เที่ยวไปชมไป
ใน หอมรดกไทย มีเรื่องเที่ยวไปกินไปหรือเที่ยวทั่วไทยของ พลเอก โอภาส
โพธิแพทย์ สาระประโยชน์เป็นอย่างไร ทุกท่านที่เข้ามาชมคงจะได้รับไปแล้ว
การนำเรื่องเที่ยวไปชมไปมาเพิ่มเติม ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำผู้ชมไปสัมผัสกับมรดกไทย
ในลักษณะที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุด พาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด ในลักษณะการเดินทางเป็นวงรอบ
แวะชมสิ่งที่น่าสนใจระหว่างทางที่ผ่าน แล้วเข้าที่พักไม่ให้ดึกเกินไป ปกติจะวางแผนเข้าที่พักค่ำพอดี
แต่การปฏิบัติจริง จะเสียเวลาระหว่างทางในแต่ละจุดที่แวะชม มากกว่าที่วางแผนไว้แห่งละเล็ก
แห่งละน้อย รวมหลายแห่งในแต่ละวันก็อาจจะเข้าที่พักหลังกำหนดไปประมาณ ๑ -
๒ ชั่วโมง
การเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงสายหลัก และสายรองปัจจุบันพบว่า สภาพเส้นทางดีมาก
สามารถทำเวลาได้ใกล้เคียงกับที่วางแผนไว้ ปกติจะใช้ความเร็วนอกเมืองเต็มตามความเร็วสูงสุดที่กำหนด
คือ ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้สามารถเดินทางได้วันละประมาณ ๖๐๐ - ๗๐๐ กิโลเมตรต่อวัน
ถ้าทางไม่ไกลเกินไปก็จะออกเดินทางตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น.ในแต่ละวัน และถึงที่พักในเวลาหลัง
๑๘.๐๐ น.ของวันนั้น และเพื่อให้มีการใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุดในแต่ละวัน
การกินอาหารมื้อเช้า และมื้อกลางวันก็จะเป็นไปอย่างง่าย ๆ โดยเตรียมอาหาร
และเครื่องดื่มแล้วกินกันบนรถนั่นเอง ไม่ต้องแวะกินที่ร้านอาหารซึ่งจะเสียเวลามาก
การเข้าห้องน้ำจะใช้ในจังหวะที่นำรถเข้าเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมัน หรือ
ณ จุดที่เราแวะเข้าเยี่ยมชม
ยานพาหนะที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อแบบที่ใช้ขับออกไปนอกเส้นทางถนนเข้าไปในภูมิประเทศ
(Off Road) อย่างที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากเส้นทางอยู่ในสภาพดีโดยตลอดอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว
ดังนั้น จึงสามารถใช้รถเก๋งที่ใช้งานอยู่ประจำวันในเมือง ที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่
๒,๐๐๐ ซีซี ขึ้นไปก็พอแล้ว สามารถขึ้นไปถึงยอดดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง ดอยแม่สลอง
ดอยตุง หรือในที่ที่อยู่ห่างไกลเช่น แม่ฮ่องสอน แม่แจ่ม อมก๋อย ฯลฯ ได้ทั้งนั้น
ข้อสำคัญ ก่อนเดินทางต้องตรวจสอบสภาพรถให้ละเอียดถี่ถ้วน ทั้งเครื่องยนต์
ช่วงล่าง ยาง ไฟทุกดวง แตร มาตรวัดทุกชนิด จะต้องใช้งานได้สมบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่อง
และได้ปรนนิบัติบำรุง (Preventive Maintainance) ไว้อย่างดีแล้ว สำหรับการเดินทางไกลในระยะทาง
๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ กิโลเมตร เครื่องมือประจำรถ แม่แรงยกรถ เครื่องมือถอดล้อ
เครื่องสูบลมยาง และเครื่องวัดความดันลมยาง สายต่อแบตเตอรี่ สายลากจูงรถ ประแจขันน๊อตทุกขนาด
และเครื่องมือช่างเบ็ดเตล็ด ๆ ต้องพร้อม ยางอะไหล่อยู่ในสภาพดี และสูบลมไว้เต็ม
ไฟฉาย น้ำมันเครื่องอะไหล่ขนาด ๑ ลิตร น้ำมันเบรค และคลัช น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์
น้ำกลั่นสำหรับเติมแบตเตอรี่ และอื่น ๆ ที่เห็นว่าจำเป็นเมื่อรถเกิดเสียระหว่างทาง
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยฉบับล่าสุด ขนาดมาตราส่วน ๑/๑,๐๐๐,๐๐๐
หรือ ๑/๑,๖๐๐,๐๐๐ พร้อมกับศึกษาเส้นทาง และระยะทางของสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านและที่จะแวะชม
และวางแผนการเดินทางในแต่ละวันโดยละเอียด ก่อนออกเดินทาง และพยายามปรับเวลาการเดินทางให้ใกล้เคียงกับแผนตลอดเวลา
เพื่อจะได้เที่ยวชมได้ครบถ้วน และเข้าที่พักได้ไม่ดึกเกินไปในแต่ละวัน
การเดินทางถ้าทำได้ควรมี ๔ คน จะประหยัดสดวกสบาย และให้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในขณะเดินทางและการเข้าพัก
ณ ที่พักแรม รถเก๋งนั่ง ๔ คน จะสบายมาก แบ่งหน้าที่กันดังนี้คือ คนขับทำหน้าที่ขับรถให้ถูกกฎจราจรและให้ปลอดภัย
ทำเวลาได้ตามที่ควร มีความนุ่มนวลในการขับให้คนนั่งสบายทั้งกายและใจ
คนบอกเส้นทางนั่งหน้าคู่กับคนขับ คอยให้ข้อมูลแก่คนขับแต่อันได้แก่เส้นทางที่จะไปต่อไป
เมื่อถึงคราวที่จะต้องแยกออกไปจากเส้นทางเดิม เส้นทางนั้นแยกไปทางซ้ายหรือไปทางขวา
เป็นเส้นทางไปสู่ตำบลใด เป็นเส้นทางหมายเลขอะไร เป็นต้น เพื่อคนขับจะได้เตรียมตัวแต่เนิ่น
และไม่ทำให้รถเสียเวลาในสถานการณ์ดังกล่าว เช่น ขณะที่เดินทางอยู่บนถนนพหลโยธิน
เมื่อผ่านตัวจังหวัดสระบุรีไปแล้ว มุ่งหน้าไปทางจังหวัดลพบุรี แต่เราต้องการไปอำเภอชัยบาดาล
ผู้นำทางก็จะเตือนคนขับแต่เนิ่นว่า อีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะแยกเข้า ทางหลวงหมายเลข
๒๑ แยกไปทางขวามือ ที่บริเวณสวนพฤษศาสตร์พุแค เป็นเส้นทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์
เป็นต้น
หน้าที่ต่อมาของผู้นำทางคือ ให้ข่าวสารแก่ทุกคนในรถเมื่อถึงจุดต่าง ๆ ที่มีแผ่นป้ายบอกทางของกรมทางหลวง
ทันทีที่อ่านป้ายได้ เช่น แยกขวามือมีทางแยกไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แยกซ้ายมือไปพระพุทธบาทสระบุรี
เป็นต้น ทำให้ทุกคนในรถได้ทราบถึงแห่งหนตำบลต่าง ๆ บนเส้นทางที่ผ่านไป หน้าที่ประการต่อมาคือ
เป็นผู้บันทึกปูมการเดินทางของคณะนับตั้งแต่ออกจากที่พัก ไปจนถึงที่พักแรมแห่งใหม่โดยละเอียด
เพราะระหว่างการเดินทางก็ถือว่าเป็นการเที่ยวชมไปในตัว จากภูมิประเทศและท้องถิ่นต่าง
ๆ ที่ผ่านไป ทั้งที่แวะชมและไม่ได้แวะชม การบันทึกปูมการเดินทางจึงเป็นการช่วยความจำในสิ่งที่ได้เห็นตลอดเส้นทาง
เช่น ถึงสระบุรี ๐๘.๓๐ น. ระยะทางจากกรุงเทพ ฯ ๑๐๐ กิโลเมตร ถึงพุแค ๐๘.๕๐
ห่างจากสระบุรี ๒๐ กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวง หมายเลข ๒๑ ไปเพชรบูรณ์
เป็นต้น
สมาชิกคนที่สามในรถ
ทำหน้าที่บริการอาหาร และเครื่องดื่มให้แก่ทุกคนในรถ เป็นระยะ ๆ ว่างจากนั้นก็นั่งชมวิวสองข้างทางไป
สมาชิกคนที่สี่คอยช่วยเหลือผู้นำทางในกรณีที่อ่านข้อมูลสองข้างทางไม่ทัน
เพราะมีหลายแห่งในบริเวณเดียวกัน ไม่ให้ข้อมูลตกหล่น ว่างจากนั้นก็นั่งชมวิวสองข้างทางไป
และเป็นตัวเปลี่ยนคนขับรถ หรือคนนำทางตามระยะเวลาที่สมควร
สรุปแล้วระหว่างเดินทางไม่มีการนั่งหลับเป็นอันขาด การนั่งหลับระหว่างการเดินทางไปเที่ยวแบบนี้
ถือว่าเสียประโยชน์ และเสียหายอย่างมาก เพราะห้วงเวลาดังกล่าวเป็นการเที่ยวชม
ไม่ใช่การพักผ่อนนอนหลับ ซึ่งเรามักจะพบอยู่เสมอเป็นจำนวนไม่น้อยในคณะเดินทางต่าง
ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นวิถีทางในการเที่ยวไปชมไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประหยัดสำหรับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดของแต่ละคน
ซึ่งมีกันไม่มาก ถ้าเป็นวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ ๒ วัน ก็ไม่ควรเดินทางเกิน
๑,๐๐๐ กิโลเมตร ไป - กลับ ถ้ามีวันหยุดติดต่อกันมากกว่า ๒ วัน ก็คิดเพิ่มให้วันละไม่เกิน
๕๐๐ กิโลเมตร ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ แม้ผู้สูงอายุถึง ๘๐ - ๙๐ ปี ก็สามารถไปด้วยกันได้
แต่ท่านผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพเป็นปกติ นั่งได้นาน ไม่เข้าห้องน้ำบ่อย
เดินได้ในระยะประมาณ ๕๐๐ เมตรได้สบายก็ไม่ต้องเกรงจะไปร่วมกิจกรรมแบบเที่ยวไปชมไปไม่ได้
สำหรับคนขับ จากประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนาน ด้วยการเดินทางดังกล่าวจะใช้คนขับเพียงคนเดียว
ตลอดเส้นทางโดยไม่ต้องมีการสับเปลี่ยน ข้อสำคัญในตอนกลางคืนคนขับต้องมีเวลาพักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า
๖ ชั่วโมง คนขับที่มีสุขภาพดีและมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน สามารถขับรถได้ต่อเนื่องถึงวันละประมาณเกือบ
๑,๐๐๐ กิโลเมตร โดยอาศัยการเติมน้ำมัน และเข้าห้องน้ำระหว่างทาง ๒ - ๓ ครั้ง
เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ
มุ่งสู่อิสาน
วันหยุดช่วงปีใหม่ติดต่อกันหลายวัน ทำให้การเที่ยวชมไปทำได้มากขึ้น จึงได้วางแผนสู่อิสานดินแดนอันกว้างใหญ่เป็นวงรอบ
แบ่งการเดินทางออกเป็นสี่วัน สามคืน วันแรกต้องไปให้ถึงสกลนคร วันที่สองไปให้ถึงอุบลราชธานี
และวันที่สามกลับมาถึงจันทบุรี วันที่สี่กลับกรุงเทพ ฯ รวมระยะทางตามเส้นทางดังกล่าว
ประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร
วันแรกออกเดินทางแต่เช้า ๐๗.๐๐ ถึงสระบุรี ประมาณ ๐๘.๓๐ ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ส่วนใหญ่เคยผ่านไปมานับครั้งไม่ถ้วน สภาพถนนดี สภาพการจราจร
ซึ่งไม่คับคั่งนัก เพราะออกเดินทางหลังวันหยุดที่คนส่วนใหญ่เขาเดินทางออกไปกันหนึ่งวัน
การผ่านตัวเมืองสระบุรีมีทางอ้อมตัวเมือง แยกไปทางซ้ายก่อนถึงตัวเมืองเล็กน้อย
และกลับมาบรรจบเส้นทางเดิมอีกครั้ง หลังจากผ่านตัวเมืองไปแล้ว ถ้าใช้เส้นทางหลักจะผ่านกลางตัวเมือง
ก่อนเข้าสู่ตัวเมือง จะมีทางแยกขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ มุ่งตรงไปจังหวัดนครราชสีมา
เส้นทางถนนพหลโยธิน
เป็นทางหลวง หมายเลข ๑ จากกรุงเทพ ฯ เริ่มต้นหลักกิโลเมตรที่ ๐ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ผ่านเขตจังหวัดปทุมธานี เขตจังหวัดอยุธยา ผ่านตัวจังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยนาท
นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง พะเยา ไปสิ้นสุดที่เชียงราย ณ อำเภอแม่สาย
ซึ่งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย เป็นเส้นทางหลวงเก่าแก่สายแรกสุดของประเทศไทย
และได้รับชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้รับเกียรติให้นำนามสกุล
พหลโยธินมาตั้งชื่อค่ายทหารปืนใหญ่ ที่ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ชื่อค่ายพหลโยธิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ถนนพหลโยธินผ่านค่ายพหลโยธินบริเวณประตูเสาธง
ห่างจากตัวเมืองลพบุรีขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ถนนพหลโยธิน ช่วงที่ออกจากตัวเมืองลพบุรี
ตรงวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังค่ายพหลโยธิน
เป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทย ที่แบ่งช่องทางจราจรออกเป็นสี่ช่องจราจรและมีเกาะกลางถนนมาตั้งแต่สมัย
จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรี คือประมาณก่อนปี
พ.ศ.๒๕๐๐
เส้นทางถนนมิตรภาพ
เป็นทางหลวงหมายเลข ๒ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี โดยแยกจากถนนพหลโยธินทางด้านขวามือ
ผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น อุดร ไปสิ้นสุดที่หนองคาย จดแม่น้ำโขงที่อำเภอเมืองหนองคาย
เป็นเส้นทางที่สร้างเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา
เมื่อตอนสร้างเสร็จใหม่ กล่าวขวัญกันว่าเป็นถนนที่มีผิวการจราจรราบเรียบที่สุดของประเทศไทยในสมัยนั้น
ขนาดเอาแก้วน้ำใส่น้ำเต็มแก้วถือไว้แล้วนั่งไปในรถที่แล่นไปบนถนนมิตรภาพ น้ำจะไม่กระฉอกออกจากแก้วน้ำเลย
ถนนมิตรภาพครั้งนั้นผิวการจราจรลาดยางมะตอยมีสองช่องทางจราจร และมีไหล่ทางกว้าง
ปัจจุบันถนนมิตรภาพปรับปรุงเป็นถนนสี่ช่องทางจราจรตลอดสาย และจุดที่แยกขวาจากถนนพหลโยธิน
ก่อนเข้าตัวเมืองก็ได้มีการสร้างสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธิน ไม่ต้องคอยสัญญาณไฟให้เลี้ยวขวาแบบสมัยก่อน
กลับมาสู่เส้นทางเดิมที่ผ่านตัวเมืองสระบุรี ถ้าเป็นวันธรรมดาการจราจรจะหนาแน่นมาก
แต่ถ้าเป็นวันหยุดก็ไม่หนาแน่นนัก ถนนจะข้ามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ช่วงสระบุรี - แก่งคอย แล้วข้ามแม่น้ำป่าสัก
ซึ่งมีแนวขนานกับทางรถไฟ จากนั้นก็มุ่งขึ้นเหนือไปสู่จังหวัดลพบุรี เมื่อถึงพุแค
ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสระบุรี
๒๐ กิโลเมตร จะมีทางหลวงหมายเลข ๒๑
แยกจากถนนพหลโยธินไปทางด้านขวามือ เป็นเส้นทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านอำเภอ
พัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี แล้วผ่าน อำเภอศรีเทพ
อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอบึงสามพัน อำเภอหนองไผ่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ไปสิ้นสุดเมื่อไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข
๑๒ (พิษณุโลก - หล่มสัก - ขอนแก่น) ที่อำเภอหล่มสัก ทางหลวงสายนี้สร้างเสร็จเมื่อประมาณ
ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ใช้ประโยชน์ได้มากครั้งยุทธการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่หินร่องกล้า
บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดพิษณุโลก (อำเภอวังทอง และอำเภอนครไทย) กับจังหวัดเพชรบูรณ์
(อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า)
จากแยกพุแคเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑ มุ่งหน้าไปสู่อำเภอชัยบาดาล จะผ่านทางแยกซ้ายไป
อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่พระพุทธบาทสระบุรี
เลยไปเล็กน้อยจะมีทางแยกขวาไป อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเป็นเส้นทางไปสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ มีรถไฟขบวนพิเศษนำเที่ยวเขื่อน
และชมทุ่งทานตะวันงดงามในต้นฤดูหนาว
สำหรับทางรถยนต์ไปสู่เขื่อนนอกจากเส้นทางไปอำเภอพัฒนานิคมดังกล่าวแล้ว ยังมีเส้นทางจากถนนมิตรภาพบริเวณ
อำเภอมวกเหล็กเข้าไปได้อีก
จากอำเภอพัฒนานิคม มุ่งสู่อำเภอชัยบาดาลจะเห็นทุ่งทานตะวันอยู่เป็นระยะ ๆ
แต่ห้วงเวลาต้นเดือนมกราคมดอกทานตะวันร่วงโรยไปหมดแล้วเป็นส่วนใหญ่ เมื่อถึงอำเภอท่าหลวง
จะมีเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๐๕
ตัดผ่านเมื่อแยกซ้ายไปตามเส้นทางนี้ จะนำไปบรรจบถนนพหลโยธินที่ อำเภอโคกสำโรง
จังหวัดลพบุรี
เมื่อถึง อำเภอชัยบาดาลซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสระบุรีประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร
จะแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ไปสู่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อถึงอำเภอ เทพสถิตย์
จังหวัดชัยภูมิ ห่างจาก อำเภอชัยบาดาลประมาณ ๔๕ กิโลเมตร ก็จะเริ่มมีสถานที่ที่น่าเที่ยวชมบนเส้นทางสายนี้
สถานที่แห่งแรกคืออุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเทพสถิตย์
ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายตามทางหลวงหมายเลข
๒๓๕๔ ลึกเข้าไปประมาณ ๑๓ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
อุทยาน ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๖,๓๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ชายขอบสุดทางด้านทิศตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตามแนวเทือกเขาพังเหย
อยู่ในเขต อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออก
ยอดเขาสูงสุดเรียกว่า สุดแผ่นดิน อยู่ทางด้านทิศตะวันตก
ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง มีป่าดิบแล้งผสมอยู่บ้างบางส่วน เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสนธิ
และแควสาขาของแม่น้ำป่าสัก
มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐ - ๘๕๐ เมตร ทิศเหนือติดต่อกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง
ทิศตะวันออกจดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัด ทิศตะวันตกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา
มีสัตว์ป่าอยู่มากพอสมควร เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๒๑ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน
๑๐ ชนิด และนกประมาณ ๖๐ ชนิด สถานที่ท่องเที่ยวภายในอุทยาน ฯ มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
ถ้าจะเที่ยวชมให้ครบทุกแห่ง จะต้องใช้เวลามาก ผู้ที่รักธรรมชาติ และมีเวลามากพอควรพักแรมที่อุทยาน
ฯ สักคืนหนึ่ง สำหรับผู้ที่มาเที่ยวแบบฉาบฉวยมีเวลาน้อย ก็ควรเลือกชมจุดเด่นของอุทยาน
ฯ ที่อยู่ใกล้ไปถึงง่าย ใช้เวลาไม่มาก คือ
ลานหินงาม
อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยาน ฯ ลักษณะเป็นลานหินที่มีก้อนหินรูปร่างสวยงามแปลกตาเป็นจำนวนมาก
กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างหลายไร่ ท่ามกลางป่าเต็งรังที่มีลำต้นแคระแกร็น
ในช่วงฤดูฝนบริเวณลานหินดังกล่าวจะมีหญ้าขึ้นเขียวขจี และมีดอกกระเจียวหรือที่เรียกอีกชื่อว่าดอกบัวสวรรค์
ซึ่งให้ดอกสวยงามสีชมพูแซมอยู่ทั่วไป ในฤดูหนาวสายลมเย็นโชยมาตลอดเวลา การชมลานหินอย่างไม่ชักช้าใช้เวลาประมาณ
๑๕ นาที ก็สามารถทำได้ทั่วถึง
ทุ่งดอกกระเจียว
ดอกกระเจียวจะบานตอนต้น-กลางฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ดอกสีชมพูสวยสดงดงาม
จะบานอยู่เต็มทุ่งลานหิน ท่ามกลางหญ้าเขียวขจี และหมู่ต้นไม้เตี้ยแคระ
ลานหินหน่อ
เป็นลานหินราบมีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ มีหินปุ่มสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร กระจายอยู่ตามลานหิน
มีพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง และหยาดน้ำค้างขึ้นอยู่ทั่วไป
เส้นทางเดินชมธรรมชาติ
เป็นเส้นทางเดินเท้าให้ไปชมพันธุ์ไม้ และทิวทัศน์ ณ จุดที่น่าสนใจต่าง ๆ ทั่วบริเวณอุทยาน
กิจกรรมนี้ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่จะอยู่พักแรมที่อุทยาน
สำหรับผู้ที่ผ่านมาชมโดยสังเขปอาจไม่มีเวลาพอ
จุดชมวิวทิวทัศน์สุดแผ่นดิน
จะเห็นทิวทัศน์ของแผ่นดินที่อยู่ต่ำลงไปทางด้านทิศตะวันตก ตามแนวสันเขาพังเหย
เป็นพื้นที่ราบไปจนถึงภูเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา
นอกจากจุดที่น่าสนใจดังกล่าวแล้วในเขตอุทยาน ฯ ยังมีน้ำตกเทพประทาน
และน้ำตกเทพพนา
ซึ่งต้องใช้เวลาในการไปเที่ยวชม ผู้ที่มาชมโดยสังเขปอาจมีเวลาไม่พอ
จากอุทยานป่าหินงาม ย้อนทางกลับมาสู่ทางหลวงหมายเลข
๒๓๕๔ แล้วเดินทางต่อไปอีก ๑๘ กิโลเมตร เข้าสู่เขตอำเภอหนองบัวระเหว
แล้วมีทางแยกซ้ายไปบรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๕
(นครสวรรค์ - ชัยภูมิ) ระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข
๒๒๕ เมื่อถึงบ้านท่าโป่งจะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าสู่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ระยะทาง
๗ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติไทรทอง
อุทยาน ฯ อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิตย์ อำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอหนองบัวระเหว
จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ประมาณ ๓๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่
ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติภูแลนคา พื้นที่อยู่บริเวณเทือกเขาพังเหย
ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัด และป่าเตรียมการสงวนแห่งชาติ ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง
ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น
ลำห้วยโปร่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ลำน้ำเจา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี
สถานที่ท่องเที่ยวมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่อุทยานกว้างใหญ่กินพื้นที่ถึง
๔ อำเภอ การเข้าชมให้ทั่วถึงต้องใช้เวลามาก ต้องอยู่พักแรมที่อุทยาน สำหรับผู้ที่มาเที่ยวชมแบบมีเวลาน้อย
สามารถไปเที่ยวชมน้ำตกไทรทอง ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยาน ฯ มากที่สุด
น้ำตกไทรทอง
อยู่ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยาน ตัวน้ำตกสูงประมาณ ๕ เมตร ลานหินกว้างประมาณ
๘๐ เมตร มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่บริเวณหน้าน้ำตก เรียกว่า วังไทร
สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกขึ้นไปมีวังน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า วังเงือก
น้ำจะไหลลงมาตามความคดเคี้ยวของลานหินลงสู่น้ำตก ยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ
๒ กิโลเมตร เป็นน้ำตกชวนชมมีเส้นทางเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติ ระหว่างทางมีจุดที่เด่นน่าชมคือ
ผาพิมพ์ใจ
ดงเฟิร์น
น้ำตกบุษบากร
และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สวยงามตลอดเส้นทาง ตามเส้นทางไปสู่น้ำตกทางด้านซ้ายมือลึกเข้าไปประมาณ
๕๐ เมตร จะมีต้นกระบากใหญ่ขนาดประมาณ
๕ คนโอบ เรียกว่า ต้นไม้พันปี
นับว่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่มากต้นหนึ่งของประเทศไทย สำหรับความสูงยังไม่มีผู้ใดประมาณไว้
เนื่องจากต้นไม้พันปีขึ้นอยู่ในหุบ เมื่อมองจากด้านบนจึงไม่เห็นเด่น
น้ำตกชวนชม
อยู่เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ตัวน้ำตกสูงประมาณ ๒๐ เมตร กว้างประมาณ
๕๐ เมตร อยู่ภายใต้แมกไม้ที่ร่มรื่น และมีน้ำตกไหลตลอดปี
ทุ่งดอกกระเจียว
(ทุ่งบัวสวรรค์) มีอยู่มากบริเวณสันเขาพังเหยทางด้านทิศตะวันตก มีอยู่
๕ ทุ่งใหญ่ ๆ ด้วยกัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ดอกกระมีทั้งดอกสีชมพู
และสีขาว ซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายนัก ในช่วงฤดูฝนระหว่างปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนสิงหาคม
จะออกดอกสวยงามเต็มท้องทุ่ง ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือน พฤศจิกายน-มกราคม
บริเวณทุ่งดอกกระเจียว จะมีพันธุ์ไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่ให้ดอกสีม่วง ชมพู ส้ม
และเหลือง สวยงาม เช่นดอกดุสิตา สร้อยสุวรรณ จุกนารี กระดุมเงิน กระดุมทอง
เอื้องนวลจันทร์ หงอนไก่แจ้ สามพันตึง และดาวเรืองภู เป็นต้น
ผาพ่อเมือง
อยู่ห่างจากทีทำการอุทยานประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางไปสู่ทุ่งบัวสวรรค์
ลักษณะเป็นแนวหน้าผาตามสันเขาพังเหย ทางด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร
มีความสูง ๗๐๐ - ๙๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล เมื่อมองลงไปทางเบื้องล่างจะเห็นตัวอำเภอภักดีชุมพล
และเทือกเขาพญาฝ่อ ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ
มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติลัดเลาะไปตามแนวหน้าผา มีจุดชมวิวอยู่หลายจุดด้วยกันคือ
ผาเพลินใจ
ผาอาทิตย์อัสดง ผาสวนสวรรค์ และผาหำหด
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน้าผาที่น่าหวาดเสียวที่สุด เมื่อขึ้นไปอยู่บนชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา
จุดชมวิวเขาพังเหย
อยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๒๒๕ ประมาณกิโลเมตรที่ ๗๐ จะเห็นทิวทัศน์ด้านอำเภอภักดีชุมพล
ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก โดยเฉพาะช่วงเวลาดวงอาทิตย์ตกจะสวยงามมาก บริเวณจุดชมวิวมีที่จอดพักรถ
และมีร้านขายของในท้องถิ่น
ออกเดินทางต่อไป ตัวจังหวัดชัยภูมิ ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๕ ระยะทางประมาณ ๖๐
กิโลเมตร มาเที่ยวนี้ไม่ได้แวะชมตัวจังหวัด และสถานที่สำคัญอื่น ๆ ของจังหวัดเนื่องจากเวลาจำกัด
ผ่านตัวจังหวัดชัยภูมิเมื่อเวลา ประมาณ ๑๕.๐๐ น.รวมระยะทางที่เริ่มออกจากกรุงเทพ
ฯ ประมาณ ๔๒๐ กิโลเมตร ถ้าออกจากกรุงเทพ ฯ แล้วตรงไปชัยภูมิตามเส้นทางถนนพหลโยธินถึงสระบุรี
แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ ผ่านอำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
อำเภอปากช่อง ถึงอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข
๒๐๑ ผ่านอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา อำเภอจตุรัส และอำเภอเมือง
ฯ จังหวัดชัยภูมิ จะเป็นระยะทางประมาณ ๓๔๐ กิโลเมตร จะเห็นว่าเส้นทางจากกรุงเทพ
ฯ สู่จังหวัดชัยภูมิทั้งสองเส้นทางมีระยะทางใกล้เคียงกัน
ออกเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิตามทางหลวงหมายเลข
๒๐๑ ผ่านอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิระยะทาง
ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข
๒๒๙ สู่อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๓ ไปสู่อำเภอบรบือ ระยะทางประมาณ
๓๖ กิโลเมตร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๙
ไปสู่ตัวจังหวัดมหาสารคาม ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข
๒๑๓ กับหมายเลข
๒๐๙ เข้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทางประมาณ
๕๐ กิโลเมตร ถึงกาฬสินธุ์ ประมาณ ๑๘.๓๐ น. มืดสนิทแล้ว จากกาฬสินธุ์ใช้ทางหลวงหมายเลข
๒๑๓ ไปสู่ตัวจังหวัดสกลนคร ผ่านอำเภอสมเด็จ
ถึงอุทยานแห่งชาติภูพาน ในเขตอำเภอภูพาน ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เมื่อเวลาประมาณ
๒๐.๐๐ น. เป็นระยะทางทั้งสิ้นจากกรุงเทพ ฯ ในการเดินทางวันนี้ประมาณ ๗๓๐ กิโลเมตร
ใช้เวลาประมาณ ๑๓ ชั่วโมง
ที่ทำการอุทยาน ฯ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ทางฝั่งซ้าย ประมาณหลักกิโลเมตรที่
๑๓๔ การที่ที่ทำการอุทยาน ฯ มาตั้งอยู่ริมทางหลวงสายหลักไม่อยู่ลึกเข้าไปเช่นอุทยาน
ฯ แห่งชาติส่วนใหญ่ ก็เนื่องจากในห้วงเวลาที่ตั้งที่ทำการอุทยาน ฯ พื้นที่บริเวณอุทยาน
ฯ ได้รับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ถ้าตั้งที่ทำการอยู่ลึกเข้าไปจะยากต่อการรักษาความปลอดภัย
|