4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระธาตุพนม นครพนม
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
ประวัติพระธาตุพนม นครพนม (4)
การบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งที่ 3
สมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2236-2245)
เมื่อพระเจ้าสุริยงศา (กรุงเวียงจันทน์) เสด็จสวรรคต
พระยาเมืองแสนได้ชิงราชสมบัติและได้สถาปนาตัวเองขึ้นครองเมือง ศรีสัตนาคนหุต
ทำให้พระมเหสีของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (องค์เดิม) ที่ทรงครรภ์อยู่
เกรงจะมีภัยมาสู่ครอบครัว จึงพาพระโอรส คือ พระเจ้าองค์หล่อและพระเจ้าองค์หน่อ
(เจ้าหน่อกุมาร) พร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์พร้อมข้าราชบริพาร
รวมทั้งชาวเมืองผู้ไม่เลื่อมใสในตัวพระยาเมืองแสน ประกอบด้วยชาวไทยน้อยเผ่าต่าง ๆ
เช่น ไทยน้อย (ชาวลาว)ชาวเผ่าข่า ชาวเผ่าผู้ไท จากสิบสองจุไท
อพยพหลบหนีลงมาตามลำน้ำโขงจากนครเวียงจันทน์ไปอาศัยอยู่กับเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
ซึ่งเป็นพระภิกษุที่มีความฉลาดไหวพริบดี
ท่านมีความแตกฉานในพระธรรมไตรปิฏก เป็นศิษย์พระครูลืมบอง
และพรครูยอดแก้ว เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
มีผู้คนนับถือชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว
แต่เมื่อยังเป็นสามเณรมีอภินิหารอัศจรรย์มาก
เมื่อได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีพระสงฆ์นั่งหัตถบาสถึง 500 รูป
ในพระอุโบสถน้ำโดยเจ้าเมืองเวียงจันทน์ถวายอุปการะ ต่อมาท่านได้รับฐานันดรศักดิ์
เป็นเจ้าราชครูหลวงและจำพรรษาอยู่ที่วัดโพนสะเม็ก ชานเมืองเวียงจันทน์
คนทั้งหลายจึงเรียกนามท่านว่า เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (โพน หมายถึงที่สูง
สะเม็กหมายถึงต้นเสม็ด)
ท่านยังได้ปฏิบัติกรรมฐานบรรลุอภิญญาสมาบัติ
มีฤทธิ์อำนาจเป็นพิเศษอีกด้วย
จึงเป็นที่ทั้งเกรงทั้งเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาและบูชาสักการะของคนทั่วไปในอาณาจักรกรุงศรีสัตนาคนหุต
ครั้นเมื่อเจ้าเมืองเวียงจันทน์สวรรคต
พระยาเมืองแสนชิงราชสมบัติได้เป็นเจ้าผู้ครองนคร
คิดกำจัดศัตรูทางการเมืองเสียประกอบกับเมื่อเจ้าองค์หล่อได้เจริญวัยขึ้นมีความโกรธแค้นพระยาเมืองแสน
ซึ่งชิงราชสมบัติจึงพาบ่าวไพร่ไปอยู่เมืองญวนซ่องสุมผู้คนคอยหาโอกาสแก้แค้นพระยาเมืองแสน
ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต
เห็นว่าเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กมีคนรักใคร่เกรงกลัวและมีบารมีมาก
หากปล่อยไว้อาจจะช่วยเหลือเจ้าองค์หน่อแย่งชิงเมือง
จึงคิดกำจัดเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กเสีย
เมื่อเจ้าราชครูหลวงรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนคิดทำร้าย
จึงได้รวบรวมผู้คนพาเจ้าหน่อกุมารพร้อมด้วยมารดา (พระมเหสีของเจ้าเมืองเวียงจันทน์)
เชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารชาวไทยน้อยเผ่าต่าง ๆ
อพยพทิ้งถิ่นเดิมหนีภัยออกจากเวียงจันทน์ จำนวน 3,000 คน ลงมาตามลำน้ำโขง
เมื่อเห็นว่าที่ใดทำเลดีอุดมสมบูรณ์ก็ให้ผู้คนแยกย้ายกันตั้งบ้านตั้งเมืองตามความสมัครใจในแถบสองฝั่งแม่น้ำโขง
จึงเกิดเป็นบ้านเมืองส่วนเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กหรือญาครูขี้หอม
(เพราะท่านชอบฉันมะตูม)
จึงได้พาพระมเหสีเจ้าเมืองเวียงจันทน์โอรสเจ้าเมืองเวียงจันทน์เดิมและเชื้อพระวงศ์พร้อมข้าราชบริพารและชาวไทยน้อยเผ่าต่าง
ๆ อพยพมาตั้งอยู่ที่วัดโพนสิมแขวงสุวรรณเขต อาณาจักรลาวปัจจุบัน
และต่อมาภายหลังปรากฏว่าเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอยู่ถึง 9 ปี
ลำพังการต่อยอดได้ใช้อิฐต่อเติมให้สูงขึ้นไปอีก 43 เมตร กินเวลากว่า 3 ปี
การปฏิสังขรณ์บูรณะพระธาตุพนมในครั้งนี้
ได้ปรับปรุงที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุใหม่
นอกจากจะเปลี่ยนรูปของยอดเป็นทรงรุ้งแบบทรงเจดีย์ลาวโดยทั่วไปแล้วยังสร้างอูบสัมฤทธิ์ครอบเจดีย์ศิลาอันเป็นที่บรรจุขุษยกและผอบพระบรมธาตุในแก้วผลึกในภาชนะทองเป็นชั้น
ๆ บรรจุไว้ในเจดีย์หิน (ยอดภูเพ็ก) ในบริเวณบัลลังก์ฐานยอดพร้อมกับบรรจุ
พระพุทธรูปเงิน ทองคำ โลหะมีค่า แก้วมรกต เงินตรา อัญมณีมีค่าต่าง ๆ ไว้ในอูบมุง
และมีอิฐมีจารึกไว้ว่า ธาตุปะนม มีจำนวนมากกว่า 16,000 ชิ้น
ส่วนใหญ่อัดแน่นตั้งแต่ในส่วนที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กมาบูรณปฏิสังขรณ์จนถึงยอดบน
การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
แบ่งออกเป็น
ตอนที่ 1 ตั้งแต่ฐานชั้นที่ 2 ขึ้นไปทำเป็นบัวก่ออิฐถือปูน
ตอนที่ 2 ตอนองค์ระฆังทำเป็นรูปโกศ
แบบยอดเจดีย์ลาวหล่อด้วยโลหะเนื้ออ่อนเรียกว่าเหล็กเปียกหรือเหล็กไหล
และต่อขึ้นเป็นฉัตรหล่อด้วยทองแดง
โดยที่การต่อยอดขึ้นไปเช่นนี้เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ตัวโบราณสถานซึ่งอยู่เบื้องล่าง
จึงได้นำเอาเศษอิฐเก่าใส่ลงไปในห้องคูหาเบื้องล่างจนแน่น
แล้วใช้อิฐก่อเรียงสอด้วยทรายและดินเหนียวปิดให้ตัน
ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ฐานองค์พระธาตุพนมเบื้องล่าง
ดังนั้นองค์พระธาตุพนมที่รู้จักกันในสมัยปัจจุบัน จึงเป็นเจดีย์ตันทั้งองค์
ตอนที่ 3 ปลายสุดเป็นปมมีรูสำหรับปักฉัตร
ฉัตรทำด้วยทองคำฝังพลอยและนิลหัวแหวนโดยรอบทุกชิ้น ประมาณ 300 เม็ดเศษ
ต้นฉัตรเป็นเหล็ก ด้ามฉัตรเป็นเงินฝังพลอย
ยอดพระธาตุตอนนี้ได้ถูกต่อยอดและสร้างเจดีย์สวมครอบในปี พ.ศ. 2483
เมื่อองค์พระธาตุพนมล้มลงในปี พ.ศ. 2518 ยังพบยอดอยู่ในสภาพบุบสลายเล็กน้อย
ในการอพยพหนีภัยจากพระยาเมืองแสนมาอยู่บ้านโพนสิมเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
แก่พระโอรสเจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงได้อพยพต่อไป
เหลือเชื้อพระวงศ์และบริวารชนเผ่าผู้ไทตั้งหลักฐานที่บ้านโพนสิม
เพื่อเป็นด่านหน้าป้องกันการรุกรานของพระยาเมืองแสน ที่จะส่งกองทัพมาทำอันตราย
เมื่ออพยพมาถึงตำบลจะโรยวาหรือตำบลบ้านแหลมซึ่งต่อมาตำบลนี้เป็นนครพนมเปญ
เจ้าราชครูหลวงได้ศุภนิมิต และได้พระบรมธาตุจากยายเป็น
ท่านจึงสร้างเจดีย์เป็นพนมขึ้นแล้วบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่เจดีย์พนมนี้
(ปัจจุบันเป็นเมืองพนมเปญ)
ต่อมาเจ้ากรุงกัมพูชาจะเก็บส่วย ท่านจึงพาโอรสเจ้าเมืองเวียงจันทน์
เชื้อพระวงศ์และบริวารเคลื่อนย้ายไปตามลำน้ำโขงแล้วมาอธิษฐานขอที่อยู่อาศัยใหม่
ด้วยอำนาจกุศลกรรมของท่านจึงเกิดเกาะเป็นหาดทรายขึ้นจึงเรียกกันว่า
หาดเจ้าราชครูหลวง ต่อมาในบริเวณนี้กลายเป็นนครจำปาศักดิ์
เมื่อได้ทีอยู่อาศัยแล้วเจ้าราชครูจึงตั้งชื่อเมืองว่า นครจำปากนาคบุรีศรี
(นครจำปาศักดิ์) และได้ยกเจ้าหน่อกุมาร (องค์น้อง) ขึ้นเป็นกษัตริย์ถวายพระนามว่า
เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
ได้ตั้งหลักแหล่งครั้งสุดท้ายที่นครจำปาศักดิ์ มรณภาพเมื่อวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7
พ.ศ.2263 รวมอายุได้ 90 ปี ท่านเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง
เจ้าสร้อยศรีสมุทรและศิษย์จึงแบ่งอัฐิส่วนหนึ่ง มาก่อเจดีย์ขนาดเล็กไว้ ณ
บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุด้วย