www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
พระอภัยมณี
ตอนที่
๒๐ สินสมุทรบกับอุศเรน
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ เห็นกำปั่นโอบอ้อมเข้าล้อมหลังทั้งซ้ายขวาเป็นจำนวนมาก
จึงตรัสสั่งสินสมุทให้คิดอ่าน การสงครามเอาเอง และให้ปรึกษากับผู้ที่เคยศึก
แล้วบอกว่าให้ไว้ชีวิตลูกเจ้าลังกา อย่าฆ่าให้ตาย แล้วหารือกับอังกุหร่า ว่าจะคิดอ่านการรบทำนองไร
ค
อังกุหร่าว่าเรือเรากว้างขวาง |
รบให้ห่างอย่าให้ถึงจึงจะได้ |
ฉวยรบรับสัประยุทธ์มันจุดไฟ |
จะแก้ไขขัดสนจนปัญญา |
ขอพระองค์จงออกรับเป็นทัพหลวง |
ข้าทั้งปวงจะได้รับทัพซ้ายขวา |
ข้างหลังไว้ให้ทหารพระเจ้าอา |
รายรักษาแซงกันให้ทันการ |
ฯลฯ
แต่คนน้อยคอยรบประจบรับ |
แทรกสลับเปลี่ยนซ้ายย้ายไปขวา |
ใส่ธงเทียวเขียวแดงดาษดา |
เป็นเรือห้าร้อยถ้วนกระบวนรบ |
ฯลฯ
ปืนจังกาหน้าท้ายทั้งรายข้าง |
เกณฑ์ลูกจ้างจีนไทยพวกไหหลำ |
ให้ทำค่ายรายตั้งล้วนถังน้ำ |
ตลอดลำสำหรับไว้ดับเพลิง |
แล้วรีบร้อนถอนสมอกำปั่นใหญ่ |
แต่พอให้เคลื่อนคล้อยออกลอบเหลิง |
ทหารโห่โกลาดูร่าเริง |
ล้วนรู้เชิงชิงชัยทั้งไพร่นาย
ฯ |
สินสมุทมาหาแม่เลี้ยงแล้วเล่าความทั้งหมดให้ฟัง นางสุวรรณมาลีได้ฟังแล้วก็ให้แค้นพระอภัย
แล้วบอกว่าแม้นตนเป็นหญิง แต่ก็รู้กลศึกจะไปช่วยลูกออกรบ สินสมุทได้ฟังก็ดีใจ
แล้วนางก็แต่งตัวเป็นชาย
แล้วโฉมยงทรงเครื่องพิชัยยุทธ์ |
อย่างบุรุษรัดกระสันให้ถันหาย |
ใส่เสื้อกลีบจีบเอวสำอางกาย |
สังวาลสายสร้อยสลับประดับเพชร |
คาดเข็มขัดรัดแน่นเหน็บกระบี่ |
โกร่งมณีเนาวรัตน์ดูตรัสเตร็จ |
เสียบพระแสงกริชสันกัลเม็ด |
ใส่เกราะเพชรโพกผ้าเหมือนมลายู |
พระลูกน้อยพลอยชมสมทหาร |
แล้วว่านานไปพระแม่จะเกลียดหมู |
นางสั่งลูกว่าอย่าให้ผู้ใดรู้ |
ถึงแลดูก็จะแปลกกว่าแขกจริง |
ฯลฯ
กระบวนตั้งดังพระยาเหราแดง |
จะวัดแว้งไพรีไม่หนีกัน |
แล้วแลดูโยธาลงกาตั้ง |
เป็นกำลังนาคราชจะผาดผัน |
มีหัวหางวางเขี้ยวดูเกี่ยวกัน |
คอยรัดพันไพรินดังจินดา |
ด้วยโฉมตรูรู้พิชัยสงครามครบ |
กระบวนรบเห็นจะแพ้โอรสา |
ด้วยนาคีมีแต่กายฝ่ายเหรา |
มีบาทาราวีคงมีชัย |
ฯลฯ
นางเมินเมียงเคียงกระซิบพระโอรส |
เห็นเมฆตกลมตั้งกำบังบน |
ยกออกรับทัพลังกาอย่าให้ชิด |
ฉวยเพลิงติดลมพัดจะขัดสน |
ให้รบสู้ดูกำลังลำพังตน |
ต่ออับจนเจ้าจงโจมออกโรมรัน |
ฯลฯ
ค
สินสมุทผุดลุกขึ้นไล่จับ |
ทหารรับป้องกันพันผุยผง |
แผลงศักดากล้าหาญชาญณรงค์ |
รวบได้องค์ลูกท้าวเจ้าลังกา |
ฯลฯ
ค
อุศเรนเผ่นโผนโจนจะม้วย |
ทหารฉวยฉุดกายทั้งซ้ายขวา |
ถึงเรือใหญ่ให้พยุงจูงขึ้นมา |
ตรงไปหาชนนีด้วยด้วยดีใจ |
ค่อย
ๆ ว่าฆ่าเสียเถิดหรือคะ |
นางว่าพระบิดาจะว่าได้ |
แล้วโฉมยงสงสารรำคาญใจ |
จะดูไม่เต็มเนตรเวทนา
ฯ |
ฝ่ายพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ |
วิ่งมาทันขอโทษโอรสา |
เข้าสวมสอดกอดลูกเจ้าลังกา |
ชลนาไหลหลั่งลงพรั่งพราย |
แล้วแก้มัดตรัสเรียกขึ้นร่วมอาสน์ |
พจนาถมิให้ช้ำระส่ำระสาย |
ฯลฯ
เราขอไว้ไม่เอาทั้งข้าวของ |
คืนสนองคุณให้ท่านไปหมด |
แล้วเหลียวหลังมาอ้อนวอนโอรส |
ขอแทนทดคุณท่านโดยสารมา
ฯ |
ค
สินสมุทนบนอบตอบสนอง |
ลูกจำต้องตีทัพรับอาสา |
ซึ่งชิงชัยได้ชนะพระเจ้าอา |
พระมารดาดอกสันทัดท่านจัดการ |
แล้วให้ยิงปืนใหญ่ออกไปช่วย |
จึงได้ด้วยพระปัญญาปรีชาหาญ |
แล้วหันหน้ามาประณตบทมาลย์ |
ยกให้ท่านเถิดนะพระมารดา
ฯ |
อุศเรนกลับไปกองทัพแล้ว พบว่ากำปั่นหกร้อยเสียหายย่อยยับไปเกือบกึ่ง ก็ให้โกรธแค้นยิ่งนัก
จึงคิดเตรียมการรบต่อไป
ฝ่ายพระอภัยได้เห็นหน้านางสุวรรณมาลี แล้วก็ให้คิดถึงนาง คิดจะพานางไปเมืองรัตนา
เพื่อที่จะได้เสกเป็นอัครชายา แล้วก็ชื่นชมสินสมุทที่แกล้วกล้าในการรบจนมีชัย
และได้พระเจ้าอามาพบแล้วก็จะพาไปเมืองของย่าปู่ สินสมุทจึงทูลถามว่า จะพาตนไปไหน
ถ้าสงสารมารดาที่กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่พบพระบิดาก็จะพาตนไปเมืองผลึก ด้วยคิดถึงพระแม่และวงศา
แล้วจะมอบขอบขัณฑสีมาให้ตนขึ้นครองเมือง เมื่อพระบิดาว่าจะไปกรุงรัตนาก่อน
ตนก็จะอ้อนวอนพระมารดา ไปเมืองของย่าปู่ก่อน เมื่อเห็นว่าอยู่ดีแล้ว ตนก็จะลามากับนาง
สินสมุทลาสองกษัตริย์มาหานางสุวรรณมาลี แล้วเล่าความที่พระบิดาต้องการ นางจึงบอกว่า
ชาวลังกาที่ถอยไปนั้น จะกลับมารบพุ่งกับกรุงไกรด้วยความโกรธ สงสารพระมารดาจะเดือดร้อนใจ
ด้วยไม่มีญาติ ถ้าสินสมุทักตนก็ขอให้ยกทัพไปดับร้อนที่เมืองผลึก แล้วขึ้นครองเมืองเสร็จแล้ว
จึงให้สินสมุทพาพระบิดาไปเมืองของพระบิดา
สินสมุทได้ฟังก็เห็นด้วยกับพระมารดา แล้วเอาความมาทูลพระอภัย พระอภัยจำต้องผ่อนตาม
แล้วให้สินสมุทไปบอกนางว่า ตนกับอาจะไปเมืองผลึกด้วย เพื่อช่วยงานศึกที่จะมีมาจากเจ้าลังกา
ตอนที่
๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
พระอภัยคิดถึงนางสุวรรณมาลี ออกเดินตามหานางไปในเรือ แต่ไม่ได้พบนาง
กล่าวถึง อุศเรนเตรียมยกทัพไปทำศึกได้เสร็จสรรพแล้วตรัสสั่ง สารวัดหัศเกนว่า
รบคราวนี้ตีทัพเหมือนจับเสือ |
ถึงเสียเกลือแต่ให้ได้พิมเสน |
ทหารเราเล่าก็หัดไว้จัดเจน |
หัศเกนเห็นใครถอยมึงคอยแทง
ฯ |
จากนั้นได้ให้ เรือใช้ไปสืบข่าวข้าศึก
ได้รับแจ้งว่าเรือใหญ่แล่นไปทางทิศพายัพ อุศเรนก็รู้ว่าพระอภัยยังไม่ไปเมืองรัตนา
แต่เห็นจะไปเมืองผลึก จึงคิดตามไปแก้แค้น โดยจะตามไปให้อยู่เหนือลม เพื่อจะได้เผากำปั่นของข้าศึก
แล้วออกเรือตามไป ตั้งแต่ตอนพลบค่ำ เรือได้ลมอุตราก็แล่นไปทันกำปั่นนางสุวรรณมาลี
เมื่อตอนเที่ยงคืนเกิดรบกัน
อุศเรนเร่งโยธาเข้าตีจนถึงเรือใหญ่ จึงเอาไฟโยนเข้าใส่เรือ เกิดรบกันอุศเรนต้องอาวุธและแตกทัพ
บ้างทิ้งผ้าน้ำมันยางบ้างขว้างคบ |
บ้างตลบปีนป่ายตะกายโหน |
จนเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์ขึ้นโชติโชน |
ทหารโจรรบรับบ้างดับไฟ |
บ้างอุดช่องสองข้างเอาวางถัง |
ให้น้ำขังดาดฟ้าชลาไหล |
ถึงจะทิ้งเพลิงเผาสักเท่าไร |
ก็ไม่ไหม้สำเภาเสากระโดง |
ฯลฯ
ให้พลขึ้นยืนเยื้องยิงประดัง |
ถูกพลลังกาตายเสียหลายพัน |
ทั้งพระชงฆ์องค์อุศเรนหัก |
เลือดทะลักลมถลาแทบอาสัญ |
พอเกิดคลื่นลมกล้าสลาตัน |
ตีกำปั่นพรัดพรายกระจายไป |
ฯลฯ
ฝ่ายโยธีศรีสุวรรณสินสมุท |
ต้องอาวุธเจ็บป่วยม้วยตักษัย |
ที่ยังเหลือเรือรบสำหรับใช้ |
ให้นับได้ห้าร้อยมาลอยเรียง |
ฯลฯ
ไปตามเข็มเล็มเลี้ยวแหลมสุหรัด |
แล้วแล่นลัดปากน้ำสำปั้นหนา |
ล้อมถนนพ้นกำแพงลังกามา |
หมายพาราผลึกแล่นตามแผน
ฯ |
อุศเรนแตกทัพแล้ว จึงหารือกับบรรดาฝรั่งนายทหาร ก็ได้รับคำแนะนำให้กลับไปรักษาองค์ที่กรุงลังกาก่อน
แล้วค่ออยคิดอ่านยกทัพกลับมาทำศึกใหม่ อุศเรนก็เห็นด้วย จึงให้เลิกทัพกลับไปลังกา
กล่าวถึงกำปั่นสินสมุท ขณะเดินทางไปเมืองผลึก พระอภัยก็ทุกข์ร้อนรำพึงถึงนางสุวรรณมาลี
จึงเขียนสารถึงนาง แล้วให้สินสมุทถือไปให้นาง ได้มีการโต้ตอบสารกันโดยมีสินสมุทเป็นผู้นำสาร
ในสารนั้น พระอภัยได้อ้อนวอนงอนง้อ ส่วนนางสุวรรณมาลีก็ตัดพ้อต่อว่า
ค
กระดาษแทนแผ่นทองประคองเขียน |
ด้วยพากเพียรพยายามตามสมร |
จนเรือแตกแยกย้ายกระจายจร |
แต่อาวรณ์หวังสวาทไม่ขาดวัน |
ฯลฯ
นึกจะใคร่ไปเยือนเหมือนหญิงญาติ |
เห็นกริ้วกราดเกรงใจจึงไต่ถาม |
ถ้าโทษนี้พี่ผิดอย่าปิดความ |
จงตอบตามใจจริงทุกสิ่งเอย
ฯ |
ค
ขอบังคมสมเด็จพระเชษฐา |
ซึ่งเมตตาทำนองต้องประสงค์ |
ไม่กลับกลอกตะคอกขู่รู้ซื่อตรง |
จะช่วยส่งปลูกฝังไปลังกา |
ฯลฯ
เป็นอันขาดชาตินี้ไม่มีผัว |
แม้นทำชั่วเชิญพระองค์ลงโทษา |
จงออกโอษฐ์โปรดตรัสสัตย์สัญญา |
ที่พูดจาไว้แต่หลังอย่าหวังคิด |
ฯลฯ
น้องตั้งสัตย์ตัดขาดแล้วชาตินี้ |
อันสามีขี้ขลาดไม่ปรารถนา |
จะขออยู่ผู้เดียวด้วยลูกยา |
เป็นสัจจาใจจริงทุกสิ่งเอย
ฯ |
พระอภัยออกอุบายให้สินสมุทไปเฝ้าพระเจ้าอา ศรีสุวรรณรู้ความนัยจึงหน่วงเหนี่ยวสินสมุทไว้จนค่ำ
นางสุวรรณมาลีเห็นพลบค่ำ แล้วสินสมุทยังไม่กลับมา ก็รู้ทันพระอภัย จึงคิดอ่านเป็นการลับกับสาวใช้ที่ร่วมใจเจ็ดคนพวกดนตรีให้ปลอมตนเป็นผู้ชาย
แล้วนางแต่งแปลงตนเป็นชายแขกเทศ แล้วเอาหมอนข้างวางบนเตียง คลี่สไบคลุมไว้ทำทีเป็นตนนอนอยู่
แล้วบอกว่าถ้าใครมาหาให้บอกว่าตนหลับอยู่ แล้วคอยดูอยู่ห่าง ๆ
เมื่อเห็นเข้าไปในแท่นสุวรรณก็ให้ขับดุริยางค์ขึ้นพร้อมกัน แล้วนางก็ทรงกระบี่ออกมานั่งหลังตึกใต้ต้นจันทน์ชมดวงจันทร์เล่นตามสบาย
ฝ่ายพระอภัยพอพลบค่ำก็แต่งองค์ทรงเครื่องเสกมนต์สีขึ้ผึ้ง เสกน้ำมันใส่ไปในเล็บ
ดูฤกษ์ลมแล้วเยื้องย่างไปยังเก๋งของนางสุวรรณมาลี ถามบรรดานางในที่คอยขับกล่อมอยู่ก็ได้รับคำตอบว่านางสุวรรณมาลีอยู่ในห้อง
จึงเข้าไป ไม่ทันสังเกตว่าเป็นร่างของนาง จึงเข้าไปประคองกอด เห็นว่าเป็นหมอน
ตกตะลึงรู้ว่าเสียรู้ผู้หญิงจึงพยามรั้งรอค้นหานาง บรรดานางในก็ประโคมมโหรีขับกล่อม
ค
ฝ่ายสุรางค์นางนั่งอยู่พรั่งพร้อม |
ทำเพลงกล่อมมโหรีปี่ไฉน |
ขับอิเหนาเข้าถ้ำให้ช้ำใจ |
แล้วซ้ำใส่หน้าทับรับพระทอง |
ฯลฯ
ออกจากเก๋งเล็งแลเห็นแต่แขก |
ด้วยแปลงแปลกปลอมปนคนทั้งหลาย |
มีตุ้งก่ามาระกู่เหมือนผู้ชาย |
พระมุ่งหมายมองตามดูทรามเชย
ฯ |
จากนั้นทั้งหมดก็เดินทางกลางน้ำไปได้หนึ่งเดือนจึงถึงปากน้ำเมืองผลึก ชาวเมืองรู้ข่าวก็บอกเล่าป่าวร้องจนรู้ไปถึงวังใน
ตอนที่
๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
ฝ่ายนางมณฑามเหสี นับแต่พระธิดาและพระสามีจากนครไปก็เป็นทุกข์ร้อนรออยู่ถึงขวบปีก็ยังไม่กลับมา
พระมเหสีมีชันษาได้ห้าสิบสามแต่ยังงามพร้อม พอได้ทราบข่าวว่านางสุวรรณมาลีกลับมาก็ดีใจยิ่งนัก
มาคอยท่าอยู่หน้าแพ นางสุวรรณมาลีขอพาสินสมุทและนางอรุณรัศมีขึ้นจากเรือ
เพื่อเข้าไปเฝ้าพระชนนี ทูลบอกพระอภัยมณีและศรีสุวรรณว่า พรุ่งนี้จะมาทูลเชิญเข้าเมือง
และขอให้ทั้งสององค์อยู่พักก่อนสักหนึ่งเดือน จึงค่อยกลับไปเมือง เมื่อนางพบพระชนนีแล้ว
ก็ได้ทูลเรื่องแต่หนหลังให้ทรงทราบแล้ว พระชนนีก็ให้ไปเชิญพระอภัยเข้าเมือง
เพื่อให้ขึ้นครองราชสมบัติ แล้วตรัสสั่งให้เตรียมงาน
วันรุ่งขึ้น นางสุวรรณมาลีกับพระชนนี พร้อมทั้งสองกุมารและพงศาคณาญาติ ก็ไปทูลเชิญพระอภัยมณีขึ้นครองเมือง
พระอภัยทูลว่าตนไม่ได้ทำความชอบอะไร เดิมทีอยู่เกาะแก้วพิสดารก็ได้อาศัยเรือของพระบิดา
กลับเมืองจนเรือแตก เมื่อคราวรบกับทัพลังกาก็ไม่ได้ช่วยพระธิดา เป็นความผิดติดตัวมาจนพระธิดากริ้วโกรธ
จึงไม่ควรจะได้ไอศวรรย์ เมื่อพระธิดากลับเขตคันแล้ว ตนก็จะขอลาไป
พระชนนีก็อ้อนวอนให้พระอภัยอยู่ครองเมือง แล้วเตือนพระธิดาให้ช่วยอ้อนวอนพระอภัย
พระธิดาจึงแกล้งให้หลานเลี้ยงกับลูกน้อย ช่วยอ้อนวอนแทนตน หลังจากนั้นก็ได้มอบราชสมบัติให้พระอภัย
พระมารดาพาเดินดำเนินนาด |
มาปราสาทเนาวรัตน์จำรัสไข |
จึงมอบราชสมบัติทั้งฉัตรไชย |
ให้อยู่ในปราสาททองอันรองเรือง |
ศรีสุวรรณให้อยู่เป็นเพื่อนพระเชษฐา ช่วยว่าราชการงานเมือง นางอรุณรัศมีกับสินสมุทอยู่กับป้าและแม่
ฝ่ายนางสุวรรณมาลี คิดจะหาหนทางผัดผ่อนให้พ้นพระอภัย ให้อยู่ห่างกันจึงเอาการบุญมาอ้าง
เพื่อโปรดพระบิดาให้ไปสวรรค์ เห็นว่าเป็นหนทางออกที่งาม จึงไปทูลพระชนนี พระชนนีรู้ทันจึงทัดทานไว้
บอกว่าเดือนหน้าก็จะอภิเษกอยู่แล้ว แต่นางก็อ้อนวอนบอกว่า ที่ตนรอดมาได้ก็เพราะผลบุญจึงมีศรัทธา
พระชนนีอัดอั้นตันใจ และแสดงความเป็นห่วงว่า
วิสัยวงศ์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา |
ย่อมตรึกตราจะบำรุงซึ่งกรุงไกร |
เดี๋ยวนี้เล่าชาวลังกาเป็นข้าศึก |
ช่างไม่ตรึกตรองหาที่อาศัย |
ฯลฯ
แล้วพระชนนีก็บ่ายเบี่ยงให้นางไปขออนุญาตพระอภัย นางสุวรรณมาลีก็ดีใจที่สมประโยชน์จึงชวนกุมารกับหลานสาว
พร้อมทั้งเหล่าอนงค์ไปเฝ้าพระอภัย ทูลว่าตนได้บนตัวไว้ว่า จะบวชอุทิศให้พระบิดา
พระอภัยได้ยินก็ตกใจยิ่งนัก แต่ก็เหลือที่จะห้ามนางไว้ได้ และได้โต้ตอบกับนาง
แต่จะถามความจริงสักสิ่งหนึ่ง |
จะถือโทษโกรธขึ้งไปถึงไหน |
หากจะว่าถ้าพี่มิให้ไป |
จะขืนใจหรือสมรจะผ่อนตาม |
นางนอบนบตอบว่าถ้าเช่นนั้น |
กระหม่อมฉันก็ต้องสนองถาม |
ว่าเกี่ยวข้องน้องไฉนในใจความ |
จึงห้ามปรามโปรดเล่าให้เข้าใจ |
พระยิ้มพลางทางสนองว่าน้องรัก |
ที่รมจักรเจ้าไปเล่าบอกเขาไฉน |
นางว่าเล่าเขาก็จริงทุกสิ่งไป |
แต่จริงใจนั้นจริงยิ่งกว่าคำ |
นี่แน่น้องต้องอย่างว่าช้างล้ม |
ย่อมนิยมเอางาราคาขำ |
คนเจรจามาเล่าเขาก็จำ |
เอาถ้อยคำแม่ก็รู้อยู่ด้วยกัน |
ฯลฯ
พระว่าพี่นี้ก็จะอนุญาต |
แต่จะปรารถนาคำเป็นกำหนด |
อันข้อที่จะลารักษาพรต |
จะได้จดจำไว้ในอุรา |
นางแกล้งว่าน่ารำคาญด้วยผ่านเกล้า |
มีแต่เซ้าซี้ซักเสียหนักหนา |
ฉวยบวชไปไม่ถึงวันที่สัญญา |
เป็นวาจากรรมเปล่าไม่เข้าการ |
ฯลฯ
นางสุวรรณมาลีทูลลาพระอภัย กลับมาที่อาศัยแล้ว จึงถามบรรดาสาวสวรรค์กำนัลในว่า
ใครจะไปบวชบ้าง นางเหล่านั้นก็ขอตามเสด็จหมด อรุณรัศมีกับสินสมุท ก็ขอบวชด้วย
แล้วนางก็สั่งให้เตรียมการบวช
นางรับคำสำรวลชวนพาที |
ทำบาญชีฉีกผ้าขาวให้สาวใช้ |
ที่ของนางอย่างเอกเศวกพัสตร์ |
ให้เก็บตัดแต้มทองล้วนผ่องใส |
ต่างหนังเสือเผื่อสองพระหน่อไท |
เป็นไตรไตรเตรียมการใส่พานทอง |
ฯลฯ
ทั้งหมดได้เดินทางออกจากเมืองเข้าไปในป่า ไปยังกฎิที่ได้สร้างไว้แล้วแต่เดิม
สำหรับกษัตริย์ออกทรงพรต
ค
ถึงธารถ้ำสำเนาภูเขารุ้ง |
ดูเรืองรุ่งราวกับลายระบายเขียน |
บ้างเขียวขาววาวแววแก้ววิเชียร |
ตาโล่งเลี่ยนเลื่อมเหลืองเรืองระยับ |
บ้างเปล่งปลั่งดังเปลวพระเพลิงพลุ่ง |
เหมือนแสงรุ้งรัศมีสีสลับ |
กุฎิน้อยน้อยร้อยเศษสังเกตนับ |
เครื่องสำหรับกุฎีก็มีพร้อม |
ฯลฯ
ค
ถึงที่สุดกฎิใหญ่ยอดบรรพต |
รูปดาบสปั้นไว้ในวิหาร |
พระหยุดยั้งนั่งที่ศิลาลาน |
นางชวนหลานลูกยาอุ้มผ้าไตร |
เข้าในกุฎิ์จุดธูปเทียนประณต |
พระดาบสบรเมศตามเพศไสย |
ต่างตั้งสัตย์ตัดบ่วงไม่ห่วงใย |
แล้วครองไตรบริบูรณ์มุ่นชฎา |
ประณตนังตั้งนโมได้สามจบ |
ขอเคารพรับบัญญัติซื่อสิกขา |
ว่าดังดังตั้งต้นแต่ปานา |
ถึงอิมาทะสะเสร็จสำเร็จการ |
ฯลฯ
พระอภัยกับศรีสุวรรณกลับเข้าเมืองแล้ว ก็ออกท้องพระโรง ดำรัสกับมหาเสนาในว่า
อุศเรนเห็นจะกลับมาทำศึก จึงให้เตรียมการรับศึกเอาไว้แต่เนิ่น
เร่งตั้งป้อมซ่อมแปลงกำแพงไว้ |
เกณฑ์พวกไพร่พลหัดให้ชัดเจน |
ทั้งม้ารถคชสารทหารรบ |
ให้รู้ครบท่าทางทั้งดั้งเขน |
ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือเร่งกะเกณฑ์ |
ออกตระเวณแว่นแคว้นแดนบุรี |
ให้อาลักษณ์แต่งทำคำรับสั่ง |
ไปปิดทั้งประตูบูรีศรี |
แล้วบอกไปให้เมืองเอกโทตรี |
ว่าใครมีวิทยาวิชาการ |
ทั้งล่องหนคงทนเข้ายงยุทธ |
เพลงอาวุธเข้มแข็งกำแหงหาญ |
รู้ตำราฟ้าดินสิ้นชำนาญ |
ประกอบการกลศึกที่ลึกลับ |
ให้มาเป็นข้าเฝ้าเราจะเลี้ยง |
ให้ชื่อเสียงรุ่งเรืองเครื่องประดับ |
ต่างเห็นชอบนอบนบเคารพรัก |
เสด็จกลับเข้าปราสาทราชวัง
ฯ |
ฝ่ายเสนาทุกตำแหน่งต่างก็พากันไปดำเนินการ
บ้างก่อป้อมซ่อมแปลงกำแพงใหญ่ |
บ้างฝึกไพร่หัดลองที่ท้องสนาม |
กองตระเวณเกณฑ์นาวาอาสาจาม |
เที่ยวตรวจตามอ่าวสมุทรจนสุดแดน
ฯ |
ในการป่าวประกาศหาคนดีมีฝีมือ มารับราชการนี้ได้กล่าวถึงนางวาลีมาอาสา
ค
อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง |
อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว |
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว |
รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล |
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น |
หน้านั้นรอยฝีมีแต่แผล |
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ |
ได้พึ่งตายายอยู่ปลายนา |
เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า |
แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา |
เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา |
นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ |
รู้ฤกษ์ผาฟ้าดินสำแดงเหตุ |
ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ไสย |
ฯลฯ
นางวาลี ใคร่ที่จะได้ผัวดีที่มีบุญ พอรู้ข่าวเจ้าเมืองผลึกใหม่คือ พระอภัยก็มีความลุ่มหลง
ครั้นรู้ว่าหาทหารชำนาญศึก ก็สมนึกยินดียิ่งนัก คิดหวังว่าความรู้ทางการสงครามที่เรียนไว้
จนจะเข้าไปเป็นนางห้ามของพระอภัย นางจึงแต่งตัวบอกกล่าวกับตายาย แล้วก็มุ่งเข้าวัง
แล้วแจ้งความจำนงว่าตนต้องการเฝ้าเจ้าแผ่นดิน ตามประกาศหาคนดีมีวิชาข้างรบพุ่ง
เสนาบอกว่า เรื่องทหารไม่ใช่การหญิง นางจึงตอบคำว่า
อันสงครามตามบทพระอัยการ |
ใครผิดผลาญชีวันให้บรรลัย |
ใครทำชอบกอบให้เป็นใหญ่ยิ่ง |
ถึงชายหญิงก็ไม่ว่าหามิได้ |
ว่าใช่การท่านเห็นเป็นอย่างไร |
หรือหญิงไปฆ่าชายไม่วายวาง |
เสนาจึงนำความไปทูลพระอภัย พระอภัยทรงฟังแล้วก็ให้พานางมาเฝ้า เห็นนางรูปชั่วตัวดำ
แต่กิริยามารยาทประหลาดดี เห็นว่าจะมีความรู้จึงตรัสถามนางว่า มีวิชาอะไร
นางทูลตอบว่า เรี่ยวแรงนั้นเห็นจะไม่ไหว ถ้าเอาแต่ที่มีชัยก็จะได้ดังประสงค์
พระอภัยได้ฟังเห็นแหลมหลัก จึงตรัสถามว่า ถ้าจะให้มีชัยนั้นจะคิดอ่านประการใด
นางวาสีจึงทูลตอบว่า
ศึกไม่มีที่จะว่าล่วงหน้าไป |
ก็ยังไม่ต้องดำรงวิชาการ |
แม้นเมื่อไรไพรีมีมาบ้าง |
ดูกำลังข้าศึกซึ่งฮึกหาญ |
จึงปราบปรามตามกระบวนพอควรการ |
จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย |
ฯลฯ
ข้าพเจ้าเล่าเรียนความรู้ไว้ |
ไม่ใช้ไพร่พลมากลำบากกาย |
ขอแต่ผู้คู่คิดสักคนหนึ่ง |
แต่พอพึ่งพูดได้ดังใจหมาย |
จะผันแปรแก้กันอันตราย |
มิให้อายอัปราปัจจามิตร
ฯ |
พระอภัยได้ฟังก็ให้สงสัย จึงซักถามความในแล้วบอกว่า จะเลี้ยงไว้เป็นที่ปรึกษา
เป็นพี่เลี้ยงเจ้าขรัวนาย หรือรักที่จะเป็นฝ่ายกรมท่าเสนาใน นางตอบว่าไม่ต้องการยศศักดิ์
แต่จะขอเป็นองค์มเหสี ถ้าไม่เมตตาก็จะขอลาไป แล้วทูลว่า
ค
นางทูลว่า ข้าน้อยนี้รูปชั่ว |
ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงสัย |
แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ |
เหมือนเพชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี |
ฯลฯ
แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท |
ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี |
ก็ผิดอย่างทางทำเนียบประเวณี |
เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์ |
ฯลฯ
พระอภัยได้ฟังนางเห็นเฉียบแหลม แต่การที่จะให้นางเป็นชายาก็ยังขัดขวาง จึงให้เลี้ยงไว้เป็นนางพระสนม
เป็นเอกอัครสนมนายอยู่ฝ่ายใน
นับแต่นั้นมา บรรดาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์และราษฎรทั้งหลาย ก็รู้แจ้งว่าพระอภัยคิดบำรุงบ้านเมือง
มีน้ำพระทัยรักผู้รู้วิชา บรรดาข้าแผ่นดินก็มีความยินดีโดยทั่วกัน
|