ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น พม่า ฟิลิปปินส์   มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย


 


ประเทศพม่า

            ประเทศพม่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ระหว่างที่ราบสูงธิเบต และคาบสมุทรมาเลเซีย อยู่ทางทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้ง ๑๐ องศาเหนือ ถึง ๒๘ องศา ๓๐ ลิบดาเหนือ และระหว่างเส้นแวง ๙๒ องศา ๓๐ ลิบดาตะวันออก  มีพื้นที่ประมาณ ๖๗๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความยาวจากเหนือสุดถึงใต้สุด ประมาณ ๒,๐๙๐ กิโลเมตร ส่วนกว้างสุดจากรัฐฉานทางด้านตะวันออก ถึงรัฐชินทางด้านตะวันตก ประมาณ ๑,๑๒๐ กิโลเมตร ส่วนแคบสุดอยู่บริเวณเมืองเย้ กับด่านเจดีย์สามองค์ของไทย กว้างประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
            ประเทศพม่ามีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
                ทิศเหนือติดต่อกับประเทศธิเบต และประเทศจีน
                ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศจีน ประเทศลาวและประเทศไทย
                ทิศใต้จดทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล
                ทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอล และประเทศบังคลาเทศ
            มีเส้นพรมแดนยาวประมาณ ๗,๑๐๐ กิโลเมตร เป็นเส้นพรมแดนทางบกยาวประมาณ ๔,๖๕๐ กิโลเมตร เส้นพรมแดนทางทะเล ยาวประมาณ ๒,๔๕๐ กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ


            ภูมิประเทศเป็นป่าประมาณร้อยละ ๕๕ ของพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือเป็นภูเขา และที่ราบใช้ทำการเพาะปลูก ได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ทั้งหมด  พื้นที่ภูเขาอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก  ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี พื้นที่ทางตอนใต้และตะวันตก เป็นฝั่งทะเลยาวไปตามแนวอ่าวเบงกอล เริ่มตั้งแต่วิคตอเรียพอยท์ ไปจนถึงพรมแดนที่ติดต่อกับบังคลาเทศ พื้นที่ทางใต้สุดของประเทศ เป็นแผ่นดินแคบระหว่างทะเล กับทิวเขาตะนาวศรี ส่วนพื้นที่อีกสามด้านคือด้านตะวันตกเหนือ และตะวันออกล้อมรอบด้วยภูเขา
            ที่ราบของประเทศแบ่งออกได้เป็นสี่ตอนคือ
                พื้นที่ราบสูงในรัฐฉาน  รัฐฉานมีพื้นที่ประมาณ ๑๕๖,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ตั้งของเมืองตองยี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน และเมืองลาเฉียว อยู่ตอนเหนือสุดของประเทศ เป็นทางเชื่อมระหว่างประเทศพม่ากับมณฑลยูนานของจีน
                พื้นที่ราบตามเทือกเขาตะนาวศรี  อยู่ระหว่างเทือกเขาตะนาวศรีกับฝั่งทะเล เริ่มตั้งแต่ปากแม่น้ำสาละวินลงไปทางใต้ จนถึงวิคตอเรียพอยท์ ขนานไปกับฝั่งทะเล เทือกเขาตะนาวศรี เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า มีความยาวประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ตามริมฝั่งทะเลเต็มไปด้วยภูเขา และป่าทึบ
                พื้นที่ราบภาคกลาง  เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี มีพื้นที่กว้างขวางประมาณ ๔๓๖,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แบ่งออกได้เป็นสี่เขตคือ
                    เขตตอนเหนือของเขาพะโค  เป็นที่ตั้งของเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า สภาพโดยทั่วไปแห้งแล้ง มีการชลประทานมาช่วยจึงทำให้สามารถเพาะปลูกได้ดี
                    เขตตะวันตกเมืองพะโค  เป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุด สามารถผลิตข้าวส่งออกประมาณร้อยละ ๕๐ ของปริมาณข้าวที่ส่งออกทั้งหมด การคมนาคมใช้เส้นทางเรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะทางบกไม่สะดวก
                    เขตลุ่มแม่น้ำสะโตง  พื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีประชากรอยู่หนาแน่น เป็นที่ตั้งของเมืองตองอูและพะโค (หงสาวดี) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าทั้งสองเมือง
                พื้นที่ตามเทือกเขาอารกัน  เทือกเขาอารกันทอดจากเหนือไปใต้ เป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างอินเดียกับพม่า มีช่องเขาลิโดเป็นทางผ่านไปสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย ทางใต้เทือกเขาอารกันเป็นทิวเขายะไข่ ทางด้านทิศตะวันตกของเชิงเขาเป็นป่าไม้ทึบ ทางด้านตะวันออกเป็นป่าไม้สัก
                ทางด้านตะวันตกของภูเขาจดอ่าวเบงกอล เป็นพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขา เป็นพื้นที่แคบ ๆ มีแม่น้ำอยู่ประมาณ ๑๒๐ สาย ไหลผ่านอัคยัพของพม่า ไปสู่แม่น้ำจิตกองของบังคลาเทศ การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ ประชากรที่อยู่บริเวณนี้เป็นชาวเขา
            แม่น้ำ  มีแม่น้ำที่สำคัญอยู่หลายสายคือ


                แม่น้ำอิรวดี  เป็นแม่น้ำสำคัญที่สุดของพม่า มีความยาวประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร ไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือลงใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน   ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาที่มีหิมะปกคลุมอยู่  เมื่อถึงฤดูร้อน หิมะละลาย ก็มักจะมีน้ำไหลหลากมาก่อนฤดูฝนของทุกปี ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการกสิกรรม และการคมนาคมทางน้ำอย่างมาก แม่น้ำอิรวดีเกิดจากการรวมกันของแม่น้ำมาลี และแม่น้ำมาย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ บริเวณเหนือเมืองมัตจินา  แล้วไหลมายังเมืองพะโค เป็นตอนที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก แต่ยังพอใช้เดินเรือได้ จากเมืองพะโคถึงเมืองคาธา แม่น้ำเปลี่ยนแนวไหลไปทางทิศตะวันตก ผ่านช่องเขาแล้ววก
กลับมาผ่านที่ราบคาธา จากเมืองคาธาถึงเมืองพุกามจะไหลผ่านช่องเขาออกมาสู่ทุ่งราบตอนกลางของประเทศ จากเมืองพุกามถึงเมืองแปร ไหลผ่านที่ราบเป็นตอน ๆ และไหลสู่ที่ราบก่อนถึงเมืองแปร จากเมืองแปรถึงปากน้ำจะไหลผ่านทุ่งราบกว้างใหญ่ เรียกว่า บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี มีความยาวประมาณ ๒๙๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร
                แม่น้ำซินด์วิน  เป็นสาขาของแม่น้ำอิรวดี ใช้ประโยชน์ในการเดินเรือ
                แม่น้ำสาละวิน  มีต้นกำเนิดในประเทศธิเบตแล้วไหลผ่านรัฐฉานและรัฐคะยาห์ บางช่วงของแม่น้ำสาละวิน เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับไทย แม่น้ำสาละวินอยู่ในเขตแดนพม่าประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร
                แม่น้ำสะโตง  อยู่ระหว่างแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำสาละวิน มีประโยชน์ในการกสิกรรมและล่องซุง
                แม่น้ำย่างกุ้ง  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาพะโค อยู่ระหว่างแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง ไหลผ่านเมืองย่างกุ้ง มีลำคลองเชื่อมกับแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำสะโตง ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ระหว่างแม่น้ำอยู่หลายคลอง
ช่องทางที่ติดต่อกับประเทศข้างเคียง
            ช่องทางที่ติดต่อกับประเทศจีน  มีช่องทางที่สำคัญอยู่หกช่องทางด้วยกัน ติดต่อกับมณฑลยูนานของจีน
                ช่องทางเมืองมิตจินา  ติดต่อกับเมืองเติงซงของจีน มีถนนตัดผ่าน
                ช่องทางเมืองวันติง  ติดต่อกับเมืองลุงลิ่วของจีน มีถนนตัดผ่าน
                ช่องทางเมืองอิซุราชิ  เป็นช่องเขาอยู่ทางเหนือของรัฐคะฉิ่น
                ช่องทางบิมอว์  เป็นช่องเขาอยู่ในรัฐคะฉิ่น ติดต่อกับหมู่บ้านบิมอร์กอลัมของจีน เป็นช่องที่เข้าสู่ภาคเหนือของพม่า ได้สะดวกที่สุด
                ช่องทางเมืองลา  อยู่ในรัฐไทยใหญ่ (รัญฉาน) มีเส้นทางติดต่อกับเมืองท่าล้อของจีน มีถนนตัดจากเมืองคุนมิง ถึงเมืองเชียงตุงในรัฐไทยใหญ่
            ช่องทางที่ติดต่อกับประเทศไทย
                จังหวัดเชียงราย  ได้แก่ ช่องทางท่าขี้เหล็ก ในเขตรัฐฉานของพม่า กับอำเภอแม่สายของไทย
                จังหวัดเชียงใหม่  มีอยู่ ๗ ช่องทางคือ ช่องทางแม่อาย ช่องทางแม่อาย ม่อนปืน แม่งอน ปุงดำ แม่ลาว เมืองแหง หนองหมู่ฮ่อของไทย ติดต่อกับรัฐฉานตอนใต้ของพม่า
                จังหวัดแม่ฮ่องสอน  มีอยู่ ๑๓ ช่องทาง คือ ช่องทางปางมะผ้า หมอกจำแป ผาปอง ห้วยโปง แม่ยอม แม่คง แม่ลานชัย เมืองปอน ห้วยปา ขุนยวม แม่สาหลวง แม่นาเติง และเวียงเหนือ ติดต่อกับรัฐคะยาห์ของพม่า
                จังหวัดตาก  มีอยู่ ๑๓ ช่องทางคือ ช่องทางบ้านช่องแคบ แม่กุ แม่ดาว ท่าสายลวด แม่กาสา แม่จะเรา แม่ระมาด คะเนจื๊อ แม่จัน แหล่งหลวง โกโกร แม่ต้าน ท่าสองยาง ติดต่อกับรัฐกะเหรี่ยงของพม่า
                จังหวัดกาญจนบุรี  มี ๘ ช่องทางด้วยกันคือ ช่องทางจรเข้เผือกสิงห์ ลุ่มสุม ปิล๊อก ท่าขนุน หอนดาด ลิ่นถิ่น หนองลู และโลโว่ ติดต่อกับภาคตะนาวศรีของพม่า
                จังหวัดราชบุรี  มีช่องทางสวนผึ้ง ในเขตอำเภอสวนผึ้งของไทย ติดต่อกับภาคตะนาวศรีของพม่า
                จังหวัดเพชรบุรี  มีอยู่สองช่องทางคือ ช่องทางบางน้ำกลัด และช่องทางสองพี่น้อง ติดต่อกับภาคตะนาวศรีของพม่า
                จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีอยู่ ๑๕ ช่องทางคือ ช่องทางหินเหล็กไฟ เขาน้อย สังกระทาย กุยบุรี อ่าวน้อย เกาะหลัก คลองวาฬ พงษ์ประสาท ห้วยยาง ทับสะแก อ่างทอง ธงชัย ร่อนตอง ปากแพรก และทรายทอง ติดต่อกับภาคตะนาวศรีของพม่า
                จังหวัดชุมพร  มีอยู่ ๕ ช่องทางคือ ช่องทางรับร่อ สลุย ปากจั่น มะมุ น้ำจืดน้อย น้ำจืดใหญ่ ลำเลียง บางแก้ว ทรายทอง ปากน้ำ หงาว ราชกรูด ม่วงกลาง นาคา และกำพวน ติดต่อกับภาคตะนาวศรีของพม่า
ประชากร
            ประชากรของพม่าประกอบด้วยชนหลายเผ่า หลายกลุ่ม แต่ละพวกแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี มีชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย แยกกันอยู่ตามป่าเขาอีกมากมาย
            ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคือ ประมาณสามในสี่ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวพม่าแท้
            ชาวพม่าแท้เป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของประเทศ มีสิทธิมีเสียงในการบริหารประเทศเหนือกว่าชนเผ่าอื่น ๆ แม้รัฐธรรมนูญของพม่า จะระบุว่าประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่แยกเชื้อชาติศาสนา เพศและเผ่า ทั้งหมดถือว่าเป็นพลเมืองของชาติเดียวกัน  แต่ในทางปฏิบัติ ชาวพม่าแท้มีสิทธิเหนือเผ่าอื่น ๆ เพราะเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ
                ชาวพม่าแท้  อพยพมาจากธิเบต เป็นชนเผ่ามองโกล อพยพมาตามลุ่มน้ำพรหมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัม และตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนกลาง กลายเป็นชาวพม่าในปัจจุบัน
                กะเหรี่ยง  อพยพมาจากทะเลทรายโกบีทางตอนเหนือของประเทศจีน ลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า แถบบริเวณตะนาวศรี พะโค พะสิม สาละวิน และตองอู ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง และรัฐคะยา  ข้อมูลอีกทางหนึ่งสรุปว่าชาวกะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากชนชาติโจวซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของจีน ถูกรุกรานจากพวกไทยใหญ่ จึงอพยพมาอยู่บริเวณชายแดนไทย - พม่า
                กะเหรี่ยงแบ่งออกเป็นประมาณยี่สิบกลุ่ม ที่สำคัญมีกลุ่มพะเว (PWE) หรือกะเหรี่ยงขาว  และกลุ่มสะกอ (Sgaw) หรือกะเหรี่ยงแดง กลุ่มพะเว ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะยา ซึ่งอยู่ติดกับเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย ส่วนกลุ่มสะกอ อยู่ติดชายแดนไทยในเขตจังหวัดตาก
                กะเหรี่ยงมีรูปร่างเล็ก แข็งแรง อดทน เป็นนักรบที่กล้าหาญ มีภาษาของตนเอง และวัฒนธรรมแตกต่างกับพม่ามาก มีความซื่อสัตย์ นับถือภูติผีปีศาจ ตอนหลังได้มานับถือคริสตศาสนา ในระยะที่อังกฤษปกครองพม่า อังกฤษมีความชื่นชอบชาวกะเหรี่ยงมาก ชาวกะเหรี่ยงพยายามแยกตัวออกจากพม่าตลอดมา
                ไทยใหญ่ หรือฉาน (Shan )  มีประชากรอยู่ประมาณร้อยเจ็ดของประชากรทั้งหมดของพม่า เป็นชนเชื้อชาติเดียวกับไทย มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในมณฑลยูนานของจีน ต่อมาได้ถูกพวกมองโกลรุกรานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จึงอพยพมาอยู่ที่รัฐฉาน ประกอบด้วยไทย ไทยอาหม ไทยลื้อ และไทยเขิน ไทยใหญพยายามแยกตัวออกจากพม่าตลอดมา
                ชิน (Chins )  มีเชื้อสายเดิมสืบทอดมาจากธิเบตอาศัยอยู่ตามเทือกเขา ทางทิศตะวันตกของพม่า เป็นชนเผ่าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แบ่งแยกกันเป็นหลายพวก มีภาษาไม่ต่ำกว่า ๔๐ ภาษา มีความซื่อสัตย์ และชอบอยู่อย่างโดดเดี่ยว
                คะฉิน (Kachin)  อพยพมาจากเทือกเขาหิมาลัยของธิเบต  ร่วมกับชินและยะไข่ มาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของพม่า เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว พยายามรุกเข้ายึดดินแดนไทยใหญ่บางส่วน ต้องการแยกเป็นอิสระจากพม่า มีการจัดตั้งกองกำลังสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาตลอด
                มอญ หรือตะเลง (Talaings)  เป็นเชื้อสายเดียวกับขอม หรือเขมร อพยพมาจากจีนตอนใต้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบต่ำ แถบปากน้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำสาละวิน เมืองหลวงเดิมชื่อ สะเทิม เคยมีอำนาจรุ่งเรืองมาก่อน มอญได้สร้างเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง มอญถูกพม่าแท้รุกรานอยู่ตลอดเวลา มอญเคยมีอำนาจรุ่งเรือง และเคยปกครองภาคใต้ของพม่าได้ทั้งหมด โดยมีกรุงหงสาวดีเป็นราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๔๙ มอญพ่ายแพ้พม่าอย่างยับเยิน จนแตกกระจัดกระจายลงไปทางใต้ และอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนมาก มอญเป็นชนชาติรักสงบ มีภาษาของตนเอง มีวัฒนธรรมสูง ปัจจุบันมอญกลายเป็นพม่าแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน
                ยะไข่ (อาระกัน)  ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณฝั่งตะวันตกของพม่า ในอ่าวเบงกอล มีเทือกเขาอาระกัน และโยมาร์ ทอดเป็นแนวขวางกันอยู่ ทำให้มีพื้นที่แยกขาดกับพม่า ส่วนใหญ่ชาวยะไข่มีภาษาแตกต่างกับพม่า ส่วนมากมีอาชีพเป็นนักธุรกิจ ชาวอาระกันพยายามจะแยกตัวเป็นอิสระ มีชาวอินเดีย และบังคลาเทศ อาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
                อินเดีย  ส่วนใหญ่อพยพมาจาก มัทราช เบงกอล และโอริสสา เข้ามาอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ มีอิทธิพลในธุรกิจการค้า โดยเฉพาะการค้าข้าว รวมทั้งเป็นเจ้าของที่นาทางตอนใต้ของประเทศพม่า ประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งหมด
                จีน  อพยพเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ เมืองย่างกุ้ง และอีกส่วนหนึ่งมาอยู่ในรัฐฉาน ทำการค้าขาย ไม่ยอมโอนสัญชาติเป็นพม่า แต่พยายามมีภรรยาเป็นชาวพม่า แต่ยังคงยึดขนบธรรมเนียมประเพณีของจีน โดยมีวัด และโรงเรียนเป็นของตนเอง
การปกครอง
            ประเทศพม่า ได้จัดแบ่งการปกครองประเทศออกเป็น ๗ รัฐ (State) และ ๗ ภาค การปกครอง (Division) การแบ่งรัฐจะแบ่งตามเผ่าของชนกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ คะฉิ่น ฉาน ชิน อาระกัน กะเหรี่ยง มอญ และคะยา ทุกรัฐ ทุกเผ่า พยายามแยกตัวออกเป็นอิสระจากพม่า การแบ่งภาคการปกครองสำหรับพื้นที่พม่าแท้และตะนาวศรี มักถือเอาเมืองใหญ่ ๆ เป็นแกน ได้แก่ สะแกง มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง อิระวดี พะโค (หงสาวดี) มะโกย และตะนาวศรี
            หลังจากพม่ามีเอกราช และอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาแล้ว ได้จัดรูปการปกครองเป็นแบบสหภาพ โดยมีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลของรัฐ รัฐบาลพม่าเป็นผู้ดำเนินการทางด้านการทหาร การต่างประเทศ และการคลัง ส่วนรัฐบาลของแต่ละรัฐ มีอิสระในการปกครอง และจัดกิจการภายในของรัฐ
การคมนาคมขนส่ง
            การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ
                - ทางถนน  ถนนในพม่าส่วนใหญ่ ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้
                ถนนสายพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองมูเซ ประมาณ ๑,๑๖๐ กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากมูเซถึงคุนหมิง ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ พะโค - ตองอู - ปยิมมะนา - เมตติลา - มัณฑะเลย์ - เมเบียงกอดเต็ก - สีป๊อ - ลาเฉียว - แสนหวี - มูเซ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๒,๑๔๐ กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล
                    ถนนสาย ย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์  ยาวประมาณ ๗๓๐ กิโลเมตร ขนานไปตามแม่น้ำอิระวดี ผ่านเมืองสำคัญคือ เมืองแปร แมดเว ปาเดาว์ ตัดขนานกับทางรถไฟ
                    ถนนสาย เมตติลา - ท่าขี้เหล็ก  ยาวประมาณ ๙๐๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินของไทย ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นถนนสายสำคัญที่ผ่านเมืองเชียงตุง ในรัฐฉาน ไปเชื่อมต่อกับถนนเข้าสู่ประเทศจีนที่เมืองลา
                    ถนนสาย พะโค - มะริด  ยาวประมาณ ๖๘๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อภาคกลางตอนใต้ ไปยังภาคใต้สุดของพม่า ผ่านเมืองท่าตอน - มะละแหม่ง - เย - ทะวาย - มะริด
                    ถนนสาย ตองอู - สีป๊อ  ยาวประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองตองอู ผ่านเมืองดอยก่อ - ดอยแหลม - ตองยี - จ๊อกแบ - สีป๊อ
                    ถนนสาย สะโกร์ - อิมพัล  ยาวประมาณ ๔๖๐ กิโลเมตร ผ่านเมืองฉ่อยโบ - กาเลวา ถึงเมืองอิมพัลในอินเดีย
                    ถนนสาย ลิโด หรือสติลเวลล์  ยาวประมาณ ๓๗๐ กิโลเมตร เป็นถนนเชื่อมต่อพม่ากับอินเดีย เริ่มจากเมืองลิโดแคว้นอัสสัม ของอินเดีย ผ่านลงไปทางใต้ ด้านหุบเขาฮูกวง ข้างแม่น้ำอิระวดี ที่มิตจินา ผ่านมาโมมิจินา ไปบรรจบกับถนนสายพม่าที่มูเซ
                    ถนนสาย ฮากา - อ.มาตูยุ  ยาวประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างรัฐชินกับภาคใต้
                    ถนนสาย จองโต - เมเนียว  ยาวประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนสายตาก - แม่สอด ของไทย ในเขตอำเภอแม่สอด ถนนสายนี้แยกจากถนนสายพะโค - มะริด ที่จองโต ผ่านเมืองผาอัน - ท่าตอน - เหล่งบ่วย - กอการิต - เมียวดี
                    ถนนสาย เมืองลา - บ้านท่าเดื่อ  ยาวประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร เป็นถนนเลียบพรมแดนพม่ากับจีน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงตุง ในรัฐฉาน
                - ทางรถไฟ ทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๑ ที่สำคัญได้แก่
                    สายย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์  มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร สร้างขนานกับแม่น้ำสะโตงที่มัณฑะเลย์ เป็นชุมทางแยกไปยังมิตจินาและลาเฉียว
                    สายย่างกุ้ง - แปร  มีความยาวประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร สร้างขนานกับแม่น้ำอิระวดี ท่าข้ามที่เฮนซาด่ำ มีทางแยกไปยังพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี
                    สายย่างกุ้ง - เมาะตะมะ  มีความยาวประมาณ ๒๗๐ กิโลเมต แยกจากสายย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์ ที่เมืองพะโค แล้วข้ามแม่น้ำสะโตง ไปสู่เมืองเมาะตะมะ
                    สายมะละแหม่ง - เมืองงาย  มีความยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร ทางสายนี้มีทางแยกที่บ้านตันบ่วยซายัด ผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่ประเทศไทย
                    สายมัณฑะเลย์ - มิตจินา  มีความยาวประมาณ ๖๔๐ กิโลเมตร
            การขนส่งทางน้ำ  การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวะดี มีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด
                - แม่น้ำที่สำคัญ ที่ใช้ในการคมนาคมมีอยู่สี่สายด้วยกันคือ
                    แม่น้ำอิรวะดี  ใช้ในการเดินทางทุกฤดูกาล ตั้งแต่ปากแม่น้ำอิรวะดี ถึงเมืองบาโม เป็นระยะทางประมาณ ๑,๔๕๐ กิโลเมตร ถ้าเรือกินน้ำลึกเพียง ๑ เมตร จะเดินได้ถึงเมืองมิตจินา ซึ่งจะเป็นระยะทางประมาณ ๑,๕๐๐ กิโลเมตร
                    แม่น้ำซินด์วิน  ใช้ในการเดินเรือได้ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ปากน้ำถึงเมืองแกนดี
                    แม่น้ำสาละวิน  แม้ว่าแม่น้ำสายนี้จะยาวถึงประมาณ ๑,๑๐๐ กิโลเมตร แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ในการเดินเรือมากนัก เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวมีโขดหิน เกาะแก่งจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใชัในการล่องซุงลงมาจากรัฐฉาน มีระยะทางที่ใช้ในการเดินเรือได้ทุกฤดูกาล ยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร
                    แม่น้ำสะโตง  มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ระยะทางที่ใช้ในการเดินเรือได้ทุกฤดูกาล ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ต่อมาได้มีการพัฒนาแม่น้ำสายนี้ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร พลังงานน้ำผลิตไฟฟ้า และการเดินเรือ
                    ทางน้ำบริเวณปากแม่น้ำอิรวะดี มีทางน้ำที่ใช้ในการเดินเรือได้ยาวประมาณ ๓,๒๐๐ กิโลเมตร
                - การคมนาคมขนส่งทางทะเล  ได้แก่ การเดินเรือเลียบชายฝั่ง เพื่อรับส่งสินค้า และผู้โดยสารตามเมืองชายฝั่งทะเล และการเดินเรือระหว่างประเทศ มีเส้นทางเดินเรือไปยังยุโรป ที่ประเทศอังกฤษ สำหรับในเอเชีย มีเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ศรีลังกา และอินเดีย เป็นต้น
                ท่าเรือที่สำคัญ มีกระจายอยู่ตามเมืองที่อยู่ชายทะเล และอยู่บนลำน้ำที่เรือเดินทะเลเข้าถึง
                    ท่าเรือย่างกุ้ง  ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำย่างกุ้ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำย่างกุ้งประมาณ ๓๕ กิโลเมตร เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด เรือเดินทะเลมีระวางขับน้ำ ๑,๕๐๐ ตัน สามารถใช้ท่าเรือนี้ได้
                    ท่าเรืออัคยับ  เป็นท่าเรือเก่าแก่ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจทางด้านตะวันตก เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าจอดเทียบท่าได้สะดวก
                    ท่าเรือมะละแหม่ง  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำมะละแหม่ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เป็นท่าเรือสำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศ
                    ท่าเรือพะสิม  อยู่บนฝั่งแม่น้ำพะสิม ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ใช้สำหรับเรือขนาดเล็กเท่านั้น เพราะร่องน้ำบางตอนคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่
                    ท่าเรือทะวาย  เป็นท่าเรือขนาดเล็ก ต้องใช้เรือเล็กขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ที่จอดอยู่ที่ปากอ่าวทะวาย
                    ท่าเรือมะริด  ตั้งอยู่ที่ปากน้ำตะนาวศรี เป็นท่าเรือชายฝั่งที่สำคัญ ใช้ประโยชน์ในกาประมง และการค้าขายกับประเทศไทย และหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย
ประวัติศาสตร์
            ชนเชื้อชาติพม่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศธิเบต ได้อพยพลงมาทางใต้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่าปัจจุบัน เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี แบ่งออกเป็นสามพวกคือ
                    พวกมอญ - เขมร  มาสร้างเมืองตะโก้ง ทางตอนใต้เป็น แม้ว มอญ ละว้า
                    พวกธิเบต  เป็นพวกเผ่าอาระกัน ชิน และคะฉิ่น มีจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่มัณฑะเลย์ อังวะ และพุกาม
                    พวกไทย - จีน  อพยพมาอยู่เป็นพวกสุดท้าย ไปอยู่ทางตะวันตกเป็นพวกคะฉิ่น และไปทางตะวันออกเป็นพวกฉาน บางพวกไปตั้งถิ่นบานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำชินล์วิน บางพวกก็ข้ามไปอยู่ในมณฑลอัสสัม เรียกว่า ไทยอาหม บางพวกเคลื่อนลงมาทางใต้เป็นไทย กลุ่มที่สำคัญคือ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่
            ประเทศพม่า ในห้วงเวลาดังกล่าวมีชนหลายเผ่าหลายเชื้อชาติ และอยู่เป็นอิสระต่อกัน จนถึงปี พ.ศ.๑๕๕๓ มีกษัตริย์พม่าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าอโนรธามังช่อ สามารถรวบรวมชนเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และได้ทรงก่อตั้งอาณาจักรพม่าขึ้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พระเจ้าอโนรธามังช่อสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๙๕ หลังจากนั้นก็มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาอีกหลายองค์
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ มีชาวมอญจากเมาะตะมะชื่อ มะกะโท ได้ไปรับราชการอยู่ที่กรุงสุโขทัย แล้วกลับมาตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองเมาะตะมะ เป็นกษัตริย์มอญทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๖ แต่อยู่ในอำนาจของกรุงสุโขทัย
            ในเวลาต่อมาไทยและพม่า ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันปกครองเมืองมอญ จนถึงปี พ.ศ.๑๙๒๘ มีกษัตริย์มอญทรงพระนามว่า พระเจ้าราชาธิราช ได้ไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อ เมืองหงสาวดี ทางฝ่ายพม่าก็มีเมืองหลวงใหม่ชื่อ เมืองรัตนบุระอังวะ พม่ากับมอญทำสงครามกันมาตลอด จนถึงปี พ.ศ.๑๙๖๕ ได้มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งชื่อ มังคินโย หรือมหาศิริชัยสุระ ทำการปราบทั้งพม่าและมอญได้ แล้วตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ที่เมืองตองอู ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๒๘-๒๐๘๓ เมื่อพระเจ้ามหาศิริชัยสุระสิ้นพระชนม์ พระราชบุตรของพระองค์ทรงพระนามว่า ตะเบงชะเวตี้ ขึ้นครองราชย์ต่อมา และได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ถึงเมืองพะโค เมืองแปร เมืองเมาะตะมะ และเมืองตองอู เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนองได้ขึ้นครองราชย์ หัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรพม่าพยายามแยกตัวเป็นอิสระ แต่ในที่สุดก็ถูกปราบราบคาบ พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้านันทบุเรง ขึ้นครองราชย์ต่อมา และได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ   ในระยะนี้พวกมอญมีอำนาจมากขึ้น
            ประมาณปี พ.ศ.๒๒๙๖ ขุนนางเชื้อชาติพม่า แต่อยู่ในเขตมอญชื่อ อลองพญา ได้รวบรวมกำลังยกไปตีเมืองอังวะได้แล้ว สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอลองพญา ยกกำลังไปปราบมอญตีเมืองหงสาวดีได้ เมื่อปี พ.ศ.๑๓๐๐ เมื่อพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ามังสะ ผู้เป็นราชบุตรได้ขึ้นครองราชย์
            ในระยะนี้พม่าเกิดแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดพระเจ้าปดุง สามารถรวบรวมดินแดนต่าง ๆ ได้สำเร็จ ได้ขยายอาณาเขตออกไปจนตียะไข่ได้สำเร็จ ยะไข่อยู่ติดกับอินเดีย ในระยะนั้นอินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจพม่าเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพระเจ้าปดุงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าพาคยีดง ผู้เป็นอนุชาขึ้นครองราชย์ต่อมา
            ในห้วงเวลานั้น อังกฤษและพม่ามีผลประโยชน์ขัดกัน ทำให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าสามครั้ง
                ครั้งที่หนึ่ง  เกิดระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระเจ้าพาคยีดอ มีสาเหตุจากพม่ายกกองทัพไปตียะไข่ อังกฤษจึงได้ส่งกองทัพเข้าแคว้นอาระกันเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ พม่ายอมแพ้และต้องใช้หนี้สงครามคือต้องยกตะนาวศรี ทวาย มะริด และ
อาระกัน และค่าปรับร้อยล้านรูปีให้แก่อังกฤษ
                ครั้งที่สอง  เกิดระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๕ - ๒๔๐๒ ในรัชสมัยพระเจ้าพุกาม สาเหตุของสงครามเกิดจากพม่ากดขี่ในเรื่องภาษีอากรจากพ่อค้าอังกฤษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจ ประกอบกับมีการแย่งชิงราชสมบัติ พระเจ้าเมมดามินทรงยึดอำนาจได้ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่มัณฑะเลย์ในปี พ.ศ.๒๔๐๐  พม่าต้องส่งทูตไปเจรจากับอังกฤษถึงกรุงลอนดอน กรุงโรมและกรุงปารีส
                ครั้งที่สาม  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในรัชสมัยพระเจ้าธีบอ อังกฤษขอทำสนธิสัญญาใหม่ แต่พม่าไม่ยอม อังกฤษจึงยกกำลังบุกพม่าในปี พ.ศ.๒๔๒๘  พม่ายอมแพ้ พระเจ้าธีบอถูกจับ พม่าจึงเสียเอกราชให้แก่อังกฤษเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙  อังกฤษได้รวมพม่าไว้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย
            พม่าในยุคอาณานิคมของอังกฤษ  การที่อังกฤษรวมพม่าเข้าไว้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ทำให้ประชาชนชาวพม่าไม่พอใจ และทำการต่อต้านอังกฤษ มีคณะรักชาติพยายามเรียกร้องให้พม่าขึ้นตรงกับอังกฤษโดยไม่เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดียได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            มีกลุ่มผู้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นำโดยอูอองซาน และอูนุ ตั้งกลุ่มการเมืองชื่อพรรคทะขิ่น พร้อมกับจัดตั้งกองทัพเอกราชของพม่า ทำการต่อสู้กับอังกฤษตลอดเวลา
            ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นทำการรุกรบในเอเชียได้ชัยชนะในระยะเวลาแรก ๆ ของสงคราม พรรคทะขิ่นเห็นว่าการร่วมมือกับญี่ปุ่น จะทำให้พม่าได้รับเอกราชเร็วขึ้น จึงได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นขับไล่อังกฤษออกไปจากพม่า และญี่ปุ่นก็ได้มอบเอกราชให้พม่า แต่เป็นการมอบอำนาจในนามเท่านั้น ทำให้กองทัพกู้ชาติไม่พอใจ จึงหันไปร่วมมือกับอังกฤษ
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ กองทัพฝ่ายพันธมิตรยกกำลังจากอินเดียเพื่อเข้าตีญี่ปุ่นในพม่า กองทัพกู้ชาติพม่าได้เข้าร่วมมือด้วย และขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศพม่าได้สำเร็จ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘  พม่าจึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวัน Resistence Day  ต่อมาได้เกิดมีพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคณะทหาร และพรรคการเมืองย่อย ๆ ต่าง ๆ ร่วมกันเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์ของพม่าจากอังกฤษ
            การนำไปสู่เอกราชที่สมบูรณ์ของพม่า  มีอยู่ห้าระยะด้วยกันคือ
                ระยะที่หนึ่ง (ตุลาคม ๒๔๘๘ - สิงหาคม ๒๔๘๙)  ภายใต้การปกครองของผู้ว่าราชการชาวอังกฤษเมื่ออังกฤษกลับมายึดพม่าได้จากญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว อังกฤษก็ปกครองพม่าแบบเป็นประเทศราช ทำให้พม่าไม่พอใจ เพราะต้องการเป็นเอกราชจึงจัดองค์การอาสาสมัครประชาชน (People's Volunteer Organization - PVO) ขึ้นตามหมู่บ้านเพื่อต่อต้านอังกฤษโดยการก่อความไม่สงบ นัดหยุดงาน  อังกฤษเห็นสถานการณ์ไม่ดี จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นอลุ้มอล่วยลง และส่งผู้ว่าราชการใหม่มาแทนคนเก่า
                ระยะที่สอง (กันยายน ๒๔๘๙ - ธันวาคม ๒๔๘๙)  ผู้ว่าการคนใหม่ใช้นโยบายประนีประนอม อูอองซานมีนโยบายกอบกู้เอกราชโดยสันติวิธี จึงขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต้องการใช้กำลังบังคับให้อังกฤษมอบเอกราชให้ และได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ ให้อังกฤษมอบเอกราชแก่พม่า ภายใน ๓๑ มกราคม ๒๔๙๑
                ระยะที่สาม (ธันวาคม ๒๔๘๙ - มกราคม ๒๔๙๐)  จากการเจรจาที่กรุงลอนดอน อังกฤษเห็นว่าไม่สามารถจะใช้กำลังปกครองพม่าต่อไปได้ จึงเชิญตัวแทนพม่า นำโดยอูอองซาน ไปเจรจาในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๐ ผลปรากฏว่าอังกฤษยอมให้พม่าปกครอง โดยคณะบริหารของพม่าเป็นการชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๐ อังกฤษมีเงื่อนไขว่า พม่าต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญก่อน และยังคงอยู่ในเครือจักรภพต่อไป
                ส่วนรัฐต่าง ๆ หากจะไม่รวมอยู่กับพม่า ก็จะให้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษต่อไป
                อูอองซาน กลับพม่าแล้วได้เจรจากับผู้นำรัฐคะฉิน รัฐชิน และรัฐไทยใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาการรวมอยู่ในสหภาพพม่า ซึ่งรัฐต่าง ๆ ก็ยินยอม แต่ในรัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดว่า รัฐต่าง ๆ มีสิทธิที่จะแยกตัวเป็นอิสระได้ หลังจากรวมอยู่กับสหภาพพม่าแล้วสิบปี มีการลงนามในสัญญาร่วมกันเรียกว่า สนธิสัญญาปางหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ส่วนกะเหรี่ยงไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย เพราะต้องการเป็นอิสระโดยทันที
                ระยะที่สี่  ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ได้เป็นรัฐบาลและมีมติเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหภาพพม่า (The Union of Burma) ในขณะที่มีการประชุมสภาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีคนร้ายเข้าไปยิงอูอองซานเสียชีวิตในที่ประชุม พรรคจึงมีมติให้อูนุ รองประธานทำหน้าที่เป็นหัวหน้าต่อไป
                ระยะที่ห้า  อูนุทำหน้าที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของพม่าจนสำเร็จ ได้รับการรับรองจากอังกฤษที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๐ และมีผลบังคับในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ ทำให้พม่าเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ โดยมีอูนุเป็นนายกรัฐมนตรี
                ในช่วงสิบปีแรก การปกครองในระบบรัฐสภาของอูนุได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ พรรคเกิดแตกแยก และเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง อูนุจึงเชิญนายพลเนวิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำหน้าที่ดูแลรัฐบาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่าอูนุได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็ประสบความล้มเหลวอีก ดังนั้น นายพลเนวินจึงทำการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ แล้วปกครองประเทศแบบเผด็จการ นำประเทศเข้าสู่ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialist) และได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า (Socialist Republic of the Union of Burma) นายพลเนวินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและปกครองประเทศตั้งแต่นั้นมา
    ลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
                - พ.ศ.๔๓  มอญอพยพจากตะวันออก เข้ามายังพม่าภาคใต้
                ตามตำนานมอญและพม่า พระเจดีย์เกศธาตุ หรือชเวดากอง สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล
                ชนเผ่าธิเบต - พม่า มีเชื้อชาติปยุ เป็นผู้นำเข้าพม่าจากทางด้านเหนือสุดของประเทศ
                - พ.ศ. ๒๔๓ พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งศาสนทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ยังอาณาจักรสะเทิมของมอญ
                - พ.ศ.๕๔๓   ตั้งอาณาจักรปยุ ที่เมืองแปร (เมืองศรีเกษตร)   นำศักราชราชสักกระ (มหาศักราช เริ่ม พ.ศ.๖๒๑) จากอินเดียมาใช้ในเมืองแปร   มีการค้าขายทางบกจากอินเดียมายังพม่า โดยผ่านทางภาคเหนือของพม่า   พวกมอญคุมเส้นทางการค้าทางเรือ ระหว่างอ่าวเบงกอล กับเมืองท่าริมอ่าวไทย ผ่านทางภาคใต้ของพม่า
                - พ.ศ.๙๕๓     พวกปยุ มีอำนาจเหนือมอญ
                - พ.ศ.๑๑๕๓   พวกปยุ ถอยร่นไปพม่าภาคเหนือ ชนชาติพม่าเริ่มปรากฎตัว ยุครุ่งเรืองของพวกมอญ
                - พ.ศ.๑๑๘๑  พม่าตั้งศักราชใหม่ของตนเอง
                - พ.ศ.๑๓๔๓  อาณาจักรน่านเจ้า มารุกรานดินแดนพม่า อาณาจักรปยุแตก
                - พ.ศ.๑๓๙๒  สร้างเมืองพุกามที่มีป้อมปราการมั่นคงแข็งแรง
                - พ.ศ.๑๕๘๗  พระเจ้าอนุรุท เป็นกษัตริย์ของพุกาม
                - พ.ศ.๑๕๙๙  พระเจ้าอนุรุท ตีได้เมืองสะเทิม เป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท
                - พ.ศ.๑๖๒๖  เกิดศึกกับมอญ
                - พ.ศ.๑๖๒๗  พระเจ้าครรชิต เป็นกษัตริย์ของพุกาม
                - พ.ศ.๑๖๕๕  พระเจ้าอลองสินธุ ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าครรชิต
                - พ.ศ.๑๗๐๔  เกิดคดีพิพาทกับลังกา
                - พ.ศ.๑๗๑๕  พระเจ้านรปติสิทธู เป็นกษัตริย์
                - พ.ศ.๑๗๕๓  พระเจ้ามะดวงมะยา ขึ้นครองราชย์เป็นองค์สุดท้าย ที่ทรงนิยมสร้างวัด
                - พ.ศ.๑๗๗๗  พระเจ้ายัสวาร ขึ้นครองราชย์ อาณาจักรพุการเริ่มเสื่อม
                - พ.ศ.๑๗๙๗  พระเจ้านรสีหบดี ขึ้นครองราชย์เป็นองค์สุดท้ายของอาณาจักรพุกาม
                - พ.ศ.๑๘๐๐  เกิดสงครามกับพระเจ้ากุบไลข่าน กษัตริย์จีน
                - พ.ศ.๑๘๑๐  กรุงพุกามแตก มอญเป็นอิสระ
                - พ.ศ.๑๘๒๖  ชนชาติมองโกล ถอยทัพจากพม่า
                - พ.ศ.๑๘๓๕  สร้างเมืองปินยา
                - พ.ศ.๑๘๓๘  สร้างเมืองสะแกง
                - พ.ศ.๑๙๐๗  เมืองปินยา และเมืองสะแกง หมดอำนาจ สร้างกรุงอังวะ
                - พ.ศ.๑๙๑๑  พระเจ้าสวาสอแก เป็นพระเจ้ากรุงอังวะ
                - พ.ศ.๑๙๒๘  พระเจ้าราชาธิราช เป็นกษัตริย์พะโค เกิดสงครามระหว่างอังวะกับพะโค
                - พ.ศ.๑๙๔๔  พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เป็นพระเจ้ากรุงอังวะ
                - พ.ศ.๑๙๔๗  ยะไข่ประกาศอิสระภาพ
                - พ.ศ.๑๙๖๕  พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสวรรคต
                - พ.ศ.๑๙๖๖  พระเจ้าราชาธิราชสวรรคต
                - พ.ศ.๑๙๙๖  พระนางเชงสอบูเป็นราชินีกรุงพะโค
                - พ.ศ.๒๐๑๒  ยะไข่ตีได้จิตตะกอง
                - พ.ศ.๒๐๒๕  พระเจ้าธรรมเจดีย์เป็นกษัตริย์พะโค
                - พ.ศ.๒๐๗๔  พระเจ้าตะเบงชะเวตี้เป็นกษัตริย์ตองอู เริ่มจักรวรรดิพม่าครั้งที่สอง
                - พ.ศ.๒๐๙๐  พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทำสนธิสัญญากับไทย
                - พ.ศ.๒๐๙๐  พระเจ้าตะเบงชะเวตี้สวรรคต อาณาจักรแตกแยก มอญเป็นกบฏ พระเจ้าบุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์
                - พ.ศ.๒๑๐๕  พระเจ้าบุเรงนองตีได้เมืองไทย
                - พ.ศ.๒๑๐๘  พระเจ้าบุเรงนองตีได้เมืองไทยอีก
                - พ.ศ.๒๑๓๐  ไทยกู้อิสรภาพคืนได้
                - พ.ศ.๒๑๓๗  กองทัพไทยยกเข้าตีพะโค แต่ถูกตีโต้กลับ
                - พ.ศ.๒๑๔๒  กองทัพยะไข่และตองอูเข้าปล้นเมืองพะโค กองทัพไทยบุกเข้าพม่า
                - พ.ศ.๒๑๔๓  นายเดอ บริโต ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองสิเรียม
                - พ.ศ.๒๑๔๖  พระเจ้าอนอคะเปตลุนเป็นกษัตริย์อังวะ
                - พ.ศ.๒๑๔๘  พระเจ้าอนอคะเปตลุนปราบนายเดอบริโตได้ และฟื้นฟูอาณาจักรได้ส่วนหนึ่ง
                - พ.ศ.๒๑๘๒  พระเจ้าตลุนมินย้ายเมืองหลวงจากพะโคไปอังวะ
                - พ.ศ.๒๑๙๗  จักรวรรดิจีนในราชวงศ์เหม็งองค์สุดท้ายหนีกองทัพแมนจูเข้ามาในเขตแดนพม่า
                - พ.ศ.๒๒๐๕  พม่าจับจักรพรรดิจีนส่งกลับไป และถูกปลงพระชนม์ที่มณฑลฮุนหนำ (ยูนาน)
                - พ.ศ.๒๒๑๓  ยะไข่เสื่อมอำนาจลง เสียเมืองจิตตะกอง
                - พ.ศ.๒๒๕๒  อังกฤษเปิดท่าเรือที่เมืองสิเรียม
                - พ.ศ.๒๒๗๒  ฝรั่งเศสเปิดท่าเรือที่เมืองสิเรียม
                - พ.ศ.๒๒๘๑  ทหารม้ามณีปุระมาปล้นกรุงอังวะ
                - พ.ศ.๒๒๘๓  เกิดกบฏในภาคใต้ของพม่า
                - พ.ศ.๒๒๙๓  ทูตมอญไปเยือนข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสที่ดูเปลกซ์ในอินเดีย ทูตฝรั่งเศสเดอบรูโนมายังเมืองสิเรียม ทูตอังกฤษมายังเมืองพะโค แต่มอญต้อนรับอย่างชาเย็น
                - พ.ศ.๒๒๙๕  มอญตีพม่าภาคเหนือได้ อลองพญาต่อต้านพวกมอญ
                - พ.ศ.๒๒๙๖  อังกฤษไม่ได้รับอนุญาตจากมอญให้ตั้งถิ่นฐานที่นีเกรส จึงเข้ายึดเอาเมืองนั้น
                - พ.ศ.๒๒๙๙  อลองพญายึดได้เมืองสิเรียม และประหารชีวิตนายเดอบรูโนเสีย
                - พ.ศ.๒๓๐๐  อลองพญายึดได้เมืองพะโค ได้ชัยชนะพม่าทั้งหมด
                - พ.ศ.๒๓๐๑  อลองพญามีชัยต่อมณีปุระ
                - พ.ศ.๒๓๐๒  อลองพญาเกรงว่าอังกฤษจะหักหลัง จึงทำลายที่มั่นของอังกฤษที่เมืองนีเกรส
                - พ.ศ.๒๓๐๓  พระเจ้าอลองพญายกกองทัพเข้ารุกรานไทย และสวรรคตอย่างกระทันหัน กองทัพพม่าถอยกลับจากไทย
                - พ.ศ.๒๓๐๔  พระเจ้าฉินบูชิน (มังระ) ขึ้นครองราชย์
                - พ.ศ.๒๓๐๗  พม่ายกกองทัพเข้ารุกรานไทย
                - พ.ศ.๒๓๑๐  พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้
                - พ.ศ.๒๓๐๙  - ๒๓๑๒ จีนยกกองทัพมารุกรานพม่าถึงสี่ครั้ง พม่าต่อสู้จนจีนถอยกลับไปและมีการลงนามในสัญญาสงบศึก
                - พ.ศ.๒๓๑๓  มุณีปุระก่อการกบฏ แต่พม่าปราบปรามลงได้
                - พ.ศ.๒๓๑๙  พม่าบุกไทยเพื่อปราบกบฏ พระเจ้าฉินบูชินสวรรคต กองทัพพม่าถอยกลับ และไทยเป็นเอกราช
                - พ.ศ.๒๓๒๕  เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์ที่กรุงอังวะ พระเจ้าโพธิพญาขึ้นครองราชย์ พม่าตียะไข่ได้
                - พ.ศ.๒๓๕๔  นายชินเบี่ยน ชาวยะไข่ผู้ลี้ภัยเข้าไปในดินแดนอังกฤษเข้าตียะไข่
                - พ.ศ.๒๓๕๖  พม่าอ้างสิทธิเหนือมณีปุระ
                - พ.ศ.๒๓๖๐  พม่าส่งผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์แคว้นอัสสัม
                - พ.ศ.๒๓๖๒  พระเจ้าพะคยีดอ (จักกายแมง) ขึ้นครองราชย์
                - พ.ศ.๒๓๖๗  เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่หนึ่ง
                - พ.ศ.๒๓๖๙  สนธิสัญญายันดาโบและการเสียมณฑลริมทะเลให้อังกฤษ
                - พ.ศ.๒๓๗๓  นายเฮนรี เบอร์นี ผู้แทนอังกฤษคนแรกมาอยู่ที่กรุงอังวะ
                - พ.ศ.๒๓๙๕  เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สอง พม่าเสียมณฑลพะโคให้อังกฤษ
                - พ.ศ.๒๓๙๖  พระเจ้ามินดองขึ้นครองราชย์
                - พ.ศ.๒๔๐๗  เกิดกบฏยินกัน
                - พ.ศ.๒๔๑๓  พม่าส่งทูตคณะแรกไปอังกฤษและยุโรป
                - พ.ศ.๒๔๑๕  มีการสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่ห้าที่กรุงมัณฑะเลย์
                - พ.ศ.๒๔๑๘  เจ้าหน้าที่อังกฤษสั่งผู้แทนอังกฤษที่กรุงมัณฑะเลย์ไม่ให้ถอดรองเท้าเมื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์พม่า
                - พ.ศ.๒๔๒๑  พระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์
                - พ.ศ.๒๔๒๖  พม่าส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส
                - พ.ศ.๒๔๒๘  สภาลุดคอประกาศคำตัดสินเรื่องกรณีบริษัทการค้าบอมเบย์เบอร์มา เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สาม
                - พ.ศ.๒๔๒๗  อังกฤษประกาศให้พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ต่อมาได้ประกาศให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย
                - พ.ศ.๒๔๒๕  - ๒๔๔๓ พม่าทำสงครามกองโจรต่อต้านอังกฤษ
                - พ.ศ.๒๔๖๓  เกิดการจลาจลครั้งแรกในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
                - พ.ศ.๒๔๖๔  มีการปรับปรุงรัฐบาลคู่
                - พ.ศ.๒๔๗๓  - ๒๔๗๕ เกิดกบฎชาวนา
                - พ.ศ.๒๔๗๗  ขบวนการตะขิ่นรวบรวมกำลัง
                - พ.ศ.๒๔๗๙  เกิดการจลาจลครั้งที่สอง ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
                - พ.ศ.๒๔๘๐  พม่าแยกตัวออกจากอินเดีย
                - พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๘  ญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า
                - พ.ศ.๒๔๙๐  นายพลอองซาน ถูกฆาตกรรม
                - พ.ศ.๒๔๙๑  พม่าได้เอกราช และออกจากเครือจักรภพอังกฤษ
วัฒนธรรม
            ประเทศพม่ามีประชากรที่ประกอบด้วยชนหลายเผ่า แต่ละเผ่ายึดมั่นในวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ  นอกจากนั้น ยังยึดมั่นในศาสนาของตนเองอย่างเคร่งครัด ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๘๕ นับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมส่วนใหญ่ จึงผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา
                วัฒนธรรมทางภาษา  รัฐบาลพม่าประกาศให้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ และให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สองในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงมหาวิทยาลัย
                อย่างไรก็ตาม มีภาษาของชนเผ่าต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในพม่าไม่น้อยกว่า ๒๐ ภาษา จึงเป็นการยากที่จะให้คนพม่าทั้งประเทศใช้ภาษาพม่าแต่เพียงภาษาเดียว
                วัฒนธรรมในการแต่งกาย  ประชาชนพม่านิยมแต่งกายตามแบบฉบับของเผ่าของตน จึงเป็นการยากที่จะให้แต่งกายแบบเดียวกัน แม้พม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษนานถึง ๖๒ ปี แต่อิทธิพลวัฒนธรรมแบบตะวันตก ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของชาวพม่าได้
                วัฒนธรรมผสม  เนื่องจากพม่าได้รับอิทธิพลจากหลายทางด้วยกัน เช่น จากอินเดีย จีน มอญ ธิเบต ลาว ไทย และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเข้าไปปะปนกับวัฒนธรรมของพม่า
ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทย


            ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทย หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่าที่อยู่ติดกับชายแดนไทย - พม่า
            ปัญหาระหว่างพม่ากับไทย นอกจากชนกลุ่มน้อยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องพรมแดน ปัญหาการประมง ปัญหาการค้า ตามแนวชายแดน ปัญหายาเสพติด
            ปัญหาพรมแดน  แนวพรมแดนไทย - พม่า มีความยาวประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบกประมาณ ๑,๐๗๐ กิโลเมตร และพรมแดนทางทะเลประมาณ ๕๔๐ กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายมายังจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง รวมเก้าจังหวัด มีปัญหาพรมแดนอยู่ห้าแห่งด้วยกันคือ
                ปัญหาแม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดิน  แม่น้ำสายเป็นแนวเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า อยู่ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เริ่มตั้งแต่ประตูน้ำเหมืองงาม ไปจนบรรจบกับลำน้ำรวก ตามข้อตกลงไทย - อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ - ๒๔๗๕ ให้ใช้ร่องน้ำลึกกึ่งกลางแม่น้ำสายเป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดน ต่อมาแม่น้ำสายเปลี่ยนทางเดิน ลึกเข้าไปในเขตพม่า ทำให้ไทยได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ มีประชาชนไทยไปทำการเกษตรในบริเวณนี้
                ไทยกับพม่าได้ประชุมปัญหาพรมแดนระหว่างกัน เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๖ แต่ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะฝ่ายพม่าขอให้ใช้เส้นทางแม่น้ำสายเดิมที่แห้งไปเป็นเส้นพรมแดน ส่วนฝ่ายไทยต้องการให้ประชาชนไทยได้ทำการเกษตรในบริเวณนั้นต่อไป
                ปัญหาดอยลาง  ดอยลางเป็นชื่อยอดเขาลูกหนึ่งอยู่ในตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในตำบลแม่อายคือ บ้านปางแสนเครือ บ้านปางต้นเดื่อ บ้านปางต้นฆ้อง และบ้านดอยลาง หลังจากพม่าได้เอกราชจากอังกฤษแล้วก็ได้มีการส่งทหารมาตั้งค่ายอยู่ที่ดอยผ้าห่มปกและดอยลาง แล้วเรียกเก็บภาษีจากชาวบ้านดอยลาง ซึ่งพม่าถือว่าอยู่ในเขตพม่า ยังหาข้อยุติในเรื่องนี้ไม่ได้
                ปัญหาบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี  ตามข้อตกลงพรมแดนที่ไทยทำไว้กับอังกฤษ แต่เดิมได้ระบุไว้แต่เพียงเรื่องการกำหนดเขตแดนบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จนนถึงทะเลเปิดไว้ว่า ให้ฝั่งและเกาะที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำกระบุรี ไปจนถึงปลายแหลมวิคตอเรียเป็นของอังกฤษ ส่วนฝั่งและเกาะทางด้านตะวันตก ของแม่น้ำกระบุรี เป็นของไทย แต่การแบ่งอาณาเขตทางทะเลต่อจากแม่น้ำดังกล่าวออกไปในทะเลมีความคลุมเครือไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดปัญหาระหว่างไทยกับพม่า ในเรื่องกรรมสิทธิเหนือเกาะ ในบริเวณนั้นรวมสามเกาะคือ เกาะหลาม (๑๕๐ ไร่) เกาะตัน (๔ ไร่) และเกาะขี้นก (๓ ไร่) โดยที่พม่าได้กำหนดอาณาเขตทางทะเล ของคนในบริเวณนี้ ให้ครอบคลุมสามเกาะนี้เช่นกัน ปัจจุบันเกาะตันมีราษฎรไทยอาศัยอยู่ โดยที่ฝ่ายพม่าไม่ได้ทักท้วง และเกาะทั้งสามดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นปัญหาการอ้างกรรมสิทธิกันอยู่
                ปัญหาแม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดิน  บริเวณที่แม่น้ำรวกเปลี่ยนทางเดินที่สำคัญอยู่ทางทิศเหนือของบ้านศรีชัยภูมิ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอาจมีผลทำให้ประเทศไทย ต้องเสียพื้นที่ไปประมาณ ๓๐๐ ไร่ นอกจากนี้ยังมีบริเวณอื่นที่มีแนวเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำรวกอีกหลายแห่ง ทั้งที่เปลี่ยนเข้ามาในดินแดนไทย และเข้าไปในดินแดนพม่า แต่การได้หรือเสียพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำรวกนั้น จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ก็ต่อ เมื่อรัฐบาลไทยและพม่า ได้ทำความตกลงกันเสียก่อน
                ปัญหาแม่น้ำเมยเปลี่ยนทางเดิน  จากการสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ปรากฎว่าลำน้ำเมย ซึ่งเป็นแนวพรมแดนไทย - พม่า บริเวณใกล้แม่น้ำโกบเกนในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เปลี่ยนทางเดิน ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ไปประมาณ ๑๙๐ ไร่ ในเรื่องนี้ทางจังหวัดตาก ได้ดำเนินการให้จัดทำผนังกั้นน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำเมยไปแล้ว
                ปัญหาการประมง  สืบเนื่องมาจากชาวประมงไทยได้ลักลอบเข้าไปจับปลาในเขตน่านน้ำของพม่า เพราะมีปลาชุกชุมกว่าในเขตไทย พม่าจึงได้จับกุมเรือประมงไทย ที่ละเมิดน่านน้ำ ซึ่งบางครั้งก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกินกว่าเหตุ
                ปัจจุบันเรือประมงของไทยส่วนใหญ่ ไปจับปลาในบริเวณอ่าวเบงกอลนอกเขตน่านน้ำของพม่า แต่การเดินเรือของชาวประมงไทยไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยพอ ดังนั้นในบางครั้งก็อาจผ่านเข้าไปในเขตของพม่าได้ เมื่อพม่าจับกุมเรือประมงได้ ทางการพม่าจะยึดเรือเอาไว้ ส่วนลูกเรือจะถูกจำคุกในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ลำลายระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของพม่า ทำลายทรัพย์สินของราษฎร
                ในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น พม่าเคยทำความตกลงกับไทย โดยอนุญาตให้ชาวประมงไทยเข้าไปจับปลาในน่านน้ำของพม่าได้ แต่ต้องเสียค่าแบบธรรมเนียม ปรากฎว่าชาวประมงบางคนได้หลบเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม พม่าจึงไม่อนุญาตให้ชาวประมงไทยเข้าไปจับปลาในเขตน่านน้ำพม่าอีก
                เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ พม่าได้ประกาศกฎหมายทะเลอาณาเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ๒๐๐ ไมล์ทะเล ซึ่งอาจทำให้ไทยกับพม่า มีปัญหากระทบกระทั่งทางด้านการประมงมากขึ้น
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๑ พม่าได้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการประมงกับไทย โดยยินยอมให้เรือประมงไทยแล่นผ่านน่านน้ำอาณาเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ๒๐๐ ไมล์ทะเลได้ แต่ห้ามทำการประมงในบริเวณดังกล่าว
                ปัญหายาเสพติด  ปัญหาด้านยาเสพติดระหว่างไทยกับพม่า เกิดขึ้นเนื่องจากมีกลุ่มบุคคลและชนกลุ่มน้อยในพม่าบางกลุ่มได้ผลิตฝิ่น มอณ์ฟีน และเฮโรอีน ในเขตพม่าใกล้บริเวณพรมแดนไทย - พม่า เมื่อผลิตได้แล้วก็จะลำเลียงยาเสพติดเหล่านี้ผ่านกรุงเทพ ฯ และย่างกุ้ง เพื่อส่งต่อไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
                เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ฝ่ายไทยเคยเสนอขอถ่ายภาพทางอากาศตามบริเวณชายแดนพม่า - ไทย เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามยาเสพติด แต่ฝ่ายพม่าปฏิเสธ
                ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ไทยกับพม่าตกลงที่จะให้ความร่วมมือกันทางด้านการแลกเปลี่ยนข่าวสาร เกี่ยวกับยาเสพติดย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และจะให้ความร่วมมือกันทั้งในด้านวิชาการ และปราบปรามทำลายสถานที่ผลิตยาเสพติดตามบริเวณพรมแดนระหว่างกัน โดยที่พม่าจะพยายามสะกัดกั้นการลำเลียงฝิ่นจากบริเวณชายแดนพม่าเข้าสู่เขตไทย ทางฝ่ายไทยจะสะกัดกั้นการลำเลียงน้ำยาเคมี ซึ่งไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตเฮโรอีนเข้าสู่เขตพม่า และในกรณีที่ฝ่ายพม่าจะปฏิบัติการกวาดล้างการผลิตยาเสพติด ก็จะแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ฝ่ายไทยสะกัดกั้นมิให้ผู้ผลิตยาเสพติดหลบหนีเข้าเขตไทยได้
                ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ทหารพม่าได้ปฏิบัติการยึด และทำลายโรงผลิตเฮโรอีนตามบริเวณชายแดนไทย - พม่า ด้านตรงข้ามกับเขตจังหวัดเชียงราย ในการนี้ทางการพม่าได้เชิญผู้ช่วยทูตทหาร และผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำพม่า ไปสังเกตการณ์บริเวณพื้นที่กวาดล้าง มีการแสดงอุปกรณ์การผลิตเฮโรอีนที่ยึดได้ อุปกรณ์เหล่านี้ร้อยละ ๙๐ มีอักษรไทยติดอยู่ ในการกวาดล้างครั้งนี้ ทางการพม่ามิได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบเป็นการล่วงหน้า เพื่อการปราบปรามงานตามที่ได้ตกลงกันไว้
                การลักลอบค้าของเถื่อนตามบริเวณชายแดน  มีการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี เช่น อัญมณี หยก ปศุสัตว์ ไม้สัก และวัตถุโบราณ จากพม่าเข้ามาขายในไทย ในขณะเดียวกันก็มีการลักลอบนำสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคจากไทย เข้าไปขายในพม่า เนื่องจากพม่าขาดแคลนสินค้าดังกล่าว พม่าเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการบั่นทอนฐานะทางเศรษฐกิจของพม่า จึงได้ขอร้องให้ฝ่ายไทยพิจารณาปราบปราม ฝ่ายไทยก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยดี นอกจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ไทยและพม่าได้ตกลงที่จะเปิดการค้าระหว่างกัน ตามบริเวณพรมแดนของประเทศทั้งสอง รวมสามจุดด้วยกัน
                ปัญหาชนกลุ่มน้อยของพม่าในไทย  เนื่องจากภูมิประเทศบริเวณพรมแดนไทย - พม่า ส่วนใหญ่เป็นถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกลจากการควบคุมดูแล ของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมกับพวกชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัย พวกชนกลุ่มน้อยดังกล่าว ได้มีบางส่วนเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตแดนไทย นอกจากนี้ในส่วนที่อยู่ในเขตพม่า เมื่อถูกทหารรัฐบาลพม่าปราบปราม ก็หนีเล็ดลอดเข้ามาในเขตของไทย บางกลุ่มได้ตั้งด่านเก็บภาษีเถื่อนตามพรมแดนไทย - พม่า ลักลอบค้ายาเสพติด และสินค้าหนีภาษี
                พฤติกรรมดังกล่าว ทำให้พม่าเกิดความคลางแคลงใจว่า ฝ่ายไทยให้การสนับสนุน และให้ที่พักพิงแก่ชนกลุ่มน้อยในพม่า
                ปัญหาผู้พลัดถิ่น และผู้หลบหนีเข้าเมือง  มีชาวพม่าที่อพยพหลบภัยเข้ามาในเขตไทย แบ่งออกเป็นผู้ที่เข้ามาก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งทางไทยถือว่า เป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ส่วนที่เข้ามาหลังจากนั้น ถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง
            ประเทศไทย มีนโยบายต่อชนกลุ่มน้อย และผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ให้ผลักดันออกจากเขตแดนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้นมา แต่ก็ได้ผ่อนผันตามหลักมนุษยธรรม ให้พักพิงอยู่ในเขตแดนไทยได้เป็นการชั่วคราว โดยอยู่ในความควบคุม เพื่อรอการผลักดันออกไป แต่ถ้าเป็นชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และผู้หลบหนีเข้าเมือง จะทำการผลักดันทันที นอกจากนั้นไทยยังได้จัดตั้งหมู่บ้านป้องกันตนเอง ชายแดนไทย - พม่า อีกด้วย

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์