4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระธาตุพนม นครพนม
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
ประวัติพระธาตุพนม นครพนม (5)
การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 4
สมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. 2349
ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ศูนย์อำนาจได้เปลี่ยนจากฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มาเป็นฝั่งซ้ายของลำน้ำ
โดยมีกรุงเทพเป็นศูนย์กลางอำนาจ
ในปี พ.ศ. 2355-2356 เจ้าอนุวงศ์หรือเจ้าอนุรุทราชโอรสเจ้าศิริบุญสาร
ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์เป็นองค์สุดท้ายได้ร่วมมือกับเจ้าเมืองนครพนม (พระบรมราชา
สุดตา) และเจ้าเมืองมุกดาหาร (พระเจ้าจันนสุริยวงศา กิ่ง)
ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม โดยใช้เวลาหนึ่งปีสร้างถนนอิฐหน้าวัดไปท่าน้ำยาว
478 เมตร เรียกว่าขัวตะพานหรือขัวสะพาน
สร้างหอพระ ได้ซ่อมฉัตรยอดพระธาตุที่หักลงมาทำฉัตรใหม่ด้วยทองคำ
แล้วประดับด้วยเพชรพลอยสีต่าง ๆ ประมาณ 200 เม็ด
(ปัจจุบันฉัตรนี้ได้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุพนม)
เสร็จแล้วเสด็จลงฉลองและทำบุญวัดพระธาตุพนมนับเป็นปีท้าย ๆ
หลังจากนั้นก็เกิดสงครามระหว่างเมืองล้านช้างกับกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2369-2371
ชุมชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงระส่ำระสายเกรงภัยสงคราม ถ้าไม่ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ
ก็หลบหนีเข้าป่าเข้าดง
พวกข้าวัดที่มีหน้าที่ปรนนิบัติทำนุบำรุงพระธาตุพนม
ก็ขาดจำนวนไปมาก องค์พระธาตุและศาสนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมไป เช่น
เมื่อ พ.ศ. 2430 พระวิหารหลวง (หอพระแก้ว) ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าโพธิสารได้รับการทำนุบำรุงรักษาจากราชวงศ์ล้านช้างต่อ
ๆ มานั้นก็ชำรุดทรุดโทรมพังทลายลงมาเป็นกองอิฐอยู่กลางวัด
ส่วนองค์พระธาตุพนมก็ขาดผู้ดูแลทำบุญบำรุงรักษาต้นไม้ต่าง ๆ
ขึ้นตามรอยปริแยก มีกาฝากต้นโพธิ์ต้นไทรขึ้นตามอิฐแตก
มองดูแล้วเกิดความเศร้าหมองไม่เจริญศรัทธา เช่นอดีตกาลที่ผ่านมาเลย