับฉลาก ปรากฏว่าจับได้เมืองเขลางค์นครก็อนุญาตให้อัญเชิญไปได้ พระแก้วมรกตก็ลดน้ำหนักลง อัญเชิญขึ้นช้างได้โดยสะดวก นำพระแก้วมรกตไปสู่เขลางค์นคร ชาวเมืองก็ปิติยินดีปรีดายิ่งนัก ที่จะได้พระแก้วมรกตไว้นมัสการเป็นบุญแก่เขลางค์นคร นั้นแล

                พระเจ้าพิลกราชาธิราช ครองราชย์มาถึงปีจอ จุลศักราช 838 (พ.ศ. 2019) ได้โปรดให้ สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามหร้าคต) ก่อสร้างราชกูฎ (เจดีย์หลวง) องค์เก่า ที่สร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ราชกุฏใหม่รูปทรงเป็นกระพุ่มยอดเป็นอันเดียว สวยงามน่าเลื่อมใสนัก เป็นจุดเด่นของเมืองเชียงใหม่ มีผู้กล่าวว่า งามดังพระธาตุจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว มีฐานกว้างด้านละ 35 วา สูง 45 วา พระเจ้าพิลกราชาธิราชก็ให้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาแต่เขลางค์นครประดิษฐานไว้ในราชกุฏที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีฉลู จุลศักราช 841 (พ.ศ. 2022) พระแก้วมรกตก็มาโปรดสัตว์เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา

                เมื่อพระเจ้าโพธิสารราชาธิราช ขึ้นครองราชย์ในกรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้งหนึ่งมีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่งมาแต่เมืองเชียงใหม่ พระโพธิสารได้ปฏิบัติบูชาพระเถระเจ้าเป็นอย่างดีนั่นเองพระเจ้าเมืองเชียงใหม่สมัยนั้น ทราบถึงความทรงธรรมของพระเจ้าโพธิสาร จึงจัดส่งพระธิดามาถวาย พระโพธิสารตั้งให้เป็นพระอัครมเหสี มีโอรสทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐา

                เมื่อพระเจ้าตา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่สวรรคต เหล่าอำมาตย์เสนาบดี สมณพราหมณ์ได้อัญเชิญพระไชยเชษฐาไปครองเมืองเชียงใหม่

                เมื่อ พ.ศ. 2093-2095 ต่อมาทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระโพธิสารพระราชบิดา จึงเดินทางกลับไปถวายพระเพลิงพระราชบิดาที่หลวงพระบาง พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปด้วย

                ล่วงเข้า พ.ศ. 2107 พระไชยเชษฐา ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองเวียงจันทน์ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตพระพุทธสิหิงค์และพระบางไปประดิษฐานที่พระมหาปราสาทสามยอด ซึ่งสร้างอย่างสวยวิจิตรพิสดาร ประดับประดาช่อฟ้าใยระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง กระหินลายฝา ล้วนทำด้วยทองคำแผ่หุ้มทั้งสิ้น พื้นดาดด้วยเงิน หลังคาดาดด้วยดีบุก มีเศวตฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำ ประดิษฐานอยู่เบื้องบนรัศมี

                เครื่องบริขารถวายของพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระบาง ล้วนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น พระไชยเชษฐาธิราช ได้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งไว้ทางทิศตะวันออก ถัดจากเจดีย์ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างไว้ก่อนนั้นแล้ว พระองค์ก็ให้สร้างพระเจดีย์น้อย 30 องค์ ให้แวดวงเป็นบริวารทั่วไปโดยรอบแล้วพระองค์ให้พระนามพระเจดีย์ว่า “เจดีย์พระโลกจุฬามณีศรีเชียงใหม่” แล้วจัดแจงข้าหญิงชายอย่างละร้อยให้เป็นข้ารักษาพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระแซกคำเจ้า (พระบาง)

                พระแก้วมรกตได้อยู่นครเวียงจันทน์ เป็นที่สักการบูชาของประชาชนและกษัตริย์ผู้ครองเมืองมาหลายพระองค์ จนถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยาแตกเสียแก่ข้าศึกพม่า ในปีกุนนพศก จุลศักราช 1129 (พ.ศ. 2310)

                ครั้งนั้นพระเจ้าตากสิน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้ลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะแตกแน่ เพราะคนไทยแตกความสามัคคี เจ้าแผ่นดินไม่เอาใจใส่บ้านเมือง จึงรวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของพม่ามาตั้งกำลังพลอยู่ที่จันทบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินก็ยกทัพมาตีพม่าแตกพ่ายที่โพธิ์สามต้น และปราบก๊กต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้สำเร็จ จากนั้นก็ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สืบวงศ์สยาม ยกกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง แผ่ขยายขอบเขตขัณฑเสมาอาณาจักรให้กว้างขวาง แผ่พระเกียรติให้ไพศาลยิ่งกว่าครั้งกรุงเก่า ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ให้เจ้าพระยานครราชเสมา ส่งราชสารขึ้นไปยังเมืองเวียงจันทน์บุรี ให้มาขึ้นแก่กรุงธนบุรีกับเมืองต่าง ๆ เช่น ชวา มาลายู กัมพูชา กะเหรี่ยง ลาวเชียงใหม่ และญวนก็มาขึ้นแล้ว มาแต่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง บรรณาการตามพระราชประเพณี

                ครั้นพระเจ้าเวียงจันทน์ได้รับราชสารแล้ว ก็ตอบมาว่า กรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทบุรีมีกษัตริย์ปกครองมาหลายชั่วกษัตริย์ คิดเป็นอายุกว่าพันปี ไม่เคยคิดเป็นศัตรูกับประเทศไทย หาได้ไปอ่อนน้อมแก่ประเทศใดไม่

                ครั้นถึงจุลศักราช 1141 (พ.ศ. 2322) สมเด็จพระมหากษัตริย์ศึกกับพระเจ้าสุรสีหพิษณวาธิราช ได้ยกกองทัพขึ้นไปตีได้เมืองศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ พระเจ้าริมขาว เจ้าเมืองหลวงพระบางได้สวามิภักดิ์ช่วยในการสงคราม

                เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ได้ตีเมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางกลับลงมาพระนครธนบุรี พระเจ้าตากสินก็ให้สร้างโรงพระแก้วที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม เสร็จแล้วก็อัญเชิญพระแก้วมรกต กับพระบางขึ้นประดิษฐานในโรงแล้วให้มีการสมโภชมหรสพต่างๆ

                สิ้นสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรัตนปฏิมากร พระองค์นี้เป็นแก้วอย่างดีวิเศษ ไม่สมควรที่จะประดิษฐานอยู่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองน้อย ขึ้นแก่กรุงเทพฯ จึงทรงสถาปนาสร้างพระอุโบสถในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งประดับประดาสวยงามวิจิตรยิ่งนัก แล้วทำระเบียงรอบบริเวณพระอาราม

                จุลศักราช 2246 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงฉศก ณ วันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 4 ก็อัญเชิญมาประดิษฐานต้องอุโบสถหลังใหม่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉลิมฉลองพระอารามกับทั้งพระนคร เป็นเวลาสามวันสามคืน ทรงถวายพระนามนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า

                กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วมรกตของพระเจ้าอยู่หัวผู้สร้างพระนครนี้

 

 

ประวัติพระแก้วมรกต พระมหามณีรัตนปฏิมากร

เชิญแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมของประวัติพระแก้วมรกต พระมหามณีรัตนปฏิมากร

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์