4 พระบรมธาตุ
4
พระบรมธาตุ
ตำนานที่มาโดยละเอียด
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี
พระบรมธาตุเจดีย์
นครศรีธรรมราช
โดย
สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช
(2)
การสร้างเสริมบูรณะ พระมหาธาตุเจดีย์
สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) บูรณปฏิสังขรณ์
ในสมัยดินแดนทางใต้เจริญรุ่งเรือง ดินแดนแถบนี้เป็นอาณาจักรศรีวิชัย มีเมืองต่าง ๆ
เกิดขึ้น เมืองท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ในช่วง พ.ศ.1196-1800 เมืองนครศรีธรรมราช
นั้นปรากฏว่าได้มีผู้มาสถาปนาเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหลายพระองค์
สภาพบ้านเมืองพระพุทธศาสนาเจริญมากบางคราวก็ทิ้งร้างสลับกันไป
เมื่อเกิดโรคห่าทำร้ายประชาชนเป็นครั้งคราว เมื่อใดเกิดห่าระบาด
เจ้าผู้ครองเมืองก็อพยพผู้คนข้าราชบริพารพาพระประยูรญาติหนี สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฏร์ต่างก็หลบหนีกระเซ็นกระซ่านออกจากเมืองไปอยู่ที่อื่น
เมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็กลายเป็นเมืองร้าง
อำนาจและความเจริญรุ่งเรืองที่เคยมีอยู่ก็สลายไป
องค์พระบรมธาตุก็ถูกปล่อยละเลยถูกต้นไม้ขึ้นปกคลุมทั้งโพธิ์ ไทร เถาวัลย์
ขึ้นรถทึบไปหมด กัดกร่อนให้องค์พระบรมธาตุหักพังเสียหาย
ต่อเมื่อมีเจ้าเมืองมาตั้งใหม่ก็บูรณะให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่
ร้างแล้วตั้งใหม่ จึงเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วครั้งเล่า
พระบรมธาตุองค์เดิมซึ่งสันนิษฐานสร้างใน พ.ศ.854 เชื่อกันว่าเป็นรูปแบบศรีวิชัย
ซึ่งต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช องค์ที่ 1 ทรงสร้างขึ้นใหม่ ในช่วงระยะ
พ.ศ.1300 ก็หักปรักพังชำรุดทรุดโทรมลงมาก
มาประมาณ พ.ศ.1700-1800
เมืองนครศรีธรรมราชก็เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด อีกครั้งหนึ่ง
ในสมัยกษัตริย์สามพี่น้องพระเชษฐาองค์โตที่ครองราชย์ทรงพระนามว่า
พระศรีธรรมโศกราช องค์รองทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทรภาณุ
ซึ่งเป็นพระนามฐานันดรตำแหน่งอุปราช องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า พระเจ้าพงษาสุระ
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเสด็จสวรรคตลง องค์รองเจ้าจันทรภาณุก็ขึ้นเสวยราชย์
เป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแทนแต่คนทั่วไปยังเรียกพระนามเดิมของท่าน พระเจ้าจันทรภาณุ
ครั้นเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชองค์ที่ 2 เสด็จสวรรคต เจ้าพงษาสุระก็ขึ้นเสวยราชแทนทรงพระนามว่า
พระเจ้าศรีธรรมโศกราช เช่นกัน
ในช่วงที่กษัตริย์สามพี่น้องปกครองบ้านเมืองอยู่นครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งทั้งอาณาจักรและศาสนาองค์ที่
23 มีหลักฐานต่าง ๆ ทั้งของอินเดียและลังกายืนยันว่า กษัตริย์จันทรภาณุได้รวบรวมไพร่พลเมืองขึ้น
ทั้ง 12 เมือง ยกกองทัพเรือไปตีเมืองลังกาได้สำเร็จบรรดาเมืองขึ้นต่าง ๆ
ตลอดแหลมมลายูทั้ง 12 เมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร ประกอบด้วยเมือง
1. เมืองสายบุรี ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราหนู นามปีชวด
2. เมืองปัตตานี ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราวัว นามปีฉลุ
3. เมืองกลันตัน ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราเสือ นามปีขาล
4. เมืองปะหัง ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตรากระต่าย นามปีเถาะ
5. เมืองไทรบุรี ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตรางูใหญ่ นามปีมะโรง
6. เมืองพัทลุง ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตรางูเล็ก นามปีมะเส็ง
7. เมืองตรัง ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราม้า นามปีมะเมีย
8. เมืองชุมพร ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราแพะ นามปีมะแม
9. เมืองบันทายเสมอ ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราลิง นามปีวอก
10. เมืองสงขลา ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราไก่ นามปีระกา
11. เมืองตะกั่วป่า ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราหมา นามปีจอ
12. เมืองกระบุรี ใช้ตราเมืองเป็นรูป ตราหมู นามปีกุน
เมืองนครศรีธรรมราช
เป็นศูนย์กลางเมืองหลวงแห่งอำนาจปกครองหัวเมืองทั้งหลาย
ใช้รูปดอกบัวเป็นตราประจำเมือง
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชความเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าจันทรภาณุเป็นองค์ทรงอุปถัมภ์ภกพระศาสนา
ทรงบำรุงและบูรณะส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาลัทธิหินยานเจริญรุ่งเรืองมากในลังกา
พระองค์ทรงได้จัดส่งพระภิกษุสงฆ์ไทยไปศึกษาพระธรรมวินัยในเมืองลังกา
พระภิกษุสงฆ์จากดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้ง ไทย ลาว พม่า มอญ และเขมร
ต่างเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยพุทธศาสนาหินยานในเมืองลังกากันมาก
เมื่อคณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยจากนครศรีธรรมราชเดินทางกลับมา ในปี พ.ศ.1700
ก็ได้ชักชวนพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาให้มาตั้งคณะสงฆ์ที่เมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า
พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์
การร่วมมือของศาสนจักรของเมืองลังกาและนครศรีธรรมราชเป็นไปอย่างดียิ่ง
เจ้าเมืองลังกาได้ชักชวนให้ผู้คนชาวลังกาที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มาช่วยทำนุบำรุงศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราช
พระภิกษุชาวลังกาที่อยู่ในเมืองนคร ก็ได้ร่วมมือช่วยเหลือพระเจ้าจันทรภาณุ
(พระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2)
บูรณะเสริมสร้างองค์พระบรมธาตุที่ขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมลงให้เป็นไปตามแบบของลังกา
โดยก่อสถูปแบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมที่เป็นแบบศรีวิชัย
แต่การบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ยังไม่สมบูรณ์อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
ยิ่งมีการบูรณะเสริมสร้างวิหารโบราณวัตถุ สถานที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลาย
ครั้งหลายสมัยจนสมบูรณ์แบบในสมัยรัตนโกสินทร์ดังปรากฏในปัจจุบันนี้
ในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ (พระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2)
ได้มีการกำหนดเขตบริเวณรอบ ๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเขตพุทธวาส
และมีการจัดระเบียบคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ เป็น 4 คณะ โดยยึดแบบอย่างแผน การผูกพยนต์
ที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์มาเป็นนัยมาใช้ คือ คณะกาแก้ว กาชาด การาม และกาเดิม
สงฆ์หัวหน้าคณะเทียบที่สังฆราช
การปกครองคณะสงฆ์ของเมืองนครศรีธรรมราช
ได้ใช้ระเบียบเดียวกันนี้ติดต่อมาโดยตลอด เมืองใกล้เคียงก็รับแบบอย่างนำไปใช้ด้วย
เช่น เมืองไชยา เมืองพัทลุง จนมาถึงสมัย ร.5 พระราชคณะกาแก้ว กาชาด การาม
และกาเดิม ให้มีฐานานุกรมเป็นพระครู
ในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ (พระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2)
ได้มีการบูรณะวัดวาอารามและพระบรมธาตุเจดีย์
ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาบ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข
ประชาชนพลเมืองประกอบแต่กรรมดีมีศีลธรรม จึงทำให้ข่าวเมืองใกล้เคียง
เกิดศรัทธาในบรมธาตุเจดีย์ต่างก็เดินทางมุ่งหน้าทำบุญที่พระบรมธาตุเจดีย์
นครศรีธรรมราช
สิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเมืองพระของนครศรีธรรมราชที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าจนถึงปัจจุบันนี้
ตามตำนานกล่าวว่าสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระทันตธาตุองค์นี้ได้สร้างขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา
ราว พ.ศ.1730 ในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ (พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ที่ 2)
ในครั้งนั้นผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ต่างนำเอาทรัพย์สิน
เงินทองมาถวายเป็นพุทธบูชาด้วยแรงศรัทธา เพื่อช่วยบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์
แต่เดินทางมาไม่ทัน เพราะพระบรมธาตุเจดีย์บูรณะเสร็จเสียก่อน
จึงผูกปริศนาฝังทรัพย์สิน เงินทองไว้ตามถ้ำ ตามเขา ริมน้ำ
หรือสร้างสถูปเจดีย์สร้างวัดในที่ต่าง ๆ ถวายเป็นพุทธบูชาเสียกลางทางนั้นเอง
ไม่ได้นำกลับไป
ตำนานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น
ตำนานขุมทรัพย์ที่หาดเก้าเส้ง (เก้าแสน) ตำนานสมบัติในถ้ำคูหาของสงขลา ตำนานพระธาตุสวีของชุมพร
และตำนานเจดีย์วัดเขาหลักของนครศรีธรรมราช
ล้วนอ้างกล่าวถึงการนำแก้วแหวนเงินทางไปร่วมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และโบสถ์
วิหารต่างๆ ธรรมเนียมการนำสิ่งของมาถวายเป็นเครื่องบูชาแก่พระบรมธาตุเจดีย์
ยังเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั่วภาคใต้ปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน
บริเวณองค์พระธาตุเจดีย์จึงเป็นที่รวมและเป็นจุดกำเนิดของประเพณี
พีกรรมของหลวงและของราษฏร์มาตั้งแต่สมัยโบราณและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
เช่น ประเพณีให้ทานไฟ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีแห่พระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์
ประเพณีทำบุญในเดือนสิบ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีชักพระ พระราชพิธีทำเงินตรา
นโม พระราชพิธีสวดอาฏานาฏิยสูตรขับไล่แม่มด พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล โล้ชิงช้า
พระราชพิธีจรดพระนางคัล เป็นต้น ซึ่งประเพณีและพระราชพิธีต่าง ๆ เหล่านี้
สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดขึ้นในสมัยกษัตริย์สามพี่น้อง เมืองนครศรีธรรมราช
หลักศิลาจารึกที่ 24 แห่งประชุมศิลาจารึก ภาค 2
จารึกยกย่องในเกียรติคุณของพระเจ้าจันทรภาณุไว้ว่า ศรีมนศาสนาคุรสุภท
ทรงเป็นองค์อุปภัมภกพระศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธายิ่ง
จันทรภาณุ มทนะศรี ธฺรมฺมราชา
ทรงเป็นพระราชาที่มีเมตตาต่อประชาราษฎร์ด้วยแผ่นดินธรรม
ธฺรมฺโสภสมานนิตินีปุนะ ทรงมีพระปรีชาปกครองด้วยหลักนิติศาสตร์
เสมอด้วยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งอินเดีย
และพระเจ้าศรีมหาราชาธิราชธรรมโศกราชศรีธรรมราชที่ 6 แห่งตามพรลิงค์
ปญฺจาณทวํ สาธิป ทรงเป็นผู้นำของพระราชวงศ์ชายทั้งห้า
ภุชพลภิมเสนชฺยายนส สคลมนุสฺเย ปุณฌยานุภาเวน
พลุวโลกปฺรสิทธีกีรตติธร... ทรงมีพระพลัง กำลังเสมอด้วยพระพิมพิเสน
ด้วยอานุภาพแห่งบุญญาบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญแก่มวลมนุษย์ทั่วไป
ส่งให้พระเกียรติของพระองค์ท่านได้รับการสรรเสริญเลื่องลือไปในโลก
ในยุคก่อนสมัยสุโขทัยตอนต้น นครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรอิสระ
ที่มีกำลังและทรงอิทธิพลมาก จากหลักฐานตำนานต่าง ๆ ว่า
พระเจ้าจันทรภาณุแห่งเมืองนครศรีธรรมราชได้ยกกองทัพเรือข้ามทะเลไปตีเมืองลังกาถึงสองครั้ง
แล้วได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองลังกามาประดิษฐานในนครศรีธรรมราชที่พระบรมธาตุเจดีย์
เมื่อสมัยกรุงสุโขทัยต่างเป็นไมตรีกับเมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อกรุงสุโขทัยมาก
ทั้งทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
กษัตริย์กรุงสุโขทัยได้ขอนักปราชญ์ราชบัณฑิตและอาราธนาพระสงฆ์องค์เจ้าจากเมืองนครศรีธรรมราชไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย
ซึ่งนครศรีธรรมราชตอนนั้นศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากได้รับอิทธิพลจากลังกา
การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีในกรุงสุโขทัย
ดังเห็นศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 29-30 ว่า
...พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอนทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบไตรปิฏก หลวกกว่า
(เก่งกว่าเหนือกว่า, ความรู้มากกว่า) ปู่ครูในเมืองนี้ทุกคนลุก (มาจาก)
แต่เมืองศรีธรรมราชมา...
ด้วยการติดต่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและศาสนาระหว่างกันนั้นเอง
ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองทางใต้มีความใกล้ชิดกันตั้งแต่นั้นมา