4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระธาตุพนม นครพนม
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
สิ่งสำคัญในวัดพระธาตพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม
1. องค์พระธาตุพนม
อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก)
ของพระพุทธเจ้าเป็นพระธาตุเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง
มีอายุเก่าแก่มากกว่าสองพันห้าร้อยปี สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา วิริยะ อุตสาหะ
และสติปัญญาของบรรพชนในสมัยแคว้นศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง
ในตำนานพระอุรังคธาตุกล่าวว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นครั้งแรกในราว
พ.ศ. 8 โดยพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ พร้อมกับท้าวพญาทั้ง 5 อันมีพญานันเสน
พญาสุวรรณภิงคาร พญาคำแดง พญาจุลณีพรหมทัต และพญาอินทปัฐนคร องค์เดิมก่อด้วยอิฐล้วน
มีฐานชั้นล่างสุดมีวิธีการก่อสร้างที่โบราณที่สุดคือ สร้างด้วยอิฐเรียงสอด้วยดิน
ยอดทรงเดิมของพระธาตุทรงเตี้ยป้อมเหมือนหน่อไม้
ต่อมาพญาสุมิตตธรรมวงศา เจ้าเมืองมรุกขนคร
ได้มาบูรณะถากถางบริเวณภูกำพร้า สร้างกำแพงด้วยศิลาแลงโดยรอบและในระหว่างปี พ.ศ.
2073-2153 ก็มีการก่อสร้างเพิ่มเติม เช่น สร้างวิหาร บูรณะกำแพงเรื่อยมา
จน พ.ศ. 2236 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม โดยซ่อมแซมองค์พระเจดีย์
ต่อยอดองค์เจดีย์ด้วยโลหะเหล็กเปียก และทองแดงหล่อสูงขึ้นอีก 43 เมตร
ส่วนยอดใหม่นั้นทำเป็นทรงเรียวเหมือนขวดแก้ว และได้มีการบูรณะศาลาโรงธรรม
สร้างพระอุโบสถ กุฏิ วิหาร
ต่อมาในสมัยจอมพล ป.
พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2483-2484
ได้ให้กรมศิลปากรมาสร้างเสริมเจดีย์พระธาตุโดยเทคอนกรีตครององค์เก่า
และต่อยอดขึ้นอีก 10 เมตร และชั้นบนสุดทำเป็นฉัตรทองคำ ซึ่งได้พระเจดีย์สูง 57 เมตร
ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะเรื่อยมาจนมาถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518
ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ พระเจดีย์ธาตุพนมองค์เดิมได้ล้มพังลงทั้งองค์
เหลือฐานพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งยังเหลืออยู่สูงประมาณ 6 เมตร
รัฐบาลสมัยนั้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่โดยสร้างในที่เดิมครอบฐานพระเจดีย์องค์เดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ข้างในกลวง มีคานยึด 5 แห่ง มีกรุสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ 1 กุในผอบสัมฤทธิ์
และกรุบรรจุสิ่งของมีค่าอื่น ๆ รูปทรงขององค์พระธาตุยังคงรูปทรง 4
เหลี่ยมเหมือนเดิม ความสูงจากพื้นดินถึงยอดฉัตร 47.60 เมตร ฐานกว้างด้านละ 12.33
เมตร ได้เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2519 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2522
ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2519
เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้จัดให้มีพิธียกฉัตร และบรรจุพระอุรังคธาตุโดยในวันที่ 22
มีนาคม สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสนหาเถระ)
ทรงเป็นประธานยกฉัตรสวมยอดพระธาตุ และในวันที่ 23 มีนาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ
เสด็จมาทรงบรรจุพระอุรังคธาตุไว้ในองค์พระธาตุพนม
เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชาสักการะต่อไป
2. พระอุโบสถ
สร้างมาแต่สมัยโบราณโดยพระยาจันทสุริยวงศ์ (กิ่ง)
เจ้าเมืองมุกดาหาร เมื่อ พ.ศ. 2349 ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาตุคู่กันกับหอพระแก้ว
ได้รื้อบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. 2500 ขยายยื่นออกมาทางด้านหน้า 7 เมตร แบ่งออกเป็น 2
ห้อง หลังคา 3 ชั้น 3 ช่วง มีซุ้ม ด้านหลังเป็นมุข
ภายในซุ้มเรือนแก้วสำหรับประดิษฐานพระประธาน ยืนออกมากว้าง 1 เมตร
ขนาดพระอุโบสถกว้าง 5.50 เมตร ยาว 18.60 เมตร ศิลปกรรมของพระอุโบสถเป็นแบบล้านนา
3. วิหารหอพระแก้ว
สร้างขึ้นครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2082-2102 สมัยพระเจ้าโพธิสาร
กษัตริย์ในราชวงศ์ล้านช้าง องค์ที่ 40 แห่งเมืองหลวงพระบาง
ทรงสร้างเอาไว้โดยก่ออิฐถือปูน เดิมเป็นวิหารใหญ่เรียกว่า วิหารหลวง
มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2518
ถูกเจดีย์พระธาตุพนมล้มทับพังยับเยินเหลือแต่ฐานสูงประมาณ 1 เมตรเศษ
ทำให้หอพระแก้วได้รับความเสียหายมาก ตัวหอพระแก้วยังไม่ได้สร้างขึ้นใหม่
มีแต่องค์พระประธานในหอพระแก้วประดิษฐาน เด่นเป็นสง่าหน้าองค์พระธาตุพนม
4. วิหารคดรอบองค์พระธาตุ
พระเทพโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส) ได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งเป็นพระมหาแก้ว
พ.ศ. 2481 วิหารนี้มีทั้งหมด 107 ห้อง ยาวห้องละ 3 เมตร และประตูอีก 3 ห้อง รวมเป็น
110 ห้อง ซุ้มประตูทิศตะวันออก ด้านหน้าวัด 3 ซุ้ม
เฉพาะประตูใหญ่ตัวกลางได้สร้างใหม่ เจาะประตูสำรองอีก 2 ข้าง วิหารคดด้านตะวันตก
ด้านเหนือและด้านใต้ก่อประตูไว้ทุกซุ้ม ใช้เวลาสร้าง 11 ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อปี
พ.ศ. 2491
5. หอข้าวพระ
รูปลักษณะคล้ายปราสาทผึ้งสมัยโบราณ ทรงมณฑปศิลปะแบบอีสาน
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายในลานพระธาตุ ในกำแพงแก้วชั้นที่ 3
หอข้าวพระนี้ใช้เป็นที่ถวายข้าวบูชาพระธาตุเป็นประเพณีของชาวบ้าน สร้างในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช
มีอยู่ 2 หลัง คือ ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก
เฉพาะด้านทิศตะวันตกได้จำลองออกไปประดิษฐ์ที่กำแพงแก้วชั้นนอกด้านเหนือ
ส่วนด้านทิศตะวันออกได้ถูกพระธาตุพนมล้มทับพังยับเยิน เมื่อครั้งองค์พระธาตุพนมล้ม
พ.ศ. 2518
6. วิหารพระพุทธไสยาสน์
อยู่ทางด้านทิศเหนือ นอกเขตพุทธวาส
ใกล้สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ และพระพุทธบาทจำลอง
กล่าวกันว่า ก่อนที่จะนำพระอุรังคธาตุเข้าประดิษฐานในอูบมุงภูกำพร้านั้น
บริเวณนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุมาก่อน
7. เสาหลักศิลาเสมา
เป็นแบบทวารวดี กว้างประมาณ 15 นิ้ว สูง 3 เมตรเศษ ปักเป็นเขตพระบรมธาตุ
ตรงมุมกำแพงแก้วชั้นนอกทั้ง 4 ด้านพร้อมรูปสัตว์ประหลาดอัจมูขี
8. สระน้ำมูรธาภิเษก
เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์โบราณเรียกว่า บ่อน้ำพระอินทร์
มีบ่อน้ำจืดใสสะอาจอยู่ในป่าตาล
ใกล้หอพระพุทธไสยาสน์ปัจจุบันทำเป็นเขื่อนไว้โดยรอบถือว่าเป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์ 1
ในจำนวน 18 แห่ง
ที่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นำมาใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกให้พระมหากษัตริย์สรง ที่เรียกว่า
สรงมูรธาภิเษก
นอกจากสระน้ำแห่งนี้แล้ว ยังมีสระพังหลวง
เป็นสระน้ำโบราณขนาดใหญ่อยู่ตอนหลังวัดอีกแห่งหนึ่ง โบราณวัตถุอื่น ๆ
นอกจากนี้มีรูปปั้นเทพารักษ์อยู่ปลายถนนหน้าวัดพระธาตุพนมประตูโขงปลายสะพานวัด
พระเจดีย์พระธาตุพนมจำลอง และศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกเจ้าพระยานคร
บันทึกเหตุการณ์ที่พระยานครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวง มาบูรณะวัดพระธาตุพนม เมื่อ
พ.ศ. 2157 เก็บรักษาไว้ที่เชิงประสาทหอข้าวพระด้านหน้าพระธาตุ
จึงถูกพระธาตุพนมพังทับด้วย นอกจากนั้นก็มีจารึกอิฐเผา เรื่องการสร้างพระอุโบสถ
และจารึกของท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นต้น