4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระบรมธาตุไชยา
สุราษฎร์ธานี
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
ประวัติพระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี (1)
เมืองไชยา เมืองหลวงอาณาจักรศรีวิชัย
สมัยก่อนอาณาจักรศรีวิชัย
ในดินแดนสุวรรณภูมิสมัยก่อน (พ.ศ. 700-1100) ด้านขวานทองของไทย
ดินแดนในคาบสมุทรมาลายู ตอนบนตั้งแต่เมืองมะริด ประจวบคีรีขันธ์ลงมา
เมืองไชยาถึงอ่าวบ้านดอน พุนพิน สิชล เคยเป็นประเทศเล็ก ๆ หลายประเทศปกครองกันอยู่
ขึ้นกับประเทศโพนัมเป็นตลาดที่ค้าขายของชนชาติต่าง ๆ
ของพ่อค้าจีนทางตะวันออกและพ่อค้าอินเดีย อาหรับทางทิศตะวันตก
ประเทศโพนัม ในสมัยกษัตริย์พันมันปกครอง พ.ศ. 763
ถือว่าอำนาจมากในสมัยนั้นจึงได้ยกกองทัพเรือไปตีประเทศเล็ก ๆ ในสุวรรณภูมิ
คาบสมุทรมาลายู ต่อมาพระองค์ประชวรจึงให้พระโอรสไปตีได้เมืองสุวรรณภูมิ ประเทศเตี้ยนสุนเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโพนัม
แต่เดิมประเทศเตี้ยนสุนเป็นประเทศเอกราช
มีกษัตริย์ปกครองอยู่ห้าพระองค์
เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิเป็นเมืองชายทะเลอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโพนัม
เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ
ประเทศเตี้ยนสุนตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทิศตะวันออกติดต่อไปมากับตังเกี๋ยประเทศจีน
ทิศตะวันตกติดต่อได้กับอินเดีย อันเซก ไอยคุปต ชาวเตี้ยนสุนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมพราหมณ์ลัทธิจากทางอินเดียมาก
ดินแดนตอนนี้เรือสำเภาตัดข้ามไม่ได้
เป็นทำเลการแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวตะวันออกกับชาวตะวันตก ไม่ว่าเป็นพวกผ้าไหมแพร
เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเทศ สิ่งของมีค่าและหายากต่าง ๆ
ด้วยเหตุที่พ่อค้าสำเภาไม่นิยมแล่นเรือผ่านช่องแคบมะลากะเพราะเป็นบริเวณที่มีโจรสลัดชุกชมและบางฤดูกาลก็ไม่เหมาะแก่การเดินเรือ
การเดินทางข้ามคาบสมุทรมาลายูตอนเหนือ มีอยู่สองทางคือ
ทางตอนเหนือ
ตั้งแต่เมืองมะริดทางฝั่งทะเลอันดามันมาตามลำน้ำตะนาวศรี
เดินบกข้ามมาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทางตอนใต้ ที่เมืองตะกั่วป่า
ลงมาตามแม่น้ำตะกั่วป่าเดินทางบกมาที่แม่น้ำคีรีรัฐมาออกทะเลที่อ่าวบ้านดอนดังมีหลักฐานเมืองโบราณที่ปรากฏเป็นหลักฐาน
มีการค้นพบรูปสลักพระอิศวรพระนารายณ์ พระโพธิสัตว์ พระพุทธรูป ที่เมืองตะกั่วป่า
เมืองคีรีรัฐ เมืองเวียงสระ เมืองพุนพิน เมืองไชยา
อาณาจักรพานพาน
จากจดหมายเหตุของจีนกล่าวถึงเมืองพานพาน (พ.ศ. 950-1200)
ประเทศนึ่งในคาบสมุทรมาลายูอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศลินหยี (จัมปา)
ทางตอนเหนือมีอ่าวไทยแยกกับประเทศลินหยี
ชาวพานพานรับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย มีการใช้หนังสืออินเดีย
นับถือพระพุทธศาสนามาก มีวัดพุทธศาสนาและเทวสถานของพราหมณ์หลายแห่ง
พระสงฆ์ฉันเนื้อสัตว์แต่ไม่ดื่มเหล้า พวกพราหมณ์ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มเหล้า
ประเทศพานพานราชสำนักมีพวกพราหมณ์จากประเทศอินเดียจำนวนมากเพื่อพึ่งบารมีพระเจ้าแผ่นดิน
พ.ศ. 977 มีพราหมณ์โกณทัญญะผู้ทรงความรู้สูงอยู่ที่ประเทศพานพาน
ชาวโพนัมได้รู้ถึงความสามารถเปรื่องปราชญ์ของพราหมณ์ผู้นี้
จึงอัญเชิญไปเป็นกษัตริย์โพนัม ไปปกครองประเทศเปลี่ยนแปลงจนประเทศโพนัมเจริญรุ่งเรื่องสูงสุด
ประเทศพานพาน น่าเป็นชื่อตั้งเดิมของบ้านพุนพินทางใกล้แม่น้ำหลวงตาปีมารวมกับแม่น้ำคีรีรัฐ
นครหลวงของประเทศพานพานน่าจะอยู่ที่เวียงสระ บนฝั่งขวาของแม่น้ำหลวงตาปี
มีการพบโบราณวัตถุที่เวียงสระเป็นรูปศิลา พระอิศวร
พระนารายณ์ขนาดใหญ่ กับพระพุทธรูปศิลาสมัยคุปตะและที่เมืองไชยา
พบพระนารายณ์ศิลาหลายองค์ในยุคสมัย เป็นเมืองหนึ่งในสมัยพานพาน คือ พบที่วัดศาลาทึง
1 องค์ วัดใหม่ชลธาร 3 องค์
ในสมัยพระเจ้าอโศก ศาสนาพุทธในอินเดียรุ่งเรืองมากในราว พ.ศ.
200-300 พระองค์ได้ส่งพระธรรมทูต พระโสนะกับพระอุตตระมาเผยแพร่ศาสนาในสุวรรณภูมิ
คือในแหลมทอง ตลอดคาบสมุทรมาลายู
จดเกาะสุมาตราพุทธศาสนาจึงมาเจริญรุ่งเรืองมากในสุวรรณภูมิ
มาถึง พ.ศ. 1093 พวกจามหรือเจนละ (ชนชาติเขมรโบราณ)
มารุกรานตีได้อาณาจักรโพนัมจนล่มสลาย อาณาจักรทราวดีของเจนละในดินแดนสุวรรณภูมิรุ่งเรืองขึ้นแทนที่
พระพุทธศาสนาสาวกยานเจริญรุ่งเรืองในแหลมทองตลอดจนในคาบสมุทรมาลายู
ตลอดถึงสุวรรณภูมิทางตะวันออกตั้งแต่นครราชสีมา ปราจีนบุรี มหาสารคาม กาฬสินธุ์
มีการพบพระพุทธรูปศิลาในที่ต่าง ๆ รวมทั้งเมืองไชยาด้วย
พุทธศาสนาหินยานเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าศาสนาพราหมณ์
นครโพธิ์
ในราว พ.ศ.1200
มีนครหนึ่งทางทิศเหนือของอ่าวบ้านดอน ใกล้เมืองไชยา
เป็นเมืองที่อยู่ในที่ราบอันอุดมสมบูรณ์
มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า นครโพธิ์
มีการนำเอาต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มาจากอินเดียหลายต้นมาปลูกจนบริเวณนั้นปัจจุบันยังมีชื่อปรากฏ
เช่นที่แหลมโพธิ์
แต่ปัจจุบันน่าเสียดายที่ต้นโพธิ์เหล่านั้นได้ล้มลงในคราวพายุพัดจัดในปี พ.ศ. 2428
จากจดหมายเหตุการณ์ปฏิบัติธรรมและประวัติภิกษุนักจารึกจีนของภิกษุอิจิงได้เล่าถึงการจารึกมุ่งศึกษาพระธรรมไปอินเดียโดยเรือกำปั่นสถานที่ภิกษุอิจิงแวะพักจากกวางตุ้งมานครโพธิ์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนา
มีภิกษุจำนวนมากมาศึกษาค้นหาอ่านคัมภีร์ปฏิบัติธรรม
ภิกษุที่จะไปอินเดียส่วนมากมาฝึกหัดธรรมวินัยที่นี่ก่อน
(ภิกษุทางตะวันออกวินัยอ่อนกว่าทางชมพูทวีป) ประเทศต่าง ๆ
ทั้งหลายในทะเลใต้เป็นเมืองขึ้นของนครโพธิ์ตลอดไปจนถึงนครกาจา (ไทรบุรี)
ถึงประเทศมาลายูตอนนั้นเรียกประเทศศรีโพธิ์
นครโพธิ์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา
มีพระภิกษุมีชื่อเสียงเชี่ยวชาญทางธรรมวินัยมาก
ประเทศทั้งสิบในทะเลใต้เป็นเมืองขึ้นของนครโพธิ์ นับถือศาสนาพุทธนิกาย
พระราชานครโพธิ์และพระราชาใกล้เคียงต่างมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาในประเทศมาลายูมีการนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานมาก
นครโพธิ์ มีทองใช้อย่างแพร่หลายในทุกหมู่เหล่า
มีการใช้ทองบูชาพระด้วยดอกบัว ทอง คนโฑทอง ดอกไม้ทอง พระพุทธรูปทอง
พระพุทธรูปศิลาก็สร้างขึ้นจำนวนมาก
เท่าที่พบพระพุทธรูปหินเขียวสมัยทวาราวดีพบในคูหาองค์พระธาตุในเจดีย์วัดแก้วในโบสถ์วัดเววนที่ตั้งหลักเมืองริมวัดเวียง
ทองตราสมัยโบราณมีผู้พบในที่ต่าง ๆ ต้นโพธิ์ทอง
พบตามหมู่บ้านและวัดที่พุมเรียงสองต้น ปัจจุบันวัดเก่าในบริเวณที่ราบนับได้ประมาณ
30 วัด
นครโพธิ์ มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน
มีเมืองท่าการเดินทางจากกวางตุ้งมานครโพธิ์ใช้เวลาเดินทาง 20 วัน
จากนครโพธิ์ไปมาลายู 15 วัน ประเทศทั้งสิบในทะเลใต้
ชาวจีนเรียกกันแต่ดั้งเดิมว่าประเทศคุนหลุน หรือคนไทยมีรูปร่างคล้ายคนจีน
ได้อพยพจากทางเหนือลงมาคาบสมุทรมาลายู
จนเป็นชุมชนใหญ่แล้วปกครองตนเองจนเป็นประเทศตั้งแต่สมัยอาณาจักรโพนัมเจริญรุ่งเรือง
คนในประเทศเหล่านี้นุ่งผ้าพื้นแบบอินเดีย นุ่งผ้าผืนกว้างยาวแปดฟุต
ไม่ตัดหรือเย็บ นุ่งรวบสะเอวอย่างง่าย ๆ เพื่อปกคลุมส่วนล่างของร่างกาย
หลักฐานการค้าขายกับจีนที่ปรากฏมีการขุดค้นพบถ้วยโบราณจำนวนมาก
เป็นของสมัยราชวงศ์สุงมาจากนานกิง เรือกำปั่นบรรทุกถ้วยมาอับปางจนซ้อนกันจำนวนมาก
มีการพบเซลาคอนสมัยราชวงศ์สุง พบลูกปัดและกระจกเงาโบราณของจีน
ที่เมืองไชยามีการพบระฆังเหล็กโบราณมีอักษรจีน 3 ลูก ที่พุมเวียง
มีศิลาจารึกภาษาแก่เก่าอยู่หลายแผ่น
ราษฎรนครโพธิ์ นิยมทำน้ำตาลก้อนกลม
ได้จากการเคี่ยวน้ำจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันที่ไชยายังมีการทำน้ำตาลแว่น
หรือน้ำตาลถ้วยกันอยู่ กล่าวกันว่าสืบทอดกันมาร่วมพัน ๆ ปี