|
www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
สารานุกรมไทยฉบับย่อ
เล่ม
๑๓ ตัวสงกรานต์ - ทะนาน
ลำดับที่ ๒๒๒๒ - ๒๔๖๖
หน้า ๗๘๕๓ - ๘๕๐๗
๒๒๒๒. ตัวสงกรานต์
เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีตีนสำหรับเคลื่อนไหวคล้ายใบไม้ หัวยาวมีหนวดสั้นสี่คู่
หนวดยาวสี่คู่ ลำตัวยาวและแบนลง ปรกติยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. โดยทั่วไปสีเขียวสดและเลื่อม
พบตามแหล่งน้ำ สัตว์ชนิดนี้มักปรากฎตัวในระยะใกล้วันสงกรานต์ จึงได้ชื่อว่าตัวสงกรานต์
หน้า ๗๘๕๓
๒๒๒๓. ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ประมวล กม.แพ่งและพาณิชย์ให้บทนิยามไว้ว่า "หนังสือตราสาร" ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า
ผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่า "ผู้รับเงิน"
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่นิยมทำกันในปัจจุบัน ก็เช่นในกรณีกู้ยืมเงิน ผู้กู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่ผู้ให้กู้
หรือในกรณีซื้อขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ ผู้ซื้อออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่ผู้ขาย
ในขณะที่ตั๋วยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน โดยอาจนำเอาตั๋วนั้น ๆ ไปขายลดราคาให้แก่ผู้อื่นได้
หน้า ๗๘๕๓
๒๒๒๔. ตั้วเหี่ย, ตั้วเฮีย
๑. แปลว่า พี่ชายซึ่งเริ่มปรากฎใช้คำนี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น
๒. แปลว่า พี่ชายหัวปี ซึ่งเริ่มปรากฎใช้คำนี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง
๓. ในสมัยสามก๊ก ใช้เรียกมิตรสหายว่า ตั้วเฮีย
๔. เป็นคำเรียกหัวหน้าใหญ่สมาคมอั้งยี่
สมาคมอั้งยี่ ในประเทศจีน เป็นสมาคมลับที่ตั้งขึ้นเพื่อกอบกู้เอกราชในปลายราชวงศ์เช็ง
เพราะไม่อาจทนต่อความไร้ประสิทธิภาพในการปกครองประเทศ และต่อการรุกรานของชาวต่างชาติ
ที่เข้ามาแบ่งแยกดินแดน สมาคมดังกล่าวตั้งอยู่ใน และนอกประเทศจีน ในสมัยที่
ดร.ซุนยัตเซัน ดำเนินแผนการกู้ชาติ ก็ได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากสมาคมอั้งยี่โดยเฉพาะด้านการเงิน
ได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีน ที่อยู่นอกประเทศเป็นอันมาก เพื่อโค่นล้มราชวงศ์เช็ง
ในประเทศไทย ปรากฎในจดหมายเหตุของไทย แต่เดิมมา คำ ตั้วเหี่ย ใช้เรียกชื่อสมาคมลับที่พวกจีน
ตั้งขึ้นมาจนถึงรัชกาลที่ห้า จึงได้เปลี่ยนเป็นเรียก อั้งยี่
มูลเหตุที่จะเกิดจีนตั้วเหี่ยขึ้นในประเทศไทยนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงกล่าวไว้ว่า เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดีย เข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น
พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย
ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เป็นเหตุให้คนไทยสูบฝิ่นมากขึ้น
ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อน มิให้ใครสูบหรือซื้อขายฝิ่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
ฯ จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่น ตามกฎหมายอย่างกวดขัน พวกติดฝิ่นจึงต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ
จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่น เอาวิธีตั้วเหี่ยมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับ สำหรับค้าฝิ่น
วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเล ที่ไม่มีการตรวจตราคอยรับฝิ่นจากเรือสำเภา
ที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่น ส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับ
ในหัวเมืองใกล้ ๆ กรุงเทพ ฯ ลอบขายฝิ่นรายย่อย เข้ามายังพระนคร พวกตั้วเหี่ยมีกำลังมากขึ้นก็กำเริบ
บางแห่งประพฤติเป็นโจรสลัด ตีเรือและปล้นสะดม
หน้า ๗๘๕๘
๒๒๒๕. ตา - นัยน์
นัยน์ตาเป็นอวัยวะที่รับสัมผัสอย่างหนึ่ง จัดเป็นอวัยวะสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง
และเป็นอวัยวะเดียวที่เป็นช่องทางให้บุคคล ติดต่อกับภายนอกได้ถึงร้อยละ ๙๐
นัยน์ตารับกำลังงาน แสงสว่าง ผ่านเข้าในลูกตา แล้วประสาทตาแปลความรู้สึกของคลื่นแสง
ไปยังสมองโดยผ่านประสาทตา หรือประสาทสมองคู่ที่สอง
หน้า ๗๘๖๕
๒๒๒๖. ตาก
จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ลำปาง จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออก
จด จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี ทิศใต้จด จ.กาญจนบุรี
ทิศตะวันตก จด จ.แม่ฮ่องสอน และประเทศพม่า มีแม่น้ำเมยกันเขตแดน ภูมิประเทศทางฝั่งขวาแม่น้ำปิง
เป็นที่ราบลุ่ม ทางฝั่งซ้ายเป็นที่ราบสูง นอกนั้นเป็นป่าใหญ่มีภูเขามาก
จ.ตาก เดิมตั้งที่ว่าการอยู่บนดอยเล็ก ๆ หลังวัดพระธาตุ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก
สันนิษฐานว่า เดิมเป็นของมอญ สร้างขึ้นไว้ ประมาณกันว่า ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อให้ตรงกับช่องทางที่พม่า เดินทัพเข้ามาทำศึกกับไทย
แล้วย้ายมาตั้งทางฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง ที่ ต.ระแหง ในรัชกาลที่สอง
จ.ตาก เป็นเมืองตั้งอยู่ชายแดนเป็นทางหนึ่ง ที่วัฒนธรรมอินเดียเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยโบราณ
และเป็นเมืองหน้าด่าน สำหรับชุมพลที่จะยกไปทางเชียงใหม่ เมื่อสมัยก่อนเป็นย่านกลางการค้า
แห่งการติดต่อระหว่างเชียงใหม่ กับปากน้ำโพ สมัยเมื่อการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวก
หน้า ๗๘๗๐
๒๒๒๗. ตากใบ
อำเภอ ขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม
อ.ตากใบ มีนิยายเล่าว่า แต่ก่อนมีเรือใบแล่นมาถึงที่นี่ ถูกพายุฝนเรือล่มแต่กู้เรือได้
และจัดการตากใบเรือบนที่นี้ จึงมีชื่อว่า ตากใบ
อ.ตากใบ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๑ รวมอยู่ในรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย และในปลายปีนั้นรัฐกลันตันได้ตกไปเป็นของอังกฤษ
ไทยกับอังกฤษจึงปันแดนกัน โดยถือเอาแม่น้ำโกลกเป็นเส้นเขต อ.ตากใบ จึงอยู่ในเขตไทยแต่นั้นมา
และได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น จ.นราธิวาส
หน้า ๗๘๗๖
๒๒๒๘. ตากฟ้า
อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง
อ.ตากฟ้า เดิมเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตปกครองของ ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
หน้า ๘๗๗๖
๒๒๒๙. ตากวาง - ไผ่
เป็นไผ่ที่หน่ออ่อน มีรสกระเดียดไปทางขม มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ชนิดที่แข็งแรงมากเป็นไผ่
ที่สำคัญในการก่อสร้างในชวา หน้า
๗๘๗๙
๒๒๓๐. ตากสิน - สมเด็จพระเจ้า
(ดู กรุงธนบุรี - สมเด็จพระเจ้า ลำดับที่ ๑๖๔)
หน้า ๗๘๘๐
๒๒๓๑. ต๋ากุน - อง
เป็นข้าราชการญวน ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการที่ไซ่ง่อน ในรัชกาลพระเจ้าเวียดนามยาลอง
ซึ่งตรงกับรัชกาลที่สองของไทย มีความเกี่ยวข้องกับไทยด้วยเหตุการณ์ในประเทศเขมร
ซึ่งขณะนั้นเป็นรัชสมัยพระอุทัยราชา (นักองจัน)
ในสมัยนั้นประเทศเขมร ยังมีฐานะเป็นประเทศราชของไทย บางครั้งเมื่อเขมรมีเรื่องขัดเคืองกับไทย
ก็หันไปพึ่งเวียดนาม องต๋ากุน รับเป็นที่พึ่งของเขมร นับแต่นั้นมาเวียดนามก็ขยายอิทธิพล
เข้าไปในเขมรมากขึ้นทุกที องต๋ากุนมีไมตรีจิตกับฝรั่งเศส เนื่องจากชาวฝรั่งเศสเคยช่วยพระเจ้าเวียดนามยาลอง
(องเชียงสือ) กู้ประเทศเวียดนาม
คราวพม่ามีหนังสือชวนญวน ร่วมมือรบกับไทย องต๋ากุนเห็นว่าควรรับไมตรีกับพม่า
ด้วยประสงค์จะได้เมืองพระตะบองไว้เป็นของญวน แต่พระเจ้ามินมางไม่ทรงเห็นด้วย
หน้า ๗๘๘๐
๒๒๓๒. ตาแก้ว ๑ - ปราสาท
ปราสาทตาแก้ว ตั้งอยู่นอกบริเวณเมืองพระนครหลวง ในแคว้นเสียมราฐ ประเทศเขมร
สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นเทวลัยในศาสนานิกายลัทธิไศวนิกาย ได้รับการขุดแต่งระหว่างปี
พ.ศ.๒๔๖๓ - ๒๔๖๕
ปราสาทตาแก้ว เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะลวดลายส่วนใหญ่ยังไม่ได้จำหลัก
เป็นปราสาทค่อนข้างใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สูง ๒๒ เมตร มีกำแพงก่อด้วยศิลาทราย
บนฐานศิลาและล้อมรอบฐานชั้นนอกขนาด ๑๒๐ x ๑๐๐ เมตร
หน้า ๗๘๘๑
๒๒๓๓. ตาแก้ว ๒ - จังหวัด
เป็นจังหวัดหนึ่งในจำนวน ๒๐ จังหวัดของประเทศเขมร อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ประมาณ
๗๐ กม. ติดกับพรมแดนประเทศเวียดนาม
ในสมัยราชอาณาจักรพนม (ฟูนัน) และเจนละ นั้น จังหวัดตาแก้ว เคยเป็นที่ตั้งราชธานีสองแห่งคือ
๑. กรุงโคกธลอง (พุทธศตวรรษที่ ๗) มีพระทอง - นางนาค เป็นปฐมกษัตริย์ มีราชวงศ์ปกครองต่อมาประมาณ
๓๐๐ ปี
๒. กรุงวยาธปุระ (ราวปี พ.ศ.๑๐๑๓ หรือ ๑๐๒๘) ตั้งอยู่ที่ภูเขาทราย มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาประมาณ
๑๔๐ ปี หน้า
๗๘๘๓
๒๒๓๔. ตาคลี
อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศทางทิศตะวันตก เป็นที่ราบทำนาได้ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้
เป็นป่าเขา
อ.ตาคลี เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
หน้า ๗๘๘๖
๒๒๓๕. ต่าง - โค
ต่าง เป็นภาชนะสานมีคานไม้ พาดบนหลังสัตว์ ใช้สำหรับใส่สิ่งของห้อยลงมาทั้งสองข้าง
ต่างมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดของสัตว์ที่บรรทุก และเรียกชื่อตามชนิดของสัตว์ที่ใช้เช่น
ใช้กับโค เรียกว่า ต่างโค
ใช้กับลา เรียกว่า ต่างลา
เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่บรรทุกก็เรียกว่า โคต่าง หรือลาต่าง
โคต่าง ตัวหนึ่ง สามารถบรทุกของได้หนัก ๔๐ - ๖๐ กก. สามารถเดินทางได้ชั่วโมงละ
๓ - ๔ กม. วันหนึ่งเดินทางได้ประมาณ ๒๐ กม. อย่างมากไม่เกิน ๓๒ กม.
หน้า ๗๘๘๘
๒๒๓๖. ตางัว ๑ - หอย
มีบทนิยามว่า "ชื่อหอยทะเลชนิดหนึ่ง" แต่ตางัวที่ถูกนั้นเป็นเพียงฝาที่ปิดปากของ
"หอยอูด" หอยชนิดนี้ฝาปากหนาโค้งเข้า เมื่อแกะออกจากตัวหอย กลายเป็นเบี้ยตางัว
เหมาะสำหรับเล่นหมากรุก
หอยอูด หรือหอยที่มีเบี้ยตางัวนั้น มีเปลือกมวน รูปเหมือนผ้าโพกหัวแน่น เปลือกเป็นมุกเหมือนหอยนมสาว
มีราคา เพราะใช้เป็นเครื่องประดับได้ดี หอยนี้อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลอบอุ่น
พบในอ่าวไทยหลายแห่ง หน้า
๗๘๙๐
๒๒๓๗. ตางัว ๒ - ฤษี
เป็นชื่อฤษีตนหนึ่ง เดิมตาบอดทั้งสองข้าง ต่อมาได้ปรอทกายสิทธิ์จึงคิดใช้อำนาจนั้น
ทำให้ตาดี โดยเอาตาวงัวไปใส่แทน ตาก็กลับมองเห็นเช่นคนตาดี แต่ว่านั้นโต เพราะเป็นตางัว
จึงได้ชื่อว่า ฤษีตางัว หน้า
๗๘๙๑
๒๒๓๘. ตาชั่ง
หมายถึง เครื่องชั่งน้ำหนักสิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ไทยมีเครื่องสำหรับใช้ชั่งน้ำหนักอยู่อย่างหนึ่ง
รูปร่างลักษณะเป็นคัน ปลายคันทั้งสองข้างมีสายห้อยถาด สำหรับวางสิ่งของ ตรงกึ่งกลางคัน
มีที่ติดประจำอยู่กับปลายเสาตั้ง คันกระดกขึ้นลงได้ เป็นเครื่องตั้งกับพื้น
อีกอย่างหนึ่งไม่มีเสาตั้งแต่ตรงกึ่งกลางคัน มีที่สำหรับจับเรียกว่า "หู"
ถือยกชูได้เป็นเครื่องดู ชั่งหรือแขวนชั่ง เครื่องชั่งดังกล่าวเรียกว่า "ตราชู"
วิธีชั่ง มีวัตถุเป็นตุ้ม ขนาดน้ำหนักต่าง ๆ กันเรียกว่า "ลูกชั่ง"
ตราชู ยังใช้เป็นความหมายแปลว่า ความเที่ยงตรงมาแต่โบราณ
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้มี พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด บัญญัติให้ใช้วิธีมาตราเมตริกคือ
ชั่ง เป็น กรัม ตวง เป็น ลิตร วัด เป็น เมตร เรียกเครื่องสำหรับใช้ชั่งน้ำหนักสิ่งของว่า
"เครื่องชั่ง" เรียกลูกชั่งว่า "ตุ้มน้ำหนัก" เครื่องชั่งกำหนดไว้ห้าแบบ
๑. เครื่องชั่งที่มีถาดชั่งห้อยอยู่ใต้คันชั่งทั้งแบบตั้ง และแบบแขวน
๒. เครื่องชั่งที่มีถาดชั่งอยู่เหนือคัน มีฐานตั้งกับพื้น
๓. เครื่องชั่งที่มีคันกลมยาวค่อนไปทางหัว มีสายห้อยถาดชั่ง หรือขอ มีเข็มชี้ความเที่ยงตรง
คันมีจุดหรือขีดบอกพิกัด
๔. เครื่องที่มีแท่นใหญ่ สำหรับวางของที่ชั่ง ที่คันมีขีด พิกัดมาตราเป็นกรัม
มีตุ้มเลื่อนติดประจำกับคัน สำหรับชั่งน้ำหนักน้อย และตุ้มถ่วงที่ปลายคัน
สำหรับชั่งน้ำหนักมาก
๕. เครื่องที่มีกลไก เป็นออโตเมติก ใช้ในโรงงานใหญ่ ๆ
หน้า ๗๘๙๒
๒๒๓๙. ตาชารด์ - บาดหลวง
เป็นบาดหลวงคณะเยซูอิด นิกายโรมัน คาทอลิก ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๔
ได้สมัครเป็นมิชชันนารี ออกเผยแพร่คริสต์ศาสนาในต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๒๒๓
ได้เดินทางไปร่วมทำงานในอาณานิคมของฝรั่งเศสในเอมริกาใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๘
จึงได้ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสมี เชอวาลิเยร์ เดอร์โชมองต์ เป็นราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา
พร้อมด้วยบาดหลวงเยซูอิดอีกห้าคน
บาดหลวงตาชารด์ เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสพร้อมคณะทูตไทย ซึ่งมี ออกพระวิสูตรสุนทร
เป็นราชทูตไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ และได้รับมอบหมายให้นำแผนการลับของคอนสแตนติน
ฟอลคอน ไปเสนอให้บาดหลวง เดอ ลา แชส ถวายพระเจ้าหลุยส์ และถวายสันตปาปาอินโนเซนต์ที่
๑๑ ด้วย สาระสำคัญของแผนการนี้คือ ฟอลคอน เสนอให้ฝรั่งเศสบังคับไทย ให้รับคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เมื่อฝรั่งเศสกับไทยตัดสัมพันธไมตรีกันแล้ว บาดหลวงตาชารด์ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๒ หน้า
๗๘๙๘
๒๒๔๐. ตาณฑพ
เป็นชื่อท่าร่ายรำท่าหนึ่ง ซึ่งเทพตัณฑุ ผู้ชำนาญในทางดนตรี ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น
เพื่อให้เทพีร่ายรำถวายพระศิวะ ในบางโอกาส
หน้า ๗๙๐๐
๒๒๔๑. ตาด ๑
เป็นชื่อของชนเผ่าที่ชอบเร่ร่อน และรบกวน หรือบุกรุกหัวเมืองชายแดนประเทศจีนโบราณ
พวกตาดตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง ในภาคเหนือของประเทศจีน
พระเจ้ากรุงจีนในยุคโบราณต้องคุมทัพ ขับไล่พวกตาด ซึ่งจีนประฌามว่า เป็นคนป่า
พระเจ้าจิ้นซีฮ่องเต้ ที่ปกครองประเทศจีนระหว่างปี พ.ศ.๒๙๗ - ๓๓๓ โปรดให้สร้ากำแพงเมืองจีนขึ้น
เพื่อขัดขวางพวกตาดมิให้เข้ามารบกวนภาคเหนือของจีน
เมื่อพระเจ้ากรุงจีน ปราบพวกตาดได้ ก็แผ่อาณาเขตออกไปปกคลุมดินแดนของพวกตาด
เช่น สมัยราชวงศ์สิน ดินแดนในลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนหนึ่งตกเป็นของจีน เมื่อพระเจ้ากรุงจีนขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันตก
พวกตาดก็ล่าถอยไป หรือยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงจีน แล้วก็กลายเป็นชาวจีนไป
เมื่อพวกมองโกล มีอำนาจยิ่งใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าเจงกิสข่านในตอนต้นพุทธศตวรรษที่
๑๘ พระองค์ได้กรีฑาทัพรุกไปถึงภาคตะวันออกของทวีปยุโรป พวกมองโกลเหล่านั้นบางทีก็เรียกว่า
พวกตาดมองโกล
เดิมอาศัยอยู่ทางทิศใต้ของทะเลสาบไบคาล ในใจกลางทวีปเอเชีย เป็นชนเผ่าที่มีความเหี้ยมโหม
ชอบการรบราฆ่าฟัน และอพยพเร่ร่อนไปหาถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าเป็นแหล่งที่อยู่เสมอ
และได้เข้ารุกรานประเทศจีน ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๓ พระเจ้ากุบไลข่านประมุขชาวมองโกล
ก็ได้สถาปนาราชวงศ์หงวน
ปกครองประเทศจีนจนถึงปี พ.ศ.๑๙๑๑ จึงเปลี่ยนเป็นราชวงศ์เหม็ง
หน้า ๗๙๐๐
๒๒๔๒. ตาด ๒
มีคำนิยามว่า "ชื่อผ้าชนิดหนึ่ง ทอด้วยไหมควบกับเงินแล่ง หรือทองแล่ง จำนวนเท่ากัน
เรียกชื่อต่าง ๆ กันตามลักษณะของลาย เช่น ตาดลายคดกริช ตาดตาตั๊กแตน
ถ้ามีไหมปักทับลงไปอีกเป็นดอกเรียกว่า ตาดระกำไหน"
หน้า ๗๙๐๓
๒๒๔๓. ตาแดง ๑ - เต่า
เป็นชื่อเรียกเต่ากระอาน ซึ่งเป็นเต่าน้ำจืด
หน้า ๗๙๐๔
๒๒๔๔. ตาแดง ๒
หมายถึง การอักเสบของนัยน์ตา อาการตาแดงพบเป็นกันบ่อยมาก อาการตาแดงมีสองแบบคือ
เป็นแบบชั่วคราว และเป็นแบบเรื้อรัง ชนิดเป็นชั่วคราวมีสาเหตุจากสิ่งระคายเคืองภายนอก
ส่วนโรคตาแดงเรื้อรัง มีสาเหตุหลายอย่างทั้งที่รุนแรง และไม่รุนแรง โรคที่รุนแรงคือ
โรคม่านตาอักเสบ และโรคต้อหิน
อาการตาแดง มีการรักษาหลายวิธีสุดแต่สาเหตุ
หน้า ๗๙๐๔
๒๒๔๕. ตาตุ่ม - ปลา
จัดอยู่ในวงศ์ปลาหลังเรียว มีเป็นจำนวนมาก และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล
มีบางตัวเข้ามาเฉพาะบางฤดูเท่านั้น
หน้า
๗๙๐๖
๒๒๔๖. ตาเต็ง
เป็นเครื่องชั่งแบบชั่งจีนขนาดเล็ก (ดู ตาชั่ง - ลำดับที่ ๒๒๓๕) มีรูปร่างลักษณะเป็นคันกลมยาว
ที่ตัวคันค่อนไปเกือบสุดทางหัว มีสายห้อยถาดมีเข็มเล็ก ๆ ติดกับคัน สำหรับชี้บอกความเที่ยงตรง
และตรงที่ห้อยถาดอีกด้านหนึ่ง มีเชือกเป็นหูสำหรับยกขึ้น จากที่ติดเข็มไปตามคัน
ทำเป็นจุดฝังหมุด และขีดบอกพิกัดน้ำหนักตลอดไปถึงปลายคัน มีตุ้มร้อยเชือกเส้นเล็ก
ๆ สำหรับคล้องห้อยกับคันเวลาชั่ง
หน้า ๗๙๐๗
๒๒๔๗. ตาน - ต้น
เป็นชื่อทางนครศรีธรรมราชเรียกพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียก
หญ้ากระถิน (กลาง จันทบุรี )
ตาน ดูเผิน ๆ คล้ายหญ้า ขึ้นเป็นกระจุก ช่อดอกเป็นก้านยาวประมาณ ๓๐ - ๔๐ ซม.
ปลายมีกาบ ดอกซ้อนกันแน่นสีเหลือง ออกตามกาบดอก
หน้า ๗๙๐๘
๒๒๔๘. ตานขโมย
เป็นชื่อโรคของเด็กโต มีอายุห้าปีขึ้นไป มีอาการโยเย กินอาหารไม่ค่อยได้ ปวดท้อง
ซึม ผอม ท้องป่อง ก้นปอด เป็นเพราะมีพยาธิลำไส้ในท้อง โดยเฉพาะพยาธิไส้เดือน
การรักษาโดยทั่ว ๆ ไป ต้องตรวจตราดูว่ามีไข่พยาธิพวกนี้อยู่ในอุจจาระหรือไม่
เพื่อเป็นการวินิจฉัยให้ถูกต้อง แล้วใช้ยาถ่ายพยาธิไส้เดือน ขับตัวพยาธิออกจากร่างกาย
หน้า ๗๙๐๘
๒๒๔๙. ตานเสี้ยน
เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกสีขาวออกเป็นกระจุกสั้น
ๆ ตามกิ่งเล็ก ๆ ผลกลมรี ปลายมีติ่งแหลม
หน้า ๗๙๐๙
๒๒๕๐. ตานหม่อน
เป็นกิ่งไม้เถา ยาวประมาณ ๓ เมตร ลำต้นมีไส้กลวง ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปไข่กลับ
ช่อดอกออกเป็นกลุ่มสีขาวหม่น ประม่วง ออกตามง่ามใบ และปลายกิ่ง เมล็ดจะมีเส้นขนแข็ง
ๆ ล้อมรอบ ทำให้ปลิวไปตามลมได้ไกล ๆ
พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ใบและต้นเป็นยาเพื่อขับพยาธิ และรักษาลำไส้
หน้า ๗๙๑๐
๒๒๕๑. ตานี - กล้วย
เป็นทั้งกล้วยป่า และกล้วยปลูก ใบมีความเหนียวกว่าใบกล้วยธรรมดา ส่วนผลนั้นเต็มไปด้วยเมล็ด
มีเรื่องเกี่ยวกับต้นกล้วยตานี คือ พรายตานี
และโดยเหตุนี้ชาวบ้านจึงไม่กล้าปลูกกล้วยตานีไว้ใกล้เรือน ถ้าจะตัดเอาใบตองไปใช้
ก็ห้ามไม่ให้ตัดเอาใบทั้งใบ ต้องเจียนเอามาแต่ใบตองเท่านั้น เพราะถ้าตัดเอาเข้ามาในเรือนทั้งใบ
ถือเป็นลาง เห็นจะเนื่องจากคติเดิมที่ใช้ใบตองกล้วยตานีสามใบ รองก้นโลกศพ
กล้วยตานี ถ้าคราวออกปลี จะมีพิธีพลีพรายนางตานี ขอให้คุ้มครองรักษาคนในบ้าน
และให้มีลาภ ถ้ากล้วยตานีที่ทำพิธีเซ่นวักแล้ว ออกปลีกกลางต้น ก็ถือว่ากล้วยตานีนั้น
เกิดมีพรายตานีขึ้นแล้ว
หน้า
๗๙๑๐
๒๒๕๒. ตาบ
เป็นชื่อเครื่องประดับอย่างหนึ่งในชุดพระเครื่องต้นของกษัตริย์และเครื่องแต่งตัวละครรำตัวพระ
ตาบมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมบางทีก็จตุรัส บางทีก็เป็นรูปขนมเปียกปูน ประดับด้วยเพชรพลอยต่าง
ๆ โดยมากมักทำเป็นชั้นซ้อน ๆ กันสามชั้น มีขนาดเล็กลงตามลำดับ
โดยปรกติตาบจะติดอยู่กับสายสังวาลตรงด้านข้าง ซึ่งห้อยอยู่ตรงบั้นเอวทั้งขวาและซ้าย
กับที่สังวาลไขว้ประสานกันตรงกลางหลังอีกอันหนึ่ง มักเรียกกันว่า "ตาบทิศ"
ยังมีเครื่องประดับอีกอันหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดเดียวกัน ห้อยประดับอยู่ด้านหน้าตรงหน้าอกเรียกว่า
"ทับทรวง" มีรูปร่างลักษณะเดียวกับตาบ
แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีชั้นเชิงมากกว่า แต่การประดับมักจะต้องเป็นชุดเดียวกันกับตาบ
ในบทละครตอนแต่งตัวมักจะกล่าวเครื่องประดับทั้งสองอย่างนี้ติดกันเป็น "ตาบทิศทับทรวง"
หน้า ๗๙๑๔
๒๒๕๓. ตาปนนรก
เป็นชื่อนนรกใหญ่ขุมที่หก ในบรรดานรกใหญ่แปดขุม ตั้งอยู่ภายใต้ถัดจากมหาโรรุวนรกลงไป
ที่เรียกว่าตาปนนรก เพราะมีความร้อนอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากถ่านเพลิงและเปลวเพลิง
มีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีฝาผนังเหล็ก ภายในสะพรั่งไปด้วยหลาวเหล็กเป็นหมื่น
ๆ แสน ๆ พวกนายนิรยบาลคอยจับสัตว์นรก ยกขึ้นเสียบไว้บนปลายหลาวเหล็กนั้น ไฟจากแผ่นดินจะลุกเป็นเปลวสูงขึ้นไปไหม้ร่างกายสัตว์นรก
เมื่อตัวสัตว์นรกสุกดีแล้วประตูนรกทั้งสี่ด้านระเบิดออก สุนัขนรกมีฟันเป็นเหล็กพากันเข้าไปกัดกินเนื้อจนเหลือแต่กระดูก
สัตว์นรกตายไปแล้ว ครั้นต้องจมนนรกก็กลับเป็นร่างกายขึ้นมา แล้วเข้าวงจรดังกล่าวข้างต้นกำหนดนานได้
๑๖,๐๐๐ ปีนรก หน้า
๗๙๑๖
๒๒๕๔. ตาปลา
เป็นผิวหนังที่เกิดการกระด้างหนาขึ้น พบบ่อยที่นิ้วก้อยของเท้าคนหรือส่วนที่ยื่นออกมากของเท้า
ซึ่งจะถูกกดหรือเสียดสีบ่อย ๆ ผิวหนังส่วนนี้มีลักษณะหนาด้าน รูปร่างกลม มีลักษณะเป็นรูปกรวยฐานอยู่นอก
ยอดอยู่ใน
ตาปลานี้อาจมีการอักเสบติดเชื้อแล้วกลายเป็นฝีมีหนองได้ ตาปลาอาจหายได้เองทีละน้อย
ๆ ถ้าเอาสาเหตุที่ทำให้เป็นออกไป
หน้า
๗๙๑๗
๒๒๕๕. ตาปี
เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในปักษ์ใต้ บางทีเรียกว่าแม่น้ำบ้านดอน เดิมเรียกว่า
แม่น้ำหลวง
แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำตาปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ยอดน้ำเกิดจากเขาใหญ่ยอดต่ำ
ไหลไปทางเหนือ ไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ ของ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี
แล้วไปออกทะเลใน ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุวราษฎร์ธานี มีความกว้าง ๘๐ เมตร ยาว
๒๓๒ กม. มีน้ำตลอดปี ปากน้ำมีสันดอน ตอนปากอ่าวมีทางแยกไป อ.กาญจนวดิษฐ์ เรียกว่า
คลองท่าทอง ครั้งโบราณพวกอินเดียเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูที่ตะกั่วป่า ข้ามเขามาลงแม่น้ำตาปี
หน้า ๗๙๑๙
๒๒๕๖. ตาพระยา
อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเขมร ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
อ.ตาพระยา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.อรัญประเทศ ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ หน้า
๗๙๒๑
๒๒๕๗. ตาไฟ - ฤาษี
เป็นชื่อฤาษีตนหนึ่งคู่กับฤาษีตาวัว ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เมืองศรีเทพในสมัยโบราณ
เมื่อครั้งนับถือศาสนาพราหมณ์ร้างไป เนื่องจากคนต้องตายเพราะเสียรู้ศิษย์ผู้ไม่ทำตามสัญญา
แต่ฤาษีตาวัวไปพบจึงเอาน้ำไปรดศพให้ฟื้นคืนชีวิต แล้วแก้แค้นลงโทษศิษย์ตลอดจนประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง
โดยนิมิตวัวกายสิทธิ์เข้าไปปล่อยไอพิษร้ายออกมาทำลายจนตายหมด
หน้า ๗๙๒๑
๒๒๕๘. ตามใจท่าน
ชื่อบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากบทละครภาษาอังกฤษของเชกสเปียร
พระองค์เริ่มทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เสร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔
บทพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้วสลับกับกลอน มีกาพย์ ร่าย และโคลง แทรกในบางตอน
ความดีเด่นของบทละครเรื่องตามใจ ท่าน มิได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่สำนวนโวหารอันไพเราะ
น่าฟัง ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความสุขในความสันโดษ ตลอดจนคารมกล้าของตัวละคร
หน้า ๗๙๒๓
๒๒๕๙. ตามพปัณณี
เป็นชื่อหนึ่งของประเทศศรีลังกา ในสมัยเริ่มแรกถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕
ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีดินร่วนมีสีแดง เมื่อเจ้าชายวิชัยผู้เป็นบรรพบุรุษของศรีลังกาดั้งเดิม
แล่นเรือมาขึ้นบกแล้วพัก ณ ที่ตรงนั้น เอาฝ่ามือเท้าพื้นดิน ปรากฎว่าฝ่ามือทุกคนมีสีแดง
ที่ตรงนั้นจึงมีชื่อว่าตำบลตัมพยัณณี แปลว่าตำบลแห่งคนมีฝ่ามือแดง
หน้า ๗๙๒๔
๒๒๖๐. ตามพรลิงค์
เป็นชื่ออาณาจักรโบราณในภาคใต้ของไทย ในเอกสารของลังกา ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๕
เรียกแคว้นนี้ว่า ตามลิงคัม
ฉบับแปลครั้งแรกในพุทธศตววรรษที่ ๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ เรียกแคว้นนี้ว่า
ตามลิงโคมุ
อาณาจักรตามพรลิงค์ บางท่านว่า อยู่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราช บางท่านว่าตั้งอยู่ระหว่างไชยากับปัตตานี
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ลงความเห็นว่า เมืองหลวงของตามพรลิงค์อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
โดยอ้างจารึกที่วัดหัวเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎณ์ธานี ซึ่งมีความว่า "พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์
เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์... "ทรงพระนามศรีธรรมราช" อีกตอนหนึ่งว่า "ทรงพระนามจันทรภาณุ
ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค ๔๓๓๒..."
ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า ตัน - มา - ลิง
บางท่านเข้าใจว่าหมายถึงนครศรีธรรมราชหรือไชยา จดหมายเหตุของพระภิกษุอิจิง
ได้กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ไว้ว่า ผู้ครองอาณาจักรตันมาลิงนี้เรียกว่า
เสียงกุ่ง รอบเมืองนี้มีกำแพงเสาพะเนียดหนาประมาณ ๖ ฟุต ถึง ๗ ฟุต สูงกว่า
๒๐ ฟุต (หน่วยน่าจะเป็นศอก ในภาษาจีน - เพิ่มเติม)
ซึ่งสามารถใช้ในการรบพุ่งได้ ชาวเมืองขี่ควาย เกล้ามวยผมไว้ข้างหลัง เดินเท้าเปล่า
บ้านของขุนนางสร้างด้วยไม้ ส่วนบ้านของชาวเมืองนั้นเป็นกระท่อมไม้ไผ่ มีฝากั้น
ทำด้วยใบไม้ ขัดด้วยหวาย
อาณาจักรตามพรลิงค์ ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗
ตามจารึกของพระเจ้าราเชนทรโจฬะ (พ.ศ.๑๕๗๓ - ๑๕๗๔) พบที่ตันโจร์ ประเทศอินโดนิเซีย
กล่าวว่าทรงกรีธาทัพมาตีได้เมืองมาทมาลิงคัม (ตามพรลิงค์ )
กษัตริย์อาณาจักรตามพรลิงค์องค์สำคัญคือ พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงกรีธาทัพไปตีลังการวมสองครั้ง
กองทัพของพระองค์มีชาวทมิฬรวมอยู่ด้วย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ ทรงยกทัพขึ้นบกที่ภาคใต้ของลังกา
ถูกทัพเจ้าวีรพาหุ ตีแตกพ่ายต้องถอยกลับมา ครั้งที่สองระหว่างปี พ.ศ.๑๘๐๑
- ๓ ทรงยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ทัพลังกา ซึ่งมีเจ้าชายวีรพาหุ
และเจ้าชายวิชัยพาหุ เป็นแม่ทัพ
พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงชักจูงให้ชาวทมิฬเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตามพรลิงค์
จึงมีชาวทมิฬเข้ามาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยมากขึ้น นับแต่นั้นมา
ในยามสงบ ศรีลังกากับตามพรลิงค์มีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนา พระเจ้าปรากรมพาหุได้ส่งสิ่งของ
โดยมีศาสนวัตถุสำคัญรวมอยู่ด้วยมาถวายพระเจ้าจันทรภาณุ เพื่อขอให้นิมนต์พระธัมกิตติเถระไปที่ประเทศศรีลังกา
หนังสือชินกาลบาลีปกรณ์กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๑๗๙๙ มีเจ้าผู้ครองศิริธัมมนคร ทรงพระนามว่า
สิริธรรมราช ด้วยโรจราช (พระร่วง ผู้ครองเมืองสุโขทัยได้ทรงส่งทูตานุทูตไปลังกา
เพื่อขอรับพระพุทธสิงหิงค์
ตามพรลิงค์นี้ เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๓๑๘ - พ.ศ.๑๗๗๓
ในปี พ.ศ.๑๗๗๓ พระเจ้าจันทรภาณุตั้งแข็งเมืองไม่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัย แต่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย
หน้า ๗๙๒๕
๒๒๖๑. ตามรลิปติ, ตามลุก
เคยเป็นเมืองท่าเรือตะวันออกของประเทศอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในแคว้นเบงกอล เดิมเป็นเมืองโบราณมาแต่เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๙๓
เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียน
ก็ลงเรือกลับประเทศจีนที่เมืองนี้ ต่อมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลวงจีนอิจิง
ก็ลงเรือที่เมืองเดียวกันนี้กลับประเทศจีน
จดหมายเหตุจีนเรียกเมืองนี้ว่า ตัน โฆ ลิ ติ
หน้า ๗๙๒๘
๒๒๖๒. ตารกาสูร - ท้าว
เป็นแทตย์ หรืออสูรตนหนึ่ง ผู้ครองตรีปุระ ซึ่งในหนังสือรามเกียรติ์ว่า ท้าวตรีบูรัม
เป็นผู้มีฤทธิ์มาก ไม่มีใครปราบได้ นอกจากโอรสพระศิวะ ซึ่งเกิดจากนางบารพตี
คือ พระขันทกุมาร (ดู ขันทกุมาร ลำดับที่ ๗๑๔ ประกอบด้วย)
หน้า ๗๙๒๙
๒๒๖๓. ตาราง - เหลี่ยม
เป็นคำใช้ในมาตราวัดพื้นที่ หรือเนื้อที่ในภาษาไทย หมายถึง ลักษณะที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า
มีมุมเป็นมุมฉาก หรืออะไรที่ขัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าเหล่านี้ เรียกกันว่า
"ตา" บ้าง "ตะราง" บ้าง "ตาราง" บ้าง และ "ตาตะราง" บ้าง มีที่ใช้ดังนี้
ตา เช่น
ตาหมากรุก ตาข่าย ผ้าตา
ตะราง
แปลว่า ไม้ที่ขัดเป็นช่องห่าง ๆ และหมายถึง ที่สำหรับขังนักโทษ คำว่า
ตาราง จะใช้ในมาตราวัดเนื้อที่เมื่อไร ไม่ทราบแน่ แต่มีเค้าอยู่ทางหนึ่ง
ซึ่งเช้าใจว่าจะเกิดคำว่า ตะราง และเรียกว่า ตารางเหลี่ยม ขึ้นก่อน คงจะมีความประสงค์ให้หมายถึง
ตารางที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า มุมเป็นมุมฉาก ให้ชัดเจนขึ้น
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด บัญญัติให้ใช้วิธีเมตริก มาตราวัดพื้นที่แบบเมตริก
ให้เทียบกับมาตราไทย ดังนี้
๑ ไร่ = ๑,๐๐๐ ตารางเมตร ๑ งาน = ๔๐๐ ตารางเมตร
๑ ตารางวา = ๔ ตารางเมตร
หน้า ๙๗๓๑
๒๒๖๔. ตาร้าย
มีคำนิยามว่า "เรียกผู้ที่มองดูคนอื่นแล้ว ถือว่าให้โทษแก่คนนั้น ที่เดือดร้อน"
เฉพาะความหมายแรกตรงกับคดิความเชื่อถืออย่างหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้วในกฎหมายเก่าของไทน
ใช้คำว่า ดูร้าย
ด้วยเหตุนี้ คนแต่ก่อนเวลาจะชมเด็ก จึงมักพูดให้เห็นตรงกันข้ามเสีย เช่น จะชมว่าเด็กนี้น่ารัก
ก็ต้องพูดว่าเด็กนี้น่าชัง จะพูดว่าสวย เป็นขี้เหร่ เป็นต้น
หน้า ๗๙๓๖
๒๒๖๕. ตาล - ต้น
เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า "โตนด
ตาลโตนด ตาลใหญ่ ตาลนา (กลาง)"
ต้นสูง ๒๐ - ๓๐ เมตร มีรอยควั่นรอบ ๆ เนื่องจากรอบแผลใบเก่า แบบต้นมะพร้าว
ต้นตาลมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย อยู่แยกคนละต้น จะรู้ว่าต้นใดเป็นต้นตัวผู้
หรือต้นตัวเมืย เมื่อเริ่มมีดอกซึ่งเป็นเวลาสิบปี
ใบใหญ่ แข็งแรง ก้านใบยาว ๑ - ๑.๒๐ เมตร ตามแนวขอบก้านใบมีหนามสั้น ๆ สีดำ
ตัวใบรูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เมตร มีเส้นใบจำนวนมาก แยกเป็นรัศมี
จากจุดปลายก้านไปสู่ขอบใบ ขอบใบเป็นจักแหลม
ช่อดอก ออกตามง่ามใบเป็นช่อสั้น ๆ มีหลายแขนง ก้านกลม ช่อดอกตัวผู้ประกอบด้วย
กาบดอกเป็นเกล็ดซ้อนกันแน่น รอบก้านดอก ดอกตัวผู้เล็กมาก ดอกตัวเมียออกที่ปลายช่อ
รูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม.
ผลใหญ่ กลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐ ซม. ยาวราว ๑๕ ซม. ผิวเปลือกเกลี้ยงไม่มีขน
เวลาสุกกลิ่นแรง เนื้อสีเหลือง นิยมเอาไปคั้นเอาน้ำทำขนมเรียกว่า ขนมตาล
เมล็ดมี ๑ - ๓ เมล็ด ผิวนอกแข็งมาก มีขนหรือใบยาวติดรุงรัง เวลาผลตาลยังอ่อนอยู่
เมล็ดนี้มีสภาพอ่อนมาก และคนนิยมกินสด เวลาผลแก่ก็ใช้เนื้อภายในเมล็ดที่เรียกว่า
จาวตาล
เชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน
ต้นตาล ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ใบมุงหลังคาชั่วคราว ใช้สานทำเครื่องใช้ต่าง
ๆ เนื้อไม้จากต้นแก่แข็งมาก ใช้ทำสากและครก ตลอดจนของใช้ประจำบ้านอื่น ๆ
เวลาออกดอก ชาวบ้านใช้มีดปาดก้านช่อดอก รองเอาน้ำหวานไปเคี่ยวทำน้ำตาลพื้นเมืองเรียกว่า
น้ำตาลปึก
น้ำตาลหม้อ น้ำตาลสด ถ้าหมักและใส่สมุนไพรบางอย่างก็จะกลายเป็น
น้ำตาลเมา
หรือกระแช่
๒๒๖๖. ตาลปัตร
เป็นพัดใบตาลที่มีด้ามยาวสำหรับพระใช้ หนังสือเก่าใช้ว่าตาลิปัตร
ปัจจุบันยังหมายถึงพัดยศและพัดรองสำหรับที่พระสงฆ์ใช้ ในความหมายหลังนี้มักใช้ว่าพัดเป็นส่วนมาก
ตาลปัตร แปลตามพยัญชนะว่าใบตาล หรือใบลาน ที่ใช้เป็นพัดก็ทำด้วยใบตาล หรือใบลานจริง
ๆ มีใช้กันมานานแล้ว เข้าใจว่าคงมีมาก่อนพุทธกาล
ในหนังสือสมันตปาสาทิกา อรรถกถา วินัยปิฎก ภาค ๑ เล่าถึงการใช้พัดนอกเหนือไปจากการใช้รำเพยลมว่า
พระใช้บังหน้าบังตาเวลาแสดงธรรม หรือสวดธรรมด้วย
เรื่องตาลปัตรนี้ พระสงฆ์คงใช้เป็นประจำเท่ากับเป็นบริขารอย่างหนึ่ง ชาวบ้านปรารถนาบุญกุศลก็ทำถวายพระ
พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้หามาถวายพระบ้าง เมื่อเป็นของพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสิ่งนั้นก็กลายเป็นเครื่องยศ
หรือเครื่องประดับยศ หน้า
๗๙๔๑
๒๒๖๗. ตาลปัตรยายชี
เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่งลอยอยู่ตามคูหรือแอ่งน้ำนิ่ง ที่ค่อนข้างตื้น ลำต้นคงเป็นเหง้าเล็ก
จมอยู่ในโคลนแล้วส่งใบขึ้นเหนือผิวน้ำ ก้านใบยาว ตัวใบแบนใหญ่ขนาด ๑๐ - ๑๕
ซม. รูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อคล้ายก้านใบ
หน้า ๗๙๔๘
๒๒๖๘. ตาลปัตรฤษี ๑ - กล้วย
กล้วยพัด กล้วยลังกาก็เรียก เป็นพันธุ์ไม้ประดับที่ปลูกกันมาก ลำต้นคล้ายต้นมะพร้าวหรือปาล์ม
เนื้อแข็ง อยู่ได้นานปี มีหน่อ ใบคล้ายใบกล้วยธรรมดา แต่ทั้งก้านและใบยาวกว่า
ออกเป็นแถวตั้งเดี่ยวที่ปลายลำต้น ทำนองพัดคลี่ โคนก้านใบซ้อนทับกันแน่น ทำให้เกิดเป็นซอง
หน้า ๗๙๔๙
๒๒๖๙. ตาลปัตรฤษี ๒
เป็นพิ้นบ้านที่ใช้เรียกของป่าชนิดหนึ่ง เป็นส่วนที่เกิดเมล็ดของพันธุ์พืชจำพวกปรง
และมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพัด หรือตาลปัตรยอดแหลมที่พระสงฆ์ถือ
หน้า ๗๙๔๙
๒๒๗๐. ตาลี
เป็นชื่อเมืองในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ริมทะเลสาบเออร์ไห ซึ่งมีความยาวกว่า
๑๖๐ กม. กว้างประมาณ ๓๒ กม. ตัวเมืองตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเออร์โห มีชัยภูมิมั่นคงมาก
เพราะตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบกับภูเขา ช่องเขาซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่ตัวเมือง
จึงง่ายต่อการป้องกัน เดิมเป็นเมืองเล็กของชนหมู่น้อยกลุ่มหนึ่งชื่อโหมัน
และมีชื่อเดิมว่าชิตัน จักรพรรดิ์วู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นส่งทหารเข้าตีเมืองนี้และยูนนานทั้งหมดได้
เมื่อปี พ.ศ.๔๓๔ แต่ไม่ได้ดำเนินการปกครองดินแดนเหล่านี้อย่างจริงจัง
ในสมัยที่พระเจ้าพีล่อโก๊ะ เริ่มแผ่ขยายอาณาเขต สามารถขับไล่พวกโหมันออกไปจากเมืองนี้ได้สำเร็จในปี
พ.ศ.๑๒๘๐ และให้สร้างเมืองตาลีขึ้นใหม่ พระเจ้าโก๊ะล่อฝง สามารถต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ของกองทัพจีนได้สำเร็จในปี
พ.ศ.๑๒๙๔ - ๑๒๙๗ ทหารจีนถูกทหารน่านเจ้าฆ่าตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าโก๊ะล่อฝง
ถึงกับโปรดให้จารึกชัยชนะครั้งนี้ลงในหินอ่อน และให้สร้างที่ฝังศพทหารจีนใกล้เมืองตาลี
กุบไลข่าน ตีเมืองตาลีได้ในปี พ.ศ.๑๗๙๖ และนับเป็นครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน เข้าไปรวมกับอาณาจักรจีนอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันสถานที่ตั้งเมืองตาลีโบราณเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ยังมีซากป้อมและกำแพงสร้างด้วยอิฐปนดินปรักหักพังอยู่
หน้า ๗๙๕๐
๒๒๗๑. ตาเหลือก - ปลา
ครั้งแรกปลาตาเหลือกอยู่ในทะเลและได้เข้ามาในน้ำจืดของเมืองไทย ตามลำน้ำสายล่างของลำน้ำใหญ่
หน้า ๗๙๕๑
๒๒๗๒. ตำบล
ชื่อหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค ที่รวมหมู่บ้านหลายหมู่บ้านเข้าด้วยกัน มีฐานะใหญ่กว่าหมู่บ้าน
แต่เล็กกว่าอำเภอ มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง ตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗
บัญญัติว่าบ้านหลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่งให้จัดเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณคือ
ถ้ามีคนอยู่รวมกันมากถึงจำนวนบ้านน้อย ก็ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญ ราว ๒๐๐
คน เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนจะน้อยถ้ามีบ้านไม่ต่ำกว่า
๕ บ้าน แล้วจะจัดเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้
ส่วนตำบลบัญญัติไว้ว่า หลายหมู่บ้านรวมกันราว ๒๐ หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบลหนึ่ง
หน้า ๗๙๕๓
๒๒๗๓. ตำแย
เป็นจำพวกผักล้มลุก สูงประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซม. มีขนตามลำต้นและใบ ซึ่งถูกเข้าแล้วคันและเป็นผื่นตามผิวหนัง
มีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป และชอบที่ชื้น
ใบแบบใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปใบเป็นรูปไข่ กว้าง ๕ - ๗ ซม. ยาว ๗ - ๑๐ ซม.
ช่อดอก เรียวยาว ๒ - ๘ ซม. ออกตามง่ามใบ ดอกเล็กสีเขียว ออกติดกันเป็นกระจุก
เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ผลเล็กมาก
นอกจากตำแยตัวเมียดังกล่าวแล้ว ยังมีตำแยแมว ตำแยตัวผู้ (กลาง) และตำแยช้าง
หน้า ๗๙๕๔
๒๒๗๔. ตำรวจ
หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตรา และรักษาความสงบ จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
คำว่าตะรวจสันนิษฐานว่า คงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาได้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็นสี่เหล่าเรียกว่า
จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา ให้มีการตำรวจขึ้นด้วย โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง
มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก เป็นผู้บังคับบัญชา มีการตรวจตราศักดินา
ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่าง ๆ ไว้ในบทพระอัยการคือ
ตำรวจภูธร
หลวงวาสุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูธร ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนพิษณุแสน ปลัดขวา
ศักดินา ๖๐๐ ขุนเพชรอินทรา ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
ตำรวจภูบาล
หลวงเพชรฉลุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูบาล ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนมหาพิชัย ปลัดขวา
ศักดินา ๖๐๐ ขุนแผนสะท้าน ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญในตอนปลายรัชกาลที่สี่ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๕
ได้ว่าจ้างกัปตัน เอส.เย.เบิร์ด เจมส์ ชาวอังกฤษ ภายหลังได้เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
มาเป็นผู้วางโครงการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรปเรียกว่ากองโปลิส
โดยจ้างชาวมลายู และชาวอินเดียมาเป็นพลตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเบิล
ให้มีหน้าที่รักษาการแต่ในเขตกรุงเทพ ฯ ชั้นใน และขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้ทรงขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ
แล้วยังได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นรูปทหารโปลิส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ โดยได้ว่าจ้างชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวณหัวเมือง
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทน
มีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (ยี.เชา) เป็นเจ้ากรม ทางตำรวจขออนุมัติใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
ในสมัยรัชกาลที่ห้า กิจการตำรวจขึ้นกับสองกระทรวงคือ กรมพลตระเวณ หรือตำรวจนครบาล
ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล กรมตำรวจภูธรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย เพิ่งจะมารวมเป็นกรมเดียวกัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เรียกว่า กรมตำรวจภูธร และกรมตระเวณ
หน้า ๗๙๕๖
๒๒๗๕. ตำลึง ๑
เป็นหน่วยในมาตราเงินอย่างหนึ่งกับเป็นหน่วยในมาตราชั่งน้ำหนักอีกอย่างหนึ่ง
ในสมัยโบราณมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ใช้ปนกันแทบทุกชาติ ทั้งนี้เพราะมาตราเงินมีวัตถุที่บอกพิกัดมากน้อยต่าง
ๆ เช่น บาท สลึง เฟื้อง ฯลฯ ทำด้วยเงินหรือโลหะอื่น ๆ เรียกรวม ๆ ว่า เงินตรา
เป็นหลักสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเป็นราคาสิ่งของ ที่ซื้อขายกัน เราเอาเงินตรานั้นมาใช้เป็นลูกชั่งหรือตุ้มน้ำหนัก
ชั่งสิ่งของให้รู้น้ำหนักด้วย ดังนั้นมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ก็เลยปนกันเป็นดังนี้
มาแต่โบราณ
มาตราเงิน
ในสมัยสุโขทัยคงจะเป็นดังนี้ ๑ ชั่ง = ๒๐ ตำลึง ๑ ตำลึง
= ๔ บาท ๑ บาท = ๔ สลึง ๑ สลึง = ๒ เฟื้อง ถัดจากเฟื้องมาก็เป็นเบี้ย
ชั้นเดิมว่ามีอัตรา ๔๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง
ในสมัยอยุธยา มาตราเงินคงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย เฟื้องหนึ่งเท่ากับ ๘๐๐
เบี้ย
เงินที่ใช้มาแต่โบราณเป็นเงินกลม เรียกว่า เงินพดด้วง
ในสมัยสุโขทัยมีขนาด ๑ ตำลึง และ ๑ บาท สมัยอยุธยาใช้เงินพดด้วงอย่างเดียว
มีสี่ขนาดคือ ๑ บาท ๒ สลึง ๑ สลึง และ ๑ เฟื้อง
สมัยรัตนโกสินทร์ มาตราเงินคงเป็นอย่างเดียวกับสมัยอยุธยา ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่สี่
โปรดให้ตั้งโรงกษาปน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ และทำเงินตราใหม่เป็นรูปแบบกลมเรียกกันว่า
เงินเหรียญ
มีสี่ขนาดคือ ๑ บาท ๒ สลึง และ ๑ เฟื้อง และทำเหรียญขนาด ๑ ตำลึง
กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง ไว้ด้วย แต่มิได้ใช้ในท้องตลาด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕
โปรด ฯ ให้ทำเหรียญดีบุก เป็นเงินปลีกขึ้นใช้แทนเบี้ยอีกสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า
"อัฐ" กำหนดให้
๘ อัฐ เป็นเฟื้อง ขนาดเล็กเรียกว่า "โสฬส"
กำหนดให้ ๑๖ โสฬส เป็นเฟื้อง
พ.ศ.๒๔๐๖ โปรดให้ทำเหรียญทองคำขึ้นสามขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ทศ"
ราคา ๑๐ อัน ต่อ ๑ ชั่ง คือ อันละ ๘ บาท ขนาดกลางเรียกว่า "พิศ"
ราคาอันละ ๔ บาท ขนาดเล็กเรียกว่า "พัดดึงส์"
ราคาอันละ ๑๐ สลึง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๘ โปรดให้ทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้เป็นเงินปลีกมีสองขนาด
ขนาดใหญ่เรียกว่า "ซีก"
สองอันเป็นเฟื้อง ขนาดเล็ก เรียกว่า "เสี้ยว"
สี่อันเป็นเฟื้อง
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ.๒๔๕/ ได้กำหนดมาตราเงินขึ้นใหม่ ถือเอา
"บาท" เป็นมาตรฐานแบ่งบาทออกเป็น
๑๐๐ ส่วน เรียกว่า "สตางค์"
มีอัตรา ๑๐๐ สตางค์เท่ากับ ๑ บาท เป็นมาตราเดียว แต่คนเคยชินกับมาตราอย่างเก่า
จึงมักเอามาตราเก่ามาเทียบ เช่น ๓ สตางค์ เท่ากับ ๑ ไพ ๑๒ สตางค์
= ๑ เฟื้อง ๒๕ สตางค์ = ๑ สลึง คำว่า ตำลึง และชั่ง ก็ยังใช้พูดกัน
ถือตามมาตราเก่า
มาตราชั่ง
ตั้งแต่ " ไพ " ถึง "ชั่ง " เป็นอย่างเดียวกับมาตราเงิน เหนือไพ ลงไปเปลี่ยนเพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักน้อย
ให้ละเอียดขึ้น และต่อชั่งขึ้นมา เพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักมาเข้าอีก มาตรานี้อยู่ในตำราเรียกว่า
"เบญจมาตรา" ของโบราณกำหนดว่าเป็นมาตราสำหรับชั่งทอง
ท่านผูกเป็นคำกลอนไว้ว่า
"ทองพาราหนึ่งแท้ ยี่สิบดุลแน่ ดุลหนึ่งยี่สิบชั่งนา
ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลีงหนา ตำลึงหนึ่งว่า สี่บาทถ้วนจงจำไว้
บาทหนึ่งสี่สลึงไทย สลึงหนึ่งท่านใช้ สองเฟื้องจงจำไว้นา
เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา ไพหนึ่งท่านว่า สองกล่ำจงกำหนดไว้
กล่ำหนึ่งสองกล่อมตามใช้ กล่อมหนึ่งลงไป สองเมล็ดข้าวตามมีมา "
เนื่องจากไทยมีการค้าขายกับจีน แขก ฝรั่ง มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงเกิดมาตราชั่งขึ้นอีกแบบคือ
๒ เมล็ดข้าว = ๑ กล่อม
๒ กล่อม = ๑ กล่ำ
๒ กล่ำ = ๑ ไพ
๔ ไพ = ๑ เฟื้อง
๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
๔ สลึง = ๑ บาท
๔ บาท = ๑ ตำลึง
๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
๑๐๐ ชั่ง = ๑ หาบ
พ.ศ. ๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด- บัญญัติให้ใช้มาตราเมตริก และให้เทียบวิธีประเพณีไว้ดังนี้
๑ ชั่งหลวง = ๑
หาบหลวง = ๖๐ กิโลกรัม
ชั่งหรือชั่งหลวง คือ ชั่ง ๑๖ ตำลึงละ ๑๐ สลึง ๑๐๐ ชั่งเป็นหาบ
หน้า ๗๙๖๑
๒๒๗๖. ตำลึง ๒ - ต้น
เป็นไม้เถาขนาดเล็ก มือใบเป็นเส้นเดี่ยวใช้เกาะพันขึ้นตามที่ต่าง ๆ รากอ้วนโตดูคล้ายหัว
ใบ แบบในเดี่ยวหนา รูปหลายเหลี่ยม ขนาดกว้าง ยาว ๕ - ๑๐ ซม. ปลายใบเว้าเป็นหลายง่าม
มีต่อมใสตามเส้นใบ
ดอก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย แยกอยู่คนละดอก รูปคล้ายระฆัง
ขอบโค้งเว้าเป็นห้าจัก สีขาวนวล
ผล รูปคล้ายแตงกวา ขนาดเล็ก เวลาสุกสีแดง มีเมล็ดมาก
คนไทยนิยมใช้ยอดและใบทำเป็นอาหาร ผลดิบใช้ดองบริโภคได้
หน้า ๗๙๗๓
๒๒๗๗. ติด - ปลา
มีอยู่ประมาณสี่ชนิด ที่รูปร่างแปลก และอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อน ครีบหลังอันแรกเปลี่ยนไปเป็น
เครื่องดูดที่ช่วยให้ปลานั้นติดกับปลาฉลาม เต่า ปลาวาฬ และสัตว์น้ำขนาดใหญ่อื่น
ๆ กับสิ่งที่ลอยน้ำเช่น เรือ ปลานี้มักชอบให้สัตว์อื่น เป็นตัวพาไปกินปลาตัวเล็กอื่น
ๆ เป็นอาหาร หน้า
๗๙๗๔
๒๒๗๘. ติดต่อ - โรค
หมายถึง โรคใดซึ่งติดต่อกันได้โดยตรง หรือโดยอ้อม จากคนถึงคน หรือจากสัตว์ถึงคน
เช่น ไข้รากสาด (น้อย เทียม ใหญ่) ไข้จับสั่น ไข้หวัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส
โรคไอกรน กามโรค ไข้คอตีบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ปอดอักเสบ โรคคางทูม โรคบิด โรคแอนแทร็กซ์
โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคเรื้อน โรคไข้เลือดออก ฯลฯ
การป้องกัน
ส่งเสริมและสร้างสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง กับโดยการปลูกฝี ฉีดยา ให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย
รักษาอนามัยส่วนบุคคล
การรักษา
ต้องทำให้ถูกต้อง เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
หน้า ๗๙๗๔
๒๒๗๙. ติมิ, ติมิงคละ
เป็นชื่อปลาในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง เป็นปลาชนิดใหญ่มหึมา และปลาติมิ ถูกปลาชื่อ
ติมิงคละ ซึ่งใหญ่กว่ากลืนเอาได้
หน้า
๗๙๗๖
๒๒๘๐. ติโลกราช
เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ที่ครองนครเชียงใหม่
อาณาจักรลานนาไทย ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระนามเดิมคือ เจ้าลก เป็นโอรสองค์ที่หก
ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๕
ในรัชกาลนี้อาณาจักรลานนาไทย ได้ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกัน
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) พระเจ้าติโลกราช
ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของไทย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๔ โดยพยายามตีเมืองสุโขทัยแต่ต้องถอยทัพกลับไป
กองทัพกรุงศรีอยุธยา กองทัพเชียงใหม่ ที่เมืองเถิน และตีกองทัพเชียงใหม่แตกพ่ายกลับไป
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๐๔ พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาอีก
แต่พอดีพวกฮ่อยกมาตีแดนเชียงใหม่ จึงต้องยกทัพกลับ การที่หัวเมืองเหนือของอยุธยา
ถูกรบกวนเนือง ๆ ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๖ จนสิ้นรัชกาล
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เสด็จยกทัพหลวงรุกไปถึงเมืองลำปาง พระเจ้าติโลกราชทรงตั้งทัพหลวงที่เชิงดอยปา
กองทัพหน้าของอยุธยาตีกองทัพหน้าของเชียงใหม่แตก แต่แม่ทัพหน้าของอยุธยาคือ
พระอินทราชา ต้องปืนที่พระพักตร์ จึงต้องล่าถอยทัพกลับมา
พระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ในเวลา ๒๐ ปีเศษ ทำให้ทางเชียงใหม่อ่อนกำลังลง
ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๐๑๘ จึงทรงขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองอาณาจักรได้เป็นไมตรีกัน
ในตอนปลายรัชกาลของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นนักรบที่สามารถมาก อำนาจของเมืองเชียงใหม่ได้แผ่ขยายไปทั่ว
บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรลานนาไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น
ได้ทรงออกผนวชชั่วระยะเวลาหนึ่ง และโปรด ฯ ให้กระทำสังคายนาคัมภีร์พระไตรปิฎก
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๑ ที่วัดโพธารามวิหารหรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด นับเป็นการสังคายนาอันดับที่แปด
นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ทรงได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า
"พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่"
หน้า ๗๙๗๘
๒๒๘๑. ติวอ๋อง
เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซียง ขึ้นครองราชย์เมื่อก่อน พ.ศ.๑๕๙๗
สวรรคตเมื่อก่อน พ.ศ.๑๗๕๔ ทรงปกครองในระบอบเผด็จการและทารุณโหดร้าย มัวเมาในกามสุข
แต่ราษฎรเดือดร้อนทุกข์ยาก
เจ้าผู้ครองนครและแคว้นต่าง ๆ รวม ๘๐ แห่ง ต่างกรีธาทัพมุ่งสู่เมืองหลวง เพื่อปราบติวอ๋อง
และทำการได้สำเร็จ ติวอ๋องได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อกองทัพเหล่านั้นยึดเมืองหลวงได้
และยกบูอ๋อง ขึ้นครองราชย์แทนติวอ๋อง บูอ๋องจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิว
เหตุการณ์ที่เกิดในสมัยติวอ๋อง ถูกนำไปดัดแปลงแต่งเติม และเรียบเรียงเป็นนิยายประเภทเกร็ดพงศาวดาร
มีภาคภาษาไทยชื่อว่า ห้องสิน
หน้า ๗๙๘๕
๒๒๘๒. ตีน - ปลา
ปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์ไปกว้างขวางมาก มักอยู่ตามหาดโคลนทราย ชายฝั่งอ่าว และปากน้ำที่เป็นดิน
และตามส่วนล่างของแม่น้ำใหญ่ หน้า
๗๙๘๙
๒๒๘๓. ตีนกา - หญ้า
เป็นหญ้าล้มลุก มีรากแข็งแรง ลำต้นแบน มักทอดเอนไปตามดินยาว ๓๐ - ๕๐ ซม.
ช่อดอกเป็นก้านเดี่ยวตรงยาว ๑๐ - ๒๐ ซม.
หน้า ๗๙๙๒
๒๒๘๔. ตีนเป็ด - ต้น
บางท้องถิ่นเรียกว่า พญาสัตบรรณ เป็นพันธุ์ไม้ทิ้งใบขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๔๐ เมตร
ใบเป็นแบบใบผสม ปลายก้านใบแยกออก คล้ายซี่ร่มเป็นใบย่อย ๔ - ๘ ใบ รูปไข่กลับ
หรือรูปหอกยาว
ช่อดอก ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ยาว ๗ - ๑๓ ซม. ดอกทรงดอกมะลิ ผลเป็นฝักแฝด
มีโคนติดกัน เรียว ยาว ๒๐ - ๕๐ ซม.
เนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง เบา ไม่ทนทาน ใช้ในการทำหีบบรรจุสิ่งของ
หน้า ๗๙๙๔
๒๒๘๕. ตืด
ตืด หรือตัวตืด หรือพยาธิตืด เป็นพยาธิตัวแบนในลำไส้คน มีลักษณะเป็นแถบอาจยาวได้หลาย
ๆ เมตร ลำตัวยาวเป็นปล้อง ตรงหัวมีอวัยวะที่ใช้เกาะยึด ถัดจากหัวลงมาเป็นคอ
คอเป็นส่วนสร้างปล้องออกไปเรื่อย ๆ ตัวตืดไม่มีอวัยวะทางเดินอาหาร มันได้อาหารโดยการซึมของอาหารผ่านผิวหนังเข้าไปในตัว
ปล้องแต่ละปล้องมีอวัยวะเพศ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ด้วยกัน
ตัวตืด ที่สำคัญพบในคนได้มาก ในประเทศไทยคือ ตืดวัว และตืดหมู
- ตืดวัว
เป็นตัวตืดขนาดใหญ่ ยาว ๕ เมตร ที่หัวมีฐานเกาะรูปกลมสี่ฐาน มีวงจรชีวิตคือ
ปล้องสุกจากตัวแก่ ที่อาศัยในลำไส้เล็กของคนที่มีไข่ผสมแล้ว เต็มมดลูกจะหลุดออกจากตัวครั้งละปล้อง
หรือหลาย ๆ ปล้อง เคลื่อนลงมาสู่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก แล้วถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ
หรือเคลื่อนหลุดมาเอง เมื่อตกไปตามพื้นดิน จะปริแยกมดลูกแตกไข่ จะตกกระจายอยู่ตามพื้นดิน
เมื่อวัวหรือควายเล็มหญ้า ตามพื้นดินกินไข่เหล่านั้นเข้าไป ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนอยู่ตามกล้ามเนื้อ
มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู โตประมาณ ๗ - ๑๐ มม. ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินเนื้อวัว
หรือควายที่มีเม็ดสาคูนี้ โดยไม่ทำให้สุกเสียก่อน เม็ดสาคูที่ไม่ตาย จะกลายเป็นตัวแก่ในลำไส้ต่อไป
ตัวตืดหมู
เล็กกว่าตัวตืดวัว อยู่ในวงศ์เดียวกัน ยาว ๒ - ๓ เมตร ส่วนหัวมีขอ ๒๐
- ๔๐ อัน ช่วยในการเกาะเพิ่มจากฐานสี่ฐาน วงจรชีวิตเป็นแบบเดียวกับตืดวัว
แต่เปลี่ยนเป็นหมู แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือ ไข่พยาธิตืดหมู สามารถเจริญเป็นเม็ดสาคูได้ในคน
เม็ดสาคูอาจไปเกิดในอวัยวะต่าง ๆ ได้
หน้า ๗๙๙๕
๒๒๘๖. ตุ๊กแก ๑ - ปลา
เป็นปลามีเกร็ดตลอดตัว มักพบตามชายฝั่งในทะเล เป็นปลาที่มีรสดี
หน้า ๗๙๙๘
๒๒๘๗. ตุ๊กแก ๒ - สัตว์
เป็นสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน ซึ่งอยู่ในวงศ์ตุ๊กแก มีรูปร่างเหมือนจิ้งจก แต่ตัวใหญ่กว่า
หนังหยาบมาก เท้าพองทั้งห้านิ้ว และเหนียว มักมีจุดแดงเจือขาวอยู่ตามตัว อาศัยอยู่บนบก
กินแมลงเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามต้นไม้ และบ้านเรือนของผู้คน
หน้า ๗๙๙๙
๒๒๘๘. ตุ๊กตา
มีคำนิยามว่า "ของเล่นเด็ก ซึ่งทำเป็นรูปคนขนาดเล็ก ลักษณะนามว่าตัว "
ตุ๊กตาอาจแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทคือ ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น
ตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ และตุ๊กตาที่เก็บไว้ตามโรงเรียน หรือพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา
หน้า ๗๙๙๙
๒๒๘๙. ตุ๊กต่ำ
(ตุ๊กกะต่ำ) เป็นแร่ชนิดหนึ่ง ในตระกูลไมกา หรือแร่กลีบหิน มีลักษณะทั่วไปเป็นเกล็ด
หรือแผ่นบางซ้อนกันแน่น ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน ปนเหลืองหรือน้ำตาลแก่
ซึ่งเรียกว่า แร่ไบโอไตต์ ชาวบ้านที่ขุดหาพลอยที่ จ.จันทบุรี เรียกตุ๊กต่ำ
หรือตั๊กตำ เชื่อกันว่า เป็นตัวบ่งชี้พลอย
หน้า ๘๐๐๐๐
๒๒๙๐. ตุ๊กต่ำน้ำทอง
เป็นแร่ไบโอไตต์ ชนิดที่มีสีเหลืองน้ำตาล เหลือบเป็นสีทอง นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีสีเหลืองอ่อน
ความวาวแบบมุก ทำให้เหลือบคล้ายเงิน เรียกตุ๊กต่ำน้ำเงิน ชนิดที่เหลือบเป็นทองแดง
เรียกตุ๊กต่ำน้ำนาก ทั้งสามชนิดดังกล่าว ใช้เป็นเครื่องยาผสมกิน แก้ร้อนใน
หน้า ๘๐๑๑
๒๒๙๑. ตุงหวง
เป็นชื่ออำเภอในมณฑลกันซู่ ของประเทศจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอนี้
มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อในด้านศิลปะ และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นห้องศิลาอยู่ในบริเวณภูเขาหมิงซาซาน
ที่รู้จักกันดีในนาม "ห้องศิลาตุงหวง" ชาวบ้านเรียกกันว่า "ถ้ำพันพระ"
ในถ้ำมีภาพเขียนอันวิจิตรพิสดาร เป็นสมบัติล้ำค่าหาได้ยากยิ่งในโลก ได้มีผู้ค้นพบห้องศิลา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ นักพรตของลัทธิเต๋า ได้พบหนังสือโบราณจำนวนมากในคูหาที่
๑๖๓ ของถ้ำพันพระนี้ หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอด ตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถัง
และสมัยราชวงศ์ทั้งห้าของจีน
ภายในห้องศิลาตุงหวง มีภาพเขียนสลักตามผนังถ้ำ ต้นฉบับตัวเขียนซึ่งจารึกลงบนกระดาษ
ที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีนแต่สมัยโบราณ ศิลปะส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
หน้า ๘๐๑๑
๒๒๙๒. ตุ๊ดตู่ ๑ - ต้น
เป็นชื่อที่ทางจังหวัดตาก เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกชื่อไม้นี้ว่า
จามจุรี ก้ามปู ฉำฉา สำลา ลัง (เหนือ) เป็นพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕
- ๒๕ เมตร เรือนยอดแผ่แบนมาก
ใบ เป็นแบบใบผสม แตกเป็น ๒ - ๔ แขนง มีต่อมหลายต่อม ตามก้านใบกลาง ใบย่อยรูปเบี้ยวถึงเกือบกลม
ยาว ๓ - ๔ ซม.
ช่อดอก ออกตามง่ามใบ เป็นก้านสั้น ดอกเล็ก อยู่เป็นกระจุกที่ปลายก้าน ดอกนี้ทำให้ดูเป็นหัวกลม
ดอกหนึ่ง ๆ ทรงกระบอก สีเหลือง เกสรตัวผู้สีชมพู
ฝักแบนตรง หรือโค้งน้อย ๆ สีน้ำตาลเกือบดำ ยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. กว้าง ๑.๕ - ๒.๕
ซม. ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
เนื้อไม้สีน้ำตาล หยาบไม่ทนทาน แต่ใช้ในการแกะสลัก ทำเป็นสินค้า หรือเครื่องประดับได้ดีมาก
ชื่อตุ๊ดตู่นี้ ทางอยุธยาใช้เรียก กก ชนิดหนึ่งว่า "ตุ๊ดตู่" ทั่ว ๆ
ไปเรียกว่า กกกลม กกทรงกระเทียม
หน้า
๘๐๑๓
๒๒๙๓. ตุ๊ดตู่ ๒ - สัตว์
(ดู ตะกวด - ลำดับที่ ๒๑๓๗)
หน้า
๘๐๑๔
๒๒๙๔. ตุ่น - สัตว์
เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ตาเล็กมาก ขนนุ่ม ขุดรูอยู่ใต้ดิน
ตุ่น มีรูปร่างป้อม ลำตัวค่อนข้างกลม หัวเล็ก จมูกแหลม ไม่มีหูข้างนอก เล็บใหญ่
หางสั้น อาหารหลักได้แก่ ไส้เดือน (ดิน)
หน้า ๘๐๑๔
๒๒๙๕. ตุ้มแซะ หรือตุ้มแซะ
เป็นชื่อทางภาคเหนือ บางท้องถิ่นเรียก ตุ้มน้ำ ตุ้มน้อย (เหนือ) กระทุ่มน้ำ
(กลาง) กระทุ่มดง (กาญจนบุรี) กระทุ่มโคก (โคราช)
พันธุ์ไม้นี้เป็นไม้ทิ้งใบขนาดกลางสูง ๘ - ๑๕ เมตร ใบแบบใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน
รูปไข่กว้าง ๆ ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้างราว ๖ ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง
แตกเป็นหลายแขนง ดอกเล็กมากอยู่รวมเป็นกระจุก ที่ปลายก้าน ดอกหนึ่ง ๆทรงแบบดอกมะลิ
ผลอยู่รวมเป็นกระจุก ตามลักษณะเดิมของช่อดอก เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ทนทานปานกลาง
หน้า ๘๐๑๕
๒๒๙๖. ตุลาการ
คำว่า ตุลาการ เพิ่งใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร แต่เดิมใช้คำว่า ตระลาการ ซึ่งหมายถึง
ผู้ตัดสินคดีความ หรือผู้พิพากษาเช่นกัน
คำว่า ตุลาการ ซึ่งหมายถึง ผู้ตัดสินคดีความนั้นในทางนิรุคติศาสตร์ มีที่มาจากคำว่า
ตุลา ซึ่งแปลว่า คันชั่ง ทั้งนี้โดยอุปไมยว่า ผู้ตัดสินคีดความพึงตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง
ไม่เอนเอียง เปรียบดังคันชั่ง
หน้า ๘๐๑๖
๒๒๙๗. ตูมกา หรือตุมกา - ต้น
เป็นไม้ขนาดกลาง ลำต้นมักคดงอ สูง ๓ - ๘ เมตร ใบแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกับรูปไข่อย่างกว้าง
ยาว ๑๐ - ๑๓ ซม. กว้าง ๖ - ๘ ซม.
ช่อดอกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก ทรงแบบดอกมะลิ
ผลกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ - ๘ ซม. เปลือกเลี้ยงสีเขียว
หน้า ๘๐๒๒
๒๒๙๘. เต็ง - ต้น
เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๒๐ - ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน
ปลายมน ก้านใบสั้น ดอกเล็กสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลสีน้ำตาลอ่อน
มีปีกยาวสามปีก ปีกสั้นสองปีก
เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แข็งเสี้ยนตรง หนักพอประมาณ ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเช่น
เสา รอด ตง คาน ฯลฯ หน้า
๘๐๒๓
๒๒๙๙. เต้นรำ
คำนี้คนไทยหมายถึง เฉพาะการรื่นเริงสังสรรค์กันแบบหนึ่ง ซึ่งเอามาจากชาวตะวันตก
ชายหญิงจะจับคู่กันเดินเยื้องย่าง ร่ายรำ หรือกระโดดเต้นไปตามเสียงดนตรีและตามจังหวะต่าง
ๆ
ความสำคัญของการเต้นรำ อยู่ที่รูปแบบ ขบวนการและจังหวะของการก้าวเท้าเป็นใหญ่
มีการเคลื่อนไหวแขน และท่อนกายประกอบบ้างในบางแบบ
การเต้นรำนี้คงจะได้นำเข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมตะวันตกในรูปอื่น
ๆ โดยเฉพาะดนตรีตะวันตก มีหลักฐานปรากฎว่า ได้มีการเต้นรำในสังคมชั้นสูงมาแล้ว
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ แต่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป
ในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปนั้น การเต้นรำเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากการเริงระบำพื้นบ้าน
และมากลายเป็นที่นิยมในสังคมชั้นสูงในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒
หน้า ๘๐๒๔
๒๓๐๐. เตมีย์ - ชาดก
เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาชาดก
มหานิบาตนั้นเป็นชาดก ที่กล่าวถึงพระเตมีย์ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ นับเป็นพระเจ้าชาติที่หนึ่งในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
ทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมี
และเนกขัมบารมี
พระพุทธองค์ตรัสเทศนาชาดกเรื่องนี้ หน้า
๘๐๒๘
๒๓๐๑. เตย
เป็นชื่อพันธุ์ไม้ มีหลายชนิดด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วเป็นต้นที่เกิดเป็นกอก็มี
เกิดโดดเดี่ยวก็มี มีใบเกิดเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาวสีเขียวหรือด่างเหลืองก็มี
ม้วนแหลม มีหนามแข็งสั้นตลอดทั้งใบ เมื่อมีอายุประมาณสองปีขึ้นไป
พันธุ์ไม้ประเภทนี้แยกเพศกันอยู่คนละต้น ส่วนที่เป็นต้นตัวเมียเรียกกันว่า
เตย ต้นตัวผู้เรียกว่าต้นเตยตัวผู้ก็มี ลำเจียกก็มี การะเกดก็มี
มีเตยอีกชนิดหนึ่งมีใบหอม ใช้ต้นปรุงกลิ่นให้หอมในการทำขนมบางชนิด เรียกกันว่า
เตยหอม
คำว่าปาหนันก็คงหมายถึงลำเจียกหรือเตยตัวผู้เหมือนกัน
หน้า ๘๐๓๔
๒๓๐๒. เตลิงคน์
เป็นชื่อชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียโบราณ ซึ่งได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งของชาวรามัญ
เมื่อครั้งรามัญยังรวมกันเป็นประเทศเรียกว่า ประเทศมอญ
หน้า ๘๐๓๕
๒๓๐๓. เตลุคุ - ภาษา
บางทีเรียกว่า ไตลิงคะ อยู่ในภาษาตระกูลทราวิฑ เป็นภาษาที่ใช้พูดกันในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
ในแคว้นกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นแคว้นโบราณแคว้นหนึ่งในอินเดีย
หน้า ๘๐๓๖
๒๓๐๔. เต่า
เป็นสัตว์จำพวกหนึ่งซึ่งมีกระดองที่เป็นกระดูกแข็งหุ้มอยู่ภายนอกตัว กระดองเต่าแบ่งออกเป็นกระดองหลังและกระดองท้อง
กระดองทั้งสองยึดต่อกันทางด้านข้างของตัว มีช่องว่างทางหัวท้ายสำหรับให้หัว
หาง และขาทั้งสี่โผล่ออกมาได้
เต่าบกมีเกล็ดมากบนหัว มีกระดองหลังโค้งสูงกว่าเต่าน้ำ ขาทั้งสี่มักมีลักษณะกลมคล้ายกับเสา
มีนิ้วตีนและเล็บสั้น แต่เต้าน้ำจืดมีหนังหนาคลุมบนหัว มักมีกระดองเตี้ย และมีขาแบนกว่า
เพราะต้องใช้ขาว่ายน้ำ นิ้วตันและเล็บยาวและมีแผ่นผังผืดระหว่างนิ้วสำหรับว่ายน้ำด้วย
ส่วนเต่าทะเลส่วนมากมีชีวิตในทะเลจะขึ้นบกบ้างก็ตอนวางไข่เท่านั้น ขาทั้งสี่ของมันจึงเปลี่ยนแปลงไปมากจนกลายเป็นคล้ายครีบปลา
เต่าบกหางมักสั้น
เต่าทะเลต่าง ๆ เป็นสัตว์โบราณ ส่วนน้อยที่รอดพ้นและอยู่มาถึงสมัยปัจจุบัน
การวางไข่จะใช้ครีบยันตัวเคลื่อนขึ้นมาบนหาดทราย ขึ้นไปจนถึงระดับน้ำทะเลเคยขึ้นถึง
เลือกที่ได้แล้วก็ใช้ขาหลังขุดหลุมสำหรับวางไข่ เสร็จแล้วใช้ขาหลังกลบหลุมจนเสมอปากหลุม
แล้วเสือกตัวไปมาเพื่อกลบหลุมพราง ไข่เต่าอาศัยความชื้น และความอุ่นของดิน
ราว ๒ - ๓ เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัว และมักจะออกเป็นตัวพร้อม ๆ กันในคืนเดียวกัน
ลูกเต่าจะรู้โดยสัญชาติญาณว่าทิศใดเป็นทะเล แล้วพากันคลืบคลานลงทะเลถ้าเป็นเวลากลางวัน
นกนางนวลมักจะพาพวกมาคาบลูกเต่าไปกิน บางครั้งรอดตัวลงน้ำทะเลได้ไม่กี่ตัว
และในทะเลลูกเต่าก็จะเป็นเหยื่อปลาใหญ่ ๆ อีกมาก
เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักราว ๗๕๐ กก. เต่ายักษ์ที่เป็นเต่าบกหนักราว
๒๕๐ กก. เต่าอาจอดน้ำอดอาหารได้เป็นเดือน เต่าตายยากกว่าสัตว์อื่น อาจเป็นเพราะเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น
เต่าบางชนิด ผสมพันธุ์กันครั้งเดียว ตัวเมียวางไข่ที่สามารถฟักเป็นตัวได้ต่อไปถึง
๓ - ๔ ปี หน้า
๘๐๓๖
๒๓๐๕. เต๋า - ลัทธิ
เป็นชื่อศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของจีน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น เตียเต้าเล้งแห่งลัทธิเต๋า
ได้เผยแพร่การลงยันต์และการใช้เวทมนต์คาถา ต่อมาผู้เป็นหลานยังได้ตั้งลัทธิผีสางขึ้นสั่งสอนประชาชน
ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ปักงุ่ย โค้วเดียวจือ ได้ยกย่องเหลาตัน
หรือที่เรียกกันเป็นสามมัญว่า
เหลาจื๊อ
ขึ้นเป็นศาสดา และเตียเต้าเล้งเป็นอัครมหาสาวก ชื่อศาสนาเต๋าจึงเริ่มมีขึ้นในสมัยนี้
ศาสนาเต๋ามีความสำคัญเคียงบ่าเคียงไหล่กับพุทธศาสนามหายานและศาสนาขงจื๊อ ในบางสมัยศาสนาเต๋าได้รับยกย่องให้เป็นรองจากศาสนาขงจื้อ
แต่มีสถานะสูงกว่าพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถัง ศาสนาเต๋าได้รับยกย่องมาก เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศืนี้มีกำเนิดเดิมในสกุลแซ่ลี้
(หลีซีบิ๋น- เพิ่มเติม)
ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับเหลาตัน ผู้เป็นศาสดาของเต๋า
ตำนานบางเล่มกล่าวว่า ศาสนาเต๋าที่แท้จริง มีกำเนิดในสมัยจักรพรรดิ์อั้งตี่
ส่วนเหลาจื้อนั้น ถือกันว่าเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง
ซึ่งประมวลแนวปรัชญาของเต๋าไว้ คัมภีร์ในศาสนาเต๋ามีมากมายประมาณ ๙,๐๐๐ กว่าเล่ม
ตำราแพทย์แผนโบราณของจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของเต๋า คัมภีร์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ
เอียะเกีย ซึ่งบุนอ๋องเป็นผู้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์เซียง และขงจื้อเป็นผู้ทำอรรถาธิบายในกาลต่อมา
สำนักปฎิบัติเต๋ามีอยู่ทั่วไปในประเทศจีน นักพรตในศาสนาเต๋าทั้งชายและหญิง
จะถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และถือมังสวิรัตเป็นนิจศีล จุดหมายปลายทางของศาสนาเต๋า
มีวิวัฒนาการในระยะหลังเป็นการแสวงหาอมตภาพ ผู้ที่สำเร็จจะกลายเป็นเทพยดาหรือเซียน
วิธีที่บรรลุมีสองทางคือ วิธีภายนอก และวิธีภายใน วิธีภายนอกได้แก่การแสวงหาแร่ธาตุต่าง
ๆ มาสกัดเป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนวิธีภายในได้แก่ การปฎิบัติสมาธิรวบรวมพลังงานต่าง
ๆ ภายในร่างกายของตน ให้ได้เอกภาพ
เต๋า มีความหมายได้หลายอย่างที่สำคัญคือ เต๋า หมายถึง หลักการหรือเหตุผล เต๋า
หมายถึง วิธี เต๋า หมายถึง หนทาง เต๋า หมายถึง ศีลธรรม และเต๋า หมายถึง ไท่เก็ก
คือ สัจธรรม หรือสัจภาวะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปล ไม่แบ่งแยก
ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เป็นเพียงปรากฎการณ์ซึ่งเป็นมายาเท่านั้น สัจภาวะไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยประสาทสัมผัส
บุคคลธรรมดาจึงไม่อาจเข้าถึงเต๋าได้
หน้า ๘๐๘๑
๒๓๐๖. เต๋า ๒ หรือ ต๋าว - ต้น
เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง เป็นปาล์มขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๒๐ เมตร ใบมีลักษณะคล้ายขนนกขนาดใหญ่
ยาวถึง ๑๒ เมตร กว้าง ๓ เมตร มีสีเขียวเข้มติดอยู่ตอนบนของลำต้น ก้านใบใหญ่
ดอกเป็นช่อใหญ่ ลักษณะคล้ายดอกมะพร้าว ผลกลมภายในมีเมล็ดนิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาเชื่อม
เรียกว่า ลูกชิด
เส้นใยใช้ทำเชือก น้ำใช้ทำน้ำตาล แป้งที่ได้จากต้นต๋าวใช้ทำสาคู
หน้า ๘๐๘๓
๒๓๐๗. เต่าเกียด
เป็นชื่อพันธุ์ไม้สองชนิด เป็นไม้ล้มลุกหัวอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอมขึ้นเป็นกอ
คล้ายพวกบอน ใบเป็นรูปหัวใจ ก้านใบยาวเป็นกาบ ดอกออกเป็นแท่งกลมยาว มีกาบหุ้มเช่นเดียวกับดอกหน้าวัว
หรือดอกบอน
เต่าเกียด ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ และใช้เป็นสมุนไพร ส่วนที่เป็นยาคือ หัวใช้ปรุงเป็นยาบำรุง
และรักษาโรคเกี่ยวกับตับ และแก้ไขเชื่องซึม
หน้า ๘๐๘๔
๒๓๐๘. เต่าทอง
เป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งมีลำตัวแบนทางด้านล่างโค้งเป็นหลังเต่า ทางด้านบนปีกมีลักษณะใส
เพราะเหตุที่แผ่นปีกใส จึงมองเห็นเม็ดสีของลำตัวได้ชัดเจน เม็ดสีนี้เมื่อสะท้อนแสง
จะเป็นสีเงินสีทอง หรือสีผสมระหว่างเงิน กับสีทอง หรือสีเหลือบอื่น ๆ พวกที่เห็นเป็นสีเงิน
ก็เรียกว่า เต่าเงิน พวกที่วมีสีทองก็เรียกว่า เต่าทอง
ส่วนที่มีสีผสมเงินกับทอง ก็เรียก เต่าเงินเต่าทอง
และเพราะเหตุที่มีปีกแผ่นแข็ง และใสเหมือนแก้ว จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เต่าแก้ว
หน้า ๘๐๘๔
๒๓๐๙. เต่าบ้า
เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง เป็นแมลงมีพิษ เมื่อคนกินเข้าไปจะมีอาการเกร็งชัก
และถึงตาย ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แมงไฟเดือนห้า เพราะสีลำตัวมีสีแดงสลับอยู่คล้ายสีไฟ
เมื่อไปจับตัวสารพิษ ที่ติดตามปีก และลำตัวจะออกฤทธิ์ ทำให้มือพองคล้ายถูกไฟ
หรือน้ำร้อนลวก และเพราะเหตุที่แมงชนิดนี้มีชุกชุมในฤดูแล้งคือ เดือนห้า จึงได้ชื่อดังกล่าว
หน้า ๘๐๘๖
๒๓๑๐. เต่ารั้ง หรือเต่าร้าง
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ พวกปาล์มชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ๆ หรือเป็นกอ
สูง ๕ - ๔๐ เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ๆ คล้ายไม้ไผ่ เนื้อในเป็นเสี้ยน ใส้กลางลำต้นจะอ่อนแล้วค่อย
ๆ แข็ง จนแข็งที่สุดเมื่อใกล้เปลือก ใบจะแผ่เป็นรูปครีบ หรือหางปลาจำนวนมาก
ช่อดอกออกตามง่ามใบเป็นพวงใหญ่ ห้อยย้อยลงมา ยาว ๒๐ ซม. - ๒ เมตร ดอกสีเหลืองอ่อน
ๆ ผลกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแกจัดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถึงแดงคล้ำ
เต่ารั้ง จะมีช่อเริ่มตั้งแต่ปลายต้นลงมา เมื่อออกช่อสุดท้าย ต้นจะหมดอายุตายใบ
หน้า ๘๐๘๘
๒๓๑๑. เตียบ
เป็นตะลุ่มปากกว้าง ที่มีฝาชีปิดสำหรับใส่กับข้าว โดยมากมักใส่กับข้าวถวายพระ
ทำเป็นอย่างชนิดลงรักเกลี้ยง โอก็มี ประดับมุกก็มี ทำด้วยทองเหลืองก็มี
หน้า ๘๐๙๐
๒๓๑๒. เตียวเพชร
เป็นชื่อวานร จำพวกหนึงในเรื่องรามเกียรติ์ โพกผ้าตะบิด แบ่งออกเป็นสองเหล่าคือ
เหล่าขีดขิน และเหล่าชมพูนคร เรียกกบี่ขีดขิน และกบี่ชมพู มีเก้าตัว เป็นชาวขีดขินเจ็ดตัว
ชาวชมพูหนึ่งตัว ไม่ปรากฎว่าเป็นชาวไหนหนึ่งตัว
หน้า ๘๐๙๒
๒๓๑๓. เตียวเสี้ยน
เป็นชื่อนางผู้มีหน้าที่ฟ้อนรำ ขับร้องของอ้องอุ้น ในปลายสมัยราชวงศ์ตั่งฮั่น
ในตอนแรกอ้องอุ้น แกล้งยกเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ แต่ต่อมากลับส่งนางให้ตั๋งโต๊ะ
เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง ลิโป้จึงสังหารตั้งโต๊ะเสีย แล้วชิงนางคืนมาเป็นของตน
แผนการกำจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน จึงบรรลุผลสำเร็จเพราะอาศัยเตียวเสี้ยน
หน้า ๘๐๙๕
๒๓๑๔. เตียวหุย
เป็นเพื่อนร่วมสาบานกับเล่าปี่ และกวนอู ในสมัยสามก๊ก เป็นผู้เก่งกล้าสามารถในการรบมาก
จนได้ชื่อว่า เป็นขุนศึกผู้สามารถสู้รบได้หมื่นคน
เตียวหุย เป็นคนมุทะลุดุดัน เคารพยกย่องสุภาพชนผู้มีคุณธรรม และดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่ำต้อยด้วยธรรม
มิตรภาพของบุคคลทั้งสามถือเป็นแบบฉบับ สำหรับชาวจีนในการคบเพื่อนร่วมสาบาน
ในสมัยต่อมา หน้า
๘๐๙๖
๒๓๑๕. เตียวเหลียง
เป็นชื่อบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในปลายราชวงศ์ถัง ต้นราชวงศ์ฮั่นของจีน เตียวเหลียงได้ฉายาว่า
เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ฮั่น อีกสองคนคือ เซียวฮ้อ และหั่งสิ่ง
บรรพบุรุษของเตียวเหลียงได้เป็นเสนาบดีของรัฐฮั้ง ต่อมารัฐฮั้งถูกรัฐจิ๋นตีแตก
เตียวเหลียงจึงมุ่งมั่นจะแก้แค้นให้รัฐของตน พยายามจะลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้
แต่ไม่สำเร็จ จึงหลบหนีไปศึกษายุทธศาสตร์จากอึ้งเจี๊ยะกง เขาได้รับมอบตำราพิชัยสงครามของเจียงจูแหย
ผู้เป็นกุนซือของพระเจ้าบูอ๋อง แห่งราชวงศ์จิว
ต่อมาเตียวเหลียงได้ช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจปราบศัตรูในแผ่นดินจนหมดสิ้น
ตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองประเทศจีน ในปัจฉิมวัยเขาได้ไปศึกษาลัทธิเต๋า เมื่อสิ้นชีพแล้วกษัตริย์ได้สถาปนาให้เป็นบุ้งเซ้ง
๒๓๑๖. แต้ - ค่า
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร ใบเป็นใบประกอบด้านหนึ่งมี
๒ - ๓ คู่ ใบป้อม ๆ แกมรูปไข่กลับ ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามใบกิ่ง
ผลเป็นฝักป้อมแบน ๆ มีหนามแข็งงองุ้มประปราย ผลอ่อนมีรสฝาดใช้บริโภคได้ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง
เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ แข็งแรงทนทานมาก ใช้ทำเครื่องมือกสิกรรมที่ต้องรับน้ำหนักและความเสียดสีมาก
ๆ ได้ดี หน้า
๘๐๙๘
๒๓๑๗. แตง
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาอ่อนมีมือ มีขนขึ้นคลุมตามลำเถา ใบเป็นรูปฝ่ามือ มีดอกแยกเพศกัน
ผลมีเปลือกเหนียวแข็ง เนื้อในตอนที่หุ้มไส้กลางมีน้ำมากและมีเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อนั้นได้แก่
แตงกวา แตงร้าน แตงไทย แตงหนู และแตงโม
หน้า ๘๐๙๘
๒๓๑๘. แต่งงาน
เป็นคำที่ใช้พูดกันเป็นสามัญในภาคกลาง หมายถึงทำพิธีให้บ่าวสาวอยู่กันเป็นผัวเมียกัน
คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันคือมีเรือน มีครอบครัว
เดิมเรียกพิธีแต่งงานเป็นสองอย่างว่าวิวาหมงคลและอาวาหมงคล ถ้าทำพิธีแต่งงานโดยฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายเรียกว่าอาวาหมงคล
ถ้าฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงเรียกว่าวิวาหมงคล ต่อมาเปลี่ยนใช้ว่างานมงคลสมรส
หน้า ๘๐๙๘
๒๓๑๙. แต้จิ๋ว
เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีอำเภอที่ขึ้นจังหวัดนี้อยู่
๙ อำเภอ จังหวัดแต้จิ๋วเริ่มสถาปนาขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เดิมเรียกว่า
น่ำอ๊วก
มาเจริญรุ่งเรืองสมัยราชวงศ์ถัง
ชาวแต้จิ๋ว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากที่สุด
หน้า ๘๑๐๔
๒๓๒๐. แตน
เป็นแมลงประเภทเดียวกับตัวต่อ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือมีลำตัวยาวตั้งแต่ ๑.๕
ซม.ลงมา การเรียกชื่อต่อและแตนจึงปะปนนกันไป นอกจากนี้การเรียกชื่อของแตนมักอาศัยขนาดของรัง
เช่นแตนที่ทำรังเล็กขนาดกองขี้หมาก็เรียกแตนขี้หมา
แตนที่กำลังขนาดโตขึ้นมาหน่อย หรือขนาดกลางของแตนทั่ว ๆ ไป ก็เรียกว่า แตนกล้า
ถ้าทำรังใหญ่ขนาดลูกมะพร้าวก็เรียกว่า แตนลาม
ซึ่งความจริงแตนลามนั้นอาจจะเป็นต่อหลวงไปแล้วก็ได้ หน้า ๘๑๐๔
๒๓๒๑. แตร
เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ ตอนปลายมักทำบานออกเป็นรูปลำโพง
ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่เสียงที่ต้องการ
แตรบางชนิดใช้สำหรับเป่าให้สัญญาณ เช่นแตรที่ใช้ในการล่าสัตว์ แต่ในเมืองไทย
ถ้าเอ่ยชื่อว่าแตร ก็มักจะหมายถึงแตรที่เป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น
แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยมาแต่โบราณมีอยู่สองชนิดคือ แตรฝรั่งและแตรงอน
แตรทั้งสองชนิดนี้ใช้เป่าร่วมกับ "สังข์" เป็นการผสมวงศ์ชนิดที่เรียกว่า แตรสังข์
หน้า ๘๑๐๖
๒๓๒๒. แตรวง
เป็นชื่อวงดนตรีชนิดหนึ่งที่เราได้มาจากฝรั่งในวระยะหลังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
"โยธวาทิต" แตรวงมีขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่สี่ โดยได้จ้างครูชาวอังกฤษเข้ามาฝึกสอนเพลงฝรั่ง
สำหรับให้ทหารเดินแถวก่อน จนสมัยรัชกาลที่ห้า แตรวงจึงเริ่มเป็นปึกแผ่น
แตรวงใช้บรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงสามชั้น สองชั้น ชั้นเดียว
เพลงเถา เพลงตับ หรือเพลงเกร็ดใด ๆ
โดยปรกติแตรวงย่อมประกอบด้วยเครื่องมือประเภทใหญ่สามประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทก็ประกอบด้วยเครื่องดนตรีเป็นส่วนย่อยอีกหลายชิ้น
แตรวงที่ใช้บรรเลงเพลงไทย ส่วนมากจะใช้เครื่องจังหวะหรือเครื่องกระทบของไทยเข้าประกอบเช่น
กลองแขกคู่ ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นต้น เว้นแต่จะบรรเลงเพลงประเภทออกภาษาต่าง
ๆ จึงจะใช้เครื่องจังหวะเป็นภาษาต่าง ๆ เช่นกลองจีน กลองยาว กลองชาตรี กลองฝรั่ง
ฯลฯ เข้าประกอบให้ฟังออกสำเนียงเป็นภาษาของชาตินั้น ๆ
หน้า ๘๑๑๐
๒๓๒๓. แต้ว
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งเรียกชื่อจำแนกแตกต่างกันออกไปว่าแต้วชนิดนั้น
ๆ เช่น แต้วใบเลื่อม แต้วใบขน แต้วดอกแดง และแต้วดอกขาวเป็นต้น ในเมืองไทยมีอยู่หลายชนิด
ส่วนมากเป็นต้นไม้ขนาดกลาง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกสวยงามชนิดหนึ่ง มีใบอ่อนเป็นสีแดงเข้ม
ดอกสีชมพู หรือสีกุหลาบอ่อน เมื่อเวลาบานจะบายพรูสะพรั่งทั้งต้น บางภาคของไทยเรียกว่า
ติ้ว
หน้า ๘๑๑๗
๒๓๒๔. แต้เอีย
เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดแต้จิ๋ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลซัวเถา ในอำเภอนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลออกทะเลคือแม่น้ำเหลียงกัง
มีภูเขาอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาชื่อเขาเล่งซัว
ในสมัยราชวงศ์ถัง บนเขาลูกนี้เป็นที่พำนักของพระภิกษุนิกายเซ็นรูปหนึ่งชื่อพระโต้เตียง
เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน
หน้า ๘๑๑๗
๒๓๒๕. โตก
มีคำนิยามว่า "ภาชนะมีเชิงสูง สำหรับใช้เป็นสำรับใหญ่กว่าโต๊ะ"
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ตามคำนิยามดังกล่าวทำให้เห็นว่า โต๊ะกับโตกเป็นอย่างเดียวกัน
หน้า ๘๑๑๘
๒๓๒๖. โต๊ะ
เป็นภาชนะรูปคล้ายโตกแต่พื้นตื้น สำหรับวางหรือใส่สิ่งของ ลักษณะนามว่าใบ
หน้า ๘๑๑๙
๒๓๒๗. ไต
เป็นอวัยวะที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ อยู่ทางด้านหลังของช่องท้องใกล้กับกระดูกสันหลัง
มีข้างละหนึ่งลูก รูปร่างคล้ายถั่ว ไตสดมีสีแดงปนน้ำตาล ผิวเรียบและสะท้อนแสง
เนื่องจากมีเนื้อพังผืดบางหุ้มแนบชิดเป็นปลอกไตทั้งสองข้าง มีขนาดไล่เรี่ยกัน
ยาวประมาณ ๑๑ ซม. กว้าง ๕ ซม. หนาประมาณ ๓ ซม. หนักประมาณ ๑๒๐ กรัม
ไตทั้งสองข้างมีความสัมพันธ์กับผนังหลังของลำตัวคล้ายคลึงกัน ไตข้างขวาสัมพันธ์กับตับ
ที่ปลายล่างมีลำใส้ใหญ่ ส่วนที่โค้งงอขวา เข้ามาอยู่ชิด ไตซ้ายต่ำจากบริเวณที่ชิดกับต่อหมวกไต
มีกระเพาะอาหารอยู่ทางใกล้กลาง ถัดไปทางใกล้ริมเป็นม้าม ต่ำลงมามีส่วนตัวของตับอ่อน
ทอดผ่านกลางไต
เนื้อไตเกือบทั้งหมด ประกอบขึ้นเป็นรูปกรวยหลายอัน
หลอดไต
ในการทำหน้าที่ ไตมีส่วนที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ เรียงกันอยู่เป็นหลอดยาวมีจำนวนมากมาย
หลอดไตแต่ละหลอดมีแนวทางที่ทอดอยู่ค่อนข้างสับสน หลอดรวมปัสสาวะหลอดหนึ่ง
ๆ จะรับหลอดไตหลายอัน แล้ทอดเป็นแนวตรง สุดท้ายหลอดรวมน้ำปัสสาวะหลายหลอด
จะรวมกันเป็นหลอดน้ำปัสสาวะออก
ไต มีหน้าที่สำคัญคือ ทำหน้าที่แยกยูเรีย และวัตถุที่เหลือจาก เบตาโบลิสซัมของโปรตีนออกจากเลือด
และยังมีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมจำนวนน้ำที่ขับออกมา เป็นส่วนน้ำของปัสสาวะ
ทำให้น้ำในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนั้นยังควบคุมจำนวนและชนิดของอิเลกไตรไลต์ส
ที่ขับออกทางปัสสาวะด้วย มีผลทำให้พลาสมาของเลือดมีส่วนประกอบ อยู่ในอัตราปรกติ
ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปทำให้ส่วนประกอบของ ของเหลวงที่อยู่นอกเซลล์ ซึ่งหล่อเลี้ยงเซลล์
และเนื้อเยื่อเป็นปรกติด้วย หน้า
๘๑๒๐
๒๓๒๘. ไต้
เป็นสิ่งที่ทำจากไม้ผุ คลุกับน้ำมันยาง แล้วห่อด้วยใบเตย กาบหมาก หรือเปลือกเสม็ด
เป็นต้น แล้วมัดเป็นเปลาะ ๆ มีขนาดสั้น หรือยาว ตามที่ต้องการ เรียกกันว่า
ลูกไต้
การใช้ไต้ เห็นจะเป็นขึ้นต้นของการใช้ไฟเป็นเครื่องส่องสว่าง การใช้ไต้คงจะมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์
และมีทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้
หน้า ๘๑๔๘
๒๓๒๙. ไตเซิน - ขบถ
คือ ขบถที่เกิดขึ้นในประเทศญวน ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๔๕
ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ราชวงศ์เล
เป็นผู้ปกครองประเทศญวน แต่อำนาจการปกครองแท้จริง อยู่ในกำมือของราชวงศ์มัก
ตระกูลตรินห์ และตระกูลเหงียน
ขณะนั้นดินแดนประเทศญวนทั้งหมด แบ่งออกเป็นสามภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
ราชวงศ์มัก ปกครองอยู่ที่ตังเกี๋ย ในภาคเหนือ มีฮานอยเป็นเมืองหลวง
ตระกูลตรินห์ อยู่ครองภาคกลางในฐานะอุปราชแห่งราชวงศ์เล ประกอบด้วยเขตตันหัว
เวอาน และฮาติน มีเมืองไตโดเป็นเมืองหลวง
ภาคใต้อยู่ในอำนาจของตระกูลเหงียน มีกวางตรี เป็นศูนย์กลาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕
ตระกูลตรินห์ยึดอำนาจราชวงศ์มักได้ จึงย้ายเมืองหลวงพร้อมด้วยที่ประทับของกษัตริย์แห่งราชวงศ์เล
จากเมืองไตโดไปยังฮานอย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตระกูลตรินห์และตระกูลเหงียน ก็ได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันตลอดมา
คนสำคัญในตระกูลตรินห์ ยังคงดำรงตำแหน่งอุปราชต่อมา บางสมัยก็ปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง
และวิวาทชิงอำนาจกันเอง ส่วนทางภาคใต้ตระกูลเหงียน สนใจขยายอาณาเขตลงทางใต้
โดยรุกรานอาณาจักรจามปา จนถึงพื้นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๑๖ สามพี่น้องแห่งตระกูลเหงียนได้ก่อขบถขึ้น ที่ตำบลไตเซิน
มีวัตถุประสงค์ที่จะยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ทางภาคใต้
และเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ปกครองประเทศญวนทั้งประเทศ แทนจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์เล
และแทนตระกูลตรินห์ เหงียนวันงัก หนึ่งในสามพี่น้องตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ
องไตเซิน
เจ้าเมืองกุยเยิน ป็นหัวหน้าของการขบถครั้งนี้
ในปี พ.ศ.๒๓๒๐ พวกขบถไตเซิน ยึดเมืองไซ่ง่อนได้ และปลงพระชนม์เจ้าแห่งราชวงศ์เหงียนสามองค์
แต่เจ้าชายเหงียนฟกอัน หรือองเชียงสือ
หนีไปได้ ระหว่างนั้นขบถไตเซิน ยึดอำนาจการปกครองในญวนได้เกือบหมด ยกเว้นดินแดนแถบเมืองเว้
องไตเซินประกาศตั้งตนเป็นจักรพรรด์
ต่อมาพวกขบถไตเซิน ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากไซ่ง่อน องเชียงสือจึงกลับไปยึดไซ่ง่อนได้
แต่แล้วพวกขบถไตเซินก็กลับมายึดไซ่ง่อนได้อีก เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปสองครั้ง
ครั้งหลังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ องเชียงสือได้ขอความช่วยเหลือจากไทยและฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ ขบถไตเซินยึดเมืองเว้ได้ แล้วรุกเลยไปยึดฮานอยได้ หลังจากนั้นสามพี่น้องขบถไตเซิน
ก็วางโครงการที่จะแบ่งแยกจักรวรรดิ์ญวนออกเป็นสามส่วน โดยให้วันเว ครองตังเกี๋ย
วันวัก ครองภาคกลางมีเมืองเว้ เป็นนครหลวง และให้วันลู ครองภาคใต้ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เล
ต้องเสด็จหนีไปเมืองจีน
ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ องเชียงสือ เขียนพระราชสาสน์ถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ เพื่อกลับไปชิงดินแดนคืนจากพวกขบถ และสามารถปราบขบถไตเซินได้ในปี พ.ศ.๒๓๓๑
ด้วยความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส หลังจากยึดเมืองเว้และฮานอยได้ ในปี พ.ศ.๒๓๔๕
แล้ว องเชียงสือก็ประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิ์เวียดนามยาลอง
หน้า ๘๑๕๐
๒๓๓๐. ไตปิง
เป็นเมืองสำคัญในรัฐเประ อันเป็นรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐเประ
หน้า ๘๑๕๖
๒๓๓๑. ไต้เผ็ง
เป็นชื่ออาณาจักรที่กลุ่มขบถในประเทศจีน ตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๔๑๗
ผู้นำในการขบถได้แก่ อั่งซิ่วช้วง เขาเป็นชาวอำเภอฮวย ในมณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๕๕ มีความสนใจในประวัติศาสตร์อย่างมาก ต่อมาได้ไปสมัครเป็นสมาชิกสมาคมเสี่ยงตี้หวย
(สมาคมพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสมาคมลับทางการเมือง ที่อาศัยศาสนาคริสต์
เป็นเครื่องบังหน้า เมื่อหัวหน้าคนเก่าสิ้นชีวิตลง
อั่งซิ่วช้วง ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทน และตั้งตนเป็นศาสดา มีสำนักอยู่บนภูเขาผ่งฮ่วยซัว
ระหว่างอำเภอกุ้ยเพ้ง กับอำเภอบูชวง ในมณฑลกวางสี มีผู้เข้าร่วมสมาคมมากขึ้นตามลำดับ
เขาอ้างว่าพระเยซูเป็นพระบุตรองค์โตของพระเจ้า ส่วนตนเองเป็นบุตรคนรอง และได้แต่งบทสวดขึ้น
ถ่ายทอดในหมู่ศิษย์ และสมัครพรรคพวกอย่างลับ ๆ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๓ อั่งซิ่ว ได้ก่อขบถขึ้น ณ หมู่บ้านกิมชั้ง ในอำเภอกุ้ยเพ้ง
พวกขบถตีได้จังหวัดยงอัง ในมณฑลกวางสี แล้วสถาปนาอาณาจักรของตนเป็น "ไต้เผ็งเทียงกก"
แล้วยกทัพขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตีได้มณฑลโอ่วนั้ม (หูหนัน) โอ่วปัก
(หูเป่ย) อังฮุย (อันฮุย) กังโซว (เจียนโซว) ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง
ให้เปลี่ยนปฏิทินเป็นแบบสุริยคติ เปลี่ยนแปลงแบบการแต่งกายให้ไว้ผมยาวตลอดศีรษะแทนการไว้ผมเปียแบบแมนจู
ส่งเสริมการศึกษาแบบใหม่ ให้การศึกษาแก่สตรี เลิกประเพณีวัดเท้าของสตรี เลิกระบบโสเภณี
ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ
กองทัพไต้เผ็งเทียงกก มีชัยชนะเหนือ ๖๐๐ กว่าเมืองใน ๑๖ มณฑล ต่อมาเกิดแก่งแย่งอำนาจถึงขั้นฆ่าฟันกันเอง
ทางรัฐบาลแห่งราชวงศ์เช็งได้ยกทัพมาปราบปรามนานกิง ถูกตีในปี พ.ศ.๒๔๑๗
หน้า ๘๑๕๖
๒๓๓๒. ไต้ฝุ่น
หมายถึงพายุ เรียกพายุไต้ฝุ่นคือ พายุหมุนในโซนร้อนที่มีความรุนแรงที่สุดประเภทหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก
มีถิ่นกำเนิดในโซนร้อนแถบเส้นรุ้งต่ำ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางด้านตะวันตก
และในทะเลจีนใต้เป็นพายุที่มีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐๐ - ๑,๖๐๐
กม.หรือมากกว่านั้น พายุไต้ฝุ่นจะเกิดขึ้นพร้อมกับลมแรงและลมจะพัดทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ
ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า
๓๐๐ กม.ต่อชั่วโมง มีลักษณะอากาศร้ายติดตามมาด้วยเช่นมีฝนตกหนักกว่าปรกติ
บางครั้งมีฟ้าคะนองรวมอยู่ด้วย
โดยปรกติพายุใต้ฝุ่นจะเกิดมากที่สุดในช่วงระะหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม
พายุหมุนชนิดเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่มีชื่อเรียกไปต่างกันเช่น
ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก
เรียกชื่อว่า พายุ "เฮอริเคน"
ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอล และทะเลอาเรเบีย ในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่าพายุ "ไซโคลน"
ถ้าเกิดในบริเวณทวีปออสเตรเลียเรียกว่าพายุ วิลลี่
วิลลี่
ตามข้อตกลงนานาชาติในเรื่องพายุ พายุหมุน หรือพายุไซโคลน ในโซนร้อนได้จัดแบ่งปประเภทและเรียกชื่อตามความรุนแรงแต่ละประเภทคือ
พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงถึง ๖๓ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุดีเปรสชันโซนร้อน
พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางคั้งแต่ ๖๔ - ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า
พายุโซนร้อน
และพายุที่มีความเร็วลมตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุใต้ฝุ่น หรือพายุเฮอริเคน
หน้า ๘๑๕๙
๒๓๓๓. ไตรดายุค
เป็นชื่อยุคหนึ่งในสี่ยุคตามคติของพราหมณ์ (ดูจตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๖๒
ตอนว่าด้วยไตรดายุค) หน้า
๘๑๖๔
๒๓๓๔. ไตรตรึงษ์
เป็นชื่อเมืองตั้งอยู่ใน อ.เมืองกำแพงเพชร (ดูตรัยตรึงศ์ ๑ - ลำดับที่ ๒๐๗๔)
และชื่อสวรรค์ชั้นที่สอง แห่งสวรรค์หกชั้นที่พระอินทร์ครอง ดาวดึงส์ก็เรียก
(ดูดาวดึงส์ - ลำดับที่ ๑๙๘๑)
หน้า
๘๑๖๔
๒๓๓๕. ไตรทวาร
แปลว่าทวารสามคือกายเรียกกายทวาร วาจาเรียกวจีทวาร และใจเรียกมโนทวาร เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง
ซึ่งกล่าวถึงทางประพฤติของคน อันเป็นผลว่าจะเป็นผลดี หรือชั่วรู้ได้ในทวารสามนี้
พอสรุปได้ว่าคนจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ การพูด การคิด นี้ว่าเป็นกรรม ถ้าทำดี
พูดดี คิดดี เรียกว่ากุศลกรรม ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม
เรียกเป็นความประพฤติว่า สุจริต ทุจริต
กำหนดข้อปฏิบัติที่เรียกว่า กรรมบทไว้ ๑๐ ข้อ ทั้งข้างดีข้างชั่ว ถ้าเป็นฝ่ายดีเรียกกุศลกรรมบท
ถ้าเป็นฝ่ายข้างชั่วเรียกอกุศลกรรมบท
หน้า ๘๑๖๔
๒๓๓๖. ไตรทศ เทวดา ๓๓ องค์
ไม่แยกว่าใครเป็นใคร ตรีทศก็เรียก (ดูตรีทศ - ลำดับที่ ๒๐๙๓, ๒๐๙๔ ประกอบ)
หน้า ๘๑๖๕
๒๓๓๗. ไตรปิฏก
คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีสามหมวด หมวดหนึ่ง ๆ เรียกว่าปิฏก หนึ่งคือ
พระวินัยเรียกวินัยปิฏก พระสูตรเรียกสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมเรียกอภิธรรมปิฏก
คำว่าไตรปิฏก มีปรากฎในคราวสังคยนา แสดงถึงการแบ่งพระพุทธพจน์ออกเป็นสามหมวด
แต่ก่อนนั้นคือในสมัยพุทธกาล ไม่ได้ใช้คำนี้หมายถึงพุทธพจน์ ท่านใช้คำรวมว่าปาพจน์บ้าง
ธรรมวินัยบ้าง โอวาทปาติโมกข์บ้าง อริยวินัยบ้าง นอกจากชื่อรวมอย่างนี้ก็ยังมีชื่อแยกระบุคัมภีร์เรียกรวมว่าองค์เช่น
นวังคสัตถุศาสน์ พระพุทธพจน์มีองค์เก้า
พระไตรปิฎกนี้ลึกเป็นคัมภีรภาพคือ ลึกโดยธรรม คือพระพุทธพจน์ ลึกโดยอรรถคือเนื้อความของพระบาลี
ลึกโดยเทศนาคือ พระพุทธองค์ทรงกำหนดด้วยพระทัย ลึกโดยปฏิเวธคือ ผู้มีปัญญาสามารถเข้าใจความหมายได้
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ
บริสุทธิ์ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษาบริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ
บริสุทธิ์ทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษา บริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฎกเริ่มด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสป เป็นประธาน
รวมรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นพระวินัยส่วนหนึ่ง พระสูตรส่วนหนึ่ง
พระอภิธรรมส่วนหนึ่ง ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้สามเดือน โดยได้ประชุมทำกันที่เมืองราชคฤห์
นครหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าอชาติศัตรู
ราชาธิราชแห่งแคว้นนั้น ทรงรับเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พระเถรานุเถระได้เล่าเรียนสั่งสอนนำสืบ
ๆ กันมาถึงพุทธศตวรรษที่ห้า พระเถรานุเถระพร้อมด้วยชาวพุทธตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน
และประชาชนได้ร่วมกันจัดการจารึกพระไตรปิฎก ลงเป็นอักษรครั้งแรกต่อจากนั้น
ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ช่วยกันคัดลอก และชำระสะสาง สอบทานกันมาเป็นคราว
ๆ จนมาถึงเมืองไทย สมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กับสมัยที่อาณาจักรล้านนายังเป็นอิสระอยู่
ก็ได้รับคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาคัดลอกสอบทานกัน
หน้า ๘๑๖๕
๒๓๓๘. ไตรเพท
คือความรู้สามอย่างมีรากคำมาจากภาษาบาลีว่า "เวท" แปลว่า ความรู้ คือ ความรู้เรื่องพิธีกรรมที่ช่วยคนให้ได้รับความสงเคราะห์จากเทวดา
เรียกอีกนัยหนึ่งว่า คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพท ได้แก่
๑. ฤคเวท
เป็นคำฉันท์อ้อนวอน และสรรเสริญพระเจ้าต่าง ๆ
๒. ยัชุรเวท
เป็นคำร้อยแก้วซึ่งว่าด้วยพิธีทำพลีกรรม และบวงสรวง
๓. สามเวท
เป็นคำฉันท์สวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และขับกล่อมเทพเจ้า
คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพทนี้ เป็นชื่อแสดงลัทธิไสยศาสตร์ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์
หน้า ๘๑๖๙
๒๓๓๙. ไตรภูมิ - เรื่อง
มีอยู่หลายฉบับ แต่ฉบับที่รู้จักกันทั่วไปเรียกชื่อเต็มว่า ไตรภูมิพระร่วง
คำว่า ไตรภูมิ แปลว่า ภาพสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ตามไสยศาสตร์ว่า สวรรค์
มนุษย์ บาดาล ในเรื่องไตรภูมิ หมายถึง แดนสามคือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
หนังสือไตรภูมิฉบับนี้เป็นของพระยาลิไทย แห่งกรุงศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทรงคัดความจากคัมภีร์ต่าง
ๆในพระไตรปิฎก
หนังสือไตรภูมิ ต่อจากฉบับพระร่วงลงมา มีหนังสือไตรภูมิครั้งกรุงธนบุรีฉบับหนึ่ง
กับไตรภูมิเชียงใหม่ฉบับหนึ่ง แต่เขียนเป็นรูปภาพเต็มทั้งเล่ม ต่อนั้นจึงถึงไตรภูมิแต่งในรัชกาลที่หนึ่งเรียกว่า
"ไตรภูมิโลกสัณฐาน"
เรื่องหนึ่ง แล้วย่อลงมาเรียก "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย"
อีกเรื่องหนึ่ง
หนังสือเรื่องไตรภูมิ ตามเค้าเรื่องกล่าวถึงเรื่องกำเนิดของสัตว์ ยักษ์ มาร
มนุษย์ เทวดา พรหม และเรื่องกำเนิดของสากลจักรวาลว่า มีเป็นขึ้นได้อย่างไร
ถ้าว่าทางวรรณคดี นอกจากจำพวกศิลาจารึกแล้ว ไตรภูมิฉบับนี้เป็นหนังสือไทยเรื่องแรก
ซึ่งเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน หน้า
๘๑๗๒
๒๓๔๐. ไตรรงค์
เป็นชื่อธงชาติไทยปัจจุบัน ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) ประเทศไทยใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประเทศไทยได้ช้างเผือกสามเชือก
มาประดับพระบารมีคือ จากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ จากเมืองเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ และจากเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ เนื่องแต่เหตุที่ได้ช้างเผือกสามช้าง
ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายยังนานาประเทศ โปรด ฯ ให้ทำรูปช้างอยู่กลางวงจักร
ติดในธงสำหรับชาติไทยแต่นั้นมา
ธงช้าง ซึ่งมีรูปช้างสีขาวบนผ้าสีแดง ได้ใช้เป็นธงชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐
ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีการแก้ไขลักษณะของช้าง เช่น พ.ร.บ.ธง ร.ศ.๑๒๙ กล่าวว่า
"ธงราชการสีแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักที่เรือหลวงทั้งปวง
กับชักที่บรรดาสถานที่ราชการต่าง ๆ" เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง
เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
ฯ ทรงพระราชดำริว่า ธงชาติยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ธงไตรรงค์
เป็นธงชาติไทยแทน
พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ธง พ.ศ.๒๔๖๐ ระบุลักษณะของธงไตรรงค์ไว้ดังต่อไปนี้
"ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี
มีขนาดกว้างสองส่วน ยาวสามส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งสามของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง
มีแถบขาวกว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งหกของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาว
ประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์
สำหรับใช้ชักใบเรือ พ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เป็นชาติสยามทั่วไป
ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น
ให้เลิกเสีย" หน้า
๘๑๗๔
๒๓๔๑. ไตรรัตน์
คือแก้วสามประการ หมายความถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนี่งว่า
รัตนตรัย
ในพระพุทธศาสนายกของสามสิ่งคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี้ขึ้นเป็นสำคัญ
บรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีบรรพชา หรืออุปสมบท
หรือพิธีแสดงตนเป็นอุบาสก หรืออุบาสิกา จะต้องเปล่งวาจาประกาศตนว่า ถึงของสามอย่างนั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกก่อน
หน้า ๘๑๗๗
๒๓๔๒. ไตรลักษณ์
คือ ลักษณะสามประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สามัญลักษณะ
แปลว่า ลักษณะที่เสมอกันของสังขารทั้งปวง เรียกเป็นการเฉพาะว่า อนิจตา ทุกขตา
และอนัตตา
ไตรลักษณ์ ดังกล่าวมา คนสามัญมักมองไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะมีสิ่งปิดบังปัญญามิให้มองเห็น
สิ่งปิดกั้นนั้นคือ
๑. สันตติ
คือ ความสืบต่อปิดบังอนิจตา ไม่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
๒. อิริยาบถ คือ
การยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวต่าง ๆ ปิดบังทุกข์ไว้
๓. ฆนะ
คือ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนปิดบัง อนัตตา ไม่ให้เห็นความไม่มีตัวตน
เมื่อใช้ปัญญา พิจารณาก่อน สันตติ อิริยาบท และฆนะ เสียได้ จึงเห็นความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ที่รวมเรียกว่า ไตรลักษณ์
หน้า ๘๑๘๐
๒๓๔๓. ไตรวัฎ วัฎสาม
คือกิเลสวัฎ กรรมวัฎ คำว่า วัฎ แปลว่า วน หมายเอาความเวียนเกิดด้วยอำนาจกิเลส
กรรม และวิบาก หมุนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดคือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม
ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้วิบาก (ผล) แห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก
วนกันไป จึงเรียกสภาพสามอย่างนี้รวมกันว่า ไตรวัฎ
หน้า ๘๑๘๕
๒๓๔๔. ไตรวิชชา
หมายถึง วิชชาสาม คือ วิชชาระลึกชาติแต่หนหลังได้ เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ
วิชชารู้ความตาย ความเกิดของสัตว์เรียกว่า จุตุปปาตญาณ วิชชารู้ทางทำให้สิ้นกิเลส
เรียกว่า อาสวักขยญาณ
บุพเพนิวาสานุสติญาณ
คือ ญาณระลึกชาติถอยหลังเข้าไปได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติ สองชาติ จนถึงหลาย ๆ กัลป์ว่า
ชาติที่เท่านั้นมีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณมีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ
มีอายุเท่านั้น จุติจากนั้นแล้วได้เกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น
ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้
จุตุปปาตญาณ
คือ ญาณมีจักษุทิพย์บริสุทธิ์ ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ที่กำลังจุติก็มี
กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี มีผิวพรรณงามก็มี มีผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี
ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามกรรม
อาสวักขยญาณ
คือ ญาณรู้ชัดตามจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางไปถึงความดับอาสวะ
เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว
พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียกิจได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก
|