ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

กรุงสุโขทัย

 
            "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส"
            กรุงสุโขทัยเป็นอดีตราชธานีของไทย มีความเจริญรุ่งเรือง และนับเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ที่สำคัญของไทย
 
            กรุงสุโขทัยตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง และประวัติศาสตร์ที่มีกรุงสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง จะเริ่มตั้งแต่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา และในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงคือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางท่าว) ได้ สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น
 
            สุโขทัย หมายถึง รุ่งอรุณแห่งความสุข ของชาวไทยในอดีตเมื่อ 700 ปี ที่ผ่านมา เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีความ อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว การเกิดขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย นับว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานของชาติไทยในสุวรรณภูมิ อย่าง เป็นปึกแผ่น และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สภาพความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยจากศิลาจารึก
 
          สุโขทัยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทำกินมากมาย ชาวเมืองปลูกต้นไม้รอบนอกตัวเมืองสุโขทัยทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ปลูกสวนหมาก สวนพลู สวนมะม่วง สวนมะขาม ทิศตะวันตก ปลูกสวนมะม่วง ทิศเหนือ (เบื้องปลายตีนนอน) ปลูกสวนมะพร้าว และสวนหมากลาง (ขนุน) ส่วนทิศใต้ (เบื้องหัวนอน) ปลูกทั้งสวนมะม่วง สวนมะขาม สวนมะพร้าว และสวนหมากลาง ดังกล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า
  กลางเมืองสุโขไทนี้มีพระพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพระพิหารอันใหญ่ มีพระพิหารอันราม มีปู่ครู..... มีเถร มีมหาเถร
            เบื้องตะวันตกเมืองสุโขไทยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแห่งกระทำอวยทานแก่มหาเถร สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร.....
            เบื้องตะวันออกเมืองสุโขไทนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วงป่าขาม ดูงามดังแกล้งแต่ง
            เบื้องตีนนอนเมืองสุโขไทนี้ มีตลาดปสาน มีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่ฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก
            เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่  มีสรีดภงส์ มีป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขะพุงผี.....
            สังคมชาวเมืองสุโขทัย เป็นสังคมที่เรียบง่าย เพราะประชาชนมีจำนวนไม่มาก จึงใกล้ชิดสนิทสนมกันเหมือนพี่เหมือนน้อง และเคารพพระมหากษัตริย์ดุจบุตรที่มีความเคารพต่อบิดาของตน ส่วนพระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรเยี่ยงบิดาปกครองบุตร ทรงเข้าถึงจิตใจ และให้ความใกล้ชิดและเป็นกันเองกับราษฎร เมื่อราษฎรมีเรื่องทุกข์ร้อนก็สามารถกราบบังคมทูลได้ด้วยตนเอง โดยการมาสั่นกระดิ่งที่ประตูไม่ว่าจะเป็นเวลาใด พระองค์จะเสด็จมารับฟังทุกเรื่องด้วยพระองค์เอง ด้วยดังปรากฏในหลักศิลาจารึก ด้านที่ 1 ว่า " ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้นั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจัก กล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่ง และศิลาจารึก ด้านที่ 3 ว่า " ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ถือบ้านถือเมือง "
 
นอกจากนั้นชาวสุโขทัยมีความยึดมั่นและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยู่ในศีลในธรรม และปฏิบัติกิจการทางศาสนาเป็นประจำ เช่น มีการฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาศีล ทำบุญให้ทาน สร้างวัด ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "วันเดือนดับ เดือนออก แปดวัน วันเดือนเต็ม เดือนบ้าง แปดวัน ฝูงปู่ครู มหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วยจำศีล " และอีกตอนหนึ่งว่า "คนในเมืองสุโขไทนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน " เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าถึงจิตใจ ประชาชนจึงเป็นผู้มีจิตเมตตากรุณาต่อ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดังเช่น " ได้ข้าเลือก ข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่อฆ่าบ่ตี " เป็นต้น ดังนั้น ชาวสุโขทัยจึงอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ประกอบกับเมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงไม่มีการแก่งแย่ง มีแต่ความเสมอภาพเท่าเทียมกัน และได้รับความเป็นธรรมโดยทั่วหน้า"
ด้านการศึกษาในสุโขทัย จะเป็นแนวสั่งสอนศีลธรรมและวิชาชีพ คือในวันพระหรือวันโกน พ่อขุนรามคำแหงจะประทับบน พระแท่นมนังคศิลากลางดงตาล สั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ทั้งยังได้ติดต่อช่างชาวจีนมาสอนการทำเครื่องสังคโลก ส่วนวิชาชีพ และงานบ้าน งานเรือนต่าง ๆ มีการเรียนรู้และศึกษาจากผู้ใหญ่บ้านของตน
          สำหรับการค้าขายในเมืองสุโขทัย พ่อขุนรามให้เสรีภาพทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งยังยกเลิกการเก็บภาษีผ่านด่านภายในประเทศ ซึ่งทำให้มีพ่อค้าเข้ามาทำการค้าขาย มากขึ้น ตามหลักศิลาจากรึกล่าวไว้ว่า "เจ้าเมืองบ่เอา จกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า"

          การค้าขายในสุโขทัยตามปกติ นิยมซื้อขายแบบแลกเปลี่ยนสินค้าตามความพอใจ โดยจะตกลงซึ่งกันและกัน นอกจากไม่มีสินค้า ที่พอใจ หรือผู้นั้นมิได้เป็นผู้ค้าขายสินค้า จึงจะใช้เงินและเงินตราในสมัยนั้น จะใช้โลหะ เงินแท้ ทองคำแท้ และที่ต่ำสุดคือเบี้ย ซึ่งจะนิยมใช้กันมาก เบี้ยนั้นจะเป็น
 



  หอยขนาดเล็กคล้ายหอยสังข์ โดยจะเห็นได้ในค่าตอบแทนแก่ขุนนางทั้งหลายในสมัยต่อมา ที่เรียกกันว่า "เบี้ยหวัดเงินปี"



ความรุ่งโรจน์ของกรุงสุโขทัย
แม้กรุงสุโขทัยจะมีอายุยืนนานถึง 200 ปี มีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงสืบต่อกันมา 9 รัชกาล แต่สุโขทัยก็มีอิสระเฉพาะ 120 ปีแรก ช่วงที่เจริญที่สุดคือ ในสมัยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังในศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า
"กลางเมืองสุโขทัย สร้างป่าหมาก ป่าพลูทั่วทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลาย ในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้"
กลางเมืองสุโขทัย มีตระพังโพย สีใสกินดีดังกินโขงเมื่อแล้ง มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีเถร มหาเถร.."
ส่วนภายนอกเมืองสุโขทัย ก็มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับภายในเมืองสุโขทัย เช่น "มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่น มีฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านราม มีป่าม่วง ป่าขาม ดูงามดังแกล้ง..."
นอกจากความเป็นอยู่ที่เจริญรุ่งเรืองของสุโขทัย และวัดวาอารามหลวง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่เป็นความรุ่งโรจน์อีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณะประโยชน์ที่แสดงให้เห็นถึงระบบชลประทานอันยอดเยี่ยมของสุโขทัย คือ สรีดภงส์ พร้อม กับขุดคลองเชื่อมกับลำคลองธรรมชาติ แล้วนำน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำนอกเมือง และในเมือง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งสิ้น 7 สรีดภงส์


ในด้านการค้า การอุตสาหกรรม
ได้ค้นพบเตาทุเรียง เป็นจำนวนมาก ตั้งเรียงรายอยู่เป็นกลุ่ม กำแพงเมืองเก่า ถึง 3 กลุ่ม รวม 49 เตา คือ ทางด้านทิศเหนือนอกตัวเมือง ข้างกำแพงเมืองทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุโขทัยยุคพ่อขุนราม เป็นศูนย์การค้าและการผลิตที่ใหญ่ ในการผลิตถ้วยชามสังคโลก ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลาย มีชื่อเสียงมาก ถึงกับเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น หมู่เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (ชวา) แม้ประเทศญี่ปุ่น ก็ปรากฏว่ามีเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกสุโขทัย เป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน
การขนส่งเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกสมัยสุโขทัย ใช้เรือสำเภาบรรทุกไปในทะเล โดยได้ค้นพบเรือสินค้าสมัยสุโขทัย ที่บรรทุกเครื่อง ปั้นดินเผาสังคโลกสุโขทัยไปจมอัปปางลงในท้องทะเลลึกในอ่าวไทยเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังมีการหารายได้เข้าประเทศ โดยการเป็นตัวแทนการค้า โดยรับสินค้าจากจีน เช่น ถ้วยชาม ผ้าไหม และอื่น ๆ เข้ามาขายในประเทศ และประเทศใกล้เคียงอีกด้วย
ในด้านการค้า ได้ทรงเปิดศูนย์การค้าประจำเมืองสุโขทัยขึ้น ที่เรียกว่า" ตลาดปสาน "เพื่อชักจูงให้พ่อค้าต่างเมืองทั้งแดนใกล้ แดนไกล นำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยไม่เรียกเก็บค่าภาษีอากร ทำให้มีชาวต่างประเทศ สนใจนำสินค้ามาค้าขายที่เมืองสุโขทัย ทำให้ชาวสุโขทัย รู้จักติดต่อกับคนต่างเมือง ต่างภาษา รู้จักวัฒนธรรมของเมืองอื่น ดังศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า
"เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า...."
ในด้านการปกครอง
สมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้ ทรงเป็นแบบอย่างระบบการปกครอง แบบประชาธิปไตย อันแสดงให้เห็นว่า เมืองไทยได้เคยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว เป็นประชาธิปไตยแบบที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเป็นพระประมุขของชาติ หลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกชี้ให้เห็นชัดว่า ในสมัยพ่อขุนรามไม่มีคำว่า "ทาส" แต่จะเรียกเหล่าประชาชน ทั้งหลายว่า "ลูกบ้าน ลูกเมือง" "ฝู่งท่วย (ทวยราษฎร์)" "ไพร่ฟ้าข้าไท" "ไพร่ฟ้าหน้าปก" "ไพร่ฟ้าหน้าใส" ประชาชนทุกคน มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นในการออกว่าราชการงานเมืองของพ่อขุนรามคำแหง กลางป่าตาลได้อย่างเสรี ไม่แบ่งชั้นวรรณะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระบบพ่อปกครองลูก" ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า
"หัวพุ่ง หัวรบ ก็ดีบ่ฆ่า บ่ตี ในปากปูตมีกดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม..."
การปกครองในแบบพ่อกับลูก นับเป็นคุณธรรมของพ่อเมือง จึงทำให้ประชาชนอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ด้วยกรุงสุโขทัย เป็นแคว้นใหญ่ มั่นคง และเข้มแข็ง เป็นที่รับรู้กันในแผ่นดินไทยและชาวต่างประเทศ เช่น จีน และแคว้นอื่น ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานตามเอกสารจีนบันทึกไว้ว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 1835 ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ ปี พ.ศ. 1866 รัชสมัยพระเจ้าเลอไท ไทยได้ส่งทูตติดต่อกับจีนหลายครั้งด้วยกัน โดยได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวาย จักรพรรดิ์จีน รวมทั้งได้เคยขอม้าขาว และของอื่น ๆ จากจีน เป็นการตอบแทนด้วย


ในด้านพุทธศาสนา
พ่อขุนรามคำแหง ทรงอัญเชิญพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ จากเมืองนครศรีธรรมราช มาปลูกฝังไว้ที่เมืองสุโขทัย และทรงทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองแพร่หลายไปทั่วทุกภาคของเมืองไทย จนเป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 1826 ทำให้ชนชาติไทยมีอักษรไทยใช้เป็น เอกลักษณ์ของชาติมาจนถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนาเข้ามาหล่อหลอมวิถีชีวิต
ชนชาติไทย นิยมเลื่อมใสในพุทธศาสนา (ฝ่ายมหายาน) ผสมผสานกับลัทธิศาสนาพราหมณ์ มาแต่บรรพกาล จนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงอัญเชิญศาสนาพุทธฝ่ายหินยาน หรือฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากนครศรีธรรมราช จึงเข้ามาสู่อาณาจักรสุโขทัย พระองค์ทรงยึดมั่นในทางพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง จึงทำให้บรรดาข้าราชการและราษฎร พากันยึดถือเป็นแบบตามพระเจ้าแผ่นดินไปด้วย
ดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขไท ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่ว ท่วยนาง ลูกเจ้า ลูกขุน ทั้งสิ้น ทั้งหลาย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ฝูงท่วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน"
พ่อขุนรามคำแหง ฯ ทรงโปรดให้สร้าง ขดารหินมนังษีลาบาตร ในป่าตาลขึ้น เป็นแท่นที่ประทับในการเสด็จออกขุนนาง เมื่อว่างจากการออกขุนนาง ก็ให้ใช้เป็น "อาสน์สงฆ์" สำหรับพระภิกษุที่มีภูมิธรรม และมีพรรษาสูงระดับ ปู่ครู เถร มหาเถร ขึ้นนั่ง แสดงธรรมแก่อุบาสก บรรดาชาวเมืองพากันถือศีลในวันพระ
พระยาเลอไท ซึ่งเป็นราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหง ทรงมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างพระราชบิดา ได้นำ แบบอย่างพระพุทธศาสนา " ลัทธิลังกาวงศ์ " มาเผยแพร่เพิ่มเติม เป็นการปลูกฝังแก่ชาวสุโขทัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาอีกมากมาย เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน


การสงครามของอาณาจักรสุโขทัย
ในแผ่นดินของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ราวปี พ.ศ. 1800 เมืองตาก (เมืองหน้าด่านทิศตะวันตกของอาณาจักรสุโขทัย) ได้ถูกขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกกองทัพเข้าล้อมเมืองตากไว้ เจ้าเมืองตากจึงขอความช่วยเหลือจากกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงยกกองทัพไปช่วย และมีพระราชโอรสองค์เล็ก ชื่อ เจ้าราม ซึ่งมีพระชนมายุได้ 19 ปี ได้ติดตามไปรบในครั้งนี้ด้วย


ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ได้ยกพลเข้าตีเมืองหลายครั้ง แต่มิอาจตีเมืองได้ จึงตั้งค่ายล้อมเมือง ถ่วงเวลาไว้ให้ไพร่พลเมืองตาก ขาดแคลนเสบียงอาหาร เมื่อทราบข่าวว่ากองทัพสุโขทัยกำลังเดินทัพมาช่วยเมืองตาก ขุนสามชนจึงได้จัดกำลังออกไปดักซุ่มโจมตีกองทัพสุโขทัยที่ "หัวขวา" แนวป่าเชิงเขา นอกเมืองตาก ซึ่งเป็นช่องเขาที่กองทัพสุโขทัยเดินผ่าน แต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เห็นว่าลักษณะภูมิประเทศมีสภาพเป็นที่คับขัน จึงมิให้กองทัพเดินผ่าน แต่อ้อมไปทาง "หัวซ้าย" ขุนสามชนที่ซุ่มรออยู่นานไม่เห็นกองทัพสุโขทัยผ่านมา และได้ข่าวว่ากองทัพสุโขทัย อ้อมทัพไปทาง "หัวซ้าย" จึงยกพลตามไปจนทัน ดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า "พ่อกูไปรบ ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชน ขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า...." "ขุนสามชนขี่ช้างศึกชื่อ "มาศเมือง" จะเข้าชนช้างของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชโอรส ได้เห็นเช่นนั้น ก็ไสช้างเข้ารับมือไว้ " และได้ชนช้างกับขุนสามชน ดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า "กูบ่หนี กูขี่ช้าง เนกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน" และการทำยุทธหัตถีครั้งนี้ ทำให้ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดพ่ายแพ้ ยกทัพล่าถอยกลับเมืองฉอดไป พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงทรงพระราชทานนามแก่พระราชโอรสว่า "พระรามคำแหง" ดังปรากฏตามหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า "ตนกูพู่งช้าง ขุนสามชนตัวชื่อมาศเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อ พระรามคำแหง เพือกูพู่งช้างขุนสามชน"
จนถึงรัชสมัยที่พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงทำสงครามเพื่อแผ่ขยายอาณาเขตไป อย่างกว้างขวาง ด้วยการกระทำใน 2 วิธี คือ
1. ใช้กำลังทางทหาร  ดังจารึกไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า
ปราบเบื้องตะวันตก รอดสรลวง สองแคว ลุม บาจาย สคา ท้าฝั่งของ ถึง เวียงจันทน์ เวียงคำ เป็นทีแล้ว
เบื้องหัวนอน รอดคุณฑี พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี สรีธรรมราช ฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว
เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง......หงสาพดี สมุทรหาเป็นแดน
เบื้องตีนนอน รดเมืองแพล เมืองม่าน เมืองพลัว พ้นฝั่งของเมืองชวา เป็นที่แล้ว
2. ใช้วิเทโศบายขยายอาณาเขต ซึ่งนับว่าเป็นวิธีสุขุมและแยบยลที่สุด เพราะไม่ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อไพร่พล แต่อย่างใด ดังได้กล่าวไว้ในศิลาจารึก และพงศาวดารว่า การขยายอาณาเขตด้านตะวันตก ถึงเมืองหงสาวดี ด้วยการได้ พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) กษัตริย์มอญไว้เป็นราชบุตรเขย และในด้านทิศเหนือก็ทรงผูกมิตรไมตรีกับพระยาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ และ พระยางำเมือง ซึ่งเป็นไทยเชื้อสายเดียวกัน
3. ใช้นโยบายผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศใหญ่ ๆ  เช่น  ประเทศจีน ซึ่งในห้วงเวลานั้น กุบไลข่าน กษัตริย์จีน มีอำนาจมาก ได้แผ่อาณาเขตลงมาทางใต้ของจีน ทางด้านพม่า และเวียดนาม แต่สำหรับประเทศไม่ได้รับความกระทบกระเทือนแต่อย่างใด



อวสานกรุงสุโขทัย
ในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนบานเมือง เป็นเวลาที่ไทยตั้งตัวใหม่ ๆ ต้องทำสงครามกับเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ยอม สามิภักดิ์ โดยพ่อขุนรามคำแหง นำทัพออกปราบปรามเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่อยู่ชายพระราชอาณาเขต อาณาจักรของกรุงสุโขทัย จึงตกอยู่ในความสงบสุขตลอดมา
จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพ่อขุมรามคำแหง  ขึ้นครองราชย์ ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง เจริญรุ่งเรืองกว่ารัชกาล อื่น ๆ ภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระเจ้าเลอไท พระราชโอรสได้ครองราชสมบัติ ปรากฏตามพงศาวดารพม่าได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อ พ.ศ. 1873 หัวเมืองมอญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนราม กลับเป็นขบถตั้งแข็งเมือง พระเจ้าเลอไท ส่งกองทัพออกไปปราบปราม แต่ไม่สามารถเอาชนะได้"
ต่อมา พระยาลือไท ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเลอไท พระราชบิดา ทรงพระนามว่า "พระมหาธรรมราชาลิไทย" เป็นกษัตริย์ที่ทรงมุ่งทำนุบำรุงอาณาจักรสุโขทัย แต่ในทางธรรมอย่างเดียว ทำให้สุโขทัยขาดความเข้มแข็ง จนไม่สามารถควบคุมประเทศราชไว้ได้ ดังนั้น พระเจ้าอู่ทอง จึงตั้งแข็งเมืองและประกาศอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นกับกรุงสุโขทัย ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 เป็นต้นมา ขุนหลวงพะงั่ว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา และได้ส่งกองทัพมาทำสงครามตีเมืองต่าง ๆ 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1914-1921 แต่ไม่สามารถตีหักเข้าเมืองได้
จนกระทั่ง "พระเจ้าไสยลือไท" (พระมหาธรรมราชาที่ 2) ขึ้นครองราชย์ กรุงศรีอยุธยาจึงยกกองทัพไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) ซึ่งพระเจ้าไสยลือไทย เสด็จมาบัญชาการรบเอง จนขุนหลวงพะงั่วไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ แต่ต่อมาทรงพระราชดำริว่า "ถ้าหากขืนรบต่อไปก็คงเอาชนะกองทัพของขุนหลวงพะงั่วไม่ได้" จึงทรงยอมอ่อนน้อมต่อขุนหลวงพะงั่วโดยดี และนับแต่นั้นมา กรุงสุโขทัยก็สูญเสียเอกราช กลายเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาตลอดไป

ประเพณีที่สำคัญในกรุงสุโขทัย
ประเพณีลอยกระทง
วันลอยกระทง ณ กรุงสุโขทัยโบราณนั้น เป็นพิธีใหญ่ และครึกครื้นมาก จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียง โดยบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักแขวน และลอยกันทั่วนคร ข้าราชการและนางสนมกำนัลต่างทำโคม ร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปลวดลายวิจิตรพิสดาร เข้าประกวดกัน
นางนพมาศ ซึ่งเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระร่วง จึงได้ทำโคมเข้าประกวด โดยแต่งโคมให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมทั้งปวง โดยประดับเป็นรูปดอกกระมุท สมเด็จพระร่วงเจ้า พอพระทัยมาก จึงประกาศว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียง แล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชา พระพุทธมหานัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"
พระราชพิธีจองเปรียงนี้ต่อมาภายหลังจึงเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป และถ้าเป็นพิธีของชาวบ้านราษฎรทั่วไปเรียกว่า ลอยกระทง
ประเพณีกรานกฐินเดือนสิบสอง
งานประเพณีเมืองสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในวันทางศาสนาพุทธ คือวันออกพรรษาซึ่งถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามที่ได้กล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1
กรานกฐินของสุโขทัยจะมีเป็นเวลา 1 เดือน นับจากวันออกพรรษา และจะถือว่าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันแม่งานและเป็น วันสุดท้ายของฤดูกาลกรานกฐิน ในวันนี้ชาวสุโขทัยจะพากันมาร่วมขบวนแห่ เพื่อนำองค์กฐินไปยังวัดอรัญญิก เพื่อร่วมถวายผ้ากฐิน และร่วมฟังสวดญัตติกฐิน เมื่อเสร็จพิธีก็จะแห่กลับเข้าเมือง พร้อมกับประโคมดนตรี และร้องรำทำเพลง เป็นที่สนุกสนาน
ตอนกลางคืน ในตัวเมืองจะจัดให้มีมหรสพ การเล่นต่าง ๆ ผู้คนต่างเบียดเสียดกันเข้ามาดูงานจนแน่นขนัดทั้ง 4 ปากประตู หลวง ทั้งยังมีการเล่นไฟจุดประทัดเสียงดังกึกก้องประหนึ่งว่าเมืองจะแตก
ของดีกรุงสุโขทัย
ศาลพระแม่ย่า
พระแม่ย่า นั้น สันนิษฐานว่าคือ พระขพุงผี ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1
พระแม่ย่าเป็นเทวรูปหิน สลักจากหินชนวน สูงประมาณเมตรเศษ ประทับยืนทรงพระภูษา แต่ไม่ทรงฉลองพระองค์ เดิมประดิษฐาน อยู่ ณ เขาแม่ย่า อยู่ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยประมาณ 7 กม.เศษ รูปลักษณะของเทวรูปพระแม่ย่านั้นเป็นสตรี มีนามว่า "พระขพุงผี" แปลว่าผีอันประเสริฐ หรือ เทพยดาอันประเสริฐ
ในปี พ.ศ. 2458 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้อัญเชิญพระแม่ย่า มาไว้บนศาลากลาง (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) และต่อมาในปี พ.ศ. 2496 จังหวัดสุโขทัย จึงได้สร้างศาลพระแม่ย่าขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด และอัญเชิญพระแม่ย่ามาประดิษฐานไว้
เตาทุเรียงสุโขทัย
เป็นเตาก่อด้วยอิฐ กว้าง 4-6 ศอก ยาว 10-12 ศอก บางเตามีขนาดเล็ก ขุดเป็นหลุมลึกลงไปในดินครึ่งหนึ่ง และก่อสูงพ้นดิน ครึ่งหนึ่ง ข้างเตาด้านในเรียงด้วยอิฐเป็นวงโค้ง ลักษณะของเตาแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 เป็นที่สำหรับปล่องไฟ
ตอนที่ 2 เป็นที่สำหรับเรียงเครื่องปั้นดินเผาในเตา
ตอนที่ 3 เป็นที่สำหรับใส่ฟืนสุมไฟข้างหน้า
เตาทุเรียงสุโขทัย ตั้งเรียงรายอยู่รอบคูเมือง ซึ่งเป็นฐานกำแพงเมืองสุโขทัย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีทั้งหมด 49 เตา
สรีดภงส์
ได้มีการสร้างสรีดภงส์ (ทำนบกั้นน้ำ หรือทำนบพระร่วง) เพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งมีการสำรวจพบว่า มีการทำทำนบเชื่อมระหว่างเขา เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมาถึง 7 แห่ง โดยตั้งอยู่ในทิศทางต่าง ๆ รอบเมืองสุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุ ที่เป็นระบบชลประทานอันยอดเยี่ยมในสมัยสุโขทัย
ดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 การสร้างทำนบกั้นน้ำนี้ ได้ทำเป็นแนวคันดินเชื่อมระหว่าง เขากิ่วอ้ายมา และเขาพระบาทใหญ่ กั้นน้ำไว้ หน้าทำนบปูด้วยหินใหญ่โดยตลอด มีฝายน้ำล้น และท่อระบายน้ำอยู่ทางใต้ทำนบ มีลำรางระบายน้ำส่งเข้าตัวเมือง โดยมีคลองทั้งที่ขุดขึ้นและเป็นธรรมชาติ ต่อเข้ากับลำรางนี้ นำน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกนอกเมือง ส่วนในเมืองมี คลองเสาหอ แยกน้ำจากลำรางไปเก็บไว้ในสระน้ำขนาดใหญ่ตามวัดวาอาราม เช่น วัดตระพังทอง วัดตระพังเงิน วัดสระศรี และ วัดตระพังสอ เป็นต้น

ขดารหินมนังษีลาบาตร   (พระแท่นมนังคศิลา)
ตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวถึงการสร้าง ขดารหินมนังษีลาบาตรไว้
ลักษณะของขดารนี้ เป็นขดารหินขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นหินอ่อนสีเขียวอมเทา ชนิดเดียวกับหินที่ทำหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 กว้างสำหรับขนาดพระสงฆ์ขึ้นนั่งขัดสมาธิเรียงสองได้สี่รูป หนา 5.5 นิ้ว ส่วนความกว้างและยาว ทั้ง 4 ด้าน ไม่เท่ากัน และที่ส่วนหนา โดยตลอดทั้งสี่ด้านแกะสลักเป็นลวดลายงดงาม
ขดารหินมนังษีลาบาตร หรือ พระแท่นมนังคศิลา นี้ ยังใช้เป็น " อาสน์สงฆ์ " สำหรับพระภิกษุที่มีภูมิธรรม และมีพรรษา ระดับ ปู่ครู เถร มหาเถร นั่งสวดธรรมแก่อุบาสก ในวันพระของทุกเดือน



วัดในพระพุทธศาสนา
วัดมหาธาตุ
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่  มีวัดที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย ภายในมีเจดีย์รายแบบต่าง ๆ ซุ้มคูหา วิหาร โบสถ์ สระน้ำ และกำแพงแก้ว เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญดาราม สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม  มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันงาม" และถือเป็นจุดศูนย์รวมทั้งด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย
เจดีย์มหาธาตุ  มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์รูปดอกบัวตูม และเป็นเจดีย์ประธานของวัด รอบเจดีย์มีปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง 4 ทิศ และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกา ตรงมุมอีก 4 องค์ ฐานชั้นล่างมีรูปพระสาวกปูนปั้น เดินพนมมือประทักษิณ ด้านหน้ามีวิหารสูง ทิศตะวันออกมีวิหารใหญ่เสาเป็นศิลาแลงแท่งกลม แบ่งเป็นเสา 5 ห้อง 6 แถว  4 ห้อง 4 แถว และ 2 ห้อง 1 แถว ลดหลั่นกัน  วิหารใหญ่นี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสำริด คือ พระศรีศากยมุนี ซึ่งสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พ.ศ. 1905 จนกระทั่งในสมัย ร.1 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม  ส่วนทิศเหนือและทิศใต้ มีพระอัฎฐารศ สูง 9 เมตรเศษ

วัดตระพังทอง
ภายในกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า ตระพังทอง และตรงกลางเป็นเกาะ เป็นที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถาน คือ วัดตระพังทอง มีเจดีย์เป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ฐานก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังก่อด้วยอิฐ มีโบสถ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทศิลาสีเทาปนดำ ซึ่งเดิมได้ประดิษฐานอยู่ที่เขาสุมนกูฎ (เขาพระบาทใหญ่) ตามหลักฐานศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ พุทธศักราช 1912 หลักที่ 8 ต่อมา พระราชประสิทธิคุณ วัดราชธานี จีงได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่วัดตระพังทอง
วัดศรีสวาย
ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองด้านทิศใต้วัดมหาธาตุ เดิมเป็นเทวสถาน สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนา เจดีย์ลักษณะเป็นพระปรางค์ 3 ยอด ฐานก่อด้วยศิลาแลง ตอนบนก่อด้วยอิฐ ด้านหน้าเป็นวิหารสองตอน มีกำแพงแก้ว ด้านหลังในกำแพงวัดมีคูน้ำ และมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า "เดิมวัดนี้คงเป็นเทวสถาน ร.6 ทรงสันนิษฐานไว้ว่า" เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) และคูน้ำล้อมรอบด้านหลัง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "สระลอยบาป"  นั้น ตามลัทธิพราหมณ์ถือว่า  ทุกคนมีบาป และจะต้องทำพิธีล้างบาปกันครั้งหนึ่งในทุกปี และต่อมาเมื่อชาวไทยเข้าครองสุโขทัย จึงเปลี่ยนเป็นวัดทางพุทธศาสนา

วัดชนะสงคราม
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีเจดีย์ประธานเป็นลักษณะทรงกลมแบบลังกา ก่ออิฐ มีวิหาร โบสถ์ เจดีย์รายทรงวิมาน ปรากฏตามพระราชนิพนธ์ใน ร.6 เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" เมื่อปีพุทธศักราช 2451 กล่าวถึง  วัดชนะสงครามไว้ว่า "แต่ทางทิศเหนือ วัดมหาธาตุ วัดที่เรียกกันว่า วัดชนะสงคราม นั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่า ศาลกลางเมือง"
วัดสระศรี
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ บนเกาะกลางสระใหญ่กลางเมือง ที่เรียกว่า " ตระพัง ตระกวน" ลักษณะเจดีย์ประธานเป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ขนาดเล็ก แบบศรีวิชัยผสมลังกา เจดีย์รายขนาดเล็ก โบสถ์ และสระน้ำขนาดใหญ่ โดยด้านหน้าเจดีย์มีพระวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ด้านหน้าวิหารเป็นพระอุโบสถ ตั้งอยู่กลางเกาะเล็ก ๆ ส่วนทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์ทรงลังกาผสมศรีวิชัย
วัดสรศักดิ์
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดเล็ก  ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของวัดซ่อนข้าว เจดีย์ประธานเป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ที่ฐานมีหัวช้างและสองขาหน้า  รวม 25 เชือก โผล่ออกมาล้อมรอบฐานเจดีย์ ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ด้านหน้าเป็นวิหาร 5 ห้อง ก่อด้วยอิฐ ส่วนเสาวิหารทำด้วยหินทรายทั้งต้น นำมาโกลนเป็นเสาต่อกันเป็นท่อน ๆ ลักษณะเช่นนี้แตกต่างไปจากวัดอื่นที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นพื้น
ตามศิลาจารึกหลักที่ 9 ก มีข้อความกล่าวถึงวัดสรศักดิ์ว่า นายอินทร สรศักดิ์ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดนี้ จึงมีชื่อว่า วัดสรศักดิ์ "



วัดพระพายหลวง
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ อยู่นอกเมืองสุโขทัย สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่กลางแนวคูน้ำล้อมรอบ 2 ชั้น คูน้ำชั้นนอกเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ และคูน้ำชั้นในมีขนาดเล็ก เดิมเป็นเทวสถานของขอม ด้วยพบชิ่นส่วนเทวรูป และฐานศิวลึงค์  ต่อมาจึงดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพบพระพุทธรูปแกะหินสลักปางนาคปรก และด้านหน้าวิหารพบรูปสลักหินองค์ใหญ่ ปางสมาธิ เฉพาะส่วนขององค์พระที่มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์  ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นวัดศาสนาพุทธ ฝ่ายหินยาน เมื่อได้รับอิทธิพลศาสนาแบบลังกาวงศ์ นับเป็นวัดที่ใหญ่และสำคัญรองลงมาจากวัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานเป็นปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยศิลาแลงและฉาบด้วยปูนปั้น ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์สี่เหลี่ยม และระเบียงคด มณฑป วิหารพระนอน และเจดีย์ราย  สันนิษฐานว่า เป็นศูนย์กลางของศาสนาที่มีมาก่อนการตั้งวัดมหาธาตุ รวมทั้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านการศึกษาด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม สมัยก่อนสุโขทัย และการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนมาหลายยุคหลายสมัย

วัดศรีชุม
เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองสุโขทัย ปรากฏตามหลักฐาน ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 พุทธศักราช 1835
วัดนี้เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ด้วยหากมองเพียงภายนอกจะเป็นแต่มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงระฆังคว่ำหรือรูปโดม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่เพียงองค์เดียว คือ พระอจนะ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์สามารถพูดได้
แต่แท้ที่จริงแล้ว ประตูทางเข้าด้านหลังพระพุทธรูปจะเจาะเป็นช่องสูง มีทางเดินขึ้นไปจนเกือบถึงยอดหลังคามณฑป ซึ่งเป็นด้วยกุศโลบายของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ที่ทรงพระปรีชาสามารถปลุกปลอบใจทหาร และสามารถบังคับบัญชา ให้เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนี่งใจเดียวกัน โดยใช้ผนังด้านข้างขององค์พระอจนะที่มีช่องเล็ก ๆ และให้คนเข้าไปในอุโมงค์ แล้วพูดออกมาเสียงดัง ๆ ผู้ที่อยู่ในวิหารจึงนึกว่าพระอจนะพูดได้ และทั้งช่องอุโมงค์ด้านซ้ายและขวาจะบรรจบกันเข้าเป็นยอดแหลม ผนังมณฑปทำเป็น 2 ชั้น
ภายในช่องอุโมงค์มณฑป ด้านซ้ายกว้างประมาณ 50 ซม. บนเพดานมีภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ประมาณ 50 ภาพ แสดงเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่าง ๆ บรรยายไว้เป็นอักษรไทยสมัยสุโขทัย และมุมด้านขวาขององค์พระยังมีรอยพระพุทธบาทสลักไว้สวยงาม ส่วนอุโมงค์ช่องขวา ได้ปิดทับไปแล้ว
นอกจากนั้น ยังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิ์พงศ์ (จาด) กล่าวไว้ว่า เมื่อพระนเรศวรเสด็จขึ้นมา ปราบกบฎเมืองสวรรคโลก ในปี พ.ศ. 2128 นั้น ก่อนจะยกไปเมืองสวรรคโลก ได้แวะพักพลที่ตำบลฤาษีชุม เมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่า คือวัดศรีชุม  นั่นเอง

วัดอรัญญิก
ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก บริเวณที่ราบเชิงเขาในป่ากลางอรัญญิก ระหว่างวัดสะพานหิน กับ วัดพระบาทน้อย ประกอบด้วย กุฎิสงฆ์ โบสถ์ วิหารเล็ก ร้านบาตร เจดีย์ราย บ่อน้ำ และถ้ำ
กุฎิสงฆ์มีจำนวน 8 หลัง ก่อด้วยหินเล็ก ๆ คล้ายซุ้ม เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์จำวัดและวิปัสสนา บริเวณเขาสูง มีถ้ำซึ่งเป็นการ สกัดหินเข้าไปในเขา 3 แห่ง เพื่อให้สำหรับพระสงฆ์จำวัด คือ ถ้ำมะขามป้อม ถ้ำพระยาน้อย และถ้ำพระ ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835
วัดเชตุพน
เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดของโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัด มีคูน้ำ 2 ชั้น ล้อมรอบ เว้นแต่โบสถ์ซึ่งแยกออกไปอยู่ต่างหาก ทางใต้นอกคูน้ำ กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย มณฑปพระสี่อิริยาบท เจดีย์ทรงมณฑป
วิหาร เจดีย์ราย กำแพง คูน้ำ

มณฑปพระสี่อิริยาบท เป็นโบราณสถานหลักของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา ทางด้านทิศตะวันออก  พระพุทธรูปประทับยืนทางด้านทิศตะวันตก  พระพุทธรูปประทับนั่งทางด้านทิศเหนือ และพระพุทธรูปประทับนอนด้านทิศใต้ โดยพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นี้ ก่อด้วยอิฐ และปูนปั้น
วัดเชตุพน นับเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งก่อสร้าง เช่น มณฑปที่อิริยาบทขนาดใหญ่ กำแพงหินชนวนขนาดใหญ่ ตลอดจนขนาดของวิหาร สระน้ำ และคูน้ำล้อมรอบ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นอย่างยิ่ง

วัดสะพานหิน
ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ  ตามหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ 1 และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเสด็จมานมัสการพระอัฎฐารศ ที่วัดสะพานหินเป็นประจำทุกวันพระ
ทางเดินขึ้นวัดสะพานหินปูด้วยหินชนวนแผ่นบาง ๆ ซ้อนเรียงกันเป็นแนวสูง และปูเรียงไปตามเชิงเขาด้านทิศตะวันออก จนถึง บริเวณลานวัดบนยอดเขา บนลานมีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาเป็นศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง
ด้านหลังมีผนังก่ออิฐหนา มีพระพุทธรูปปูนปั้น หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา  สูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" และมีฐานเจดีย์ราย 4-5 ฐาน ระหว่างทางขึ้นทางซ้ายมือ มีเจดีย์แบบดอกบัวตูมองค์เล็ก 1 องค์ ทางทิศเหนือ

ศิลาจารึก
จารึกหลักที่ 1
ร.4 ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ฯ และทรงเพศบรรพชิต ได้เสด็จไปจาริกแสวงบุญที่เมืองสุโขทัยเก่า เมื่อ พ.ศ. 2376 และทรงพบจารึกหลักที่ 1 แห่งเดียวกับพระแท่นมนังคศิลา คือ เนินปราสาท ตรงข้ามวัดมหาธาตุ
ศิลาจารึกนี้ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า จารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งได้จารึกขึ้นในปี พ.ศ. 1835
ภาษาที่ใช้และตัวอักษร เป็นภาษาไทย
ตอนที่ 1  ตั้งแต่ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-18 เป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง โดยใช้คำว่า "กู" เป็นพื้น ดังปรากฏหลักฐาน ในศิลาจารึก คือ
"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูเชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก..."
ตอนที่ 2  ตั้งแต่ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 19 ถึงด้านที่ 4 บรรทัดที่ 11 รวม 90 บรรทัด เป็นการพรรณนาถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย พระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา การสร้างพระแท่นศิลาบาตร การประดิษฐ์ลายสือไท แต่ไม่ได้ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้คำว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เช่น "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง...ลายสือไทนี้จึงมีขึ้นเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ "
ตอนที่ 3  ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 11 จนถึงบรรทัดสุดท้าย รวม 16 บรรทัด เป็นการกล่าวสรุปสรรเสริญ และยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รวมทั้งกล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักร เมืองสุโขทัย
ในตอนนี้ ตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ด้วย  มีพยัญชนะลีบกว่า และสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง
สำหรับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ มีที่มาดังนี้
หลักที่ 2  พบที่วัดศรีชุม กล่างถึงประวัติพระนัดดาพ่อขุนผาเมือง
หลักที่ 3  มีผู้นำไปไว้ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวถึงเรื่องของพระเจ้าลิไท และสภาพกรุงสุโขทัย
หลักที่ 4  พบที่เนินปราสาทตรงข้ามวัดพระศรีมหาธาตุ กล่าวถึงการออกผนวช  ที่วัดป่ามะม่วง
หลักที่ 5  พบที่วัดป่ามะม่วง กล่างถึงเรื่องพระเจ้าลิไทขึ้นครองราชย์
หลักที่ 6  พบที่วัดป่ามะม่วง กล่างถึงเรื่องการผนวชพระเจ้าลิไท
หลักที่ 7  ไม่ปรากฏที่พบ เรียกกันว่า จารึกวัดพระมหาธาตุ-วัดพระศรี
หลักที่ 8  พบบนเขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฎ) กล่าวถึงเรื่องการราชาภิเศกพระเจ้าลิไท
หลักที่ 9  ไม่ปรากฎที่พบ เรียกกันว่า จารึกวัดป่าแดง
หลักที่ 11  พบที่ยอดเขากบ ปากน้ำโพ กล่างถึงประวัติและผลงานของมหาเถรศรีศรัทธา
หลักที่ 38  ไม่ปรากฎหลักฐานที่พบ เนื้อความเป็นกฎหมายในสมัยสุโขทัย
หลักที่ 45  พบที่หน้าวิหารกลางวัดมหาธาตุ กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานต่อกันของเจ้านายกรุงสุโขทัย และความสัมพันธ์ระหว่าง สุโขทัยกับน่าน
หลักที่ 64  พบที่วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน กล่าวถึงกลุ่มเมืองทางด้านเหนือของกรุงสุโขทัย
หลักที่ 76 พบที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ และวัดเชียงมั่น
หลักที่ 93  พบที่วัดอโศการาม นอกเมืองสุโขทัยเก่า พระราชเทวีศรีจุฬาลักษณอัครราชมเหสี และพระราชโอรส นำพระบรมธาตุที่ได้จากลังกา มาประดิษฐานไว้ที่วัดอโศการาม
หลักที่ 102  พบที่วัดตระพังช้างเผือก สุโขทัย เนื้อความขาดหายไปมาก
หลักที่ 106  พบที่วัดช้างล้อม สุโขทัย กล่าวถึงการบวช การสร้าง และบูรณะวัด สมัยพระเจ้าลิไท
ข้อมูลกรุงสุโขทัยประกอบด้วย สุโขทัย ประวัติศาสตร์สุโขทัย ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ประวัติสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประวัติกรุงสุโขทัย การปกครองสมัยสุโขทัย กรุงสุโขทัย สมัยสุโขทัย การเมืองการปกครองสมัยสุโขทัย พระบูชาสุโขทัย ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ประวัติสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประวัติอาณาจักรสุโขทัย กรุงสุโขทัย ประวัติ ประวัติลอยกระทงสุโขทัย ภูมิปัญญาสมัยสุโขทัย โบราณสถานสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย ภูมิปัญญาไทยสมัยสุโขทัย เมืองเก่าสุโขทัย การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย นางนพมาศสุโขทัย สมัยก่อนสุโขทัย บุคคลสำคัญในสมัยสุโขทัย วรรณคดีสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยสุโขทัย สมัยกรุงสุโขทัย ประวัติสุโขทัยเมืองเก่า ราชวงศ์สุโขทัย ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ประวัติศาสตร์ สมัย กรุง สุโขทัย ประวัติศาสตร์ ไทย สมัย กรุง สุโขทัย ประเพณีสุโขทัย การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย บุคคลสำคัญสมัยสุโขทัย หลวงพ่อห้อม สุโขทัย เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ลอยกระทง สุโขทัย ความเป็นมาของสุโขทัย ประเพณีสมัยสุโขทัย ประวัติของสุโขทัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยสุโขทัย

 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์